2565-1-7 พิธีวางพวงมาลัยเทิดเกียรติ รำลึก ๒๔๙ ปี วีรกรรมท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ประจำปี ๒๕๖๕

เช้าวันที่ ๗ ม.ค. ๖๕ ที่มณฑลพิธีลานอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี หน้าวัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์ นายสุรพันธ์ เจริญทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมผู้ศรัทธา จัดพิธีถวายวางพวงมาลัยดอกไม้ สดุดีเกียรติคุณพระยาพิชัยดาบหัก เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณและวีรกรรมความกล้าหาญของพระยาพิชัยดาบหัก ทหารเอกคู่กายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วีรบุรุษผู้กล้าที่ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์และคนไทยให้ความเคารพนับถือ ณ อนุสาวรีย์คู่บารมีกู้แผ่นดิน หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี วัดคุ้งตะเภา จ.อุตรดิตถ์ ทั้งนี้ พิธีทั้งหมดจัดเป็นการภายใน เพื่อเป็นไปตามมาตรการป้องกันไวรัสโคโรนา 2019


เนื่องด้วยเมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2316 หรือ 249 ปีที่ผ่านมา เป็นวันที่ท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหักสร้างประวัติศาสตร์ปกป้องกอบกู้เอกราชชาติไทย ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว นำทัพทหารต่อสู้กับกองทัพโปสุพลาข้าศึกจนดาบหักคามือ จนได้สมญานามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก”


อนุสาวรีย์คู่บารมีกู้แผ่นดิน เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รำลึกถึงเหตุการณ์สิ้นสุดสภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในการรวบรวมแผ่นดินไทยได้สำเร็จ หลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรีได้เป็นชุมนุมสุดท้าย ในปี พ.ศ. 2313 ตั้งอยู่ที่หน้าวัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี ฯพณฯ ศาสตราจารย์ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ ใน พ.ศ. 2559 และประดิษฐานองค์แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2563


อนุสาวรีย์คู่บารมี ตั้งอยู่ใจกลางตำบลคุ้งตะเภา หรือชื่อเดิมเมืองฝางสวางคบุรี บริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภา อดีตวัดที่สถิตย์ของเจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง (ตำแหน่งสังฆราชาเมืองฝางในสมัยอยุธยา) ด้านหน้าติดกับถนนพิษณุโลก-เด่นชัย บริเวณนี้เป็นจุดเริ่มต้นการเข้าปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง หน้าอนุสาวรีย์มีลานกว้างขนาดใหญ่ ด้านตรงข้ามของอนุสาวรีย์เป็นทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี หัวไผ่หลวง-บ่อพระ-ฝาง สถานที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกระทำศึกรวบรวมแผ่นดินไทยได้สำเร็จตามพระราชพงศาวดาร


พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และรูปเหมือนพระยาพิชัยดาบหัก ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ และแท่นอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เวลา 11.09 น. (ราชาฤกษ์วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) อนุสาวรีย์ประกอบด้วย พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประทับด้านซ้ายเป็นประธาน พระหัตถ์ทรงกุมเตรียมเก็บพระแสงดาบ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการสิ้นสุดศึกรวมแผ่นดินไทย พระยาพิชัยดาบหักอยู่เบื้องขวา ยืนคู่พระบารมีในฐานะขุนศึกคู่พระทัย เพื่อระลึกถึงวีรกรรมและความกล้าหาญของท่าน ที่ได้เคยร่วมรบเคียงคู่พระวรกายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในการกอบกู้คืนอิสรภาพและความเป็นปึกแผ่นของไทยจนสำเร็จสมบูรณ์ได้ในปี พ.ศ. 2313 ณ เมืองสวางคบุรี และเหตุการณ์สืบเนื่องที่ท่านได้รับแต่งตั้งให้ครองเมืองพิชัยบ้านเกิด และวีรกรรมการปกป้องขับไล่พม่าจนดาบหักคามือในปี พ.ศ. 2316


ทั้งนี้ตัวฐานอนุสาวรีย์มีความสูงกว่า 8 เมตร เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่สูงที่สุดในภาคเหนือ และเป็นอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักที่สูงที่สุดในประเทศไทย


วันที่ ๗ มกราคม เมื่อ ๒๔๙ ปีพุทธศักราช ๒๓๑๖ ตรง กับ วันอังคาร เดือนยี่ ปีมะเส็ง เมืองพิชัยได้มีชัยชนะเหนือ โปสุพลาแม่ทัพพม่า ณ.บริเวณทุ่งวัดเอกา พระยาพิชัยดาบหัก (จ้อย หรือ ทองดี) จึงได้รับสมญานามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” เป็นที่เสี่องลือนามจนมาถึงทุกวันนี้ วีรกรรม อันหาญกล้า ของท่านพ่อ พระยาพิชัยดาบหัก และ ท่านหมื่นหาญณรงค์ ยอดทหารเอกใน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ.สมรภูมิ ค่าย วัดเอกา อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ในศึกพม่าตีเมืองพิชัย ครั้งที่ ๒ พอสิ้นฤดูฝนปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๑๖ โปสุพลาก็ยกกองทัพมาหมายจะตีเมืองพิชัยอีก แต่คราวนี้ฝ่ายไทยรู้ตัวก่อน ด้วย พระยาพิชัย เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ คาดว่าพม่าคงจะยกทัพมาอีกให้คอยระวังสืบสวนอยู่มิได้ประมาท ครั้นรู้ว่าโปสุพลายกกองทัพมา ก็ชวนกันยกกองทัพไปตั้งซุ่มสกัดอยู่ ณ ที่ชัยภูมิในกลางทาง กองทัพพม่ายกมาถึง พระยาพิชัย และ เจ้าพระยาสุรสีห์ (เจ้าเมืองพิษณุโลก) ออกระดมตีได้รบกันเป็นสามารถ ฝ่ายไทยได้ที่ชัยภูมิได้เปรียบจึงสามารถ ตีทัพพม่าของ โปสุพลาแตกกลับไป


เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๑๖ การศึกครั้งนี้ พระยาพิชัยจับดาบสองมืออันดาดด้ายแน่น ในขณะที่คุมทหารเมืองพิชัยออกไล่แทงพม่าอยู่อย่างชุลมุนนั้น เผอิญเท้าของพระยาพิชัยเหยียบดินลื่นเซล้ม จึงเอาดาบยันดินไว้เพื่อไม่ให้ล้ม ดาบจึงหักไปเล่มหนึ่ง พม่าเห็นพระยาพิชัยดาบหักเช่นนั้น ก็ถลันหน้าปราดเข้ามาจ้วงฟัน ทันใดนั้นหมื่นหาญณรงค์ (บุญเกิด) นายทหารคู่ชีวิตของพระยาพิชัยก็พุ่งเข้ารับดาบพม่าผู้นั้น มิทันที่พม่าจะทำร้ายพระยาพิชัยได้ พม่าผู้นั้นก็เสียท่าถูกหมื่นหาญณรงค์ฟันตาย ก็พอดีมีกระสุนปืนของพม่ายิงมาถูกหมื่นหาญณรงค์ ตรงอกทะลุหลัง ล้มฟุบลงขาดใจตายในขณะนั้นทันที พระยาพิชัยเห็นหมื่นหาญณรงค์ถูกปืนข้าศึกตายดังนั้น ก็ตกใจอาลัยหมื่นหาญณรงค์ เพื่อนยากยิ่งนัก จึงบันดาลโทสะเข้าไล่ตะลุมบอนฟันแทงพม่าด้วยดาบดีเล่มหนึ่งกับดาบหักอีกเล่มหนึ่ง โดยไม่คิดแก่ชีวิตในที่สุดด้วยความพร้อมใจกันของทหารเมืองพิชัย และทหารเมืองพิษณุโลกที่ยกเข้ามาช่วย ก็ช่วยกันเข่นฆ่าตะลุมบอนฆ่าฟันพม่าในระยะเวลาไม่นานนัก พม่าก็ต้านทานไม่ไหว จึงแตกฉานซ่านเซ็นถอยทัพกลับไป จากการปะทะกับพม่าในครั้งนี้ พระยาพิชัยได้ต่อสู้อย่างทรหดแกล้วกล้ายิ่งนัก ด้วยดาบดีเล่มหนึ่งกับดาบหักอีกเล่มหนึ่ง โดยมิคิดแก่ชีวิตด้วยวีรกรรมในครั้งนั้นพระยาพิชัยจึงได้สมญาว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” เป็นที่เลื่องลือชาปรากฏนามนี้มาถึงปัจจุบันนี้ เมื่อได้รับชัยชนะไล่พม่าให้แตกถอยไปไม่เป็นขบวนแล้ว พระยาพิชัยได้สั่งให้ทหารตามตีเข่นฆ่าพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก จากนั้นพระยาพิชัยก็วิ่งมาหาศพหมื่นหาญณรงค์ เมื่อพบศพแล้วได้คุกเข่าลงกอดศพหมื่นหาญณรงค์ พลางร้องไห้รำพึงรำพันถึงความทุกข์ยากลำบากตรากตรำมาด้วยกันด้วยความเศร้าโศกอาลัยในหมื่นหาญณรงค์


อัลบัมนี้เป็นเพียงภาพตัวอย่าง ภาพทั้งหมด 559 รูป ดาวโหลดต้นฉบับได้ที่ -->> https://photos.app.goo.gl/Qd6yRyGBicKWn3GW6