โบราณสถานวัดคุ้งตะเภา

พิกัดโบราณสถานวัดคุ้งตะเภา

จากหลักฐานการสืบค้นและข้อมูลแวดล้อมจากพระราชพงศาวดารและข้อค้นพบทางประวัติศาสตร์ พบว่าปัจจุบันวัดคุ้งตะเภามีอายุเก่ากว่า 245 ปี แต่นับอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีการพบโบราณสถานขนาดใหญ่ เช่น วิหาร อุโบสถ หรือมหาธาตุเจดีย์ ในบริเวณวัด

อย่างไรก็ดี ในบริเวณหน้าผิวดินในพิกัดต่าง ๆ รอบบริเวณวัดคุ้งตะเภา การค้นพบชิ้นส่วนของโบราณสถานกระจายอยู่ในจุดต่าง ๆ

ซึ่งบางส่วนอาจมีอายุย้อนไปจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 21 - 23หรือในสมัยอยุธยา

ซากโบราณสถานดังกล่าวจึงอาจมีความเก่าแก่กว่าปีตั้งวัดคุ้งตะเภา และมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลกันต่อไป

(ข้อมูลจากการสำรวจเมื่อ 2559)

โบราณวัตถุที่ค้นพบ เป็นสิ่งหนึ่งที่อาจยืนยันว่าคุ้งตะเภาเป็นชุมชนโบราณสืบเนื่องยาวนานมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ก่อนอาจทิ้งร้างไปหลังภาวะจลาจลเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 และได้กลับมาตั้งเป็นอารามปรากฎชื่อขึ้นใหม่อีกครั้ง ในสมัยธนบุรี พ.ศ. 2313 ในนาม "วัดคุ้งตะเภา"

จากการสันนิษฐานเบื้องต้นทางโบราณคดี พบซากเศษอิฐซึ่งมีส่วนผสมของแกลบข้าวโบราณ และเศษกระเบื้องตะขอดินเผาเคลือบแบบไม่แกร่ง อาจเป็นส่วนประกอบของโบราณสถานของที่มีความเก่าไปถึงสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษ 22-23 ในช่วงการค้าแถบหัวเมืองเหนืออันเคยเป็นอาณาจักรสุโขทัยเดิม กับอาณาจักรอยุธยาเจริญรุ่งเรือง ซึ่งมีเมืองสวางคบุรี (เมืองฝาง) เมืองโบราณสมัยสุโขทัย เป็นเมืองท่าเหนือสุดและจุดหมายสำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การพระศาสนา และการปกครองชายพระราชอาณาเขตอาณาจักรอยุธยาในสมัยโบราณ

----------------------------------------------------------------------------

โบราณสถานวัดคุ้งตะเภา (ไผ่สามกอ)

รหัสพิกัดโบราณสถาน วคภ 59/02

(สภาพโบราณสถาน : เศษอิฐกระเบื้องแตกจากใต้ดินกระจายบนหน้าผิวดินที่ปรับไถ เต็มบริเวณ)

BORAN SATHAN WAT KHUNG TAPHAO (Wat Khung Taphao Ancient Remains) No. WKP2016/02

จากการปรับไถหน้าดินขุดไถกอไผ่ บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำน่านเก่า นอกกำแพงวัดด้านทิศใต้ของต้นโพธิ์หลังศาลาการเปรียญ ประมาณ 50 เมตร พบเศษกระเบื้องตะขอดินเผาเคลือบแบบไม่แกร่ง และเศษอิฐซึ่งมีส่วนผสมของแกลบโบราณ ซึ่งสำรวจพบในระดับหน้าผิวดินที่ถูกปรับพื้นที่ โดยรอบในระยะ 5-10 เมตร เมื่อวันที่ 19-5-59 พิกัด ละติจูด 17?39'14.07" เหนือ ลองจิจูด 100? 8'22.47"ตะวันออก

ทั้งนี้บริเวณดังกล่าว จำต้องสงวนไว้สำหรับการอนุรักษ์ และจำกัดพื้นที่ไม่ให้ถูกทำลายไปมากกว่านี้ เนื่องจากพื้นที่ตั้งโบราณสถานอาจกินเขตไปถึงถนนเก่าหลังวัดด้วยก็เป็นได้

จากตำนานบ้านคุ้งตะเภา เล่าสืบมาว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา เคยมีเรือสำเภาบรรทุกสินค้ามาล่มบริเวณคุ้งน้ำหน้าวัด คนในยุคต่อมาจึงเรียกวัดนี้ว่า "วัดคุ้งสำเภาล่ม" และในสมัยธนบุรีจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดคุ้งตะเภา" ตามพระบรมราชโองการหลังการชำระคณะสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือ ในคราวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จขึ้นมาปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี ซึ่งพระองค์ได้ทรงตั้งค่ายพระตำหนักหาดสูงในระยะหลังการปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง และสถาปนาวัดคุ้งสำเภาขึ้นใหม่ โยกย้ายผู้คนกลับมาตั้งครัวเรือนใหม่ในนามชุมชน "คุ้งตะเภา" โดยมี "วัดคุ้งตะเภา" เป็นศูนย์รวมจิตใจสืบมาจนปัจจุบัน

ภาพ: เศษกระเบื้องตะขอดินเผาโบราณ ที่ถูกฝังไว้ใต้กอไผ่ หลังกอไผ่ถูกขุดดันออกจากการปรับหน้าดิน ถ่าย 19-5-59

ภาพ: เศษกระเบื้องตะขอดินเผาโบราณ กระจัดกระจายอยู่หน้าดิน หลังดินใต้กอไผ่ถูกขุดดันออกจากการปรับพื้นที่ ถ่าย 19-5-59

ภาพ: เศษอิฐแกลบโบราณที่ฝังไว้ใต้กอไผ่ หลังดินใต้กอไผ่ถูกขุดดันออกจากการปรับพื้นที่ ถ่าย 19-5-59

ภาพ: ภูมิทัศน์บริเวณที่พบเศษอิฐโบราณสถาน รหัสพิกัดโบราณสถาน วคภ 59/02 ถ่าย 19-5-59

----------------------------------------------------------------------------

โบราณสถานวัดคุ้งตะเภา (ใต้วัด)

รหัสพิกัดโบราณสถาน วคภ 59/03

(สภาพโบราณสถาน : พบเศษอิฐบางส่วน)

BORAN SATHAN WAT KHUNG TAPHAO (Wat Khung Taphao Ancient Remains) No. WKP2016/03

จากการสันนิษฐานเบื้องต้น พบซากเศษอิฐซึ่งมีส่วนผสมของแกลบข้าวโบราณ และเศษกระเบื้องตะขอดินเผาจำนวนหนึ่ง แต่ไม่หนาแน่นเท่ารหัสพิกัดโบราณสถาน วคภ 59/03 ซึ่งอาจเป็นส่วนประกอบของโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งในบริเวณนี้

จากการปรับไถหน้าดินขุดไถกอไผ่ บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำน่านเก่า นอกกำแพงวัดด้านทิศใต้ของต้นโพธิ์หลังศาลาการเปรียญ ประมาณ 100 เมตร พบเศษกระเบื้องดินเผา และเศษอิฐซึ่งมีส่วนผสมของแกลบโบราณ ซึ่งสำรวจพบในระดับหน้าผิวดินที่ถูกปรับพื้นที่บางส่วน เมื่อวันที่ 25-5-59 พิกัด ละติจูด 17?39'14.07" เหนือ ลองจิจูด 100? 8'22.47"ตะวันออก

ภาพ: เศษอิฐโบราณสถาน ที่พบในรหัสพิกัดโบราณสถาน วคภ 59/03 ถ่าย 25-5-59

----------------------------------------------------------------------------

โบราณสถานวัดคุ้งตะเภา (ท้ายโฉนด)

รหัสพิกัดโบราณสถาน วคภ 59/04

(สภาพโบราณสถาน : เศษอิฐจากใต้ดินกระจายบนหน้าผิวดินที่ปรับไถ เต็มบริเวณ)

BORAN SATHAN WAT KHUNG TAPHAO (Wat Khung Taphao Ancient Remains) No. WKP2016/04

จากการปรับไถหน้าดินใกล้กับทางโบราณ บริเวณหลุมตอไม้ที่ถูกขุดทิ้งเพื่อไถที่ ในพื้นที่ปลายโฉนดวัดคุ้งตะเภาใหม่ ละติจูด 17°39'17.46"น ลองจิจูด 100° 8'22.38"ตะวันออก พบเศษอิฐแกลบดินเผาโบราณกระจายเต็มพื้นที่กองดินที่ขุดขึ้นมาจากใต้รากต้นไม้ เป็นเศษอิฐโบราณสถานที่ค้นพบใหม่ที่มีจำนวนมากที่สุด

จากหลักฐานการสืบค้นและข้อมูลแวดล้อมจากพระราชพงศาวดารและข้อค้นพบทางประวัติศาสตร์ พบว่าปัจจุบันวัดคุ้งตะเภามีอายุเก่ากว่า 245 ปี ซึ่งไม่พบหลักฐานว่ามีการสร้างอาคารก่ออิฐในลักษณะนี้มาก่อนในวัดคุ้งตะเภา จึงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และซากอิฐเจดีย์ดังกล่าวอาจมีความเก่าแก่กว่าปีตั้งวัดคุ้งตะเภา และมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลกันต่อไป

จากการพบอิฐแกลบโบราณในพิกัดนี้ พบว่าบางก้อนมีร่องรอยของแกลบข้าวเจ้าโบราณให้เห็น แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนโบราณในแถบคุ้งตะเภาในอดีต ว่ากินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก อันเป็นวัฒนธรรมคนหัวเมืองเหนือ ตามคำปากของคนสมัยอยุธยาโบราณ ซึ่งเป็นชุมชนปลายแดนเหนือสุดของอาณาจักรอยุธยา เป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าบริเวณคุ้งตะเภา เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ และมีผู้คนอยู่อาศัยต่อเนื่องมาอย่างยาวนานแล้ว

เศษอิฐโบราณนี้ จากการประเมินลักษณะโบราณวัตถุทีค้นพบและภูมิศาสตร์สันนิษฐานเบื้องต้น คาดว่าเป็นเจดีย์โบราณของวัดที่พังลงมานานแล้ว จากการประเมินเบื้องต้น อาจเป็นเจดีย์เก่าที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21-23 หรือกว่า 300 ปี ก่อน จุดดังกล่าว อยู่ห่างจากจุดรหัสพิกัดโบราณสถาน วคภ 59/01 ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 100 เมตร และอยู่ห่างจากจุดรหัสพิกัดโบราณสถาน วคภ 59/02 ไปทางทิศเหนือ ประมาณ 150 เมตร จากการตรวจสอบ เป็นอิฐคนละขนาดและน่าจะอยู่ต่างสมัยกัน

ภาพ: หลุมตอต้นไม้เก่าที่รถไถขุดดันรากขึ้นมาเผา และพบเศษอิฐติดมากับดินบริเวณนี้จำนวนมาก ถ่าย 1-5-59

----------------------------------------------------------------------------

โบราณสถานวัดคุ้งตะเภา (เหนือต้นโพธิ์)

รหัสพิกัดโบราณสถาน วคภ 59/02

(สภาพโบราณสถาน : ถูกรื้อทำลาย)

BORAN SATHAN WAT KHUNG TAPHAO (Wat Khung Taphao Ancient Remains) No. WKP2016/02

จากการปรับไถหน้าดินเพื่อทำการเกษตรของประชาชน บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำน่านเก่า พิกัด ละติจูด 17°39'14.99" เหนือ ลองจิจูด 100° 8'25.19"ตะวันออก นอกกำแพงวัดด้านทิศเหนือของต้นโพธิ์เหนือหลังศาลาการเปรียญ ประมาณ 10 เมตร เมื่อวันที่ 15-3-59 พบเศษอิฐมอญจำนวนหนึ่ง

สันนิษฐานว่าเป็นเศษอิฐส่วนประกอบของเจดีย์ที่ถูกขุดทิ้งคราวสร้างกำแพงวัดคุ้งตะเภา บริเวณเสาไฟริมกำแพงวัดด้านทิศเหนือศาลาการเปรียญ พิกัดละติจูด 17°39'14.54" เหนือ ลองจิจูด 100° 8'24.69" ตะวันออก จากคำบอกเล่าของนายวัน มากคล้าย เล่าว่า สมัยท่านเป็นเด็ก เคยเห็นเจดีย์เก่าคร่ำคร่า ลักษณะเป็นเจดีย์บรรจุธาตุในอดีต ลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 4-5 เมตร อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นโพธิ์โบราณ ซึ่งถูกทำลายไปเมื่อราวก่อน พ.ศ. 2530 ตัวเจดีย์นี้อาจมีอายุราว 100 ปี ฐานของเจดีย์น่าจะยังอยู่ในตำแหน่งเดิม เนื่องจากก่อนการตัดต้นโพธิ์โบราณและถมดินสร้างศาลาในปี พ.ศ. 2549 เคยพบเศษอิฐขนาดใหญ่เช่นนี้ในบริเวณริมกำแพงด้วย โดยมีการขนอิฐสร้างเจดีย์มาถมทิ้งบริเวณใกล้เคียง

จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้ทราบว่าพิกัดที่พบนี้ ไม่ใช่พิกัดที่ตั้งของโบราณสถาน จึงใช้วิธีขนย้ายอิฐมากองสงวนไว้สำหรับการอนุรักษ์ และบันทึกพิกัดตัวที่ตั้งของเจดีย์ตามคำบอกเล่าเพื่อประโยชน์ในการศึกษาต่อไป

----------------------------------------------------------------------------

โบราณสถานวัดคุ้งตะเภา (พระธรรมเจดีย์)

รหัสพิกัดโบราณสถาน วคภ 00/01

(สภาพโบราณสถาน : สมบูรณ์)

BORAN SATHAN WAT KHUNG TAPHAO (Wat Khung Taphao Ancient Remains) No. WKP00/01

โบราณสถานวัดคุ้งตะเภา (ซากเจดีย์เหลี่ยม)

รหัสพิกัดโบราณสถาน วคภ 00/02

(สภาพโบราณสถาน : ถูกรื้อทำลาย)

BORAN SATHAN WAT KHUNG TAPHAO (Wat Khung Taphao Ancient Remains) No. WKP00/02

จากคำบอกเล่าของคนร่วมสมัย นายวัน มากคล้าย, นางสมบัติ โพธิ์กล่ำ ระบุ พิกัด ละติจูด 17°39'13.43" เหนือ ลองจิจูด 100° 8'24.67" ตะวันออก ว่าในช่วงก่อน พ.ศ. 2500 เคยมีฐานเจดีย์เหลี่ยม ฐานเขียงลดชั้น ขนาดกว้างยาวด้านละประมาณ 3 เมตร สูงประมาณ 3-4 เมตร อยู่บริเวณมุมศาลาการเปรียญหลังเก่าด้านทิศเหนือ (ห้องตู้ลำโพงเก่า, ห้องหอพระเก่า) โดยในสมัยก่อน พ.ศ. 2500 เจดีย์ดังกล่าวได้ชำรุดคร่ำคร่า ถูกทิ้งร้าง และเป็นจุดที่นักเรียนโรงเรียนวัดคุ้งตะเภาสมัยนั้น ใช้เดินขึ้นลงเพื่อไปเรียนยังอาคารศาลาปรกบริเวณทิศเหนือของต้นโพธิ์โบราณ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อน พ.ศ. 2530 จากคำบอกเล่า ไม่พบฐานเจดีย์ใด ๆ อยู่ในบริเวณดังกล่าว คาดว่าอาจถูกรื้อไปก่อนหน้านั้นนานมากแล้ว โดยในปี พ.ศ. 2549 อันเป็นปีเริ่มบูรณะสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่นั้น ได้มีการขุดหลุมฝังเสาใหม่บริเวณใกล้เคียงกับจุดที่ตั้งเจดีย์ดังกล่าวและถมดิน ก็ไม่พบซากฐานเจดีย์ดังกล่าว คาดว่าซากเจดีย์ดังกล่าวอาจอยู่คร่อมระหว่างเสาศาลาการเปรียญใหม่ (บริเวณใต้บันไดศาลาใหม่ทิศเหนือ) ก็เป็นได้

----------------------------------------------------------------------------

โบราณสถานวัดคุ้งตะเภา (เว็จโบราณ)

รหัสพิกัดโบราณสถาน วคภ 00/03

(สภาพโบราณสถาน : ถูกรื้อถม)

BORAN SATHAN WAT KHUNG TAPHAO (Wat Khung Taphao Ancient Remains) No. WKP00/02

จากคำบอกเล่าของคนร่วมสมัย ระบุ พิกัด ละติจูด 17°39'9.99" เหนือ ลองจิจูด 100° 8'23.80" ตะวันออก อยู่ริมรั้ววัด ห่างจากที่พำนักอาศัยของภิกษุสามเณรในวัด เป็นที่ตั้งของถาน (ส้วม) หรือเวจกุฎีโบราณ ขนาดประมาณ 2x4 เมตร พบเศษกระเบื้องดินเผาโบราณกระจายอยู่โดยรอบ ลักษณะตามคำบอกเล่า เวจกุฎียกพื้นดินสูง ปักเสาไม้สี่ทิศ ตีผนังไม้แบบยาว มีหลังคา ด้านในมีลักษณะเป็นหลุมไม้กรุเพื่อไม่ให้ขอบหลุมพัง มีแผ่นไม้รอง ปิดทับหลุม เจาะรูตรงกลางสำหรับถ่ายอุจจาระ ใช้เป็นส้วมสำหรับพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นคตินิยมแบบโบราณที่สืบคติการสร้างเว็จมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ปัจจุบันเว็จโบราณวัดคุ้งตะเภา ได้ถูกปรับปรุงก่อคอนกรีตทับและรื้อเสาหลังคาและฝาออก ทำเป็นส้วมแบบปัจจุบันไปแล้ว

----------------------------------------------------------------------------

นอกจากนี้บริเวณทิศตะวันออกของพระธรรมเจดีย์ยังมีผู้มาสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิบรรพบุรุษด้วยโดยลอกแบบพระธรรมเจดีย์ไปสร้าง โดยเรียงจากทิศเหนือไปทิศใต้ ท่านเล่าว่าเจดีย์องค์แรกเป็นเจดีย์รวมสำหรับบรรจุอัฐิของบรรพบุรุษชาวบ้านคุ้งตะเภา โดยเคยมีซุ้มไม้กระดานเล็ก ๆ เขียนไล่สายบรรพบุรุษบ้านคุ้งตะเภาอยู่ แต่ปัจจุบันนี้ได้สูญหายไปหมดแล้ว

พระธรรมเจดีย์หน้าอุโบสถในปัจจุบัน พิกัด ละติจูด 17°39'12.78" เหนือ ลองจิจูด 100° 8'25.58" ตะวันออก เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนเก่าแก่ ที่สร้างไว้หน้าอุโบสถตามคตินิยมของลุ่มแม่น้ำน่านหัวเมืองเหนือ สมัยรัชกาลที่ 6 มีสัณฐานแบบเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองประยุกต์ องค์เจดีย์มีซุ้มจรนัมทั้ง 4 ทิศ ยอดปล้องไฉนนพศูรย์ ล้วนทำด้วยปูนปั้นทั้งสิ้น สัณฐานสูง 3 เมตรโดยประมาณ ซุ้มจรนัมเจาะช่องเล็ก ๆ สำหรับไว้ช้างไม้และเครื่องบูชาปิดหน้าซุ้มด้วยแผ่นกระจก ปัจจุบันคงเหลือสมบูรณ์เพียงด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ บริเวณคอองค์เจดีย์มีกรอบอักษรทำด้วยปูนมีอักษรจารึกว่า "เดือนมิถุนายน ๒๔๙๓ นายบุตร นางไฝ ก่อพระธรรมเจดีย์อุทิศให้เจ้าอธิการกอง"

เจดีย์นี้ชาวบ้านคุ้งตะเภาคนรุ่นก่อนเรียกว่าพระธรรมเจดีย์ หรือธรรมเจดีย์ ไว้สำหรับบรรจุใบลานธรรมสำหรับบูชา ผู้ที่ยังทันมาเห็นขณะสร้างเจดีย์กล่าวว่าผู้สร้างเจาะช่องบริเวณองค์เจดีย์ สำหรับไว้บรรจุพระธรรมใบลาน ปัจจุบันคาดว่าใบลานคงเปื่อยยุ่ยหมดแล้ว เนื่องจากความชำรุดและความชื้นขององค์เจดีย์