วัดมุงเมือง

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2559, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

วัดมุงเมือง หมายถึง วัดที่มุง (คลุม) เมืองเชียงรายไว้
เปรียบเสมือนหลังคาที่คุ้มครองเมืองเชียงราย

ที่อยู่วัด : ถนนอุตรกิจ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

นิกาย : มหานิกาย

ประเภทวัด : วัดราษฎร์

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา : พุทธศักราช 2409

ประวัติวัดมุงเมือง

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2559, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

วัดมุงเมือง ไม่ปรากฏปีที่สร้างชัดเจน เนื่องจากแต่เดิมวัดมุงเมืองเคยเป็นวัดร้าง โดยในราวปี พ.ศ. 2386 พระยาพุทธวงศ์เจ้าหลวงเชียงใหม่มีดำริในการฟื้นฟูเมืองเชียงราย หลังจากที่ร้างมานาน และให้เจ้าธรรมลังกาเป็นเจ้าหลวงเมืองเชียงราย ในยุคนี้ในเมืองเชียงรายมีการบูรณะปฏิสังขรณ์มากมาย ทั้งวัดร้าง กำแพงเมือง เคหะสถาน เป็นต้น วัดมุงเมืองสันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มบูรณะปฏิสังขรณ์ในยุคนี้เช่นกัน

อุโบสถวัดมุงเมือง

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2559, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

อุโบสถวัดมุงเมือง

อุโบสถวัดมุงเมือง เป็นอุโบสถศิลปะล้านนาประยุกต์ กล่าวคือ เป็นอาคารสูงแบบคอนกรีตเสริมเหล็กที่นิยมสร้างในภาคกลางต่างจากศิลปะล้านนาแบบดั้งเดิม แต่ยังคงประดับตกแต่งแบบล้านนาด้วยเครื่องไม้สลักลงรักปิดทอง ได้แก่ โก่งคิ้ว ระหว่างเสามีค้ำขัน หรือหูช้าง ป้านลมโค้งอ่อนแบบล้านนาเน้นระนาบเอนของตับหลังคา โครงสร้างหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น (ตับ) กระเบื้องมุงหลังคาเป็นแบบดินเผาเคลือบ ช่อฟ้าเป็นรูปปากนกปลายงอน ป้านลมปลายเป็นรูปพญานาค หน้าแหนบและหน้าแหนบปีกนก ทำเป็นช่องลูกฟัก คานล่างโก่งคิ้วระหว่างเสาวิหารทำเป็นรูปเศียรพญานาค ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบอุโบสถ และวิหารอื่นๆ ในเมืองเชียงราย บันไดทางขึ้นมีรูปปั้นพญานาค 3 เศียร ไม่มีมกรคายนาค ภายในวิหารมีการออกแบบลายเพดานเป็นลวดลายยันต์โบราณของล้านนาที่หาชมได้ยาก พระพุทธรูปองค์ประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัยปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ส่วนบัลลังก์ไม่มีบัวคว่ำบัวหงาย

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2559, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2559, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2559, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

เจดีย์วัดมุงเมือง

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2559, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

เจดีย์วัดมุงเมืองตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ เป็นเจดีย์องก็ใหม่ ที่ทางวัดได้รื้อถอนเจดีย์องค์เก่าและสร้างเจดีย์คงค์ใหม่ขึ้นมาแทนรูปแบบเจดีย์องค์ปัจจุบันเป็นแบบร่วมสมัย ขนาดสูงประมาณ 30 เมตร จากรูปแบบโดยรวมแล้วน่าจะประยุกต์มาจากเจดีย์ทรงปราสาทยอดเดียวแบบล้านนา เนื่องจากมีการทำซุ้มโขง (ซุ้มจระนำ) ประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน แต่ที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ คือ

มีการประดับซุ้มโขง (ซุ้มจระนำ) ด้วยพญานาค และที่มุมฐานเจดีย์ทั้ง 4 มีรูปคชสีห์ประดับอยู่ด้วย

คชสีห์เป็นสัตว์หิมพานต์ที่มีกายเป็นสิงห์และมีช่วงหัวเป็นช้าง ตามตำรากล่าวว่า คชสีห์ มีหลังเทียบเท่าช้างและสิงห์รวมกันซึ่งนับได้ว่าเป็นสัตว์ที่น่าเกรงขาม การประดับสัตว์หิมพานต์ที่มุมเจดีย์นี้คงสร้างตามความเชื่อเรื่องไตรภูมิที่ว่า ป่าหิมพานต์อยู่ในชมพูทวีป อันมีเขาพระสุเมรุ (เขาสิเนรุราช) เป็นศูนย์กลางจักรวาล

พระเจ้าสองสี

ภายในกุฏิเจ้าอาวาสประดิษฐานพระเจ้าสองสีเป็นพระพุทธรูปทีได้รับอิทธิพลศิลปะของสุโขทัย เนื้อทองสำริดสองกษัตริย์อายุกว่า 600 ปี เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองและเป็นที่สักการะของชาวเชียงรายมาแต่ช้านาน และเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวที่มีประวัติเรื่องปาฏิหาริย์ กล่าวคือ เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการทิ้งระเบิดทั่วเมืองเชียงราย ระเบิดที่ตกลงมาในวัดมุงเมืองหลายลูกแต่ระเบิดไม่ทำงาน และยังมีการเผาวัดมุงเมืองหลายครั้งแต่ไฟก็ไม่ไหม้ จนทำให้ประชาชนเคารพเลื่อมใสในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าสองสีเป็นอันมากนับตั้งแต่นั้นมา

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2559, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

พระเจ้าสองสีเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย แบบเชียงแสนสิงห์สาม นิยมสร้างในช่วงยุทองของล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 พระพุทธรูปในกลุ่มนี้ใด้แก่ พระพุทธรูปที่แสลักษณะของอิทธิพลศิลปะสุโขทัย ซึ่งนิยมเรียกว่า "แบบเชียงแสนสิงห์สาม"

โดยใช้ข้อสังเกตที่ว่าเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบพระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว ชายสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี รูปเขี้ยวตะขาบของชายจีวรยังอยู่ พระพักตร์รูปไข่ เกิดจากพระนลาฏที่แคบลงจากเดิมในยุคล้านนานี้ได้พัฒนารูปแบบจนเกิดเป็นลักษณะเฉพาะ คือ การทำ พระเนตรเปิดกว้าง มองตรง พระโอษฐ์ยิ้มและเกือบเป็นเส้นตรง ต่างจากสุโขทัยที่หยักเป็นคลื่น

รายการอ้างอิง

เทศบาลนครเชียงราย. (2558). วัดเก่าแก่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย. เทศบาลนครเชียงราย.

เทศบาลนครเชียงราย. (2559). วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย. เทศบาลนครเชียงราย.