ตุงตะขาบ ตุงจระเข้
ตุงนางเงือก ตุงเต่า

ตุงนางเงือก ตุงตะขาบ

มีตุงอีกชนิดหนึ่งที่มีขั้นตอนการทำเหมือนกับตุงพระบด โดยใช้วิธีการวาดภาพลงผืนผ้าเป็นรูปต่างๆ คือ รูปตะขาบ รูปจระเข้ รูปนางเงือก และรูปเต่า ชาวล้านนาเรียกตุงชนิดนี้ว่า “ตุงตะขาบ ตุงจระเข้ ตุงนางเงือก และตุงเต่า” โดยเรียกชื่อตุงตามรูปภาพที่วาดลงผืนผ้า ความเชื่อของชาวล้านนาในการถวายตุงชนิดนี้ โดยมีเรื่องเล่ากันว่า ในอดีตเมื่อมีเทศกาลทอดกฐิน ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าได้เข้าร่วมงานจะได้บุญกุศลสูงมาก ทำให้บรรดามนุษย์และสัตว์ต่างๆ อยากจะร่วมขบวนกฐินไปด้วย แต่เนื่องจากการทอดกฐินนั้นจะต้องเดินทางระยะไกลและยังมีทางที่ทุรกันดาร พวกสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น พวกตะขาบ จระเข้ นางเงือก และเต่า มักจะตายระหว่างทาง สัตว์เหล่านี้จึงขอให้มนุษย์นำรูปของพวกเขาเดินร่วมขบวนกฐินไปด้วยเพื่อผลบุญกุศลจะส่งผลถึงพวกเขา ตุงชนิดนี้มีลักษณะเป็นผ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 80 – 100 เซนติเมตร ยาวประมาณ 150 – 200 เซนติเมตร มีภาพวาดสีรูปตะขาบ จระเข้ นางเงือก หรือเต่า อยู่ตรงกลางโดยสีที่ใช้จะเป็นสีน้ำพลาสติก หรือสีน้ำมัน เพื่อให้สียึดเกาะกับผ้า ผู้ที่ทำตุงจะต้องมีความชำนาญในด้านการวาดภาพพอสมควร ซึ่งจะต้องร่างภาพที่ต้องการลงบนผืนผ้า โดยขั้นตอนการลงสีนี้จะเน้นความสมจริงตามสัตว์ที่ลงสี เช่น จระเข้จะต้องมีสีเขียวเข้ม เป็นต้น และอาจจะวาดรูปอื่นๆ เป็นส่วนประกอบ เช่น ปลา สาหร่ายน้ำ หรือต้นไม้

ลักษณะการใช้งานตุงชนิดนี้ ใช้เมื่อวัดใดมีงานทอดกฐิน คณะขบวนกฐินจะใช้ตุงตะขาบ ตุงจระเข้ ตุงนางเงือก หรือตุงเต่าในการนำขบวนกฐินที่เดินทางเข้าวัด ถ้าเราเห็นตุงเหล่านี้ประดับอยู่หน้าวัดใดก็ตาม แสดงว่าวัดนั้นได้มีการทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว