โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ : พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาออนไลน์

Wat Kungtapao Local Museum

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา (พิพิธภัณฑ์ประเภทวัดและชุมชน ๑ ใน ๔ แห่งของประเทศ ที่ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ "พิพิธภัณฑ์ต้นแบบการเรียนรู้" จาก สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (NDMI) ประจำปี ๒๕๕๖ ) ตั้งอยู่ที่ อาคารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา (อาคารอสีติวัสสายุมงคล) วัดคุ้งตะเภา ตำบลคุ้ง ตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ไม่ไกลจากตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ ใกล้จุดศูนย์รวมต้นทางเส้นทางสายท่องเที่ยวของจังหวัดอุตรดิตถ์ เช่น ทางไปวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ โบราณสถานสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนสิริกิติ์ บ่อเหล็กน้ำพี้ วนอุทยานถ้ำจัน และวนอุทยานสักใหญ่ที่สุดในโลก ทางเข้าวัดคุ้งตะเภาสามารถสังเกตได้ง่าย เนื่องจากมีซุ้มประตูวัดที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์ตั้งอยู่ให้เห็น เด่นสะดุดตา บนสี่แยกคุ้งตะเภาริมถนนสายเอเชีย (ก่อนข้ามสะพานแม่น้ำน่าน) สามารถเดินทางมาได้โดยสะดวก

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนขนาดเล็ก โดยชุมชน เพื่อชุมชน จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยดำริของพระมหาเทวประภาส ที่ได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุของวัด โดยได้รับความอนุเคราะห์จากอดีตเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาในสมัยนั้น ให้ใช้บางส่วนของอาคารกุฎิปั้นหยาจัดเป็นสถานที่สำหรับรวบรวมเอกสารโบราณและวัตถุโบราณของวัดและที่ทางวัดได้รับบริจาคจากชาวบ้าน เช่น พระพุทธรูปโบราณ สมุดไทย สมุดข่อย ใบลาน นำมาจัดแสดงให้คนในท้องถิ่นได้ศึกษาขนบวัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตของบรรพบุรุษ และเพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รับรู้และเกิดความภาคภูมิใจในมรดกและความเป็นมาของชุมชนบ้านคุ้งตะเภาที่มีอายุความเป็นมายาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย นอกจากนี้ วัดคุ้งตะเภายังเป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญแห่งจังหวัดอุตรดิตถ์อีก ด้วยคือ หลวงพ่อสุวรรณเภตรา และหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปโบราณ อายุกว่า ๘๐๐ ปี ๑ ใน ๙ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญแห่งเมืองอุตรดิตถ์

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ วัดคุ้งตะเภา โดยดำริของพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน มีโครงการสร้างห้องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาโดยเฉพาะ บนอาคารศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาหลังใหม่ ทำให้สามารถนำเอกสารโบราณและวัตถุโบราณของวัดออกมาจัดแสดงได้เป็นการถาวร โดยมีโครงการแบ่งพื้นที่หอจัดแสดงออกเป็นสามส่วนคือ ส่วนจัดแสดงประวัติความเป็นมาของชุมชนและวัด ส่วนจัดแสดงเอกสารโบราณ และส่วนจัดแสดงโบราณวัตถุ โดยจะมีการรับบริจาคสิ่งของจัดแสดงจากประชาชน และใช้งบประมาณเพื่อการจัดสร้างส่วนจัดแสดงจากคณะสงฆ์และศรัทธาของคนในชุมชน

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา เปิดเข้าให้ชมในเวลา ๐๘.๒๐-๑๗.๓๐ น. ทุกวันธัมมัสวนะ ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ ๐๘-๔๘๑๓-๑๓๑๕

โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

กลุ่มโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา เช่น ขวานหินขัดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มโหระทึก และเศษเครื่องใช้ทำจากภาชนะดินเผา เป็นต้น

จำ​​​​​​​นวน​​​​​​​ผู้​​​​​​​เข้า​​​​​​​เยี่ยมชม

ตั้งแต่​​​​ :: ​​​​๒๕๕๐

วัตถุที่จัดแสดงบางชิ้นมีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งค้นพบในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านคุ้งตะเภา สมบัติของแม่วันเพ็ญ พิมพ์ขาว ค้นพบบริเวณริมแม่น้ำน่านเมื่อนานมาแล้ว และเก็บตกทอดสืบต่อกันมานับร้อยปี แม้วัตถุชิ้นนี้จะไม่ได้มาจากการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดี แต่จากประวัติบอกเล่าของวัตถุ น่าเชื่อได้ว่า หมู่บ้านคุ้งตะเภา เป็นถิ่นฐานที่เคยมีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือกว่า ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว

ทั้งนี้ หมู่บ้านคุ้งตะเภา อยู่ทางเหนือของแม่น้ำน่าน ไม่ไกลจากแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีบ้านบุ่งวังงิ้ว โดยนักโบราณคดีเคยขุดค้นพบเศษภาชนะดินเผา หินขัด และกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบลักษณะเป็นเนินดินเตี้ยๆ โบราณวัตถุที่พบได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ กระดูกสัตว์ เปลือกหอย ขวานหินขัด ชิ้นส่วนกำไลสีขาว เศษภาชนะดินเผา หม้อกรันลักษณะกลม ชามก้นกลมแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบกับลายขูดและลายประทับ จากหลักฐานทั้งหมดที่ปรากฎมาบ่งชี้ว่าเป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นสังคมเกษตรกรรม ใช้ขวานหินขัดเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิต และทำการล่าสัตว์ เป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีเพียงแห่งเดียวของจังหวัดอุตรดิตถ์


กลองทองหรือมโหระทึก ทำด้วยสัมฤทธิ์ พบที่เดียวร่วมกับกาน้ำและตาวดาบ วัฒนธรรมดองซอน กำหนดอายุราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ขุดพบที่ ต. ท่าเสา อ. เมือง จ. อุตรดิตถ์

กลองมโหระทึก เป็นกลองหน้าเดียวหล่อด้วยโลหะผสม ประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่วและดีบุก แบบเก่าที่สุดพบในประเทศเขมรและท้องที่ใกล้เคียง กลองมโหระทึกเป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ใช้ตีกันอยู่ในงานพิธีต่างๆ ทั้งในงานหลวงและงานราษฎร์ ตรงด้านข้างของตัวกลองมักทำช้างเดินตามกัน ๒ - ๓ ตัว บนหน้ากลองมีกบอยู่ประจำ ๔ ทิศ บางลูกก็ทำกบซ้อนกัน ๓ ตัว ตรงกลางทำเป็นรูปดาวมีแฉก บางชนิดก็ทำดาวนูนกลาง ขอบดาวลาด ที่มีกบอยู่บนหน้ากลองนั้นมีอธิบายว่า กลองเหล่านี้แต่เดิมคงสร้างขึ้นสำหรับใช้ตีขอฝน เพราะเป็นความเชื่อตั้งแต่สมัยโบราณว่าเมื่อกบร้องแล้วฝนจะตก เป็นที่ยอมรับกันว่ากลองเหล่านี้มีกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในท้องที่แหลมอินโดจีน ตอนใดตอนหนึ่ง ด้วยเหตุที่กลองชนิดนี้มักทำกบไว้บนหน้ากลอง พม่าจึงเรียกกลองจำพวกนี้ว่า "ผักซี" แปลว่า "กลองกบ" ชาวไทยเราทางเหนือก็เรียกว่า "ก๊องกบ" หรือ "ก๊องเขียด" เหมือนกัน แต่ในตอนหลังนี้ชาวกะเหรี่ยงนิยมนับถือกลองชนิดนี้มาก กะเหรี่ยงชั้นหัวหน้าจะต้องมีใช้กันประจำ ถ้าผู้ใดมีกลองชนิดนี้อยู่ในครอบครองเพียงใบเดียวก็จะได้รับยกย่องว่ามีฐานะ ในทางสังคมสูงกว่าการมีช้างตั้ง ๗ เชือก และคงจะเนื่องจากที่ชาวกะเหรี่ยงนิยมใช้จึงเรียกกันว่า "กลองกะเหรี่ยง" ฝรั่งก็เรียกว่า "Karen Bronze Drums" นอกจากชาวกะเหรี่ยงแล้วปรากฏว่าชาวละว้าก็นิยมใช้กลองมโหระทึก กะเหรี่ยงบอกว่าเขาได้กลองแบบนี้มาจากชนชาติอื่น ซึ่งมีบทกลอนและเพลงร้องกล่าวถึงว่ากลองแบบนี้พวกยู (Yu) เป็นผู้สร้างขึ้น พวกยูนี้นายตอเส่นโก๊ะเจ้าหน้าที่โบราณคดีผู้ล่วงลับไปแล้วของพม่ามีความเห็นว่า เป็นชนพวกหนึ่งที่เรียกกันอีกชื่อว่า ยูง (Yung) เคย มีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่มณฑลยูนนานในประเทศจีนตอนใต้ สำนักสำรวจบางกลุ่มกล่าวว่าชาวจีนเป็นพวกแรกที่พบกลองชนิดนี้ แต่พวก ยู หรือ ยูงนั้น บางท่านก็ว่าเป็นไทยพวกหนึ่ง และชาวไทยในสายนี้อพยพกันลงมาทางใต้แล้วมาตั้งอาณาจักรของตนขึ้นและใช้ชื่อ ภาษาบาลีตามชื่อที่เคยอยู่มาในดินแดนเดิมว่า โยนะกะ หรือ โยนก เรื่องที่กล่าวมานี้ก็ดูเลือนลางเต็มทีเพราะยังไม่มีหลักฐานมั่นคงพอ แต่ปรากฏว่ามีพวกชานหรือไทยใหญ่ซึ่งตั้งภูมิลำเนาอยู่เป็นหมู่บ้านในท้องที่ ระหว่างตั้งแต่เมืองตองอูเข้าไปจนในแคว้นชาน ( The Shan States) พวกชาวไทยใหญ่เหล่านั้นมีอาชีพเป็นผู้หล่อกลองเหล่านี้ให้แก่พวกกะเหรี่ยง

กลองมโหระทึกนิยมนำมาใช้ตีบรรเลงในโอกาสต่าง ๆ ทั้งงานหลวงและงานราษฎร์ โดยปกติใช้ตีด้วยไม้ตี ๒ อัน ชาวไทยเรานิยมใช้มโหระทึกมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีกล่าวไว้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงตอนหนึ่งว่า “ประชาชนรื่นเริงสนุกสนานบรรเลงดนตรีดีดสีตีเป่า พื้นฆ้องกลองแตรสังข์ระฆังกังสดาลหรทึก กึกก้องทำนุกดี” และต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยามีกำหนดไว้ในกฎมนเทียรบาลให้เป็นหน้าที่ของขุนมนตรีตีในงานพระราชพิธีด้วย เช่น ระบุไว้ว่า “อินโทรตีอินทเภรี ศรีเกดตีฆ้องชัย ขุนดนตรีตีหรทึก” และยังคงใช้ประโคมร่วมกับ แตรสังข์ในงานพระราชพิธีต่างๆ ตลอดมา เช่น ในโอกาสที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกในงานพระราชพิธีรัฐพิธี ใช้บรรเลงร่วมกับกระบวนกลองชนะในงานเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราและ ในกระบวนอื่นๆ

นอกจากใช้ในงานหลวงดังกล่าวแล้ว ยังปรากฏว่าที่วัดบวรนิเวศวิหาร มีประเพณีกระทั่ง (ตี) มโหระทึกและบันลือสังข์ประโคมในขณะพระภิกษุสงฆ์ลงประชุมทำวัตรสวดมนต์ในพระอุโบสถทั้งเช้าเย็น เริ่มประโคมเมื่อพระภิกษุผู้นำทำวัตรสวดมนต์จุดเทียนทองคือโลหะทำเป็นรูปเทียนสีไส้ด้ายดิบ ใช้ตามด้วยน้ำมันมะพร้าว มีปลอกทำด้วยทองแดงชักเงาปักอยู่บนเชิงลายถมปัดรูปเชิงเทียนจีนคู่หนึ่ง ณ ที่บูชา เมื่อจุดเทียนทองและประโคมแล้วพระภิกษุสงฆ์จึงจะขึ้นบนอาสนะ ยืนพนมมือจนจุดเทียนธูป ณ ที่บูชาทั้ง ๓ หมู่เสร็จ จึงหยุดประโคม พระภิกษุสงฆ์ลงนั่งคุกเข่าทำวัตรและสวดมนต์ต่อไป วัดที่มีประโคมมโหระทึกขณะพระภิกษุสงฆ์ประชุมทำวัตรสวดมนต์มีอยู่ ๓ วัดคือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร ทั้ง ๒ วัดนี้เชื่อว่าได้รับพระราชทานพร้อมกันในรัชกาลที่ ๔ อีกวัดหนึ่งคือวัดเบญจมบพิตร คงได้รับพระราชทานในรัชกาลที่ ๕ มโหระทึกเป็นเครื่องบรรเลงประกอบพระราชอิสริยยศของพระองค์พระมหากษัตริย์ ฉะนั้นจึงต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานจึงจะใช้ได้ ไม่ใช่ใช้ได้ตามอำเภอใจ

เรียบเรียงจากwww.thaigoodview.com