ที่มา: เฉลิมพรชัย ฉัตรแก้ว. (ม.ป.ป.)

ประวัติโดยย่อ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เกิดวันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ 2498 ที่หมู่บ้านเล็กๆ ยากจน ที่ไม่มีไฟฟ้า ชื่อหมู่บ้านร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย และได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในปีพุทธศักราช 2554 เป็นศิลปินที่ทุ่มเทให้กับพระพุทธศาสนา หรือเรียกได้ว่าเป็น "จิตรกรพุทธศิลป์"

ชีวิตและการศึกษาในวัยเด็ก

อาจารย์เฉลิมชัยเป็นลูกคนที่3 มีพ่อเป็นคนจีน ชื่อ ฮั่วชิว แซ่โค้ว (ภายหลังเปลี่ยนเป็นนายไพศาล) แม่เป็นคนอำเภอพะเยา (อดีตเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย) ชื่อ พรศรี อยู่สุข แม่ไม่ยอมเปลี่ยนนามสกุลจนบัดนี้

ชีวิตตอนเด็ก ๆ เป็นคนเกเร ไม่ตั้งใจเรียน แต่มีความชอบวาดรูป จึงตั้งเป้าที่จะเรียนเพาะช่างและมหาวิทยาลัยศิลปากรให้ได้ ซึ่งสามารถเข้าเรียนได้ และเรียนได้อย่างดีเยี่ยม จนได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการประกวดงานระดับชาติ ในสมัยที่ยังเรียนอยู่ชั้นปีที 4 และได้จบการศึกษาจาก คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรในที่สุด

มีอยู่ครั้งนึงที่ได้รับทุนเดินทางไปดูงานต่างประเทศ (ระหว่างปี พ.ศ. 2524 – 2526) เป็นทุนของสถาบันและองค์กรต่างๆ หลายครั้ง เมื่อครั้งที่ได้ไปประเทศอังกฤษ ได้เห็นโบสถ์ที่วัดไทย วัดพุทธปทีป ในกรุงลอนดอน ซึ่งสร้างโดยรัฐบาลนายกฯเกียงศักดิ์ ก็รู้สึกมีความศรัทธา อาจารย์เฉลิมชัยจึงเสนอตัวเพื่อขอเขียนรูปถวายเป็นพุทธบูชา โดยไม่คิดค่าจ้างร่วมกับเพื่อนรุ่นน้องชื่อ ปัญญา วิจินธนสาร โดยใช้ชีวิตกว่า 4 ปีอยู่ที่นั่นท่ามกลางความยากลำบากต่างๆ นานา มีปัญหาสารพัด ผู้คนทะเลาะกัน พระไม่ลงรอยกับกรรมการ ไม่มีเงิน ไม่มีแรง

อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้อธิษฐานกับหลวงพ่อดำที่อยู่ที่นั่นว่า "เหนื่อยเหลือเกินแล้ว ท้อที่สุด แต่อยากทำให้เสร็จ ขอแลกด้วยชีวิตก็ยอม" และหลังจากนั้น อาจารย์ก็ได้พบกับพลเอกเปรมที่มาเยี่ยมที่ลอนดอนพอดี การทำงานนั้นจึงได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจาก พลเอกเปรม จนสำเร็จ และอาจารย์เฉลิมชัยจึงมีความรู้สึกว่า หลวงพ่อดำจะประธานให้แต่โชค และไม่ต้องการชีวิตของอาจารย์ตอบแทน

เมื่อกลับมาเริ่มต้นชีวิตที่เมืองไทย ด้วยเงินติดกระเป๋าเพียง 4000 บาท แต่ด้วยฝีมือการวาดภาพที่เข้าขั้นสามารถทำเงินได้มหาศาลภายในเวลาอันสั้น ช่วงนี้เป็นช่วงที่อาจารย์เฉลิมชัยบอกว่าเกลียดตัวเองที่สุด เพราะเต็มไปด้วยกิเลส ลุ่มหลง กามารมณ์ แต่หลังจากติดบ่วงทางโลกได้ 2-3 ปี อาจารย์เฉลิมชัย ก็เริ่มหันเข้าสู่ธรรมะ บวชและออกธุดงค์อยู่ตามป่าช้า และหลังจากสึกออกมาก็ไม่เคยทำความเลวใดอีกเลย

อาจารย์เฉลิมชัย ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยร่วมในทีมวาดรูปประกอบหนังสือพระมหาชนก เลยมีความประทับใจ และรู้สึกว่าชีวิตนี้พร้อมจะถวาย เพื่อสร้างงานซักชิ้นไว้คู่พระบารมี

นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง และเป็นประธานกลุ่ม ศิลปไทย 23 โดยภาพจิตกรรมของอาจารย์เฉลิมชัยเป็นการนำเอาจิตวิญญาณของยุคสมัยมาผนวกให้เข้ากับศิลปะโบราณ ที่สืบทอดกันมาหลายช่วยอายุคน เกิดเป็นจิตกรรมไทยร่วมสมัยที่เปี่ยมไปด้วยพลัง และเขายังศึกษาเรื่องราวของความเชื่อของไทย และความเชื่อทางพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ เพื่อจะนำมาถ่ายทอดให้คนยุคปัจจุบันได้รู้จักและเข้าใจ งานของเขามีความละเอียดปาณีต และงดงามสดใสด้วยสีสมัยใหม่ จากกลุ่มศิลปไทย 23 นี้เอง จึงเกิดมีแนวนิยมจิตกรรมไทยแนวพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ แบะมีศิลปินที่ยึดแนวนี้ต่อมาจำนวนมาก

รางวัลและเกียรติยศ

  • พ.ศ. 2520 - รางวัลที่ 1 เหรียญทอง จากการประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 3

  • พ.ศ. 2520 - รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 จากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 25

  • พ.ศ. 2522 - รางวัลที่ 2 เหรียญเงิน จากการประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 4 ของธนาคารกรุงเทพ

  • พ.ศ. 2536 - ได้รับเครื่องหมายเกียรติคุณบุคคลตัวอย่างผู้สร้างเสริมงานวัฒนธรรมด้านจิตรกรรม จาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

  • พ.ศ. 2537 - ได้รับโล่เชิดชูเกียรติ "เพชรสยาม" (สาขาจิตรกรรม) จากสถาบันราชภัฎจันทรเกษม

  • พ.ศ. 2538 - ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้เขียนภาพประกอบ บทพระราชนิพนธ์ "พระมหาชนก" และออกแบบเหรียญพระราชทานคณะแพทย์

  • พ.ศ. 2543 - ที่ปรึกษากรมศิลปากร งานเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวัง

  • พ.ศ. 2547 - ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2547

  • พ.ศ. 2554 - ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2554

  • ที่ปรึกษาธนาคารแห่งประเทศไทย ออกแบบธนบัตรราชาภิเษกสมรส ครบ 50 ปี

  • ถวายการสอนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์

  • พ.ศ. 2559 ปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (จิตรกรรมไทย) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

- ตัวอย่างผลงาน -

ที่มา: สำนักงานจังหวัดเชียงราย. (ม.ป.ป)

ที่มา: สำนักงานจังหวัดเชียงราย. (ม.ป.ป)

ผลงานชิ้นที่อาจกล่าวได้ว่าใหญ่ที่สุดในชีวิตของอาจารย์เฉลิมชัย คือ การสร้าง "วัดร่องขุ่น" จังหวัดเชียงราย เพื่อหวังเอาไว้ว่า จะเป็นสมบัติกองสุดท้ายที่จะฝากเอาไว้ในแผ่นดินถิ่นเกิด ผลงงานชิ้นสำคัญนี้ประกอบไปด้วยสถาปัตยกรรมไทย ประติมากรรมไทย และจิตรกรรมฝาผนัง ในรูปลักษณ์ของเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

วัดร่องขุ่น

พุทธศิลป์ ผลงานบนแผ่นดินเกิด อาจารย์เฉลิมชัย

ที่มา: ravel @ Manager. https://mgronline.com/travel/detail/9620000057592

ที่ตั้ง

วัดร่องขุ่น อยู่ในท้องที่ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นวัดบ้านเกิดของอาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ วัดร่องขุ่นอยู่ก่อนตัวเมืองเชียงรายประมาณ 13 กิโลเมตร ตรงสามแยกไฟแดงทางเข้าน้ำตกขุนกรณ์ จะเป็นที่ตั้งของวัดร่องขุ่น ซึ่งห่างถนนใหญ่เพียง100 เมตร เท่านั้น

วัดร่องขุ่น เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2540 โดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างมาจาก 3 สิ่งต่อไปนี้คือ

1. ชาติ : ด้วยความรักบ้านเมือง รักงานศิลป์ จึงหวังสร้างงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน

2. ศาสนา : ธรรมะได้เปลี่ยนชีวิตของอาจารย์เฉลิมชัยจากจิตที่ร้อนกลายเป็นเย็น จึงขออุทิศตนให้แก่พระพุทธศาสนา

3. พระมหากษัตริย์ : จากการเข้าเฝ้าฯ ถวายงานพระองค์ท่านหลายครั้ง ทำให้อาจารย์เฉลิมชัยรักพระองค์ท่านมาก จากการพบเห็นพระอัจฉริยะภาพทางศิลปะและพระเมตตาของพระองค์ท่าน จนบังเกิดความตื้นตันและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

สารสนเทศที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก

สำนักงานจังหวัดเชียงราย. (ม.ป.ป). ข้อมูลจังหวัดเชียงราย. เชียงราย: สำนักงานจังหวัดเชียงราย.
เฉลิมพรชัย ฉัตรแก้ว. (ม.ป.ป.). วัดร่องขุ่น. ค้นจาก http://www.วัดร่องขุ่น.com/
.
อัจฉราวดี สุดประเสริฐ.
(2542). ๒๓ ปี จิตรกรรมไทย เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: อมรินทร์ บุ๊ต เซ็นเตอร์.
เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ. (2549). ไม่ธรรมดา เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์. กรุงเทพฯ ณ เพชรสำนักพิมพ์.