งานบุญประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกวัดคุ้งตะเภา ประจำปี ๒๕๖๑

วันที่โพสต์: Feb 09, 2018 4:18:0 PM

เช้าวันที่ ๙ ก.พ. ๖๑ (แรม ๙ ค่ำ เดือน ๓ ปีระกา) คณะศรัทธาชาวบ้านคุ้งตะเภา ร่วมใจกันเป็นเจ้าภาพ งานบุญประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกวัดคุ้งตะเภา ประจำปี ๒๕๖๑ โดยมีคณะศรัทธาบ้านวัดคุ้งตะเภาและใกล้เคียงร่วมบุญในครั้งนี้จำนวนมาก

งานบุญประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก เริ่มตั้งแต่วันที่ ๘ ก.พ. ๖๑ ซึ่งทางคณะศรัทธาวัดได้จัดรถรับส่งข้าวเปลือกบริการรอบหมู่บ้าน เพื่อรับข้าวเปลือกและไทยทานมาร่วมก่อองค์พระเจดีย์ข้าวเปลือก และเมื่อถึงวันที่ ๙ ก.พ. ๖๑ เป็นวันที่ทางวัดกำหนดให้มีการจัดพิธีถวายองค์พระเจดีย์ข้าวเปลือก พิธีเริ่มในช่วงเช้า มีการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ฉลององค์พระเจดีย์ข้าวเปลือก รับถวายภัตตาหารเช้า และกล่าวคำถวายพระเจดีย์ข้าวเปลือกตามประเพณีเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาร่วมกัน งานบุญประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกวัดคุ้งตะเภา คลี่คลายมาจากคติความเชื่อใน "ประเพณีแรกตักข้าว" แห่งชุมชนบ้านคุ้งตะเภา ชุมชนคนไทยโบราณสุดท้ายเหนือสุดแห่งที่ราบลุ่มวัฒนธรรมสุโขทัย-อยุธยา ซึ่งเป็นประเพณีโบราณที่จัดสืบเนื่องมากว่าสามร้อยปี

ความเป็นมาเชิงวัฒนธรรม

พิธีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกบ้านคุ้งตะเภาในบริบทวิถีเกษตรกรรม

โดยมีคติความเชื่อในชุมชนคุ้งตะเภามาแต่โบราณว่า เมื่อเสร็จฤดูเก็บเกี่ยวนำข้าวขึ้นยุ้งฉางแล้ว ทุกบ้านต้องทำพิธี "แรกตักข้าว" คือเป็นวันแรกที่จะทำการตักข้าวที่เก็บเกี่ยวจากปีก่อนออกจากฉางมา ทำการสี โดยกำหนดวันแรกตักไว้ มีความเชื่อว่าถ้าตักข้าวเก่าในฉางออกมาก่อนวันที่กำหนดนี้ ข้าวในฉางจะถูก ผีตะมอย กิน คือถ้าตักหนึ่งขัน ข้าวในฉางก็จะหายไปหนึ่งขัน เพื่อไม่ให้นำข้าวใหม่มาสีกินก่อนเวลาอันควร

โดยคตินี้น่าจะมาจากอุบายของคนโบราณและสอดคล้องกับสภาพของข้าวใหม่ที่เก็บ เกี่ยวในปีก่อน โดยก่อนที่จะถึงเดือน ๓ ข้าวใหม่จะยังไม่แห้งดี ไม่สมควรแก่การบริโภค แต่เมื่อถึงเดือน ๓ ข้าวก็จะแห้งพอสมควรที่จะนำไปสีนำมารับประทานได้ และเพื่อให้ใช้ข้าวเก่าค้างยุ้งมารับประทานให้หมดไม่เหลือทิ้งไว้ ทำนองได้ใหม่ไม่ลืมเก่านั่นเอง พิธีนี้คล้ายพิธีสู่ขวัญข้าว ตามความเชื่อโบราณของคนในแถบลุ่มอารยธรรมอุษาคเนย์ ที่เชื่อกันว่าทุกสิ่งมี "ขวัญ" สถิตย์อยู่ เมื่อชาวบ้านทำนาเพาะปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวได้แล้ว ก่อนนำข้าวมาบริโภคหรือจำหน่าย จะมีการทำพิธี "สู่ขวัญข้าว" ทำนองเป็นการบูชาผีที่สถิตย์อยู่ในข้าว เป็นการแสดงความเคารพต่อสรรพสิ่งและนบน้อมต่อธรรมชาติ ซึ่งต่อมาเมื่อรับวัฒนธรรมแบบชาวพุทธเถรวาทซึ่งปฏิเสธการบูชาเซ่นทรวงเข้ามา จึงได้ "ปรับ" ประเพณีนี้ให้เข้ากับวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิมของตน คือการนำข้าวแรกเกี่ยวไปถวายพระหรือก่อพระเจดีย์เพื่อเป็นการทำบุญเป็นพุทธบูชาแทน ซึ่งชาวบ้านคุ้งตะเภาก็ได้ถือคติปฏิบัติเช่นนี้สืบมาจนถึงปัจจุบัน- จดหมายข่าววัดคุ้งตะเภา วันที่ ๙ ก.พ. ๖๑