โครงการอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี

ความภาคภูมิใจของเรา

รางวัลองค์กรเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม

ดีเด่น ๑ ใน ๒ แห่งระดับประเทศ

ประจำปี ๒๕๕๘

ประมวล

องค์ความรู้

"มังคละเภรี"

ความสอดคล้องกับพันธกิจวัดคุ้งตะเภา

จากเป้าหมาย ที่วัดคุ้งตะเภากำหนดการพัฒนาวัดไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ อย่างต่อเนื่อง จากการกำหนด นโยบาย (policy) ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาวัดคุ้งตะเภา (Wat Kungtaphao Development Plan : KDP) ปรับปรุง ๒๕๕๔ ว่า “วัดคุ้งตะเภา ร่มรื่น ศูนย์รวมศรัทธา นำการศาสนศึกษา พัฒนาเยาวชน ชุมชนร่วมประสาน งดงามตาน่าอยู่ แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา รักษาวัฒนธรรมไทยยั่งยืน” ภายใต้พันธกิจ (mission) ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ ประเด็นด้านการอนุรักษ์รักษาวัฒนธรรมไทย คือ

ข้อ ๑. สร้างจิตสำนึกในความเป็นภิกษุสามเณรและศาสนบุคคลที่ดีมีคุณภาพ

ข้อ ๔. จัดและส่งเสริมการศึกษาสงเคราะห์อย่างทั่วถึงมีคุณภาพ และ

ข้อ ๖. บำเพ็ญกิจกรรมส่วนรวม และประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนโดยใช้หลักพุทธวิธีนำวิถีชีวิต

ซึ่ง แนวคิดด้านการพัฒนาดังกล่าว ถูกบรรจุในแผนพัฒนาวัด ที่มีการประกาศใช้ชัดเจน โดยเป็นแผนที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของชุมชน และคณะสงฆ์วัดคุ้งตะเภา ในการกำหนดกรอบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของวัด โครงการ อนุรักษ์มังคละเภรีศรีสวางคบุรี จึงเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม ที่วัดคุ้งตะเภาควรขับเคลื่อน และพลิกฟื้น เพื่อสืบทอดภูมิปัญญา รักษามังคละเภรี ๗๐๐ ปี เหนือสุดแห่งอาณาจักรสยาม ให้ดำรงอยู่ในวิถีชุมชนได้ต่อไปอย่างยั่่งยืน

ภายใต้การอุปถัมภ์จากงบประมาณของ โครงการเสริมพลังเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อสังคมควบคุมปัจจัยเสี่ยง ประจำปี ๒๕๕๘ และ ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดคุ้งตะเภา สังกัดกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

๑. หลักการและเหตุผลของโครงการ

การละเล่นมังคละเภรี เป็นดนตรีชั้นสูงในอาณาจักรสุโขทัยโบราณ ซึ่งได้รับอิทธิพลสืบมาจากศรีลังกา พร้อมกับพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ (คณะสงฆ์มหานิกาย ในปัจจุบัน) ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงบันทึกไว้ว่าดนตรีชนิดนี้ เป็นเบญจดุริยางค์แท้ เมื่อครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ มาเหนือสุดยังเมืองสวางคบุรี เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๔๔ มังคละเภรีจึงเป็นดนตรีแห่งพระพุทธศาสนา ดังหลักฐานในหลักศิลาจารึก หลักที่ ๑ ว่า มีการประโคม "ดํบงดํกลอง" ในงานกุศลทางพระพุทธศาสนา และมีหลักฐานในจารึกหลักอื่น ว่ามีการถวายมังคละสำหรับประโคมพระบรมธาตุ ดังปรากฎตัวอย่างในจารึกวัดช้างล้อม เมืองเก่าสุโขทัย พ.ศ. ๑๙๒๗ ว่า "...พาทย์คู่หนึ่ง ให้ข้าสองเรือนตีบำเรอแก่พระเจ้า ฆ้องสองอัน กลองสามอัน แตร... แต่งให้ไว้แก่พระเจ้า (พระพุทธรูป)..." เฉกเช่นเดียวกับธรรมเนียมลังกา ซึ่งสันนิษฐานว่า พระบรมธาตุสวางคบุรี เหนือสุดแห่งอาณาจักรสุโขทัยโบราณ ก็ได้รับพระราชทานข้าพระโยมสงฆ์สำหรับประโคมพระบรมธาตุ ถวายขาดไว้ในพุทธศาสนา คือไม่ต้องไปราชการทัพ มานับแต่สมัยพระมหาธรรมราชาลิไท เป็นเหตุให้ผู้คนที่ใช้สำเนียงสุโขทัยหลงเหลืออยู่ในพื้นที่นอกกรุงเก่าสุโขทัยด้วย

จากการค้นคว้า ของอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญประจำกรมศิลปากร และอาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ นักวิชาการประวัติศาสตร์ มีข้อสันนิษฐานตรงกันว่า ร่องรอยบรรพชนคนคุ้งตะเภา ได้เผยตัวตนให้คนไทยได้ตระหนักว่า คนบ้านคุ้งตะเภา ที่ใช้สำเนียงสุโขทัยเก่า คือกลุ่มชนส่วนหนึ่ง ที่สืบมาจากบรรพบุรุษเมืองสวางคบุรี ๗๐๐ ปี แห่งอาณาจักรสุโขทัยโบราณ เป็นไปได้ว่าบรรพบุรุษคนคุ้งตะเภา อาจจะเคยร้องรำ ทำเพลง ด้วยดนตรีมังคละ และซากความรุ่งเรืองแห่งมังคละในอดีตอาจจะถูกฝังกลบอยู่ภายใต้พื้นแผ่นดินแห่งบรรพชนนี้ก็เป็นได้

และด้วยเหตุที่ อาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ นักวิชาการประวัติศาสตร์ ได้ค้นพบวงมังคละเภรีโบราณ สายปู่ครูประชุม วงพินิต ปราชญ์มังคละเภรีคนสุดท้ายของบ้านพระฝาง ซึ่งถือเป็นครูสายมังคละสุโขทัยดั้งเดิม ๗๐๐ ปี ที่อยู่เหนือสุดแห่งอาณาจักรสยาม และกำลังประสบปัญหาขาดผู้รับสืบทอดภูมิปัญญามังคละสู่ชนรุ่นหลังในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ

วัดคุ้งตะเภา จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรี ที่บรรพชนได้รังสรรค์เป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันมา แต่นับวันจะถูกกลืนให้สูญหายสลายไปจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม จึงได้ให้ความสำคัญต่อการ อนุรักษ์ และส่งเสริมทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้แก่เยาวชนและประชาชนในเขตพื้นที่ชุมชนคณะศรัทธาวัด เพื่อเป็นการคืนชีวิต ฟื้นจิตวิญญาณแห่งชุมชน เป็นการเปิดหน้าต่างบรรพชน เผยดนตรีพื้นบ้านคู่เมือง ให้ออกมามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน "มังคละเภรี ดนตรีพื้นบ้านคู่เมืองสวางคบุรี" จึงควรค่าแก่การนำมาสืบทอด ให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ความภาคภูมิใจแห่งชนชาวคุ้งตะเภาอีกครั้ง เพื่อสร้างองค์ความรู้ เกิดการเรียนรู้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อส่งเสริมการแสดงออกของเยาวชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ในการเสริมทักษะด้านดนตรีไทย ต่อต้านยาเสพติด และเพื่อให้สามารถเผยแผ่ศิลปะมังคละเภรีศรีสวางคบุรี ในงานกุศลต่าง ๆ ร่วมกับชุมชนบ้านวัดคุ้งตะเภาได้สืบไป

สื่อเผยแพร่ของศูนย์ฯ

รวมบทความมังคละ

"ดนตรีในตำนาน

แห่งสวางคบุรี"

มังคละหลากลีลา

อารยะศาสตร์และศิลป์

เล่าขานตำนานถิ่น

รุ่นสู่รุ่น "มังคละ"

สืบสาน "น่านวารินทร์"

คู่แผ่นดินแห่ง "เมืองฝาง"

เคียงคู่สู่เมืองงาม

"มหาธาตุพระศาสดา"

บัดนี้ใกล้สิ้นชื่อ

สิ้นนับถือผู้รักษา

ใกล้ผ่านกาลเวลา

"ดับอรุณ" สุโขทัย

"คุ้งตะเภาเภรี"

บรรเลงศรีคู่สยาม

ดํบงดํกลองตาม

คือสายธารเชิดชูไทย

ชีวิตนี้น้อยนัก

พึงพิทักษ์เชิดชูไว้

มังคละสิ้นเมื่อใด

สิ้นหายใจ "จิตวิญญาณ์"

วานท่านขอวานเถิด

สิ่งประเสริฐจงรักษา

มังคละคืออัชฌา

คือ "ปัญญาแห่งผองชน"ฯ

"มังคละมรดกโลก"

จะสู่โศกนิมิตหมาย

"กู้เก่ากลับคืนกลาย"

คือ "หน้าที่พิทักษ์ธรรม"

๒. วัตถุประสงค์ของโครงการ

๒.๑ เพื่ออนุรักษ์และเผยแผ่ศิลปะมังคละเภรีศรีสวางคบุรี (สายปู่ประชุม วงพินิต)

๒.๒ เพื่อให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านอุตรดิตถ์ที่หาชมได้ยากยิ่ง

๒.๓ เพื่อให้เยาวชนได้แสดงออกและทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ในรูปแบบสานสัมพันธ์สามวัย

๒.๔ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เยาวชน ในฐานะหนึ่งในผู้สืบทอด และเป็นส่วนหนึ่งของวงมังคละเภรีเหนือสุดแห่งอาณาจักรสยาม

๒.๕ เพื่อบูรณาการกิจกรรมการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม กับหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคุ้งตะเภา ในสถานศึกษาต่าง ๆ ต่อไป

๒.๖ เพื่อเสริมสร้างชุมชนบ้านวัดคุ้งตะเภา ให้เกิดสุข-สามัคคี ทั้งทางกาย สังคม จิต และปัญญา (หลักการภาวนา ๔) ตามแนวทางพระพุทธศาสนา

(เทวประภาส)

๑๒ พ.ค. ๕๘

๓. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

๓.๑ เยาวชนผู้สืบทอด สามารถจดจำไม้กลอง สามารถตีกลอง และประสมวงได้อย่างถูกต้องตามท่วงทำนองและจังหวะของมังคละเภรี

๓.๒ เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านอุตรดิตถ์ที่หาชมได้ยากยิ่ง

๓.๓ เยาวชนได้มีโอกาสแสดงออกและทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ในรูปแบบต่าง ๆ

๓.๔ เยาวชนเกิดความภาคภูมิใจ ในฐานะเป็นหนึ่งในผู้สืบทอด และเป็นส่วนหนึ่งของวงมังคละเภรีเหนือสุดแห่งอาณาจักรสยาม

๓.๕ เกิดการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคุ้งตะเภา ในองค์กรต่าง ๆ

๓.๖ ชุมชนบ้านวัดคุ้งตะเภา เกิดสุข-สามัคคี ทั้งทางกาย สังคม จิต และปัญญา

๔. ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ

๔.๑ จำนวนเยาวชนผู้อาสาสืบทอด เข้าร่วมโครงการ ๙ คน (ตามจำนวนอุปกรณ์/เครื่องดนตรีที่มี)

๔.๒ เยาวชนอาสาสืบทอด สามารถตีกลองมังคละและเครื่องดนตรีประเภทเครื่องกระทบในวงมังคละ ได้ทุกคน

๔.๓ ร้อยละของการมีส่วนร่วมของเยาวชนในสถานศึกษาในชุมชน ต่อการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมังคละเภรี ร้อยละ ๘๐

๔.๔ ร้อยละความพึงพอใจของชุมชนต่อการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ร้อยละ ๘๐

๕. เป้าหมายการดำเนินโครงการ

๕.๑ มีผู้สืบทอดมังคละเภรีศรีสวางคบุรีเหนือสุดแห่งอาณาจักรสยาม (สายปู่ประชุม วงพินิต)

๕.๒ เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านวัดสถานศึกษา ในการร่วมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมังคละเภรีฯ อย่างต่อเนื่อง

๕.๓ จัดตั้ง "ชมรมมังคละเภรีศรีสวางคบุรี"

๕.๔ ชุมชนบ้านวัดคุ้งตะเภา มีคณะมังคละเภรีเยาวชนรุ่นใหม่ ที่สามารถรวมตัวเพื่อออกแสดง และมังคละเภรี เป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจ เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต และเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของวัดและชุมชนบ้านวัดคุ้งตะเภาอย่างยั่งยืน

๖. วิธีการดำเนินโครงการ

๖.๑ เปิดรับสมัครเยาวชนผู้อาสาสืบทอด เข้าร่วมกิจกรรม

๖.๒ การฝึกมังคละเภรี โดยการฝึกสอนเบื้องต้นจากวิทยากรวัดคุ้งตะเภา เริ่มจากจังหวะเครื่องกระทบประเภทฆ้อง ฉาบและกรับ หน้าไม้มังคละ กลองยืน กลองหลอน และการฝึกประสมวงเบื้องต้น

๖.๓ การสอบประสมวง หน้าไม้มังคละดั้งเดิมของสายมังคละสวางคบุรี ทั้ง ๖ ไม้ คือ ไม้หนึ่ง, ไม้สอง, ไม้สาม, ไม้สี่ (ไม้ครู), กระทบแป้ง, และประโคมศพ

๖.๔ การจัดพิธีครอบครูมังคละเภรีศรีสวางคบุรี เพื่อสืบทอดจิตวิญญาณแห่งบรรพชนให้แก่เยาวชนผู้ผ่านการอบรม โดยปู่ครูประชุม วงพินิต เป็นประธาน ณ วิหารหลวง วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ หรือสถานที่เหมาะสมอื่น ๆ

๖.๕ เยาวชนผู้ผ่านการฝึกอบรม รับใบประกาศเกียรติคุณ ผู้สืบทอดมังคละเภรีศรีสวางคบุรี จากประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ (แบ่งตามประเภทเครื่องมังคละที่ถนัด) และขึ้นทะเบียนในทำเนียบเครือข่ายมังคละอาสา ในชมรมมังคละเภรีศรีสวางคบุรี

๖.๖ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีคณะมังคละเยาวชน ที่สามารถรวมตัวเพื่อออกแสดงในนาม มังคละอาสา “ชมรมมังคละเภรีศรีสวางคบุรี” ในกิจกรรมสำคัญของจังหวัด เป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจ เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต และเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของวัดและชุมชนบ้านวัดคุ้งตะเภา ในฐานะการละเล่นอัตลักษณ์โบราณสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์

๗. ผลการดำเนินงานที่คาดหวัง

๗.๑ มีการฝึกซ้อมกลองมังคละ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๑๙.๐๐ - ๒๑.๐๐ น. และมีการออกฝึกซ้อมนอกสถานที่ ในสถานศึกษาในเขตตำบลคุ้งตะเภาในวันเข้าสอนศีลธรรม

๗.๒ เยาวชนอาสาสืบทอด สามารถตีและประสมกลองมังคละได้อย่างถูกต้องตามท่วงทำนองและจังหวะการตี