เครื่องมือในการทำนา : พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาออนไลน์

เครื่องมือในการทำนาในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

เครื่องมือในการทำนาที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา เช่น ระหัดวิดน้ำ, คันไถและคราดที่ทำด้วยไม้และโลหะ, คานและแอกไม้ประกอบคันไถ, เครื่องสีฝัดข้าว, ขอฉาย, สากตำข้าว, ครกตำข้าวทำจากไม้ และเครื่องสีข้าวแบบแรงมือและคันโยก เป็นต้น

อุปกรณ์ตวงข้าว

อุปกรณ์ตวงข้าวเป็นอุปกรณ์ ชั่ง ตวง วัด ในการตวงข้าวเปลือกแบบเก่าที่บรรพบุรุษเคยใช้ ในอดีต ประกอบด้วย กระบุงปากบาน กระบุงโกย กระบุงตวง โป๊ยซัด ถังตวงข้าว (ไม้) (เหล็ก) กระทาชักข้าว กระด้งบดข้าว ไม้บดข้าว เป็นต้น.

ถังตวงข้าว

เครื่อง ตวงข้าวลักษณะทรงกระบอกปากกลม ทำด้วยไม้ การตวงข้าวด้วยถังจะต้องเทข้าวให้พูนปากถังแล้วใช้ไม้เรียบ ๆ ตรง ๆ ปาดข้าวให้เก็บเสมอขอบปาก นอกจากการใช้ถังเป็นมาตราตวงข้าวแล้ว ยังใช้ตวงข้าวในการแลกเปลี่ยนข้าวของ พืชผลและสินค้าซึ่งกันและกัน

จำ​​​​​​​นวน​​​​​​​ผู้​​​​​​​เข้า​​​​​​​เยี่ยมชม

กะโห้

กะโห้ เป็นไม้สำหรับชักดึงเมล็ดข้าวเปลือกให้กองรวมกัน เพื่อสะดวกต่อการตวงหรือขนใส่ยุ้งฉาง

ไม้กะโห้ มีลักษณะคล้ายกับคราดมือ แต่แตกต่างกันในส่วนซี่คราด คราดมือจะเหลาไม้เป็นซี่ ๆ สำหรับคราดพิเศษฟางข้าว กะโห้มีที่คราดเป็นแผ่นไม้หนาทึบ มีความสูงประมาณ 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ใช้ไม้หนาขนาด 1 – 3 เซนติเมตร ใช้กบไสแผ่นไม้ให้เรียบ แผ่นไม้ในส่วนล่างซึ่งทำหน้าที่คราดข้าวเปลือก ไสให้บางแฉลบส่วนด้านบนจะหนากว่า การไสให้บางนี้ช่วยให้การชักดึงข้าวได้สะดวก ในเวลาใช้แรงมือกดที่ด้ามไม้กะโห้ คมไม้ที่บางแฉลบจะทำให้กดลงไปในกองข้าวเปลือก และชักดึงได้ง่าย ใช้สิ่วเจาะแผ่นไม้ตรงกึ่งกลางแผ่น เจาะริมขอบด้านบนให้มีขนาดเล็กกว่าด้ามไม้จับเล็กน้อย

ด้ามกะโห้ทำด้วยไม้รวก ไม้เลี้ยง หรือไม้จริงก็ได้ ด้ามไม้ยาวประมาณ 2 เมตรา

วิธีใช้ กะโห้จะใช้ในเวลานวดข้าวขณะอยู่ในลาน ใช้ชักดึงเมล็ดข้าวเปลือกให้เป็นกอง ๆ ตามที่ต้องการ จะง่ายต่อการตวงหรือการตักขนเข้ายุ้งฉาง นอกจากใช้ลากข้าวเปลือกที่อยู่ในลานแล้ว กะโห้ยังใช้สำหรับดึงข้าวเปลือกในเวลาขนลงจากเกวียนหรือรถ เพื่อขนใส่ยุ้งฉางได้สะดวก

ตั้งแต่​​​​ :: ​​​​๒๕๕๐

พลั่ว

พลั่ว เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งของชาวบ้านซึ่งใช้สำหรับสาดข้าว เพื่อทำให้เมล็ดข้าวเปลือกที่ต้องการนั้นไม่มีเมล็ดข้าวลีบ เศษผง เศษฟาง เศษดินและอื่น ๆ เจือปน พลั่ว บางหมู่บ้านออกเสียงเพี้ยนไป เช่น หมู่บ้าน ตำบลท่าโพ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เรียกว่า พลั้ว ตำบลวังสำโรง ตำบลวังกรด ตำบลห้วยเรียง อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ก็เรียกว่าพลั้วเช่นกัน แต่ที่ตำบลศรีคีรี อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย เรียกว่า ลั่ว

ลักษณะของพลั่วในส่วนปลายที่ใช้สำหรับตักเมล็ดข้าวเปลือก จะใช้เครื่องมือเช่นจิ่วเจาะลึกเป็นรางประมาณ 1 นิ้ว คล้าย ๆ ช้อน แต่ส่วนปลายสุดจะไม่งอนเหมือนช้อน การเลือกไม้มาทำพลั่ว ชาวบ้านมักจะเลือกไม้สัก เพราะค่อนข้างเบา ตกแต่งง่าย หากไม่มีไม้สัก ใช้ไม้ประดู ไม้แดง ไม้มะค่า หรือไม้เนื้อแข็งอื่น ๆ ก็ได้ ไม้ที่นำมาทำพลั่วจะเป็นไม้แผ่นยาวประมาณ 2 เมตรหนาประมาณ 15 เซนติเมตร ตัวพลั่วที่ตักข้าวสำหรับสาดจะกว้างประมาณ 2 เมตร เหลาและไสกบกลม ๆ เหมือนด้ามพาย วิธีใช้พลั่ว มือจะจับที่ด้ามพลั่วใช้ปลายพลั่วที่เป็นรางหรือส่วนเว้านั้น ตักเมล็ดข้าวที่ได้จากการทุบฟ่อนข้าว และการนวดข้าวซึ่งกองรวมอยู่ในลานข้าวเมื่อเวลามีลมพัด หรือหากไม่มีก็จะใช้วีพัดให้เกิดลมก็ได้ การใช้พลั่วตักเมล็ดข้าวเปลือกสาดให้เมล็ดข้าวลีบและเศษผลที่ไม่ต้องการออกจากกัน เวลาสาดจะสาดขวางทางลม เพื่อให้ส่วนที่ไม่ต้องการปลิวไปตามลม คงเหลือแต่เมล็ดข้าวหล่นอยู่ในลาน หากลมแรงเกินไปก็ไม่เหมาะที่สาดข้าวในเวลานั้น เพราะจะพัดเอาเอาเมล็ดข้าวเปลือกไปได้ เมล็ดข้าวลีบที่ปลิวไปไม่ไกลกองเมล็ดข้าวเปลือก ชาวบ้านจะนำใส่กระด้งฝัดอีกทีหนึ่ง ปัจจุบันการใช้พลั่วสาดข้าวมีใช้กันน้อย เพราะมีเครื่องวีข้าวที่ใช้แรงคนหมุน ต่อมาพัฒนาใช้เครื่องยนต์หมุนแทนคน และทุกวันนี้ตามพื้นบ้านมักจะมีเครื่องนวดข้าวโดยเฉพาะ เมื่อใส่ฟ่อนข้าวไปแล้ว เครื่องจักรกลจะแยกเมล็ดข้าวเปลือกเศษฟางเศษผงอื่นๆ ออกไปตามแรงลมของเครื่องยนต์ เศษผงต่างๆ จะปลิวแยกออกไปคนละช่องกับเมล็ดข้าวเปลือก

เครื่องมือการทำนา

การทำนาในอดีตใช้แรงงานจากสัตว์ คือ วัว ควาย เป็นแรงงานหลัก เครื่องมือในการทำนาที่ จัดแสดงประกอบด้วย โกรกคล้องคอควายสำหรับ ลากไถ แอก คราด ไถ ไม้คานหาบข้าวไม้คานหลาว คันฉายส่งฟาง ไม้สงฟาง งอบ เคียวเกี่ยวข้าว เป็นต้น

ขอฉาย

ขอฉาย มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น คันฉาย ไม้สงฟาง กระดองหาย ดองหาย หรือดองฉาย ของฉายเป็นเครื่องมือของชาวนาชาวไร่ในการสงฟาง สงต้นถั่วในเวลานวด

ของฉายทำจากลำไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ มือจับได้รอบ ลำไม้ไผ่จะต้องแก่จัด ตัดไม้ไผ่ยาวประมาณ 2 เมตร หาลำไม้ไผ่ที่มีแขนงโค้ง ๆ และแข็งแรง เพื่อจะได้ดัดเป็นขอใช้สงฟางหรือสิ่งต่าง ๆ ได้ ส่วนแขนงที่แตกออกมาตามข้อไม้ไผ่ข้ออื่น ๆ จะเหลาให้เรียบ เหลือเพียงแขนงที่ทำเป็นขอเท่านั้น เหลาปลายขอสำหรับสงฟางหรือเกี่ยวให้แหลม การที่ทำให้ขอโค้งขอตามความต้องการ ชาวนาจะใช้ขอลนไฟแล้วค่อย ๆ ดัด จนขอไม้ไผ่นั้นโค้งตามต้องการ แขนงไผ่ที่แตกมาตามข้อเพื่อทำเป็นขอบางที่หายาก ก็จะใช้เหล็กมาดัดเป็นขอแทน โดยใช้เหล็กส่วนที่เป็นโคนตอกเข้าไปในรูไม้ไผ่ หรือใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นด้ามถือก็มี ตัวขอจะแน่นยิ่งขึ้นถ้าใช้ครั่งลนไฟเชื่อม พอครั่งเย็นจะยึดเหล็กที่ทำเป็นขอจนแน่น ปลายเหล็กเป็นขอเผาไฟให้แดงใช้ค้อนทุบให้แหลมคม บางทีก็ใช้ตะไบถู การใช้ขอฉายจะใช้ในเวลานวดข้าว หรือนวดถั่ว การนวดในสมัยก่อนจะใช้ควายหลาย ๆ ตัว เดินวนไปตามฟ่อนข้าวหรือฟ่อนถั่ว พอจะคาดคะเนว่าเมล็ดข้าวเปลือกหรือถั่วร่วงหล่นจากรวงมากแล้ว ก็จะใช้ขอฉายส่วนเป็นขอสงฟางสงตัวถั่วกลับไปมา เพื่อให้เมล็ดข้าวเปลือกหรือเมล็ดถั่วหล่นมากองที่ลาน หากควายเดินเหยียบจนเมล็ดออกจากรวงหมดแล้ว ก็ใช้ขอฉายสงฟางออกให้หมด จะเหลือข้าวเปลือกกองในลานเท่านั้น ข้าวเปลือกกองอยู่อาจมีเศษฟาง เศษข้าวลีบปนอยู่ จะนำไปวีข้าว หรือใช้พลั่วสาดข้าวอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะขนเก็บขึ้นยุ้งฉาง

ปัจจุบันการใช้ขอฉายหรือคันฉาย สำหรับสงฟางไม่ค่อยมีใช้กันแล้ว เพราะมีเครื่องจักรกลทันสมัย พอใส่ฟ่อนข้าวเปลือกลงไป จะแยกเมล็ดข้าวเปลือกออกจากรวงข้าวได้เลย ข้าวเปลือกจะไหลมากองรวมอีกที่หนึ่ง ส่วนฟางข้าวจะปลิวไปกองอีกส่วนหนึ่ง

การเก็บรักษาขอฉายให้คงทนควรลนไฟบ่อย ๆ เพราะจะเป็นการป้องกันตัวมอดกัดกิน เนื้อไม้

คราด

คราด เป็นเครื่องมือใช้สำหรับการทำนาชนิดหนึ่ง โดยใช้ครูดกับดินที่ไถแล้วให้ก้อนดินแตกละเอียด ก่อนที่จะปลูกข้าวหรือหว่านเมล็ดข้าวเปลือก

ตัวคราดจะทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้เต็ง ไม้มะค่า ไม้ตะเคียน เป็นต้น คราดมีส่วนประกอบ แม่คราด ลูกคราด มือคราด และคันคราด ส่วนที่เป็นแม่คราดทำจากแผ่นไม้ค่อนข้างหนาประมาณ 2 – 4 นิ้ว หน้ากว้างประมาณ 15 – 25 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 – 4 เมตร ใช้กบไสให้ผิวไม้ที่เป็นแม่คราดเรียบ เจาะรูด้วยสว่านให้รูกว้างพอที่ลูกคราดจะสอดใส่ไปได้ การเจาะรูในตัวแม่คราดให้ทะลุไม้ด้านบน การเจาะรูใส่ลูกคราดจะเว้นระยะห่างพอสมควร คราดอันหนึ่งเจาะรูใส่ไว้ประมาณ 10 – 15 ลูก ถ้าคราดใช้เทียมวัวเทียมควายตัวเดียว คราดจะมีขนาดเล็ก ลูกคราดจะมีน้อย แต่ถ้าเทียมวัวเทียมควาย 2 ตัว คราดยาว ลูกคราดมีมากขึ้น

ส่วนที่เป็นลูกคราด เหลาให้เป็นซี่ ๆ มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร โคนลูกคราดโต ปลายที่ครูดกับดินเรียวแหลมตอกโคนลูกคราดสอดกับรูที่เจาะไว้ในตัวแม่คราด รูที่เจาะจะใช้สิ่วตกแต่งรูให้เป็นสี่เหลี่ยม โคนลูกคราดถากเป็นสี่เหลี่ยมด้วย หากใส่ลูกคราดไปในรูที่เตรียมไว้ไม่แน่นพอ ต้องใช้ลิ่มตอกแซมให้แน่น บางแห่งลูกคราดอาจใช้เหล็กท่อนยาวแทนไม้

มือคราด หรือที่จับคราดจะทำเป็นคันยาวเกือบเท่าตัวแม่คราด เจาะรูแม่คราดไว้ 2 รู ใช้ไม้ 2 ท่อน ตั้งเป็นเสาเข้าเดือยกับไม้ที่เตรียมไว้เป็นที่เป็นมือจับ มือจับคราดมักเหลาให้กลมเพราะจะได้ไม่เจ็บมือ

คันคราดจะใช้ไม้ไผ่ เช่น ไม้รวก หรือไม้เลี้ยงที่แก่จัด 2 ลำ ยาวประมาณ 3 – 5 เมตร ใช้ไม้ส่วนโคนใส่ในรูที่เจาะไว้ตัวแม่คราด 2 รู ตอกลิ่มให้แน่น ส่วนปลายคันคราดใช้ลิ่มเจาะรูไม้ไผ่ยึดติดกันเป็นรูปชายธง

เวลาใช้คราดผูกเส้นหนัง เช่น หนังวัว หนังควาย ที่ทำเป็นเกลียวเชือก เรียกว่าหนัง หัวคราด หรือเส้นเชือกใหญ่ผูกติดที่ปลายคันคราด เพื่อมัดบริเวณที่กึ่งกลางแอก

วิธีใช้ ใช้ลูกคราดครูดกับดินที่ไถให้ร่วนซุย หากจะใช้คราดครูดดินให้ลึกต้องใช้แรงคนกดลงไปที่มือจับคราด หรืออาจใช้เท้าเหยียบตัวแม่คราดก็ได้ นอกจากคราดจะทำให้ดินละเอียดแล้ว คราดยังสามารถปรับพื้นดินให้สม่ำเสมอกันได้ เช่น ถ้าคราดไปถึงพื้นดินที่เป็นแอ่ง เป็นหลุมก็จะกดคราดเอาดินไปทิ้งไว้บริเวณนั้น ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีการใช้คราดไม้กันแล้ว เพราะได้มีการใช้เหล็กประดิษฐ์เป็นคราดเหล็กแทน และยิ่งมีรถไถนาชนิดเดินตามซึ่งใช้กันโดยทั่วไป จะมีผาลหรือจานซอยดินให้ละเอียดอยู่แล้ว การใช้คราดจึงไม่ค่อยมีความจำเป็นต่อไป

คานหลาว

คานหลาว หรือไม้คันหลาว ใช้สำหรับเสียบตรงกลางฟ่อนข้าวเพื่อใช้หาบ การที่จะใช้กระบุงแล้วใช้ไม้คานหาบฟ่อนข้าวนั้น หาบได้ครั้งละไม่กี่ฟ่อนก็เต็มกระบุงแล้ว การใช้คานหลาวจึงมีความเหมาะสมกว่าเพราะหาบได้ทีละหลาย ๆ ฟ่อน

ไม้ที่ทำเป็นคานหลาวใช้ไม้ไผ่ลำตรง ๆ คานหลาวแต่ละอันมีความยาวประมาณ 2 เมตร ชาวบ้านจะนำไม้ไผ่ไปผึ่งแดดให้แห้งหรืออาจลนไฟก็ได้ เหลาข้อไม้ไผ่ให้เรียบไม่ให้มีเสี้ยน จากนั้นจะใช้มีดเสี้ยมปลายไม้ไผ่ทั้งสองข้าง ตรงส่วนล่างที่ตอกมัดข้าวหรือบางแห่งก็ใช้ต้นข้าว มัดขมวดไว้ไม่ให้หลุด ซึ่งเรียกกันว่า เคน็ดข้าว ปากฉลามทั้ง 2 ข้างจะมีความยาวประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร

คานหลาวใช้หาบฟ่อนข้าวไปที่กองข้าว ซึ่งรวมกันไว้เป็นกองใหญ่ ๆ ที่ใดที่หนึ่ง เพื่อจะใช้เกวียนหรือรถบรรทุกฟ่อนข้าวไปลานนวด หากลานข้าวอยู่ใกล้ ๆ ก็จะใช้หาบไปเลย นอกจากใช้หาบฟ่อนข้าวแล้วชาวนายังใช้หาบแฝก หญ้าคา และฟ่อนหญ้า ถ้าใช้ไม้ไผ่ต้นแก่จัดทำคานหลาวรวมทั้งเก็บรักษาให้ดี ไม่มีมอดกัดแล้วคานหลาวจะใช้ได้ระยะเวลานาน ๆ ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ปัจจุบันคานหลาวไม่ค่อยมีใช้ในหมู่ของชาวนา เพราะหมดความจำเป็นไปทุกขณะ ไม่ต้องหาบข้าวไปไกล ๆ ให้หนักและเหนื่อยแรง จะมีรถนวดข้าวมาจอดที่กองรวมข้าวในนา แล้วนวดออกมาเป็นเมล็ดข้าวเปลือกในทันทีทันใด

เครื่องสีข้าว เครื่องสีข้าว เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับสีข้าวเปลือกให้ร่อนออกจากเมล็ด ซึ่งเรียกว่า ข้าวกล้อง แล้วนำไปใส่ครกตำทำให้ข้าวขาวเป็นข้าวสาร วิธีใส่ครกตำเรียกว่าซ้อมข้าว การสีข้าวมีวิธีการคล้ายโม้แป้ง เครื่องสีข้าวสานด้วยผิวไม้ไผ่เป็นรูปทรงกระบอกมีขอบสูงทำเป็นถาดรอง ข้าวกล้อง ส่วนประกอบที่สำคัญ 5 ส่วน คือ ท่อนฟันบน ท่อนฟันล่าง แกนหมุน ไม้คาน และ คันโยก ท่อนฟันบน สานด้วยผิวตอกไม้ไผ่เป็นรูปทรงกลมสูงประมาณ 50 เซนติเมตร วัดเส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ใช้ไม้เนื้อแข็งขนาดไม้แปรขวางเป็นไม้คาน ให้ปลายไม้ทะลุผิวไม้ไผ่ที่สานท่อนฟันบนออกมาข้างละ 25 เซนติเมตร ไม้คานที่โผล่จะเจาะรูให้ทะลุเพื่อให้สลักคันโยก ซึ่งมีเดือยสอดไว้สำหรับโยกให้หมุนไปโดยรอบ ใช้ดินเหนียวอัดให้แน่นพรมด้วยน้ำเกลือเพื่อให้ดินรัดตัวแน่นขึ้น และป้องกันปลวกไม้ให้เข้าไปกัดกินเครื่องสีข้าวด้วย ตรงศูนย์กลางท่อนฟันบนทำเป็นรูกลวงไว้ เมื่อเทข้าวเปลือกลงไปภายในท่อนฟันบน เวลาท่อนฟันบนหมุนข้าวเปลือกจะไหลลงไประหว่างท่อนฟันบนและท่อนฟันล่างซึ่งทำ ขบกันอยู่ ฟันบนและฟันล่างที่ใช้เสียดสีเปลือกข้าวแตกออกจากเมล็ดจะทำด้วยแผ่นไม้แข็ง บาง ๆ สลับกับดินเหนียวคลุกแกลบอันจนแน่นหลาย ๆ ซี่จนรอบท่อนฟันบนและฟันล่าง ท่อนฟันล่าง สานด้วยผิวตอกไม้ไผ่ทำเป็นถาดขอบสูงรองรับข้าวกล้องที่สีแล้ว เจาะรูให้ไหลลงมาที่กระบุงหรือถังรองรับตรงกลางท่อนฟันล่างอัดดินเหนียว พรมด้วยน้ำเกลือเช่นกัน ทำฐานรองรับท่อนฟันล่าง แกนหมุน ทำไม้แกนหมุนไว้ตรงศูนย์กลางของท่อนฟันล่างอัดดินรัดให้แน่น แกนหมุนจะเป็นเดือยสอดรูทะลุถึงไม้คานที่ขวางไว้ ไม้คาน ทำด้วยไม้เนื้อแข็งขนาดไม้แปร ยาวประมาณ 2 เมตร ขวางท่อนฟันบนเจาะรูปลายไม้เมื่อสอดสลัดคันโยก คันโยก ใช้ลำไม้ไผ่โต ๆ ทำเป็นคันโยกมีมือจับเจาะรูปลายไม้คันโยกทำสลักเดือยสอดกับรูไม้คาน

การสีข้าวจะใส่ข้าวเปลือกเข้าไปในส่วนลึกเว้าของท่อนฟันบน ใช้มือโยกหมุนเวียนไปด้านขวามือของผู้หมุน จนได้เป็นข้าวกล้องแล้วนำมาซ้อมข้าวให้ขาวเพื่อเก็บไว้สำหรับหุงกินต่อไป

เคียว

เคียว เป็นเครื่องมือสำหรับเกี่ยวข้าว เกี่ยวถั่ว และเกี่ยวหญ้าต่างๆ แต่จุดประสงค์ที่สำคัญคือ ใช้เกี่ยวรวงข้าวเป็นหลัก

เมื่อชาวนาปักดำต้นกล้าจนกระทั่งออกรวง และเมล็ดแก่จัดรวงข้าวเหลืองไปทั่วทุ่งนา แล้วใช้ท่อนไผ่ยาว ๆ นวดข้าวให้ล้มไปทิศทางเดียวกัน จะได้ใช้เคียวเกี่ยวข้าวได้สะดวก ข้าวไม่พันกัน เคียวเกี่ยวข้าวมีหลายแบบ เช่น

เคียวกระสา ลักษณะรูปเคียวโค้งเป็นวงกว้างเหมือนคอนกกระสา เหมาะสำหรับเกี่ยวข้าวซึ่งใช้วิธีปักดำ เพราะต้นข้าวแบบปักดำต้นข้าวจะกอใหญ่ จึงจำเป็นต้องใช้เคียววงกว้าง

เคียวกระยาง ลักษณะรูปเคียวโค้งเป็นวงแคบกว่าเคียวกระสา วงเคียวที่แคบกว่านี้เหมือนคอนกกระยาง ใช้เกี่ยวข้าวนาดำและนาหว่านซึ่งกอข้าวไม่ใหญ่นัก จะทำด้ามจับยาวและนิยมใช้กันมากที่สุด

เคียวงู ลักษณะปลายเคียวเหมือนหัวงู วงเคียวแคบกว่าเคียวกระยาง มีคอคอดตรงคองู เหมาะสำหรับเกี่ยวข้าวฟ่างและรวงข้าวที่พันกันยุ่งไม่เป็นระเบียบ จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้าวทีละรวงในบางครั้ง เคียวงูจะทำด้ามงอ เพื่อให้มือจับได้ถนัดมีแรงดึงได้มาก ปกติมักใช้เกี่ยวข้าวฟ่าง มากกว่า เพราะต้นข้าวฟ่างค่อนข้าวเหนียว

เคียวขอ ส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดพิจิตร คงได้รับอิทธิพลมาจากเคียวเกี่ยวข้าวของจังหวัดแถบภาคอีสาน และประเทศกัมพูชา เป็นต้น เคียวขอบางทีก็เรียกว่า “กรูด” เคียวขอจะใช้กิ่งไม้หรือรากไม้เนื้อแข็ง ซึ่งมีลักษณะโค้งงออยู่แล้วถากและเหลาให้เรียบ ให้ส่วนเป็นขอมีความโค้งเป็นวงกว้างมาก เสี้ยมปลายให้แหลม ขอนี้จะใช้สำหรับกวาดต้นข้าวให้มารวมกัน เมื่อจับรวงข้าวได้แล้วจะพลิกเคียวซึ่งอยู่ตรงข้ามกับขอมาเกี่ยวรวงข้าว แล้วใช้ขอด้านล่างกองรวม ใช้มือจับประคองฟ่อนรวงข้าวให้ไปกองอยู่รวมกันเพื่อผูกมัดด้วยตอกหรือซังต้น ข้าวมัดเป็นฟ่อน

ไถ

ไถ เป็นเครื่องมือประกอบการทำนาทำไร่ ใช้ควายหรือวัวลากเพื่อกลับดิน แล้วใช้คราดหรือขลุบทำดินที่ไถไว้ให้ก้อนเล็กลง เพื่อเพาะปลูกพืชได้สะดวก

การใช้ไถของชาวบ้านในเขตหัวเมืองฝ่ายเหนือ มักใช้ไถเดี่ยวมากกว่าไถคู่ ที่เรียกว่าไถเดี่ยวเพราะใช้ควายลากไถนาเพียงตัวเดียว เหตุที่นิยมใช้ควายลากเพราะว่ามีความแข็งแรงไม่กลัวฝนที่ตกอยู่เสมอ หากใช้วัวเตรียมดินเพาะปลูก มักใช้วัวเป็นคู่สำหรับเตรียมลากคราดและขลุบ

ไถมีส่วนประกอบ คือ

คันไถ เป็นส่วนโค้งงอนเสียบเข้าเดือยกับหางยาม ไม้ที่นำมาทำคันไถจะใช้ ไม้แดง ไม้ประดู่ และไม้ชิงชัน โดยใช้เลือกกิ่งต้นที่มีลักษณะโค้งงอคล้ายรูปคันไถอยู่แล้ว ใช้ขวานถากไม้ให้มีขนาดเล็กลง ใช้บุ้งและกระดาษทรายขัดเนื้อไม้ให้เรียบ ปลายคันไถมักทำเป็นรูปดอกบัวตูม เจาะรูส่วนปลายเพื่อร้อยเชือกหนังมัดกับแอกน้อยให้ควายลากไถ

หางยาม เป็นส่วนที่เข้าเดือยกับคันไถซึ่งใช้ลิ่มตอกให้สนิทและแน่น โดคนไม้หางยามจะเข้าเดือยกับหัวหมู ส่วนปลายหางยามถากและเหลาเล็กลง ปลายงอเป็นมือจับเวลาไถนา

หัวหมู เป็นส่วนฐานวางติดพื้น มีรูปร่างเหมือนหัวหมู หลายหัวหมูด้านหน้า ถากเป็นเดือยสอดเข้ากับผาลไถนา ก่อนใส่ผาลกับหัวหมูจะเคี่ยวครั่งจนเหลว ทาครั่งร้อน ๆ บนผิวไม้ หัวหมูประกบกับผาลเหล็ก เมื่อครั่งเย็นจะทำให้ผาลและหัวหมูยึดติดกันแน่น

คอม เป็นไม้โค้งวางพาดคอควายหรือวัว เพื่อมัดเชือกปลายคอม 2 ด้าน ชาวบ้านเรียกว่า “เชือกค่าว” นำปลายเชือกไปมัดกับปลายแอกน้อยอีกทอดหนึ่ง

แอกน้อย เป็นไม้ท่อนสั้นประมาณ 50 เซนติเมตร เจาะรูกึ่งกลางแอกน้อยเพื่อร้อยเชือกหนังหรือหวาย ปลายแอกน้อย 2 ข้าง ควั่นรอยลึกสำหรับผูกเชือกค่าวให้ควายดึงไดไปข้างหน้า

การไถนา ใช้วัว ควาย ลากไถกลับดินเตรียมเพาะปลูกเหมือนสมัยก่อน เริ่มหาดูได้ยากขึ้นเป็นลำดับ เพราะเปลี่ยนมาใช้รถไถนาชนิดเดินตามเกือบหมด วัว ควายที่เลี้ยงไว้พลอยลดน้อยลงไปด้วย แม้จะหาปุ๋ยคอกหรือมูลวัว มูลควาย มาใช้ทาหรือยาลานวัวนวดข้าวยิ่งหาลำบากขึ้น ไถซึ่งเคยใช้ก็กลายเป็นเศษฟืนก่อไฟไปเกือบหมดแล้ว

ระหัด

ระหัด เป็นเครื่องชักน้ำหรือวิดน้ำ ทำด้วยไม้เป็นรางใช้มือหมุน และใช้ถีบด้วยเท้าก็มี

การเกษตรกรรมโดยทั่วไปต้องอาศัยน้ำสำหรับทำการเพาะปลูก โดยเฉพาะการทำนาต้องมีน้ำแช่ต้นข้าวจนกระทั่งข้าวออกรวง ชาวนาจะปลูกข้าวในฤดูฝนปีละครั้ง เรียกว่า ข้าวนาปี แต่เมื่อมีการชลประทานดีขึ้นจะปลูกข้าวนอกฤดูฝนอีกด้วย ซึ่งเรียกว่า นาปรัง การใช้ระหัดวิดน้ำมีความสำคัญต่อการทำนาในสมัยก่อนมาก เพราะเมื่อฝนตกชุกน้ำในแม่น้ำลำคลองจะมีระดับสูงขึ้น หากแปลงนาซึ่งทำคันไว้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้มากพอ สำหรับการเพาะปลูกแล้ว ชาวนาจะใช้ชงโลงหรือระหัดวิดน้ำเข้าแปลงนา การใช้ชงโลงอาจวิดน้ำได้ครั้งละไม่มากนัก และหนักแรงพอสมควร ดังนั้นจึงได้คิดวิธีวิดน้ำหรือชักน้ำโดยการใช้ระหัดขึ้น

ระหัด มักทำด้วยไม้สัก มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ รางน้ำ ใบระหัด เพลา และมือหมุน

รางน้ำ ใช้ไม้สักทำเป็นโครง มีความยาวประมาณ 5 – 6 เมตร ใช้ไม้แผ่นบาง ๆ ตีประกบทั้ง 2 ข้าง ให้รางน้ำซีกข้างบนโปร่ง ด้านล่างตีไม้ทึบ รางน้ำมีความสูงประมาณ 40 – 50 เซนติเมตร

ใบระหัดหรือใบพัด ตัดไม้แผ่นบางเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 30 – 40 ใบ ความกว้างประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 12 – 15 เซนติเมตร เข้าเดือยใบระหัดแต่ละใบโดยใช้สลักตอกให้แกนใบยึดซึ่งกันและกัน ใบระหัดจะยึดคล้องกันดุจลูกโซ่ มีความยาวเป็น 2 เท่า ของรางน้ำ

เพลา ทำเป็นท่อนไม้วงกลมใช้ไม้หรือเหล็กเป็นแกน เจาะรูหลวม ๆ ให้หมุนได้สะดวก มีเหลาด้านปลายรางน้ำ 2 เพลา ทำเป็นลักษณะคล้ายฟันเฟือง เพื่อให้ใบระหัดกับฟันเฟืองสับกันไปมา สามารถชักดึงให้ใบระหัดเคลื่อนหมุนได้

มือหมุน มือหมุน 2 ข้างจะทำเป็นแกนมีที่จับ เจาะรูยึดกับแกนเพลา ใช้หมุนโดยการดึงสลับข้างกัน เวลาใช้จะวางระหัดด้านปลายจุ่มไปในน้ำให้เอียงทอด ดึงมือหมุนทีละข้างสลับกันไปเรื่อย ๆ แกนเพลาเมื่อหมุนแล้วจะทำให้ฟันเฟืองและใบระหัดหมุนตาม ใบระหัดจะพุ้ยน้ำหรือตักน้ำขึ้นมาในรางและไหลออกตรงช่องมือหมุน การวิดระหัดอาจใช้คนเดียวหรือ 2 คน ช่วยกันหมุน ซึ่งทำให้ผ่อนแรงได้มาก

การใช้ระหัดวิดน้ำนอกจากใช้เพื่อการเพาะปลูกแล้ว ยังใช้วิดน้ำหาปลาได้อีกด้วย ขณะนี้ไม่นิยมใช้ระหัดวิดน้ำแล้ว เพราะเกษตรกรหันมาใช้เครื่องสูบน้ำเข้ามาแทน

ระหัดวิดน้ำอาจมีขนาดสั้นและยาวตามความต้องการของผู้ใช้

ครกไม้

ครกไม้ มีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น ครกซ้อมมือ ครกตำข้าว เป็นต้น ครกไม้เป็นของใช้สำหรับตำข้าวเปลือก ตำงา ตำถั่ว ตำแป้ง ตำข้าวเม่า แต่ส่วนใหญ่ในสมัยก่อนมุ่งใช้เพื่อตำข้าวเปลือกเป็นหลัก เพราะสมัยนั้นยังไม่มีโรงสีข้าวเหมือนในปัจจุบัน ชาวบ้านจึงต้องหาวิธีตำข้าวเปลือกให้เป็นเมล็ดข้าวสารไว้หุงกิน จึงคิดประดิษฐ์ครกไม้ขึ้นมา

ครกไม้จะใช้ท่อนไม้ใหญ่ทั้งลำต้น มักเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้มะค่า ไม้พะยอม ฯลฯ ชาวบ้านตัดท่อนไม้ยาวประมาณ 1 เมตร ตัดหัวตัดท้ายให้ผิวราบเรียบเสมอกัน เพราะเมื่อเวลานำครกตั้งไว้จะได้ตั้งได้ตรงไม่กระดกเอียงไปมาได้ จากนั้นเจาะส่วนตรงกลางด้านบนของท่อนไม้ให้เว้าลึกลงไปเหมือนครกหิน การเจาะลึกจะใช้ขวานโยนฟันและค่อย ตกแต่งไปเรื่อย ๆ ให้ปากครกกว้าง ก้นครกลึกสอบเข้าเป็นหลุมลึกประมาณ 50 เซนติเมตร

เมื่อทำครกเสร็จแล้วต้องทำสากซึ่งทำได้ 2 วิธีการ

1. ทำสากมือชนิดใช้ไม้ท่อนเดียวกลม ๆ ยาวประมาณ 2 เมตร เหลาให้คอดกิ่ว ตรงกลาง เพื่อเป็นมือจับปลายสาก 2 ข้างมนใช้สำหรับตำข้าว

2. ทำสากชนิดใช้ไม้ 2 ท่อน คือ ท่อนหนึ่งสำหรับตำ อีกท่อนหนึ่งเป็นมือจับ เรียกว่า สากโยนหรือสากมือ

การตำสิ่งของต่าง ๆ เช่น ตำข้าว ตำงา ตำพริก ตำแป้งขนมจีน และอื่น ๆ อาจตำคนเดียว หรือ 2 – 3 คนก็ได้ ถ้าตำหลายคนต้องตำสลับกัน เมื่อตำสิ่งของละเอียดจะมีคนคอยใช้มือกลับไปกลับมาให้ตำทั่วถึงกัน ในปัจจุบันครกดังกล่าวนี้นับวันจะหมดไป เพราะความไม่สะดวกในการใช้ ยังมีใช้อยู่บ้างตามแถวชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญ

ไม้หนีบ

เป็นไม้คู่หนึ่งใช้หนีบมัดรวงข้าวเพื่อยกข้าวฟาดลงบนลานหรือม้ารองนวดข้าว หัวไม้ผูกติดกันด้วยเชือก

พัดวี

ใช้สำหรับพัดฝุ่นผงและข้าวลีบให้ออกจากกองข้าวเปลือก

กระด้ง

เครื่อง มือฝัดข้าวที่ตำแล้ว เพื่อฝัดเอาแกลบหรือลำ ที่ยังปนอยู่กับข้าวสารออก เป็นเครื่องมือจักรสานชนิดหนึ่งที่ทำจากไม้ไผ่ ขอบกระด้งทำด้วยไม้ไผ่ขดเป็นวงรี ถักติดกับลายสานด้วยหวายกระด้งนอกจากฝัดข้าวสารแล้ว ยังใช่เป็นเครื่องใช้ฝัดข้าวเปลือก หรือเมล็ดพันธุ์อย่างอื่นได้ด้วย

เครื่องสีฝัด

เครื่อง ฝัดข้าวเปลือกเพื่อแยกเมล็ดข้าวที่ไม่มีเนื้อหรือลีบ (ขี้ลีบ) ออกจากเมล็ดข้าวดี ๆ มีลักษณะเป็นกล่อง มีขา 4 ขา ด้านหนึ่งกลมมน อีกด้านหนึ่งโปร่ง ด้านบนมีที่สำหรับใส่ข้าวเปลือกเพื่อให้ไหลลงสู่ตะแกรงเหล็กห่างๆ ด้านหน้ามีใบพัดเมื่อหมุนด้วยมือหรือเครื่องจะพัดลงออกไปทางด้านหลัง ที่ลีบจะปลิวออกไป ข้าวที่มีน้ำหนักดีจะตกลงไปยังรางที่รองอยู่ด้านล่าง ไหลลงไปด้านหน้าของสีฝัด