ลื้อน้ำอู

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2551)

ลื้อน้ำอู :: ลื้อน้ำอู หรือ ไทน้ำอู ซึ่ง ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า “ ชาวอู ” เดิมตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณพื้นที่ราบบนฝั่งแม่น้ำอู ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเมืองหลวงพระบางใกล้เคียงกับหมู่บ้านชาวลาว หรือไทหลวงพระบาง ปัจจุบันก็ยังมีกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ที่อพยพเข้ามาอยู่ในเขตไทยก็มีแต่เป็นจำนวนน้อย เวลานี้มีอยู่บ้านท่าข้าม ตำบลม่วงยาย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ลื้อน้ำอูพูดสำเนียงผิดเพี้ยนจากภาษาไทยกลางเป็นบางคำ แต่อาจเข้าใจกันได้ ลื้อน้ำอูพูดเสียงยาวคล้ายคนยานคางพูด มีคำว่า “ หว่า ” ท้ายประโยคเสมอ

ผู้หญิงตามปกติอยู่กับบ้านเปลือยอก เปลือยกายอาบน้ำในลำธาร เอาผ้านุ่งไปปกไว้บนศีรษะ นั่งอาบน้ำในลำธารที่น้ำไม่ลึก การเที่ยวสาวลื้อในเขตน้ำอูเหนือหลวงพระบางบางหมู่บ้านทำร้านยกพื้นขึ้นสูง กว่าพื้นดินราว 1 ศอก ขนาด 6 คน นั่งได้ มีเตาไฟตรงกลาง หญิงสาว 3-4 คนต่อ 1 ร้าน บางหมู่บ้านไม่ทำร้านหรือเวทีเกี้ยวสาวนี้ไว้ เพียงก่อเตาไฟกลางลานบ้าน พอพลบค่ำหลังจากรับประทานอาหาร อมเมี่ยง สูบบุหรี่แล้ว หญิงสาวไปนั่งปั่นฝ้ายรอชายหนุ่มอยู่ ชายหนุ่มไปนั่งข้าง ๆ พูดจาเกี้ยวพาราสีด้วย

การแต่งกาย ::

ผู้ชาย แต่งกายอย่างเดียวกันกับลื้อแจ้ง

ผู้หญิง ผู้หญิงสวมเสื้อปักย้อมสีน้ำเงินเข้ม ตามคอเสื้อทำด้วยสีเหลืองและแดง ที่เอวทำด้วยด้ายสีเดียวกัน ส่วนซิ่นที่ชายพกทำด้วยผ้าสีขาวเท่าฝ่ามือ ผ้าซิ่นทำเป็นลวดลายเล็ก ๆ สีต่าง ๆ สลับกันแต่ละเอียดกว่าลื้อแจ้ง ผ้าซิ่นตอนอื่นเป็นสีน้ำเงินเข้มเกือบจะกลายเป็นสีดำหญิงสาวจะพึงสังเกตได้ที่ผ้าพันศีรษะสีชมพู ถ้าสีอื่นก็แสดงว่าเป็นหญิงที่มีสามีแล้ว

รายการอ้างอิง :

1. บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2551). 30 ชาติในเชียงราย. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ศยาม.