" คำเมือง "

ภาษาพูด

ภาษาพูด ใช้พูดจากันเรียกว่า "อู้คำเมือง" สำเนียงพูดของชาวเชียงรายไม่เหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ คือ ไม่เนิบนาบ และไม่ห้วนจนเกินไป เป็นสำเนียงที่หล่อหลอมขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเชียงรายเคยเป็นเมืองร้างผู้คนนานเกือบร้อยปี ได้มีการฟื้นฟูบ้านเมืองขึ้นมาใหม่เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2384 โดยได้เกณฑ์ราษฎรจากเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และชนเผ่าไตใหญ่ ไตลื้อ ไตยอง และไตขืน (เขิน) ซึ่งอพยพจากเชียงตุง และสิบสองปันนา รวมทั้งชาวลาวจากประเทศลาว ได้เข้ามาอาศัยอยู่รวมกัน ดังนั้น สำเนียงพูดของชาวเชียงรายจึงมีความหลากหลายทางสำเนียงในพื้นที่ต่าง ๆ แต่ภาษาหลักของเชียงรายจะอยู่ที่อำเภอเมือง อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย อำเภอเวียงชัย และอำเภอพาน

ภาษาเขียน

ภาษาเขียน เชียงรายก็เช่นเดียวกันกับจังหวัดทางภาคเหนืออื่น ๆ คือมีภาษาเขียนที่เรียกว่า "อักขระล้านนา" "อักษรธรรมล้านนา" "อักษธัมม์" หรือ "ตัวเมือง"

อักษรล้านนามีวิวัฒนาการมาจากอักษรพราหมีของอินเดีย มีการจัดระบบของหลักภาษาคล้ายกับภาษาบาลี อักษรล้านนามีรูปทรงกลมป้อมคล้ายอักษรพม่าและมอญ แต่หลักการทางภาษาไม่เหมือนกัน จากหลักฐานในศิลาจารึกวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่ารูปทรงของอักษรล้านนามีรูปทรงเป็นตัวเหลี่ยมมาก่อน

ตัวอย่างอักษรล้านนา

รายการอ้างอิง :

1. บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2551). 30 ชาติในเชียงราย. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ศยาม.

2. กรรณิการ์ วิมลเกษม. (2549). ภาษาไทยถิ่นเหนือ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ธรรมสาร.

3. เกษม ศิริรัตน์พิริยะ. (2548). "ตั๋วเมือง" : การเรียนภาษาล้านนาผ่านโครงสร้างคำ. นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.