รวมบทความ: กลองมังคละที่บ้านสวน-ไมเคิล ไรท์คนบอก

ประมวล

องค์ความรู้

"มังคละเภรี"

กลองมังคละที่บ้านสวน-ไมเคิล ไรท์คนบอก

บันทึกเสริมความเข้าใจ

บทความที่ปรากฏนี้มาจากหนังสือ “ฝรั่งคลั่งสยาม” ที่เขียนโดยไมเคิล ไรท์ ที่ใช้ชีวิตในเมืองไทยกว่า 30 ปี และได้เขียนหนังสือจำนวนมาก ในหนังสือเล่มนี้ ได้เขียนถึงดนตรีมังคละ ของชาวบ้านสวน ที่ให้ภาพถึงสถานการณ์จริง พร้อมทั้งองค์ความรู้เชื่อมโยง ถึงความน่าจะเป็นของดนตรีชนิดนี้ ก่อนที่จะมาอยู่ที่บ้านสวน สำหรับดนตรีมังคละอาจคล้ายกับ “วงกาหลอ” ของทางภาคใต้ ซึ่งมีอยู่ที่บ้านสวน และพิษณุโลก แต่ในปัจจุบันอาจได้รับการอนุรักษ์ให้ส่งเสริมโดยผ่านสถาบัน และระบบการศึกษาแล้ว ที่นอกเหนือจากดนตรีแล้วยังมีการรำประกอบดนตรี ประกอบเพลงอย่างเป็นระบบมากขึ้น รวมทั้งมีผู้เขียนเป็นตำรา เป็นงานวิจัย และวิทยานิพนธ์จำนวนมาก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และรักษาอยู่แล้ว

แต่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการแสวงหาความรู้ และอนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงคัดลอกมาเพื่อเป็นฐานข้อมูลไว้

ไมเคิล ไรท์ ฝรั่งคลั่งสยาม พูดถึงกลองมังคละที่บ้านสวน

หน้า ๑๗๒

หลังจากไหว้พระพุทธชินราช ขึ้นไปดูเจดีย์บนยอดเขาสมอแครงพบหมู่อุบาสิกากำลังสวดมนต์แว่ว โหรณสวดตามได้สบายเพราะเคยฟังแม่สวดเหมือนกัน เข้าไปพบแม่ ๆ นุ่งข่าวถือศีลแต่ไม่โกนผม ว่ากันว่าแรกจะขึ้นมาอยู่แปดวัน แต่แล้วเห็นสงบห่างโลกจึงอยู่ต่อเป็น ๑๕ วันแล้ว

คุยกับแม่ ๆ เป็นระยะเวลานานจึงลาโดยขอส่วนกุศล ก็ว่า “สาธุๆ” กัน

ขากลับสุโขทัยผมเกิดนึกขึ้นมาได้ว่าสนใจดนตรีกลองมังคละ จึงถามคนขับรถ

คนขับรถว่า “นี่แหละทางเข้าบ้านสวน” เจ้าของวังกลองมังคละวงสุดท้ายของสุโยทัยซึ่งอาจารย์นิคมอุ้มชูมาช้านาน

แล่นเข้าไปถึงบ้านสวนพบบ้านหัวหน้าวง ว่ากันว่าวันนี้จัดไม่ทันเพราะบางคนไปนาบางคนเข้าตลาด จึงนัดกันว่าพรุ่งนี้จะนำเหล้ามาให้กินกัน แล้วจะตีกลองมังคละเป็นการฉลองปีใหม่

ไมตรีจิตที่บ้านสวน (หน้า ๑๗๒-๑๗๕)

วันรุ่งขึ้นเพลียและอยากสงวนแรงกายเอาไว้ จึงเพียงเดินชมโบราณสถานในเมืองเพียงเล็กน้อย

ตกเย็นรถของโครงการมารับ จึงไปซื้อแม่โขงห้าขวดที่ร้านคุณตี๋(ธีรทัศน์ สัตยาวาจาหวาน ร้านอยู่หน้าพิพิธภัณฑสถาน ทำอาหารให้พวกโบราณคดีอร่อยอย่าบอกใคร) แล้วแล่นไปสู่บ้านสวนถึงประมาณทุ่มเศษ

เจ้าของวง ลุงบุญมา ทองมา (อายุ ๗๐ กว่าแล้ว) และภรรยา ต้อนรับอย่างดี เอาเสื่อมาปู เอาน้ำมาให้กิน เชี่ยนหมากนั้นมิได้ขยับเพราะรู้กันว่าคนสมัยใหม่ไม่รู้จักเคี้ยว แต่เมื่อผมและ ดร.โหรณขอสักคำ คุณป้าท่านทำท่าดีใจและประกอบสองคำอย่างพิถีพิถันแล้วมอบให้เป็นพิธีกรรมอย่างสวยงามไม่แพ้ชาววัง

ขอให้คุณป้าอยู่นานอยู่นานเถิด เสียหมากเสียพลูเมื่อไหร่เสียสยามเมื่อนั้น ผมว่า

ลูกวงมังคละค่อยทยอยมา

ลุงมุ่ย เกษดิษฐ์ ที่ตีกลองหล่น อายุสูงมากแล้ว แต่ยังมีอารมณ์ขัน ยิ้มไม่ขาด

น้าบุญรอด คงน้อย เป่าปี่เหมือนของง่าย อายุกลางคน ดูขรึม แต่อมยิ้มเหมือนกัน

น้าผึ่ง โตนดดง กับน้าบาง ศรีสุวรรณ ตีฆ้องคู่กัน เป็นคนร่าเริงนักทั้งคู่

พี่สุวัฒน์ สุวรรณโรจน์ นักตีกลองมังคละอายุยังหนุ่มแน่น มีอารมณ์ขันอย่างถูกใจผมบอกไม่ถูก แค่มองหน้ากันเป็นอันว่าหัวเราะ

มีคนแบบนี้ไว้ไม่ต้องกลัวเสียดนตรีกลองมังคละเป็นแน่

มาพร้อมหน้ากันแล้วเบิกเหล้าทำพิธีไหว้ครู

คุณโก๋ ไกด์ของโครงการเป็นธุระบันทึกเสียง

ยกแรกเล่นสามเพลง ต่อจากนั้นโก๋ให้เล่นเครื่องดนตรีโดดและแนะนำเครื่องดนตรีแต่ละเครื่อง เพื่อประกอบเทปที่มีคุณค่าสมบูรณ์ทางวิชาการ

ผมเสียดายที่ไม่สามารถให้ท่านผู้อ่านได้ยินเสียงในบทความนี้ได้

ที่ผมประทับใจดนตรีกลองมังคละ เพราะเครื่องประกอบวงและลีลาของเพลง

มีบางท่านอ้างว่า ดนตรีชนิดนี้น่าจะเป็นของใหม่ที่ชาวบ้านคิดขึ้นมาเอง แต่เมื่อหลายสิบปีมานี้กรมพระนริศ ฯ เสด็จขึ้นไปตรวจราชการทางสุโขทัย ทรงฟังวงมังคละและทรงประพันธ์ว่า นี่แหละคือ “ปัญจดุริยางค์” สมบูรณ์แบบ ซึ่งหมายถึงดนตรีคลาสสิค ของอารยธรรมฮินโด-พุทธ เป็นของใช้ในวัง ในวัด และในกองทัพ

การที่ดนตรีชนิดนี้รอดมาได้ที่สุโขทัย (เหลือเพียงหนึ่งวง) และที่พิษณุโลก (เหลือเพียงหนึ่งวงเช่นกัน) ผมนับถือว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ยิ่ง ควรแก่การถนอมรักษาและการเผยแพร่

ผมขอร้องเพียงอย่างเดียวคือ อย่าให้มีการประยุกต์หรือการ Improve ให้มัน Civilizaed เพื่อให้ถูกหูชาวกรุงเทพ ฯ สมัยใหม่ก็แล้วกัน ชาวบ้านท่านอุตส่าห์รักษาไว้จนรอด ชาวเมืองเราอย่าได้ทำลายมันเลย ตรงกันข้าม ควรนับถือชาวบ้านเหล่านี้ว่าเป็น Living National Treasures หรือบุคคลผู้เป็นสมบัติทางศิลป์ของชาติ

อนึ่ง บางท่านอาจจะฟังว่าดนตรีกลองมังคละนี้ “ไม่ไพเราะ” ขาดความอ่อนหวาน

แต่ท่านควรทราบว่าดนตรีแบบนี้คือดนตรีทหาร ใช้นำทัพใช้นำเสด็จ จึงมีทำนองลีลาดุ ก้าวร้าว องอาจ พูดง่าย ๆ เป็นดนตรีปลุกใจ ดังนั้น หากไม่ถูกใจท่านก็อย่าไปถือสา และอย่าไปประดิษฐ์ท่ารำอันอ่อนหวานสวยงามเลย ลีลาเดิมมันดีอยู่แล้ว

ต่อจากนั้นเล่นมังคละกันอีกหลายยก

ระหว่างยกจะซดเหล้ากัน กลองมังคละยิ่งรัวไวรัวดัง จนผมอดคลักเงินออกมา “ช่วยบำรุงพิธีบูชาครู” ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่ออวดตัว แต่เพราะเห็นว่าบำรุงศิลปวัฒนธรรมด้วยวาจาหอมมันก็ดีไปอย่าง

แต่ถ้าพูดว่าบำรุงแล้วไม่จ่าย ศิลปินจะเอากินเอากำลังใจที่ไหน ?

ลงท้ายอย่างไรผมจำไม่ค่อยได้ (น่าละอาย) จำได้แต่ว่ามีการกอดคอหัวเราะงอหาย ไม่ทราบว่าด้วยแรงเหล้าหรือด้วยแรงครู

จะให้สรุปอย่างไรดี ? ที่จริงควรถามชาวบ้าน อาจจะได้คำรอบที่ถูกต้องกว่า

แต่ถ้าจะให้ถามผม ก็จะตอบว่า คืนั้นวิเศษนัก ก่อให้เกิดไมตรีจิตระหว่างชาวบ้านกับชาวเมือง และระหว่างชาวสยามกับชาวต่างประเทศ และครูมาแรงจนเราทุกคนเข้ากันได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีแต่ความรัก ไม่มีรังเกียจต่อกันเลย

มังคละที่มีอยู่ก่อน (หน้า ๑๘๐-๑­๘๑)

บัดนี้เห็นเขาว่ากันว่าวงดนตรีมังคละเหลือเพียงสองวง คือ วงหนึ่งที่บ้านสวน จ.สุโขทัย และอีกวงหนึ่งที่ จ.พิษณุโลก จวน ๆ จะไม่เหลือเสียแล้ว นับว่าหวุดหวิดจริง ๆ

แต่ก็มีอาจารย์บางท่านให้ความสนใจอนุเคราะห์อย่างดีจึงรอดมาได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยจะแน่ใจกันนักว่าดนตรีคืออะไร

บางท่านว่าน่าจะเป็นของมอญ แต่ความจริงแล้วเรารู้จักดนตรีมอญดี และมอญไม่มีอะไรคล้ายกันเลย

บางท่านเสมอว่าอาจจะเป็นของที่บ้านคิดขึ้นมาเอง

ในข้อนี้ผมอยากเสนอตอบโต้โดยอ้างพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พ.ศ.๒๔๔๔) ที่ว่าดนตรีมังคละนี้คือ “เบญจดุริยางค์แท้” ประกอบด้วย วาตฺต วิตตํ อาตฺตวิตฺตํ สุริสํ และฆนํ ครบบริบูรณ์ ซึ่งหมายความว่า ดนตรีมังคละนี้ คือ ดนตรี Classic ตามที่กำหนดไว้ในวรรณกรรมบาลีสันสกฤติโบราณ

ใครไมเห็นด้วยอย่างมาเถียงผม เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ข้อเสนอของผม หากเป็นของสมเด็จฯ ท่าน

หากว่ายอมรับข้อสังเกตของสมเด็จ ฯ แล้ว ก็ยากที่จะเชื่อว่า ดนตรีมังคละเป็นของเบาเป็นของใหม่ที่บ้านบ้านคิดขึ้นมาเอง แต่น่าจะเป็นของหลวงที่เข้ามาแต่เช้ามืดก่อนสมัยอยุธยาเป็นแน่ แล้วกลับกลายเป็นของพื้นเมืองที่สุโขทัย มีคนสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าเป็นความจริงดั่งว่า ก็น่าอัศจรรย์และน่าเคารพหนักหนา

เราไม่มีหลักฐานผูกมัดว่าดนตรีมังคละเข้ามาเมือ่ไรและเข้ามาจากไหน แต่หลักฐานจารึกแสดงว่า ในรัชสมัยพญาลิไทได้นำพระศาสนาจากลังกาเข้ามา โดยเฉพาะองค์พระมหาสวามีสังฆราชและพระผู้ใหญ่อีกหลายรูปก็มีการไปมาหาสู่กันระหว่างสุโขทัยกับลังกา

การที่พระมหาสามีสังฆราชเสด็จมา ผมไม่สามารถเชื่อว่าท่านมาเงียบ ๆ ตรงกันข้าม จารึกระบุว่ามาเป็นขบวนเสด็จ ซึ่งสมัยโบราณจะต้องมีกองทหารเกียรติยศและจะต้องมีปีมีกลองตามฐานันดร

ในเรื่องนี้ประเพณีสยามกับประเพณีลังกาตรงกันไม่มีผิด จึงพอเชื่อว่าพระมหาสามีสังฆราชน่าจะเสด็จมาพร้อมกับกองเกียรติยศทหารลังกา ประโคมมาดั่งสนั่นหวั่นไหวตลอดทาง

หรือแม้กระทั่งพระมหาสามีศรีศรัทธา ฯ (หลัก ๑ กับหลัก ๑๑) ไปทำบุญเอาหลวงหลายในเกาะลังกา ก็ขากลับมาสยามอาจจะได้รับพระราชทานพระเจ้าลังกาให้มีกองเกียรติยศและดนตรีประดับพระคุณ

การที่ผมเสนอว่าดนตรีมังคละเข้ามาจากลังกาในสมัยพญาลิไทก็เป็นเรื่องอาจจะ ที่จริงมันอาจจะเข้ามาก่อนหน้านั้นเสียอีกใครจะไปรู้ เช่นมันอาจจะเข้ามาผ่านนครศรีธรรมราชในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง

แต่ในสมัยพญาลิไทเห็นมีความเป็นไปได้สูงสุด และยังมีหลักฐานอีกกองหนึ่งสนับสนุน

นั่นคือดนตรีมังคละในลังกา

กลองมังคละในลังกา (หน้า ๑๘๒-๑๘๓)

หากท่านผู้อ่านไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วตอนรุ่งอรุณ หรือเวลาเพล หรือตอนดวงอาทิตย์จะตกดิน ท่านจะได้ยินเสียงปี่ดังอี่แอ่

ถ้ารักจะว่างองอาจ ถ้าเกลียดจะว่าน่ารำคาญ

ที่ให้จังหวะปีนั้นคือกลองแขกตัวผู้ตัวเมียคู่หนึ่งโต้ตอบกันและมีกลองเล็กเสียงดังมาก รัวโกร๊ก ๆ โกร๊ก ๆ ขาดแต่ฆ้อง ของเขามีแต่ฉิ่งกับฉาบเป็น “ฆนํ”

ดนตรีชนิดนี้ภาษาสิงหลเรียกว่า “มคุล เพเร” ตรงกับบาลี “มังคละเภรี” และไทย “กลองมังคละ”

ดนตรีชนิดนี้มีประวัติความเป็นมาช้านาน เดิมทีเดียวเป็นของทหาร คล้ายกลองสะบัดชัยของเรา เป็นการประโคมดังและรวดเร็วเพื่อให้กำลังใจแก่กองทัพฝ่ายเรา และข่มขู่ศัตรูให้สะพรึงกลัว ในขณะเดียวกันเอามใช้ในวังเพราะทหารเป็นฝ่ายถวายอารักขา เช้าเย็นจะมีการประโคมมังคละถวายบังคม ในขบวนเสด็จทหารจะนำหน้าโดยเป่าปี่ตีกลองและร่ายรำเป็นการสำแดงถึงพระเดชานุภาพที่ร่ายรำนั้นจะไม่ทำอ่อนหวานสวยงาม แต่จะทำแบบดุร้าย ชูศอกชูเข่า ทำเป็นรำอาวุธต่าง ๆ ทำท่าผลักดันศัตรูตลอดจนตีลังกาก็มี

ต่อมาภายหลังพระมหากษัตริย์ผู้ศรัทธาในพระศาสนาทรงเห็นดนตรีมังคละและการรำมังคละเป็นของสูง จึงมีศรัทธาถวายวัด จึงกลายเป็นเครื่องประดับพระบารมีพระเขี้ยวแก้วและพระเจดียสถานที่สำคัญ ๆ จนทุกวันนี้

นอกจากจะใช้ดนตรีมังคละในการประดับพระบารมีพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ชาวบ้านยังใช้ดนตรีมังคละในพิธีมังคละในพิธีมงคลทุกอย่าง เช่นจะเผดียงพระไปสวดพระปริตต์ที่บ้านคหบดีก็จะจ้างวงมังคละนำแห่พระจากวัดตามคันนาไปถึงบ้าน เมื่อให้ติสรณะและปัญจศีลแล้ว ให้ประโคมมังคละเป็นการขับไล่เสนียดจัญไร และเชิญเทวดามาร่วมบุญร่วมกุศลด้วย เป็นต้น

ดนตรีชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า “มังคละ”

พูดง่าย ๆ คือ พอได้เยินเสียงดนตรีมังคละ ผีปีศาจและสิ่งเลวร้ายจะหนีกระเจิง ในขณะที่เทวดาและความดีงามจะเข้ามาสิงสถิต เจริญขวัญเจริญพรแก่ชาวบ้านทั้งปวง

ที่ผมเสนอว่ากลองมังคละอาจจะเข้ามาจากเกาะลังกานั้นอาจจะไม่เป็นที่สบใจท่านผู้อ่าน แต่โปรดอย่าพึงรังเกียจเลย ไหน ๆ เป็นที่ยอมรับกันทั่วหน้าแล้วว่าพระศาสนาที่นับถือกันทุกวันนี้ก็เข้ามาจากลังกา ไม่มีใครเถียง ไม่มีใครรังเกียจ และถ้าหากว่าเราสามารถพิสูจน์ได้ว่าดนตรีมังคละของเราเข้ามาจากลังกาจริงดังว่า ก็เท่ากับเป็นการพิสูจน์ได้ว่าดนตรีมังคละของเราเข้ามาจากลังกาจริงดังว่า ก็เท่ากับเป็นการพิสูจน์ได้ว่าดนตรีมังคละของเราเก่าแก่ถึงสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และเป็นดนตรีหลวงจนกลายเป็ฯของถิ่นที่นั้นและรักษาไว้จนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นการเสริมความสำคัญแก่วงมังคละที่เหลืออยู่ และยังทำให้เราสามารถรื้อฟื้นและใช้ดนตรีนี้ในงานฉลองโดยเชื่ออย่างสนิทใจว่านี่แหละไม่ใช่ของใหม่หรือของไม่มีสกุล หากเป็นดนตรีของพ่อขุน ฯ โดยแท้ แต่อย่างไรก็ดี จะต้องมีการศึกษาอีกมากต่อไป

ที่มา : ไมเคิล ไรท์ . ฝรั่งคลั่งสยาม. กรุงเทพ ฯ : มติชน.2541. (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ) หน้า ๑๗๒-๑๗๕ และ หน้า ๑๘๐-๑๘๓

ไมเคิล ไรท์

หมายเหตุ : ภาพจากเน็ต ข้อมูลเกี่ยวข้อง http://www.bansuan.net/3/Wattanatom.htm โดย ดิเรก ด้วงลอย(พลอยบุตร)

ขอบคุณข้อมูล จาก http://www.vcharkarn.com/blog/90210/75179

สื่อ

รวมบทความมังคละ

"ดนตรีในตำนาน

แห่งสวางคบุรี"

มังคละหลากลีลา

อารยะศาสตร์และศิลป์

เล่าขานตำนานถิ่น

รุ่นสู่รุ่น "มังคละ"

สืบสาน "น่านวารินทร์"

คู่แผ่นดินแห่ง "เมืองฝาง"

เคียงคู่สู่เมืองงาม

"มหาธาตุพระศาสดา"

บัดนี้ใกล้สิ้นชื่อ

สิ้นนับถือผู้รักษา

ใกล้ผ่านกาลเวลา

"ดับอรุณ" สุโขทัย

"มังคละมรดกโลก"

จะสู่โศกนิมิตหมาย

"กู้เก่ากลับคืนกลาย"

คือ "หน้าที่พิทักษ์ธรรม"

"คุ้งตะเภาเภรี"

บรรเลงศรีคู่สยาม

ดํบงดํกลองตาม

คือสายธารเชิดชูไทย

ชีวิตนี้น้อยนัก

พึงพิทักษ์เชิดชูไว้

มังคละสิ้นเมื่อใด

สิ้นหายใจ "จิตวิญญาณ์"

วานท่านขอวานเถิด

สิ่งประเสริฐจงรักษา

มังคละคืออัชฌา

คือ "ปัญญาแห่งผองชน"ฯ

(เทวประภาส)

๑๒ พ.ค. ๕๘