วัดกาสา (ทาสา)

ชื่อวัด : วัดทาสา (กาสา)

ประเภทวัด : วัดราษฎร์

นิกาย : มหานิกาย

ที่ตั้ง : เลขที่ 73 บ้านแม่จัน หมู่ที่ 3 ตําบลแม่จัน อําเภอแม่จัน จังหวัดชียงราย

ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด : พุทธศักราช 2434

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา : พุทธศักราช 2512

เจ้าอาวาส (ปัจจุบัน พ.ศ.2558) : พระอธิการเดช เตชวโร

ประวัติความเป็นมา

ปฐมกาลแรกเริ่มเดิมทีนั้น ดินแดนของอำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน ทั้งสามดินแดนนั้น หากรวมกันเป็นดินแดนเดียวกัน และมองลงมาจากบนฟ้า จะมองเห็นรูปลักษณ์เป็นดินแดนรูปสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นดินแดนของอาณาจักรละหว้ามาแต่โบราณ โดยดินแดนที่ประชาชน เรียกว่า อำเภอแม่จัน ในสมัยนั้น เป็นดินแดนที่เป็นป่าเขาลำเนาไพรอันกว่าใหญ่ไพศาล ขึ่นกับเมืองเวียงหวายบ้าง เวียงสาบ้าง แต่โดยรวมแล้วขึ้นกับเวียงโยนกนาคพันธ์สิงหนวัติช้างแส่น (ก่อนเมืองโยนกถล่ม)

ต่อมาเมื่อผ่านกาลเวลามายาวนาน อำนาจของอาณาจักรละหว้าเสื่อมและล่มสลายไป แดนดินถิ่นเหล่านี้ตกไปขึ้นกับมหาอำนาจพุกาม (พม่า) เป็นเวลานานกว่าสามร้อยกว่าปี เรื่องราวและดินแดนเหล่านี้ได้กลายเป็นเมืองรกร้างว่างเปล่าปราศจากผู้คน จนกระทั่งราชวงศ์จังหวัดลำปาง (ต้นวงของสกุล เชื้อเจ็ดตน ณ ลำพูน ณ ลำปาง ณ เชียงใหม่) ได้กอบกู้เอกราชคืนได้จากพม่า จากนั้นมา ดินแดนเหล่านี้ โดยเฉพาะดินแดนอันเป็นเขตของอำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน ซึ่งเป็นบ้านเมืองร้างห่าง มีประชาชนอาศัยอยู่น้อยที่สุดมาแต่ช้านาน จนกระทั่งมาถึงปีพุทธศักราช 2424 ได้มีท่านพระครูบาศรัทธาภิรัตน์ (อิ่นแก้ว) ซึ่งเป็นพระมาจากบ้านแม่สา จังหวัดเชียงใหม่ ได้พาคณะศรัทธาญาติโยมอพยพขึ้นมาเมืองเก่าช้างแส่น (ช้างร้อง) โดยผ่านมาทางเมืองฝาง (ตอนนั้นเมืองฝางขึ้นกับเมืองเชียงราย) มาถึงที่ราบต่ำอันกว้างขวาง เรียกว่า หมู่บ้านดอยจระเข้ (อ.แม่จัน ในปัจจุบัน) จึงได้ลงหลักปักฐานอยู่ในบริเวณเหล่านี้ ส่วนท่านครูบาอิ่นแก้ว (ครูบาศรัทธาภิรัตน์) ได้ให้คณะศรัทธาญาติโยมที่มาด้วยกันแผ้วถางพื้นที่อันเป็นชัยภูมิเนินสูง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเวียงหวาย ซึ่งเป็นเวียงร้างที่เก่าแก่ และเป็นที่ชุมนุมของพ่อค้าวัวต่าง ใต้ต้นหมากซักอันดูมืดครื้ม ท่านพระครูบาเห็นว่าควรเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “ดอนหมากซัก” เป็นที่ราบสูงและติดกับแม่น้ำจัน และได้จัดตั้งสำนักสงฆ์ลงบนพื้นที่แห่งนี้ และมีชื่อว่า “สำนักสงฆ์ดอนหมากซัก” ต่อมาสถานที่แห่งนี้ ท่าครูบาศรีวิชัยเจ้า นักบุญแห่งล้านนาในสมัยนั้นได้บอกแก่คณะศรัทธาญาติโยนที่ติดตามท่านในคราวโปรดเมตตาคณะศรัทธาชาวเมืองเชียงแสนว่า สำนักสงฆ์ดอนหมากซักแห่งนี้ ถ้าหากจัดตั้งให้เป็นวัดต่อไปภายหน้า จะไม่มีความเจริญจักมีแต่เรื่องราวถ้อยคำซักฟอกกันไม่จัดสุดสิ้น ให้ย้ายเสียจักดี

เมื่อท่านพระครูบาอิ่นแก้ว ได้ทราบเช่นนี้แล้ว ก็ได้ย้ายสำนักสงฆ์ดอนหมากซักเข้ามาอยู่ที่ปางชุมชนพ่อค้าวัวต่างอีกแห่งหนึ่ง อันเป็นที่ชุมนุมแห่งไม้ฉำฉา และบรรดานกกาทั้งหลาย และได้ตั้งชื่อสำนักวงฆ์แห่งใหม่นี้ว่า “สำนักสงฆ์พพญาก๋าต๋อม” ต่อมาเจ้าเมืองเชียงแสนบอกให้ท่าครูบาว่าควรตั้งชื่อว่า “วัดกาสา” ด้วยเหตุ ดังนี้

1. ท่านครูบามาจากบ้านแม่สา

2. สถานที่แห่งนี้เป็นดงไม่ฉำฉา

3. เป็นที่ชุมชนแห่งนกกา นกกก นกแก๋ง ทั้งหลาย

ท่านครูบาก็เลยตั้งชื่อเสียใหม่ว่า สำนักสงฆ์ “กาสา” และต่อมาก็ได้ยกฐานะให้เป็นวัด ชื่อวัด “กาสา” มาตราบเท่าทุกวันนี้ ท่านครูบาเจ้าได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อ วันที่ 23 เดือน เมษายน พ.ศ.2580 เดือน 6 ใต้ เดือน 8 เหนือ ขึ้น 12 ค่ำ วันศุกร์ ปีฉลู (ปีวัว) ร.ศ.156 จ.ศ.1299 ค.ศ.1937 และมีเจ้าอาวาสสืบต่อกันมาดังต่อไปนี้

1. ท่านพระครูบาคำปัน ปัณฑิโต (ครูบาปัณฑิ) พ.ศ.2480 - 2504 (มรณภาพ)

2. พระครูธีรธรรมวิวัฒน์ (ครูบาศรีมอย ธมมธีโร) พ.ศ.2504 - 2520 (มรณภาพ)

3. พระครูอนุวัฒน์ธรรมครู (อิ่มคำ จกฺกวโร) พ.ศ.2520 - 2527 (ลาสิกขา)

4. พระอธิการเจ้าศักดิ์ อินทวีโร พ.ศ.2527 - 2530 (ลาสิกขา)

5. พระครูสุภัทรบุญเขต (บุญยัง วํวุฆฺโณ) พ.ศ.2530 - 2552 (มรณภาพ)

6. พระอธิการเดช เตชวโร พ.ศ.2552 – ปัจจุบัน

ปัจจุบัน วัดกาสา ตั้งอยู่เลขที่ 73 บ้านแม่จัน หมู่ที่ 3 ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 1 ตารางวา โฉนดเลขที่ 267,152 อาณาเขต ทิศเหนือจดที่เอกชน ทิศใต้จดถนนลาวจกราช ทิศตะนออกจดถนนลาวจกราช ทิศตะวันตกจดถนนสิงหนวัติ ที่ธรณีสงฆ์จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา โฉนดเลขที่ 249,157 อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ศาลาพระนอนเฉลิมพระเกียรติครบ 5 รอบ รัชกาลที่ 9 โรงครัว ศาลาอเนกประสงค์และศาลาบำเพ็ญกุศล ปูชนียวัตถุมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง 6 องค์ พระพุทธรูปอีก 1 องค์ ปรางค์ 1 องค์ และเจดีย์ 1 องค์ มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมเปิดสอน พ.ศ. 2512 แผนกสามัญ เปิดสอน พ.ศ. 2516 และโรงเรียนสามัญการศึกษาผู้ใหญ่ระดับ 4

แผนผังภายในวัด

1. วิหาร
2. อุโบสถ
3. พระธาตุ
4. หอเด็ง, หอระฆัง
5. หอไตร, หอธรรม
6. หอกลองปู่จา
7. ศาลาอเนกประสงค์และศาลาบำเพ็ญกุศล
8. ศาลาการเปรียญ
9. ศาลาพระนอนเฉลิมพระเกียรติครบ 5 รอบ รัชกาลที่ 9
10. โรงครัว
11. กุฏิเจ้าอาวาส
12. โรงเรียนพระปริยัติธรรมวิเชียรจินดา
13. ห้องน้ำ

ภาพบรรยากาศภายในวัด