วัดมิ่งเมือง

ชื่อวัด : วัดมิ่งเมือง

ประเภทวัด : วัดราษฎร์

นิกาย : มหานิกาย

ที่ตั้ง : ม.1 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย

ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด : พุทธศักราช 2420

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา : พุทธศักราช 2513

วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ถนนไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ด้านข้างติดถนนบรรพปราการ วัดมิ่งเมืองอยู่ติดสถานที่สำคัญทางโบราณคดีของจังหวัดเชียงราย เป็นประตูเมืองเก่าของเมืองเชียงราย คือ ประตูไก่ดำ หรือ ประตูขัวดำ หรือประตูเจ้าพ่อสันป่าแดง ซึ่งคนเชียงรายเรียกยังคงเรียกบริเวณสี่แยกที่ถนนบรรพปราการตัดกับถนนไตรรัตน์ว่า สี่แยกขัวดำ ที่บริเวณประตูวัดด้านทิศตะวันออก มีบ่อน้ำโบราณ ชื่อ น้ำบ่อจ๊างมูบ ศิลปะแบบไทยใหญ่ มีซุ้มครอบไว้เป็น ประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างหมอบ เชื่อกันว่าบ่อน้ำนี้เป็นบ่อน้ำโบราณที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคของผู้คนโบราณ ที่สัญจรเข้าออกเมือง ได้มาพักกายบริเวณประตูเมืองเพื่อดื่มน้ำและล้างหน้าให้เกิดสิริมงคล ก่อนจะเริ่มเดินทางออกหรือ เข้าสู่เมืองเชียงราย

วัดมิ่งเมือง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2513 เดิมเป็นวัดไทยใหญ่ มีอายุเท่ากับเมืองเชียงราย คือประมาณ 800 ปี เนื่องด้วยในสมัยก่อนมีชุมชนไทยใหญ่อาศัยอยู่รอบบริเวณวัด ประกอบกับมีศิลปะศาสนสถานและศาสนวัตถุแบบพม่า จึงถูกเรียก ขานว่าเป็น วัดเงี้ยว แต่ชื่อที่ชาวเชียงรายรู้จักกันแพร่หลายคือ วัดจ๊างมูบ เป็นภาษาเหนือ แปลว่า วัดช้างหมอบ ตามหลัก ฐาน ทางประวัติศาสตร์และคำบอกเล่าของคนโบราณ วัดนี้มีความสำคัญเกี่ยวกับช้างคู่บารมีของพ่อขุนเม็งรายมหาราช แห่ง ราชอาณา จักรล้านนา องค์มหาราชลำดับที่ 2 ของประวัติศาสตร์ไทยกล่าวคือ ในพิธีการเคลื่อนขบวนแห่พระแก้วมรกตออกทักษิณาวรรต รอบเมืองเชียงรายทางสถลมารค ในวันสำคัญทางประเพณี เช่น วันสงกรานต์ หรือ ปีใหม่เมือง จะมีการจัดเตรียมสถานที่ให้พญาช้าง คู่บารมีของพ่อขุนเม็งรายมหาราชมาหมอบรอเทียบที่วัด เทินบุษบกเพื่อรับพระแก้วมรกต ที่แห่มาด้วยขบวนเสลี่ยง จากวัดพระแก้ว ซึ่งอยู่ห่างจากวัดไปทางทิศเหนือ 200 เมตร

ปัจจุบันได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์โบราณศิลปะไทยใหญ่ พระอุโบสถและพระวิหารไม้ลายคำศิลปะล้าน ของวัดมิ่งเมืองอย่าง ถูกต้องตามหลักพุทธศิลป์ล้านนาและทัศนศิลป์เชิงโบราณคดี ระหว่างการบูรณะได้ขุดค้นพบลายอักษรโบราณจารึก บนแผ่นเงิน เป็นภาษาพม่า กล่าวถึงประวัติผู้สร้างเจดีย์ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ เมื่อสืบค้นจากพงศาวดารจึงทำให้ทราบว่า ผู้สร้าง วัดมิ่งเมือง คือ เจ้านางตะละแม่ศรี เป็นมเหสีของพ่อขุนเม็งรายมหาราชซึ่งพระนางมีเชื้อสายกษัตริย์จากเมืองหงสาวดี

ในวัดมิ่งเมืองยังคงมีโบราณสถานและโบราณวัตถุปรากฏอยู่หลายอย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะผสมระหว่างพม่าและล้านนา และมีปูชนียวัตถุสำคัญคือ พระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐาน ณ พระเจดีย์โบราณ ที่ได้รับการประธานจาก สมเด็จพระญาณสังวรณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

โบราณสถานและโบราณวัตถุในวัด

  • องค์พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปั้น ลงรักปิดทองทั้งองค์ เป็นศิลปะเชียงแสนสิงห์ ๑ ซึ่งได้ทำการซ่อมแซมมาถึง ๔ ครั้งมีอายุถึง ๔๐๐ กว่าปี ซึ่งครั้งหลังสุด ช่างที่ก่อสร้างได้เพิ่มขนาดขององค์พระให้ใหญ่ขึ้น โดยมีหน้าตักกว้างขนาด ๘๐ นิ้ว มีนามว่า “หลวงพ่อพระศรีมิ่งเมือง” ที่มีพุทธลักษณะที่งดงามตามพุทธศิลป์แบบเชียงแสนสิงห์ ๑ ยุคต้นโดยเฉพาะที่ยอดพระเกตุโมฬีเป็น รูปดอกบัวตูมแกะสลักจากหินแก้วจุยเจียหรือแก้วโป่งข่าม ซึ่งเป็นหินที่เกิดขึ้นในดินแดนล้านนาเท่านั้น

  • เจดีย์ เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ ที่มีคู่มากับวัด เป็นศิลปะแบบล้านนา เดิมก่อนการบูรณะเป็นรูปทรงพม่าทั้งหมด แต่ต่อมาได้รับการบูรณะ ใหม่ โดยสร้างเจดีย์บริวารตั้งไว้สี่มุม ประดับด้วยฉัตรศิลปะแบบพม่า ชาวบ้านเรียกเจดีย์นี้ว่า “พระธาตุมิ่งเมือง” นอกจากนี้เจดีย์นี้มี ความสำคัญ คือ เป็นที่เก็บรวบรวมประวัติของวัดไว้

  • วิหาร เป็นวิหารไทใหญ่ประยุกต์ผสมผสานกับรูปแบบของวิหารล้านนา ภายในตกแต่งด้วยลวดลายแกะสลักลงรักปิดทอง ประกอบกับการ กรุฝ้าเพดานแบบไตรภูมิและบราลีเป็นรูปหงส์จำนวน 34 ตัว

  • บ่อน้ำ ชาวบ้านทั่วไป เรียกบ่อน้ำนี้ว่า “น้ำบ่อช้างมูบ” เพราะรูปแบบการก่อสร้างมีหลังคาเป็นรูปซุ้มโขง ประดับด้วยรูปปั้นของช้างทรงเครื่อง ซึ่งหมอบอยู่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในสมัยโบราณ บ่อนี้ได้ให้ประโยชน์แก่ชุมชนชาวตลาดเชียงรายเป็นอย่าง มากเพราะ เป็นบ่อน้ำแห่งเดียวที่อยู่ในบริเวณนี้ ทั้งใช้ตักดื่ม และตักไปขาย และเป็นสถานที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างในเมืองและนอกเมือง เมื่อชาวบ้านเดินทางไกลมาจะเข้าเมือง จะแวะพักดื่มน้ำที่บ่อนี้ก่อน และไปธุระ พอเสร็จธุระและจะออก จากตัวเมืองก็จะแวะ พักเหนื่อย และดื่มน้ำที่บ่อช้างมูบก่อนแล้วค่อยเดินทางต่อไป

ภาพบรรยากาศภายในวัด

รายการอ้างอิง

วัดมิ่งเมือง เชียงราย. (มปป.). สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2563, จาก https://www.paiduaykan.com/province/north/chiangrai/watmingmuang.html