สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา

คำนิยม : นายวีระชัย ภู่เพียงใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์

คำนำเสนอ : รองศาสตราจารย์ ดร.จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ

สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา :

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

กับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา

อนุสรณ์ ๒๔๕ ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา

ธีระวัฒน์ แสนคำ

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

วิทยาลัยสงฆ์เลย

จัดพิมพ์เผยแพร่โดย

สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม

และโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก

ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี

(วัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์)

-

สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา :

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา

อนุสรณ์ ๒๔๕ ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา

ISBN 978-616-543-334-1

จัดพิมพ์โดย สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม

ที่ปรึกษา พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ นายวีระชัย ภู่เพียงใจ

นายศักดิ์ตระกูล เลี้ยงประเสริฐ นายภีมเดช อมรสุคนธ์

ผู้ทรงคุณวุฒิ รองศาสตราจารย์ ดร. จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ

ผู้เขียน นายธีระวัฒน์ แสนคำ

บรรณาธิการ พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี

กองบรรณาธิการ นางสาวชลธิชา แถวบุญตา นายมรุเดช ไทยดิตถ์

นางสาวชุลีพร แสนคำ นายบัญชา ไทยมา

ภาพประกอบ พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี นายธีระวัฒน์ แสนคำ

หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร นายอิทธิพล ภู่สุนทร

ลิขสิทธิ์ อนุญาตการใช้ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons

พิสูจน์อักษร/ออกแบบปก พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี

พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน ๒๕๕๘ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลทางบรรณานุกรมของหอสมุดแห่งชาติ

National Library of Thailand Cataloging in Publication Data

ธีระวัฒน์ แสนคำ,

สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ ๒๔๕ ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา.-- อุตรดิตถ์ :

สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๕๘.

๑๔๙ หน้า.

๑. วัดคุ้งตะเภา. ๒. อุตรดิตถ์--ประวัติศาสตร์. ๓. อุตรดิตถ์--สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. I. ชื่อเรื่อง.

959.358

ISBN 978-616-543-334-1

คำนิยม

นายวีระชัย ภู่เพียงใจ

รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์

จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาช้านาน มีพัฒนาการสืบเนื่องเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ชาติไทย ตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ช่วงเวลารอยต่อระหว่างการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง-กรุงธนบุรี ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในจังหวัดนี้ คือการรวมกลุ่มของชุมนุมเจ้าพระฝาง ซึ่งมีความเชื่อมโยงระหว่างประวัติศาสตร์ชาติกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แสดงให้เห็นบทบาทของพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญยิ่งต่อการเป็นศูนย์หลอมรวมทางจิตใจ และส่งผลต่อความเป็นปึกแผ่นของแผ่นดินไทยในอดีตกาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหาบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าที่มีต่อชาวอุตรดิตถ์ ในฐานะพระราชกรณียกิจสุดท้ายแห่งการรวมชาติไทย เพื่อสถาปนา “สยามประเทศอันเป็นหนึ่งเดียว” ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ผู้ซึ่งพระยาพิชัยดาบหัก วีรบุรุษของชาวอุตรดิตถ์ ขุนศึกคู่พระบารมีแห่งพระองค์ ได้น้อมสละแม้ซึ่งชีวิตเป็นราชพลี ถวายความจงรักภักดีแด่พระองค์จวบจนวาระสุดท้าย

หนังสือเล่มนี้ เป็นผลงานการศึกษาที่ผ่านการตรวจสอบหลักฐานโดยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักคิดทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้อ่านได้เห็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ หวังว่า หนังสือเล่มนี้จะสามารถทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และสร้าง ความกระจ่างต่อวงการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองอุตรดิตถ์ได้ตามสมควร

นายวีระชัย ภู่เพียงใจ

รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์

คำนำเสนอ

เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์กรณีการทำสงครามปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางแห่งเมืองสวางคบุรีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในปี พ.ศ.๒๓๑๓ นั้น อาจเป็นเรื่องที่คุ้นชินสำหรับนักเรียนนักศึกษาและผู้สนใจประวัติศาสตร์ แต่ทว่ากลับยังไม่มีงานทางวิชาการที่ศึกษาและอธิบายเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้เป็นการเฉพาะ

งานศึกษาค้นคว้าเรื่อง “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา” ซึ่งเกิดขึ้นจากความวิริยะอุตสาหะของอาจารย์ธีระวัฒน์ แสนคำ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์เลย จึงเป็นงานวิชาการสำคัญที่ทำให้เราได้เข้าใจเหตุการณ์ครั้งนี้ละเอียดยิ่งขึ้น ผ่านการรวบรวม วิเคราะห์และเรียบเรียงเนื้อหาที่ใช้ทั้งหลักฐานจากส่วนกลางและหลักฐานจากท้องถิ่น สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งก็คือ นอกจากจะกล่าวถึงเรื่องราวพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชาติไทยควบคู่ไปกับการนำเสนอประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและข้อมูลเชิงกายภาพแล้ว ยังได้มีการนำเสนอเนื้อหาซึ่งเป็นงานวิชาการประวัติศาสตร์ที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายอีกด้วย

อาจารย์ธีระวัฒน์เป็นนักค้นคว้าทางประวัติศาสตร์รุ่นเยาว์ อายุยังน้อย แต่มีผลงานด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีและชื่นชม ทั้งยังให้ความสำคัญกับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นหลัก เราจึงได้เห็นความก้าวหน้าทางวิชาการที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่วงการศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

นี่คือ ตัวอย่างของงานวิชาการประวัติศาสตร์ที่ควรสนับสนุนให้แพร่หลายไปทั่วท้องถิ่น

รองศาสตราจารย์ ดร.จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ

อดีตหัวหน้าสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Ph.D. (History) Monash University

สาส์น

ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์

จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย แม้จะเป็นจังหวัดที่ไม่มีขนาดใหญ่โตมากในเชิงเศรษฐกิจ แต่ก็อยู่ในจุดยุทธศาสตร์เส้นทางการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมของผู้คนมาแต่โบราณกาล ทำให้อุตรดิตถ์มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมถึงสามกลุ่มวัฒนธรรมหลัก คือ วัฒนธรรมแบบไทยสยาม (สำเนียงภาษาถิ่นสุโขทัย) วัฒนธรรมแบบล้านนาตะวันออก (ภาษาถิ่นคำเมือง) และวัฒนธรรมแบบล้านช้าง (สำเนียงแบบหลวงพระบาง, เวียงจันทน์, ไทพวน) และแม้อุตรดิตถ์จะดำรงวิถีวัฒนธรรมภายใต้ความหลากหลาย แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ยึดโยงอยู่ภายใต้ความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในแทบทุกอณูของวิถีชีวิต

หากมองย้อนไปสู่อดีต การเคลื่อนย้ายของผู้คนมาสู่ดินแดนอุตรดิตถ์อันอุดมสมบูรณ์นี้ มีมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งการทำสงครามและความขัดแย้งในระดับรัฐชาติ ส่งผลสำคัญต่อปัจจัยดังกล่าวด้วยประการหนึ่ง การทำความเข้าใจถึงความเป็นมาของเรื่องราวในอดีต ย่อมสามารถทำให้เราเข้าใจถึงที่มาที่ไปของบรรพบุรุษ เพื่อร่วมกันเข้าใจในบริบทและความจำเป็นของบรรพชนที่ต้องแสวงหาวิถีเพื่อความอยู่รอดทั้งในทางกายภาพ จิตภาพ เพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ทุกคนสามารถหลอมรวมความสามัคคีไว้ภายใต้ “ภราดรภาพ” แห่งความเป็น “ประเทศไทย” ได้ในที่สุด

เนื่องในโอกาสที่วัดคุ้งตะเภา ก่อตั้งครบ ๒๔๕ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ประกอบกับ ทีมผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้เป็นคณะกรรมการฝ่ายศึกษาฯ พระบรมธาตุ (ทุ่งยั้ง) ได้ค้นพบเอกสารทางประวัติศาสตร์ ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองโบราณทุ่งยั้ง-สวางคบุรี ในยุคต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ จึงนำมาสู่ความสนใจศึกษาเพิ่มเติม และพบข้อเท็จจริงที่ทำให้ทราบว่า “วัดคุ้งตะเภา” เป็นอารามสำคัญยิ่ง อันเนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหาบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าของสยามประเทศ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จักได้ตีพิมพ์ข้อค้นพบนี้เพื่อเป็นการเผยแผ่พระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ต่อจังหวัดอุตรดิตถ์นี้ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

หวังว่าหนังสือนี้ จะช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงเรื่องราวของบรรพชนบนผืนแผ่นดินอุตรดิตถ์ ที่มีความเกี่ยวพันกับช่วงเวลาอันสำคัญยิ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อสร้างความแจ่มชัดถึงความเหนื่อยยากและการดิ้นรนฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการของบรรพชน เพื่อส่งต่อผืนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชื่อว่า “ประเทศไทย” ให้เราได้มีเอกราชและภาคภูมิใจในความเป็น “ไทย” มาจนปัจจุบัน

นายศักดิ์ตระกูล เลี้ยงประเสริฐ

ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์

กระทรวงวัฒนธรรม

อนุโมทนากถา

หนังสือที่ท่านกำลังถืออยู่นี้ คือประมวลเศษเสี้ยวแห่งความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของสวางคบุรี (ศูนย์กลางชุมนุมเจ้าพระฝาง) ที่ผ่านการกลั่นกรองวิเคราะห์ด้วยวิพากษวิธีทางประวัติศาสตร์ อย่างถูกต้องรอบด้าน และจะเป็นหนังสือที่เปิดพรมแดนการรับรู้ต่อปริมณฑล “สวางคบุรี” และ “คุ้งตะเภา” ชุมชนฝั่งซ้ายแม่น้ำน่านเมืองอุตรดิตถ์ ที่ถูกละเลยทอดทิ้งทางวิชาการมาตลอดห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์สยามประเทศ

หนังสือเล่มนี้ คืออนุสรณ์หนึ่งเดียวแห่งการสมโภชสถาปนาวัดคุ้งตะเภาครบ ๒๔๕ ปี สร้างธรรมทานทางปัญญาตอบแทนผืนแผ่นดินอุตรดิตถ์ ตอบแทนคุณบรรพชนผู้ก่อตั้งสถาปนาวัด ด้วยลำดับพัฒนาการก่อนจะเกิดวัดคุ้งตะเภา บ้านคุ้งตะเภา บ้านท่าเสา และจังหวัดอุตรดิตถ์ กับเรื่องราว สงคราม ศาสนา การเชื่อมโยงของผู้คน ความสำคัญอันยิ่งใหญ่ของผืนแผ่นดินแห่งบรรพชน

หนังสือเล่มเล็ก แต่อัดแน่นด้วยองค์ความรู้ ที่คู่ควรแก่การเป็นอนุสรณ์สถานทางปัญญา อนุสรณ์สมโภชการสถาปนาวัดคุ้งตะเภาครบ ๒๔๕ ปี (พ.ศ.๒๓๑๓ - ๒๕๕๘) เพื่อตอกย้ำความยิ่งใหญ่แห่งพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระผู้กอบกู้เอกราช ผู้ธำรงภราดรภาพแห่งสยามประเทศ พระผู้รวมรวมไทยให้เป็นหนึ่งเดียวหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง (พ.ศ.๒๓๑๐) ด้วยมหาศึกสมรภูมิสวางคบุรี เพื่อความบริสุทธิ์มั่นคงของพระพุทธศาสนา การสถาปนาวัดคุ้งตะเภาขึ้นในเดือน ๑๐ ปี จ.ศ.๑๑๓๒ (พ.ศ.๒๓๑๓) จึงเป็นอนุสรณ์แห่งการสิ้นสุดศึกสุดท้าย ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรวบรวมไทยให้เป็นหนึ่งเดียว

หนังสือที่จะบอกสารัตถะและเรื่องราวเกี่ยวเนื่อง แห่งผืนแผ่นดินสมรภูมิพระราชกรณียกิจสุดท้ายแห่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทำให้ทรงสามารถรวบรวมคนไทยที่แบ่งฝ่ายเป็นหลายก๊กหลายเหล่า เพื่อสถาปนาความเป็นหนึ่งเดียวของสยามประเทศได้ดุจดังเดิม

ความสืบเนื่องของสมรภูมิสวางคบุรี คือการได้รับเลื่อนยศของพระยาสีหราชเดโช ขุนศึกคู่พระทัย ผู้ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพิชัย” มีเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ อันเป็นบรรดาศักดิ์สุดท้ายของทหารเอกคู่พระบารมี ผู้ซึ่งจะได้รับสมญานาม “พระยาพิชัยดาบหัก” ในเวลาต่อมา

สมรภูมิสวางคบุรีจึงเป็นสมรภูมิสำคัญที่ทำให้เกิดนามแห่งวีรบุรุษของชาวอุตรดิตถ์ ที่ชาวอุตรดิตถ์หลายคนไม่แม้แต่จะรู้จัก หวังว่าหนังสือนี้จะเป็นหนังสือเล่มแรกที่จะช่วยเปิดพรมแดนความรู้ของปริมณฑลเมืองสวางคบุรี-คุ้งตะเภา เมืองโบราณที่ถูกลืมในแถบแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกของเมืองอุตรดิตถ์ และสามารถสร้างความชัดเจนให้แก่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองอุตรดิตถ์และประวัติศาสตร์ชาติได้ต่อไป

พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี,ดร. (มากคล้าย)

รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา,

เลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ฝ่ายการศึกษาคณะสงฆ์

น.ธ.เอก ป.ธ.๔ Mini M.B.A. น.บ. รป.ม. Ph.D.

วิสามัญสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา

คำนำผู้เขียน

ศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ.๒๓๑๐ เกิดขึ้นที่เมืองสวางคบุรีหรือเมืองฝาง ชุมชนโบราณที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ยาวนานอีกเมืองหนึ่ง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี พบว่าเมืองสวางคบุรีเป็นชุมชนเมืองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา และสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ศึกเมืองสวางคบุรี เป็นสงครามระหว่างกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี กับกองทัพเจ้าพระฝาง (เรือน) สังฆราชาเมืองสวางคบุรี ผู้ตั้งชุมนุมเจ้าพระฝางขึ้นมาหลังเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๓๑๐ และพยายามขยายอิทธิพลในหัวเมืองฝ่ายเหนือและค่อยๆ ลงไปทางใต้ จนเข้าสู่เขตพระราชอำนาจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งพยายามที่จะรวบรวมบ้านเมืองที่เคยอยู่ในศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาให้กลับมาอยู่ภายใต้อำนาจของราชสำนักกรุงธนบุรีที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้นมาแทนกรุงศรีอยุธยา และหลังสงครามครั้งนี้ก็ถือว่า เป็นการรวบรวมแผ่นดินอันเป็นประเทศไทยให้กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง จนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวของศึกดังกล่าวไม่ปรากฏรายละเอียดมากนัก หากแต่ปรากฏความสั้นๆ เพียงแค่ว่าชุมนุมเจ้าพระฝางเป็นชุมนุมของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ เป็นชุมนุมของเจ้าพระฝางผู้ซึ่งเป็นภิกษุนอกรีตที่สร้างกองกำลังส่วนตัวขึ้นมา และเป็นชุมนุมสุดท้ายที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบปรามได้สำเร็จ ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ แต่ไม่ค่อยปรากฏข้อมูลที่กล่าวถึงมูลเหตุ สถานที่และสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับศึกครั้งนี้มากเท่าใดนัก ทั้งที่เป็นสงครามครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การรวบรวมแผ่นดินในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เมื่อทราบว่าทางวัดคุ้งตะเภา และคณะกรรมการโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี (วัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์)ต้องการที่จะศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองสวางคบุรีและเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ.๒๓๑๓ เพื่อเป็นฐานข้อมูลทางวิชาการประกอบโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ แต่ยังขาดนักวิชาการที่จะศึกษาอย่างจริงจัง เมื่อผู้เขียนทราบความประสงค์ดังกล่าวและได้รับการติดต่อประสานงานมา ในฐานะนักเรียนวิชาประวัติศาสตร์จึงยินดีและเต็มใจเป็นอย่างยิ่งที่จะศึกษาและเรียบเรียงขึ้นมาเป็นหนังสือสำหรับเผยแพร่ ทั้งที่เข้าใจดีว่าในขณะที่เขียนเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนมีข้อจำกัดหลายด้าน

ดังนั้น ในการศึกษาเรียบเรียงครั้งนี้ เพื่อความสะดวกและเข้าใจง่ายของผู้อ่าน ผู้เขียนจึงไม่ใช้วิธีการนำเสนอแบบงานวิจัยหรืองานวิชาการที่ผู้เขียนเคยปฏิบัติมา แต่เนื้อหาทั้งหมดก็ยังยึดหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นต้นเป็นหลักในการศึกษาวิเคราะห์ เช่น พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เป็นต้น ประกอบกับการศึกษางานเขียนของนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เคยศึกษาไว้ และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การลงพื้นที่ภาคสนามสำรวจสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับศึกเมืองสวางคบุรีที่ปรากฏในหลักฐานชั้นต้นและคำบอกเล่าจากความทรงจำของคนในท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์) เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพการณ์ศึกเมืองสวางคบุรีมากยิ่งขึ้น

หนังสือ “สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา” เล่มนี้ ผู้เขียนได้ปรับปรุงมาจากส่วนหนึ่งของต้นฉบับหนังสือ “เมืองสวางคบุรีและวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ” ซึ่งเคยค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลไว้ในปี พ.ศ.๒๕๕๓ โดยการประสานงานของข้าราชการในพื้นที่ แต่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ขณะนี้ต้นฉบับหนังสือเมืองสวางคบุรีและวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถผู้เขียนยังเก็บรักษาไว้ หากมีผู้ที่สนใจจะนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางต่อไป ผู้เขียนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง

แม้ว่าผู้เขียนจะใช้ข้อมูลหลักฐานจากเอกสารชั้นต้นเป็นหลักในการศึกษาวิเคราะห์ ตลอดจนใช้ข้อมูลจากประสบการณ์ในการค้นคว้า รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลจากเอกสารที่มีอยู่ รวมไปถึงข้อมูลจากภาคสนามก็จริง แต่เนื้อหาอาจจะมีความตื้นเขินและขัดแย้งกับข้อมูลหลายอย่างที่มีผู้นำเสนอหรือบอกเล่าไว้ก่อนหน้า ขอให้ถือว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อสันนิษฐานใหม่ที่เกิดจากการศึกษาของผู้เขียน และขอให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณพิเคราะห์ตามไปด้วย ผู้เขียนพร้อมที่จะรับคำชี้แนะและข้อถกเถียงจากท่านผู้รู้ทั้งหลายเพื่อปรับปรุงงานให้ดีขึ้นในโอกาสต่อไป

หากหนังสือเล่มนี้สามารถทำให้ผู้อ่านนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อต่อยอดของการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทและผลกระทบในศึกเมืองสวางคบุรีอย่างละเอียด ลุ่มลึกและเป็นระบบระเบียบได้ ตลอดจนเป็นข้อมูลที่สร้างความจงรักภักดีและสำนึกในพระวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้เขียนจักมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และเต็มใจที่จะให้หนังสือเล่มนี้เป็นสะพานหรือบันไดสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการที่ถือว่า “ขาดแคลน” อย่างยิ่งในสังคมไทยปัจจุบัน

ทั้งนี้ ข้อมูลใหม่หรือข้อถกเถียงที่อาจเกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่ร่วมสร้างองค์ความรู้อันจำเป็นยิ่งสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อสร้างความยั่งยืนทางสังคมและวัฒนธรรมให้มั่นคงสืบต่อไป

ธีระวัฒน์ แสนคำ

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

วิทยาลัยสงฆ์เลย

กิตติกรรมประกาศ

กว่าหนังสือเรื่อง “สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา” จะสำเร็จลงได้ด้วยดี ผู้เขียนต้องขอกราบขอบพระคุณพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ที่ได้เมตตาให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ รวมทั้งสนับสนุนการจัดพิมพ์เผยแพร่อย่างเต็มที่

และพระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ที่ได้ให้คำแนะนำ ให้ความรู้และช่วยเหลือในการจัดหาข้อมูลในระดับพื้นที่ ออกแบบปก ตลอดจนประสานงานในการจัดทำหนังสือและการตีพิมพ์ สำหรับพระมหาเทวประภาสถือว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง จนทำให้หนังสือเล่มนี้ปรากฏสู่บรรณพิภพอย่างน่าภาคภูมิ

ขอขอบพระคุณ นายภีมเดศ อมรสุคนธ์ (ทนายอ็อด) ผู้สนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี (วัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์)

ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ และศาสตราจารย์เกียรติคุณสรัสวดี อ๋องสกุล ครูผู้แนะนำสั่งสอนการศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้แก่ผู้เขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรองศาสตราจารย์ ดร.จิราภรณ์ ยังได้เขียนคำนำเสนอที่ทรงคุณค่าให้แก่หนังสือเล่มนี้อีกด้วย

คุณครูวิเชียร-คุณครูบุญเพ็ง แสนคำ พ่อและแม่ที่คอยให้กำลังใจและให้โอกาสกับลูกได้ทำงานด้านประวัติศาสตร์ที่ลูกรักอย่างเต็มที่ ขอบพระคุณ นักปราชญ์ในท้องถิ่นจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ครูนอกห้องเรียนผู้คอยให้ข้อมูลและแนวคิดดีๆ กับผู้เขียนในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดอุตรดิตถ์

ขอขอบคุณ ที่ปรึกษาและทีมงานกลุ่มประวัติศาสตร์สองข้างทาง สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ทุกรุ่น ที่เคียงบ่าเคียงไหล่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลกับผู้เขียนมาโดยตลอด และคุณชลธิชา แถวบุญตา ที่คอยให้กำลังใจ เป็นห่วงเป็นใย คอยดูแลและเป็นเพื่อนในขณะที่จัดทำต้นฉบับ

ขอบคุณ ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และบุคลากรมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์เลย ที่เข้าใจลักษณะการทำงานทางวิชาการของผู้เขียน ให้โอกาสและกำลังใจในการเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้

อย่างไรก็ตาม ความตื้นเขินของผลงานทั้งในเรื่องเนื้อหา การวิเคราะห์และการเรียบเรียงเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว และพร้อมที่จะรับคำชี้แนะจากท่านผู้รู้ทั้งหลายเพื่อปรับปรุงงานให้ดีขึ้นในโอกาสต่อไป

เชิงภูสะนาว วิทยาลัยสงฆ์เลย จ.เลย

กฐินกาล ปีพุทธศักราช ๒๕๕๘

สารบัญ

คำนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์

คำนำเสนอ ข

สาส์นประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ ค

อนุโมทนากถา จ

สาส์นบรรณาธิการ ฉ

คำนำผู้เขียน ซ

กิตติกรรมประกาศ ฎ

ตอนที่ ๑ ความนำ ๑

ตอนที่ ๒ เมืองสวางคบุรี : สังเขปประวัติศาสตร์และพัฒนาการ ๗

ตอนที่ ๓ สภาพหัวเมืองฝ่ายเหนือหลังเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๓๑๐ ๒๐

ตอนที่ ๔ กำเนิด “เจ้าพระฝาง” ที่เมืองสวางคบุรี ๒๕

ตอนที่ ๕ การขยายอำนาจของชุมนุมเจ้าพระฝาง ๓๑

ตอนที่ ๖ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคลื่อนทัพปราบปราม

คนอาสัตย์อาธรรม ๓๖

ตอนที่ ๗ สมรภูมิศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ.๒๓๑๓ ๔๓

ตอนที่ ๘ กาลอวสานแห่งอำนาจของเจ้าพระฝาง ๕๐

ตอนที่ ๙ คุ้งตะเภา : ที่ตั้งพระตำหนักค่ายหาดสูง

ในศึกเมืองสวางคบุรี ๖๐

ตอนที่ ๑๐ การจัดการภายในเมืองสวางคบุรีหลังภาวะสงคราม ๖๘

ตอนที่ ๑๑ การชำระสิกขาบทและจัดระเบียบคณะสงฆ์

หัวเมืองฝ่ายเหนือ ๗๒

ตอนที่ ๑๒ วัดคุ้งตะเภา : สถานที่ชำระสิกขาบทคณะสงฆ์

หัวเมืองฝ่ายเหนือ ๗๖

ตอนที่ ๑๓ พระราชศรัทธาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ต่อพระมหาธาตุเมืองฝาง ๘๓

ตอนที่ ๑๔ สภาพเมืองสวางคบุรีหลังศึกเจ้าพระฝาง ๙๐

ตอนที่ ๑๕ คุ้งตะเภา : ชุมชนใหม่หลังศึกเมืองสวางคบุรี ๙๖

ตอนที่ ๑๖ ภูมินามวิทยาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวศึกเมืองสวางคบุรี ๑๐๓

บรรณานุกรม ๑๐๙

ภาคผนวก ๑๑๙

ประมวลภาพการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ๑๒๐

เกี่ยวกับผู้เขียน ๑๒๑

โครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก

ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี (วัดคุ้งตะเภา) ๑๒๓

ตอนที่ ๑

ความนำ

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ แม้จะเป็นเรื่องราวที่นำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ทางด้านประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่างในช่วงปี พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๑๓ แต่โดยเหตุการณ์ภาพรวมนั้นเป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรีกับกองทัพเจ้าพระฝางแห่งเมืองสวางคบุรี ซึ่งเมืองสวางคบุรีก็คือชุมชนโบราณที่มีศูนย์กลางอยู่บริเวณบ้านพระฝาง ตำบลผาจุก อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน และกรุงธนบุรีก็คือศูนย์กลางการปกครองในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๒๕ ของราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน

เนื้อหาที่นำเสนอจึงมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์อำนาจรัฐแบบจารีตกับหัวเมืองที่ถูกตอกย้ำให้เป็น “กบฏ” ซึ่งเป็น “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ที่ผู้เขียนเองก็มิได้มีวัตถุประสงค์ที่ตอกย้ำบาดแผลดังกล่าวนี้แต่อย่างใด หากแต่ต้องการศึกษาเพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ เมืองสวางคบุรี ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญในการรวมแผ่นดินสยามให้มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นและมั่นคงเรื่อยมาจนถึงบัดนี้ และเผยแพร่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่เกี่ยวข้องกับสงครามดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักและเข้าใจของท้องถิ่นมากขึ้น

ผู้เขียนเชื่อว่า หากเราเข้าใจอดีตที่ถูกต้องก็จะทำให้เราเข้าใจปัจจุบันของเราที่ถูกต้องได้ ไม่ว่าเรื่องราวความขัดแย้งในอดีตจะเกิดขึ้นอย่างไรก็ตาม ถ้าหากเราตระหนักรู้ว่า นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ของรัฐแบบจารีตซึ่งคนโบราณมีวิถีแนวคิด สังคมและวัฒนธรรมเป็นคนละแบบคนละเรื่องกับชาวเราปัจจุบัน และพิจารณาอย่างปราศจากอคติที่ถูกตีกรอบด้วยแนวคิดแบบรัฐชาติสมัยใหม่ ก็จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุการณ์ศึกเมืองสวางค-บุรี พ.ศ.๒๓๑๓ และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองสวางคบุรีและชุมนุมเจ้าพระฝางได้อย่างมีเหตุมีผลตามข้อเท็จจริง และมีวิสัยทัศน์หรือจินตนาการที่ยืนอยู่บนหลักฐานทางประวัติศาสตร์

ที่ผ่านมา แทบจะไม่ปรากฏงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ศึกเมืองสวางคบุรีโดยตรง หากแต่มีปรากฏอยู่ในงานศึกษาในประเด็นประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งก็ไม่ได้มีความละเอียดลุ่มลึกหรืออธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจที่ไปที่มาของเหตุการณ์เท่าใดนัก แต่ก็มีนักวิชาการ ข้าราชการและผู้สนใจประวัติศาสตร์ในพื้นที่หลายคนนำเรื่องราวมาบอกเล่าให้ชาวอุตรดิตถ์ได้รับรู้บ้างตามสมควร ถึงกระนั้น เนื้อความในคำบอกเล่าก็หาใช่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด หากแต่เต็มไปด้วยข้อสันนิษฐาน จินตนาการและอคติของผู้เล่าที่ได้รับมาจากการฟังหรือการอ่านเอกสารที่มีผู้ศึกษาไว้บ้างก่อนหน้า แต่ไม่ได้มีความเป็นระบบระเบียบเท่าที่ควร จึงทำให้เนื้อหาสาระทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองสวางคบุรีและเรื่องราวของชุมนุมเจ้าพระฝางมีความคาดเคลื่อนไปจากหลักฐานประวัติศาสตร์

ในการศึกษาของผู้เขียนครั้งนี้ ได้พยายามใช้เอกสารประวัติศาสตร์มาประกอบการศึกษาให้ได้มากที่สุดเท่าที่มีความสามารถและโอกาสอำนวย การศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์และตีความหลักฐานของผู้เขียนจึงค่อนข้างมีความแตกต่างจากงานที่ปรากฏก่อนหน้า อาจเป็นการนำเสนอข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยเป็นที่รับรู้ของแวดวงวิชาการและชาวอุตรดิตถ์มาก่อน และอาจขัดแย้งกับข้อมูลหลายอย่างที่มีผู้นำเสนอหรือบอกเล่าไว้ก่อนหน้า

ผู้เขียนจึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับผู้อ่านว่า เนื้อหาที่ผู้เขียนนำเสนอนั้นได้ผ่านการศึกษาตามหลักวิพากษวิธีทางประวัติศาสตร์ แต่อาจจะขัดแย้งกับข้อมูลหรือความรู้สึกหลายอย่างของผู้อ่าน ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังว่าผู้อ่านจะต้องเชื่อหรือมีความเห็นคล้อยตามผู้เขียนทั้งหมด แต่อยากจะขอให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณวิเคราะห์ตามไปด้วย ผู้เขียนพร้อมที่จะรับคำชี้แนะและข้อถกเถียงจากท่านผู้รู้ทั้งหลายเพื่อปรับปรุงงานให้ดีขึ้นในโอกาสต่อไป

การนำเสนอเรื่องราวพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและเหตุการณ์ศึกเมืองสวางคบุรีของผู้เขียนในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้แบ่งเนื้อหาออกเป็นตอนๆ ตามลำดับของเหตุการณ์เพื่อความเข้าใจง่ายของผู้อ่าน เนื้อหาในแต่ละตอนจะมีความสั้นหรือยาวนั้นก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ หลักฐานและการวิเคราะห์ แต่ละตอนจึงมีเนื้อหาที่สั้นหรือยาวต่างกันไป เนื้อหาในเล่มทั้งหมดสามารถจัดกลุ่มได้เป็น ๓ ส่วน ไม่รวมส่วนความนำและบทส่งท้าย ดังนี้

ส่วนแรก เป็นเสมือนส่วนความนำของเหตุการณ์สงครามเพื่อปูพื้นฐานและสร้างความเข้าใจให้กับผู้อ่าน จะเป็นตอนที่ว่าด้วยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเมืองสวางคบุรีและสภาพสังคมก่อนเกิดเหตุการณ์สงคราม ซึ่งประกอบไปด้วย ตอนที่ ๒ เมืองสวางคบุรี : สังเขปประวัติศาสตร์และพัฒนาการ, ตอนที่ ๓ สภาพหัวเมืองฝ่ายเหนือหลังเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๓๑๐ และตอนที่ ๔ กำเนิด “เจ้าพระฝาง” ที่เมืองสวางคบุรี ซึ่งเป็นการสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสภาพเมืองสวางคบุรีและสภาพสังคมในขณะนั้นมานำเสนอ แต่ผู้เขียนจะไม่ลงลึกไปในรายละเอียด เนื่องจากมีผู้ศึกษาไว้ค่อนข้างมากแล้ว จะนำเสนอเพียงข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจต่อเหตุการณ์เท่านั้น

ส่วนที่สอง เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองสวางคบุรี กรณีสงครามปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางเพื่อรวบรวมแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เนื้อหาส่วนนี้จะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพของการสู้รบและความเคลื่อนไหวต่างๆ ของทั้งกองทัพกรุงธนบุรีและกองทัพเจ้าพระฝางในพื้นที่เมืองสวางคบุรี ซึ่งประกอบไปด้วยตอนที่ ๕ การขยายอำนาจของชุมนุมเจ้าพระฝาง, ตอนที่ ๖ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคลื่อนทัพปราบปรามคนอาสัตย์อาธรรม, ตอนที่ ๗ สมรภูมิศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ.๒๓๑๓, ตอนที่ ๘ กาลอวสานแห่งอำนาจของเจ้าพระฝาง และตอนที่ ๙ คุ้งตะเภา : ที่ตั้งพระตำหนักค่ายหาดสูงในศึกเมืองสวางคบุรี

ส่วนที่สาม เป็นการนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายและหลังศึกเมืองสวางคบุรี ซึ่งเป็นผลกระทบที่ตามมาหลังสงครามของเมืองสวางคบุรีและบริเวณลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง เนื้อหาส่วนนี้อาจเป็นการวิเคราะห์และตีความโดยส่วนใหญ่ อาจเป็นเสมือนส่วนสรุปของเนื้อหาทั้งหมด ซึ่งเริ่มตั้งแต่ตอนที่ ๑๐ การจัดการภายในเมืองสวางคบุรีหลังภาวะสงคราม, ตอนที่ ๑๑ การชำระสิกขาบทและจัดระเบียบคณะสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือ, ตอนที่ ๑๒ วัดคุ้งตะเภา : สถานที่ชำระสิกขาบทคณะสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือ, ตอนที่ ๑๓ พระราชศรัทธาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต่อพระมหาธาตุเมืองฝาง, ตอนที่ ๑๔ สภาพเมืองสวางคบุรีหลังศึกเจ้าพระฝาง, ตอนที่ ๑๕ คุ้งตะเภา : ชุมชนใหม่หลังศึกเมืองสวางคบุรี และตอนที่ ๑๖ ภูมินามวิทยาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวศึกเมืองสวางคบุรี

เนื่องจากเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวทางด้านประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๑๓ การศึกษาค้นคว้าและเรียบเรียงจึงไม่สามารถที่หลีกเลี่ยงการใช้เอกสารโบราณประกอบการศึกษา และบางครั้งก็จำเป็นต้องคัดลอกเนื้อความในเอกสารดังกล่าวมานำเสนอ เพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนของข้อเท็จจริงที่ปรากฏในหลักฐาน และเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจและเห็นภาพของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น ทั้งจะได้อรรถรสในการอ่านหนังสือวิชาการทางประวัติศาสตร์ด้วย

ส่วนการเขียนชื่อบุคคล บรรดาศักดิ์หรือชื่อเมืองในเนื้อหาที่เป็นบทวิเคราะห์หรือการศึกษาเรียบเรียงโดยผู้เขียน ผู้เขียนจะเขียนเป็นตามแบบที่เขียนหรือศึกษากันอยู่ปัจจุบัน ซึ่งจะมีความแตกต่างกับที่ปรากฏอยู่ในเอกสารชั้นต้นที่ยกมาอ้างบ้าง เช่น ชื่อเมืองสวางคบุรีที่หลักฐานชั้นต้นมักเขียนว่า “เมืองสวางคบุรี”, “เมืองสว่างคบุรี” หรือ “เมืองฝาง” ซึ่งก็ให้เข้าใจว่าหมายถึงเมืองสวางคบุรีนั่นเอง เนื่องจากเนื่องจากว่าสมัยโบราณนิยมเขียนตามภาษาพูด หรือเขียนแบบไหนก็ได้แต่ขอให้สามารถอ่านออกเสียงเป็นคำนั้นได้ ไม่มีกฎเกณฑ์หรือหลักการเขียนพยัญชนะที่แน่นอนตายตัวเหมือนปัจจุบัน ส่วนชื่อเมืองฝางนั้นเป็นชื่อเก่าแก่ดั้งเดิมของเมืองนี้ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสวางคบุรี

พระนามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งปรากฏทั่วไปในงานทางวิชาการ ในที่นี้ผู้เขียนจะใช้ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” โดยละทิ้งประเด็นปัญหาที่ว่าพระนามเป็นทางการของพระองค์ในขณะนั้นว่าอย่างไร ทั้งนี้เพื่อสื่อสารกับผู้อ่านทั่วไปที่รับรู้ถึงพระนามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมากกว่าพระนามสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ชื่อของผู้นำกองทัพเมืองสวางคบุรีในสงครามครั้งนี้ คือ “พระพากุลเถระ” ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสมณศักดิ์พระราชทานนั้น และในเอกสารชั้นต้นอาจเรียก “อ้ายเรือน” หรือ “อ้ายเรือนฝาง” ในที่นี้ผู้เขียนจะเรียกว่า “เจ้าพระฝาง” เนื่องจากเป็นชื่อที่มีการใช้เรียกอย่างกว้างขวางทั้งในงานวิชาการและการรับรู้ของประชาชนทั่วไป และจะเรียกการปกครองดูแลเมืองสวางคบุรีในช่วงปี พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๑๓ ว่า “ชุมนุมเจ้าพระฝาง” ด้วย เนื่องจากมีรูปแบบการปกครองที่แตกต่างจากช่วงเวลาอื่น โดยมีพระพากุลเถระหรือเจ้าพระฝางซึ่งเป็นสังฆราชา สถาปนาอำนาจขึ้นมาปกครองเมืองแทนตำแหน่งเจ้าเมือง เป็นต้น

ภาพประกอบเป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการจัดทำรูปเล่มหนังสือวิชาการในยุคปัจจุบัน ผู้เขียนตระหนักดีว่ารูปภาพประกอบจะทำให้หนังสือน่าสนใจ ทำให้ผู้อ่านมีความเพลิดเพลินและลดความน่าเบื่อลงเมื่อได้อ่านหนังสือนี้ ผู้เขียนและคณะทำงานด้านจัดทำรูปเล่มจึงพยายามนำรูปภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาประกอบ ไม่ว่าจะเป็นภาพสถานที่ต่างๆ ที่กล่าวถึงในเนื้อหา ภาพจินตนาการเหตุการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแผนที่เชิงภูมิศาสตร์ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจและลำดับเหตุการณ์ได้มากขึ้น

การอ้างอิงในเนื้อหา ผู้เขียนได้ใช้รูปแบบนามปี (ชื่อผู้แต่ง, ปีที่แต่ง : หน้า) ท้ายข้อความ และระบุรายละเอียดหนังสือหรือที่มาของข้อมูลนั้นไว้อีกครั้งในบรรณานุกรมที่อยู่ท้ายเล่ม เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ผู้อ่านได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเมื่อมีโอกาส และหากมีคำศัพท์ คำโบราณ คำเฉพาะหรือเนื้อหาแยกย่อยที่จำเป็นต้องอธิบายรายละเอียดนั้น ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ในส่วนล่างของหน้านั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เนื้อหาในหนังสือ “สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา” เล่มนี้ จะทำให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์และความรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในศึกเมืองสวางคบุรี ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองสวางคบุรี และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ท่านไม่เคยทราบมาก่อนไม่มากก็น้อย

จารึกอักษรไทยสุโขทัย (สมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย) พบในบริเวณวัดพระฝาง

(ปัจจุบันยังไม่ได้มีการอ่าน-แปล)

ตอนที่ ๒

เมืองสวางคบุรี

สังเขปประวัติศาสตร์และพัฒนาการ

เมืองสวางคบุรีอยู่ในเขตบ้านพระฝาง ตำบลผาจุก อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เป็นชุมชนที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบขนาดเล็ก ตั้งอยู่ริมฝั่งทางด้านใต้ของลำน้ำน่าน ลักษณะเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่าขนานไปกับลำน้ำ ปัจจุบันร่องรอยของแนวคันดินเหลือให้เห็นบางตอนทางด้านใต้เท่านั้น บริเวณส่วนหนึ่งของเมืองถูกน้ำเซาะทลายลง สิ่งที่เหลือเป็นหลักฐานสำคัญก็คือ วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ เป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด ภายในวัดมีพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ มีวิหารหลวงและพระประธาน รวมทั้งโบสถ์ขนาดเล็ก (ศรีศักร วัลลิโภดม, ๒๕๓๒ : ๖๐) จากลักษณะผังเมืองและโบราณวัตถุสถานที่พบแสดงให้เห็นว่า เมืองสวางคบุรีน่าจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองสวางคบุรีหากดูจากแผนที่ทางภูมิศาสตร์ประกอบกับข้อมูลจากการลงพื้นที่ศึกษาภาคสนาม ก็จะพบว่าบริเวณที่ตั้งของเมืองสวางคบุรีเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำน่าน มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก ที่ราบลุ่มแห่งนี้ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาถึงสามด้านด้วยกัน ยกเว้นทางทิศตะวันตกด้านเดียวเท่านั้นที่ไม่มีภูเขากั้น มีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบลุ่มหุบเขา และถือว่าเป็นที่ราบลุ่มแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง สภาพที่ตั้งเมืองสวางคบุรีจึงถือได้ว่าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์

ไม่เพียงแต่จะเป็นที่ราบลุ่มเท่านั้น บริเวณที่ตั้งเมืองสวางคบุรีนี้ยังเป็นชายขอบอำนาจการปกครองอาณาจักรสุโขทัย ต่อมาก็เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาและมีสถานะเป็นเมืองชายขอบเช่นเดิม การที่เมืองฝางเป็นเมืองชายขอบอำนาจรัฐ และอยู่บริเวณติดกับเขตแดนรอยต่อระหว่างกรุงศรีอยุธยากับรัฐล้านช้างและนครรัฐน่าน ทำให้ในบางครั้งอำนาจจากส่วนกลางก็ไม่สามารถควบคุมเมืองสวางคบุรีโดยตรงได้ บางครั้งอาณาจักรล้านนาก็ยกทัพลงมายึดเอาเมืองสวางคบุรี

ภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นได้ว่าวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ

ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองฝางตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน

(ที่มา: พิพิธภัณฑ์วัดพระฝาง)

นอกจากนี้ การที่เมืองสวางคบุรีตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของอาณาจักรสุโขทัยซึ่งต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยากับรัฐล้านช้างและนครรัฐน่าน ทำให้เมืองฝางได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากรัฐต่างๆ เหล่านี้ อย่างเช่น การวางผังวิหารหลวงกับพระมหาธาตุแบบที่นิยมกันในสมัยสุโขทัย รูปแบบโบสถ์วัดพระฝางที่มีสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนกลาง-ตอนปลาย พระพุทธรูปพระฝางที่ประดิษฐานในโบสถ์ก็เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยสมัยอยุธยาตอนปลาย พระพุทธรูปไม้สลักซึ่งเป็นศิลปะผสมระหว่างสกุลช่างท้องถิ่นกับสกุลช่างเมืองน่าน หลวงพ่อเชียงแสนซึ่งพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ พุทธลักษณะก็เป็นศิลปะผสมผสานระหว่างศิลปะสุโขทัย ล้านนาและล้านช้าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการเดินทางหรือติดต่อสัมพันธ์ของผู้คนจากถิ่นต่างๆ กับชาวเมืองฝางเกิดขึ้นภายในเมืองนี้

เมืองสวางคบุรีเป็นเมืองที่ปรากฏชื่อในเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายชื่อ ซึ่งแต่ละชื่อก็มีที่มาแตกต่างกัน ในที่นี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอข้อมูลที่มาของชื่อเรียกเมืองสวางคบุรีในชื่อต่างๆ ตามลำดับเวลา ซึ่งผู้เขียนได้ทำการศึกษาค้นคว้าเท่าที่มีเวลาจำกัดนั้น ได้ข้อมูลปรากฏดังนี้

เมืองฝาง เป็นชื่อที่เก่าแก่ที่สุด ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยสองหลัก ได้แก่ จารึกสุโขทัยหลักที่ ๓ จารึกนครชุม พบที่วัดพระบรมธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จารึกเมื่อ ปีมหาศักราช ๑๒๗๙ (พ.ศ.๑๙๐๐) ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไทย) มีเนื้อหาบางส่วนกล่าวถึงศิลาจารึกและรอยพระพุทธบาทต่างๆ ที่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงสร้างในหัวเมืองต่างๆในอาณาเขตของพระองค์ (ประชุมจารึกภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย, ๒๕๔๘ : ๕๗) พบเนื้อความที่กล่าวถึงเมืองฝางในจารึกด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๕๐ ว่า “...กล่าวไว้ในจารึกอันมีในเมืองสุโขทัย_____นักพระมหาธาตุพู้นแล จารึกอันหนึ่งมีในเมือง_____อันหนึ่งมีในเมืองฝาง อันหนึ่งมีในเมืองสระหลวง...” (ประชุมจารึกภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย, ๒๕๔๘ : ๖๗)

และจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑๑ จารึกวัดเขากบ จังหวัดนครสวรรค์ มีข้อความบอกเล่าเส้นทางการเสด็จธุดงค์ไปแสวงบุญนมัสการพระธาตุต่างๆ ของพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ก่อนข้ามไปลังกา

“...จึงคลายังสุโขทัย(ศรี)สัชชนาลัยกระทำสมภารบารมี..พระมหาธาตุคลาดยังฝาง แพล ระพุน ตาก เชียง...รอดเถิงดงที่โปรดช้าง นครพัน กลิงคราฐ ปาตลีบุตร...บุร นครตรีโจลมัณฑลามัลลราชรอดเถิงลังกาทีป...” (ประชุมจารึกภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย, ๒๕๔๘ : ๑๒๕)

สำหรับที่มาของชื่อเมืองฝางมีความเห็นต่างกันเป็นสองแนวคิด แนวคิดแรกเชื่อว่ามีที่มาจากสภาพที่ตั้งเมืองเป็นเมืองด่านสำหรับขวางข้าศึก จึงมีชื่อเมืองว่า “เมืองขวาง” ซึ่งมาจากคำว่า “ฉวาง” ในภาษาเขมรหมายความว่า “ขวาง” (ดำรงราชานุภาพ, ๒๕๑๐ : ๖๐) แต่ไทยโบราณเราพูดพูดกล้ำตัว “ข” ไม่ชัด มักจะเป็นตัว “ฝ” เช่น “แขวน” เป็น แฝน “ขวิด” เป็น ฝิด “แขวะ” เป็น แฝะ “ควาย” เป็น ฟาย เพราะฉะนั้น คำว่า “ขวาง” จึงเป็น “ฝาง” เรียกเมืองขวางว่าเป็นเมืองฝาง (มณเฑียร ดีแท้, ๒๕๑๙ ก : ๔๑)

ส่วนแนวคิดที่สองสันนิษฐานว่ามาจากชื่อต้นฝาง ซึ่ง เดิมทีบริเวณแห่งนี้มีต้นฝางขึ้นอยู่มาก ในจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ซึ่งเป็นราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ประเทศฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงชื่อของเมืองฝางว่า ...สำหรับเมืองฝางนั้น โดยที่ฝางเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อว่าใช้ในการย้อมสี ที่ชาวปอรตุเกศเรียกว่า ซาปัน ลางคนก็แปลว่า เมืองป่าฝาง...” (ลาลูแบร์, ๒๕๕๒ : ๓๑) สำหรับแนวคิดที่สองนี้ค่อนข้างจะเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน

เมืองสวางคบุรี ชื่อนี้ปรากฏหลักฐานในสมัยอยุธยาตอนต้นสืบเนื่องมาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้สันนิษฐานว่ามีที่มาจาก “สว่างบุรี” แปลว่า เมืองสว่าง หมายความว่าเป็นเมืองที่ได้รับความสว่างจากพระพุทธ-ศาสนา ต่อมาได้กลายเป็น “เมืองสวางคบุรี” โดยไม้เอกหายไปมีตัว ค เข้ามาแทน (มณเฑียร ดีแท้, ๒๕๑๙ ก : ๔๑) ส่วนในเอกสารประกาศเทวดาบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๔ พบการเรียกชื่อเมืองนี้ว่า “เมืองฉวาง” (ศุภวัฒย์ เกษมศรี, ๒๕๕๒ : ๑๑๖) ซึ่งน่าจะเกิดจากการรับรู้เกี่ยวกับการออกเสียงที่ต่างกัน จึงทำให้เกิดการเขียนพยัญชนะต่างกันตามไปด้วย

ถึงแม้ว่าในระยะหลังจะมีการเรียกเมืองฝางว่าเมืองสวางคบุรี แต่ชื่อเมืองฝางก็ยังมีการใช้เรียกปะปนกับชื่อสวางคบุรีมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอกสารประวัติศาสตร์ล้านนา เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ (ดู อรุณรัตน์ วิเชียรเขียวและเดวิด เค. วัยอาจ, ๒๕๔๗ : ๘๕) และตำนานพื้นเมืองน่าน (ดู สรัสวดี อ๋องสกุล, ๒๕๓๙ : ๑๕, ๖๐-๖๒) หรือแม้แต่ในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเรียกว่า “เมืองฝาง” (จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะและคณะ, ๒๕๕๑ : ๗๑)

แสดงให้เห็นว่าชื่อเมืองฝางจะเป็นที่รับรู้ของผู้คนโดยทั่วไปมากกว่าชื่อสวางคบุรี ซึ่งน่าจะเป็นชื่อที่มีการตั้งชื่อขึ้นใหม่โดยราชสำนักที่กรุงศรีอยุธยาในภายหลัง เหตุที่ชื่อเมืองฝางเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางนั้นคงมาจากที่เมืองฝางแห่งนี้มีไม้ฝางขึ้นอยู่มาก และสะดวกต่อการเรียกชื่อเมืองซึ่งมีแค่พยางค์เดียวเท่านั้น แต่ในการศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนได้ใช้ชื่อ “เมืองสวางคบุรี” เรียกชื่อชุมชนโบราณแห่งนี้ เนื่องจากเป็นชื่อที่ปรากฏในหลักฐานประวัติศาสตร์ที่บันทึกเหตุการณ์ศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ.๒๓๑๓ เป็นส่วนใหญ่

ตำแหน่งที่ตั้งเมืองสวางคบุรีและเมืองโบราณที่อยู่ใกล้เคียง

จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ พบว่า ในชั้นดินล่างสุด เป็นชั้นดินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งน่าจะมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ระหว่าง ๓,๕๐๐-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีการพบเครื่องมือหินขัดที่พบมีขนาดใหญ่ ๘ x ๒๕ เซนติเมตรและเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากตามริมฝั่งแม่น้ำน่านที่ระดับ ๔ เมตรจากผิวดิน (จารึก วิไลแก้ว, ๒๕๔๒ : ๔๓๑) นอกจากนี้ยังมีการพบหลักฐานทางโบราณคดีว่าบริเวณฝั่งแม่น้ำน่านตั้งแต่บริเวณเมืองสวางคบุรีลงมาจนถึงบริเวณเมืองอุตรดิตถ์นั้น มีการพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในเขตบ้านบุ่งงิ้ว อำเภอเมือง มีการพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ภาชนะดินเผาและลูกปัด ในระดับต่ำกว่า ๑ เมตรลงไป ปัจจุบันได้มีการนำภาชนะลายเชือกทาบ และลายขูดขีดมาเก็บไว้ ณ ศูนย์วัฒนธรรมที่วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ หลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยในยุคโลหะตอนปลายก็มีมนุษย์โบราณตั้งหลักแหล่งในบริเวณลุ่มน้ำน่านนี้แล้ว (ศรีศักร วัลลิโภดม, ๒๕๓๒ : ๖๑)

อย่างไรก็ดี หลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า เมืองสวางคบุรีมีพัฒนาการมาจากมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์กลุ่มดังกล่าว เพราะโบราณวัตถุสถานที่พบในเมืองสวางคบุรีล้วนแล้วแต่มีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เลย

พัฒนาการของเมืองสวางคบุรีน่าจะเริ่มต้นจากการขยายตัวทางการค้าของจีนในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งจีนได้เปลี่ยนนโยบายทางการค้าจากเดิมที่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพ่อค้าแคว้นศรีวิชัย มาเป็นการค้าที่จีนส่งคนเข้ามาทำการค้าโดยตรงกับบ้านเมืองต่างๆ ในบริเวณสุวรรณภูมิ ทำให้เกิดบ้านเมืองขึ้นมากมายที่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบนของไทย เช่น เมืองละโว้ เมืองอู่ทอง เมืองศรีเทพ เมืองบน เมืองจันเสน เป็นต้น ต่อมาการค้าขายกับจีนแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางทำให้เกิดการค้าขายคล่องตัว จึงทำให้ชุมชนที่เคยเป็นบ้านเมืองขนาดเล็กเริ่มขยับขยายใหญ่ขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านเมืองที่อยู่ทางตอนในของภาคพื้นทวีปริมแม่น้ำสายใหญ่ เช่น เมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัยในลุ่มแม่น้ำยม เมืองพิษณุโลกในลุ่มแม่น้ำน่าน เป็นต้น ซึ่งเมืองเหล่านี้ล้วนเป็นเมืองที่อยู่บนเส้นทางการขนส่งสินค้าทั้งสิ้น

การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวทางการค้าและเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนกับอำนาจนอกภูมิภาค ได้แก่จีนและอินเดียเป็นหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นไปนั้น บ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่างมีบทบาทในการค้ากับจีน อินเดีย ลังกา พุกาม ขอม การติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนกลับเปิดเส้นทางคมนาคมจากฝั่งทะเลเข้าสู่บริเวณภายใน และก่อให้เกิดเส้นทางการค้าทางบกติดต่อไปมาระหว่างบ้านเมืองภายในและกับบ้านเมืองชายฝั่งทะเล (น. ณ ปากน้ำ และธิดา สาระยา, ๒๕๓๐ : ๒๕)

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ การค้าก็ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มคนไปตามที่ราบลุ่มแม่น้ำสายใหญ่ๆ และตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่มีทรัพยากรสำคัญซึ่งเป็นสินค้าที่จีนต้องการ หรือตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่เป็นชุมทางการคมนาคม ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ทำให้เมืองสวางคบุรีได้ก่อตัวขึ้นเป็นชุมชนขนาดใหญ่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน อันเป็นพื้นที่ที่มีไม้ฝางซึ่งเป็นสินค้าที่จีนต้องการและอยู่บนเส้นทางคมนาคมระหว่างบ้านเมืองทางตอนในนี้ด้วย นอกจากเมืองสวางคบุรีแล้ว ยังมีเมืองอื่นๆ ที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน อย่างเช่น เมืองทุ่งยั้งที่เป็นชุมทางการค้าทางบก และเมืองนครไทยซึ่งมีสินค้าจำพวกของป่ามากมาย (ดู สุจิตต์ วงษ์เทศ, ๒๕๒๖ : ๗๘-๘๕)

เมื่อเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ บ้านเมืองที่อยู่บนเส้นทางคมนาคมหลักได้พัฒนาการเป็นรัฐขึ้น เช่น รัฐสุโขทัย รัฐอโยธยา นครรัฐน่านและรัฐล้านช้าง (หลวงพระบาง) เมืองสวางคบุรีได้กลายเป็นเมืองชายขอบของรัฐสุโขทัยที่ติดต่อกับนครรัฐน่านและรัฐล้านช้าง ทำให้เมืองสวางคบุรีมีสภาพหรือฐานะเป็นเมืองด่านที่ควบคุมเส้นทางคมนาคมที่จะต่อไปยังเมืองน่านและบรรดาเมืองทางลุ่มแม่น้ำโขง ในแถบเมืองหลวงพระบางด้วย อาจกล่าวได้ว่าตำแหน่งที่เมืองสวางคบุรีตั้งอยู่นี้ อยู่ในบริเวณตอนเหนือสุดของลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง หรืออีกนัยหนึ่งอยู่ตอนเหนือสุดเขตแคว้นสุโขทัยก็ได้ (ศรีศักร วัลลิโภดม, ๒๕๓๒ : ๖๑) ในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ได้มีเจ้านายทางล้านช้างบางองค์เมื่อถูกขับไล่ก็จะหนีมาขออาศัยอยู่กับเจ้าเมืองน่าน ในเวลาเดียวกัน ถ้าเจ้าเมืองน่านมีศึกจวนตัวก็จะหลบภัยไปขออาศัยอยู่กับเจ้าเมืองล้านช้าง เพราะฉะนั้น ในสมัยสุโขทัยจึงเอาเมืองสวางคบุรีเป็นเมืองด่านกันชนเขตแดนด้านนี้ (อนุวิทย์ เจริญศุภกุล, ๒๕๑๘ : ๑๒๗)

นักโบราณคดีบางท่านก็ได้สันนิษฐานทำนองคล้ายคลึงกันว่าเมืองสวางคบุรีน่าจะเกิดจากชุมชนทางการค้า ในขณะเดียวกันภาพปูนปั้นที่โบสถ์ของวัดพระฝางยังเป็นรูปปั้นที่คล้ายพ่อค้าแขกเปอร์เซียยืนถือกริชซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพทางการค้าของสมัยอยุธยาตอนปลายที่ขุนนางราชสำนักส่วนใหญ่เป็นเปอร์เซียที่คุมการค้าในกรมท่าขวา (ขวัญเมือง จันทโรจนี, ๒๕๔๑ : ๘๔) หรือแม้แต่ลักษณะสถาปัตยกรรมของโบสถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยังทรงมีพระวินิจฉัยว่าโบสถ์หลังนี้ทำแปลกกว่าที่เคยเห็นมา ตรงที่ตั้งพระทำมุขเล็กฝากกับประธานโบสถ์อย่างโบสถ์ฝรั่ง (นริศรานุวัดติวงศ์, ๒๕๐๖ : ๔๙) ทำให้เห็นภาพว่าภายในเมืองสวางคบุรีคงมีการพบปะของผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติที่มาทำการค้า

รูปปั้นบุคคลที่คล้ายพ่อค้าแขกเปอร์เซียยืนถือกริชริมผนังด้านนอกใต้หน้าต่างโบสถ์วัดพระฝาง

แสดงให้เห็นว่ามีพ่อค้าและผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาทำการค้าที่เมืองสวางคบุรี

เมืองสวางคบุรีได้ขยายตัวอย่างมากจากการค้าของป่าที่รุ่งเรืองในสมัยอยุธยาตอนปลายและอาจจะเป็นตลาดใหญ่ในหัวเมืองเหนือ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ถูกส่งมาจากหัวเมืองลาว ทั้งลาวในกลุ่มวัฒนธรรมล้านนาและล้านช้าง (ขวัญเมือง จันทโรจนี, ๒๕๔๑ : ๘๔) แม้แต่ชื่อเมืองสวางคบุรีในชื่อ “เมืองฝาง” อาจมาจากเดิมทีบริเวณแห่งนี้มีต้นฝาง ซึ่งเป็นไม้สำคัญหรือสินค้าสำคัญทางเศรษฐกิจในสมัยโบราณจำนวนมาก

นอกจากนี้ ความเป็นเมืองชุมทางหรือปากทางเข้าสู่บ้านเมืองต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงของเมืองสวางคบุรียังปรากฏหลักฐานในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ลาลูแบร์ อัครราชทูตแห่งราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ของฝรั่งเศสได้บันทึกไว้ว่า “เมืองฝางมีพระธาตุศักดิ์สิทธิ์เชื่อว่าเป็นที่บรรจุพระทันตธาตุของพระสมณโคดม ด้วยความเชื่อนี้จึงทำให้มีสัปบุรุษเป็นอันมากจากที่ต่างๆ มาชุมนุมนมัสการ ไม่เพียงแต่ชาวสยามเท่านั้น ยังมีทั้งชาวพะโค (มอญ) และชาวลาวอีกด้วย” (ลาลูแบร์, ๒๕๕๒ : ๓๑) บันทึกของลาลูแบร์ชี้ให้เห็นเส้นทางตะวันออก-ตะวันตกระหว่างแม่น้ำโขง-อ่าวเมาะตะมะอันเป็นที่ตั้งของเมืองหงสาวดีที่จะต้องผ่านเมืองสวางคบุรี และเรื่องความเชื่อของผู้คนที่เชื่อว่าพระธาตุของเมืองนี้เป็นพระทันตธาตุ ยังเป็นการเพิ่มความสำคัญให้แก่เมืองสวางคบุรีเป็นอย่างมากด้วย (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, ๒๕๔๓ : ๕๒)

สิ่งหนึ่งที่แสดงให้ถึงความสำคัญของเมืองสวางคบุรีก็คือ บรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองฝางในพระไอยการเก่าตำแหน่งนาหัวเมือง สมัยอยุธยา ทรงบัญญัติขึ้นโดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อ ปีจอ พ.ศ.๑๙๙๗ มีการบัญญัติเกี่ยวกับทำเนียบเมือง ราชทินนามและศักดินาของเจ้าเมืองและขุนนางตำแหน่งสำคัญของเมืองในพระราชอาณาจักร ซึ่งมีเนื้อความที่กล่าวถึงเมืองฝางหรือเมืองสวางคบุรีไว้ว่า “ออกญาพิไชยเสนา ออกญาฝาง นา ๘๐๐ ขึ้นบางโพ” (ศุภวัฒย์ เกษมศรี, ๒๕๕๒ : ๑๐๕)

จะเห็นได้ว่า เมืองสวางคบุรีในช่วงระยะดังกล่าว หรือในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เจ้าเมืองที่ปกครองมีชื่อในราชทินนาม ว่า “ออกญาพิไชยเสนาหรือออกญาฝาง” (ชื่อเจ้าเมืองสวางคบุรีจากพระไอยการนี้ควรมีการศึกษาต่อไป เพราะว่ายังมีการตีความที่แตกต่างกันระหว่างออกญาพิไชยเสนาหรือออกญาฝาง) มีศักดินา ๘๐๐ และเมืองสวางคบุรีมีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองบางโพ (เมืองโบราณบริเวณที่ตั้งของตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน) และเมืองบางโพก็เป็นเมืองขึ้นของเมืองพิชัยอีกทีหนึ่ง

จากการศึกษาของผู้เขียน พบว่า บรรดาศักดิ์และศักดินาของเจ้าเมืองนี้ค่อนข้างแปลกจากเมืองอื่นๆ เพราะว่า ผู้ที่มีบรรดาศักดิ์เป็นออกญาส่วนใหญ่ จะได้ปกครองเมืองชั้นโทหรือตรีเท่านั้น และมีศักดินา ๑๐,๐๐๐ แต่ออกญาพิไชยเสนาหรือออกญาฝางกลับได้ปกครองเมืองที่มีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองบางโพที่เป็นเมืองขึ้นของเมืองพิชัยซึ่งเป็นเมืองชั้นโทอีกทีหนึ่ง มีศักดินาเพียง ๘๐๐ ไม่ต่างจากศักดินาของบรรดาศักดิ์ชั้นพระหรือหลวงเลย เพราะการที่เมืองสวางคบุรีเป็นเมืองที่อยู่บนเส้นทางคมนาคมหลักระหว่างรัฐใกล้เคียงกับอยุธยา อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองมีความจำเป็นต้องสูงกว่าเมืองอื่นๆ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นเมืองสำคัญในทางการค้า แต่ไม่ใช่สำคัญทางการเมืองการปกครองก็เป็นได้

หลังจากที่ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ศึกษาภาคสนามและสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในชุมชนบ้านพระฝางและใกล้เคียง ทำให้ทราบว่าแม่น้ำน่านบริเวณเมืองสวางคบุรีนี้เป็นจุดที่เรือสินค้าขนาดใหญ่จากทางใต้สามารถเดินทางมาจอดเทียบเรือเป็นจุดเหนือสุดในเส้นทางแม่น้ำน่านตอนล่างนี้ เนื่องจากว่าเหนือตัวเมืองสวางคบุรีขึ้นไปเล็กน้อยจะเป็นบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “ด่านคุ้งยาง” คุ้งยางเป็นคุ้งน้ำในแม่น้ำน่านที่มีต้นยางขึ้นอยู่มาก ใต้คุ้งยางลงมาก็จะมีแก่งและโขดหินขนาดใหญ่ขวางกระแสน้ำน่านอยู่ ในหน้าแล้งสามารถเดินข้ามแม่น้ำไปได้ (เย็น ภู่เล็ก, สัมภาษณ์)

ในขณะเดียวกันบริเวณนี้ก็เป็นที่ตั้งด่านของเมืองสวางคบุรี ซึ่งมีฐานะเป็นด่านชายแดนพระราชอาณาจักรของกรุงศรีอยุธยาที่ติดต่อกับเมืองน่านด้วย บริเวณดังกล่าวจึงมีชุมชนชื่อว่า “บ้านด่าน” และปรากฏชื่อบ้านด่านนี้ในแผนที่โบราณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นด้วย (Santanee Phasuk and Philip Stott, 2004 : 130) รวมทั้งยังมีนักวิชาการบางท่านเชื่อว่าจากลักษณะโขดหินที่ขวางแม่น้ำดังกล่าวเป็นด่านสำหรับขวางข้าศึก จึงมีชื่อเรียกเมืองสวางคบุรีว่า “เมืองขวาง” แต่ไทยโบราณเราพูดพูดกล้ำตัว “ข” ไม่ชัด มักจะเป็นตัว “ฝ” เช่น “แขวน” เป็น แฝน “ขวิด” เป็น ฝิด “แขวะ” เป็น แฝะ “ควาย” เป็น ฟาย เพราะฉะนั้น คำว่า “ขวาง” จึงเป็น “ฝาง” เรียกเมืองขวางว่าเป็นเมืองฝางในภายหลัง (มณเฑียร ดีแท้, ๒๕๑๙ ก : ๔๑)

เหนือจากด่านคุ้งยางไปตามแม่น้ำน่านราว ๑๐ กิโลเมตรบริเวณด้านใต้ของบ้านผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ก็จะเป็นบริเวณหลักเขตแดนระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองน่าน ปรากฏในแผนที่โบราณว่า “หลักประโคน” (Santanee Phasuk and Philip Stott, 2004 : 130) ซึ่งหมายถึง เสาใหญ่ปักหมายเขตแดนระหว่างประเทศหรือเมือง (เอนก นาวิกมูล, ๒๕๕๒ : ๑๐๕) ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานอยู่ ชาวบ้านเรียกว่า “หลักมั่นหลักคง” (หลวงพ่ออัมพร โชติธมฺโม, สัมภาษณ์) สำหรับบ้านผาเลือดซึ่งอยู่เหนือหลักประโคนขึ้นมานี้ เดิมขึ้นอยู่กับเมืองท่าปลาในเขตปกครองของเมืองน่าน และเป็นชุมชนสุดท้ายชายแดนของเมืองน่านทางทิศใต้ด้วย (ธีระวัฒน์ แสนคำ, ๒๕๕๓ ข : ๗-๘) แต่ด้วยความที่เมืองท่าปลาอยู่ใกล้ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์มากกว่าศาลากลางจังหวัดน่าน พ.ศ.๒๔๖๕ กระทรวงมหาดไทยจึงตัดเขตพื้นที่ของจังหวัดน่านมาอยู่ในความปกครองของจังหวัดอุตรดิตถ์ กลายเป็นอำเภอท่าปลาในปัจจุบัน (ราชกิจจานุเบกษา, ๒๔๖๕ : ๕๕ ; สมชาย เดือนเพ็ญ, ๒๕๕๒ : ๘๕)

แนวโขดหินที่ทอดขวางแม่น้ำน่านบริเวณด่านคุ้งยาง เหนือเมืองสวางคบุรีเล็กน้อย

ซึ่งทำให้เรือขนาดใหญ่จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่สามารถเดินทางผ่านไปยังเมืองน่านได้

จึงต้องจอดทำการค้าที่เมืองสวางคบุรีที่อยู่ใต้ด่านคุ้งยางแทน

ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ ร.ศ.๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๔) ฉบับที่ ๑๗ ได้มีพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจว่าเสด็จขึ้นมาทอดพระเนตรสภาพเมืองสวางคบุรี และทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับเมืองสวางคบุรีในอดีตว่าอยู่บนเส้นทางคมนาคมโดยพิจารณาจากสภาพในขณะนั้นไว้ว่า

“...ถ้าหากว่าดูเดี๋ยวนี้เมืองฝางไม่น่าจะเปนเมืองใหญ่โตอันใดฤาจะเปนที่มั่นรับทัพศึก เว้นไว้แต่ผู้ที่ตั้งตัวนั้นคิดจะคอยหนีไปเมืองลาว เพราะระยะทางตั้งแต่เมืองฝางขึ้นไปจนถึงเมืองผาเลือก ซึ่งเปนต้นทางจะเดินบกไปเมืองน่าน แลเข้าแขวงเมืองน่านแล้วนั้นทางเพียง ๕๐๐ เส้น...” (จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะและคณะ, ๒๕๕๑ : ๗๑)

ที่วัดผาเลือดยังมีการเก็บรักษาไม้พายเรือโบราณขนาดใหญ่ ยาว ๖.๙๘ เมตร ใบพายกว้าง ๔๖ เซนติเมตร ไม้พายนี้อยู่ที่วัดผาเลือดมามากกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นใบพายหางเสือเรือของเจ้าหลวงเมืองน่าน พบที่ท่าดอนหลวงริมแม่น้ำน่าน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ประทับของเจ้าหลวงเมืองน่านก่อนที่จะล่องเรือต่อไปยังกรุงเทพฯ แต่ก่อนเคยมีซากเรือขนาดใหญ่อยู่ที่ดอนหลวงด้วยแต่พังไปแล้ว (หลวงพ่ออัมพร โชติธมฺโม, สัมภาษณ์) จะเห็นได้ว่าเรือขนาดใหญ่จากเมืองน่านต้องจอดอยู่ที่เขตบ้านผาเลือด เพราะไม่สามารถล่องเรือผ่านด่านคุ้งยางได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นเรือขนาดเล็กล่องลงมาแทน จากนั้นค่อยหาเรือใหญ่ในเขตเมืองสวางคบุรีหรือเมืองบางโพล่องลงไปยังกรุงเทพฯ

ส่วนที่บริเวณเมืองสวางคบุรีก็มีการพบหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการค้าทางเรือ นั่นก็คือ มีการพบสมอเรือขนาดใหญ่ในแม่น้ำน่านเขตบ้านพระฝาง สูงประมาณ ๑.๖๐ เมตร มีน้ำหนักกว่า ๕๐ กิโลกรัม ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์วัดพระฝาง เมื่อพิจารณาจากสมอเรือที่มีขนาดใหญ่นี้แล้ว ทำให้เห็นว่าเมืองสวางคบุรีจะต้องมีเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ขึ้นมาแลกเปลี่ยนสินค้าอยู่อย่างแน่นอน เป็นอีกหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นชุมทางการค้าและการคมนาคมขนส่งทางน้ำที่รุ่งเรืองของเมืองฝางได้เป็นอย่างดี

จากหลักฐานที่ผู้เขียนได้แสดงข้างต้นนั้น จะเห็นว่าเมืองสวางคบุรีเป็นชุมทางการค้าระหว่างรัฐที่สำคัญมาก ด้วยตำแหน่งที่ตั้งเมืองอยู่บริเวณรอยต่อของสองอาณาจักรใหญ่ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่เมืองสวางคบุรีจะตกอยู่ใต้การควบคุมทางการเมืองของอาณาจักรอยุธยา แต่ก็ไม่แปลกที่เมืองสวางคบุรีจะเคยตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรล้านนาเช่นกัน ซึ่งน่าจะเป็นความต้องการของทั้งสองอาณาจักรที่ต้องการควบคุมการค้าที่เมืองสวางคบุรี เช่น

ในรัชกาลพระเจ้าติโลกราชของล้านนาตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถของอยุธยา (ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑) ที่เกิดศึกระหว่างอยุธยากับล้านนา เมืองสวางคบุรีได้ตกเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาและเป็นที่ตั้งทัพในการทำสงครามกับอยุธยา (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียวและเดวิด เค. วัยอาจ, ๒๕๔๗ : ๘๕) แต่ล้านนาคงปกครองเมืองสวางคบุรีได้ไม่นานนัก หลังจากนั้นอยุธยาก็คงสามารถยึดเมืองสวางคบุรีกลับคืนมาจากล้านนาได้ดังเดิม อย่างที่มีการพบหลักฐานทางด้านศิลปะสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนกลาง-ตอนปลายหลายอย่าง ทั้งที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุอยู่ภายในวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถในปัจจุบัน

แสดงให้เห็นว่าเคยมีเรือขนส่งสินค้า (?) ขนาดใหญ่

ขึ้นมาแลกเปลี่ยนรับส่งสินค้าที่เมืองสวางคบุรี

ตอนที่ ๓

สมอเรือโบราณขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านพบในแม่น้ำน่านบริเวณบ้านพระฝาง

สภาพหัวเมืองฝ่ายเหนือ

หลังเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๓๑๐

ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาก็เกิดปัญหาแตกแยกภายในรวมทั้งศูนย์อำนาจรัฐกรุงอังวะ (พม่า) ก็พยายามขยายอำนาจเข้ามา พระเจ้ามังระแห่งศูนย์อำนาจรัฐกรุงอังวะได้ยกกองทัพมาหลายทางเพื่อโจมตีศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๓๐๗ ทัพหลวงที่ยกมาทางเมืองกาญจนบุรีได้เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาก่อน

ฝ่ายศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาได้เกณฑ์กำลังจากหัวเมืองให้ลงมาทำการรับศึก กองทัพเมืองพิษณุโลกถูกเกณฑ์ให้มาตั้งทัพอยู่ที่วัดภูเขาทอง (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๔๘) ส่วนกองทัพกรุงอังวะทางเหนือมีเนเมียวสีหบดี (โปชุปผลา) เป็นแม่ทัพยกลงมาจากเมืองเชียงใหม่ตีเข้าทางด่านเมืองสวรรคโลกแล้วมาตั้งค่ายที่เมืองสุโขทัย เพื่อปิดสกัดไม่ให้กองทัพหัวเมืองยกลงมาช่วยศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาที่กำลังจะถูกปิดล้อม (สุเนตร ชุตินธรานนท์, ๒๕๕๒ : ๓๙-๔๐)

เมื่อเจ้าเมืองพิษณุโลกทราบก็ห่วงบ้านเมืองของตนมากกว่ากรุงศรีอยุธยา ได้ให้พระยาพลเทพกราบทูลลากลับขึ้นไปเมืองพิษณุโลก โดยอ้างเหตุผลว่าจะต้องไปปลงศพมารดา ปล่อยให้หลวงโกษา (ยัง) พระมหาดไทย และหลวงเทพเสนาซึ่งเป็นกรมการเมืองคุมกองทัพอยู่ที่วัดภูเขาทองแทน (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๔๘)

เจ้าเมืองพิษณุโลกผู้นี้ทราบชื่อในภายหลังว่ามีชื่อเดิมว่า “เรือง” (ดำรงราชานุภาพ, ๒๕๔๓ : ๒๙๒) การกลับขึ้นไปเมืองพิษณุโลกของเจ้าเมืองพิษณุโลกโดยอ้างว่าไปปลงศพมารดานั้น น่าจะเป็นเหตุผลที่ดูสุดวิสัยเกินกว่าศูนย์อำนาจรัฐจะห้ามปรามได้ ซึ่งส่อให้เห็นอำนาจที่แท้จริงของศูนย์อำนาจรัฐว่าไม่มีเหนือกองทัพเมืองพิษณุโลกนัก และแท้ที่จริงแล้วการปลงศพมารดาก็เป็นเพียงข้ออ้างของเจ้าเมืองพิษณุโลกที่จะทิ้งศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยานั่นเอง ทั้งเพื่อความปลอดภัยของเมืองตนเองและอาจจะเพื่ออนาคตทางการเมืองที่เป็นอิสระจากศูนย์อำนาจรัฐด้วย (นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๕๐ : ๘๒-๘๓)

พระเจดีย์ทรงปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

ศูนย์กลางความเป็นจักรวาลของเมืองพิษณุโลก

ในเวลาต่อมา หลวงโกษาซึ่งเป็นผู้คุมกองทัพเมืองพิษณุโลกที่วัดภูเขาทองแทนเจ้าเมืองพิษณุโลก ก็คิดอ่านช่วยเจ้าฟ้าจีดซึ่งต้องโทษติดเวรจำอยู่ในพระราชวัง แล้วพากันเลิกทัพหนีกลับขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลก ฝ่ายศูนย์อำนาจรัฐได้แต่งข้าหลวงไปตามหลายนายแต่ไม่ทัน (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๔๘) ส่วนการช่วยเหลือเจ้าฟ้าจีดให้หนีไปด้วยนั้น เป็นไปได้ว่าเดิมทีนั้นเจ้าเมืองพิษณุโลกกับเจ้าฟ้าจีดน่าจะมีความสัมพันธ์กันอยู่บ้าง

แต่พอเจ้าฟ้าจีดขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลกก็เข้าเก็บริบเอาทรัพย์สินเงินทองของเจ้าเมืองพิษณุโลก ภรรยาเจ้าเมืองพิษณุโลกได้หนีลงเรือเล็กล่องลงมา ฝ่ายเจ้าเมืองพิษณุโลกซึ่งยกทัพไปช่วยเมืองสุโขทัยทราบเรื่อง ก็เลิกทัพมาซุ่มอยู่หลังเมืองพิจิตร ตามจับกุมเจ้าฟ้าจีด แล้วนำเจ้าฟ้าจีดขึ้นไปถ่วงน้ำที่เมืองพิษณุโลก (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๔๘-๔๔๙)

การที่เจ้าเมืองพิษณุโลกทิ้งหน้าที่ในการรักษากรุงศรีอยุธยากลับขึ้นมาเมืองพิษณุโลกและจับเจ้าฟ้าจีดถ่วงน้ำ แสดงว่าเจ้าเมืองพิษณุโลกไม่ได้เกรงกลัวต่ออำนาจศูนย์อำนาจรัฐที่กรุงศรีอยุธยาแล้วถึงกล้าที่จะกระทำการดังกล่าว ทั้งที่ในพระไอยการกระบดศึก มาตรา ๑๔ ได้ห้ามมิให้ขุนนางและทหารหนีราชการสงคราม หากหลบหนีมีโทษฐานเป็นกบฏและให้ประหารชีวิตทั้งโคตร (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๙ : ๔๖๙) ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่เมืองพิษณุโลกได้แยกออกเป็นอิสระจากการปกครองของศูนย์อำนาจรัฐที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ อย่างที่เคยเข้าใจกันแต่อย่างใด (ธีระวัฒน์ แสนคำ, ๒๕๕๔ : ๑๕๓)

เมื่อกองทัพกรุงอังวะล้อมกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ ทำให้มีขุนนางจากศูนย์อำนาจรัฐพยายามที่จะหลบหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา พบว่ามีขุนนางและไพร่จำนวนหนึ่งหลบหนีขึ้นมาอยู่ที่เมืองพิษณุโลก (สุจิตต์ วงษ์เทศ, ๒๕๔๕ : ๒๙) เมื่อศูนย์อำนาจรัฐที่กรุงศรีอยุธยาล่มสลายลงในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ไร้ศูนย์อำนาจที่จะควบคุมไพร่พลทั้งปวงทำให้เจ้าเมืองพิษณุโลกจะได้ประกาศตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เพื่อรวบรวมไพร่พลรักษาเสถียรภาพของเมืองเอาไว้ และถือเป็นการปกป้องบ้านเมืองของตนจากภาวะสงครามที่ผู้คนกำลังระส่ำระสายไปทั่วทุกหัวระแหง

ภาพวาดกรุงศรีอยุธยาถูกไฟเผาไหม้สีแดงเพลิงเต็มท้องฟ้า

ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา (ที่มา : อนุสรณ์สถานแห่งชาติ)

เมื่อศูนย์อำนาจรัฐที่กรุงศรีอยุธยาล่มสลายเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ก็พยายามสร้างเมืองพิษณุโลกขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอำนาจในการปกครองไพร่พลที่กำลังระส่ำระสาย พร้อมกับตั้งตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์และจัดระบบการปกครองภายในรัฐตามแบบอย่างระบบศักดินา “ตั้งขุนนางขึ้นเต็มตามตำแหน่งเหมือนในกรุง” (สุจิตต์ วงษ์เทศ, ๒๕๔๕ : ๒๙) แล้วบังคับบัญชาบรรดาขุนนางที่ตนตั้งขึ้น “ให้เรียกคำบัญชาสั่งของตัวว่าพระราชโองการทุกตำแหน่งไป” (สุจิตต์ วงษ์เทศ, ๒๕๔๕ : ๑๔๔)

นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า การตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ของเจ้าพระยาพิษณุโลกไม่สามารถที่จะใช้ความเป็นเจ้าเมืองพระยามหานครดำเนินการทางการเมืองได้ เพราะสถานะนี้ไม่มีความหมายนอกเขตเมืองพิษณุโลก ในขณะที่เจ้าพระยาพิษณุโลกต้องการจะมีอำนาจเหนือหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะของตนเป็นพระมหากษัตริย์ โดยอาศัยตำแหน่งนี้เท่านั้นที่เจ้าพระยาพิษณุโลกจะมีความหมายต่อผู้นำท้องถิ่นสุโขทัย, สวรรคโลก, กำแพงเพชร, ตาก ฯลฯ ได้ (นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๕๐ : ๑๕๐) ขอบเขตอำนาจของรัฐพิษณุโลกในเบื้องต้นทางด้านตะวันออกคงต่อแดนกับล้านช้างและเมืองเพชรบูรณ์ ทางด้านใต้ถึงเมืองพิจิตรและเขตเมืองนครสวรรค์ ทางด้านตะวันตกถึงเขตเมืองสุโขทัย และทางด้านเหนือถึงเขตเมืองพิชัย

ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับภาษามคธ กล่าวว่า “พระยาพิษณุโลกอยู่ในราชสมบัติ ๖ เดือน พระชนมายุได้ ๔๙ ปี ก็เสด็จสวรรคตไปตามยถากรรม” (สมเด็จพระพนรัตน (แก้ว), ๒๕๕๐ : ๘๓)

จดหมายเหตุจีนได้บันทึกไว้ว่า หูซื่อลู่ (พิษณุโลก) ได้มีพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้ากรุงจีน เพื่อขอให้พระองค์ยอมรับตนเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้องของกรุงศรีอยุธยา สืบต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์เดิมที่สิ้นพระชนม์ในระหว่างสงคราม และได้ต่อต้านรัฐที่สถาปนาโดยเจิ้นเจ้า (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) จนเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พระจักรพรรดิจีนไม่ยอมรับสถานะของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ของกรุงศรีอยุธยา เพราะพระองค์ยังไม่สามารถปราบปรามรัฐอิสระเล็กๆ ได้ (ณัฏฐภัทร จันทวิช, ๒๕๒๓ ก : ๒๑-๒๔) ทำให้พระองค์พยายามที่จะรวบรวมหัวเมืองต่างๆ ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา

ในขณะเดียวกัน ตามบ้านเล็กเมืองน้อยในหัวเมืองฝ่ายเหนือก็อยู่ในสภาพจลาจลเกิดความปั่นป่วนจากการตระเวนหาเสบียงและไพร่พลของกลุ่มต่างๆ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่าสภาพจลาจลของหัวเมืองฝ่ายเหนือนั้นเกิดขึ้นจากสภาพของการเมืองแบบชุมนุมนั่นเอง กล่าวคือในการตั้งชุมนุมใหญ่นั้นมีการรวบรวมเอาชุมนุมเล็กหรือนายซ่องที่เข้าด้วยไว้ด้วยกัน โดยชุมนุมใหญ่มิได้มีอำนาจแท้จริงในการควบคุมหรืออำนวยการปกครองไปถึงชุมชนที่อยู่ภายใต้ชุมนุมเล็กๆ เหล่านั้นไม่ การปล้นสะดมของชุมนุมเล็กจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำอย่างเดียวกับที่ชุมนุมใหญ่ก็จะหาโอกาสปราบปรามชุมนุมใหญ่อื่นๆ (นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๕๐ : ๑๗๐)

ตอนที่ ๔

กำเนิด“เจ้าพระฝาง” ที่เมืองสวางคบุรี

หลังจากเหตุการณ์ที่กองทัพกรุงอังวะยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาจนต้องเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ บรรดาหัวเมืองใหญ่ที่มีกำลังมากและไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่า ต่างก็ตั้งตัวเป็นอิสระ และขยายอำนาจรวบรวมเมืองใกล้เคียงที่อ่อนแอเมืองน้อยกว่าไว้ในอำนาจ เพื่อที่จะสร้างอาณาจักรขึ้นมาใหม่

เมืองสวางคบุรีซึ่งเดิมตกเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามครั้งนี้ ก็ได้ตั้งตัวเป็นอิสระในการปกครองอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้การนำของพระพากุลเถระ สังฆราชาแห่งเมืองสวางคบุรี หรือที่คุ้นชื่อกันดีในนาม “เจ้าพระฝาง” ไม่ใช่เจ้าเมืองหรือคฤหัสถ์อย่างเช่นที่คุ้นเคยกันในประวัติศาสตร์

เจ้าพระฝาง เดิมชื่อ “เรือน” สอบเปรียญธรรมได้เป็น “มหาเรือน” เป็นภิกษุชาวเมืองเหนือ ได้ลงมาศึกษาเล่าเรียนอยู่ในกรุงศรีอยุธยาได้เป็นที่พระพากุลเถระ พระราชาคณะอยู่ ณ วัดศรีอโยธยา ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงตั้งให้เป็นตำแหน่งสังฆราชา ณ เมืองสวางคบุรี (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๐๗)

พระพากุลเถระครั้นรู้ว่ากรุงเสียแก่พม่าแล้วจึงซ่องสุมผู้คนเข้าด้วยเป็นหลายเมือง ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าอีกตำบลหนึ่ง แต่หาสึกเป็นคฤหัสถ์ไม่ คงอยู่ในเพศสมณะ แต่นุ่งห่มผ้าแดง คนทั้งปวงเรียกว่า “เจ้าพระฝาง” บรรดาเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป ก็เกรงกลัวนับถืออยู่ในอำนาจทั้งสิ้น (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๐๗) ประกอบกับเจ้าพระฝางได้อาศัยเหตุหัวเมืองฝ่ายเหนือว่างผู้ปกครอง เพราะเจ้าเมืองต้องมาติดศึกในกรุงตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า (นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๕๐ : ๑๗๑)

ในขณะเดียวกันท่านคงมีผู้นับถือศรัทธามาก ด้วยมีตำแหน่งเป็นถึงพระสังฆราชาและเก่งทางด้านวิทยาคมมาก การห่มผ้าสีแดงคงเป็นสิ่งที่ท่านพยายามแสดงให้เห็นว่าไม่เป็นพระภิกษุแล้ว แต่ยังเคร่งครัดในศีลบางข้อและยังไม่มีภรรยา อีกประการหนึ่งก็เพื่อสร้างความเชื่อถือในหมู่ศิษย์ว่า อาจารย์ยังยึดหลักพุทธศาสนาอยู่ เรียกว่าใช้ศาสนาเป็นรัฐธรรมนูญในการบริหารบ้านเมือง แต่ไม่ได้เป็นพระ ท่านมีความรู้เรียนเก่ง คงไม่ทำให้ผู้คนที่ศรัทธาในตัวท่านได้รับความละอายเป็นแน่ (อนุสรณ์ ผลสวัสดิ์, ๒๕๕๑ : ๔)

ที่สำคัญคือ เจ้าพระฝางน่าจะอาศัยอำนาจที่เกิดขึ้นจากพระมหาธาตุเมืองสวางคบุรี เพราะแม้ว่าภายหลังจะตีเมืองพิษณุโลกได้ก็มิได้ย้ายศูนย์อำนาจลงมายังเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองใหญ่ มีกำแพงเมือง ค่ายคูและประตูหอรบมั่นคง สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจของเจ้าพระฝางนั้นผูกพันอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหาธาตุที่เมืองสวางคบุรี และอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของเจ้าพระฝางเอง แกนกลางของชุมนุมเจ้าพระฝางก็คงเป็นคนในแถบเมืองสวางคบุรีที่ให้ความนับถือ ส่วนที่มีอำนาจมากนั้นก็คงเพราะมีชุมนุมท้องถิ่นอื่นๆ เข้าร่วมด้วยมาก (นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๕๐ : ๑๗๒)

ด้วยเหตุผลนี้จึงมีชาวบ้านจำนวนมากเข้ามาพึ่งพาอาศัยอยู่กับเจ้าพระฝาง เพื่อหลบหนีภัยอันตรายจากกองทัพพม่าที่ยกมาลาดตระเวนตามบ้านเล็กเมืองน้อยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีพระสงฆ์เข้ามาร่วมเป็นแม่ทัพนายกองในกองทัพเจ้าพระฝางด้วย

ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่า “เจ้าพระฝางตั้งแต่งนายทัพนายกองแต่พื้นพระสงฆ์ทั้งสิ้น คือพระครูคิริมานนท์ ๑ พระครูเพชรรัตน ๑ พระอาจารย์จันทร์ ๑ พระอาจารย์ทอง ๑ พระอาจารย์เกิด ๑ แต่ล้วนเปนอลัชชีมิได้ลอายแก่บาปทั้งนั้น” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๐๘) แสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์ในหัวเมืองฝ่ายเหนือจำนวนไม่น้อยได้เข้าร่วมกับเจ้าพระฝาง ซึ่งพระสงฆ์กลุ่มนี้ก็น่าจะเป็นหัวหน้าชุมนุมเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในหัวเมืองฝ่ายเหนือ แล้วก็มาเข้ากับเจ้าพระฝางในภายหลัง จึงทำให้ชุมนุมเจ้าพระฝางกลายเป็นชุมนุมที่ใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ และสามารถเอาตีชุมนุมเจ้าพิษณุโลกได้

รูปหล่อจำลองเจ้าพระฝาง ซึ่งได้มีการหล่อขึ้นตามภาพนิมิตของชาวบ้าน

(ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระฝาง)

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีเจ้าเมืองแพร่เข้าร่วมกับชุมนุมเจ้าพระฝางด้วย เพราะปรากฏหลักฐานว่าเจ้าเมืองแพร่ซึ่งในหลักฐานเรียกว่า “เมืองไชย” ก็เข้าด้วยกับเจ้าพระฝาง (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๔๑) แต่นิธิ เอียวศรีวงศ์สันนิษฐานว่าเป็นเจ้าเมืองน่าน (นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๕๐ : ๑๗๒) อย่างไรก็ตาม เมืองไชยผู้นี้กลับมาอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในภายหลัง ดังปรากฏในคำโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่า

เมืองไชยที่ร่วมร้าย เวียงสวางค์

พ่ายพระเดชคุณปาง ปิ่มม้วย

กลับน้อมศิโรตมางค์ มาเล่า

มาภักดิ์เป็นทหารด้วย อยู่ใต้บาทบงสุ์ ฯ

(นายสวนมหาดเล็ก, ๒๔๔๖ : ๖๑)

พระมหาธาตุเมืองฝางจากภาพถ่ายเก่า (ก่อน พ.ศ.๒๕๐๐)

(ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๓๑๐ แล้ว ยังมีหัวเมืองใหญ่ที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ เช่น เมืองพิษณุโลกในหัวเมืองฝ่ายเหนือ เมืองนครศรีธรรมราชในหัวเมืองปักษ์ใต้ เป็นต้น ก็ได้ตั้งตนเป็นอิสระ สร้างและแสวงหาอำนาจในระดับท้องถิ่นขึ้นมา ซึ่งในภายหลังเรียกว่า “ชุมนุม” ประกอบไปด้วยชุมนุมขนาดใหญ่อีก ๔ ชุมนุม ได้แก่

๑. ชุมนุมพระยาตาก (สิน) ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองจันทบุรี มีพระยาตากเดิมเป็นเจ้าเมืองตากเป็นหัวหน้า ต่อมาสามารถขับไล่พม่าออกไปได้และสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นมา เป็นชุมนุมที่ใหญ่และเข้มแข็งที่สุด ในภายหลังสามารถตีชุมนุมอื่นๆ ได้หมด รวมทั้งชุมนุมเจ้าพระฝางแห่งเมืองสวางคบุรีด้วย

๒. ชุมนุมเจ้าพิมาย ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพิมาย (อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา) มีกรมหมื่นเทพพิพิธ พระโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งถูกเนรเทศให้ไปอยู่ลังกา ภายหลังเมื่อทราบข่าวว่าบ้านเมืองระส่ำระสายจึงกลับมา และตั้งตนเป็นใหญ่ที่เมืองพิมายเป็นผู้นำ ชุมนุมนี้สามารถยึดเมืองนครราชสีมาได้

๓. ชุมนุมเจ้านคร ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช มีพระปลัด (หนู) ผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้นำ คุมกำลังหัวเมืองทางใต้ไว้ได้เกือบทั้งหมด

๔. ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพิษณุโลก มีเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นผู้นำ มีอำนาจปกครองตั้งแต่เมืองพิชัยซึ่งอยู่ทางเหนือลงไปจนถึงเมืองนครสวรรค์ซึ่งอยู่ทางใต้ (ดำรงราชานุภาพ, ๒๕๔๓ : ๒๙๒-๒๙๖)

เมื่อพิจารณาจากผู้นำและศูนย์กลางชุมนุมในแต่ละแห่ง ก็จะเห็นได้ว่าชุมนุมเจ้าพระฝาง เป็นชุมนุมที่มีพัฒนาการมาจากเมืองที่ค่อนข้างมีอำนาจทางการปกครองภายใต้ศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาน้อยที่สุดในบรรดากลุ่มชุมนุมที่ตั้งตนเป็นใหญ่หลังกรุงศรีอยุธยาสิ้นอำนาจ

อย่างไรก็ดี ชุมนุมเจ้าพระฝางตามความที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยหลังสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ให้ภาพของชุมนุมเจ้าพระฝางที่ไม่มีความหมายเท่าไรนัก เพียงแต่หัวหน้าที่เป็นพระสงฆ์คิดทะเยอทะยานอยากตั้งตัวเป็นใหญ่ในแผ่นดินโดยปราศจากความชอบธรรม ในที่สุดจึงถูกปราบปรามลงได้อย่างราบคาบ

แต่เมื่อพิจารณาในอีกแง่หนึ่งว่า ชุมนุมเจ้าพระฝางเป็นชุมนุมสุดท้ายที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบได้ เป็นชุมนุมที่สามารถรวบรวมเอาชุมนุมเมืองพิษณุโลกเข้าไว้ได้ บริเวณอิทธิพลของชุมนุมนี้จึงประมาณเท่าๆ กับดินแดนที่เคยเป็นเขตเมืองเหนือหรือแคว้นสุโขทัยแต่เดิมนั่นเอง จำนวนพรรคพวกผู้คนในดินแดนแห่งนี้จึงมีมาก จนยากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะทรงปราบปรามลงได้ (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, ๒๕๔๓ : ๕๑-๕๒)

ภาพวาดเจ้าพระฝางและพระพุทธรูปพระฝางตามจินตนาการ

(ที่มา : มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์)

ตอนที่ ๕

การขยายอำนาจ

ของชุมนุมเจ้าพระฝาง

ภายหลังที่ศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาล่มสลายแล้ว ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีพระยาตากรวบรวมกำลังพลขับไล่กองทัพกรุงอังวะที่เหลืออยู่บางส่วนออกไปได้ แล้วสถาปนาศูนย์อำนาจรัฐขึ้นมาใหม่ที่เมืองธนบุรี และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้มีความพยายามที่จะขยายอำนาจเพื่อรวบรวมดินแดนของกรุงศรีอยุธยาเดิมให้กลับมาอยู่ใต้ศูนย์อำนาจรัฐของพระองค์ ได้ทรงนำกำลังออกปราบปรามหัวเมืองต่างๆ ที่ตั้งตนเป็นอิสระตามภูมิภาคต่างๆ ภายหลังการล่มสลายของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา โดยเลือกที่จะปราบเมืองพิษณุโลกเป็นแห่งแรกในปี พ.ศ.๒๓๑๑ ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่าเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือมีกำลังพลอยู่มาก หากปราบปรามได้ก็จะสามารถใช้เป็นกำลังหลักในการทำสงครามขยายอำนาจของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีได้ (ขวัญเมือง จันทโรจนี, ๒๕๓๔ : ๓๑-๓๒)

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า “เสด็จยกพลนิกรดำเนินทัพ สรรพด้วยโยธาทหารใหญ่น้อยขึ้นไปปราบเมืองพิสณุโลกยถึงตำบลเกยไชย พญาพิศณุโลกยรู้ประพฤติเหตุ แต่งพลทหารให้หลวงโกษา (ยัง) ยกออกมาตั้งรับ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จนำพลทั้งปวงเข้ารณรงค์ด้วยข้าศึกครั้งนั้น ฝ่ายข้าศึกยิงปืนมาดังห่าฝน ต้องพระชงฆ์เบื้องซ้าย เลียบตัดผิวพระมังสะไป จึงให้ลาดทัพกลับยังกรุงธนบุรีย์” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๘๘) ความในพระราชพงศาวดารได้แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยอำนาจของเมืองพิษณุโลกก็ขยายลงไปถึงบริเวณตำบลเกยไชย ซึ่งปัจจุบันอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านเขตอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เหนือเมืองนครสวรรค์ขึ้นมาเล็กน้อย และแสดงให้เห็นถึงจำนวนกำลังพลและอาวุธของเมืองพิษณุโลกว่ามีประสิทธิภาพไม่น้อย จนทำให้กองทัพกรุงธนบุรีต้องถอยทัพกลับไป

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์

ฝ่ายชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ก็มีความพยายามที่จะฟื้นฟูอำนาจท้องถิ่นของเมืองพิษณุโลกซึ่งเคยเป็นศูนย์อำนาจรัฐสุโขทัยและเป็นศูนย์กลางอำนาจในหัวเมืองฝ่ายเหนือมาแต่เดิม ดังปรากฏในจดหมายเหตุจีนว่า หูซื่อลู่ (พิษณุโลก) ได้มีพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้ากรุงจีน เพื่อขอให้พระองค์ยอมรับตนเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้องของกรุงศรีอยุธยา สืบต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์เดิมที่สิ้นพระชนม์ในระหว่างสงคราม และได้ต่อต้านรัฐที่สถาปนาโดยเจิ้นเจ้า (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) จนเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พระจักรพรรดิจีนไม่ยอมรับสถานะของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ของกรุงศรีอยุธยา เพราะพระองค์ยังไม่สามารถปราบปรามรัฐอิสระเล็กๆ ได้ (ณัฏฐภัทร จันทวิช, 2523 : 21-24)

ดังจะเห็นได้ว่า ถึงแม้เมืองพิษณุโลกจะสามารถต่อต้านการโจมตีของกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ แต่ก็ยังมีกองกำลังฝ่ายเจ้าพระฝางซึ่งมีเจ้าพระฝาง (เรือน) เป็นผู้นำ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสวางคบุรีซึ่งเป็นเมืองบริวารเมืองหนึ่งของเมืองพิชัย เดิมมีอำนาจเหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไปจนถึงเมืองน้ำปาด กระทั่งแดนลาว (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๐๘) และพยายามแข่งขันอำนาจกับเจ้าพระยาพิษณุโลกด้วย ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับภาษามคธระบุว่าเจ้าพระยาพิษณุโลกได้กรีธาพลใหญ่ไปรบกับกองกำลังฝ่ายเจ้าพระฝางถึง ๓ ครั้ง แต่ไม่แพ้ไม่ชนะกัน (สมเด็จพระพนรัตน (แก้ว), ๒๕๕๐ : ๘๓)

ส่วนพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่า เจ้าพระฝางได้ “...จัดแจงกองทัพยกลงมาตีเมืองพระพิศณุโลก ตั้งค่ายล้อมเมืองทั้งสองฟากน้ำ แลเจ้าพิศณุโลกยกพลทหารออกต่อรบเปนสามารถ ทัพฝางจะหักเอาเมืองมิได้ แต่รบกันอยู่ประมาณหกเดือน ทัพฝางก็พากันเลิกกลับไปเมือง” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๐๘) ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าชุมนุมเจ้าพระฝางก็มีความพยายามที่จะขยายอำนาจลงมาทางใต้เช่นกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะต้องการเสบียงอาหารสำหรับเลี้ยงดูผู้คนในชุมนุมก็เป็นได้

ต่อมาเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ก็ถึงแก่พิราลัย พระอินทร์อากรซึ่งเป็นน้องชายเจ้าพระยาพิษณุโลกก็ขึ้นครองเมืองแทน แต่พระอินทร์อากรนั้นเป็นคนไม่มีความสามารถในการสงคราม กองทัพเจ้าพระฝางจึงลงมาตีเมืองพิษณุโลกอีกครั้ง ต่อรบต้านทานอยู่ได้ประมาณ ๓ เดือน ชาวเมืองไม่สู้รักใคร่นับถือ ก็เกิดไส้ศึกขึ้นในเมือง เปิดประตูเมืองรับข้าศึกในเวลากลางคืน กองทัพเจ้าพระฝางก็เข้าเมืองได้ จับได้ตัวพระอินทร์อากร เจ้าพระฝางให้ประหารชีวิตเสียแล้วเอาศพขึ้นประจานไว้ในเมือง จึงให้เก็บเอาทรัพย์สิ่งของทองเงินต่างๆ ของเจ้าเมืองกรมการและชาวเมืองทั้งปวงได้เป็นอันมาก ให้ขนเอาปืนใหญ่น้อยและกวาดต้อนครอบครัวอพยพชาวเมืองพิษณุโลกขึ้นไปยังเมืองสวางคบุรี แล้วก็เลิกทัพกลับไปเมือง และยังมีชาวเมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตรที่แตกหนี พาครอบครัวอพยพลงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ กรุงธนบุรีเป็นอันมากด้วย (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๒๓ ; ดำรงเดชานุภาพ, ๒๕๔๓ : ๓๒๐)

ซากอาคารสถานที่ในเขตพระราชวังจันทน์

ซึ่งเป็นบริเวณศูนย์อำนาจของเมืองพิษณุโลกช่วงก่อนปี พ.ศ.๒๓๑๘

เมื่อพระอินทร์อากรถูกประหารชีวิตก็ถือว่ากลุ่มอำนาจท้องถิ่นเดิมของเมืองพิษณุโลกก็ล่มสลายลง พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ว่า “ขณะนั้นบรรดาหัวเมืองเหนือทั้งปวงนั้น ก็เป็นสิทธิแก่เจ้าพระฝางทั้งสิ้น” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๒๓) เจ้าพระฝางได้มอบหมายให้หลวงโกษา (ยัง) อดีตแม่ทัพคนสำคัญของเจ้าพระยาพิษณุโลกและทหารส่วนหนึ่งทำหน้าที่คอยส่งข่าว สกัดทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและรักษาเมืองพิษณุโลก

เป็นอันว่าเมืองสวางคบุรีของเจ้าพระฝางมีอำนาจปกครองบริเวณหัวเมืองเหนือได้เกือบทั้งหมด และมีความพยายามที่จะขยายอำนาจลงทางใต้เรื่อยๆ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า

ลุศักราช ๑๑๓๒ (พ.ศ.๒๓๑๓) ปีขาลโทศก ถึง ณ เดือนหก ฝ่ายเจ้าพระฝางซึ่งเป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงนั้น ประพฤติพาลทุจริตทุศีลกรรมลามกบริโภคสุรา กับทั้งพวกสงฆ์อลัชชี ซึ่งเป็นนายทัพนายกองทั้งปวงนั้น แลชวนกันกระทำมนุษย์วิคหฆาตกกรรมปาราชิก แล้วยังนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตรอยู่ หาละจากเพศสมณะไม่ แล้วเกณฑ์กองทัพให้ลงมาลาดตระเวนตีเอาเข้าปลาอาหาร และเผาบ้านเรือนราษฎรเสียหลายตำบล จนถึงเมืองอุทัยธานีเมืองชัยนาท และราษฎรหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งอยู่ในพระราชอาณาเขตได้ความเคืองแค้นขัดสนนัก...” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๓๓)

จากข้อความในพระราชพงศาวดารจะเห็นได้ว่า เจ้าพระฝางได้ส่งทหารลงไปลาดตระเวนและตีเอาเสบียงอาหารจากราษฎรจนถึงเขตเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาท และมีความพยายามที่จะตระเวนลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้อาจเพื่อสังเกตการณ์กองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และคงหมายจะส่งกองทัพลงไปตีกรุงธนบุรี (ดำรงราชานุภาพ, ๒๕๔๓ : ๓๓๐) ซึ่งส่งผลถึงความมั่นคงของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต้องปราบปรามให้จงได้

ตอนที่ ๖

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เคลื่อนทัพปราบปรามคนอาสัตย์อาธรรม

อดีตแม่ทัพคนสำคัญของเจ้าพระยาพิษณุโลกและทหารส่วนหนึ่งทำหน้าที่คอยส่งข่าว

สกัดทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ภาพวาดจินตนาการ หลวงโกษา (ยัง)

ล่วงมาจนถึงเดือน ๖ ปีขาล พ.ศ.๒๓๑๓ กรมการเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาทบอกลงมายังกรุงธนบุรีว่า เจ้าพระฝางให้กองทัพลงมาลาดตระเวนถึงเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาท (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๓๓) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงมีรับสั่งให้เตรียมกองทัพจะยกไปตีหัวเมืองเหนือในปีขาลนั้น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า

“...ครั้นได้ทราบจึงมีพระราชดำรัสให้เกณฑ์กองทัพ จะยกไปปราบอ้ายพวกเหล่าร้ายฝ่ายเหนือให้แผ่นดินราบคาบ จึงโปรดให้พระยาพิชัยราชาเป็นแม่ทัพถือพลห้าพัน สรรพด้วยช้างม้าสรรพาวุธ ยกไปทางฟากตะวันตกทัพหนึ่ง ขณะนั้นพระยายมราชถึงแก่กรรม จึงโปรดให้พระยาอนุชิตราชาเลื่อนที่เป็นพระยายมราช (ต่อมาคือ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยุดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) ให้เป็นแม่ทัพถือพลห้าพัน สรรพด้วยช้างม้าสรรพสัตราวุธยกไปฟากตะวันออกทัพหนึ่ง และทัพบกทั้งสองทัพ เป็นคนหมื่นหนึ่งให้ยกล่วงไปก่อน” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๓๔)

ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า “จนถึงลุศักราช ๑๑๓๒ ปีขาลโทศก (พ.ศ.๒๓๑๓) วันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๘ จะยกกองทัพไปปราบคนอาสัตย์อาธรรมฝ่ายเหนือ ด้วยอ้ายเหล่าร้ายนั้นยกลงมาลาดตระเวนตีเอาข้าวปลาอาหารเผาบ้านเรือนเสียหลายตำบล ไพร่พลหัวเมืองได้ความแค้นเคืองขัดสนนัก เหตุฉะนี้จึงให้เจ้าพญาพิไชราชา ถือพล ๕,๐๐๐ ยกไปทางตะวันตก พญายมราชถือพล ๕,๐๐๐ เข้ากันเป็นคน ๑๐,๐๐๐ สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทั้งปวง” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๓)

จากนั้นพระองค์จึงเคลื่อนทัพหลวงตามขึ้นไป พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า “...วันเสาร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ เพลาโมงเช้าเศษ เป็นมหาพิชัยฤกษ์ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จจากเมืองธนบุรีย ไปโดยทางชลมารค ทรงนาวาพระที่นั่งพร้อมด้วยหมู่พลพยุหโยธาเสนา ข้าทหารทั้งปวงประมาณ ๑๒,๐๐๐ ...” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๓)

ภาพวาดจินตนาการการสู้รบทางน้ำโดยกระบวนเรือ

ของทัพหลวงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ข้อมูลชีวประวัติพระยาพิชัยดาบหักที่แต่งขึ้นโดยพระยาศรีสัชนาลัยบดีระบุว่า พระยาพิชัยดาบหักเมื่อครั้งที่เป็นพระยาสีหราชเดโชได้ตามเสด็จในเรือพระที่นั่งด้วย (พระยาศรีสัชนาลัยบดี, ๒๕๒๘ : ๑๑๐)

ในการสงครามครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จโดยกระบวนทัพเรือและจัดทัพขึ้นไปตีชุมนุมเจ้าพระฝางเป็น ๓ ทัพ ทัพที่ ๑ เป็นทัพหลวงมีจำนวนพล ๑๒,๐๐๐ ให้พระยายมราชถือพล ๕,๐๐๐ เป็นทัพที่ ๒ ยกขึ้นไปทางบกข้างฟากตะวันออกลำน้ำแควใหญ่ (แม่น้ำน่าน) พระยาพิชัยราชาถือพล ๕,๐๐๐ เป็นทัพที่ ๓ ยกขึ้นไปทางบกข้างฟากตะวันตก (ดำรงรา-ชานุภาพ, ๒๕๔๓ : ๓๓๐)

ในขณะเดียวกันช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้มีแขกเมืองยักกระตราส่งปืนใหญ่มาถวาย ๑๐ กระบอก และแขกเมืองตรังกานู เอาปืนคาบศิลาเข้ามาถวาย ๒,๒๐๐ กระบอก (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๓) จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรบครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ฝ่ายเจ้าพระฝางรู้ว่ากองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพขึ้นมา จึงให้หลวงโกษา (ยัง) ขุนนางเก่าเมืองพิษณุโลก ผู้ที่เคยรบกับกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ปากน้ำเกยชัย คุมกองทัพลงมาตั้งรับที่เมืองพิษณุโลก กองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเข้าตีเมืองได้ในช่วงกลางคืน หลวงโกษาจึงหนีมาตั้งค่ายรับศึกอยู่ที่บริเวณปากโทก เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นมาเล็กน้อย แต่ไพร่พลแตกหนีไปเสียมาก หลวงโกษาเห็นเหลือกำลังก็ทิ้งค่ายหนีกลับขึ้นไปยังเมืองสวางคบุรี (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๓๕)

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เมืองพิษณุโลกแล้ว กองทัพบกยังขึ้นไปไม่ถึงทั้ง ๒ ทัพ ด้วยเป็นฤดูฝนหนทางบกเดินลำบาก จึงประทับรออยู่ที่เมืองพิษณุโลก ๙ วัน กองทัพพระยายมราชจึงขึ้นไปถึง ต่อมาอีก ๒ วันกองทัพพระยาพิชัยราชาก็ขึ้นไปถึง มีรับสั่งให้จ่ายเสบียงอาหารแล้วให้กองทัพบกรีบยกตามข้าศึกที่แตกหนีขึ้นไปยังเมืองสวางคบุรีพร้อมกันทั้ง ๒ ทาง ส่วนกองทัพเรือยังไม่ยกขึ้นไป ด้วยทรงพระราชดำริว่าเวลานั้นน้ำในแม่น้ำยังน้อย หนทางต่อขึ้นไปลำน้ำแคบตลิ่งสูงทั้ง ๒ ฟาก ถ้าข้าศึกมาดักทางทัพเรือจะรบพุ่งยังเสียเปรียบ แต่ดำรัสว่าไม่ช้าดอกน้ำเหนือคงหลากมา คงได้ยกขึ้นไปตามกัน พอสองสามวันน้ำก็หลากดังทรง(ดำรงราชานุภาพ, ๒๕๔๓ : ๓๓๑) พระองค์ก็ยกกองทัพเรือตามขึ้นไป

เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่เหนือความคาดหมาย พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกไว้ว่าเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโดยแท้

“...แล้วพอทัพบกข้ามแม่น้ำน้อยเสียได้สามวันน้ำก็เกิดมากขึ้น เดชะพระบารมีบรมโพธิสมภาร ครั้นถึงสามวัน น้ำก็เกิดมากเสมอตลิ่งบ้างล้นตลิ่งบ้างประดุจตรัสไว้นั้น จำเดิมแต่นั้น กองทัพบกทัพเรือทั้งปวงได้แจ้งเหตุแล้ว ก็ยกมือขึ้นกราบถวายบังคมเอาพระเดชเดชานุภาพปกเกล้าฯ มีน้ำใจมิได้ย่อท้อต่อการรณรงค์ ก็องก็อาจที่จะรบสู้หมู่ปัจจามิตรข้าศึก ด้วยเห็นพระบารมีเป็นแท้...” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๓)

แม่น้ำน่านที่หน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ เมืองพิษณุโลก ในยามน้ำหลาก

หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้ยกทัพหลวงเสด็จออกจากเมืองพิษณุโลกโดยทางชลมารค เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๙ เวลาประมาณ ๐๘.๐๐ นาฬิกา

วันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๙ เพลา ๒ โมงเช้า ยกทัพหลวงจากเมืองพิษณุโลกโดยทางชลมารค ประทับรอนแรมไปได้ ๓ เวน พบผู้ถือหนังสือบอกกองหน้า ใจความว่าได้เมืองฝางแล้ว แต่อ้ายเรือนซึ่งคิดมิชอบนั้นหนีไป ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงยังติดตามอยู่ ก็เสด็จรีบไปทั้งกลางวันกลางคืน ถึงตำหนักค่ายหาดสูง ให้นายทัพนายกองเกณฑ์กันไปติดตามอ้ายเรือนฝางแลนางพญาช้างเผือกจงได้” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๔)

ภาพวาดจินตนาการขบวนเรือพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ในการเสด็จปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง พ.ศ.๒๓๑๓

นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ว่าในแง่อุดมการณ์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เปรียบที่จะประณามกลุ่มเจ้าพระฝางว่าเป็น “คนอาสัตย์อาธรรมฝ่ายเหนือ” ได้อย่างสะดวก ขุนนางจำนวนไม่น้อยที่รับราชการขณะนั้นก็พร้อมจะยอมรับได้ทันทีว่ากลุ่มเจ้าพระฝางเป็น “คนอาสัตย์อาธรรม” เพราะย่ำยีพระธรรมวินัยและย่ำยีจารีตประเพณีทางการเมืองของราชอาณาจักรอยุธยาไปพร้อมกัน อีกทั้งการปราบชุมนุมเจ้าพระฝางยังสอดคล้องกับการที่พระเจ้าแผ่นดินของราชอาณาจักรอยุธยาต้องแสดงพระองค์เป็นธรรมราชาด้วย เพราะเป็นการยอยกพระพุทธศาสนามิให้ถูกฝ่ายอธรรมย่ำยี (นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๕๐ : ๑๗๐-๑๗๑)

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ จะมีการบันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระบารมีหรือเหตุการณ์ปาฏิหาริย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเมืองสวางคบุรี ตลอดจนให้ภาพว่าพระองค์ทรงเป็น “พุทธมามกะ” อย่างชัดเจนภายหลังจากที่ปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางเสร็จสิ้น เช่น การสมโภชปูชนียสถานสำคัญต่างๆ ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ เป็นต้น

น่าสังเกตประการหนึ่ง คือ การเสด็จยกทัพขึ้นมาตีเมืองสวางคบุรีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในครั้งนี้ พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการซุ่มโจมตีของกองทัพเมืองสวางคบุรีเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะพระองค์เคยถูกหลวงโกษา (ยัง) ซุ่มโจมตีจนถูกยิงที่พระชงฆ์เบื้องซ้าย (แข้ง) มาแล้วที่ตำบลเกยไชยในเขตเมืองนครสวรรค์ ครั้งที่ยกทัพขึ้นมาปราบปรามชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก พ.ศ.๒๓๑๑ จนต้องถอยทัพกลับกรุงธนบุรีมาแล้ว (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๘๘) ครั้งนี้จึงต้องให้ความระมัดระวังเรื่องการซุ่มโจมตีเป็นพิเศษ

ดังปรากฏข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน ระบุสอดคล้องกันว่า “แล้วตรัสว่าเราจะยกทัพเรือขึ้นไป บัดนี้ น้ำยังน้อยนักตลิ่งยังสูงอยู่ อ้ายเหล่าร้ายจะได้ท่วงทีลอบยิงเอา” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๔ ; พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน, ๒๕๔๒ : ๓๓๘) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายิ่งน้ำในแม่น้ำมีน้อยเท่าใดก็ยิ่งทำให้ตลิ่งสูงง่ายต่อการซุ่มโจมตีอย่างมาก พระองค์จึงตรัสห้ามมิให้ยกทัพขึ้นไปในช่วงที่น้ำน้อย

ในขณะเดียวกันก่อนหน้าที่จะเสด็จยกทัพหลวงขึ้นมาเมืองสวางคบุรีนั้น ได้มีแขกเมืองยักกระตราส่งปืนใหญ่มาถวาย ๑๐ กระบอก และแขกเมืองตรังกานู เอาปืนคาบศิลาเข้ามาถวาย ๒,๒๐๐ กระบอก ซึ่งเสริมความมั่นใจให้กองทัพของพระองค์มากยิ่งขึ้น เพราะปืนเป็นอาวุธสำคัญที่จะต่อสู้กับการซุ่มโจมตีได้ จึงทำให้ศึกเมืองสวางคบุรีครั้งนี้ทรงมีความมั่นใจที่จะมีชัยชนะเหนือเจ้าพระฝางได้

ปืนคาบศิลา

อาวุธสำคัญที่กองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชใช้ในศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ.๒๓๑๓

ตอนที่ ๗

สมรภูมิศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ.๒๓๑๓

เมื่อทัพหน้าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรี ก็เกิดการต่อสู้กันเป็นกำลังระหว่างกองทัพพระยายมราชและพระยาพิชัยราชากับกองทัพเจ้าพระฝาง ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาความว่า

ฝ่ายกองทัพพระยายมราช และพระยาพิชัยราชายกขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรี ก็ให้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ และเมืองสวางคบุรีนั้น ตั้งแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดิน หามีกำแพงไม่ เจ้าพระฝางก็เกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาเชิงเทินรอบเมืองยิงปืนใหญ่น้อยต่อรบป้องกันเมือง แต่คิดครั่นคร้ามพระเดชา-นุภาพเป็นกำลัง...” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๓๖)

จากข้อความในพระราชพงศาวดารจะเห็นได้ว่า กองทัพของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาได้ตั้งค่ายล้อมเมืองสวางคบุรีไว้ ในขณะเดียวกันก็ได้ยิงปืนใหญ่น้อยต่อสู้กัน โดยที่ฝ่ายเมืองสวางคบุรีนั้นมีเพียงระเนียดไม้ขอนสักทำเป็นกำแพงเท่านั้น ไม่ได้เป็นกำแพงอิฐหรือคันดินสูงเหมือนเมืองใหญ่หลายเมืองในลุ่มแม่น้ำน่าน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเมืองสวางคบุรีมีสภาพภูมิประเทศที่เอื้อต่อยุทธศาสตร์อยู่แล้วจึงไม่มีการสร้างกำแพงเมืองก็เป็นได้ สภาพพื้นที่หรือสมรภูมิศึกเมืองสวางคบุรีในปี พ.ศ.๒๓๑๓ จึงจำเป็นที่จะต้องอธิบายให้ทราบในที่นี้ด้วย

ข้อมูลจากการลงพื้นที่ของผู้เขียนและการสัมภาษณ์คุณตาเย็น ภู่เล็ก ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลผาจุก ซึ่งเป็นชาวบ้านพระฝางโดยกำเนิดและเคยเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดพระฝาง ทำให้ทราบว่าเมืองสวางคบุรีมีคลองธรรมชาติ ๒ สายเป็นแนวคูเมืองธรรมชาติ นอกเหนือจากเขตเมืองทางทิศเหนือที่ติดกับแม่น้ำน่าน

ทางทิศตะวันออกมีคลองน้ำพุ ซึ่งไหลมาจากบ่อน้ำพุเจ้าพระฝางทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองแล้วไหลมาลงแม่น้ำน่านทางด้านตะวันออกของเมือง ทางทิศตะวันตกมีคลองพระฝาง ซึ่งไหลมาจากเชิงเขาใกล้กับบ่อน้ำพุเจ้าพระฝางแล้วไหลมาลงแม่น้ำน่านที่บ้านบุ่ง ทางด้านทิศตะวันตกของเมือง คลองทั้งสองสายมีขนาดร่องน้ำที่ลึกมาก ในอดีตมีน้ำไหลอยู่ตลอดทั้งปี แต่ปัจจุบันในฤดูแล้งน้ำค่อนข้างมีน้อยเนื่องจากว่าป่าไม้ต้นน้ำถูกทำลายไปมาก (เย็น ภู่เล็ก, สัมภาษณ์)

ซ้าย : คลองน้ำพุ คลองคูเมืองธรรมชาติทางทิศตะวันออก

ขวา : คลองพระฝาง คลองคูเมืองธรรมชาติทางทิศตะวันตก

คุณตาเย็น ภู่เล็กยังได้ให้ข้อมูลว่า ตอนที่ท่านยังเป็นเด็ก พ่อแม่พาไปทำไร่ทำนายังเคยเห็นหลักไม้ขนาดใหญ่ปักเป็นแนวคล้ายระเนียดหรือกำแพงเมือง ที่ริมฝั่งคลองพระฝางทางทิศใต้ของเมือง ท่านเชื่อว่าน่าจะเป็นแนวกำแพงเมืองสวางคบุรีที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยเจ้าพระฝางเรืองอำนาจเพื่อรับศึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (เย็น ภู่เล็ก, สัมภาษณ์)

แผนที่แสดงที่ตั้งของเมืองสวางคบุรี จะเห็นได้ว่าถูกขนาบด้วยลำคลองทุกด้าน

(ปรับปรุงจาก Google earth)

นอกจากนี้ถ้าหากดูจากแผนที่ทางภูมิศาสตร์ จะพบว่าบริเวณที่ตั้งของเมืองสวางคบุรีเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำน่าน มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก ที่ราบลุ่มแห่งนี้ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาถึง ๓ ด้านด้วยกัน ยกเว้นทางทิศตะวันตกด้านเดียวเท่านั้นที่ไม่มีภูเขากั้น มีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบลุ่มหุบเขา และถือว่าเป็นที่ราบลุ่มแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง

นอกจากที่ตั้งของเมืองสวางคบุรีจะมีความอุดมสมบูรณ์แล้ว ในทางยุทธศาสตร์ก็เป็นชัยภูมิที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เป็นการดีที่มีภูเขาล้อมรอบ เพราะข้าศึกสามารถเข้ามาได้เพียง ๒ ทาง คือ ทางด้านตะวันตกและด้านตะวันออก แต่ทว่าทางตะวันออกนั้นอาศัยเข้ามาทางแม่น้ำน่านตามหุบเขาเพียงทางเดียวเท่านั้น หากมีการตั้งด่านสกัดกั้นขวางแม่น้ำข้าศึกก็เข้ามายังตัวเมืองได้ลำบาก ในขณะที่ทางด้านตะวันตกสามารถเดินทางเข้ามาได้ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยสรุปแล้วก็เหมือนกับว่าข้าศึกสามารถเข้าตีเมืองได้ทางตะวันตกด้านเดียวเท่านั้น

แม้ว่าสภาพภูมิประเทศดังกล่าวที่มีความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถที่จะต้านทานกองทัพอันห้าวหาญและมีจำนวนไพร่พลนับหมื่นของกองทัพพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาได้ จนในที่สุดกองทัพเจ้าพระฝางต้องแตกพ่ายไป

ภาพวาดจินตนาการพระยายมราช พระยาพิชัยราชาและแม่ทัพนายกอง

ปรึกษาราชการทัพในค่ายหัวไผ่หลวง เหนือบึงกะโล่

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในเขตบ้านคุ้งตะเภา ชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งในเขตเมืองสวางคบุรี ได้ให้ข้อมูลที่สื่อให้เห็นว่ากองทัพของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาไม่ได้เข้าตีเมืองสวางคบุรีในตำแหน่งที่มีคลองลึกดังกล่าวมาแล้วขวางอยู่ หากแต่เข้าตีทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองสวางคบุรีซึ่งเป็นที่ราบและทุ่งกว้าง

แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของทุ่งบ่อพระและหัวไผ่หลวง

ซึ่งเกี่ยวข้องกับศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ.๒๓๑๓ (ปรับปรุงจาก Google earth)

บริเวณ “ทุ่งบ่อพระ” เป็นตำแหน่งที่ชาวบ้านให้สัมภาษณ์ว่ามีคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นจุดปะทะรบพุ่งกันระหว่างกองทัพกรุงธนบุรีกับกองทัพเจ้าพระฝาง เคยมีการพบชิ้นส่วนอาวุธ เช่น หอกและดาบโลหะ เป็นต้น อยู่ในบริเวณทุ่งบ่อพระ (หลวงพ่ออู๋ ปญฺญาวชิโร, สัมภาษณ์)

คำว่า “บ่อพระ” นี้ไม่ปรากฏที่มาอย่างชัดเจน แต่กลางทุ่งเคยมีบ่อน้ำที่สามารถใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคได้ ปัจจุบันถูกดินถมและสูญหายไปแล้ว บางคนให้ข้อมูลว่าเคยมีการพบพระพุทธรูปในบ่อน้ำ บ้างก็ว่าเป็นบ่อน้ำที่พระสงฆ์เคยนำน้ำไปใช้สรง (พระฝ้าย เตชพโล, สัมภาษณ์) ในขณะเดียวกันยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจเพี้ยนมาจากคำว่า “บ่อพัก” ก็เป็นได้

ทุ่งบ่อพระเมื่อมองจากทางทิศเหนือของหัวไผ่หลวง-บึงกะโล่

จะเห็นเขาขุนฝางอยู่ด้านหลัง

กองทัพบกของของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาเมื่อมาถึงเขตเมืองสวางคบุรีนั้น สันนิษฐานว่าได้ตั้งค่ายใหญ่อยู่บริเวณที่เรียกว่า “หัวไผ่หลวง” ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของบึงกะโล่ในปัจจุบัน เนื่องจากบริเวณนี้มีคำบอกเล่าจากชาวบ้านว่าเป็นที่ตั้งของกองทัพสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช (พระสมุห์สมชาย จีรปญฺโญ, สัมภาษณ์)

โดยยกทัพมาจากริมฝั่งแม่น้ำน่านบริเวณ “ท่าควาย” ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของวัดคุ้งตะเภา นอกจากจะมีคำบอกเล่าว่าเป็นท่าน้ำที่พ่อค้านำควาย-วัวมาลงแล้ว ท่าควายยังเป็นท่าน้ำสำคัญในเขตนี้ด้วย จากนั้นก็คงเคลื่อนทัพจากสองฝั่งแม่น้ำน่านไปตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่บริเวณหัวไผ่หลวงและมีค่ายเล็กกระจายล้อมรอบเมืองสวางคบุรี

เส้นทางนี้ เมื่อครั้งที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เสด็จเมืองฝางและทอดพระเนตรวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถในปี พ.ศ.๒๔๔๔ พระองค์ก็เสด็จตามเส้นทางนี้ ดังปรากฏในจดหมายระยะทางไปพิษณุโลกว่าเสด็จมาทางเรือแล้วขึ้นที่ท่าวัดป่ากล้วยใต้บ้านคุ้งตะเภาลงมาเล็กน้อย “...ลงเรือเล็กออกจากที่พัก ขึ้นไปตามลำน้ำ จอดที่วัดป่ากล้วย ฝั่งตะวันออกแม่น้ำ ขึ้นม้าตัดทางตรงไปเมืองฝาง ตามทางตอนริมตลิ่งเปนป่าพง ลึกเข้าไปเปนป่าเตงรังตลอด ทางเปนน้ำเปนโคลน เพราะเมื่อคืนนี้ฝนตกยังรุ่ง ม้าวิ่งได้บ้าง ไม่ได้ต้องเดินไปบ้างในที่ต้องลุยน้ำ ตอนจวนถึงเมืองฝางเปนป่าแดงเพราะใกล้แม่น้ำ...” (นริศรานุวัดติวงศ์, ๒๕๐๖ : ๔๘)

เมื่อพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศแล้วพบว่า บริเวณหัวไผ่หลวงเป็นที่ดอนอยู่ติดกับบึงกะโล่ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรี จึงมีความเป็นไปได้อาจเป็นที่ตั้งค่ายของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาในศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ.๒๓๑๓ ก็เป็นได้ เพราะทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรีก็เป็นทางเดียวที่เป็นที่ราบ สามารถเข้าตีเมืองสวางคบุรีได้สะดวกมากที่สุด

ภาพวาดจินตนาการกองทัพกรุงธนบุรีต่อสู้กับกองทัพเจ้าพระฝางที่สมรภูมิทุ่งบ่อพระ

ตอนที่ ๘

กาลอวสาน

แห่งอำนาจของเจ้าพระฝาง

กองทัพพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาเมื่อยกขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรีก็เข้ามาล้อมเมืองไว้ พวกชาวเมืองเห็นกองทัพหน้าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีกำลังสามารถ ก็พากันครั่นคร้ามไม่กล้าหาญดังแต่ก่อน เจ้าพระฝางเห็นเหลือกำลังที่จะรบพุ่งเอาชัยชนะได้จึงทิ้งเมือง หลบหนีไปในความมืดท่ามกลางสงคราม พร้อมด้วยลูกช้างผังเผือก ดังปรากฏสถานการณ์ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า

...เจ้าพระฝางก็เกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาเชิงเทินรอบเมืองยิงปืนใหญ่น้อยต่อรบป้องกันเมือง แต่คิดครั่นคร้ามพระเดชานุภาพเป็นกำลัง ขณะนั้นช้างพังช้างหนึ่งอยู่ในเมืองตกลูกเป็นพังเผือกสมพงศ์ และเจ้าพระฝางจึงว่าช้างเผือกนี้มิได้บังเกิดเป็นของคู่บุญของเรา เกิดเป็นพาหนะสำหรับบุญแห่งท่านทัพใต้ซึ่งยกขึ้นมานั้น ก็ยิ่งคิดเกรงกลัวพระบารมียิ่งนัก และสู้รบอยู่ได้สามวัน เจ้าพระฝางก็พาสมัครพรรคพวกหนีออกจากเมืองในกลางคืนไปข้างทิศเหนือ พวกทหารก็นำเอาลูกช้างเผือกกับทั้งแม่ช้างพาหนีไปด้วย กองทัพกรุงก็เข้าเมืองได้ แล้วแต่งคนถือหนังสือบอกลงมายังทัพหลวง ณ เมืองพระพิษณุโลก” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๓๖)

จะเห็นได้ว่า ในขณะนั้นช้างพังเชือกหนึ่งของเจ้าพระฝางตกลูกเป็นช้างผังเผือกตัวหนึ่ง เจ้าพระฝางคิดเห็นว่าช้างเผือกเกิดขึ้นในเวลาข้าศึกล้อมเมืองเป็นของเกิดสำหรับบุญบารมีข้าศึก ก็ยิ่งท้อใจต่อสู้อยู่ได้ ๓ วัน ก็พาสมัครพรรคพวกยกออกจากเมืองในเวลากลางคืนตีหักหนีไปข้างทิศเหนือ

ในจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวถึงเหตุการณ์ศึกเมืองสวางคบุรีว่า “...ปีขาล โทศก ไปตีเมืองสวางคบุรี พระฝางมีช้างเผือกลูกบ้านออก ยังไม่จับหญ้า รู้ว่าทัพเมืองใต้ยกขึ้นไปจะรบเอาช้างเผือก จึ่งเสี่ยงหญ้าว่าช้างนี้คู่บุญเมืองเหนือ ให้รับหญ้าเมืองเหนือ คู่บุญเมืองใต้ ให้รับหญ้าเมืองใต้ รับหญ้าเมืองใต้ พอทัพถึงเข้าตีได้เมือง พระฝางพาช้างหนี...” (พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี, ๒๔๗๒ : ๕)

ภาพวาดเจ้าพระฝางนั่งเปลให้ทหารหามหลบหนีอกจากเมือง พร้อมด้วยลูกช้างพังเผือก

(ที่มา : โครงภาพพระราชพงศาวดารฯ, ๒๕๕๐ : ๑๘๕)

ต่อมาข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จจากเมืองพิษณุโลกไปได้ ๓ วัน ก็ได้รับใบบอกว่าตีเมืองสวางคบุรีได้แล้ว จากนั้นก็รีบเสด็จขึ้นไปทันที

วันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๙ เพลา ๒ โมงเช้า ยกทัพหลวงจากเมืองพิษณุโลกโดยทางชลมารค ประทับรอนแรมไปได้ ๓ เวน พบผู้ถือหนังสือบอกกองหน้า ใจความว่าได้เมืองฝางแล้ว แต่อ้ายเรือนซึ่งคิดมิชอบนั้นหนีไป ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงยังติดตามอยู่ ก็เสด็จรีบไปทั้งกลางวันกลางคืน ถึงตำหนักค่ายหาดสูง ให้นายทัพนายกองเกณฑ์กันไปติดตามอ้ายเรือนฝางแลนางพญาช้างเผือกจงได้” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๔)

เป็นอันว่ากองทัพเมืองสวางคบุรีของเจ้าพระฝางได้แตกพ่ายในคืนวันเสาร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๙ ปี พ.ศ.๒๓๑๓

ส่วนเรื่องการได้ช้างเผือกนั้นในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า “ครั้น ณ วันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ หลวงคชชาติกองพญาอินท์วิชิต จับได้นางช้างพญามงคลเสวตคชสารศรีเมืองตัวประเสริฐ นำมาทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงพระกรุณาพระราชทานบำเหน็จโดยสมควร” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๔) แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่า หลวงคชศักดิ์กับกองพระยาอินทรวิชิต เจ้าเมืองวิเศษไชยชาญ จับได้นางพระยาเศวตมงคลคชสารตัวประเสริฐ (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๓๖-๓๓๗)

มีการจับลูกช้างพังเผือกได้ที่ป่าน้ำมืด สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาให้สมโภช “นางพระยาเศวตมงคลคชสาร” และให้พังหมอนเป็นแม่นม ดังปรากฏในจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีระบุว่า “...ติดตามไปพบช้าง อยู่ชายป่าแม่น้ำมืด ได้มาถวาย รับสั่งสมโภชนางพระยาแล้ว...ให้พลายแหวนเป็นพญาปราบ พังหมอนเป็นแม่นมนางพญา...” (พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี, ๒๔๗๒: ๕-๖)

ในประเด็นการจับได้ลูกช้างพังเผือกนี้ เดิมทีนั้นเคยมีผู้สันนิษฐานว่าไม่สามารถจับลูกช้างเผือกได้ ตามจับได้แต่แม่ช้างเท่านั้น โดยใช้คำเรียกกลบความสำคัญลูกช้างพังเผือกที่ไม่ได้มาว่า “นางพระยาเศวตมงคลคชสารตัวประเสริฐ” โดยมิได้กล่าวถึงลูกช้างพังเผือกที่ไม่ได้คืนมาเลย (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, ๒๕๔๓ : ๕๕) แต่เมื่อพิจารณาข้อความจากจดหมายความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีแล้ว ก็จะเห็นว่ามีการตั้งพังหมอนเป็นแม่นมนางพระยาช้าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “นางพระยาช้าง” หรือ “นางช้าง” ในพระราชพงศาวดารนั้นน่าจะเป็นลูกช้างตัวเมียมากกว่า แต่การที่เรียกว่านางพระยาช้างนั้น น่าจะเรียกตามยศศักดิ์ของลูกช้างผังเผือกที่ได้รับพระราชทานหลังการสมโภชแล้วมากกว่า เพราะพระราชพงศาวดารที่ปรากฏก็ชำระขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น

ลูกช้างพังเผือกนี้ภายหลังได้ลงแพล่องไปกรุงธนบุรี ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่า “แล้วเสด็จกรีธาทัพหลวงกลับ ให้รับนางพระยาเศวตรกริณีลงแพล่องลงมายังกรุงธนบุรี ให้ปลูกโรงรับ ณ สวนมังคุดแล้ว ให้มีงานมหรสพสมโภชสามวัน” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๔๐) ลูกช้างพังเผือกนี้คงได้สมโภชขึ้นเป็นช้างเผือกสำคัญในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเชือกหนึ่งด้วย

การหาตัวเจ้าพระฝางไม่พบนั้น บ้างก็ว่าท่านหนีไปอยู่เมืองแพร่ บ้างก็ว่าท่านเดินทางต่อไปยังเมืองน่านและไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของเมืองสวางคบุรียังมีสภาพหรือฐานะเป็นเมืองด่านที่ควบคุมเส้นทางคมนาคมที่จะต่อไปยังเมืองน่านและบรรดาเมืองทางลุ่มแม่น้ำโขง ในแถบเมืองหลวงพระบางด้วย อาจกล่าวได้ว่าตำแหน่งที่เมืองสวางคบุรีตั้งอยู่นี้ อยู่ในบริเวณตอนเหนือสุดของลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง (ศรีศักร วัลลิโภดม, ๒๕๓๒ : ๖๑) ซึ่งในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็เคยได้มีเจ้านายทางล้านช้างบางองค์เมื่อถูกขับไล่ก็จะหนีมาขออาศัยอยู่กับเจ้าเมืองน่าน ในเวลาเดียวกันถ้าเจ้าเมืองน่านมีศึกจวนตัวก็จะหลบภัยไปขออาศัยอยู่กับเจ้าเมืองล้านช้าง (มณเฑียร ดีแท้, ๒๕๑๙ : ๔๒)

ไม้พายขนาดใหญ่พบในแม่น้ำน่านที่วัดผาเลือดเป็นหลักฐานสำคัญ

ที่สะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางคมนาคมที่สัมพันธ์กันระหว่างเมืองสวางคบุรีกับเมืองน่าน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จเมืองสวางคบุรีในวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๔ ก็ทรงมีพระราชดำรัสว่า “...ถ้าหากว่าดูเดี๋ยวนี้เมืองฝางไม่น่าจะเปนเมืองใหญ่โตอันใด ฤๅจะเปนที่มั่นรับศึก เว้นไว้แต่ผู้ที่ตั้งตัวนั้นคิดจะคอยหนีไปเมืองลาว เพราะระยะทางตั้งแต่เมืองฝางขึ้นไปจนถึงเมืองผาเลือก ซึ่งเปนต้นทางจะเดินบกไปเมืองน่าน แลเข้าแขวงเมืองน่านแล้วนั้นเพียง ๕๐๐ เส้น...” (จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ และคณะ, ๒๕๕๑ : ๗๑) จึงมีความเป็นไปได้ว่าเจ้าพระฝางจะหลบหนีขึ้นไปทางเมืองน่านและอาจข้ามต่อไปทางดินแดนล้านช้าง

แต่ตำนานเรื่องเล่าในท้องถิ่นเมืองสวางคบุรีซึ่งมีผู้สูงอายุเล่าให้ฟังว่า เจ้าพระฝางพยายามหนีขึ้นเหนือแต่ก็ไปเสียชีวิตที่ภูเขาลูกหนึ่งซึ่งคั่นกลางระหว่างอุตรดิตถ์กับเมืองแพร่ ภูเขาลูกนั้นได้มีชื่อในภายหลังว่า “ขุนฝาง” มาจนทุกวันนี้ (มณเฑียร ดีแท้, ๒๕๑๙ : ๒๔)

ทิวเขาขุนฝาง เมื่อมองจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๔๕

แต่อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ว่าเจ้าพระฝางอาจจะหลบหนีไปในเขตล้านช้างตามลุ่มแม่น้ำปาด ข้ามแดนทางด่านภูดู่ไปทางเมืองปากลาย เนื่องจากข้อความในจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีระบุว่ามีการพบลูกช้างพังเผือกอยู่บริเวณชายป่าแม่น้ำมืด (พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี, ๒๔๗๒: ๕) ซึ่งบริเวณป่าน้ำมืดนั้นอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรีในเส้นทางที่สามารถออกไปด่านภูดู่ได้ (ดังจะได้นำเสนอให้ทราบในส่วนถัดไป)

นอกจากนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงสันนิษฐานว่า มีพวกเจ้าพระฝางหนีไปพึ่งพม่าทางเมืองเชียงใหม่ด้วย (ดำรงราชานุภาพ, ๒๕๔๓ : ๓๓๓)

สาเหตุที่กองทัพเจ้าพระฝางพ่ายแพ้ต่อกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างง่ายดายนั้น นอกจากจะมีกำลังพลที่น้อยกว่าและขาดอาวุธที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีนักวิชาการบางท่านวิเคราะห์ว่า กองทัพเจ้าพระฝางซึ่งแม้จะตีพิษณุโลกได้แล้ว ก็มิได้ย้ายศูนย์อำนาจจากเมืองสวางคบุรีมาตั้งมั่นที่เมืองพิษณุโลก เพราะอำนาจปาฏิหาริย์ของเจ้าพระฝาง หัวหน้าชุมนุมผูกพันอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุเมืองฝางซึ่งผู้คนนับถือมาก จึงทำให้ชุมนุมนี้มีคนเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง แต่ขาดระเบียบและการบริหารที่ดี (สุดารา สุจฉายา, ๒๕๕๐ : ๕๘) เมื่อกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกมาตีจึงแตกโดยง่าย

สมเด็จกรมพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อครั้งเป็นที่พระยายมราช

ทรงเป็นแม่ทัพคนสำคัญของพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ยกทัพมาตีเมืองสวางคบุรี

(พระอนุสาวรีย์ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ กรุงเทพมหานคร)

ในขณะที่คุณครูอนุสรณ์ ผลสวัสดิ์ ได้ให้เหตุผลในความพ่ายแพ้ของกองทัพเจ้าพระฝางเพิ่มเติมว่า สภาพเมืองสวางคบุรีที่มั่นเจ้าพระฝาง ไม่มีกำแพง มีแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดินเท่านั้น ไม่อาจทนต่อไฟที่ถูกนำมาเผาได้ (อนุสรณ์ ผลสวัสดิ์, ๒๕๕๑ : ๑๑)

หากจะวิเคราะห์สาเหตุโดยสรุปนั้น ก็คงเป็นเพราะว่ากองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีผู้นำเป็นนักรบโดยแท้ และมีนักรบมืออาชีพมากมาย ส่วนกองทัพของเจ้าพระฝางมีผู้นำเป็นนักบวช ผู้คนที่เข้าร่วมนั้นส่วนใหญ่ก็เพราะเลื่อมใสในเรื่องคาถาอาคมหรือเรื่องไสยศาสตร์ ผู้นำระดับล่างของกองทัพส่วนใหญ่ก็เป็นนักบวช เช่น พระครูคิริมานนท์ พระครูเพชรรัตน์ พระอาจารย์จันทร์ พระอาจารย์ทอง และพระอาจารย์เกิด เป็นต้น (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๐๘) จึงไม่อาจจะสู้กองทัพที่มีการจัดการโดยนักรบที่แท้จริงไม่ได้ จนนำมาซึ่งการล่มสลายของชุมนุมเจ้าพระฝาง

นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ว่าการปราบกลุ่มผู้ถืออำนาจของชุมนุมเจ้าพระฝางในทางทหารนั้นทำได้ไม่ยากนัก เพราะเมื่อขาดการบริหารภายในที่ดี เจ้าพระฝางก็ย่อมไม่สามารถจัดทัพใหญ่มาต่อต้านกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ ฉะนั้น ใน พ.ศ.๒๓๑๓ เมื่อเสด็จยกกองทัพขึ้นไปทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ยังไม่ทันที่ทัพหลวงซึ่งเดินทางโดยทางเรือจะขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรี ก็ได้ข่าวจากทัพหน้าว่าตีเมืองสวางคบุรีได้แล้ว (นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๕๐ : ๑๗๒)

หลักประโคนหรือหลักมั่นหลักคง

หลักเขตแดนระหว่างสยามกับเมืองน่านอยู่ทางเหนือเมืองสวางคบุรีขึ้นไปเล็กน้อย

นอกจากนี้ ยังมีการพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ คือ ยานมาศ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดใหญ่ท่าเสา จากการสัมภาษณ์คุณตาเย็น ภู่เล็ก ท่านได้เล่าว่ายานมาศคันนี้เดิมมีการพบที่ทุ่งนาทางตะวันออกนอกตัวเมืองสวางคบุรี แล้วชาวบ้านจึงนำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดคุ้งยาง ตำบลบ้านด่าน ใกล้กับวัดพระฝาง ต่อมามีพระเถระผู้ใหญ่ในเมืองอุตรดิตถ์ไปพบจึงนำเข้ามาเก็บรักษาไว้ที่วัดใหญ่ท่าเสา (เย็น ภู่เล็ก, สัมภาษณ์) และเคยนำไปจัดแสดงไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ด้วย

จากลักษณะของยานมาศสันนิษฐานว่าเป็นศิลปะอยุธยาตอนปลาย ประมาณรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ วัสดุไม้สักแกะสลักลงรักปิดทอง ประดับกระจกสี ยานมาศคันนี้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เคยเสด็จมาทอดพระเนตรที่วัดใหญ่ท่าเสาเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๔๔ และทรงอธิบายลักษณะทางศิลปกรรมของยานมาศไว้ด้วย (นริศรานุวัดติวงศ์, ๒๕๐๖ : ๓๙-๔๐)

ยานมาศ ไม้สักแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ที่เชื่อกันว่าเป็นของเจ้าพระฝาง

(ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดใหญ่ท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์)

เคยมีผู้สันนิษฐานว่าเป็นยานมาศของเจ้าพระฝางที่ได้รับการถวายมาพร้อมกันกับพระพุทธรูปทรงเครื่องจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในคราวที่เจ้าพระฝางได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นมาเป็นพระสังฆราชาที่เมืองสวางคบุรี เมื่อทำสงครามกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เจ้าพระฝางเห็นทีจะสู้ไม่ไหวจึงนั่งยานมาศคันนี้แล้วพาทหารส่วนหนึ่งหลบวงล้อมออกมาทางทิศตะวันออกของเมือง แล้วข้ามแม่น้ำน่านที่ใต้คุ้งยางหนีไปทางภูเขาขุนฝางและได้ทิ้งยานมาศนี้ไว้ (อนุสรณ์ ผลสวัสดิ์, สัมภาษณ์)

แต่อย่างไรก็ดี ยานมาศนี้อาจเกี่ยวข้องกับการใช้แห่พระพุทธรูปมากกว่าเป็นที่นั่งของพระสงฆ์หรือบุคคล เนื่องจากอาสนะมีขนาดเล็กและสูงจากคานหามค่อนข้างมาก ประเด็นนี้จึงจำเป็นต้องศึกษาทางวิชาการต่อไป

ผลของการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางได้เป็นชุมนุมสุดท้าย อาจกล่าวได้ว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถรวบรวมดินแดนในอิทธิพลของเจ้าพระฝางได้นั้น เท่ากับว่าทรงสามารถรวบรวมดินแดนอันเป็นขอบเขตของราชอาณาจักรสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ทั้งหมด (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, ๒๕๔๓ : ๕๑)

การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถตีเมืองฝาง ปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางได้สำเร็จ ทั้งยังได้ลูกช้างพังเผือก ทรงชำระสิกขาบทคณะสงฆ์ฝ่ายเหนือและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงในแผ่นดิน นอกจากจะเป็นการยกสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์ที่รวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยอันเป็นเขตขอบขัณฑสีมาของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาได้ดังเดิมแล้ว ยังเป็นการยกฐานะความเป็น “พระจักรพรรดิราชผู้ทรงธรรม” และทำให้ได้รับการรับรองสถานะความเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหม่จากพระเจ้ากรุงจีนในเวลาต่อมาอีกด้วย (ณัฏฐภัทร จันทวิช, ๒๕๒๓ ข : ๖๘-๖๙)

วัดพระมหาธาตุเมืองฝาง (วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถในปัจจุบัน)

อดีตศูนย์กลางการปกครองของชุมนุมเจ้าพระฝาง ในช่วง พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๑๓

ตอนที่ ๙

คุ้งตะเภา: ที่ตั้งพระตำหนักค่ายหาดสูง

ในศึกเมืองสวางคบุรี

ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้ระบุว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จจากเมืองพิษณุโลกขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรี ก็ได้ประทับที่พระตำหนักค่ายหาดสูง “...พบผู้ถือหนังสือบอกกองหน้า ใจความว่าได้เมืองฝางแล้ว แต่อ้ายเรือนซึ่งคิดมิชอบนั้นหนีไป ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงยังติดตามอยู่ ก็เสด็จรีบไปทั้งกลางวันกลางคืน ถึงตำหนักค่ายหาดสูง ให้นายทัพนายกองเกณฑ์กันไปติดตามอ้ายเรือนฝางแลนางพญาช้างเผือกจงได้” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๔)

และยังปรากฏข้อมูลว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ประทับที่พระตำหนักค่ายหาดสูงตลอดช่วงระยะเวลาที่เสด็จขึ้นมาในการปราบรามชุมนุมเจ้าพระฝาง เมืองสวางคบุรี ดังพบข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า “ครั้น ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เสด็จอยู่ ณ พระตำหนักค่ายหาดสูง แขกเมืองตานีเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภาร ถวายดอกไม้ทองเงิน แลแขกเมืองดายักะตราถวายปืน ๑๐ บอก” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๕)

จากข้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารซึ่งระบุว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จประทับอยู่ ณ พระตำหนักค่ายหาดสูง ตลอดช่วงเวลาที่เสด็จขึ้นมาปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางนั้น ในปัจจุบันไม่ปรากฏภูมินามชื่อ “หาดสูง” ในเขตลุ่มแม่น้ำน่านใกล้เคียงที่ตั้งชุมชนโบราณเมืองสวางคบุรีเลย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องสอบสวนข้อมูลต่างๆ ทั้งจากหลักฐานเอกสารและคำบอกเล่าของชาวบ้านจากการลงพื้นที่ภาคสนาม เพื่อค้นหาตำแหน่งที่ตั้งพระตำหนักค่ายหาดสูงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในปี พ.ศ.๒๓๑๓

เมื่อพิจารณาจากข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า “เสด็จยกพลพยุหโยธาทัพหลวงโดยทางชลมารคไปตำบลน้ำมืด จึงดำรัสให้ตั้งด่านทางชั้นในชั้นนอก ตั้งเกลี้ยกล่อมลาดตระเวนสืบสาวเอาตัวอ้ายเรือนฝางให้จงได้ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังพระตำหนักค่ายหาดสูง” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๔) ก็แสดงให้เห็นว่าพระตำหนักค่ายหาดสูงน่าจะอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านใกล้กับตำแหน่งที่ตั้งเมืองสวางคบุรี

เนื่องจาก “ตำบลน้ำมืด” ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จไปนั้น น่าจะเป็นการเสด็จขึ้นไปดูลูกช้างพังเผือกเพราะมีหลักฐานว่าจับได้ที่ป่าน้ำมืด (พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี, ๒๔๗๒: ๕) และทำการตั้งด่านตรวจตราเส้นทางจากเมืองสวางคบุรีขึ้นไปยังเมืองน่านและล้านช้าง ปัจจุบันสันนิษฐานว่าคือบริเวณป่าขุนน้ำมืด รอยต่อระหว่างอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอท่าปลาและอำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกที่จะต้องผ่านเมืองสวางคบุรีขึ้นไป

บริเวณที่ชื่อว่า “น้ำมืด” ในปัจจุบันนี้ ชาวบ้านในเขตเมืองสวางคบุรีเดิมเล่าว่ามีเส้นทางโบราณ ซึ่งเป็นทางเดินเท้าและทางเกวียนสามารถขึ้นไปทะลุทางเมืองน้ำปาดและข้ามไปทางบ้านน้ำพี้ อำเภอทองแสนขันได้ (ละเอียด พรหมแก้วต่อ, สัมภาษณ์) ยังมีคำบอกเล่าสืบต่อมาว่า ในเขตขุนน้ำมืด-น้ำหมี ยังมีถ้ำอยู่หลายแห่ง เช่น ถ้ำจันซึ่งเป็นถ้ำโถงขนาดใหญ่ คนโบราณเคยใช้เป็นที่หลบซ่อนจากภัยสงคราม เพราะเป็นเส้นทางที่สลับซับซ้อน ทำให้คนต่างถิ่นหรือคนภายนอกที่ไม่คุ้นเคยสภาพภูมิประเทศเข้าถึงได้ยาก (วิเชียร แสงสิน สัมภาษณ์)

ส่วน “ด่านชั้นในชั้นนอก” ที่ทรงโปรดให้ตั้งขึ้นนั้น คงไม่อยู่ห่างจากเมืองสวางคบุรีมากนัก เพราะถัดขึ้นไปราว ๑๕ กิโลเมตรก็เป็นที่ตั้งของ “หลักมั่นหลักคง” ซึ่งเป็นหลักปะโคนแบ่งเขตแดนระหว่างศูนย์อำนาจรัฐสยามกับเมืองน่านแล้ว ด่านชั้นนอกสุดน่าจะอยู่บริเวณบ้านด่านคุ้งยาง ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เนื่องจากว่าบริเวณนี้ยังปรากฏชื่อ “บ้านด่าน” ในแผนที่โบราณสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ อยู่ด้วย (Santanee Phasuk and Philip Stott, 2004 : 130)

แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งป่าขุนน้ำมืดจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน

(ปรับปรุงจาก Google earth)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือทางชลมารคตามลำแม่น้ำน่านในปี พ.ศ.๒๔๔๔ ทรงสันนิษฐานว่าตำบลน้ำมืดน่าจะอยู่ในลุ่มน้ำตรอน แต่ไม่ทราบว่าหาดสูงอยู่ที่ใด ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาความว่า “...คลองนี้เจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จขึ้นไปตั้งด่านจนถึงน้ำมืด เมื่อยกขึ้นมาตีเมืองฝางจุลศักราช ๑๑๓๒ แต่หาดสูงซึ่งตั้งค่ายหลวงหาไม่พบ บางทีจะหายไปเสียด้วยเรื่องตลิ่งพัง เพราะเหตุที่เปนหาดแล้วกลับพังได้นั้นไม่อัศจรรย์อะไร ได้เห็นตัวอย่างตามรายทางมามีอยู่หลายแห่ง” (จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ และคณะ, ๒๕๕๑ : ๖๑)

สาเหตุที่พระองค์ทรงสันนิษฐานเช่นนี้คงเป็นเพราะว่า บริเวณที่เรียกว่าน้ำมืดในปัจจุบันนั้นสามารถขึ้นมาทางลุ่มน้ำตรอนก็ได้ ด้วยเป็นจุดที่สามารถเชื่อมกับเส้นทางโบราณได้หลายทาง แต่ผู้เขียนสันนิษฐานว่าการเสด็จพระราชดำเนินไปตำบลน้ำมืดของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น น่าจะเสด็จตามลำแม่น้ำน่านขึ้นไปทางเหนือของเมืองสวางคบุรีมากกว่า เนื่องจากในพระราชพงศาวดารระบุว่าพระองค์เสด็จทางชลมารค

ชื่อ “บ้านด่าน” ในแผนที่โบราณสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔

ตั้งอยู่เหนือเมืองสวางคบุรีขึ้นไปเล็กน้อย (Santanee Phasuk and Philip Stott, 2004 : 130)

เมื่อพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศเหนือเมืองสวางคบุรีขึ้นไป ก่อนที่จะถึงหลักปะโคนซึ่งเป็นเขตแดนโบราณนั้น ได้มีคลองแห่งหนึ่งไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำน่านทางฝั่งซ้าย ซึ่งอยู่ทางเดียวกับตำแหน่งที่ชาวบ้านให้ข้อมูลว่าเป็นป่าขุนน้ำมืด จึงมีความเป็นไปได้ว่าตำบลน้ำมืดที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารนั้นอาจหมายถึงปากคลองน้ำมืดก็เป็นได้ โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จขึ้นมาทางชลมารคเพื่อตรวจตราด่านแดนทางทิศตะวันออก ในขณะเดียวกันก็เป็นการขึ้นมารับตัวลูกช้างพังเผือกที่ทหารตามจับได้จากป่าน้ำมืด แล้วนำลงมาที่ปากคลองน้ำมืดนี้ก็เป็นได้

ในขณะเดียวกัน จากพื้นที่ทางตอนใต้ของที่ตั้งเมืองสวางคบุรีลงไปตามลำแม่น้ำน่านพบว่า บริเวณบ้านคุ้งตะเภาเคยเป็นคุ้งน้ำที่มีขนาดใหญ่ ที่ปัจจุบันกลายเป็นหาดที่งอกน้ำไหลทรายมูลโบราณ ก่อนสร้างเขื่อนสิริกิติ์ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ยังปรากฏว่าในช่วงฤดูแล้งจะเห็นเป็นหาดที่งอกน้ำไหลทรายมูลกว้างใหญ่กว่าทุกบริเวณในแถบนี้ และมีน้ำท่วมถึงเป็นประจำในฤดูน้ำหลาก ปัจจุบันแม้ว่ากระแสน้ำจะเปลี่ยนทางเดินและน้ำท่วมไม่ถึงแล้ว แต่ก็ยังเห็นเป็นแนวคุ้งและแนวหาดสูงที่งอกน้ำไหลทรายมูลโบราณอย่างชัดเจน ส่วนพื้นที่ปัจจุบันได้กลายเป็นที่ทำการเกษตรกรรมของชาวบ้าน

แนวหาดทรายโบราณบริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภาปัจจุบันนี้ไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด เนื่องจากตลิ่งแม่น้ำน่านในอดีตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกสภาพตลิ่งแม่น้ำน่านตั้งแต่เมืองพิษณุโลกขึ้นมาจนถึงเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ ว่าร่องน้ำและตลิ่งเปลี่ยนอยู่เสมอ “...เพราะตลิ่งพังมาก ปีหนึ่งถึง ๓ วา ๔ วา ฝ่ายข้างแหลมเล่าหาดก็งอกมากๆ บางทีหาดสูง เวลามาในเรือแลเห็นหาดบังถึงชายคาเรือนบนตลิ่งเดิม ร่องน้ำก็เปลี่ยนอยู่เสมอ...” (จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ และคณะ, ๒๕๕๑ : ๖๑) ดังจะเห็นได้ว่ามีการพบต้นตะเคียนขนาดใหญ่อยู่ในแม่น้ำน่านตรงหน้าวัดคุ้งตะเภา ซึ่งน่าจะเกิดจากการกัดเซาะของกระแสน้ำในอดีต

บริเวณแนวหาดทรายเก่าหน้าวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน จึงมีความเป็นได้ได้ว่าอาจจะเป็นตำแหน่งที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า “หาดสูง” และเป็นที่ตั้งของ “พระตำหนักค่ายหาดสูง” ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในครั้งเสด็จยกทัพมาปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง เพราะดูจากสภาพปัจจุบันแล้ว บริเวณนี้เคยเป็นหาดทรายที่กว้างใหญ่และสูงจากระดับกระแสน้ำปกติมาก น้ำอาจท่วมสูงขึ้นมาถึงสันทรายเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลากเท่านั้น

แผนที่แสดงแนวหาดทรายเก่าบริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภา สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณ

ตำแหน่งหาดสูงที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร (ปรับปรุงจาก Google earth)

โดยตำแหน่งที่ตั้งของพระตำหนักค่ายหาดสูงนั้นน่าจะอยู่ใกล้เคียงหรืออยู่ในตำแหน่งเดียวกับที่ตั้งวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน เนื่องจากบริเวณวัดคุ้งตะเภาปัจจุบันตั้งอยู่บนแนวตลิ่งแม่น้ำน่านเก่า อยู่เหนือบริเวณที่เป็นสันดอนหรือหาดทราย ดังนั้น หากมีการสร้างพระตำหนักค่ายหาดสูงขึ้นก็คงสร้างบนตลิ่ง ไม่น่าจะมีการสร้างขึ้นกลางหาดทราย อีกอย่างบริเวณตลิ่งวัดคุ้งตะเภายังเป็นตลิ่งสูงที่สามารถมองเห็นบริเวณรอบๆ ในระยะไกลได้ และมีเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะเกี่ยวกับเสาไม้พระตำหนักของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในวัดอีกด้วย

วัดคุ้งตะเภาปรากฏหลักฐานปีก่อตั้งวัดในเอกสารของกรมการศาสนาว่าสร้างในปี พ.ศ.๒๓๑๓ ซึ่งตรงกับปีที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จมาทำศึกเมืองสวางคบุรี สิ่งที่น่าพิจารณาคือในปี พ.ศ.๒๓๑๓ เมืองสวางคบุรีไม่ว่างเว้นจากการศึกสงครามทั้งหัวปีและท้ายปี มีเพียงช่วงระยะเวลา ๒ เดือน ที่พระองค์พักทัพชำระความต่าง ๆ เท่านั้น จึงสันนิษฐานว่าวัดคุ้งตะเภาอาจสร้างโดยการอุทิศพระตำหนักหรืออาคารที่สร้างในช่วงเวลานั้นให้เป็นอาคารของวัด (ดังจะกล่าวในบทต่อไป) ก่อนจะยกทัพกลับ

และที่มาของชื่อคุ้งตะเภา สอดคล้องตำนานและเพลงท้องถิ่นว่าพระมหากษัตริย์ให้ตรัสเรียกว่า “คุ้งตะเภา” ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้มีการจัดทำเพลงประจำหมู่บ้านขึ้นโดยมีนายวิเชียร ครุฑทอง ปราชญ์ชุมชนของตำบลคุ้งตะเภา เป็นผู้แต่งบทเพลงและทำนองเพลง รวมทั้งเป็นผู้ขับร้อง ซึ่งได้มีการบันทึกเสียงดนตรีที่ห้องบันทึกเสียงคณะดนตรีวง “ไทไท” ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ ว่า

พื้นดินถิ่นฐานแต่ก่อนนั้นเรียก คุ้งสำเภา

มีตำนานเล่าว่าเรือสำเภาลำใหญ่

สำเภาสีทองบรรจุข้าวของมากมาย

โค้งล่มจมหายอยู่ในน้ำน่านนที

ประวัติบันทึกได้จดจารึกเอาไว้ลงนาน

เสียงดังสะท้านอยู่ทุกคืนวันเหลือที่

ถูกดินทับถมจมอยู่ภายใต้วารี

อยู่มานับนานปีไม่มีผู้คนเขาพา

ใต้ท้องแห่งนี้ เมื่อสิ้นกรุงศรีซบเซา

ฝากเป็นอนุสรณ์รอยเศร้า

เรียกโค้งสำเภานานมา

เปลี่ยนมาอีกหนเมื่อต้นสยามเทวา

ประกาศิตดังก้องฟ้า โค้งนี้เรียกว่าคุ้งตะเภา(ทอง)

พื้นดินถิ่นฐานนี่เรียกเปลี่ยนกันว่าคุ้งตะเภา

สมเด็จล้นเกล้าให้คุ้งตะเภานามเรืองรอง

รุ่งเรืองวิไล เป็นแหล่งรวมใจพี่น้อง

คุ้งตะเภาชื่อดังกึกก้องประเทืองทั่วท้องผืนปฐพี

(สมชาย สำเภาทอง, สัมภาษณ์)

ความทรงจำของชาวบ้านคุ้งตะเภาที่ถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่าและบทเพลงได้สะท้อนให้เห็นว่า บริเวณบ้านคุ้งตะเภาได้มีเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์มานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพระราชทานนามหมู่บ้านว่า “คุ้งตะเภา”

ภาพเเม่น้ำน่านบริเวณบ้านคุ้งตะเภาในปัจจุบัน

ตอนที่ ๑๐

การจัดการภายในเมืองสวางคบุรี

หลังภาวะสงคราม

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรีและทรงประทับที่พระตำหนักค่ายหาดสูงแล้ว ก็โปรดให้แม่ทัพนาย กองเกณฑ์กันออกติดตามตัวเจ้าพระฝางและตามหาลูกช้างพังเผือกเป็นพระราชกรณียกิจแรก

จากนั้นก็เสด็จไปตำบลน้ำมืดและมีพระราชดำรัสให้ตั้งด่านรอบเมืองสวางคบุรี เพื่อติดตามตัวเจ้าพระฝางและเกลี้ยกล่อมชาวเมืองให้กลับมาตั้งถิ่นฐานดังเดิม ดังข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า “...เสด็จยกพลพยุหโยธาทัพหลวงโดยทางชลมารคไปตำบลน้ำมืด จึงดำรัสให้ตั้งด่านทางชั้นในชั้นนอก ตั้งเกลี้ยกล่อมลาดตระเวนสืบสาวเอาตัวอ้ายเรือนฝางให้จงได้...” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๔)

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันและอธิบายสถานการณ์ในขณะนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น ว่า

“...จึงดำรัสให้ตั้งด่านทางชั้นในชั้นนอก และเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎรชาวหัวเมืองเหนือทั้งปวง ซึ่งอพยพหลบหนีแตกฉานซ่านเซ็นเข้าป่าดง ให้ออกมาอยู่ตามภูมิลำเนาดุจก่อน แล้วให้เที่ยวลาดตระเวนเสาะสืบสาวเอาตัวอ้ายเรือนพระฝางให้จงได้...” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๓๗)

ข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้แสดงให้เห็นสภาพชุมชนและราษฎรในหัวเมืองฝ่ายเหนือในขณะนั้น ว่าราษฎรได้อพยพหลบหนีแตกฉานซ่านเซ็นเข้าป่าเข้าดงเพราะภัยสงคราม สภาวการณ์เช่นนี้คงเกิดขึ้นตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๓๑๐ แล้ว และเมื่อเกิดศึกเมืองสวางคบุรีในปี พ.ศ.๒๓๑๓ ก็ยิ่งทำให้ราษฎรหลบหนีภัยสงคราม ทิ้งบ้านเรือนภูมิลำเนาเดิมเป็นจำนวนมาก

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังมีพระราชดำรัสเป็นแนวทางในการเกลี้ยกล่อมราษฎรและลาดตระเวนของแม่ทัพนายกองว่า “...จึงดำรัสให้แต่งกฎประกาศแก่กองทัพบกทัพเรือไทยจีนทั้งปวง ห้ามอย่าให้ข่มเหงริบเอาทรัพย์สิ่งของราษฎรชาวบ้าน และฆ่าโคกระบือสัตว์ของเลี้ยง อนึ่งถ้านายทัพนายกองผู้ใดได้ปืนและช้างพลายพังใหญ่ได้ศอกได้นิ้วรูปดีและรูปเป็นกลาง ก็ให้ส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย อย่าให้ใครเบียดบังเอาไว้จะเอาตัวเป็นโทษ (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๓๗)

ถ้ำและภูเขาที่สลับซับซ้อนในเขตน้ำมืด-น้ำหมี-วังผาชัน

ซึ่งเหมาะแก่การหลบซ่อนของราษฎรจากภัยสงคราม

การลาดตระเวนของแม่ทัพนายกองของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถติดตามจับกุมพระสงฆ์ที่เป็นแม่ทัพนายกองของเจ้าพระฝางได้จำนวนหนึ่ง ส่วนเจ้าพระฝางนั้นไม่สามารถติดตามจับกุมได้ และหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยจนถึงปัจจุบัน

ครั้น ณ วันจันทร์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นหกค่ำ ทรงพระกรุณาให้สืบเสาะจับพระสงฆ์พวกเหล่าร้าย ได้ตัวพระครูคิริมานนท์หนึ่ง อาจารย์ทองหนึ่ง อาจารย์จันทร์หนึ่ง อาจารย์เกิดหนึ่ง ล้วนเป็นแม่ทัพอ้ายเรือนพระฝางทั้งสี่รูป แต่พระครูเพชรรัตนกับอ้ายเรือนพระฝางนั้นหาได้ตัวไม่ จึงดำรัสให้ผลัดผ้าคฤหัสถ์ทั้งสี่คน แล้วจำคงส่งลงมาใส่คุก ณ กรุง ฯ (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๓๗)

บริเวณใต้ต้นมะม่วงไข่กาด้านหลังโบสถ์วัดพระฝางฯ (ปัจจุบันไม่มีต้นมะม่วงแล้ว)

เป็นบริเวณที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่ประหารชีวิตแม่ทัพนายกองของเจ้าพระฝางทั้ง ๔ รูป โดยไม่ได้ส่งลงไปกรุงธนบุรี

ชาวบ้านเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดให้ประหารชีวิตแม่ทัพนายกองของเจ้าพระฝางทั้ง ๔ รูป ที่บริเวณใต้ต้นมะม่วงไข่กาด้านหลังโบสถ์ภายในเขตพุทธาวาสวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ แต่ความเชื่อดังกล่าวก็ขัดแย้งกับความในพระราชพงศาวดารที่ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้นำตัวแม่ทัพนายกองทั้ง ๔ รูป ลงมาจำคุกที่กรุงธนบุรี และได้ประหารชีวิตพร้อมกับเชลยพม่าที่ถูกจับได้ ณ วัดทอง คลองบางกอกน้อย “จึงดำรัสให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดทองคลองบางกอกน้อยทั้งสิ้น กับทั้งแม่ทัพพวกอ้ายเรือนพระฝางทั้งสี่คนซึ่งจำไว้ในคุกนั้นด้วย (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๘๘)

วัดทอง คลองบางกอกน้อย หรือ

วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ในปัจจุบัน

เคยเป็นสถานที่ประหารแม่ทัพนายกองของเจ้าพระฝางทั้ง ๔ รูป พร้อมกับเชลยศึกพม่าจากค่ายบางแก้ว

เป็นอันว่าหลังจากที่ตีเมืองสวางคบุรีได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ให้แม่ทัพนายกองออกลาดตระเวนและเกลี้ยกล่อมราษฎรให้กลับมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณภูมิลำเนาเดิม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า หลังศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ.๒๓๑๓ สภาพบ้านเรือนในเขตเมืองสวางคบุรีนั้น อาจจะไม่ได้รับความเสียหายมากนัก การต่อสู้กันระหว่างทัพหน้าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับกองทัพเจ้าพระฝางที่ตั้งมั่นภายในเมืองก็ใช้เวลาเพียง ๓ วัน จึงมีพระราชดำรัสให้เกลี้ยกล่อมราษฎรกลับมาตั้งถิ่นฐานตามเดิม ยังทรงกำชับมิให้แม่ทัพนายกองทำร้ายข่มเหงหรือริบเอาทรัพย์สิ่งของต่างๆ จากราษฎรด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีแก่ราษฎรในเมืองสวางคบุรี ที่ไม่ทรงคาดโทษราษฎรชาวเมืองว่ามีความผิดที่เข้ากับชุมนุมเจ้าพระฝาง หรือมีความเกี่ยวข้องกับชุมนุมเจ้าพระฝางแต่อย่างใด

ตอนที่ ๑๑

การชำระสิกขาบท

และจัดระเบียบคณะสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือ

หลังจากกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถปราบชุมนุมเจ้าพระฝางได้สำเร็จแล้ว และเกิดความมั่นคงไม่มีการต่อต้านใดๆ ในพื้นที่เมืองสวางคบุรี แม่ทัพนายกองก็สามารถติดตามจับกุมพระสงฆ์ที่เป็นแม่ทัพนายกองสำคัญของเจ้าพระฝางได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระกรุณาให้นิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายเหนือมาเพื่อพิจารณาโทษและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในสิกขาบท ด้วยมีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งเข้าร่วมทำสงครามในชุมนุมเจ้าพระฝาง และทำการอันผิดพระธรรมวินัยเป็นอันมาก

สาเหตุการชำระสิกขาบทพระสงฆ์ในครั้งนี้ ปรากฏในพระราชพงศาวดารพระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน ว่า “วันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีขาลโทศก ทรงพระกรุณาให้นิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายเหนือมาพร้อมกันหน้าพระที่นั่ง ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือนเฝ้าพร้อมกัน จึ่งดำรัสปรึกษาว่าพระสงฆ์บรรดาอยู่ฝ่ายเหนือนี้ เป็นพรรคพวกเพื่อนอ้ายเรือนฝางย่อมคิดถือปืนรบศึก ฆ่าคนปล้นเอาทรัพย์สิ่งของแลกินสุราซ่องเสพด้วยสีกา ให้ขาดจากสิขาบทจัตุปราชิกเป็นลามก อยู่ในพระศาสนาฉะนี้จะไว้ใจมิได้ อนึ่งพระสงฆ์ฝ่ายใต้ฝ่ายเหนือก็จะแปลกปลอมกันอยู่ มิรู้ว่าองค์ใดดีชั่ว จะได้กระทำสักการบูชาให้เป็นผลานิสงส์แก่ตนแก่ท่าน” (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน, ๒๕๔๒ : ๓๓๙)

เมื่อนิมนต์พระสงฆ์มารวมกันแล้ว ก็ทรงพระราชทานโอกาส “...ให้พระสงฆ์ให้การไปแต่ตามสัตย์ตามจริง ถ้าได้ผิดในจตุปาราชิกแต่ประการใดประการหนึ่ง จะพระราชทานผ้าคฤหัสถ์ให้ผลัดสึกออกทำราชการ ที่ไม่รับนั้น จะให้ดำน้ำพิศูจน์สู้นาฬิกาสามกลั้น แม้นชนะแก่นาฬิกาจะให้เป็นอธิการและพระครูราชาคณะฝ่ายเหนือโดยสมควรแก่คุณธรรมที่รู้ แม้นแพ้แก่นาฬิกาจะให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนแล้วสักข้อมือมิให้บวชได้อีก แม้นเสมอนาฬิกาจะถวายผ้าไตรให้บวชใหม่...” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๓๘)

ภาพวาดจินตนาการ การชำระพระสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือ

โดยการดำน้ำพิสูจน์ความสัตย์

โดยโปรดให้ตั้งศาลกั้นม่านดาดเพดานผ้าขาว แต่งเครื่องพลีกรรมเทพยดา

และให้พระสงฆ์ฝ่ายเหนือดำน้ำพิสูจน์

แต่ถ้าหากไม่รับนั้น ทรงมีวิธีการชำระสิกขาบทตามระเบียบการพิสูจน์คดีความโบราณคือ การดำน้ำพิสูจน์ความสัตย์ โดยอาศัยอานุภาพเทพยดาอันศักดิ์สิทธิ์จงเป็นสักขีพยาน ดังปรากฏข้อความอย่างละเอียดในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า

“...ถ้าแต่เดิมไม่รับ ครั้นจะให้ลงดำน้ำพิศูจน์ กลับคืนคำว่าได้ทำผิด จะให้ลงพระราชอาชญาประหารชีวิตเสีย อนึ่ง เมื่อพระสงฆ์จะลงดำน้ำนั้น ให้ตั้งศาลกั้นม่านดาดเพดานผ้าขาว แต่งเครื่องพลีกรรมเทพยดาพร้อมแล้ว จึงทรงพระสัตยาธิษฐานให้พระบารมีนั้นช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพระสงฆ์ทั้งปวง ถ้าภิกษุองค์ใดมิได้ขาดสิกขาบทจตุปาราชิก ขอให้พระบารมีของเรา และอานุภาพเทพยดาอันศักดิ์สิทธิ์จงเป็นสักขีพยาน ช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพระผู้เป็นเจ้าองค์นั้น อย่าให้แพ้นาฬิกาได้ ถ้าและภิกษุรูปใดถึงซึ่งศีลวิบัติแล้ว เทพยดาเจ้าจงสังหารให้แพ้แก่นาฬิกาเห็นประจักษ์แก่ตาโลก แล้วเสด็จทรงพระเก้าอี้อยู่ที่หาดทราย ให้พระสงฆ์ลงดำน้ำพิศูจน์ตัวต่อหน้าพระที่นั่ง พลางทรงอธิษฐาน ด้วยเดชะพระบรมโพธิสมภาร...” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๓๘-๓๓๙)

แนวหาดทรายเดิมหน้าวัดคุ้งตะเภา มองเห็นเขาจูงวัวอยู่ด้านหลัง (ปัจจุบันเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของราษฎร)

สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทำการชำระพระสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือ

เมื่อเริ่มพิธีกรรมการดำน้ำพิสูจน์ความสัตย์ ก็ปรากฏว่า “...ครั้งนั้นพระสงฆ์ที่มีศีลบริสุทธิ์ ก็ชำนะแก่นาฬิกาบ้าง เสมอบ้าง ที่ภิกษุทุศีลก็แพ้แก่นาฬิกาเป็นอันมาก เสนาบดีก็กระทำตามรับสั่งโดยสมควรแก่คุณและโทษ...” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๓๙)

จากนั้นก็ทรงพระกรุณาให้เย็บผ้าไตรจีวร ๑,๐๐๐ ชุด เพื่อบวชพระสงฆ์ฝ่ายเหนือใหม่ และนิมนต์พระราชาคณะและพระอันดับจากกรุงธนบุรีจำนวน ๕๐ รูป ขึ้นมาบวชพระสงฆ์และอยู่สั่งสอนในข้อพระวินัยสิกขาบท ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ความว่า

“...แล้วทรงพระกรุณาให้เย็บผ้าจีวรให้ได้พันไตร บวชพระสงฆ์ไว้ฝ่ายเหนือ แล้วให้ลงมาอาราธนารับพระสงฆ์ราชาคณะแลอันดับ ๕๐ รูป ณ กรุงธนบุรีย์ ขึ้นไปบวชพระสงฆ์ไว้ทุกหัวเมือง แล้วพระราชทานราชาคณะไว้ให้อยู่สั่งสอนพระสงฆ์ฝ่ายเหนือ พระพิมลธรรมอยู่เมืองฝาง พระธรรมเจดีย์อยู่ทุ่งยั้ง พระธรรมราชา พระเทพกระวี อยู่เมืองสวรรคโลกย์ พระธรรมอุดมอยู่เมืองพิไชย พระโพธิวงษ อยู่เมืองพิศณุโลกย์”(พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๓๓๙)

นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่าการเอาพระราชาคณะจากส่วนกลางไปควบคุมถึงหัวเมือง แทนที่จะตั้งพระครูหรือสังฆราชาขึ้นประจำเมืองตามทำเนียบของกรุงเก่า เป็นการผนวกเอาพระสงฆ์ของหัวเมืองเหนือเข้ามาอยู่ในความควบคุมใกล้ชิดขององค์การปกครองคณะสงฆ์ซึ่งได้ทรงจัดตั้งขึ้นมาแต่ พ.ศ.๒๓๑๑ ทั้งนี้ก็นับว่าเป็นนโยบายที่ไม่อาจเทียบได้กับการกระทำของพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน (นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๕๐ : ๒๓๕)

พระบรมธาตุทุ่งยั้ง พระบรมธาตุประจำเมืองทุ่งยั้งซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองสวางคบุรี

เมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนิมนต์พระธรรมเจดีย์ให้มาอยู่สั่งสอนพระสงฆ์ภายในเมือง (ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ตอนที่ ๑๒

วัดคุ้งตะเภา: สถานที่ชำระสิกขาบท

คณะสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือ

ภายในบริเวณวัดคุ้งตะเภาเคยมีศาลาการเปรียญริมแม่น้ำน่านเก่าแก่อยู่หลังหนึ่ง เล่าสืบมาว่าเมื่อสมัยธนบุรีชาวบ้านใช้ศาลาหลังนี้เป็นโรงเรียนสอนมูลบทจินดามณีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีพระเป็นผู้สอน ก่อนจะมีฆราวาสทำการสอนแทนในภายหลัง และย้ายไปตั้งเป็นโรงเรียนบ้านคุ้งตะเภาในระยะต่อมา (ทองเพียร รวยอบกลิ่น, สัมภาษณ์ ; พาน อ่อนคำ, สัมภาษณ์ ; จีบ แสงม่วง, สัมภาษณ์)

จากภาพถ่ายเก่าของวัดเป็นหลักฐานให้ข้อมูลว่า ก่อนทำการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้างบันไดทางขึ้นศาลาด้านติดแม่น้ำน่านระบุ “ศักราช ๒๔๘๓” ทั้งสองฝั่งของบันได สันนิษฐานว่าเป็นปีสร้างบันได นอกจากนี้ ยังพบภาพถ่ายเก่า ซึ่งถ่ายเก็บไว้ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ พบหลักฐานศักราชที่อ่างล้างเท้าระบุ “๒๔๗๖” ปัจจุบันชิ้นส่วนปีศักราชนี้ พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ได้นำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา และจากการให้ข้อมูลจากผู้สูงอายุในชุมชนเล่าว่า ย้ายศาลาเก่าติดแม่น้ำน่านเดิมมาสร้างในจุดนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ (ผิว มากคล้าย, สัมภาษณ์) ซึ่งศาลาในที่ตั้งดั้งเดิมอยู่ระหว่างโพธิ์ขนาดใหญ่ ๒ ต้นริมฝั่งแม่น้ำน่าน และต้นโพธิ์คู่นี้ปัจจุบันก็ยังอยู่ (มะลิ กลิ่นลอย, สัมภาษณ์) แต่ปัจจุบันกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางทำให้แม่น้ำน่านไหลห่างจากวัดไปกว่า ๑ กิโลเมตร (พระสมุห์สมชาย จีรปญฺโญ, สัมภาษณ์)

ตำแหน่งที่ตั้งศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาหลังเก่าซึ่งอยู่ระหว่างต้นโพธิ์ ๒ ต้น

ริมแนวตลิ่งแม่น้ำน่านเดิม ก่อนย้ายไปสร้างในตำแหน่งปัจจุบัน

แต่จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านก็ทำให้ได้ข้อมูลว่า ศาลาการเปรียญหลังนี้ไม่ได้เป็นศาลาหลังที่เก่าที่สุดของวัดคุ้งตะเภา เนื่องจากว่าภายในวัดในปัจจุบันได้มีเสาไม้มะค่าเก่าแก่ประมาณ ๑๐ กว่าต้น กองพิงใต้ถุนศาลามาช้านาน รวมทั้งโครงไม้ฝาปะกนศาลาแบบเรือนไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

จากบันทึกส่วนตัวของพระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ บันทึกข้อมูลการสัมภาษณ์พระอู๋ ปญฺญาวชิโร (แสงสิน) อายุ ๗๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๙ ไว้ว่า

หลวงพ่ออู๋ ปญฺญาวชิโร (แสงสิน) เล่าว่าสมัยท่านยังเด็กฝาปะกนนี้เดิมเป็นส่วนหนึ่งของศาลาริมน้ำเก่า ต่อมาย้ายมาทำอาคารหอฉันโบราณ (บริเวณต้นตาลสูงใต้ศาลาปัจจุบัน) สมัยนั้น ก่อนปี พ.ศ.๒๕๐๐ หอฉันก็ผุพังมากแล้ว กระดานพื้นเป็นรูโหว่ชำรุดทั่วไป พระสมัยนั้นเล่าว่าหอฉันนี้สร้างเมื่อย้ายศาลามาจากริมน้ำมาที่ตั้งปัจจุบัน โครงไม้บางส่วนทำศาลาการเปรียญ ผนังฝาปะกนเก่าบางส่วนก็เอามาทำหอฉัน เพราะผนังนั้นเล็กไปสำหรับศาลาใหม่

หอฉันที่หลวงพ่ออู๋เล่านั้น มีตีนบันไดอยู่บริเวณต้นตาลใต้ศาลาปัจจุบัน หลวงพ่อบอกว่าเป็นหน่อลูกตาลที่คนสมัยก่อนเอามาทำเลี้ยงงานบุญ แล้วตกลงพื้นดินโตเป็นต้น หากจะนับอายุต้นตาลนี้ก็จะเห็นได้ว่าสมกับปีที่ย้ายศาลามาที่ตั้งปัจจุบัน คือ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๒ (หลักฐานอ่างล้างเท้าหน้าศาลาเก่า) ก็รวมได้กว่าเกือบ ๙๐ ปี แล้ว

โครงฝาปะกนนี้ เดิมมีหลายบาน หลังจากรื้อย้ายโรงฉันและสร้างหอสวดมนต์ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ ก็เก็บกองพาดไว้ใต้ถุนศาลาการเปรียญนั้นมาตลอด พระท่านก็นำไปตัดทำประโยชน์เกือบหมด จนในปี พ.ศ.๒๕๔๙ ก็เหลือเพียงบานเดียว ปัจจุบันฝาไม้ปะกนนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

โครงไม้ฝาปะกนเก่าแก่ของวัดคุ้งตะเภา วางพาดไว้ใต้ถุนศาลาการเปรียญมาช้านาน

ภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙

ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

จากหลักฐานเท่าที่ปรากฏและสามารถสืบค้นได้พบว่า ศาลาเดิมนั้น คงไม่ใหญ่โตมาก อาจสร้างเพื่อใช้ประโยชน์จำเพาะกิจจริง ๆ และอาจเป็นไปได้ว่าฝาปะกนนี้เป็นเรือนแพเดิมของชาวบ้าน ที่ถอดยกขึ้นประกอบทำเป็นตัวเรือนศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา เพื่อให้ทันในคราวโยกย้ายผู้คนจากสวางคบุรี ตั้งวัดคุ้งตะเภาและนิมนต์พระราชาคณะจากกรุงธนบุรีมากระจายอยู่สั่งสอนบอกข้อวัตรพระปริยัติธรรม เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงชำระสิขาบทและบวชพระภิกษุหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ทั้งหมด ในปี พ.ศ.๒๓๑๓ ตามความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารก็เป็นได้

เสาไม้ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเสาศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาหลังเก่า

ก่อนการรื้อถอนไปเก็บรักษา

เมื่อพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศของศาลาวัดคุ้งตะเภาในสมัยก่อน หากตัดต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในแนวสันดอนทรายปัจจุบันออกหมด คงเป็นชัยภูมิที่ดี เนื่องจากมองไปทิศตะวันตกจะเห็นเขายูงวัวซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามได้ถนัด และสามารถใช้เป็นที่สังเกตการณ์ระวังภัยได้ และอยู่ในจุดเวิ้งน้ำขนาดใหญ่ในฤดูน้ำหลาก (จุดเวิ้งสำเภาล่มซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัดคุ้งตะเภา) เหมาะเป็นที่ตั้งค่ายและระแวดระวังศึกได้ถนัด ทั้งหากข้าศึกมาจากทางเหนือก็ใช้เรือตั้งหลักรบกลางแม่น้ำได้สะดวก ด้วยเป็นชัยภูมิอันได้เปรียบนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้สถาปนาวัดคุ้งตะเภาขึ้น เพื่อประโยชน์ด้านการสงครามด้วยอีกประการหนึ่ง และใช้เป็นที่ชำระสิกขาบทของพระสงฆ์ฝ่ายเหนือทั้งปวง

ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลประวัติวัดคุ้งตะเภาในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ที่ระบุว่าวัดคุ้งตะเภาสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๑๓ (กรมการศาสนา, ๒๕๓๑ : ๓๔)

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าเสาศาลาไม้และฝาไม้ปะกนที่พบในวัดคุ้งตะเภานั้น อาจเป็นศาลาที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ชำระสิกขาบทและให้พระราชาคณะให้เป็นสอนมูลพระปริยัติธรรมให้แก่พระสงฆ์ที่โปรดให้บวชใหม่ก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ดี ประเด็นสันนิษฐานนี้ยังต้องศึกษาวิเคราะห์เชิงวิชาการให้ชัดเจนต่อไป

จารึกอ่างน้ำข้างบันไดหน้าศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาระบุปีที่สร้าง พ.ศ.๒๔๗๖

และจารึกบันไดหน้าศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาระบุปีที่สร้าง พ.ศ.๒๔๘๓

ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ศาลาการเปรียญวัดใหญ่ท่าเสา ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานิวัดติวงศ์ทรงสันนิษฐานในปี พ.ศ.๒๔๔๔ ว่าเป็นวัดเก่ามาก (นริศรานุวัดติวงศ์, ๒๕๐๖ : ๓๙-๔๐) และศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา มีสถาปัตยกรรมคล้ายกันในหลายส่วน ทั้งมีศาลาปีก (ศาลาบาตร) ในรูปแบบที่เหมือนกันมาก ดังศาลาประธานวัดคุ้งตะเภา ที่เป็นอาคารทรงโรงเครื่องสับแบบภาคกลางโบราณเช่นเดียวกัน หากเป็นไปตามคำบอกเล่าและข้อสันนิษฐานดังกล่าว ศาลานี้อาจมีอายุมากกว่าสองร้อยปี ซึ่งชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ย้ายโครงสร้างศาลาดังกล่าวมา ณ ที่ตั้งปัจจุบันในปี พ.ศ.๒๔๗๒ โดยคงรูปแบบเก่าแต่ครั้งอดีตไว้ด้วย

จากรูปแบบภูมิสถาปัตย์ของอาคารหลังนี้เป็นรูปแบบศาลาโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีโครงสร้างคล้ายกับศาลาการเปรียญวัดใหญ่ท่าเสาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ (ราชกิจจานุเบกษา, ๒๕๔๐ : ๒) โดยความเก่าแก่ของโครงสร้างและรูปแบบศาลาลักษณะนี้ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร ระบุว่าเป็นรูปแบบโครงอาคารศาลาการเปรียญที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา (หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดอุตรดิตถ์, ๒๕๓๐ : ๓๖-๔๑) อาคารศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกันนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่อาจเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในช่วงหลังศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ.๒๓๑๓ ก็เป็นได้

ความคล้ายคลึงของศาลาการเปรียญวัดใหญ่ท่าเสา

และศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาก่อนได้รับการปฏิสังขรณ์ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า วัดใหญ่ท่าเสาปรากฏปีตั้งวัดในประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๕ อันเป็นปีประมาณการก่อตั้งวัดในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ วัดใหญ่ท่าเสาพึ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใน พ.ศ.๒๔๒๓ (กรมการศาสนา, ๒๕๓๐ : ๑๘๘) ซึ่งศักราชดังกล่าวไม่เก่าไปถึงสมัยธนบุรี

มีข้อน่าสังเกตอีกว่า เนื่องจากศาลาการเปรียญวัดใหญ่ท่าเสาเป็นสถาปัตยกรรมเสาไม้ถากแบบโบราณพื้นบ้าน แต่กลับมีโบราณวัตถุและศิลปวัตถุเครื่องอุทิศ เช่น แผงพระและพระพุทธรูปศิลปกรรมอยุธยาตอนปลายจำนวนมากในศาลาวัดใหญ่ท่าเสา ตลอดจนการพบยานมาศ รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งตัวหอไตรวัดใหญ่ท่าเสาศิลปะอยุธยาตอนปลาย เดิมนั้นอยู่ในพื้นที่ติดกับตัวอาคารศาลาการเปรียญ อาจเป็นไปได้อย่างมากว่าเครื่องอุทิศศิลปะอยุธยานั้นอาจนำมาจากวัดพระฝางฯ เมื่อครั้งพระครูสวางคบุรี (หลวงพ่อเย็ก) นำเลกวัดไปทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระฝางตามพระราชศรัทธาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (กหช. ร.๔ จ.ศ.๑๒๑๗ (พ.ศ.๒๓๙๘), เลขที่ ๑๖๒) นอกจากนี้ ในสมัยนั้นวัดใหญ่ท่าเสายังเป็นที่ตั้งของเตาที่เผาดินทำกระเบื้องวิหารหลวงวัดพระฝางอีกด้วย

พระมหาเทวประภาสจึงตั้งสมมติฐานว่า มีความเป็นไปได้ว่าหอไตรนั้นอาจทำการเคลื่อนย้ายมาจากวัดพระฝางในสมัยนี้ เพื่อดูแลรักษา เนื่องจากเมืองสวางคบุรีในขณะนั้นโรยราผู้คนลงไปมากแล้วและหอไตรซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมหอไตรสมัยอยุธยาตอนปลายนี้ อาจส่งอิทธิพลต่อโบสถ์ที่สร้างขึ้นในระยะปี พ.ศ.๒๔๒๓ อันเป็นปีที่วัดใหญ่ท่าเสาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาก็เป็นได้ ทั้งนี้ โบสถ์วัดใหญ่ท่าเสายังมีลักษณะศิลปกรรมหน้าต่างฝั่งละ ๓ ช่อง ประตู ๒ ช่อง ไม่มีประตูหลัง ภายในเป็นแท่นเต็มพื้นที่ชั้นเดียว มีชั้นวางพระคล้ายโบสถ์วัดป่ากล้วย ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับวัดใหญ่ท่าเสาคนละฝั่งน้ำ ที่ปรากฏหลักฐานการพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.๒๔๒๐ อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย (พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี, สัมภาษณ์)

ตอนที่ ๑๓

พระราชศรัทธา

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ต่อพระมหาธาตุเมืองฝาง

วัดพระมหาธาตุเมืองฝาง (ปัจจุบันคือวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ) เป็นที่ประดิษฐานพระมหาธาตุเมืองฝาง อันเป็นพระมหาธาตุสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของเมืองสวางคบุรี เป็นที่นับถือสักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นในหัวเมืองฝ่ายเหนือ พระนครและบ้านเล็กเมืองน้อยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งพระมหาธาตุเมืองฝางนี้ ปรากฏคำนมัสการมีในตำราพระธาตุของโบราณ ความว่า

อิธ สฺวางฺคปุเร รมฺเม ตารารมฺพวเน อห

ชินธาตุ อยํ ถูโป ธมฺมาโสเกน ฐาปิโต

ทกฺขิณา อกฺขธาตุญฺจ เอกญฺจ ปญฺจ ธาตุโย

อุปคุตฺโตติ นาเมน เถเรน ถิรเจตสา

นิหริตฺวาน โส เถโร เจติเยสุ ปติฏฺฐิตา

ปูชิตา นรเทเวหิ อหํ วนฺทามิ ธาตุโย ฯ”

(ตำราพระธาตุ, ๒๔๙๗ : ๒๘-๒๙)

อีกทั้งความศักดิ์สิทธิ์และชื่อเสียงที่ร่ำลือกันไปว่าพระมหาธาตุที่เมืองสวางคบุรีเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ครั้งที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณฑูตมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ (พระราชพงศาวดารเหนือ, ๒๕๔๒ : ๙๘) ทำให้ผู้คนทุกทั่วสารทิศต่างก็อยากเดินทางมานมัสการสักครั้งหนึ่งในชีวิต จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า มีบุคคลสำคัญของเมืองต่างๆ เดินทางมานมัสการพระมหาธาตุ อาทิ

พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ซึ่งเป็นบุตรของพระยาคำแหงพระราม เป็นหลานของพ่อขุนผาเมือง (ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย, ๒๕๔๘ : ๙๙) เมื่อท่านทรงผนวชและทรงมีราชศรัทธาที่จะเสด็จไปแสวงบุญนมัสการบรรดาพระมหาธาตุสำคัญๆ ที่ประดิษฐานอยู่ในบ้านเมืองแว่นแคว้นต่างๆ ทั่วดินแดนสุวรรณภูมิและลังกาทวีปได้ธุดงค์ไปแสวงบุญนมัสการพระมหาธาตุเมืองฝาง ก่อนข้ามไปลังกา (ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย, ๒๕๔๘ : ๑๒๕)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ปี พ.ศ.๒๒๗๖-๒๓๐๑) พระองค์ได้เสด็จขึ้นมาสมโภชพระมหาธาตุที่เมืองสวางคบุรี เป็นเวลา ๓ วัน ในปี พ.ศ.๒๓๘๐ ด้วย (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๓๖)

นอกจากนี้ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ซึ่งเป็นราชทูตที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศสโปรดให้มาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในปี พ.ศ.๒๒๓๐ ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองฝางไว้ในจดหมายเหตุของเขา เป็นหัวข้อหนึ่งชื่อ “ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพวกชาวสยามที่เมืองฝาง” ดังนี้

แต่สำหรับเมืองฝางนั้น โดยที่ฝางเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อว่าใช้ในการย้อมสี ที่ชาวปอรตุเกศเรียกว่า ซาปัน ลางคนก็แปลว่า เมืองป่าฝาง อนึ่งเพราะเมืองนั้นเป็นที่เก็บพระทันตธาตุ ซึ่งอ้างกันว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระสมณะโคดม ชาวสยามจึงสร้างพระวิหารเจดียสถานขึ้นไว้เพื่อสักการบูชา ลางคนก็ไม่เรียกเมืองนั้นว่า เมืองฝาง หากเรียกว่า เมืองฟัน อันหมายความว่าเมืองแห่งพระทนต์ โดยที่ชาวเมืองมีความเชื่อมั่นอยู่อย่างนี้ จึงชักให้สัปบุรุษเป็นอันมากจากที่ต่างๆมาชุมนุมนมัสการ ไม่ชั่วแต่พวกชาวสยามเท่านั้น ยังมีทั้งชาวพะโค (มอญ) และชาวลาวอีกด้วย” (ลาลูแบร์, ๒๕๕๒ : ๓๑)

จากบันทึกดังกล่าวแสดงถึงความสำคัญของพระมหาธาตุเมืองฝางที่พระมหากษัตริย์ ขุนนางและชาวกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองอาณาจักรในขณะนั้น คงขึ้นมานมัสการพระมหาธาตุเมืองฝางอยู่เสมอ

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงชำระสิกขาบทพระสงฆ์ฝ่ายเหนือเสร็จแล้ว ก็โปรดให้นำผ้าไตรที่พระสงฆ์สึกนั้นมาเผาทำเป็นผงผสมรักแล้วทาพระมหาธาตุเมืองฝาง ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า “...แต่ผ้าไตรที่พระสงฆ์สึกนั้น ได้เผาทำเป็นสมุกไปทาพระมหาธาตุเมืองฝาง...” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๕) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาต่อพระมหาธาตุเมืองฝางอยู่แต่เดิมแล้ว

แต่หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงชำระสิกขาบทพระสงฆ์และจัดการเรื่องราวต่างๆ ในเมืองสวางคบุรีเรียบร้อยแล้ว ก่อนเสด็จกลับกรุงธนบุรีพระองค์ได้เสด็จจากพระตำหนักค่ายหาดสูงมาสมโภชพระมหาธาตุเมืองฝาง และโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งนี้ให้บริบูรณ์เหมือนเก่า ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ความว่า

วันศุกร์ เดือน ๑๑ แรม ๑๐ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองสวางคบุรีย์ สมโภชพระธาตุสามเวน แล้วเปลื้องพระภูษาออกจากพระองค์ทรงพระบรมธาตุ แล้วให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอารามแลพระบรมธาตุให้บริบูรณ์ดังเก่า จึงเสด็จพระราชดำเนินไปสมโภชพระ ณ ย้าง ๓ วัน แล้วเสด็จไปสมโภชพระบรมธาตุเมืองสวรรคโลกย์” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๖)

ส่วนในจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีกล่าวว่า “...รับสั่งให้สมโภชนางพระยาแล้ว ให้รับละครผู้หญิงขึ้นไปสมโภชพระฝาง ๗ วัน แล้วเสด็จไปเยี่ยมเมืองพิษณุโลก...” (พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี, ๒๔๗๒: ๕) แม้ว่าข้อความนี้จะกล่าวถึงการสมโภชพระมหาธาตุเมืองฝางสอดคล้องกับพระราชพงศาวดาร แต่ก็มีข้อความที่ขัดแย้งกับความในพระราชพงศาวดารคือจำนวนวันที่ทำการสมโภช

ภาพจินตนาการสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สมโภชพระมหาธาตุเมืองฝาง พ.ศ.๒๓๑๓

ผู้เขียนสันนิษฐานว่าพระองค์น่าจะโปรดให้ทำการสมโภชพระมหาธาตุเมืองฝางเพียง ๓ วัน เช่นเดียวกับพระมหาธาตุเมืองทุ่งยั้ง พระมหาธาตุเมืองสวรรคโลก และพระพุทธชินราช เมืองพิษณุโลก (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๓๙-๓๔๐ ; พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๖) ไม่น่าจะนานถึง ๗ วันดังที่ปรากฏในจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี

แต่จดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า น่าจะมีการนำละครผู้หญิงจากกรุงธนบุรีขึ้นไปแสดงเป็นมหรสพสมโภชพระมหาธาตุเมืองฝาง เรื่องที่ละครผู้หญิงหรือละครในแสดงนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเรื่องรามเกียรติ์ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชนิพนธ์ก่อนเสด็จยกทัพขึ้นมาเมืองเหนือไม่นานนัก วันที่ทรงพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ฉบับนี้เป็นปฐมคือ คือ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช ๑๑๓๒ ตรงกับปี พ.ศ.๒๓๑๓ เป็นปีที่ ๓ แห่งรัชกาลของพระองค์ (เรือนไทย ตู้หนังสือ, ออนไลน์)

และยังพบว่าเรื่องรามเกียรติ์เป็นเรื่องที่นิยมเล่นเป็นละครในอีกด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกํากับหรือทรงบัญชาการฝึกซ้อมการแสดงโขนละครด้วยพระองค์เอง การแสดงละครของหลวงได้ฝึกหัดแสดงตามแบบแผนกรุงศรีอยุธยา โดยมีเจ้าฟ้าพินทวดี พระธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผู้มีความรู้แบบแผนขนบละครในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้ฝึกซ้อมอีกพระองค์หนึ่ง (พาณี สีสวย, ๒๕๔๐ : ๓๖)

ภาพวาดการแต่งกายนักแสดงละครในหรือละครผู้หญิงในอดีต

จากข้อความที่กล่าวไปในข้างต้นแสดงให้เห็นถึงพระราชศรัทธาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่มีต่อพระมหาธาตุเมืองฝางได้เป็นอย่างดี ดังปรากฏข้อความว่าทรงเปลื้องพระภูษาออกจากพระองค์ แล้วทรงห่มถวายพระบรมธาตุ นอกจากนี้ ยังโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอารามและพระบรมธาตุให้บริบูรณ์ดังเก่าอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอาจทรงพระกรุณาให้ปิดทององค์พระมหาธาตุเมืองฝางก็เป็นได้ เพราะเผาผ้าไตรทำผงสมุกแล้วนำไปทางพระมหาธาตุเมืองฝางตามความในพระราชพงศาวดารนั้น มีความเป็นไปได้ว่าเป็นการทาสมุกรองพื้นก่อนปิดทอง เนื่องจากสมุกถ่านทำจากใบตองแห้ง ใบหญ้าคา เป็นต้น ป่นให้เป็นผงประสมกับรักน้ำเกลี้ยง สำหรับทารองพื้นบนสิ่งต่างๆ เช่น บานประตูหน้าต่างโบสถ์ วิหาร ก่อนที่จะเขียนลายรดน้ำปิดทอง จึงมีความเป็นไปได้ว่า การโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุให้บริบูรณ์ดังเก่านั้น อาจมีการปิดทองพระมหาธาตุเมืองฝางด้วย

ตำแหน่งที่ตั้งเมืองฝางในแผนที่ราชอาณาจักรสยามของลาลูแบร์

(ปรับปรุงจาก ลาลูแบร์, ๒๕๕๒ : ๒๓)

แต่เนื่องจากว่าพระมหาธาตุเมืองฝางองค์เดิมได้พังทลายลง ส่วนเจดีย์พระมหาธาตุองค์ปัจจุบันนั้นได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าหัวเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ (กจช. ร.๔, จ.ศ.๑๒๑๗ (พ.ศ.๒๓๙๘) : เลขที่ ๑๖๒ ; กจช. ร.๔, จ.ศ.๑๒๑๗ (พ.ศ.๒๓๙๘) : เลขที่ ๒๐๐) จึงทำให้ขาดหลักฐานเกี่ยวข้องสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้อย่างชัดเจน

พระฝาง พระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิในโบสถ์วัดพระมหาธาตุเมืองฝาง

ก่อนอัญเชิญไปยังกรุงเทพมหานคร

(ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ตอนที่ ๑๔

สภาพเมืองสวางคบุรี

หลังศึกเจ้าพระฝาง

หลังจากจากเสร็จศึกปราบเจ้าพระฝางแล้ว ผู้คนชาวเมืองสวางคบุรีส่วนหนึ่งที่แตกฉานซ่านเซ็นเข้าป่าเข้าดงก็คงกลับมาตั้งถิ่นฐานยังบ้านเก่าเมืองเดิม เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้แม่ทัพนายกองออกเกลี้ยกล่อมชาวเมืองให้กลับมาตั้งถิ่นฐานดังเดิม (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๓๗)

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีประทับจัดการปกครองหัวเมืองเหนือตลอดฤดูน้ำ ให้เกลี้ยกล่อมราษฎรที่แตกฉานซ่านเซ็นให้กลับมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม แล้วให้สำรวจจำนวนไพร่พลเมืองเหนือทั้งปวง เมืองพิษณุโลกมีพลเมือง ๑๕,๐๐๐ คน เมืองสวรรคโลกมี ๗,๐๐๐ คน เมืองพิชัย (รวมเมืองสวางคบุรี) มี ๙,๐๐๐ คน เมืองสุโขทัยมี ๕,๐๐๐ คน เมืองกำแพงเพชรและเมืองนครสวรรค์มีเมืองละ ๓,๐๐๐ คนเศษ (ดำรงราชานุภาพ, ๒๕๔๓ : ๓๓๒ ; พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๔๐)

จากจำนวนไพร่พลที่ได้จากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ในช่วงระยะดังกล่าวยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยตั้งถิ่นฐานและอาศัยอยู่ในบริเวณเมืองสวางคบุรี (รวมทั้งเมืองพิชัย)

เมื่อเสร็จศึกเมืองสวางคบุรีแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จพระราชดำเนินไปสมโภชพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ๓ วัน สมโภชพระบรมธาตุเมืองสวรรคโลก ๓ วัน และสมโภชพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลก ๓ วัน จากนั้นก็พิจารณาความดีความชอบและพระราชทานเลื่อนยศศักดิ์แก่แม่ทัพนายกองทั้งปวง ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า

ครั้น ณ วันศุกร์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ สมโภชพระเมืองพิตรณุโลกย์ ๓ วันแล้ว ข้าหลวงซึ่งมีความชอบในการสงคราม ให้รั้งเมืองครองเมืองตามฐานานุกรมลำดับ เจ้าพระยาพิไชยราชาเป็นเจ้าพระยาสวรรคโลกย์ พญายมราชเป็นเจ้าพระยาสุรศรี รั้งเมืองพิศณุโลกย์ พระษรีราชเดโช รั้งเมืองพิไชย พระท้ายน้ำ รั้งเมืองศุกโขทัย เจ้าพระยาอณุรักพูทร รั้งเมืองณครสวรรค์ พระยาอไภยรณฤทธิไปเป็นพญายมราช ให้ว่าที่สมุหนายกด้วย แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังกรุงธนบุรีย์ ณ วันสามค่ำ” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๖)

จะเห็นได้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แม่ทัพนายกองที่มีบทบาทสำคัญในการปราบปราบชุมนุมเจ้าพระฝางให้เป็นเจ้าเมืองในหัวเมืองฝ่ายเหนือ แม่ทัพหน้าทั้ง ๒ คน คือ พระยายมราช (หลักฐานบางแห่งเรียกเจ้าพระยายมราช) และพระยาพิชัยราชา (หลักฐานบางแห่งเรียกเจ้าพระยาพิชัยราชา) โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ เจ้าเมืองพิษณุโลก และเจ้าพระยาสวรรคโลก เจ้าเมืองสวรรคโลก ตามลำดับ ส่วนแม่ทัพนายกองคนอื่น เช่น พระท้ายน้ำ (หลักฐานบางแห่งเรียกพระยาท้ายน้ำ) เป็นพระยาสุโขทัย เจ้าเมืองสุโขทัย พระยาอนุรักษ์ภูธรหลักฐานบางแห่งเรียกเจ้าพระยาอนุรักษ์ภูธร) เป็นพระยานครสวรรค์ เจ้าเมืองนครสวรรค์

ที่สำคัญคือ พระสีหราชเดโช (หลักฐานบางแห่งเรียกพระยาสีหราชเดโช) ได้เป็นพระยาพิชัย เจ้าเมืองพิชัย ซึ่งต่อมาพระยาพิชัยผู้นี้ก็ได้เป็นแม่ทัพต่อสู้กับกองทัพพม่าที่ยกมาตีเมืองพิชัยจนดาบหัก วีรกรรมในทั้งนั้นทำให้มีชื่อเรียกในชั้นหลังว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), ๒๕๐๕ : ๓๕๓) และเป็นบุคคลสำคัญในประวัติ-ศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงรวบรวมแผ่นดินไทยได้ดังเดิมหลังเสร็จศึกปราบเจ้าพระฝาง

จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าไว้วางพระราชหฤทัยให้ พระสีหราชเดโช ขุนศึกคู่พระทัย เป็น “พระยาพิชัย”

ครองเมืองพิชัย ต่างพระเนตรพระกรรณ์ เพื่อเป็นหน้าด่านระวังข้าศึกจากทางเหนือ

ซึ่งต่อมาท่านได้รับสมญานามเป็น “พระยาพิชัยดาบหัก”

ผู้ยอมถวายชีวิตแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นราชพลีในวาระสุดท้ายของชีวิตของท่าน

แต่หลังจากนั้นไม่นานคงมีการเคลื่อนย้ายของผู้คนไปตั้งถิ่นฐานยังที่อื่น เช่น เมืองบางโพ บ้านท่าเสา บ้านคุ้งตะเภา บ้านแสนตอ ทั้งนี้ ก็เนื่องจากว่าพื้นที่ทางใต้เมืองลงมาเริ่มมีความรุ่งเรืองในฐานะชุมทางการค้าทางน้ำแทนเมืองสวางคบุรี และเมืองสวางคบุรีคงบอบช้ำมากจากการสงคราม อีกทั้งยังมีกองทัพพม่ายกมาตีเมืองสวางคบุรีด้วย

นั่นก็คือในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๓๑๓ ได้มีกองทัพพม่ายกทัพมาจากเมืองเชียงใหม่ แล้วยกกองทัพลงมาตั้งค่ายล้อมเมืองสวรรคโลกไว้ ด้วยอาวุธต่างๆ ครบครันเป็นสามารถ คงหมายจะตีเอาหัวเมืองสำคัญทางฝ่ายเหนือของราชอาณาจักรกรุงธนบุรี ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพสันนิษฐานว่าคงเป็นผลมาจากมีพวกเจ้าพระฝางหนีไปพึ่งพม่าทางเมืองเชียงใหม่ โปมะยุง่วนได้ท่วงทีที่จะแผ่อาณาเขตต่อลงมาเพราะไทยพวกเมืองสวางคบุรีไปเข้าด้วย (ดำรงราชานุภาพ, ๒๕๔๓ : ๓๓๓) แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีตราขึ้นไปถึงเจ้าเมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัยและเมืองพิชัยให้มาช่วยรบ กองทัพพม่าจึงแตกและถอยทัพกลับไป

ในเหตุการณ์ครั้งนี้พบว่า พม่าไม่เพียงแต่หมายจะตีเอาเมืองสวรรคโลกเท่านั้น แต่ยังส่งทหารส่วนหนึ่งหมายจะตีเอาเมืองสวางคบุรีด้วย ดังข้อความที่ปรากฏในจดหมายเหตุโหรมีว่า “จ.ศ.๑๑๓๒ พม่ายกมาสวางคบุรีแตกกลับไป” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๖) ซึ่งจากจดหมายเหตุโหรก็พอทำให้ทราบว่าพม่าไม่สามารถตีเมืองสวางคบุรีได้ คงจะมีทัพหลวงจากกรุงธนบุรียกขึ้นมาช่วยด้วยอีกทางหนึ่ง(พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ๒๕๔๒ : ๔๙๖-๔๙๗)

หลังสภาพการณ์สงครามในเขตเมืองสวางคบุรีช่วงปี พ.ศ.๒๓๑๓ ผ่านไป เมืองสวางคบุรีมีบทบาทน้อยลงกว่าเดิมมาก ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ความเป็นเมืองถูกลดบทบาทลงจนเหลือแต่เพียงชุมชนขนาดเล็ก และผู้คนไม่ขวักไขว่เช่นในช่วงเวลาก่อนหน้าที่ผ่านมา และมีความเป็นไปได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้กลับเข้ามาตั้งบ้านเรือนในเขตตัวเมืองเดิม หากแต่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณใกล้เคียงมากกว่า เนื่องจากสภาพภายในเมืองคงบอบช้ำจากสงครามเป็นอย่างมาก และชุมชนบ้านพระฝางซึ่งอยู่ในเขตตัวเมืองสวางคบุรีเดิมนั้นก็ไม่ได้ปรากฏความสืบเนื่องว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๔ แต่อย่างใด

บริเวณกลางไร่อ้อยที่ผู้เขียนยืนอยู่นี้คือที่ตั้งของโบราณสถานวัดโพธิ์ผียกซึ่งถูกทำลาย

ปัจจุบันพบเพียงเศษอิฐและกระเบื้องแตกกระจายอยู่ทั่วบริเวณไร่อ้อย

วัดนี้อยู่ทางตะวันออกของบ้านพระฝางในปัจจุบัน

และคงถูกได้รับความเสียหายในช่วงศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ.๒๓๑๓

ต่อมาจึงถูกทิ้งร้าง เนื่องจากมีผู้คนและแรงงานในการปฏิสังขรณ์ไม่เพียงพอ

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีชาวเมืองสวางคบุรีมีการย้ายถิ่นฐานหลังสิ้นศึกครั้งนี้

อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกตในชุมชนเกิดใหม่ใกล้เคียงเมืองสวางคบุรี เช่น บ้านแสนตอ ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่และมีวัดดอยแก้ว เป็นโบราณสถานที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองสวางคบุรี วัดดอยแก้วเดิมตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่าวัดทุ่งอ้อมหรือวัดทุ่งล้อม แล้วย้ายมาอยู่ที่วัดท่า ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๖ ได้ย้ายจากวัดท่ามาตั้งบนที่ดอยสูง เรียกว่า วัดดอยแก้ว อยู่ในเขตหมู่ที่ ๔ ตำบลแสนตอ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์

สิ่งก่อสร้างสำคัญในวัดดอยแก้วมี ศาลาการเปรียญที่สร้างขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ ในบริเวณศาลาการเปรียญหลังเดิม วิหารพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งบูรณะ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ ทางวัดได้จำลองรอยพระพุทธบาทมาจากเขาพระบาทสี่รอยที่บ้านช่องลม ตำบลหาดงิ้ว วิหารหลังเดิมเป็นอาคารโล่งไม่มีฝาผนัง มีภาพจิตรกรรมอยู่ที่เพดานของวิหาร แต่ปัจจุบันสูญหายไปหมดแล้ว

วิหารพระบาทและพระประธานไม้แกะสลักวัดดอยแก้ว

โบสถ์ที่เห็นอยู่ปัจจุบันนี้บูรณะขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ โบสถ์หลังเดิมใช้อิฐและศิลาแลงจากวัดทุ่งอ้อม ในโบสถ์ยังปรากฏพระพุทธรูปไม้หน้าตักกว้าง ๘๐ เซนติเมตร สูง ๒ เมตร ที่ฐานมีจารึกว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๖ สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นพร้อมกับโบสถ์หลังเดิม แต่ปัจจุบันนี้โบสถ์ชำรุดทรุดโทรม และคับแคบไม่พอทำสังฆกรรม (ประสิทธิ์ ชัยเนตร, ออนไลน์)

นอกจากนี้ บ้านท่าเสา อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสวางคบุรีท่าเสาเป็นชุมชนที่เริ่มมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ เป็นอย่างน้อย ดังปรากฏหลักฐานว่าโบสถ์และหอไตรภายในวัดใหญ่ท่าเสาเป็นศิลปะอยุธยาตอนปลาย-ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เคยเสด็จมาทอดพระเนตรโบราณวัดใหญ่ท่าเสาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าวัดนี้เป็นวัดเก่ามาก (นริศรานุวัดติวงศ์, ๒๕๐๖ : ๓๙-๔๐)แต่เดิมชุมชนแห่งนี้น่าจะเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ชื่อของบ้านคือ ท่าเสา จากเรื่องราวชีวประวัติพระยาพิชัยดาบหักที่แต่งขึ้นโดยพระยาศรีสัชนาลัยบดีว่า นายทองดี (พระยาพิชัยดาบหัก) ได้เคยมาศึกษาวิชามวยกับครูเมฆที่บ้านท่าเสาด้วย (พระยาศรีสัชนาลัยบดี, ๒๕๒๘ : ๑๐๒-๑๐๓)

โบสถ์และหอไตร โบราณสถานสำคัญภายในวัดใหญ่ท่าเสา

ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕) ยังพบว่าวัดใหญ่ท่าเสาเป็นที่จำพรรษาของ “พระครูสวางคบุรี” หรือหลวงพ่อเย็ก พระครูเจ้าคณะเมืองสวางคบุรี (กหช. ร.๔ จ.ศ.๑๒๑๙, เลขที่ ๑๔) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณบ้านท่าเสานั้นอยู่ในเขตเมืองสวางคบุรี และน่าจะมีพัฒนาการของชุมชนเกี่ยวข้องกับเมืองสวางคบุรีหลังศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ.๒๓๑๓

ตอนที่ ๑๕

บ้านคุ้งตะเภา

ชุมชนใหม่หลังศึกเมืองสวางคบุรี

ชุมชนบ้านคุ้งตะเภาไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่ามีผู้คนเริ่มเข้ามาอาศัยและตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนตั้งแต่เมื่อไร แต่หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดก็ถือศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาที่อาจเก่าถึงสมัยธนบุรีหรือราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ดังได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้า

ชุมชนบ้านคุ้งตะเภาถือเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีลักษณะพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาจากการแตกฉานซ่านเซ็นของผู้คนพลเมืองสวางคบุรีหลังศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ.๒๓๑๓ แม้ว่าหลังศึกจะมีการเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านกลับมาตั้งถิ่นฐานตามเดิม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าที่บริเวณรอบวัดพระฝางฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองสวางคบุรีจะมีผู้คนกลับเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากมายดังแต่เก่าก่อน กลับพบว่าผู้คนได้เลือกตั้งถิ่นฐานอยู่ห่างจากศูนย์กลางเดิมของเมืองออกมาอีกเล็กน้อย เช่น บ้านแสนตอและบ้านท่าเสาดังได้กล่าวมาแล้ว

ที่ชุมชนบ้านคุ้งตะเภาก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนแห่งนี้พูดภาษาไทย สำเนียงสุโขทัย เฉกเช่นเดียวกับชาวเมืองสวางคบุรี และมีวัฒนธรรมต่างๆ ที่คล้ายคลึงกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นกลองมังคละ อันเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย (พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี (มากคล้าย), ๒๕๕๘ : ๔๖-๕๑)

สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ภายในชุมชนบ้านคุ้งตะเภามีวัฒนธรรมการเล่นกลองมังคละหรือมังคละเภรี (ณัฐชยา นัจจนาวากุล, สัมภาษณ์) ซึ่งการเล่นกลองมังคละนับเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนโบราณในวัฒนธรรมสุโขทัย ไมเคิล ไรค์ นักวิชาการด้านภารตวิทยาได้ให้ความเห็นเรื่องกลองมังคละว่าในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไทยได้มีการนำพระพุทธศาสนาจากลังกาเข้ามา โดยเฉพาะองค์พระมหาสามีสังฆราชและพระผู้ใหญ่อีกหลายรูปก็มีการไปมาหาสู่กันระหว่างสุโขทัยกับลังกา น่าจะมีการนำมังคละเภรีเข้ามาด้วย เดิมกลองมังคละใช้ตีประโคมยามสงครามหรือให้กำลังใจทหารในลังกา ต่อมาภายหลังพระมหากษัตริย์ผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาทรงเห็นดนตรีมังคละและการร่ายรำมังคละเป็นของสูง จึงมีศรัทธาถวายวัด จนกลายเป็นเครื่องประดับพระบารมีพระบรมสารีริกธาตุ แล้วชาวบ้านยังใช้ดนตรีมังคละในพิธีมงคลทุกอย่าง (ไมเคิล ไรท์, ๒๕๔๑ : ๑๘๑-๑๘๓)

เครื่องดนตรีมังคละและการเล่นมังคละเภรีที่ยังพบอยู่ในในชุมชนบ้านคุ้งตะเภา

การเล่นมังคละที่ปรากฏร่องรอยวัฒนธรรมในชุมชนบ้านคุ้งตะเภาปัจจุบัน มีความเป็นได้ว่าเกิดจากการสืบทอดจากบรรพบุรุษที่มีความเกี่ยวข้องกับการกัลปนาผู้คนของชนนั้นผู้ปกครองในอดีตต่อพระมหาธาตุเมืองฝาง ผู้คนที่ถูกกัลปนานี้ตำนานและจารึกเรียกว่า ข้าวัด ข้าพระ เลกวัด สมวัด ศีลบาล และศาสนบาล (ธิดา สาระยา, ๒๕๓๗ : ๗๒) ซึ่งลักษณะผู้คนที่ถูกอุทิศทั้งหลายต้องอยู่รักษาพระบรมธาตุ ดังปรากฏในจารึกของทางล้านนาหลักหนึ่งระบุว่า เมื่อมีข้าศึกศัตรูมาสู้รบรุกราน ก็ห้ามไม่ให้มีการเกณฑ์คนที่เป็นข้าพระธาตุไปเป็นทหารป้องกันเมืองโดยเด็ดขาด (ศรีศักร วัลลิโภดม, ๒๕๔๖ : ๑๐๑)

ในการกัลปนาผู้คนมักจะอุทิศและอธิษฐานให้ผู้คนเหล่านั้นดูแลศาสนสถานแห่งนั้นไปทั้งตระกูลไม่มีที่สิ้นสุด ดังตัวอย่างที่ปรากฏข้อความในจารึกพระยาศรียศราช พ.ศ.๑๙๖๖ (ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย, ๒๕๔๘ : ๒๒๕) ผู้เขียนจึงสันนิษฐานเบื้องต้นว่าคนที่เป็นข้าพระหรือเลกวัดอาจมีความกลัวต่อคำสาปแช่งและคิดว่าเป็นบุญที่ได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา จึงพยายามที่จะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดแม้ว่าบ้านเมืองจะเข้าสู่ภาวะสงครามแล้วก็ยังต้องกลับมาตั้งถิ่นฐานเช่นเดิม ทำให้ปรากฏร่องรอยวัฒนธรรมการเล่นมังคละอันเกี่ยวเนื่องกับการบูชาพระบรมธาตุที่อาณาจักรสุโขทัยรับมาจากลังกาในเมืองสวางคบุรีที่ชุมชนบ้านคุ้งตะเภา อันอาจมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาจนปัจจุบันก็เป็นได้

ในอดีตชุมชนบ้านคุ้งตะเภาคงเป็นชุมชนขนาดใหญ่ทีเดียว และอาจเป็นศูนย์กลางการปกครองของเมืองสวางคบุรีในชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงหลังการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐ โดยที่บ้านคุ้งตะเภาอาจเป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองหรือขุนนางกรมการเมืองผู้ใหญ่ของเมืองสวางคบุรีก็เป็นได้ เนื่องจากมีการพบเอกสารโบราณประเภทกฎหมายพระอัยการที่ใช้ในการปกครองบ้านเมืองสมัยสังคมจารีตจำนวนมากถูกเก็บรักษาอยู่ภายในวัดคุ้งตะเภา ตลอดจนเอกสารโบราณประเภทสมุดไทยดำ สมุดไทยขาวและใบลานเป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าบ้านคุ้งตะเภาเป็นชุมชนที่มีบทบาทและความสำคัญต่อจากเมืองสวางคบุรีที่บอบช้ำจากสงครามได้

จะพบว่ามีชื่อ “วัดคุ้งตะเภา”เป็นวัดโบราณเพียงวัดเดียว

อยู่ในแผนที่ริมแม่น้ำน่านฝั่งซ้าย ฝั่งเดียวกับวัดพระฝาง เมืองสวางคบุรี

แผนที่ภูมิประเทศเมืองอุตรดิตถ์ พ.ศ.๒๔๔๐

ตัวอย่างสมุดไทยลงหรดาลพระอัยการลักษณะเบ็ดเสร็จโบราณที่พบในเขตบ้านคุ้งตะเภา

ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

แต่ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระองค์โปรดให้ยกเปลี่ยนชื่อเมืองบางโพซึ่งอยู่ทางใต้บ้านคุ้งตะเภาไม่ไกลนักเป็นเมืองอุตรดิตถ์ (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ (ขำ บุนนาค), ๒๕๔๗ : ๓๔๖-๓๔๗) ซึ่งจากชื่อเมืองที่แปลว่า “เมืองท่าทางทิศเหนือ” สะท้อนให้เห็นว่าเมืองบางโพ (เมืองอุตรดิตถ์) ก่อนหน้านี้เป็นย่านการค้าและคมนาคมสำคัญในลุ่มแม่น้ำน่าน (ขวัญเมือง จันทโรจนี, ๒๕๓๔ : ๑๘๔-๑๘๖)

ภาพถ่ายวิถีชีวิตริมน้ำของชาวท่าเสาและคุ้งตะเภา ภาพถ่ายวิถีชีวิตริมน้ำของชาวท่าเสาและคุ้งตะเภา

ผลงานของ มร.คาร์ล โดห์ริง (KARL DOEHRING) สถาปนิกเยอรมันผู้สมัครเข้ามาทำงานกับการรถไฟสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕

ภาพนี้เป็นภาพที่ ๑๖ ในหนังสือ ปรากฏข้อความใต้ภาพว่า “...near Tha Sa(o)”

ทำให้ทราบว่าภาพนี้ถ่ายจากฝั่งแม่น้ำน่านทิศตะวันออกอันเป็นที่ตั้งของบ้านท่าเสา

ฝั่งตรงข้ามคือแถบย่านตำบลคุ้งตะเภา (Doehring, 1920 : ไม่ปรากฏเลขหน้า)

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ยังได้มีการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพมหานครถึงบริเวณเมืองอุตรดิตถ์และเริ่มเปิดบริการเดินรถไฟผ่านเมืองอุตรดิตถ์เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๒ แล้วเปิดบริการเดินรถไฟสายเหนือทั้งหมดจากกรุงเทพมหานครถึงเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๖๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (สุนันทา เจริญปัญญายิ่ง, ออนไลน์) ทำให้แหล่งชุมนุมการค้าทางเรือหมดความสำคัญลง ชาวบ้านจึงต้องเปลี่ยนมาใช้เส้นทางคมนาคมทางรถไฟหรือทางบกเป็นหลัก

ด้วยทำเลที่ตั้งและความไม่สะดวกในการเดินทางทางบกในช่วงนั้นดังกล่าว ทำให้บ้านคุ้งตะเภากลายเป็นหมู่บ้านห่างไกลเส้นทางคมนาคมหลัก ไม่เหมือนเมื่อครั้งการค้าขายทางน้ำรุ่งเรือง ต่อมาราชการได้ตัดทางหลวงแผ่นดินผ่านบ้านคุ้งตะเภา ในประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๒ ทำให้บ้านคุ้งตะเภาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนามากขึ้นตามลำดับ

และจากการพัฒนาการคมนาคมทางบกผ่านบ้านคุ้งตะเภา ในระยะเวลาดังกล่าว ได้ทำให้หมุดหมายทางการคมนาคมของชาวบ้านเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้ต้นโพธิ์อันเป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา และศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา ซึ่งเดิมตั้งเด่นสง่าอยู่หน้าวัดติดริมแม่น้ำน่าน กลายเป็นพื้นที่หลังวัด ในขณะที่พื้นที่ป่าหลังวัดในอดีต (ซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน) กลายเป็นพื้นที่หน้าวัด เนื่องจากอยู่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ ๑๑ เส้นทางคมนาคมหลักของจังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน

สามแยก “คุ้งตะเภา” หมุดหมายสำคัญของชุมชนบ้านคุ้งตะเภา

ตอนที่ ๑๖

ภูมินามวิทยาที่เกี่ยวข้อง

กับเรื่องราวศึกเมืองสวางคบุรี

แม้ว่าเรื่องราวของเจ้าพระฝางและศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ.๒๓๑๓ ได้ผ่านไปนานกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว แต่ในเขตอันเคยเป็นเมืองสวางคบุรีเดิมนั้น ยังคงมีเรื่องเล่ากล่าวขานถึงสถานที่ต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับศึกเมืองสวางคบุรีและเจ้าพระฝางสืบทอดกันมา กลายเป็นเรื่องเล่าภูมินามวิทยาในท้องถิ่น

สำหรับภูมินามวิทยาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของศึกเมืองสวางคบุรีและเจ้าพระฝาง เท่าที่ผู้เขียนได้สำรวจพบจากการศึกษาในพื้นที่เมืองโบราณสวางคบุรีนั้น มีดังนี้

๑. บึงกะโล่ เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรี คำว่า “บึงกะโล่” ไม่มีใครทราบว่าทำไมจึงเรียกบึงกะโล่ แต่สันนิษฐานว่าอาจมาจากคำว่า “โล้” ซึ่งมีความหมายว่า “ล่ม” ตามความหมายในภาษาถิ่นโบราณ เนื่องจากศัพท์นี้ใช้กันในแถบชุมชนโบราณรอบบึงกะโล่ คือบ้านวังหมู บ้านคุ้งตะเภา และบ้านพระฝาง ซึ่งมีสำเนียงถิ่นสุโขทัย

บึงกะโล่มีความเกี่ยวข้องกับศึกเมืองสวางคบุรี ด้วยมีเรื่องเล่าว่าเคยมีการตั้งกองทัพที่ริมบึง ซึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นกองทัพกรุงธนบุรีเมื่อครั้งยกมาปราบเจ้าพระฝาง โดยตั้งทัพที่หัวไผ่หลวงเพราะเป็นที่น้ำท่วมไม่ถึงในฤดูน้ำหลาก และใช้น้ำในบึงกะโล่ดื่มกินก่อนยกไปตีกองทัพเจ้าพระฝางในทุ่งบ่อพระ (พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ, สัมภาษณ์) นอกจากนี้ รอบๆ บึงกะโล่และในตัวบึงกะโล่ยังมีการพบโบราณวัตถุอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดทุ่งเศรษฐีอีกด้วย

ภาพบริเวณกลางทุ่งบึงกะโล่เมื่อน้ำแห้ง ในปี ๒๕๕๓

ในปีนั้นชาวบ้านได้ค้นพบวัตถุโบราณจำนวนหนึ่งบริเวณนี้ ปัจจุบันเก็บไว้ในวัดทุ่งเศรษฐี

๒. หัวไผ่หลวง หัวไผ่หลวงเป็นพื้นที่ป่าไม้หนาทึบในที่ดอน ที่ชาวบ้านคุ้งตะเภาและใกล้เคียงเมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อนนับถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้าที่เจ้าทางคุ้มครองดูแลรักษาอยู่ มีเรื่องเล่าว่านายพรานหรือชาวบ้านที่ไปจับสัตว์ในไผ่หลวงแล้วหาทางออกไม่ได้ หรือไปทำลบหลู่ในบริเวณไผ่หลวงจนเกิดมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา (เทวประภาส มากคล้าย, ๒๕๕๓ : ๗๓ ; พาน อ่อนคำ, สัมภาษณ์) บริเวณหัวไผ่หลวงนี้ ชาวบ้านเล่าสืบมาว่าเคยเป็นที่ตั้งกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตอนยกมาปราบเจ้าพระฝาง และเกิดการรบกันในทุ่งบ่อพระ (พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ, สัมภาษณ์)

๓. เขาหญ้าวัว เขาหญ้าวัวหรือเขาเยี่ยววัว, เขายูงงัว ตั้งอยู่กลางค่ายพระยาพิชัยดาบหัก ตำบลท่าเสา มีลักษณะเป็นเนินเขาขนาดเล็กไม่สูงมาก ตัวเขาตั้งอยู่ตรงข้ามวัดคุ้งตะเภาคนละฝั่งแม่น้ำ ในอดีตนั้นตีนเขาหญ้าวัวเคยเป็นที่ตั้งของวัดไทรย้อย (บริเวณประตู ๑ ค่ายพระยาพิชัยดาบหัก) หลังจากรัฐบาลได้มาเวนคืนพื้นที่เพื่อสร้างค่ายทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ วัดไทรย้อยได้ย้ายที่ตั้งไปสร้างบริเวณข้างค่ายพระยาพิชัยดาบหัก อันได้แก่ที่ตั้งวัดดอยท่าเสาในปัจจุบัน

เขาหญ้าวัวนั้นแม้จะตั้งอยู่ต่างตำบลและอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ แต่แม้กระนั้นเขาหญ้าวัวก็ถือว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ชาวบ้านคุ้งตะเภาและชาวท่าเสานับถือร่วมกันมานานว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีเรื่องราวและตำนานมากมายเกี่ยวกับเขาแห่งนี้ เช่น ตำนานแท่นฤๅษี ถ้ำฤๅษี (ที่สามารถมุดลอดไปออกแม่น้ำน่านได้) เรื่องการมีอันเป็นไปของคนที่เข้าไปทำร้ายสัตว์ที่อาศัยอยู่บนเขา หรือแม้กระทั่งการหลงป่าของนายทหารที่ขึ้นไปลองของบนยอดเขา เป็นต้น

เขาหญ้าวัว ถ่ายจากทุ่งนาฝั่งบ้านคุ้งตะเภา

จากภาพจะเห็นซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภา และเขาหญ้าวัวอยู่เบื้องหลัง

ในอดีต เขาแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นจุดกำหนดหมายสำคัญของการค้าขายสมัยโบราณ สันนิษฐานว่าอาจเป็นจุดแวะพักตั้งค่ายพักแรมของพ่อค้าวัวต่างในสมัยโบราณที่จะนำวัวมาพักเพื่อกินหญ้า และบริเวณตีนเขาด้านติดแม่น้ำน่าน จะมีแก่งหิน ที่เป็นแก่งสุดท้ายของแม่น้ำน่าน และอาจมีความเกี่ยวข้องกับการเป็นจุดสังเกตการณ์ของกองทัพกรุงธนบุรีซึ่งตั้งค่ายอยู่ฝั่งตรงข้ามด้านบ้านคุ้งตะเภาก็เป็นได้

๔. วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ วัดพระฝางหรือวัดพระมหาธาตุเมืองฝางเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระฝาง ซึ่งชาวบ้านบางคนเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บารมีของเจ้าพระฝาง เป็นที่ตั้งของพระมหาธาตุเมืองฝาง ปูชนียสถานสำคัญและเป็นศูนย์กลางของเมืองสวางคบุรี

หลังจากที่เจ้าพระฝางได้รับโปรดเกล้าฯ ให้มาเป็นพระสังฆราชาเมืองสวางคบุรี ก็ได้มาจำพรรษาอยู่ที่นี่ ในภายหลังที่รวบรวมผู้คนสร้างอำนาจบารมีและตั้งตนเป็นใหญ่ เจ้าพระฝางก็ได้ใช้วัดพระฝางแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการปกครองผู้คน เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ผู้เข้าร่วมกองทัพเจ้าพระฝาง ซึ่งเปรียบเสมือนขุนนางเสนาบดีและเป็นศูนย์บัญชาการรบกับกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรี

๕. น้ำพุเจ้าพระฝาง คือ แหล่งน้ำซับที่ซึมไหลออกมาจากภูเขาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรี ปัจจุบันอยู่ในเขตสำนักสงฆ์วัดพระบาทน้ำพุ (ชาวบ้านพระฝางเรียกว่า วัดเหนือ)

ชาวบ้านเชื่อว่าน้ำพุที่นี่เป็นน้ำบริสุทธิ์ที่ผุดมาจากใต้ดิน เจ้าพระฝางจึงได้ใช้น้ำที่นี่อาบสรงแทนน้ำในแม่น้ำน่าน เพื่อเพิ่มความเข้มขลัง อยู่ยงคงกระพันและสร้างความยิ่งใหญ่ในการเป็นผู้นำชุมนุม

ในอดีตชาวบ้านพระฝางยังนำน้ำที่บ่อน้ำพุมาสรงน้ำพระ และรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในเทศกาลสงกรานต์ น้ำพุเจ้าพระฝางยังเป็นต้นกำเนิดของคลองน้ำพุ คูเมืองธรรมชาติทางทิศตะวันออกของเมืองสวางคบุรีอีกด้วย

บ่อน้ำพุเจ้าพระฝาง อยู่ในเขตสำนักสงฆ์วัดพระบาทน้ำพุ

๖. ขุนฝาง คือ เทือกเขาที่เป็นต้นกำเนิดของห้วยปากฝางหรือห้วยฝาง อยู่ในเขตตำบลขุนฝาง อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เหตุที่ภูเขาลูกนี้มีชื่อว่า ขุนฝาง เนื่องจากมีความเชื่อว่าตอนที่เจ้าพระฝางหลบหนีกองทัพของกรุงธนบุรีนั้น ได้เดินทางไปข้ามแม่น้ำน่านที่ด่านคุ้งยางแล้วขึ้นเหนือไปภูเขาลูกหนึ่ง และหายตัวไปอย่างไม่ทราบชะตากรรม บ้างก็ว่าท่านมรณภาพที่นั่น บ้างก็ว่าท่านเดินทางไปยังเมืองแพร่หรือไปยังเมืองหลวงพระบาง ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกชื่อภูเขาลูกนั้นว่า “ขุนฝาง”

๗. คลองพระฝาง เป็นคลองสายสั้นๆ ที่มีต้นกำเนิดอยู่ที่ภูเขาเหนือบ่อน้ำพุเจ้าพระฝางขึ้นไปเล็กน้อย แล้วไหลมาทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตกของเมืองสวางคบุรี ไหลลงแม่น้ำน่านทางตะวันตกของเมืองที่บริเวณบ้านบุ่ง มีความยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร

คลองสายนี้มีร่องน้ำที่ลึกมาก กว้างประมาณ ๑๕ เมตรและมีน้ำไหลอยู่ตลอดปี จึงเป็นแนวปราการทางธรรมชาติที่ดียิ่งของเมืองสวางคบุรี แต่ว่าปัจจุบันในหน้าแล้งน้ำค่อนข้างน้อย เนื่องจากว่าป่าไม้ต้นน้ำถูกทำลายไปมาก

คลองพระฝางเมื่อมองจากสะพานคอนกรีตที่ทอดข้ามคลอง

๘. ห้วยฝางหรือห้วยปากฝาง เป็นลำห้วยที่มีต้นกำเนิดอยู่ที่บริเวณเทือกเขาขุนฝาง วังเย็นและพญาพ่อ ในเขตตำบลขุนฝาง แล้วไหลมาลงแม่น้ำน่านที่ปากฝาง บริเวณบ้านปากฝาง ตำบลงิ้วงาม มีความยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร

๙. วัดวังยาง อยู่ที่บ้านวังยาง ตำบลผาจุก ที่ได้ชื่อว่าวังยางนั้น มาจากแม่น้ำน่านบริเวณดังกล่าวเป็นแอ่งน้ำลึก และมีต้นยางขึ้นอยู่ริมฝั่งจำนวนมาก จากตำนานเจ้าพระฝางทำให้ทราบว่าวัดวังยาง เป็นที่อยู่ของพระครูคิริมานนท์ สหธรรมิก (เพื่อน) ของเจ้าพระฝาง ผู้เป็นกำลังสำคัญในการปกครองและควบคุมผู้คนสู้รบกับกองทัพจากกรุงธนบุรี

๑๐. ด่านคุ้งยาง อยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง ในเขตตำบลบ้านด่าน อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ คุ้งยางเป็นคุ้งน้ำในแม่น้ำน่านที่มีต้นยางขึ้นอยู่มาก ใต้คุ้งยางลงมาก็จะมีแก่งและโขดหินที่สามารถเดินข้ามไปได้ในหน้าแล้ง ในขณะเดียวกันก็เป็นด่านทางด้านเหนือของเมืองสวางคบุรีด้วย ด่านคุ้งยางเป็นบริเวณที่เจ้าพระฝางเดินทางมาหลังตีฝ่าวงล้อมของกองทัพกรุงธนบุรีออกมาจากเมืองสวางคบุรีได้ โดยมีทหารหามเสลี่ยงหรือยานมาศ พามาจำนวนหนึ่ง จากนั้นก็ได้ข้ามแม่น้ำน่านที่ด่านคุ้งยางพร้อมกับลูกช้างพังเผือก

นอกจากนี้ ยังมีด่านกุมภีร์ทองอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง เหนือด่านคุ้งยางขึ้นมาเล็กน้อย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดกุมภีร์ทอง

แม่น้ำน่านบริเวณด่านคุ้งยาง ซึ่งมีแนวโขดหินทอดขวางทางน้ำ

บรรณานุกรม

ก. เอกสารชั้นต้นที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์

กองหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๔ จ.ศ.๑๒๑๗ (พ.ศ.๒๓๙๘). เลขที่ ๑๖๒ ร่างตราเจ้าพระยาจักรีตอบเรื่องทำการวัดสว่างคบุรี พระวิหารหลวงเมืองทุ่งยั้ง.กจช. ร.๔ จ.ศ.๑๒๑๗ (พ.ศ.๒๓๙๘). เลขที่ ๒๐๐ คัดบอก ๑๓ หัวเมือง เกณฑ์เลกข้าพระโยมสงฆ์วัดต่างๆ ทำวัดพระมหาธาตุเมืองทุ่งยั้ง.กหช. ร.๔ จ.ศ.๑๒๑๙ (พ.ศ.๒๔๐๐). เลขที่ ๑๔ คัดบอก พระยาอุตรดิต.

ข. เอกสารชั้นต้นที่ตีพิมพ์แล้ว

จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ และคณะ. (๒๕๕๑). รายงานการวิจัยเอกสารประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือของรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๔๔ (ร.ศ.๑๒๐). พิษณุโลก : รัตนสุวรรณการพิมพ์ ๓.

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (๒๕๒๙). ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ ๑ จุลศักราช ๑๑๖๖ พิมพ์ตามฉบับหลวง ตรา ๓ ดวง เล่ม ๑-๓. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์.

โครงภาพพระราชพงศาวดาร พร้อมบทขยายความและบทวิเคราะห์. (๒๕๕๐).กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์.

ตำนานพระอารามแลทำเนียบสมณศักดิ. (๒๕๔๓). กรุงเทพฯ : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม.

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยา. (๒๕๐๖). จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก.พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์.

นายสวนมหาดเล็ก. “คำโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี”. ใน วชิรญาณ. ตอนที่๑๑๓ (กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๖)

ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. (๒๕๔๘). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (๒๕๔๗). “อุตรทิสาคมนมคโค : พระราชนิพนธ์

ระยะทางพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเมืองเหนือ เมื่อยังทรงผนวชเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๙๕ (พ.ศ.๒๓๗๖)”. ใน วารสารรวมบทความประวัติศาสตร์ สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. ฉบับที่ ๒๖ พ.ศ.๒๕๔๗.

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ). (๒๕๐๕). พระนคร :โอเดียสโตร์.

“พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)”. (๒๕๔๒). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๓. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ (ขำบุนนาค). (๒๕๔๗). กรุงเทพฯ : พิมพ์ดี.

“พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)”. (๒๕๔๒). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๓. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

“พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน”. (๒๕๔๒).ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กอง วรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

“พระราชพงศาวดารเหนือ”. (๒๕๔๒). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

พระราชหัตถเลขาคราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือในรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร (ท่านผู้หญิงสำอางวรรณ ล่ำซำ พิมพ์เป็นบรรณาการเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.๒๕๔๙), ๒๕๔๘.

ราชกิจจานุเบกษา. (๒๔๖๕). “ประกาศโอนอำเภอท่าปลาจากจังหวัดน่านมาขึ้นจังหวัดอุตรดิฐ”. เล่ม ๓๙. ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๕.

ราชกิจจานุเบกษา. (๒๕๔๐). “ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน (วัดใหญ่ท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์)”. เล่ม ๑๑๔. พิเศษ ๘๗ ง, ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๐.

ลาลูแบร์. (๒๕๕๒). จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. สันต์ ท.โกมลบุตร(แปล). นนทบุรี : ศรีปัญญา.

ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์. (๒๕๕๒). พระราชพงศาวการกรุงศรีอยุธยาฉบับเยเรเมียส ฟาน ฟลีต และผลงานคัดสรร พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี นักประวัติศาสตร์อาวุโสดีเด่น. กรุงเทพฯ : สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.

สมเด็จพระพนรัตน (แก้ว). (๒๕๕๐). พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ภาษามคธแลคำแปล กับ จุลยุทธการวงศ์ ผูก ๒ เรื่อง พงศาวดารไทย. กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ.

สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). (๒๕๓๙). พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด. กรุงเทพฯ :อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง.

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค. วัยอาจ (ปริวรรต). (๒๕๔๗). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์บุคส์.

Doehring. (1920). The Country and People of Siam. London : White Lotus Co Ltd.

Santanee Phasuk and Philip Stott. (2004). ROYAL SIAMESE MAPS : War and Trade in Nineteenth Century Thailand. Bangkok : River Books.

ค. หนังสือ

กรมการศาสนา. (๒๕๓๑). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.

ขวัญเมือง จันทโรจนี. (๒๕๔๑). อาลัยรักขวัญเอยเมืองเอย. พิษณุโลก : อนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพนายขวัญเมือง จันทโรจนี.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ. (๒๕๔๔). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาจังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว.

จรรยา ประชิตโรมรัน, พลตรี. (๒๕๔๓). สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. (๒๕๑๐). เที่ยวตามทางรถไฟ. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงรจิตจักรภัณฑ์ (รจิต ดุละลัมพะ) และฌาปนกิจศพนางรจิตจักรภัณฑ์ (เจือ ดุละลัมพะ) วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๑๐.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. (๒๕๔๓). ไทยรบพม่า. กรุงเทพฯ : เจริญรัตน์การพิมพ์.

ตำราพระธาตุ. (๒๔๙๗). กรุงเทพฯ : บุญส่งการพิมพ์.

ทศพล จังพานิชย์กุล. (๒๕๔๗). พระพุทธปฏิมาล้ำค่าของเมืองไทย. กรุงเทพฯ :คอมม่า.

เทวประภาส มากคล้าย. (๒๕๕๓). คุ้งตะเภา จากอดีตสู่ปัจจุบัน : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ธงชัย วินิจจะกูล. (๒๕๕๖). กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ.กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์ และ วิไลรัตน์ ยังรอต. (๒๕๕๐). อยุธยา. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส.

ธิดา สาระยา. (๒๕๓๗). รัฐโบราณในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : กำเนิดและพัฒนาการ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

ธิดา สาระยา. (๒๕๓๙). ประวัติศาสตร์สุโขทัย : พลังคน อำนาจผี บารมีพระ.กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

น. ณ ปากน้ำ และธิดา สาระยา. (๒๕๓๐). เมืองสุโขทัยนี้ดี. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (๒๕๕๐). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน.

พาณี สีสวย. (๒๕๔๐). สุนทรียะทางนาฏศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ : ภาควิชานาฏศิลป์ คณะวิชามนุษยศาสตร์เเละสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏธนบุรี.

มณเฑียร ดีแท้. (๒๕๑๙ ก). ประวัติเมืองอุตรดิตถ์. อุตรดิตถ์ : วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์.

มณเฑียร ดีแท้. (๒๕๑๙ ข). ประวัติวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถและเจ้าพระฝางหัวหน้าก๊กเจ้าพระฝาง เมืองอุตรดิตถ์. อุตรดิตถ์ : วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์.

ไมเคิล ไรท์. (๒๕๔๑). ฝรั่งคลั่งสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน.

วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ. (๒๕๕๐). หนังกวาง ไม้ฝาง ช้าง ของป่า : การค้าอยุธยาสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

ศรีศักร วัลลิโภดม. (๒๕๓๒). เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ศรีศักร วัลลิโภดม. (๒๔๔๕). ประวัติศาสตร์โบราณคดีของล้านนาประเทศ. กรุงเทพฯ :มติชน.

ศรีศักร วัลลิโภดม. (๒๕๔๖). ความหมายพระบรมธาตุในอารยธรรมสยามประเทศ.กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (๒๕๒๖). สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย. กรุงเทพฯ :ศิลปวัฒนธรรม.

สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). (๒๕๔๕). อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์. กรุงเทพฯ :มติชน.

สุดารา สุจฉายา. (๒๕๕๐). ประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี. กรุงเทพฯ : สารคดี.

หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดอุตรดิตถ์. (๒๕๓๐). สถาปัตยกรรมในเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ.

อนุสรณ์ ผลสวัสดิ์. (๒๕๕๑). เจ้าพระฝาง เมืองสวางคบุรี. เอกสารอัดสำเนา.

เอนก นาวิกมูล. (๒๕๕๒). หลัก-ฐาน-บ้าน-เมือง. กรุงเทพฯ : แสงดาว.

ง. งานวิจัยและวิทยานิพนธ์

ขวัญเมือง จันทโรจนี. ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของหัวเมืองฝ่ายเหนือในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๙๔). วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๔.

จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะและคณะ. รายงานการวิจัยเอกสารประวัติศาสตร์ เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระยศสยามมกุฎราชกุมาร พ.ศ.๒๔๕๐. พิษณุโลก : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, ๒๕๕๔.

ธีระวัฒน์ แสนคำ. เมืองพิษณุโลก : ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของหัวเมืองใหญ่ภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐแบบจารีต. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๕๕.

จ. บทความ

จารึก วิไลแก้ว. (๒๕๔๒). “โบราณคดีภาคเหนือตอนล่าง”. ใน ปราณี วงศ์เทศ (บรรณาธิการ). สังคมและวัฒนธรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ณัฏฐภัทร จันทวิช. (๒๕๒๓ ก). “ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนปลายและกรุงธนบุรีจากจดหมายเหตุจีน”, ใน ศิลปากร. ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๒ พฤษภาคม

ณัฏฐภัทร จันทวิช. (๒๕๒๓ ข). “ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนปลายและกรุงธนบุรีจากจดหมายเหตุจีน”, ใน ศิลปากร. ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๓ กรกฎาคม

ธีระวัฒน์ แสนคำ. (๒๕๕๓ ก). “ลุ่มน้ำปาด-ลุ่มน้ำตรอน : ประวัติศาสตร์โบราณคดีบนเส้นทางโขง-น่านตอนกลาง”. ใน อารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน. ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม-ธันวาคม.

ธีระวัฒน์ แสนคำ. (๒๕๕๓ ข). “หลักมั่นหลักคง:เรื่องราวหลักประโคนเขตแดนสยาม-น่าน”. ใน จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๘๔ พฤษภาคม-มิถุนายน.

ธีระวัฒน์ แสนคำ. (๒๕๕๔). “พิพิธภัณฑ์วัดพระฝาง วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ จังหวัดอุตรดิตถ์”. ใน จุลสารก้าวไปด้วยกัน. ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๒ กุมภาพันธ์-พฤษภาคม.

พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี (มากคล้าย). (๒๕๕๘).“มังคละเภรี วิถีท่าเหนือที่สาบสูญ สืบค้นรากเหง้าคนลุ่มน้ำน่านภาษาถิ่นสุโขทัยตอนบนในจังหวัดอุตรดิตถ์”. ใน สูจิบัตรพิธีไหว้ครูดนตรีไทย วันอาทิตย์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๘. พิษณุโลก : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

พระยาศรีสัชนาลัยบดี. (๒๕๒๘). “ชีวประวัติพระยาพิชัยดาบหัก”, ใน ศิลปวัฒนธรรม.ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๓ มกราคม.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (๒๕๔๓). “เจ้าพระฝาง วีรบุรุษของใคร?”. ใน ศิลปวัฒนธรรม.ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๖ เมษายน.

สมชาย เดือนเพ็ญ. (๒๕๕๒). “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองบางขลัง สุโขทัย”. ใน วารสารสมาคมประวัติศาสตร์ฯ ฉบับที่ ๓๑ : พุทธศักราช ๒๕๕๒. กรุงเทพฯ : สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.

สุรินทร์ มุขศรี. (๒๕๔๓). “ทวงคืนพระฝางกลับสวางคบุรี”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๖ เมษายน.

อนุวิทย์ เจริญศุภกุล. (๒๕๑๘). “วัดพระฝาง”. ใน เมืองโบราณ. ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ มกราคม-มีนาคม.

ฉ. สื่อออนไลน์

ประสิทธิ์ ชัยเนตร. “วัดดอยแก้ว”. ใน http://www.school.net.th/library/create-web/10000/religion/10000-5552.html, สืบค้นวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๘.

เรือนไทย ตู้หนังสือ. “บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี”.ใน เรือนไทย. http://www.reurnthai.com/wiki/บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี, สืบค้นวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘.

สุนันทา เจริญปัญญายิ่ง. “ทางรถไฟสายเหนือ”. ใน สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. http://www.tri.chula.ac.th/triresearch/north/north. html, สืบค้นวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๘.

ช. สัมภาษณ์บุคคล

๑. นายเย็น ภู่เล็ก อายุ ๗๙ ปี, ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลผาจุก, บ้านเลขที่ ๖๗ หมู่ที่ ๓ ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๒.

๒. หลวงพ่ออัมพร โชติธมฺโม อายุ ๘๓ ปี, วัดผาเลือด ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๓.

๓. นายอนุสรณ์ ผลสวัสดิ์ อายุ ๕๑ ปี, หัวหน้าหมวดสังคมศึกษา โรงเรียนวัดพระฝาง ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ ๒๔ มีนาคม และ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๒.

๔. นางละเอียด พรหมแก้วต่อ อายุ ๗๐ ปี, บ้านเลขที่ ๒๑ หมู่ที่ ๔ ตำบลแสนตอ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘.

๕. นางมะลิ กลิ่นลอย อายุ ๑๐๓ ปี, บ้านเลขที่ ๒๖๕ หมู่ที่ ๔ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๘.

๖. นางผิว มากคล้าย (มีกล่ำ) อายุ ๙๖ ปี, บ้านเลขที่ ๕๘ หมู่ที่ ๔ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๘.

๗. หลวงพ่ออู๋ ปญฺญาวชิโร (แสงสิน) อายุ ๗๔ ปี, วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๖.

๘. พระฝ้าย เตชพโล (ปานวน) อายุ ๗๘ ปี, วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๓.

๙. พระสมุห์สมชาย จีรปญฺโญ อายุ ๕๒ ปี, วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘.

๑๐. นายวิเชียร แสงสิน อายุ ๕๑ ปี, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๓ ตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๗.

๑๑. นายทองเพียร รวยอบกลิ่น อายุ ๘๕ ปี, บ้านเลขที่ ๒๗๖ หมู่ที่ ๔ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๘.

๑๒. นายพาน อ่อนคำ อายุ ๘๐ ปี, บ้านเลขที่ ๙๔ หมู่ที่ ๔ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๘.

๑๓. นางจีบ แสงม่วง อายุ ๘๒ ปี, บ้านเลขที่ ๙๔ หมู่ที่ ๔ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗.

๑๔. นายสมชาย สำเภาทอง อายุ ๕๐ ปี บ้านเลขที่ ๑๕๓/๑ หมู่ที่ ๔ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗.

๑๕. พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี (มากคล้าย) อายุ ๒๘ ปี, วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘.

๑๖. ดร.ณัฐชยา นัจจนาวากุล อายุ ๔๐ ปี, วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม, สัมภาษณ์วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘.

เกี่ยวกับผู้เขียน

นายธีระวัฒน์ แสนคำ

การศึกษา : -

พ.ศ.๒๕๕๒ ศศ.บ. สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

พ.ศ.๒๕๕๓ บธ.บ. สาขาวิชาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร

พ.ศ.๒๕๕๕ ศศ.ม. สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(นักเรียนทุน ท่านผู้หญิงวรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาสมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)

พ.ศ.๒๕๕๘ Ph.D. candidate

ตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบัน : - อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์เลย, ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านประวัติศาสตร์ ประจำสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์, นักเขียนประจำคอลัมน์ “ประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง” ในสารมิตรภาพไทย-ลาว ศูนย์ข้อมูลลาว สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ตัวอย่างผลงานวิจัยและหนังสือวิชาการที่ผ่านมา : -

- วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตเรื่อง เมืองพิษณุโลก : ประวัติ-ศาสตร์ท้องถิ่นของหัวเมืองใหญ่ภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐแบบจารีต (๒๕๕๔)

- หนังสือ อาจาริยบูชา : รวมบทความในงานประชุมวิชาการกลุ่มประวัติศาสตร์สองข้างทางครั้งที่ ๑ เนื่องในโอกาส รศ.ดร.จิราภรณ์ สถาปนะ-วรรธนะ เจริญอายุวัฒนมงคล ๖๐ ปี (บรรณาธิการ - ๒๕๕๒)

- หนังสือ คลองพิง : เส้นทางน้ำสายประวัติศาสตร์ รายงานวิจัยกลุ่มประวัติศาสตร์สองข้างทางหมายเลข ๑ (หัวหน้าผู้วิจัย - ๒๕๕๓)

- หนังสือ เมืองโบราณนครชุมและศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม วัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง (๒๕๕๓)

- หนังสือ โพธิญาณธรรมานุสรณ์ : รวมเรื่องประวัติศาสตร์วัดโพธิญาณ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก (บรรณาธิการร่วม - ๒๕๕๓)

- หนังสือ เมืองบางขลัง : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์พุทธศตวรรษที่ ๑๘ -พ.ศ. ๒๓๑๘ (๒๕๕๔)

- หนังสือ เมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มสักกับศึกเจ้าอนุวงศ์ (๒๕๕๖)

- รายงานการวิจัย การวิจัยเอกสารประวัติศาสตร์ชุมชนและท้องถิ่นเมืองเก่าสุโขทัย (๒๕๕๖)

- รายงานการวิจัยเรื่อง การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร (ผู้วิจัยร่วม - ๒๕๕๖)

- หนังสือ พระบรมธาตุนครชุม พระบรมธาตุเจดีย์แห่งลุ่มน้ำปิงตอนล่าง (๒๕๕๗)

- รายงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้และอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร (ผู้วิจัยร่วม - ๒๕๕๗)

- หนังสือ ร่องรอยวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาสมัยทวารวดี-ลพบุรีในพื้นที่จังหวัดเลย (๒๕๕๘)