ตุงสิบสองราศี (ตุงเปิ้ง)

ตามความเชื่อของชาวล้านนาเรื่องจักรราศี อันมีนักษัตรสิบสองราศี คือ ปีชวด ปีฉลู ปีขาล ปีเถาะ ปีมะโรง ปีมะเส็ง ปีมะเมีย ปีมะแม ปีวอก ปีระกา ปีจอ และปีกุน (คติของชาวล้านนา คือ ปีกุญชร) โดยชาวล้านนาเชื่อว่าจักรราศีแม่ปีอันมีสิบสองราศีประจำปี ไม่ว่าตัวใดตัวหนึ่งว่ากันว่าจะทำให้ผู้ที่ถวายตุงนั้นพ้นเคราะห์พ้นโศกโรคภัยในปีนั้นๆ ตุงสิบสองราศี มีลักษณะตัวตุงจะมีรูปนักษัตรหรือรูปสัตว์ประจำสิบสองราศี โดยเรียงจากตัวแรกคือ หนู วัว เสือ กระต่าย งูใหญ่ (คติของชาวล้านนา หมายถึง นาค สัตว์ในนิยาย) งูเล็ก ม้า แพะ ลิง หมา ไก่ และหมู (คติของชาวล้านนาเป็นช้าง ประจำปีกุญชร) รูปแบบของตุงสิบสองราศีตัวตุงจะมีรูปสัตว์สิบสองราศี การทำตุงสามารถแบ่งตามวิธีการทำตุงดังนี้ คือ ตุงสิบสองราศี ทำด้วยการทอด้วยเส้นด้าย ฝ้ายและไหม โดยการทอด้วยกี่ ซึ่งส่วนใหญ่ชาวไทใหญ่กับไทลื้อจะเป็นผู้ทอตุงสิบสองราศี โดยจะทอคล้ายกับทอผ้าแต่จะทอเป็นรูปสัตว์สิบสองตัว

ตุงสิบสองราศี จากเชียงตุง ประเทศพม่า

จากการสำรวจพบว่า ตุงสิงสองราศีจากเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า เป็นการทอด้วยฝ้ายดิบ โดยทอเป็นรูปสัตว์สิบสองราศีเรียงกันลงมาโดยใช้สีขาวเป็นพื้นสีดำเป็นตัวสัตว์

ตุงสิบสองราศี บ้านสันหลวงใต้ อ.แม่จัน จ.เชียงราย

ส่วนชาวไทลื้อ (ยอง) อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย จะทอด้วยเส้นฝ้ายซึ่งเมื่อทอเป็นผืนตุงแล้วจะมีความนุ่มกว่าตุงสิบสองราศีจากเมืองเชียงตุง โดยจะทอรูปสัตว์สิบสองราศีและคั่นด้วยตอกไม้ไผ่ตรงกลางระหว่างสัตว์แต่ละช่องและใช้เส้นด้วยสีต่างๆ ตามสีจริงของสัตว์

ตุงสิบสองราศี บ้านป่าซาง จ.ลำพูน

ยังมีตุงสิบสองราศีที่ทอโดยชาวไทลื้อ (ยอง) จากจังหวัดลำพูน โดยจะทอรูปสัตว์สิบสองราศีและ คั่นด้วยตอกไม้ไผ่ ซึ่งการทอจะมีความละเอียด โดยสัตว์แต่ละตัวจะมีความสมจริงเป็นธรรมชาติและสวยงาม และยังมีความใหญ่และยาวอีกด้วย โดยที่หัวตุงจะทำด้วยไม้วางเรียงกันแล้วผูกด้วยด้ายแล้วตัดเป็นรูปกาแล เป็นเอกลักษณ์ของตุงที่ทอจากจังหวัดลำพูน

ตุงสิบสองราศี บ้านป่าถ่อน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

ช่างทอตุงอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยใช้เส้นไหมทอใช้ตอกไม้ไผ่ห่อด้วยกระดาษเงิน กระดาษทองคั่นกับการทอสลับ ใช้หลักการแบบการแปลอักษรบนอัฒจันทร์เหมือนกับการทอตุงชัยผ้าทอ แต่จะทอลวดลายเป็นรูปสัตว์สิบสองราศี

ตุงสิบสองราศี บ้านศรีดอนชัย

ยังมีตุงสิบสองราศีที่ทำด้วยการตัดเศษผ้าหรือกระดาษติดกับหัวตุง โดยวิธีการแรกจะเป็นการตัดเศษผ้าเป็นรูปสัตว์สิบสองราศี โดยการทอตัวตุงเป็นผืนผ้า แบ่งเป็น 12 ช่อง โดยใช้ตอกไม้ไผ่คั่นแต่ละช่องแล้วนำผ้าที่ตัดเป็นรูปสัตว์มาติดด้วยการเย็บกับตัวตุงทีละช่อง

ตุงสิบสองราศี บ้านป่างิ้ว

ตุงสิบสองราศีส่วนใหญ่ทำมาจากกระดาษสา แล้วใช้กระดาษเงิน กระดาษทองหรือกระดาษสีเป็นรูปสัตว์สิบสองราศี ปะติดกับตัวตุง โดยจะติดรูปสัตว์เริ่มตั้งแต่หนูจนถึง หมูหรือช้าง (ส่วนใหญ่จะเป็นช้าง) ส่วนปลายของตุงจะตัดกระดาษทองเป็นลายสร้อยระย้าติด และที่ขอบตุงจะติดด้วยแถบกระดาษทอง

ตุงสิบสองราศีนิยมใช้ในวันเทศกาลสงกรานต์ (วันปีใหม่ของชาวล้านนา) ซึ่งถ้าเป็นตุงสิบสองราศี ที่ทอขึ้นหรือทำด้วยผ้า ส่วนใหญ่จะนำมา ผูกติดกับค้างตุงขึ้นเสาไม้ไผ่ เพื่อนำไปปักประดับรวมกับตุงชัย ส่วนตุงสิบสองราศีที่ทำด้วยกระดาษส่วนใหญ่จะนำไปปักเจดีย์ทรายในวัดร่วมกับตุงชนิดอื่น เช่น ตุงพญายอ ตุงเจดีย์ทราย เป็นต้น เนื่องจากตุงเหล่านี้ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานวันสงกรานต์หรือวันปีใหม่ของชาวล้านนา จึงมักเรียกตุงนี้ว่า “ตุงปีใหม่”