ผ้าและเครื่องแต่งกาย
ของกลุ่มชาติพันธุ์ ไทยวน

ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มชาติพันธุ์ ไทยวน

“คนไทยวนหรือไตโยน มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองโยนกเชียงแสนเป็นส่วนใหญ่ ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 1839 พญามังรายได้สถาปนาเมือง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” เป็นราชธานีกลุ่มคนไทยวนหรือคนไตได้กระจายอยู่ในภูมิภาคที่เรียกว่าอาณาจักรล้านนา 

ชาวไทยวนมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรใช้มาเป็นเวลานานแล้ว มีภาษาพูดที่จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไท-กะได มีสำเนียงใกล้เคียงกับพวกไทลื้อและไทเขิน
    สำหรับภาษาเขียนในอดีตนั้นจะเขียนลงในสมุดข่อยหรือจารลงบนใบลาน ชาวไทยวนเรียกอักษรนี้ว่า "หนังสือยวน" ปัจจุบันเรียก "ตัวฝักขาม" หรือ "ตัวเมือง" เรื่องราวต่างๆ ที่นิยมจดบันทึกลงในใบข่อย หรือ สมุดไทย มักเป็นตำราหมอดู ตำรายาสมุนไพร เวทมนตร์ และคาถาต่างๆ ส่วนเรื่องที่จารลงบนใบลาน ส่วนใหญ่เป็นพระธรรมเทศนาและเรื่องราวที่ เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา

ชาติพันธุ์ไทยวน เชียงแสน

ภาพแสดงลำดับและทิศทางการเคลื่อนย้ายศูนย์กลางของประชากรชาวไทยวน ตั้งแต่ยุคตำนาน (โยนก-เงินยาง)
จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ (ราชวงศ์มังรายแห่งเชียงราย-เชียงใหม่ และราชวงศ์งำเมืองแห่งพะเยา)

หมายเหตุ. ภาพจาก ปริทัศน์การศึกษาว่าด้วยชาติพันธุ์ไทยวน, 2560, นราธิป ทับทัน และ ชินศักดิ์ ตัณฑิกุล. สงวนลิขสิทธิ์ โดย วารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์. 

ในอดีตเมืองเชียงแสนมีความรุ่งเรืองในด้านการปกครอง สถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และหัตถกรรม ฯลฯ มีประวัติในด้านการปกครองมาอย่างยาวนาน มีเมืองหลวงปกครองตนเองที่สืบต่อกันมาตั้งแต่อาณาจักโยนกเชียงแสน ในตำนานระบุว่า...

พระเจ้าสิงหนวัติ ปฐมกษัตริย์ทรงสร้างเมืองหลวงขนานนามว่า “เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัตินคร” หรือ “โยนกนคร” มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาจนถึงรัชกาลพระมหาไชยชนะ กษัตริย์องค์ที่ 46 เมืองโยนกนาคนครก็ล่มจม เป็นหนองน้ำ เหตุเพราะชาวบ้านได้จับปลาไหลเผือก แล้วนำไปแจกจ่ายกินกันทั่วเมือง จึงเกิดอาเพศวิบัติ เมืองโยนกจึงเป็นอันสิ้นสุดลง และได้แต่งตั้งขุนคลังเป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองแทนราชวงศ์ และสร้างเมืองใหม่ขึ้นชื่อ “เวียงปรึกษา” ที่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขง (บ้านเชียงแสนน้อย) มีผู้ปกครองสืบต่อกันมาได้ 15 คน จึงได้สิ้นสุดการปกครองเวียงปรึกษา

ต่อมาถึงสมัยราชวงศ์หิรัญเงินยาง มีลาวจักรราชเป็นปฐมกษัตริย์ ปกครองสืบต่อกันมาอีกถึง 24 พระองค์ องค์สุดท้ายคือราชวงศ์หิรัญเงินยาง ชื่อ ลาวเป็ง พระองค์มีโอรสทรงพลานุภาพ ทรงพระนามว่า พญามังราย ทรงประสูติเมื่อปี พ.ศ. 1839 ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ นามว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ส่วนเมืองเชียงราย ให้ขุนครามโอรสปกครอง นับเป็นจุดเริ่มต้นของเมืองเชียงราย ดังนั้น เชียงแสนจึงลดบทบาทลง

► ในปีพ.ศ. 1871 พญาแสนภู ซึ่งเป็นโอรสของขุนคราม ซึ่งเป็นหลานของพญามังราย ได้มาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณเมืองเก่าริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเคยเป็นเมืองโยนกมาก่อน ได้ทำพิธีฝังหลักเมือง เมื่อวันศุกร์ เดือน 5 (เดือน 7 เหนือ) ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง มีกษัตริย์ปกครองที่เป็นลูกหลานปกครองมาจนถึง พ.ศ. 2102 พระเจ้าหงสาวดี บุเรงนอง ยกทัพมาตีเมืองในล้านนา เมืองเชียงแสนได้ตกเป็นของพม่าตั้งแต่นั้นมา พม่ากับกรุงศรีอยุธยาเกิดสู้รบกัน เชียงใหม่ก็รบกับพม่าบ้าง ไทยบ้าง เชียงแสนก็ตกเป็นของพม่าบ้าง อยุธยาบ้าง ล้านช้างบ้าง เชียงใหม่บ้าง ในที่สุดก็โดนปกครองโดยพม่า เชียงแสนกลายเป็นสมรภูมิที่พม่ายึดเป็นเมืองประเทศรบกับไทยเรื่อยมาเป็นระยะเวลา 200 ปี

► ในปี พ.ศ. 2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ให้กรมหลวงเทพบริรักษ์กับพญายมราช ยกกองทัพร่วมกับเมืองหลวงพระบาง พร้อมด้วยกองทัพจากหัวเมือง ได้แก่ น่าน ลำปาง เชียงใหม่ แพร่ ขึ้นมาขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสน และเผาเมืองทิ้งเสีย กวาดต้อนผู้คนประมาณ 22,000 ครอบครัว จัดแบ่งเป็น 5 ส่วน ให้ไปตั้งถิ่นฐานในเมืองนั้น ๆ ไทยวนเชียงแสนจึงได้เดินทางออกจากเมืองเชียงแสน ดังนั้น เชียงแสนจึงกลายเป็นเมืองร้าง

ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน

เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวไทยยวน

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น, โดย เผ่าทอง ทองเจือ, 2561, สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

การแต่งกายที่แสดงความสุภาพเรียบร้อยในระดับปกติทั่วไปทั้งหญิงและชายไทยวนก็จะเอาผ้าผืนใหญ่ผืนหนึ่งมาคลุมไหล่ หรือไม่ก็คลุมตัว เรียกว่า "ผ้าตุ๊ม" หรือ "ผ้าต้วบ" คือ ผ้าใช้ห่มคลุมร่างกายเหมือนผ้าคลุมไหล่ในปัจจุบัน ผ้านี้มีหลายประเภทหลายชื่อแล้วแต่ละท้องถิ่น บางครั้งก็เรียกแตกต่างกันไปตามลวดลายบ้าง ตามสีสันบ้าง ตามพื้นที่บ้าง อย่างไรก็ตามนิยมทอด้วยฝ้ายสีเอกรงค์ คือ สีขาว สีดำ สีแดง

บางครั้งทอด้วยเส้นฝ้ายสีขาวล้วนเรียกว่า "ผ้าต้วบขาวบาง" แต่ถ้าทอด้วยผ้าฝ้ายขาวธรรมดาทั้งผืนแล้วมีลายริ้วช่องไฟห่างกันประมาณ 2 นิ้ว แซมด้วยเส้นสีแดงบ้าง สีดำบ้าง หรือสีกรมท่าบ้างจะเรียกว่า "ผ้าต้วบแซง" แต่ถ้าเป็นผ้าห่มที่มีลวดลายเป็นลายตารางสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่บ้าง ขนาดเล็กบ้างสลับกันจะมีชื่อเรียกกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ไทยวนที่แม่แจ่มเรียกว่า "ผ้าต้วบลายดี" ส่วนไทยวนในพื้นที่อื่นๆ มักเรียกว่า "ผ้าต้วบตาแสง" หรือ "ผ้าตาแสง" ส่วนไทยวนแถบจังหวัดน่านนิยมเรียกว่า "ผ้าตาโก้ง" หรือ "ผ้าต้วบตาโก้ง"

แต่ถ้าอยากแสดงความสุภาพในระดับสูงมากขึ้นก็จะใช้ "ผ้าเช็ด" พาดบ่า ผ้าเช็ดที่ว่านี้เป็นผ้าทอมือกว้างประมาณ 1 คืบหรือมากกว่านั้นเล็กน้อย มีความยาวประมาณ 2 ศอกทอด้วยผ้าฝ้ายพื้นสีขาว ตกแต่งด้วยการจกลวดลายสัตว์มงคลของขาวไทยวน เช่น ช้าง ม้า นาค นก รวมถึงลวดลายพรรณพฤกษาต่างๆ

ผ้าเช็ดใช้สำหรับพาดบ่าซ้ายหรือบ่าขวาก็ได้ ตามแต่ถนัดเพื่อแสดงถึงความสุภาพเรียบร้อย เช่น การไปวัดไปวา ไปพังเทศน์ฟังธรรม ก็จะใช้ผ้าเช็ดนี้พาดบ่า และในเวลากราบพระก็จะเลื่อนผ้าเช็ดจากไหล่มาปูที่พื้นเพื่อรองรับฝ่ามือที่แบออกขณะกราบ ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อเรียกจากผ้าเช็ดในขณะปูรองการกราบว่า "ผ้ากราบ"

สตรีไทยวน

เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของสตรีไทยวนจะมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองอย่างชัดเจน คือการนุ่ง "ผ้าซิ่น" ซึ่งผ้าซิ่นของสตรีไทยวนเองก็มีอยู่มากมายหลายแบบ แต่ละแบบก็ใช้กันต่างกรรมต่างวาระ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ผ้าซิ่นของไทยวนนั้น ถือเป็นของสำคัญประจำตัวที่ทุกคนต้องมีเป็นของตัวเอง และมีผ้าซิ่นพิเศษสำหรับ "ใส่ตาย" หรือใส่ในวาระสุดท้ายของตนเองด้วย เพื่อให้ดวงวิญญาณ ได้ไปสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ 

 สำหรับผู้ที่มีความขยันมักจะทอผ้าตีนจกอย่างน้อย 3 ผืนในชีวิต

               ผืนที่ 1 เพื่อใช้นุ่งห่อศพตอนเสียชีวิต และนำไปเผาพร้อมกับร่าง โดยเชื่อว่าผู้ตายได้สวมใส่ไปบูชายังพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

               ผืนที่ 2 ให้ลูกหลานนำไปถวายทาน ตอนทำบุญอุทิศส่วนกุศล เพราะเชื่อว่าจะทำให้ได้นุ่งตีนจกไปสู่สวรรค์

               ผืนที่ 3 จะให้ลูกหลานเก็บไว้ เพื่อเป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันไป

ส่วนร่างกายท่อนบนของสุภาพสตรีไทยวนในอดีตพบว่ามีทั้งการเปิดออกแบบบุรุษและการใช้ผ้าขาวหน้าแคบแต่ยาวมาพันห่มร่างกายท่อนบนเรียกว่า "ผ้าสะหว้ายแล่ง" บางครั้งก็ใส่ เสื้อก๊บ หรือ เสื้อก๊บหลองแดง หรือ เสื้อหลองแดง ตัดเย็บจากผ้าฝ้ายหรือผ้ากำมะหยี่ย้อมสีดำ ซับด้านในด้วยผ้าฝ้ายสีแดง เป็นเสื้อแขนกระบอกยาว ผ่าหน้า ไม่ติดกระดุม

บุรุษไทยวน

ผู้ชายไทยวนแต่งกายง่ายกว่าผู้หญิงมาก ในเวลาลำลองหรือปกติจะไม่ใส่เสื้อ หากแต่นุ่งกางเกงพื้นเมือง เอวกว้างทรงตรง ขายาวประมาณครึ่งแข้งและขากว้างมาก เรียกกันในภาษาพื้นเมืองว่า "เตี่ยวสะดอ" หรือ "เตี่ยวสามดูก" ซึ่งคงจะกร่อนมาจากคำว่าผ้าเตี่ยวสามกระดูกนั่นเอง เนื่องจากแพตเทิร์นของกางเกงทรงนี้ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนตอนใต้ประกอบด้วยโครงสร้างหลักของผ้าเพียง 3 ชิ้นนำมาตัดเย็บเพลาะเข้าด้วยกันกลายเป็นกางเกงได้ 1 ตัว

เมื่อต้องการความทะมัดทะแมงผู้ชายไทยวนจะนำผ้าผืนหนึ่งมานุ่งพันรอบลำตัว ลักษณะเช่นเดียวกับการนุ่งโจงกระเบนของคนไทยภาคกลาง แต่จะนุ่งให้กระชับและสั้นมากคือสูงขึ้นไปจนถึงต้นขา เรียกการนุ่งผ้าแบบนี้ว่า "นุ่งผ้าเค็ดหม้าม"

การสวมเสื้อไม่ใช่ธรรมเนียมของผู้ชายไทยวน นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนตอนใต้โดยตรงลักษณะจะเป็นเสื้อผ้าฝ้าย ย้อมสีห้อม คือสีน้ำเงินเข้มจนเกือบดำ คอกลม แขนยาวประมาณข้อศอกหรือยาวกว่านั้นเล็กน้อย ผ่าอกโดยตลอด มีการติดกระดุมโดยใช้ผ้าฝ้ายของตัวเสื้อมาเย็บเป็นไส้ไก่มัดเป็นปมคล้ายตะกร้อ ทำเป็นเม็ดกระดุม เสื้อตัวหนึ่งจะมีกระดุม 5-7 เม็ด ชายเสื้อปล่อยยาวคลุมสะโพกกลาง มีกระเป๋าปะที่ชายเสื้อด้านหน้าทั้งด้านซ้ายและขวา บางครั้งก็มีการทำกระเป๋าปะอยู่บริเวณด้านหน้าอกซ้ายอีกใบ

ผ้าซิ่นของชาวไทยวน

ผ้าซิ่นของชาวไทยวนแบ่งออกเป็น ผ้าซิ่นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และ ผ้าซิ่นพิธีกรรม

ผ้าซิ่นทั้ง 2 ประเภทนี้มีโครงสร้างของผ้าซิ่นที่เลียนแบบร่างกายของมนุษย์ คือ

ซึ่งเปรียบเทียบได้กับศีรษะ ลำตัว และขาเท้าของมนุษย์นั่นเอง

ส่วนประกอบทั้ง 3 ส่วนของผ้าซิ่นดังกล่าว ไม่นิยมทอต่อเนื่องกันเป็นผืนเดียว แต่นิยมทอแยกจากกันแล้วใช้วิธีเย็บเพลาะเข้าด้วยกันเมื่อเวลาจะใช้งาน เพราะหากส่วนใดส่วนหนึ่งขาดชำรุดเปื่อยไปก่อนก็สามารถเลาะทิ้งแล้วเปลี่ยนชิ้นใหม่เข้ามาแทนที่ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนใหม่หมดทั้งผืนซิ่น

ผ้าซิ่นประจำวันของชาวไทยวน

ซิ่นตา / ซิ่นต๋า

คำว่า "ต๋า" ในภาษาเหนือมีความหมายถึง ลายริ้วที่เป็นริ้วขนานกันและขวางลำตัว เป็นผ้าซิ่นที่ตัวซิ่นจะมีลายริ้วเป็นแถบริ้วขวางลำตัว มีช่องไฟที่ค่อนข้างสม่ำเสมอผ้าซิ่นตำเป็นผ้าซิ่นที่มีส่วน "หัวซิ่น" เป็นแถบผ้าฝ้ายพื้นสีขาวแคบๆ ต่อกับแถบผ้าฝ้ายพื้นสีแดงแคบๆ รวมเป็นส่วนหัวซิ่นด้วยกัน หรือบางครั้งก็ใช้แถบผ้าฝ้ายพื้นสีขาวล้วนหรือสีแดงล้วนเป็นส่วนหัวซิ่น ในส่วน "ตัวซิ่น" ก็จะเป็นส่วนของผ้าฝ้ายลายต่ำที่มีลักษณะเป็นลายริ้ว ประกอบด้วยเส้นสีขาวขวางลำตัวบนผ้าพื้นสีต่างๆ โดยมีระยะห่างของช่องไฟของลายริ้วนี้สม่ำเสมอกันโดยตลอดทั้งผืน

นอกจากนี้ผ้าซิ่นตำยังแบ่งแยกย่อยออกไปอีกหลายประเภท เช่น ผ้าซิ่นตำแล่ม ผ้าซิ่นตาสามแอวหรือผ้าซิ่นต่ำสามแอว ผ้าซิ่นตำโตน

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น, โดย เผ่าทอง ทองเจือ, 2561, สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

ผ้าซิ่นก่านคอควาย

ผ้าซิ่นประจำวันอีกชนิดหนึ่งคือ "ผ้าซิ่นก่านคอควาย" มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนตรงที่เป็นผ้าซิ่นพื้นสีเข้ม คือตั้งแต่สีน้ำเงินเข้มเรื่อยไปจนกระทั่งถึงสีดำสนิท ซึ่งจะมีการคาดเส้นสีแดงไว้ในช่วงตอนล่างของผืนผ้าเพื่อแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างของผืนผ้า และเป็น "หมายซิ่น" ในเวลาใช้ด้านแถบแดงนั้นจะเป็นส่วนล่างของผ้าซิ่นเสมอ ผ้าซิ่นก่านคอควายนี้ นิยมใช้นุ่งในชีวิตประจำวันค่อนข้างมากที่สุด เนื่องจากเป็นผ้าซิ่นผ้าฝ้ายที่ทอง่ายไม่มีลวดลายการตกแต่งที่สลับชับซ้อน และเนื่องด้วยเป็นผ้าฝ้ายที่มีสีเข้มจึงไม่สกปรกง่ายและมีความคงทนในการใช้งานต่างๆ ด้วย

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น, โดย เผ่าทอง ทองเจือ, 2561, สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

ผ้าซิ่นตาตอบ

"ผ้าซิ่นตาตอบ" เป็นผ้าซิ่นประจำวันของชาวไทยวนที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงอีกหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นลำพูนลำปาง แพร่ เป็นต้น ผ้าซิ่นนี้มีลักษณะเป็นลายตารางขนาดเล็กเต็มทั่วทั้งผืนในส่วนตัวซิ่น

เป็นผ้าซิ่นที่แสดงถึงอิทธิพลการเชื่อมโยงกันระหว่างวัฒนธรรมสิ่งทอของกลุ่มไทยวนเชียงใหม่หรือล้านนากับดินแดนอื่นๆ คือกลุ่มไทยเขมร โดยเฉพาะกลุ่มไทยเขมรในแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และยังข้ามเข้าไปในส่วนชายแดนของประเทศกัมพูชาที่เชื่อมต่อกับ 3 จังหวัดดังกล่าวนานมาแล้วด้วย ผ้าที่ใกล้เคียงกันกับผ้าซิ่นตาตอบก็คือผ้าซิ่นอัมปรม ซึ่งมีความละม้ายคล้ายคลึงกันเป็นอย่างยิ่ง

ผ้าซิ่นหอมอ้วน

เป็นผ้าซิ่นที่มีแหล่งกำเนิดและนิยมใช้กันมากที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่และแพร่หลายออกไปจนทั่วดินแดนภาคเหนือในปัจจุบันเรียกว่า "ผ้าซิ่นหอมอ้วน" นิยมทอขึ้นใช้เป็นส่วนของตัวซิ่น และบางครั้งก็นำมาต่อกับตีนซิ่น ด้วยชื่อดั้งเดิมในพื้นที่ของซิ่นชนิดนี้เรียกกันทั่วไปว่า "ผ้าซิ่นหำอ้วน"

เนื่องจากลักษณะหรือเทคนิคการทอผ้าชนิดนี้จะมีความโปร่งบางค่อนข้างมากทำให้ใส่แล้วเย็นสบาย แต่ในเวลาที่เดินไปในที่ต่างๆและมีแสงอาทิตย์หรือแสงสว่างสองผ่านมาทางด้านข้างหรือด้านหลังของผู้สวมใส่จะทำให้เราเห็นสรีระร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ส่วนก้นและขาของผู้สวมใส่ก็จะทำให้สุภาพบุรุษในสมัยโบราณมองเห็นแล้วเกิดความรู้สึกคึกคักในจิตใจขึ้นเป็นพิเศษ ส่งผลให้อวัยวะบางส่วนของร่างกายเกิดอาการขยับขยายตัวอ้วนขึ้น จึงเป็นที่มาของคำว่า "ผ้าซิ่นหำอ้วน" ต่อมามีการปรับเปลี่ยนชื่อเรียกให้สุภาพขึ้น จึงเรียกว่า  "ผ้าซิ่นหอมอ้วน" นั่นเอง 

ผ้าซิ่นโฮะ

"ผ้าซิ่นโฮะ" หรือ "ผ้าซิ่นแกงโฮะ" หรือ "ผ้าซิ่นแกงแค" มีหลายชื่อจะเรียกแบบไหนก็ได้ ซิ่นชนิดนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึง ปัจจุบันนี้ เป็นผ้าซิ่นประจำวันที่แสดงให้เราเห็นถึงความมัธยัสถ์ของชาวไทยวนอย่างแท้จริง เนื่องจากในอดีต "ผ้า" เป็นสิ่งที่ต้องใช้น้ำพักน้ำแรงในการทอและการผลิตอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การปลูกฝ้าย เก็บฝ้าย ปั่นฝ้ายไปจนถึงการย้อมและการทอ ดังนั้นวัฏจักรของการได้มาซึ่งผืนผ้าแต่ละผืนจึงมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีเลยทีเดียว

ด้วยเหตุผลดังกล่าวเมื่อผ้าซิ่นผืนใหญ่ที่นุ่งเกิดการชำรุดเลอะขาดก็จะเลาะผ้าซิ่นส่วนนั้นออกแล้วจะดัดแปลงตัดเอาส่วนที่ทะลุปุขาดหรือเลอะเทอะออกทิ้งไป ตัดเก็บไว้เฉพาะส่วนที่ยังดีอยู่แล้วนำไปเย็บเพลาะต่อกันจนกลายเป็นผ้าผืนใหญ่มากพอที่จะทำเป็นตัวผ้าซิ่นได้ จากนั้นจึงนำไปต่อหัวและต่อตีนเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันจนกว่าผ้าซิ่นนั้นจะหมดอายุไขอย่างแท้จริง

หน้าตาของผ้าซิ่นแบบนี้จึงเป็นการผสมผสานกันของเศษผ้าฝ้ายที่มีลวดลายและขนาดที่แตกต่างกันรวมกันอยู่ในผ้าผืนเดียว ดังนั้นผ้าแบบนี้จึงถูกนำไปเปรียบเทียบกับอาหารพื้นบ้านที่เรียกว่าแกงโฮะหรือแกงแคที่ต้องใช้กับข้าวหลากหลายชนิดที่เหลือจากการรับประทานมาผัดรวมเข้าด้วยกันอีกครั้ง แล้วจึงใส่ผักหลายขนิดลงไปรวมๆ กัน เพื่อให้กลายเป็นกับข้าวจานใหม่ที่เรียกว่า แกงโฮะ

ผ้าซิ่นประจำวันที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มชาติพันธุ์ใกล้เคียง

คนไทยวนมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ เป็นอย่างยิ่งในฐานะที่อยู่ร่วมดินแดนเดียวกัน ดังนั้น ชาวเชียงใหม่ที่อำเภอ แม่แจ่มที่มีความใกล้ชิดกับชนเผ่ากะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ และชนเผ่าลัวะเป็นอย่างมากจึงมีผ้าซิ่นที่ใช้ในชีวิตประจำวันอีก 2 แบบ ได้แก่ "ผ้าซิ่นกะเหรี่ยง" หรือ "ผ้าซิ่นยาง" โดยรับเอาโครงสร้างการทอผ้าซิ่นจากชนเผ่ากะเหรี่ยงมาโดยตรง แต่พัฒนาให้ผ้าซิ่นนั้นมีหน้ากว้างและมีความยาวมากขึ้นตามรสนิยมการแต่งกายของสตรีคนเมืองชาวไทยวน ลวดลายที่ใช้ตกแต่งบนผืนผ้าก็เป็นกรรมวิธีพิเศษมาก นั่นคือการมัดหมี่ เส้นยืน นอกจากนี้ยังมีการตกแต่งตัวซิ่นด้วยลายริ้วขวางลำตัวด้วยกรรมวิธีมัดหมี่เส้นยืนและการเพลาะผ้า 2 ผืนเข้าด้วยกันตรงกลางของผืนผ้าซิ่น


ส่วน "ผ้าซิ่นลัวะ" หรือ "ผ้าซิ่นล้วะคนเมือง" เป็นผ้าซิ่นที่ได้รับอิทธิพลทางลวดลายและสีสันจากชาวไทยภูเขาเผ่าลัวะมาโดยตรงครับมีการตกแต่งผืนผ้าซิ่นด้วยการมัดหมี่เส้นยืน เช่นเดียวกับผ้าซิ่นกะเหรี่ยง สวนสีที่นิยมใช้เป็นสีเอกรงค์ คือ สีดำ สีน้ำเงินเข้ม ที่ได้จากสีย้อมธรรมชาติคือต้นห้อมหรือต้นคราม สีแดงสดหรือสีแดงก่ำจากครั่ง และอีกสีคือสีขาวตุ่นที่ได้จากเส้นฝ้ายสีธรรมชาติ

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น, โดย เผ่าทอง ทองเจือ, 2561, สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น, โดย เผ่าทอง ทองเจือ, 2561, สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

ผ้าซิ่นพิธีกรรม

ผ้าซิ่นตีนจก

"ผ้าซิ่นตีนจก" ถือเป็นผ้าซิ่นที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะจะเลือกสวมใส่เฉพาะในโอกาสสำคัญหรือในโอกาสพิเศษจริงๆ เช่น ในพิธีกรรมทางศาสนา

นอกจากนี้ยังจะทอเก็บไว้ให้ลูกหลาน ใช้เป็นตัวแทนของตนเองเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับตนเองเมื่อล่วงลับไปแล้ว อีกทั้งผู้ที่จะเป็นลูกสะใภ้จะต้องทอผ้าซิ่นตีนจกเพื่อใช้สำหรับเป็นผ้าไหว้แม่สามีหรือญาติผู้ใหญ่ฝ่ายสามีรวมทั้งฝ่ายตนเอง และยังเป็นผ้าซิ่นที่ตนเองจะต้องนุ่งในวันแต่งงานด้วย

จากความสำคัญของผ้าซิ่นตีนจกดังกล่าวชาวไทยวนจึงนิยมนำมาใช้ประกอบใน"พิธีฮ้องขวัญข้าว" หรือ "พิธีเรียกขวัญข้าว"นั่นเอง พิธีนี้เป็นการเชิญขวัญข้าวหรือพระแม่โพสพขึ้นหลองหรือยุ้งข้าว คนไทยทั่วไปถือว่าพระแม่โพสพเป็นเพศหญิง ดังนั้นในพิธีฮ้องขวัญข้าวเชิญข้าวขึ้นหลองจึงต้องบูชาพระแม่โพสพด้วยผ้าซิ่นตีนจกดังกล่าว โดยนำใส่พานหรือขันพร้อมเครื่องประกอบอื่นๆ วางลงบนกองข้าวเปลือกในหลองข้าว

ผ้าซิ่นตีนจกจะมีองค์ประกอบของผ้าซิ่นครบถ้วน นั่นคือมี ส่วนหัวซิ่น ส่วนตัวซิ่น และส่วนตีนซิ่น โดยในส่วนตีนซิ่นนั้นจะประดับตกแต่งด้วยกรรม วิธีการทอจก ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่สลับซับซ้อน จึงเรียกว่า ผ้าซิ่นตีนจก ส่วนลวดลายจกที่ใช้ตกแต่งตีนซิ่นมี 2 แบบ คือ แบบลายโคม ลายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน และอีกแบบเรียกว่าแบบลายกุม 

ผ้าซิ่นตีนจกแบบลายโคมเป็นลายพื้นฐานของสตรีไทยวนพบได้ทั่วไปทุกจังหวัดในภาคเหนือ ลักษณะเป็นลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดอยู่ตรงบริเวณกึ่งกลางของตีนซิ่นซึ่งถือเป็นลายหลัก และขนาบด้วยลายด้านข้างของลายโคมคือลายขันซึ่งเป็นลายประกอบ ลักษณะเป็นลายรูปสามเหลี่ยมต่อกันจากลายโคม นอกจากนี้ยังมีลายประกอบอื่นๆ เช่น ลายนก ลายนาค ลายน้ำต้น ลายขอไล่ ลายหางสะเปา ซึ่งเป็นลายตามอุดมคติของชาวล้านนาในทุกจังหวัดเพราะถือเป็นลวดลายที่มีความสำคัญตรงกับความเชื่อทางศาสนา

ส่วนผ้าซิ่นตีนจกแบบลายกุมเป็นลายที่ไม่ได้จัดอยู่ในโครงสร้างของการตกแต่งลวดลายตามรูปแบบข้างต้น หากแต่เป็นการทอลวดลายที่ช่างทอคิดจินตนาการสร้างสรรค์ลงไปเองตามปรารถนา มุ่งให้เกิดความงดงามแต่เพียงอย่างเดียว และจะทอเป็นลายเดียวกันซ้ำๆติดต่อดลอดกันทั้งผืน เช่น ลายนาคกุม ลายนกกุม ลายนกนอนกุม ลายละกอนกุม เป็นต้น

ลวดลายตีนจกลายโคม ของกลุ่มไท-ยวน

ลายโคม จากอำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ลักษณะใช้ลายโคมเป็นลายหลักมีลายขันประกอบ ลายขนาบบนล่างเป็นลายนกคู่ อยู่ในห้องลายน้ำต้น มีหางสะเปาตามแบบแม่แจ่ม

ลายโคม อำเภอลอง จ.แพร่ มีลักษณะเป็นลายโคมไม่มีลายประกอบขนาบบนล่าง ระหว่างลายโคมมีลายคั่นเป็นลายช่อน้อยตุงใจ มีหางสะเปาตามแบบเมืองลอง

ลายโคม อำเภอนาน้อย จ.น่าน มีลักษณะเป็นลายโคมขั้นด้วยลายตุงช่อ มีห้องนกขนาบบนล่าง หางสะเปาใช้วิธีการจกแบบลายโคมเป็นลายตุงหาง

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน. (2559, 17 ตุลาคม). ลวดลายตีนจกลายโคม ของกลุ่มไท-ยวน [Image attached] [Status update]. Facebook. https://www.facebook.com/331195630403369/posts/512510125605251.

ลวดลายตีนจกลายกุม ของกลุ่มไท-ยวน

ผ้าตีนจกลายนาคกุมแม่แจ่ม นาคกุมนกก้อม

นาคกุมจี๋ดอกควัก

หมายเหตุ. ภาพจาก วไลภรณ์ ผ้าจกแม่แจ่ม. (2557, 4 ธันวาคม). ผ้าตีนจกลายนาคกุมแม่แจ่ม นาคกุมนกก้อมและนาคกุมจี๋ดอกควัก สวยงามแตกต่างกัน [Image attached] [Status update]. Facebook. https://www.facebook.com/maechaem.sarong/posts/971389549542290/.

การนุ่งผ้าซิ่นตีนจกของคนโบราณจะทะนุกนอมมาก ไม่นิยมชักบ่อย นุ่งเสร็จจะนำออกผึ่งลมพอให้แห้งจากเหงื่อ ไม่นิยมตากแดดเพราะเกรงสีจะซีด จากนั้นจะปลิ้นเอาด้านในของซิ่นออกมาข้างนอก ป้องกันไม่ให้ลายจกเป็นอันตรายจากการเกี่ยว แล้วพับห่อด้วยผ้าฝ้ายขาว เก็บเข้ากล่องผ้าหรือตู้เก็บไว้

ในการนุ่งผ้าซิ่นตีนจกของคนโบราณจะนำผ้าฝ้ายสีขาว เนื้อนุ่มบาง มาตัดเย็บเป็นผ้าซิ่น อีกผืนหนึ่งเรียกว่า "ผ้าซิ่นซ้อน" ใช้นุ่งซ้อนไว้ด้านใน แล้วจึงนุ่งผ้าซิ่นตีนจกไว้ด้านนอกเพื่อป้องกันไม่ให้ผ้าซิ่นตีนจกเลอะเทอะ เนื่องจากในสมัยใบราณยังไม่มีการนุ่งกางเกงใน เวลาชักจะซักแต่ผ้าชิ่นซ้อน ไม่ซักผ้าซิ่นตีนจก ตามปกติแล้วการนุ่งผ้าซิ่นซ้อนเราจะมองไม่เห็นเลยนากจากเวลาที่ลงนั่งพับเพียบ และไม่นิยมนุ่งผ้าซิ่นชัอนที่แลบชายออกมามากๆ ถือเป็นกิริยาที่ไม่งดงามที่สุภาพสตรีไม่พึ่งปฏิบัติ

รายการอ้างอิง

นราธิป ทับทัน และชินศักดิ์ ตัณฑิกุล. (2560). ปริทัศน์การศึกษาว่าด้วยชาติพันธุ์ไทยวน. วารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์, 34(2). 245-272.

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2565, 27 กรกฎาคม). ไท ยวน เชียงแสน. http://m-culture.in.th/album/197140/ไท_ยวน_เชียงแสน

เผ่าทอง ทองเจือ. (2561). ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น. สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.