วัดกลางเวียง

ที่อยู่วัด : หมู่ 1 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

นิกาย : มหานิกาย

ประเภทวัด : วัดราษฎร์

ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด : พุทธศักราช 2419

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา : พุทธศักราช 2420

ประวัติวัด

วัดกลางเวียง จากการค้นพบบันทึกใบลาน และแผ่นอิฐดินเผาโบราณที่จารึกคาดกันว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.1975 และได้รกร้างมายาวนาน และไม่ปรากฏว่าเริ่มมีการปฏิสังขรณ์เมื่อใดอย่างชัดเจน แต่จากหนังสือวัดกลางเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย มีการกล่าวเพิ่มเติมในเรื่องการปฏิสังขรณ์ว่า “...หลังการปฏิสังขรณ์ 10 ปี เมื่อ พ.ศ.2386 ได้มีลูกเห็บตกอย่างหนักและลูกใหญ่ ทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้ ดินขอ (กระเบื้องดินเผา) ที่มุงหลังคา ทั้งกุฏิและวิหาร แตกกระจายและปลิวว่อน ทำให้พระธรรมคัมภีร์ พับหนังสา บันทึกโบราณต่างๆ เสียหาย ทำให้สมภารต้องเกณฑ์เอานักปราชญ์เมธีผู้รู้ มาช่วยกันคัดลอก เดาความกันอีกวาระหนึ่ง หลังจากวาตภัยผ่านไปก็มีการเปลี่ยนหลังคาจากดินขอ มาเป็นแป้นเกล็ดทั้งหมดแทน...” จากการปฎิสังขรณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นว่าอายุของวัดนั้นน่าจะมีอายุประมาณ 182 ปี (นับตั้งแต่ พ.ศ.2376 ถึง พ.ศ.2558)

หลังจากที่เคยเป็นวัดที่รกร้างมานานเกือบ 400 ปี แต่เดิมนั้นชื่อ วัดจั๋นตะโลก หรือ วัดจันทน์โลก และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวัดจันทน์โลกกลางเวียง ในการเฉลิมฉลองเมืองเชียงราย พ.ศ.2418 ซึ่งที่มาของชื่อกลางเวียง เพราะในสมัยนั้น วัดจันทน์โลกกลางเวียง คือศูนย์กลางของเวียงเชียงราย และเป็นที่ตั้งของ “สะดือเมืองเชียงราย” ซึ่งถือกันว่าเป็นของเวียง หรือ เมืองที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นราชธานีเทียบเท่ากับเมืองหลว

หนึ่งในประวัติศาสตร์สำคัญของวัดคือการสร้างวิหารและองค์พระเจ้าขึ้นใหม่ และมีพิธีบรรจุหัวใจพระเจ้าและเบิกบายสายพระเนตร มีการแห่แหนงานเฉลิมฉลองสามวันสามคืน (ตั้งแต่วันพฤหัสบดี ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438) โดยพระเจ้าราชวงศ์บัวระกต (มรกต) ร่วมกับเจ้าราชบุตร และพญาเทพเสนา ซึ่งได้รับอาชญาพระเจ้าเชียงใหม่ ให้ขึ้นมารับราชการเมืองเชียงราย ร่วมกับพันตรีหลวงภูวนาทนฤบาล ข้าหลวงรักษาการสามหัวเมือง คือ เชียงราย เชียงแสน และเมืองฝาง มาประจำอยู่ที่ศาลาว่าการเมืองเชียงราย เป็นเจ้าภาพร่วมกับสมภาร คือครูบาคันธิยะ เจ้าอาวาสวัดจันทน์โลกในสมัยนั้น ซึ่งได้นำ ชาวพะยากศรัทธาของวัดกลางเวียงยุคสถาปนาเมือง หนึ่งในผู้คนสี่จำพวก ในประวัติศาสตร์ล้านนา คือ ชาวเชียงตุง พะยาก เมืองเลน และเมืองสาด บรรพบุรุษของชาวเชียงรายในยุคต่อมา เป็นผู้ร่วมร่วมปฏิสังขรณ์

หลังจากนั้นอีกไม่นาน วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2446 ได้มีเหตุวาตภัยครั้งรุนแรงเกิดขึ้นอีกครั้งทำให้ต้นจันทน์แดงใหญ่ได้ถูกพายุหักโค่นล้ม โดยได้พานเอาต้นไม้ตานต้นลานในวัดล้มระเนระนาดลงมาทับทั้งกุฏิ และหลังคาพระวิหารพังเสียหาย แต่มณฑปที่สร้างครอบสะดือเมือง ไม่ได้รับความเสียหาย เหตุการณ์ครั้งนี้ทางเชียงรายได้ส่งไม้จันทน์ส่วนท่อนปลายให้เชียงใหม่เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรี ส่วนทางโคนนั้นสวยงามและมีขนาดใหญ่จึงเก็บไว้ที่เชียงราย แล้วจึงได้ช่วยกันร่วมสร้างวัดขึ้นมาใหม่ โดยได้เฉลิมฉลองงานใหญ่ประมาณพ.ศ.2449 ซึ่งเป็นการฉลองภายหลังจากสร้างเสร็จหลายปี อันเนื่องมาจากสงครามการรบกับกบถเงี้ยวนั้นเอง ซึ่งหลังจากไม่มีต้นไม้จันทน์แดง ทำให้คำว่า จันทน์โลก หดหายไป ชื่อวัดจึงเหลือเพียงคำว่า “วัดกลางเวียง” มาจนถึงทุกวันนี้

สะดือเมือง

สะดือเมือง หรือที่เรียกกันว่า ดือเวียง แต่เดิมเคยมีขนาดผ่าศูนย์กลาง 6 ศอก (วครึ่ง=3เมตร) สูง 8 ศอก (2 วา =4เมตร) รูปลักษณ์เหมือนบ่าฟักแก้ว (ฟักทอง, บ่าแก้วน้ำ) มียอดสูงขึ้นไป เมื่อสมัยสงครามวัดวาอารามถูกทิ้งร้างชาวบ้านหนีเข้าไปอยู่ตามป่าตามดอย ทางส่วนกลางส่งทหารมา ดีเลวปะปน ที่สะดือเมืองมีการฝังของมีค่าไว้ ก็ถูกลักลอบขุด ซึ่งมีการเล่าต่อกันมาว่า พวกที่ลักลอบขุดได้พระพุทธรูป ที่ทั่วไปเรียกว่า พระสิงห์ ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้ว ไปได้องค์หนึ่ง หลังจากถูกลักลอบขุดแล้ว ดือเวียง ก็ไม่ได้รับการสนใจจากชาวเมืองเชียงรายอีก จึงถูกรื้อออกเมื่อประมาณ พ.ศ. 2469 สมัยของ ครูบาสุตาลังกา อภิวังโส ซึ่ง ดือเวียง ในยุคสถาปนาเมืองเชียงรายตั้งอยู่ค่อนไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของบริเวณวัด ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งสะดือเมืองที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้ทำการสร้างขึ้นมาใหม่

แผนผังวัด

1. วิหาร

2.พระธาตุข้างค้ำ

3.อุโบสถ

4.ศาลหลักเมือง

5.ศาลาการเปรียญ

6.กุฏิกตัญญู

7.กุฏิกาญจนาภิเษก

8.กุฏิภูมิประหมัน

9.หอพระไตรปิฎก

10.บ่อน้ำ

11.ศาลารูปเหมือนพระครูศาสนกิจฏศล


12.ศาลาลอย

13.ศาลาราชรถ

14.ศาลาวัวล้อ

15.หอระฆัง

16.หอเสื้อวัด

17.บ่อน้ำ

18.ป้ายแผนผังวัด

19.สวน

20.สวน

21.สวน

22.ห้องน้ำ

23.ห้องน้ำ


ภาพบรรยากาศภายในวัด

รายการอ้างอิง

วัดกลางเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย. (2535). วัดกลางเวียง: เชียงราย.

ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย. (มปป.). ข้อมูลและรายละเอียดของวัดกลางเวียง. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2558, จาก
http://www.tourismchiangrai.com/?p=preview&id_travel=7