พิธีบวงสรวงรับขวัญต้นตะเคียนทองวัดคุ้งตะเภา

วันที่โพสต์: Oct 29, 2015 7:15:29 PM

วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๘ (แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑) ชาวบ้านคุ้งตะเภา นำโดยนายสมชาย สำเภาทอง ผู้ใหญ่บ้านคุ้งตะเภา หมู่ ๔ ประกอบพิธีบวงสรวงปากบายศรีรับขวัญต้นตะเคียนทองวัดคุ้งตะเภา ซึ่งขึ้นจากแม่น้ำน่านหน้าวัด เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๖ ต.ค.๕๘ ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสที่วัดคุ้งตะเภาสามารถขุดกู้ต้นตะเคียนทองโบราณอายุกว่า ๕๐๐ ปี ขึ้นจากแม่น้ำน่านบ้านคุ้งตะเภาได้ ณ ลานโพธิ์คู่หลังวัด วัดคุ้งตะเภา อันเป็นบริเวณที่ตั้งศาลาพลับพลาพระเจ้าตากสินโบราณ อายุ ๒๔๕ ปี โดยมีประชาชนจากทั่วสารทิศ เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ในด้านภูมิศาสตร์สถานที่พบไม้นั้น เคยเป็นพื้นที่ตั้งของกลุ่มบ้านโบราณของปู่สุด มากคล้าย ที่โดนน้ำซัดจมตลิ่งพังไปเมื่อนานมาแล้ว เมื่อเกือบ ๑๐๐ ปี ก่อน อย่างไรก็ดี คนที่มีอายุกว่า ๘๐ ปี ในหมู่บ้านคุ้งตะเภาก็ไม่เคยทันเห็นและมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นตะเคียนขนาดใหญ่ต้นนี้ยืนต้นอยู่แต่อย่างใด ทำให้ทราบว่าต้นตะเคียนนี้ ได้ล้มลงตามอายุขัย และจมลงใต้แม่น้ำน่านเป็นเวลามากกว่า ๑๕๐ ปี เป็นอย่างน้อย และหากวัดขนาดรอบลำต้น รวมทั้งอายุที่จมลงน้ำนั้น อาจมีอายุถึง ๕๐๐ ปี

๒๔ ต.ค. ๕๘ ไม้เริ่มพ้นน้ำ ต้นตะเคียนโบราณอายุกว่า ๕๐๐ ปี ได้สัมผัสแดดเป็นครั้งแรก จากนั้นทางวัดดำเนินการตั้งสามขาแบบโบราณ ดำเนินการสร้างแพ ๓๐ ถัง โดยยืมถังแพจากท่านกำนันไพทูรย์ พรหมน้อย เพื่อลากไม้ขึ้นฝั่ง ในวันที่ ๒๕ ต.ค. ๕๘ ลากไม้ประชิดท่า เตรียมพื้นที่นำขึ้นฝั่ง ณ ท่าทราย ส.อรุณ คอนกรีต บ้านคุ้งตะเภา ต่อมาในวันที่ ๒๖ ต.ค. ๕๘ หลวงพ่อสมชาย และผู้ใหญ่สมชาย ฯลฯ และท่านโกแซม ส.อรุณคอนกรีต บัญชาการทีมปฏิบัติการเครื่องกลหนัก จาก ส.อรุณ คอนกรีต ประกอบด้วยรถเครนขนาด ๓๐ ตัน ๑ คัน และ ๒๐ ตัน ๑ คัน รถตัก ๒ คัน และรถเกรด ๑ คัน รวมทั้งรถแบ็คโฮ รถขนดิน (รถดั๊ม) จากท่านกำนันไพทูรย์ พรหมน้อย และรถไถนายวา ๑ คัน เพื่อปรับไถพื้นที่จัดวางต้นตะเคียน ดำเนินการยกตั้งแต่เวลา ๑๕.๐๐ น. จนถึง ๒๑.๐๐ น. ไม้ตะเคียนใหญ่ถึง ณ วัดคุ้งตะเภา มีกลองยาวตีรับเจ้าแม่เอาฤกษ์เอาชัยเป็นปฐม

โดย รายละเอียดการกู้ไม้ นั้น หลังจากวัดได้ทราบว่ามีไม้น้ำแล้ว ก็ได้ประสงค์นำไม้มาทำศาลาวัดคุ้งตะเภาที่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยหลังทราบว่าพบไม้จากนายด่วน วังวิเศษ ในวันที่ ๑๘ แล้ว จากนั้นในวันที่ ๑๙ ต.ค. ๕๘ หลวงพ่อพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา และผู้ใหญ่สมชาย สำเภาทอง นายด่วน และอีกหลายคน ลงสำรวจพร้อมอุปกรณ์ หลังเวลาเพล ดำพบไม้ขนาดใหญ่ ในวันที่ ๒๐ ต.ค. ๕๘ วัดคุ้งตะเภาจึงระดมทีมอาสา ค้นหาและกู้ไม้น้ำ ๒๓ ต.ค. ๕๘ ไม้เริ่มขึ้นจากน้ำ ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องกลหนัก เพื่อขุดทำลายดินอัดรากริมตลิ่ง

ทั้งนี้ ในการทำพิธีบวงสรวงปากบายศรีรับขวัญต้นตะเคียนทองใหญ่วัดคุ้งตะเภา ในวันนี้ ร่างทรงได้อำนวยชัยอนุโมทนา และแจ้งชื่อตะเคียนทองต้นนี้ว่ามีนามว่า "เจ้าแม่ตะเภาทองสร้อยสุวรรณสังวาลย์" และบอกว่ามี 2 ต้น คู่กับต้นตะเคียนศรีพี่น้อง "เจ้าแม่ตะเภาแก้วสร้อยสุวรรณมาลา" (ซึ่งยังจมอยู่ในน้ำน่านใกล้กัน)

จึงเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกันว่า เจ้าแม่ตะเคียนทองนี้ ประสงค์มาอยู่คู่บุญบารมีพระเจ้าตากสินมหาราช และพระยาพิชัยดาบหัก ทั้งสอง ณ วัดคุ้งตะเภา ที่จะสร้างขึ้นนั้นในอนาคต

หลังเดินทางกลับ ทันทีในวันที่ ๑๘ ต.ค. ๕๘ วัดคุ้งตะเภาได้รับแจ้งจาก นายด่วน วังวิเศษ ว่าได้พบไม้ใหญ่ใต้แม่น้ำน่านโดยบังเอิญขณะวางตาข่ายดักปลา ริมแม่น้ำน่าน บริเวณรอยต่อหมู่ ๓-๔ ซึ่งจากนั้นทางวัดได้ดำเนินการกู้และพบว่า เป็นไม้ตะเคียนขนาดใหญ่จริงตามความฝันของนายดำ และเชื่อว่าเหตุที่ต้นตะเคียนทองยอมขึ้นมาจากน้ำ ก็เพื่อมาสถิตย์อยู่ ณ วัดคุ้งตะเภา ในบริเวณอันเคยเป็นบริเวณที่ตั้งศาลาพลับพลาพระเจ้าตากสินโบราณ อายุ ๒๔๕ ปี เนื่องจากเหตุการณ์การกู้ไม้ ได้รับทราบเริ่มต้นภายหลังจากการบวงสรวงเทพยดาสร้างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดคุ้งตะเภา ในทันที และสำเร็จสมประสงค์ภายใน ๙ วัน อย่างง่ายดายไร้อุปสรรคใด ๆ เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง

จนล่วงเลยมา วันที่ ๑๗ ต.ค. ๕๘ วัดคุ้งตะเภาได้จัดพิธีบวงสรวงโองการสังเวยเทพยดาและอัญเชิญดวงพระวิญญาณ ในการเริ่มปั้นพระรูปพระเจ้าตากสินมหาราช-พระยาพิชัยดาบหัก ของวัดคุ้งตะเภา ซึ่งจะได้สร้างขึ้นในอนาคต โดยในวันนั้นมี นายด่วน วังวิเศษ เป็นหนึ่งในตัวแทนชาวบ้านคุ้งตะเภาเพียง ๓ คน ที่ได้ไปร่วมบวงสรวง ณ โรงปั้นจังหวัดปทุมธานี

โดยต้นตะเคียนทองดังกล่าว มีความเชื่อเล่าลือว่า ชาวบ้านคุ้งตะเภา ได้ฝันเห็นผู้หญิงแต่งกายชุดไทยโบราณ ๒ คน มาเข้าฝัน และบอกที่ตั้งให้ขุดกู้ต้นตะเคียนอันเป็นที่สิงสถิตย์อยู่ใต้แม่น้ำน่าน และขอให้นำมาไว้ที่วัดคุ้งตะเภา

ทั้งนี้ ต้นตะเคียนทองดังกล่าว มีเส้นผ่าศูนย์กลางโคนต้นที่ ๒.๕ เมตร มีความยาวจากรากจนถึงปลายลำต้น ๓๕ เมตร, เส้นรอบวงที่ระยะ ๑ เมตร มีขนาด ๔.๖ เมตร, เส้นรอบวงที่ระยะ ๑๐ เมตร มีขนาด ๒.๘ เมตร, เส้นรอบวงที่ระยะ ๒๐ เมตร มีขนาด ๒.๖ เมตร, เส้นรอบวงที่ระยะ ๒๕ เมตร มีขนาด ๑ เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลางปลายสุด ๐.๖ เมตร และมีลักษณะสมบูรณ์ตันทั้งต้นดุจรูปหางปลาพญานาคงดงามอย่างน่าอัศจรรย์

- จดหมายข่าววัดคุ้งตะเภา วันที่ ๒๙ ต.ค. ๕๘

(ข้อมูลจากป้ายหน้าต้นตะเคียนทอง)

ประวัติเชิญเจ้าแม่ตะเคียนทองมาวัดคุ้งตะเภาโดยสังเขป

สรรพเหตุ เริ่มและจบลงภายใน ๙ วัน หลังพิธีบวงสรวงสร้างพระเจ้าตากสินมหาราช องค์สถาปนาวัดคุ้งตะเภา อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง เจ้าแม่ตะเคียนทองต้นนี้ มีอายุยิ่ง ๑๕๐ ปี ก่อนจะโค่นลงจมนทีเป็นเวลายิ่งกว่า ๑๐๐ ปี เจ้าแม่ได้ยืนต้นอยู่ริมแม่น้ำน่าน เป็นพยานเห็นเหตุถึงการยกทัพเรือหลวงของพระเจ้าตากฯ ๙,๐๐๐ คน ในปี พ.ศ.๒๓๑๓ คราวเสด็จปราบเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี ชุมนุมสุดท้ายที่ทรงรวมไทยให้เป็นหนึ่งเดียวหลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ แลครั้งนั้นทรงสถาปนาวัดคุ้งตะเภาขึ้น โดยกุศลปราบอสัตย์ตามพระราชพงศาวดาร

นับจากวันที่เจ้าแม่ตะเคียนล้มลงเมื่อนับร้อย ๆ ปี ก่อนนั้น มูลรุกขเทพยดาคงดลบันดาลมิให้ขึ้น มิให้พบ มิให้จบ หลบมิให้แจ้ง แม้นมีหลายวัด หลายอาราม ตามคุ้งน้ำน่าน สืบจนพบ และพยายามนำเจ้าแม่ขึ้นฝั่งไปไว้วัดของตน ๆ แต่ก็ไม่สำเร็จโสถติผลนั้นด้วยประการใด ๆ บางวันดำเจอ บางวันดำหาย เป็นที่น่าประหลาด แต่หลังจากการบวงสรวงเทพยดาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดคุ้งตะเภา ก็ได้ทราบและสามารถนำขึ้นได้อย่างง่ายดาย ใช้เวลาเพียง ๙ วัน อันเป็นมงคลทิวาวารควรสาธุการ

จากปี พ.ศ. ๒๓๑๓ ถึงวันนี้ นับกว่า ๒๔๕ ปี แล้ว ที่สุวรรณขทิรรุกขเทพย์ตนสถิตย์ในเจ้าแม่ตะเคียนทอง ได้เป็นพยานรองรับประจักษ์ประกาศ เลื่อมใสน้อมในพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้สร้างมูลสถาปนาวัดและชื่อคุ้งตะเภานี้ จึงได้ทราบความอันเป็นทิพย์อันแจ้งโดยโองการบวงสรวงฯ แม้นที่ไกล ก็ได้ยินโดยทิพยโสต จึงยกโยนโอนอนุญาต ดลใจให้นายด่วนผู้ร่วมพิธีแจ้งความอันวิเศษในวันพรุ่ง มุ่งขอมาจำพักพำนักเนตรนิ่งนอนในอารามอันบวรศักดิ์สิทธิ์ ประชิดศาลเจ้าแม่สำเภาทองคู่บุญ แลในจุดที่พระเจ้าตากสินมหาราชได้อวยชัยอุทิศพระตำหนักชั่วคราวสถาปนาขึ้นเป็นวัดคุ้งตะเภานั้นแล้ว ด้วยเวลาเพียง ๙ วัน ควรแก่การอนุโมทนายินดีอย่างประเสริฐในเทพยเจ้าตนดลจิตทิพยเหตุโดยประเวศชลนทีศรีวัดคุ้งตะเภาของเรานั้นทุกประการฯ