ตุงงวงช้าง

ตุงงวงช้างขาว บ้านหาดบ้าย
ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

ถ้ากล่าวถึงตุงงวงช้าง บางคนอาจเข้าใจว่าเป็นตุงกระบอก เพราะตุงกระบอกจะมีลักษณะคล้ายงวงช้าง ซึ่งบางคนจะเรียกตุงงวงช้างว่าเป็นตุงกระบอกแต่ชาวไทลื้อบ้านหาดบ้าย ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ลักษณะของตุงงวงช้างจะไม่ใช้รูปทรงกระบอก จะมีรูปร่างคล้ายตุงชัยแต่ความกว้างของตุงส่วนหัวจะกว้างกว่าส่วนปลายตุง โดยความกว้างจะลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงปลายตุงคล้ายรูปสามเหลี่ยม ชาวไทลื้อมีความเชื่อในการถวายตุงงวงช้าง โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ตุงงวงช้างสีขาว จะใช้เมื่อหญิงสาวเมื่ออายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ และจะต้องถวายตุงแก่วัดทุกๆ ปี ลักษณะตุงงวงช้างสีขาวทำด้วยผ้าขาว ตัดยาวประมาณ 3 เมตร โดยจะเอาตอกไม้ไผ่คั่นเป็นช่องๆ ข้างตุงร้อยด้วยตุ้งติ้ง ส่วนปลายของตุงประดับด้วยพู่ เพื่อความสวยงาม โดยเมื่อหญิงสาวแต่งงานก็จะเปลี่ยนมาถวายตุงงวงช้างเครื่องมีลักษณะเป็นตุงที่มีสีสัน ทำด้วยผ้าขาว แล้วนำเกล็ดรูปดาวสีต่างๆ เช่น สีทอง สีเงิน สีแดง สีเขียว เป็นต้น มาเย็บติดกับพื้นตุงข้างตุงประดับด้วยตุ้งติ้ง เมื่อเสร็จแล้วนำผ้ามาตัดคล้ายงวงช้าง 2 ชิ้น นำมาเย็บประกบกันแล้วยัดนุ่น จนแน่น นำไปเย็บติดปลายตุง

ตุงงวงช้างเครื่อง บ้านหาดบ้า
ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

จากความเชื่อของชาวไทลื้อบ้านหาดบ้าย ที่มีความเชื่อ ความศรัทธาเรื่องการถวายตุงงวงช้าง ถ้าหากได้เข้าไปในวัดบ้านหาดบ้าย เราจะพบตุงงวงช้างเป็นจำนวนมาก เพราะทุกๆ ปี ชาวบ้านจะนำเอาตุงมาถวายวัด และมีการทำตุงงวงช้างหลากหลายลักษณะ เช่น การนำลูกปัดมาร้อยทำเป็นตุงงวงช้าง การเอาเศษผ้าหลากสีมาเย็บเป็นผืนทำเป็นตุงงวงช้างก็มี ตุงงวงช้างที่กล่าวมานั้นจะเรียกว่า “ตุงงวงช้างเครื่อง” สำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว การถวายตุงงวงช้างของชาวไทลื้อบ้านหาดบ้าย คล้ายกับการแต่งกายของชาวปากาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ที่หญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานจะแต่งกายในชุดสีขาว แต่เมื่อแต่งงานแล้วจะแต่งงานในชุดที่มีสีสัน การถวายตุงของชาวไทลื้อบ้านหาดบ้ายก็เช่นกัน ผู้หญิงที่ถวาย ตุงงวงช้างสีขาวบริสุทธิ์ อายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไปและยังไม่ได้แต่งงาน แต่ถ้าผู้หญิงที่ถวายตุงที่มีสีสันก็แสดงว่าผู้หญิงนั้นแต่งงานแล้ว ความเชื่อเหล่านี้ก็ยังคงสืบทอดสู่ลูกหลานต่อไป