วัดคุ้งตะเภา รับมอบต้นสาละอินเดียดั้งเดิมที่สืบจากต้นแรกในไทยจากกรมป่าไม้

วันที่โพสต์: Jun 01, 2019 6:59:34 PM

วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 วัดคุ้งตะเภา รับมอบต้นสาละอินเดีย (Shorea Robusta) ซึ่งเป็นต้นไม้มีพันธ์ตรงตามพุทธประวัติ และเป็นต้นที่สืบสันตติพันธ์มาจากสาละอินเดียต้นแรกที่นำมาปลูกในประเทศไทย จากหัวหน้าสถานีวนวัฒนวิจัยงาว กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 20 ต้น ซึ่งเป็นต้นที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้ตาของต้นสาละอินเดียดั้งเดิมที่สืบจากต้นแรกในไทย ตามโครงการต้นสาละอินเดียเฉลิมพระเกียรติถวายพระกุศลสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกฯ เพื่อปลูกเป็นแหล่งเรียนรู้ใน พุทธมณฑลอุทยานสังเวชนียสถานสี่ตำบล วัดคุ้งตะเภา ต่อไป

โดยต้นสาละอินเดียที่วัดคุ้งตะเภาได้รับถวายมานี้ เป็นต้นสาละที่มีพันธุกรรมตรงตามต้นสาละในสาลวโนทยานตามพุทธประวัติ ซึ่งคณาจารย์คณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เชิญหน่อมาจากรัฐอุตตรประเทศ มาปลูกในไทย เมื่อ พ.ศ. 2505 โดยแบ่งปลูกตามที่ต่าง ๆ เช่น ศูนย์วนวัฒนวิจัยงาว, สวนโมกข์ ไชยา (หลวงพ่อพุทธทาสนำไปปลูก) เมื่อถึงปี 2510 บางส่วนได้นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย ร.9 ทรงปลูกที่วังสวนจิตรดา ต่อมา ร.10 ทรงปลูกที่วัดบรมธาตุนครศรีฯ เมื่อทรงผนวชในปี 2525 อีกด้วย ซึ่งทั้งหมด เพาะพันธ์มาจากต้นสาละอินเดียชุดแรกนี้ทั้งสิ้น

โดยวัดคุ้งตะเภาได้กำหนดจุดทำการปลูกดังนี้ ด้านหน้าอุโบสถวัดคุ้งตะเภา 1 ต้น (วัดบน), คู่กับต้นโพธิ์ในสวนโพธิ์ ร.5 วัดคุ้งตะเภา 1 ต้น (วัดหน้า), บริเวณตำบลประสูติ 4 ต้น (สวนป่าริมน้ำน่าน), ตำบลตรัสรู้ 4 ต้น (สวนป่าริมน้ำน่าน) และตำบลปรินิพพาน 10 ต้น (สวนป่าริมน้ำน่าน)

ทั้งนี้สาละอินเดีย คือต้นมหาสาละ เป็นไม้วงศ์ยาง ไม่ใช่ไม้รังแบบไทย และเป็นคนละต้นกับสาละลังกา (ต้นลูกระเบิด ดอกใหญ่) ต้นสาละอินเดียแพร่พันธ์ยากตามธรรมชาติ เนื่องจากจะให้ผลต่อเมื่อมีอายุ 30 ปี ขึ้นไป จึงทำให้เป็นต้นไม้ที่หาดูยากในประเทศไทย

- จดหมายข่าววัดคุ้งตะเภา วันที่ 31 พ.ค. 62

เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ปลุกต้นสาละอินเดีย ณ สาลวโนทยานสังเวชนียสถานจำลอง วัดคุ้งตะเภา

จากนั้นในวันที่ 17 มิ.ย. 62 เวลา 12.30 น. พระเดชพระคุณพระปัญญากรโมลี, ดร. (นิพนธ์ ปัญญาสารมหาเถระ) เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วยพระครูพิศาลจริยธรรม (มงคล ปคุณมหาเถระ) เจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เมตตาเยี่ยมชมให้กำลังใจโครงการจัดสร้างพุทธมณฑลอุทยานสังเวชนียสถานสี่ตำบลวัดคุ้งตะเภา (โครงการสร้างสวนป่าวัดคุ้งตะเภาริมน้ำน่าน 20 ไร่)

ในการนี้พระเดชพระคุณได้เมตตาเป็นประธานปลูกต้นสาละอินเดีย สืบสันตติพันธ์มาจากต้นสาละแคว้นอุตตรประเทศ ตามพระพุทธประวัติ ซึ่งวัดคุ้งตะเภาได้รับมอบมาจากศูนย์วนวัฒนวิจัย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 12 ต้น เพื่อสร้างสวนป่าสาละ พุทธสังเวชนียสถานจำลอง ณ พุทธมณฑลอุทยานสังเวชนียสถานวัดคุ้งตะเภา ริมแม่น้ำน่าน

ฝ่ายวัดคุ้งตะเภา มีพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี, ดร. รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา และนายสมชาย สำเภาทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลคุ้งตะเภา ถวายการต้อนรับ ซึ่งภายในปี 2562 จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปปางปรินิพพานขนาดเท่าครึ่ง แกะสลักจากหินสบู่ตันทั้งองค์ มาประดิษฐานเป็นพระประธานในสาลวโนทยานจำลองอีกด้วย ขออนุโมทนาสาธุ ๆ

- จดหมายข่าววัดคุ้งตะเภา วันที่ 17 มิ.ย. 62

ความสําคัญของสาละอินเดียกับพุทธประวัติ

พระพุทธเจ้าประสูติ

ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปีพระนางสิริมหามายาทรงครรภ์ใกล้ครบกําหนดพระสูติการ จึงเสด็จออกจาก กรุงกบิลพัสดุ์เพื่อไปมีพระสูติการ ณ กรุงเทวหะ เมื่อขบวนเสด็จมาถึงครึ่งทาง ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวหะ ณ ที่ตรงนั้นเป็นสวนมีชื่อว่า “สวนลุมพินีวัน” เป็นสวน “สาละใหญ่” พระนางประชวรพระครรภ์พลางประทับยืนชูพระหัตถ์เหนี่ยวกิ่งสาละใหญ่ และได้ประสูติพระสิทธัตถะกุมาร ซึ่งตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ํา เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้และแสดงธรรมเทศนา พระองค์เสด็จไปประทับยังต้นสาละใหญ่ และเสด็จไปประทับนั่งยังต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงบําเพ็ญเพียรจนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลารุ่งอรุณยามสาม ในวันเพ็ญเดือน ๖ และพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนา “ธรรมจักกัปวัตตนสูตร” โปรดปัญจวัคคีย์บริเวณป่าสาละใหญ่อันร่มรื่น ณ อุทยานมฤคทายวัน ในวันเพ็ญเดือน ๘ พระรัตนตรัยจึงเกิดครบบริบูรณ์ครั้งแรกในโลกนี้คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระพุทธเจ้าเสด็จสู่ปรินิพพาน

พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เมื่อมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา ณ บริเวณสาลวโนทยาน เมืองกุสินาราของมัลละกษัตริย์ ใกล้ฝั่งแม่น้ําหิรัญวดีเวลาใกล้ค่ําของวันเพ็ญเดือน ๖ พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยมาก จึงมีรับสั่งให้พระอานนท์ซึ่งเป็นองค์อุปัฏฐากปูลาดพระที่บรรทม โดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ระหว่างต้นสาละใหญ่ ๒ ต้น แล้วพระองค์ก็ทรงเอนพระวรกายลงประทับไสยาสน์แบบสีหไสยาโดยนอนตะแคงขวาพระบาทซ้ายซ้อนทับพระบาทขวาและเสด็จสู่ปรินิพาน

สาละอินเดีย (Sal)

ชื่อสามัญ…สาละอินเดีย สาละใหญ่ มหาสาละ สาละ

ชื่อวิทยาศาสตร์…Shorea robasta C.F. Gaertn.

วงศ์…Dipterocarpaceae

“ดูกรอานนท์…ไม้สาละทั้งคู่ เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล

ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา…”

“อานนท์เอย อย่างนี้แหละ คราใดที่ตถาคตประสูติ ตรัสรู้…

…ตถาคตจะต้องปรินิพพานในระหว่างต้นสาละทั้งคู่ซึ่งโน้มกิ่งเข้าหากัน…”

(มหาปรินิพพานสูตร)