- พระบรมสารีริกธาตุจากประเทศสาธารณรัฐอินเดีย

พระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดีย

ประดิษฐาน ณ วัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์

พระบรมสารีริกธาตุ (กระดูกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) จากประเทศอินเดีย ที่ประดิษฐานในวัดคุ้งตะเภา เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ได้จากการถวายพระเพลิงพระบรมศพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ มกุฏพันธนเจดีย์ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ชมพูทวีป เมื่อ ๑ ปี ก่อนพุทธศักราช

โดยพระบรมสารีริกธาตุจากสาธารณรัฐอินเดีย ที่วัดคุ้งตะเภาได้รับมอบถวายจากพระเดชพระคุณ พระครูปลัดสุวัฒนพุทธิคุณ (วิเชียร วชิรวํโส ดร.) ประธานสงฆ์ วัดไทยสิริราชคฤห์ ประเทศอินเดีย เป็นพระบรมธาตุส่วนที่โทณพราหมณ์เป็นผู้จัดสรรให้แก่บรรดาเจ้าผู้ครองนครรัฐ โบราณสมัยพุทธกาล ๘ พระนครทั่วชมพูทวีป ตามคำบัญชาของมัลลกษัตริย์ ซึ่งได้พระราชทานไปประดิษฐานยังพระนครทั้ง ๘ คือ เมืองราชคฤห์ (राजगीर) เมืองเวสาลี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองอัลลกัปปะ เมืองรามคาม เมืองเวฏฐทีปะ เมืองปาวา และเมืองกุสินารา

ดังที่ปรากฎใน ธาตุภาชนียกถา จากตำนานธาตุนิธาน ที่ อรรถกถาจารย์ ได้บรรยายความไว้ใน มหาปรินิพพานสูตร กล่าวว่า หลังจากโทณพราหมณ์ได้ทำการแบ่งออกเป็น ๘ ส่วน ให้แก่เจ้าผู้ครองนครทั้ง ๘ แยกย้ายไปประดิษฐานตามเมืองต่าง ๆ หลังจากถวายพระเพลิงแล้ว ตามตำนานกล่าวว่า พระมหากัสสปะเถระ และพระเจ้าอชาตศัตรู แห่งแคว้นมคธ ได้ร่วมกันกระทำ 'ธาตุนิธานปาฏิหาริย์' ตามความใน อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร คือการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่แบ่งออกไปนั้น กลับมาประดิษฐานรวมกันไว้ในที่แห่งเดียว

ณ เมืองราชคฤห์ (राजगीर) เพื่อป้องกันการสูญหายจากการศึกและสงคราม โดยในช่วงพุทธศักราช ๒๓๖ พระเจ้าอโศกมหาราชได้เป็นผู้มาอัญเชิญเปิดธาตุนิธาน เพื่อกระทำการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกไปเผยแพร่สร้างพระมหาเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ ทั่วชมพูทวีป ประกาศพระพุทธศาสนาให้ยิ่งใหญ่ โดยพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญออกไปครั้งนั้น บางส่วนได้ไปประดิษฐาน ณ เมืองพุกาม และอาณาจักรสุวรรณภูมิโบราณ ซึ่งต่อมาได้รับอัญเชิ ญมาประดิษฐาน ณ วัดคุ้งตะเภา โดยได้รับมอบประทานมาจากพระมหาสังฆนายกเซออูตวนมหาเถระแห่งสหภาพพม่า และสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกฯ แห่งประเทศไทย ดังที่ทราบแล้วนั้น และด้วยเหตุที่ พระครูปลัดสุวัฒนพุทธิคุณ (วเชียร วชิรวํโส ดร.) ผู้ก่อตั้งวัดไทยสิริราชคฤห์ วัดไทยแห่งแรกในนครราชคฤห์ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย (Watthaisirirajgir Rajkir Nalanda Dist. Bihar India) ใกล้กับ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ สถาน ที่สำคัญในพระพุทธประวัติ เมืองสำคัญที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุตามตำนานธาตุนิทานปาฏิหาริย์ และตามความในมหาปรินิพพานสูตรพระไตรปิฎก ด้วยความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองราชคฤห์และพระพุทธบารมีดังกล่าว พระเดชพระคุณท่านจึงมีพระบรมสารีริกธาตุบางส่วนเก็บรักษาไว้ และท่านไ้ด้มีเมตตาคุณเป็นกรณีพิเศษ มอบพระบรมสารีริกธาตุบางส่วนดังกล่าว ให้แก่วัดคุ้งตะเภาดังกล่าว เพื่ออัญเชิญมาประดิษฐานเป็นที่สักการะบูชา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นที่ตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนา เป็นสิริมงคล เป็นขวัญกำลังใจ แก่พระภิกษุ สามเณร และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อบรรจุในพระบุษบกบรมคันธกุฎีพุทธวิหารบนอาคารมหาศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา และทางวัดคุ้งตะเภาจะอัญเชิญแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองราชคฤห์ดังกล่าว ไปบรรจุในพระมหาธาตุเจดีย์ศรีสุวรรณเภตรา ที่วัดคุ้งตะเภาจักได้จัดสร้างขึ้นในอนาคต เป็นหลักชัยแห่งพระพุทธศาสนาต่อไป

สัณฐานพระบรมสารีริกธาตุจากสาธารณรัฐอินเดีย ประดิษฐาน ณ วัดคุ้งตะเภา

พระบรมสารีริกธาตุจากประเทศสาธารณรัฐอินเดีย ที่ได้รับมอบอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดคุ้งตะเภา เป็นพระบรมสารีริกธาตุ (กระดูกของพระพุทธเจ้า) และมีลักษณะตรงตามพระไตรปิฎกคือ"วิปฺปกิณฺณา ธาตุ" อันเป็นพระธาตุขนาดเล็ก ซึ่งมีบันทึกไว้ตั้งแต่ครั้งหลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา ชมพูทวีป โดยเป็นพระบรมธาตุที่โทณพราหมณ์ เป็นผู้จัดสรรให้แก่บรรดาเจ้าผู้ครองนครรัฐ ที่มาร่วมในงานถวายพระเพลิงพระบรมสรีระของพระพุทธเจ้า ณ เมืองกุสินารา ปัจจุบันเสด็จมารวมทั้งสิ้น ๑๑ พระองค์ ซึ่งพบว่า มีลักษณะตรงตามคัมภีร์อรรถกถาทีฆนิกาย พระสุตตันตปิฎก และตำราพระธาตุของโบราณ ทุกประการทุกพระองค์

โดยองค์พระบรมสารีริกธาตุจากสาธารณรัฐอินเดีย อันประดิษฐาน ณ วัดคุ้งตะเภา ทั้งหมดมี ๑๑ พระองค์ โดยแบ่งเป็น สัณฐานเมล็ดพันธุ์ผักกาด ๔ พระองค์ (สพฺพขุทฺทกา ธาตุ สาสปวีชมตฺตา), สัณฐานเมล็ดข้าวสาร ๔ พระองค์ (มหาธาตุ มชฺเฌ ภินฺนตณฺฑุลมตฺตา) และสัณฐานเมล็ดถั่วเขียวผ่ากลางปี

ก ๔ พระองค์ (อติมหตี มชฺเฌ ภินฺนมุคฺคามตฺตา) เมื่อจำแนกโดยวรรณะ (สี) ตามพระคัมภีร์ แบ่งเป็น วรรณะ (สี) เหมือนแก้วมุกดาที่เจียระไนแล้ว (สีผลึก) จำนวน ๕ พระองค์ (โธตมุตฺตสทิสา) วรรณะเหมือนดอกมะลิตูม ๑ พระองค์ (สุมนมกุลสทิสา) วรรณะทองอุไร ๒ พระองค์ (สุวณฺณจุณฺณา-เป็นวรรณะที่พบได้ยาก) และวรรณะสีทับทิมจำนวน ๕ พระองค์ (วรรณะสีทับทิมนี้มีลักษณะตรงตามตำราพระธาตุของโบราณ)

พระธาตุลักษณะนี้ ยังปรากฏในอรรถกถาบาลี มีคำอธิบายว่า "สพฺพขุทฺทกา ธาตุ สาสปวีชมตฺตา" ดังนั้นพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดียอันประดิษฐาน ณ วัดคุ้งตะเภา จึงเป็นพระบรมสารีริกธาตุดั้งเดิมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ควร แก่การสักการะของพุทธศาสนิกชนทั้งปวง

พิธีสมโภชประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจากสาธารณรัฐอินเดีย ณ วัดคุ้งตะเภา

๕ ธันวาคม ๒๕๕๕