ตุงชัย ผ้าทอสิบสองปันนา

ตุงชัยผ้าทอแบบทึบสิบสองปันนาจากเชียงรุ้ง ประเทศจีน

ตุงชัยผ้าทอสิบสองปันนา ถ้ากล่าวถึงดินแดนแคว้นสิบสองปันนา ทุกคนก็จะนึกถึงดินแดนที่ผู้คนมีวิถีชีวิตการดำรงอยู่ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และยังสืบทอดต่อกันมายาวนาน โดยมีเมืองเชียงรุ้งเป็นเมืองเอกของแคว้นสิบสองปันนาตั้งอยู่ในมลฑลยูนนาน ประเทศจีน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ และชาวไทลื้อที่นับถือศาสนาพุทธ จากความเชื่อตามศรัทธาทำให้มีความเชื่อในเรื่องของอานิสงส์ ในการถวายตุง โดยที่ชาวบ้านจะทอตุง และมีเอกลักษณ์ที่เป็นของตนเอง ตุงชัยผ้าทอสิบสองปันนา จะมีลักษณะเด่นคือ การใช้เส้นด้ายดิบในการทอตุงชัย เมื่อทอเสร็จเป็นผืนแล้วเมื่อจับตุงเนื้อผ้าจะมีความหยาบ โดยจะมีการทอตุงชัย อยู่ 2 ลักษณะ คือ การทอตุงแบบทึบ ตุงจะมีความกว้างประมาณ 7 – 12 นิ้ว มีความยาวตั้งแต่ 2 – 4 เมตร รูปที่ทอส่วนใหญ่จะเป็นรูปปราสาท รูปคน รูปช้าง รูปม้า รูปนาค โดยจะทอแต่ละรูปแบ่งเป็นช่องๆ ตุงชัยสิบสองปันนาบางหลังจะทอโดยไม่ลงลาย แต่จะมาขึ้นรูปต่างๆ ตรงส่วนปลายของตุงชัย โดยจะทอแบบไม่มีลวดลายลงมาประมาณ 2 เมตร แล้วจะทอรูปต่างๆ ลงอีก 1 เมตร การทอแบบนี้นิยมทอรูปม้า รูปสิงห์ รูปปราสาท รูปช้าง โดยจะทอลายผักแว่นและลายดอกจันคั่นระหว่างรูปต่าง ๆ

ตุงชัยผ้าทอสิบสองปันนา จากเชียงรุ้ง ประเทศจีน

ยังมีการทอตุงชัยแบบรูปเดียวโดด ๆ เช่น รูปช้าง รูปนกยูง โดยจะแบ่งทอเป็นสองส่วน คือ จะทอรูปนกยูง 2 ช่อง โดยทอลวดลายให้นกยูงหันหัวเข้าหากัน เมื่อแขวนตุงก็จะนำตุงชัยมาพับครึ่งแล้วนำไม้มาสอดระหว่างกลางทำให้สามารถดูตุงได้จากทั้งสองด้าน

จากความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ในยุคปัจจุบันทำให้การคมนาคม การเดินทาง การติดต่อสื่อสารนั้นสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทำให้เราเห็นตุงชัยที่ทอจากแคว้นสิบสองปันนามีจำหน่วยตามแหล่งท่องเที่ยว ทั่วไป เช่น สามเหลี่ยมทองคำ และวัดเจดีย์หลวง ซึ่งอยู่ในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยจากการสอบถาม พบว่า ตุงชัยที่ทอจากแคว้นสิบสองปันนาเหล่านี้จะถูกขนส่งมาทางเรือล่องลงมาตามแม่น้ำโขงมาลงที่อำเภอเชียงแสน คือ ที่สามเหลี่ยมทองคำ และโบราณสถานที่วัดเจดีย์หลวง โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นำตุงชัยจากสิบสองปันนานี้ไปประดับอาคารสถานที่เพื่อความสวยงาม

ยังมีเมืองอีกเมืองหนึ่งที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมของตนเอง คือ “เมืองเชียงตุง” ตั้งอยู่ที่ประเทศพม่า ที่อยู่ใกล้เคียงกับเมืองเชียงรุ้งของประเทศจีน ประชากรของเมืองเชียงตุง ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่ ซึ่งเป็นอีก ชนเผ่าหนึ่งที่มีความเชื่อเรื่องการถวายตุง ซึ่งยังมีศิลปวัฒนธรรมที่เป็นของตนเอง โดยเฉพาะการทอตุงชัยนั้นรูปแบบลักษณะจะมีความคล้ายคลึงกับตุงชัยที่ทอจากเมืองเชียงรุ้ง จากประเทศจีน ซึ่งจะใช้เส้นด้ายดิบใช้เป็นเส้นยืน ตุงชัยบางหลังก็จะใช้เส้นด้ายดิบเป็นเส้นพุ่ง เวลาทอออกมาแล้วตุงชัยจะมีลักษณะเนื้อผ้าหยาบคล้ายกับตุงที่ทอจากเมืองเชียงรุ้ง แต่ยังมีตุงชัยบางผืนจะใช้เส้นด้ายดิบเป็นเส้นยืนและใช้เส้นไหมพรมเป็นเส้นพุ่ง ทำให้ตุงชัยที่ทอมีความหนาและนุ่ม ส่วนตุงชัยบางผืนยังใช้เทคนิควิธีการทอซึ่งจะเว้นการทอเป็นช่วงๆ โดยจะปล่อยให้เห็นเส้นยืนสลับกับการทอทึบพร้อมกับคั่นด้วยตอกไม้ไผ่คล้ายกับการทอตุงชัยผ้าทอไทลื้อของบ้านทุ่งมอก ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา โดยสีสันของตุงชัย เมืองเชียงตุง จะใช้สีขาว หรือสีอ่อนๆ เป็นพื้น และจะใช้สีเข้มเป็นลวดลาย เช่น สีแดง สีน้ำเงิน สีเขียว สีดำ เป็นต้น ลวดลายส่วนใหญ่จะเป็นลวดลายรูปปราสาท รูปช้าง รูปม้า และที่พบส่วนหนึ่งจะเป็นลวดลาย ตัวอักษรภาษาไทยใหญ่ ซึ่งเป็นตุงชัยที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ซึ่งเราอาจจะพบเห็นตุงชัยได้จากการวางขายในร้านค้าขายของเก่าที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เนื่องจากพื้นที่ของอำเภอแม่สาย ติดกับชายแดนไทย–พม่า ทำให้ตุงชัยของเมืองเชียงตุงนี้ถูกส่งมาขายยังชายแดนไทย–พม่า ที่อำเภอแม่สายได้ เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่ นักท่องเที่ยวจะซื้อตุงชัยไปเพื่อประดับตามอาคารสถานที่ต่าง ๆ

ตุงชัยผ้าทอสิบสองปันนา จากเชียงตุง ประเทศพม่า
ตุงชัยผ้าทอสิบสองปันนา จากเชียงตุง ประเทศพม่า

ตุงชัยสิบสองปันนาเป็นตุงที่มีเทคนิคการทอคล้ายกับตุงชัยผ้าทอไทลื้อที่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งในเรื่องของลวดลายที่คล้ายกันคือจะทอเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น รูปช้าง รูปม้า รูปปราสาท รูปนก รูปนาค เป็นต้น ถ้าเรามองย้อนไปในอดีตจะพบว่า ชาวไทลื้อที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทยนั้นมีรากฐานมาจากแคว้นสิบสองปันนา โดยอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย เมื่อหลายร้อยปีก่อนแต่ยังคงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของตนเอง โดยยังมีความเชื่อในเรื่องของการถวายตุงเหมือนกันแต่ตุงชัยที่ทอจากสิบสองปันนาจะมีเนื้อผ้าที่แข็งและหยาบกว่าตุงชัยผ้าทอไทลื้อ อาจเป็นความแตกต่างในเรื่องของวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนแล้วก็เป็นได้