งานประเพณีบุญกลางบ้านคุ้งตะเภา ประจำปี ๒๕๕๖

วันที่โพสต์: Feb 23, 2013 7:10:52 PM

ประเพณีทำบุญกลางบ้านคุ้งตะเภาในปัจจุบันนั้น คล้ายคลึงกับหมู่บ้านในแถบภาคกลางทั่วไป แต่มีการปรับประยุกต์ขั้นตอนบางอย่างให้สะดวกขึ้น โดยประเพณีทำบุญกลางบ้านนี้ชาวบ้านคุ้งตะเภาจะแยกจัดพิธีเป็นสองครั้งคือ ในต้นเดือน 3 จัดพิธีทำบุญกลางบ้านที่บ้านคุ้งตะเภาฝั่งตะวันออก (บ้านเหนือ) และปลายเดือน จัดพิธีทำบุญกลางบ้านที่บ้านคุ้งตะเภาฝั่งตะวันตก (บ้านใต้) โดยมีบริเวณในการจัดแน่นอน โดยบ้านเหนือจัดที่ทางสามแพร่งเหนือหมู่บ้าน ส่วนบ้านใต้จัดที่ลานข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาคุ้งตะเภา โดยชาวบ้านจะเป็นผู้ร่วมกันกำหนดวันทำบุญ

ขั้นตอนในการประกอบพิธีทำบุญกลางบ้านเริ่มจากชาวบ้านเตรียมทำกะบาน โดยทำเป็นถาดกาบกล้วยรูปสี่เหลี่ยม ปักธงกบิล 4 ทิศ ใช้ดินเหนียวปั้นเป็นรูปคนเท่าจำนวนคนในบ้านรวมไปถึงวัวควาย ไก่หรือสัตว์เลี้ยงอื่นด้วย ใส่เสื้อผ้าให้รูปคน มีการใส่ผักพล่าปลายำ พริกแห้ง เกลือ หัวหอม ข้าวสาร แล้วปักธูปลงในกะบาน และใส่สตางค์ลงไปด้วย

ประเพณีทำบุญกลางบ้านคุ้งตะเภา วันเสาร์-อาทิตย์ที่ ๒๓-๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ (ตรงกับวันขึ้น ๑๓-๑๔ ค่ำ เดือน ๓) ประเพณีทำบุญกลางบ้านคุ้งตะเภา เป็นประเพณีโบราณของชาวบ้านคุ้งตะเภา ชุมชนคนไทยดั้งเดิมที่มีประวัติความเป็นมาสืบย้อนไปได้กว่า ๗๐๐ ปี นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งยังคงสืบทอดประเพณีนี้มาจนถึงปัจจุบัน...มาทำความรู้จัก

งานประเพณีบุญกลางบ้านคุ้งตะเภา

วันจัดงานทำบุญกลางบ้านชาวบ้านจะถือกะบานนำไปวางไว้บริเวณปรำพิธีซึ่งตั้งอยู่บริเวณพระพุทธรูป โดยจะมีการก่อเจดีย์ทรายปักธงบนยอดเจดีย์และประดับด้วยใบมะพร้าว ธงกบิลฯลฯ พร้อมกับทำกำแพงล้อมทั้ง 4 ทิศ พร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์จากวัดคุ้งตะเภามาเจริญพระพุทธมนต์พระปริตรในเวลาเย็น ในระหว่างพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสวดจบบทหนึ่งก็จะมีการตีฆ้อง 3 ครั้ง ครั้นพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบในช่วงค่ำ พระสงฆ์จะสวดบท สุมงฺคลคาถา (สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ) และชาวบ้านก็จะจุดธูปเทียนในกะบานและนำกะบานไปวางไว้ตามทางสามแพร่งหรือสถานที่ ๆ กำหนดไว้ และมีการละเล่นต่าง ๆ ในเวลากลางคืน ในวันที่สองจะนิมนต์พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารเช้าถวายจตุปัจจัย จึงเป็นอันเสร็จพิธีคติความเชื่อของประเพณีนี้มาจากการผสานความเชื่อเรื่องผีของคนโบราณเข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนา มาจากคติความเชื่อเรื่องผีในการขอบคุณผีที่ประทานความอุดมสมบูรณ์จนสามารถเก็บเกี่ยวได้ และเป็นการสะเดาะห์เคราะห์คนในหมู่บ้านทั้งหมด และสอดคล้องกับวิถีชีวิตทางเกษตรกรรมของคนในชุมชน โดยประสานกับคติทางพุทธศาสนาเถรวาท ด้วยการจัดให้มีการทำบุญเพื่อเป็นอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและเสริมสวัสดิมงคลความอุดมสมบูรณ์ของคนในหมู่บ้านหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งประเพณีนี้เป็นประเพณีที่แปลกกว่าประเพณีอื่น ๆ โดยจัดนอกวัด ชาวบ้านจะเลือกเอาสถานที่จัดบริเวณลานกว้างในหมู่บ้าน เพื่อเป็นการชุมนุมชาวหมู่บ้านมาร่วมจัดงานด้วยกัน เป็นการไต่ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน โดยมีการก่อพระเจดีย์ทรายไว้เป็นเครื่องหมาย ซึ่งคติการก่อเจดีย์ทรายไว้กลางหมู่บ้านนี้มาจากเรื่องราวในธรรมบทเพื่อเป็นการสร้างกุศลก่อเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชาร่วมกัน และมีการทำกะบานใส่ดินปั้นผู้อาศัยในครัวเรือนของตน ๆ ไปวางไว้ตามทางสามแพร่งเพื่อสะเดาะห์เคราะห์ ซึ่งเป็นอุบายของคนโบราณในการสำรวจประชากรและสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านคุ้งตะเภาได้อย่างดียิ่ง