ผ้าและเครื่องแต่งกาย
ของกลุ่มชาติพันธุ์ ไทลื้อ

ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มชาติพันธุ์ ไทลื้อ

ไทลื้อจัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่มากกลุ่มหนึ่งจากการสำรวจพบว่ามีการตั้งถิ่นฐานกระจาย ตัวกันอยู่หลายประเทศ นับตั้งแต่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ทางตอนใต้ของจีน ภาคเหนือของลาว ไทย และเวียดนาม

ในประเทศพม่ามีชาวไทลื้ออยู่กันประมาณ 300,000 คนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถบเมืองยอง เมืองผู้ เมืองหลวย เมืองเชียงลาบ เมืองไร เมืองพยาก เมืองโก เมืองโต๋น เมืองเล็น และเมืองเชียงตุง

สำหรับชาวไทลื้อในประเทศจีนนั้นมีประมาณ 400,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในดินแดนตอนใต้ของจีนที่เรียกว่าสิบสองปันนา ชื่อนี้มีตำนานที่มานะครับ คือมาจากชื่อเดิมว่า "สิบสองพันนา" อันมีความหมายจากการรวบรวมดินแดนใหญ่น้อยเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในราวปี พ.ศ. 2122-2126 จึงมีการแบ่งเขตปกครองออกเป็น 12 หัวเมือง กำหนดให้แต่ละ หัวเมืองต้องจัดให้มีที่ทำนาสำหรับเชื้อพันธุ์ข้าวให้ได้ 1,000 หาบข้าว จึงเป็นที่มาของชื่อ "สิบสองพันนา" และเพี้ยนมาเป็น "สิบสองปันนา" ในปัจจุบัน

ส่วนในประเทศลาวมีประมาณ 134,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่แขวงหลวงน้ำทา เมืองเวียงพูคา แขวงบ่อแก้ว เมืองไชยบุรี แถบเชียงฮ่อน เชียงลม หงสา และเมืองหลวงพระบาง

ส่วนในประเทศเวียดนามมีทางตอนเหนือของประเทศแถบเมืองแถงหรือเดียนเบียนฟูประมาณ 4,960 คน แต่ความจริงแล้วน่าจะมีมากกว่านี้อีกหลาย 10 เท่า แต่ตกสำรวจ

สำหรับในประเทศไทยมีชาวไทลื้อตั้งถิ่นฐานอยู่มากที่สุดในหลายจังหวัดภาคเหนือตอนบน คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน รวมแล้วประมาณ 1,000,000 คน

จากหลักฐานที่ปรากฏทำให้ทราบว่า สตรีในราชสำนัก หรือสตรีสามัญชนชาวไตลื้อล้วนแล้วแต่มีความสามารถในการปั่นด้าย ทอผ้า เป็นอย่างยิ่งในสังคมดังกล่าว การทอผ้าเป็นสัญลักษณ์ของเด็กผู้หญิงที่อายุย่างเข้า 14 ปี หรือมีรอบเดือนแล้ว ซึ่งนับว่าจะเริ่มเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ต้องรู้จักหัดปั่นฝ้าย ย้อมมัดและหัดทอผ้า ผ้าทอจึงมีความหมายและมีคุณค่าต่อชีวิตของผู้หญิงไตลื้อเป็นอย่างยิ่ง สาวคนใดทอผ้าเก่ง ประณีต งดงาม จะเป็นที่หมายปองของชายหนุ่ม และผู้ที่เป็นพ่อแม่ของฝ่ายชายจะต้องพิถีพิถันในการพิจารณาคุณสมบัติในการคัดเลือกลูกสะใภ้ ดังคำกล่าวที่ว่า "สาวลื้อคนใดทอผ้าไม่เป็นจะไม่มีชายใดมาสนใจ พ่อผัว แม่ผัวจะไม่อยากรับเป็นลูกสะใภ้ จึงต้องเตรียมตัวตั้งแต่เป็นเด็กผู้หญิง โดยเริ่มตั้งแต่หัดปั่นฝ้ายและจึงฝึกทอผ้า แม่ของฝ่ายหญิงจะต้องเคี่ยวเข็ญฝึกหัดให้ลูกสาวทอผ้าให้ได้ดีจะได้ไม่มีปัญหาในการออกเรือน"

สำหรับการแต่งกายแบบดั้งเดิมของผู้หญิงชาวไตลื้อ คือ สวมเสื้อปั๊ด เป็นเสื้อเข้ารูปเอวลอยแขนยาว สวมเสื้อขลิบด้วยผ้าแถบสีต่าง ๆ ส่วนมากจะนิยมสีแดงมีลายเฉียงป้ายมาผูกกับด้ายช้าย หรือด้านขวาของลำตัว ประดับด้วยกระตุมเงิน นิยมสีดำหรือสีคราม บางตัวอาจมีชับในเสื้อด้วยสีแดงเรียกว่า "เสื้อกับหลองแดง" (เสื้อทบรองแดง) ไว้ใส่ฤดูหนาวนุ่งผ้าซิ่นขวาง เป็นลวดลายแบบต่างๆ เชิงเป็นสีดำเกล้ามวยยอดรูปวงกลมรียก "มวยว้อง" เจาะหูใส่ลานเงิน สวมกำไลเงิน โกศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือสีชมพู

สำหรับการแต่งกายของผู้ชายไตลื้อนั้นสวมกางเกงที่เรียกว่า "เตี่ยวสะดอ" คือ กางเกงทรงขาก๊วย หรือ "เตี๋ยวเป้าโย้ง" ซึ่งมีเป้าลึก มีสามตะเข็บ สวมเสื้อเอวลอยผ่าหน้าสาบเสื้อขลิบด้วยผ้าสีต่าง ๆ ทั้งเสื้อและกางเกงเป็นสีดำหรือสีคราม โพทศีรษะด้วยผ้าสีขาว แต่การพันต่างไปจากหญิง ปัจจุบันการแต่งกายแบบนี้หาดูได้ยากจะพบแต่ในพิธีการเท่านั้น

ผ้าทอของชาวไตลื้อ เป็นเครื่องใช้สอยในโอกาสต่างๆ ตามประเพณีหรือใช้ในพิธีกรรมและวิถีของกลุ่มชน ชาวไตลื้อได้ใช้ผ้าทอที่ทอขึ้นในโอกาสต่างๆ กัน เช่น ผ้าหลบ ผ้าปูที่นอน) ผ้าห่ม หมอน ถุงย่าม ตุง (ธง, ผ้าทิพย์) ผ้านุ่ง ผ้าห่อคัมภีร์ หรือแม้กระทั่งผ้าที่เป็นเครื่องนุ่งห่มของพระสงฆ์ เป็นต้น

หมายเหตุ. ภาพจาก ความรู้เกี่ยวกับสิ่งทอล้านนา, โดย ทรงพันธ์ วรรณมาศ, 2549, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. ศูนย์สิ่งทอล้านนา.

ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ ไตลื้อ หรือ ลื้อ ในจังหวัดเชียงราย

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น, โดย เผ่าทอง ทองเจือ, 2561, สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

ชาวไทลื้อในจังหวัดเชียงรายพบมีการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณอำเภอต่าง ๆ ดังนี้

อำเภอเวียงแก่น ได้แก่ บ้านโล๊ะ ตำบลท่าข้าม บ้านดอน บ้านปางหัดบ้านปอ ตำบลปอ

อำเภอเชียงของ ได้แก่ บ้านหาดบ้าย ตำบลริมโขง บ้านศรีดอนชัย ตำบลศรีดอนชัย บ้านห้วยเม็ง ตำบลเวียง

อำเภอแม่สาย ได้แก่ บ้านสันบุญเรื่อง ตำบลเกาะช้าง

อำเภอพาน ได้แก่ บ้านโป้งแดง ตำบลทรายขาว บ้านกล้วย (กล้วยแม่แก้ว) ตำบลสันมะเค็ด และในบางพื้นที่ของอำเภอเชียงแสน

กลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงรายนี้สันนิษฐานว่าอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจาก 2 เส้นทาง

เส้นทางที่ 1 คือ อพยพมาจากเมืองอู้เหนือ เมืองอู้ใต้ เมืองหล้า เมืองพง ในดินแดนสิบสองปันนา ผ่านเส้นทางจากสิบสองปันนาเข้าสู่แขวงพงสาลี แขวงหลวงน้ำทา และแขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย

เส้นทางที่ 2 คือจากสิบสองปันนาเข้าสู่ประเทศพม่า ผ่านเมืองลา เมืองเชียงตุง เมืองยอง เมืองลอยเหมย เมืองพยาก เมืองลินเมืองท่าขี้เหล็ก ข้ามแม่น้ำสายและแม่น้ำลวกเข้าสู่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ ไตลื้อ หรือ ลื้อ ในจังหวัดเชียงราย (จำแนกตามชื่อ)

เครื่องแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ ไทลื้อในจังหวัดเชียงราย

รูปแบบเครื่องแต่งกายของชาวไทลื้อที่จังหวัดเชียงรายสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะเครื่องแต่งกาย ดังนี้


กลุ่มที่ 1 เครื่องแต่งกายชาวไทลื้อหาดบ้าย

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น, โดย เผ่าทอง ทองเจือ, 2561, สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

กลุ่มที่ 1 เครื่องแต่งกายชาวไทลื้อหาดบ้าย บ้านหาดบ้าย ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

สตรีไทลื้อนิยมสวมเสื้อปั๊ด หรือเสื้อป้าย หรือเสื้อป้ายข้าง เป็นเสื้อเข้ารูปแบบพอดีตัว แขนยาวเลยข้อมือลงไปเล็กน้อย เอวลอย ตัดเย็บด้วยผ้าฮำ ผ้าฝ้ายเนื้อดี สีดำย้อมจากมะเกลือหรือสีน้ำเงินเข้มย้อมจากห้อม บางครั้งใช้ผ้าแพรจีน ผ้าชาติน ที่นำเข้าจากจีน กุ้นตกแต่งขอบชายเสื้อและขอบปลายแขนเสื้อด้วยแถบผ้าฝ้ายสีสดใส นิยมโพกศีรษะด้วยผ้าฝ้ายเนื้อดี สีแดง สีชมพู หรือสีขาว บางครั้งใช้ผ้าแพรไหมนำเข้าสีขาวครีม หรือสีชมพูอ่อน หรือสีเหลืองอ่อน โพกพันรอบศีรษะในโอกาสสำคัญด้วย

สำหรับผ้าซิ่นของสตรีชาวไทลื้อหาดบ้ายนิยมนุ่งผ้าซิ่นฝ้าย 2 ตะเข็บ ทอด้วยเทคนิคจก เย็บต่อตีนซิ่นด้วยผ้าฮำที่เป็นผ้าฝ้ายพื้นสีดำหรือสีน้ำเงินเข้ม มีโครงสร้าง 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ผ้าซิ่น ทอลายขัดธรรมดา เป็นผ้าพื้นสีดำหรือสีแดง กว้างประมาณคืบเศษๆ ส่วนหัวซิ่นนี้บางคนก็มี บางคนก็ไม่มี ส่วนตัวผ้าซิ่นแบ่งเป็นตอนบนสุดทอขัดธรรมดา เป็นลายริ้วแนวขวางลำตัว โทนสีเดียว มักใช้สีหลักเป็นสีเชียวสีส้ม สีแดง หรือสีม่วง เรียกลายริ้วนี้ว่า "ลายต๋า" หรือ "ลายต๋าลื้อ" ซึ่งจะวางริ้วแนวขวางเป็นกลุ่ม ๆ โดยมีระยะช่องไฟเท่ากันสม่ำเสมอจำนวน 4 กลุ่มขึ้นไป

ถัดลงมาเป็นส่วนกลางของผืนผ้าซึ่งถือเป็น ส่วนแสดงเอกลักษณ์ที่สำคัญของผ้าซิ่นนี้ ทอด้วย การจก เป็นลวดลายแนวขวางลำตัว 3 แถว เรียกว่า "สามบั้ง" หรือ "สามดอก" เป็น ลายดอกหับ ลายดอกตั้งกลาง ดอกบ่าง รูปเรขาคณิต สีสันสดใสหลากหลาย และจบส่วนตัวซิ่นด้วยลายริ้วแนวขวางลำตัวหลากสี ส่วนตีนผ้าซิ่นที่อยู่ล่างสุดต่อด้วยผ้าฮำ ผ้าฝ้าย สีพื้น ย้อมสีดำหรือสีน้ำเงิน

ลักษณะของผ้าซิ่นหาดบ้ายดังที่กล่าวมานี้มีลายสามบั้งหรือลายสามดอกสามารถมองเห็นเด่นชัดลอยอยู่กลางผืนผ้าซิ่น จึงเป็นที่มาของชื่อ "ซิ่นสามดอก" หรือ "ซิ่นสามบั้ง" ที่นิยมเรียกกันในกลุ่มชนนี้อีกด้วย

ส่วนรูปแบบเครื่องแต่งกายของบุรุษชาวไทลื้อที่หาดบ้าย นอกเหนือการนุ่งผ้าโจงกระเบนหยักรั้งสั้นมาก เพียงผืนเดียว ไม่สวมเสื้อ แบบที่คนเหนือนิยมเรียกว่านุ่ง "เค็ดหม้าม" โดยใช้ผ้าแบบผ้าขาวม้าที่เรียกว่า "ผ้าต้อย" หรือ "ผ้าต่อง" ในการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปแล้ว บางครั้งก็ใส่เสื้อป้ายข้าง คอกลม แขนยาว เอวลอย ตัดเย็บด้วยผ้าอำสีดำหรือสีน้ำเงินเข้ม ตกแต่งขอบชายเสื้อและปลายชายแขนเสื้อด้วยวิธีเย็บกุ้นขอบผ้าด้วยผ้าฝ้ายสีสดใสตกแต่งรอยตะเข็บต่างๆ ทั้งตัวเสื้อด้วยการเย็บแถบผ้าสีสดใสหลากหลายสี

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น, โดย เผ่าทอง ทองเจือ, 2561, สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

กลุ่มที่ 2 เครื่องแต่งกายชาวไทลื้อศรีดอนชัย

กลุ่มที่ 2 เครื่องแต่งกายชาวไทลื้อศรีตอนชัย บ้านศรีดอนชัย ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

สตรีชาวไทลื้อนิยมสวมเสื้อปั๊ด หรือเสื้อป้าย หรือเสื้อป้ายข้าง เป็นเสื้อเข้ารูปแบบพอดีตัวแขนยาว เอวลอย ตัดเย็บด้วยผ้าฮำเช่นกันเป็นสีดำหรือน้ำเงินเข้ม บางครั้งใช้ผ้าแพรจีน ผ้าชาติน นำเข้าจากจีน ที่พิเศษมากขึ้นคือ ชายเสื้อด้านหลังเป็นทรงแหลมชี้ลง เรียกว่า "เสื้อแหลมปลาค้าว" กันตกแต่งขอบชายเสื้อและปลายขอบชายแขนเสื้อด้วยแถบผ้าฝ้ายสีขาวหรือสีแดง ตกแต่งแถบผ้าส่วนที่ป้ายเฉียงอก ด้วยการเย็บแถบผ้าสีสดใสหลากลายสีและแถบริบบิ้นไหมนำเข้าบริเวณด้านช้างลำตัวเย็บเป็นสายใส้ไก่สำหรับผูกป้ายข้าง แล้วประดับตกแต่งด้วยแผ่นเงินวงกลม นอกจากนี้ยังโพกศีรษะด้วยผ้าฝ้ายเนื้อดีสีแดง สีชมพูหรือสีขาว หรือใช้ผ้าแพรไหมนำเข้าสีขาว หรือสีชมพูอ่อน หรือสีเหลืองอ่อนในโอกาสสำคัญอีกด้วย

ผ้าซิ่นของสตรีชาวไทลื้อศรีดอนชัยนิยมนุ่งผ้าซิ่นฝ้าย 2 ตะเข็บ ทอด้วยเทคนิคเกาะหรือล้วง เย็บต่อตื่นด้วยผ้าฮำที่เป็นผ้าฝ้ายพื้นสีดำหรือสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งผ้าซิ่นมีโครงสร้าง 3 ส่วน คือ ส่วนหัวผ้าซิ่นทอขัดธรรมดา เป็นผ้าพื้นสีดำ หรือสีแดง ขนาดกว้างคืบเศษ แต่จะมีหรือไม่มี ก็ได้ ส่วนตัวผ้าซิ่นนั้นบนสุดทอขัดธรรมดาเป็นลายริ้วแนวขวางลำตัว 2 สี มักใช้สีเขียวสีส้ม หรือสีบานเย็น เรียกว่า "ลายต๋า" หรือ "ลายต๋าลื้อ" ซึ่งวางริ้วแนวขวางเป็นกลุ่มๆ

โดยมีระยะช่องไฟสม่ำเสมอเท่ากันจำนวน 4 กลุ่มขึ้นไป ถัดลงมาจะอยู่กลางตัวซิ่นและเป็น ส่วนที่สำคัญที่สุดที่เป็นตัวบ่งบอกเอกลักษณ์ของไทลื้อบ้านศรีดอนชัย ทอด้วยเทคนิคการเกาะหรือล้วง เป็นลวดลายรูปเรขาคณิตที่คนทั่วไปมักรู้จักกันในชื่อ "ลายน้ำไหล" โดยมีสีสันสดใสหลากหลายสี และตอนล่างสุดของตัวซิ่นจะเป็นลายริ้วแนวขวางลำตัวหลากสี ส่วนตีนผ้าซิ่นล่างสุดต่อด้วยผ้าฝ้ายสีพื้นเนื้อดี สีดำย้อมจากมะเกลือ หรือสีน้ำเงินเข้มย้อมจากห้อม

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น, โดย เผ่าทอง ทองเจือ, 2561, สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น, โดย เผ่าทอง ทองเจือ, 2561, สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

ส่วนชายไทลื้อศรีดอนชัยในอดีตเมื่ออยู่กับบ้านจะไม่นิยมสวมเสื้อ แต่จะนำผ้าที่มีลักษณะคล้ายผ้าขาวม้า เรียกกันว่า "ผ้าต้อย" หรือ "ผ้าต่อง" มานุ่งเป็นโจงกระเบนหยักรั้งสั้นเหนือต้นขาขึ้นไปมาก เรียกว่าการนุ่งแบบ "เค็ดหม้าม" แต่ปัจจุบันนิยมใส่เสื้อป้ายข้าง คอกลม แขนยาว เอวลอย ตัดเย็บด้วยผ้าฮำย้อมสีดำหรือสีน้ำเงินเข้ม ตกแต่งขอบชายเสื้อและชายแขนเสื้อด้วยวิธีเย็บก้นขอบผ้าด้วยผ้าฝ้ายสีสด ตกแต่งรอยตะเข็บต่างๆ ทั้งตัวเสื้อด้วยการเย็บแถบผ้าและแถบริบบิ้นไหมนำเข้าสีสดมาก ๆ หลากหลายสี

นอกจากนี้ยังนิยมนุ่งกางเกงขายาวทรงหลวมแบบกางเกงทรงจีน ตัดเย็บด้วยผ้าฮำสีดำหรือสีน้ำเงินเข้ม ตกแต่งตามรอยตะเข็บด้วยการเย็บแถบผ้าและแถบริบบิ้นไหมนำเข้าสีสดหลากหลายสี และใช้ผ้าฝ้ายที่เป็นผ้าพื้นสีขาวหรือสีแดงหน้ากว้างประมาณ 10-12 นิ้วนำมาพับครึ่งตามแนวยาวของผ้าใช้พาดบ่าเรียกว่า "ผ้าเช็ด" หรือ "ผ้าป๊าด" บางครั้งทอตกแต่งลวดลายด้วยวิธีการจกหรือขิด ด้วยเส้นฝ้ายเส้นไหมหรือเส้นไหมพรม หรือเส้นใยสังเคราะห์ก็ได้ ส่วนเครื่องประดับศีรษะนิยมโพกด้วยผ้าฝ้ายเนื้อดีสีแดงหรือสีขาว บางครั้งใช้ผ้าแพรไหมนำเข้าสีขาว หรือสีชมพูอ่อนหรือสีเหลืองอ่อนโพกศีรษะในโอกาสสำคัญเช่นเดียวกับสตรีอีกด้วย

กลุ่มที่ 3 เครื่องแต่งกายชาวไทลื้อเวียงแก่น

กลุ่มที่ 3 เครื่องแต่งกายชาวไทลื้อเวียงแก่น อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย

สตรีไทลื้อที่นี่ใส่เสื้อปั๊ด หรือเสื้อป้าย หรือเสื้อป้ายข้าง เช่นเดียวกับที่บ้านหาดบ้ายและบ้านศรีดอนชัย โดยจะแตกต่างกันที่เสื้อปั๊ดของสตรีกลุ่มนี้จะไม่มีการตกแต่งส่วนอื่นใดเพิ่มเติมเลย รวมทั้งเรื่องของการผูกผ้าโพกศีรษะก็อยู่ในจารีตเดียวกันทุกประการ

ส่วนผ้าซิ่นของสตรีไทลื้อเวียงแก่นนิยมนุ่งผ้าซิ่นฝ้าย 2 ตะเข็บ ทอด้วยเทคนิคจก เย็บต่อตีนด้วยผ้าอำผ้าฝ้ายพื้นสีดำหรือสีน้ำเงินเข้ม มีโครงสร้างของผ้าซิ่น 3 ส่วน คือ ส่วนหัวซิ่นจะมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีก็เป็นผ้าฝ้ายพื้นสีดำหรือสีแดง ทอขัดธรรมดา ขนาดกว้างประมาณคืบเศษๆ ส่วนตัวซิ่นตอนบนสุดจะทอเป็นลายริ้วแนวขวางลำตัว โดยเป็นริ้วสีดำบนพื้นสีเขียวเรียกว่า "ลายต๋า" หรือ "ลายต๋าลื้อ" ซึ่งจะวางริ้วแนวขวางลำตัวเป็นกลุ่มๆ โดยกำหนดให้ระยะช่องไฟเท่ากันสม่ำเสมอจำนวน 4 กลุ่มขึ้นไป

ถัดลงมาตอนกลางของผืนผ้าจะทอเป็นลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของเวียงแก่น ซึ่งมีถึง 2 รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ 1 ทอด้วยเทคนิคจกเพียงเทคนิคเดียว เป็นลวดลายแนวขวางลำตัว เป็นลายดอกหับ ลายรูปเรขาคณิต โดยประโคมสีสันสดใสสารพัดใส่ลงไป แต่ในอดีตจะเน้นโทนสีเขียวและสีขาวเป็นสีนำหรือสีหลัก

รูปแบบที่ 2 ทอด้วยเทคนิคจกและเทคนิคการเกาะหรือล้วง รูปแบบนี้จะมีระเบียบการวางลายโดยทำเป็นแถบลายขวางลำตัว 3 แถบ หรือ 3 ช่วง จากนั้นถ้าแถบบนกับแถบล่างตกแต่งด้วยเทคนิคจกเป็นลวดลาย เช่น ลายดอกบ่าง แถบตรงกลางจะตกแต่งด้วยเทคนิคการเกาะหรือการล้วงเป็นลายล้วงหรือลายน้ำไหลเสมอ ในทางกลับกันถ้าแถบบนและแถบล่างตกแต่งด้วยเทคนิคการเกาะหรือล้วงเป็นลายล้วงหรือลายน้ำไหลแถบตรงกลางจะตกแต่งด้วยเทคนิคการจกเป็นลายดอกบ่างหรือลายดอกหับเสมอ

ส่วนตอนล่างสุดของตัวซิ่นจะทอเป็นลายริ้วแนวขวางลำตัวหลายสี หรือเป็นแถบลาย 1 แถบที่ทอด้วยเทคนิคการจก หรือเทคนิคการขิดหรือเทคนิคการเกาะหรือการล้วง ส่วนตีนผ้าซิ่นต่อด้วยผ้าฝ้ายพื้นเนื้อดีสีดำย้อมจากมะเกลือหรือสีน้ำเงินเข้มย้อมจากห้อม

ส่วนชายชาวไทลื้อที่เวียงแก่นทั้งในอดีตและปัจจุบันล้วนแต่งกายเช่นเดียวกับชายไทลื้อบ้านหาดบ้ายและบ้านศรีดอนชัยทุกประการ

เอกลักษณ์อันโดดเด่นของผ้าซิ่นไทลื้อเวียงแก่น คือ ผ้าซิ่นที่นี่ นิยมใช้โทนสีเชียวเป็นสีหลักหรือสีนำ และใช้สีขาวทอเป็นขอบลายเพื่อตัดขอบลายในผืนผ้าให้เด่นชัด

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น, โดย เผ่าทอง ทองเจือ, 2561, สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น, โดย เผ่าทอง ทองเจือ, 2561, สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

รายการอ้างอิง

ทรงพันธ์ วรรณมาศ. (2549). ความรู้เกี่ยวกับสิ่งทอล้านนา. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. ศูนย์สิ่งทอล้านนา.

เผ่าทอง ทองเจือ. (2561). ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น. สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.