ศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์

สวนป่าสมุนไพรธรรมชาติวัดคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ : Wat Khungtaphao Herbal Garden

สวนป่าสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

(สวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา)

สวนสมุนไพรในวัดที่มีผลงานดีเด่นระดับประเทศ

ตามประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง การพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนวัดที่มีผลงานดีเด่นด้านสมุนไพร โครงการสวนสมุนไพรและแพทย์แผนไทยในวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ วัดคุ้งตะเภาได้รับความเห็นชอบจากทางคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก พระเทพปริยัติวิธาน เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนให้วัดคุ้งตะเภาเป็น ศูนย์ศึกษาสมุนไพรประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ เนื่องจากวัดคุ้งตะเภา มีพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรแผนโบราณ ได้เป็นผู้รวบรวมสมุนไพรหายากจากสถานที่ต่าง ๆ มารวมไว้ในวัด (ในปัจจุบันในวัดมีต้นยาสมุนไพรทั้งสิ้นกว่า ๓๐๐ ชนิด) เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจและเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านการอนุรักษ์สมุนไพร อีกทั้งวัดยังได้เก็บรวบรวมสมุดไทยและผูกใบลานจารึกตำรายา, ตำราพระเวท, และบทกฎหมายพระอัยการโบราณ อายุกว่าร้อยปี รวมมากกว่าร้อยผูก/เล่ม (ชมเอกสารโบราณ) ซึ่งนับว่าเป็นโบราณวัตถุมรดกสำคัญอันล้ำค่ายิ่ง เป็นวัตถุพยานที่บ่งบอกถึงความเก่าแก่แห่งภูมิปัญญาด้านสมุนไพรไทยของชาว คุ้งตะเภาที่สืบทอดมาแต่โบราณ

ทางวัดได้แบ่งเขตสังฆาวาสส่วนหนึ่งให้เป็นพื้นที่ปลูกสมุนไพรที่รวบรวมมาได้ จากที่ต่าง ๆ นำมาปลูกไว้ ทั้งชนิดต้นและชนิดไม้ลงหัว ไปจนกระทั่งไม้เลื้อยขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รวบรวมพืชสมุนไพรไทยที่หาชมได้ยากนำมาปลูกในเขตพื้นที่ บริเวณวัดหลายร้อยชนิด โดยเริ่มทำการจัดหาสมุนไพรมาอนุรักษ์เมื่อประมาณปีพ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งผู้มีส่วนสำคัญในการริเริ่มการปลูกอนุรักษ์สมุนไพรในวัดคุ้งตะเภาก็คือ พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา และพระอาจารย์อู๋ ปัญฺญาวชิโร ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในการจำแนกพืชสมุนไพรไทย

สวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา ได้จัดปลูกตามแนวคิดเบญจวนา คือสวนป่า ๕ ชั้น คือ

ระดับที่ ๑ สมุนไพรหัวฝังดิน เช่น ว่านเพชรกลับ, ไพรปลุกเสก เป็นต้น

ระดับที่ ๒ สมุนไพรจำพวกไม้เลื้อย เช่น กำแพงเจ็ดชั้น, รางแดง เป็นต้น

ระดับที่ ๓ สมุนไพรทรงพุ่ม เช่น ฮ่อสะพายควาย, กระบือเจ็ดตัว เป็นต้น

ระดับที่ ๔ สมุนไพรระดับกลาง เช่น กฤษณา, จันทร์หอม เป็นต้น

ระดับที่ ๕ ต้นไม้ทรงสูง เช่น พระเจ้าห้าพระองค์, บุนนาค เป็นต้น

โดยเขตสังฆาวาสที่ปลูกสมุนไพรนั้น ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่ของคณะ ๔ วัดคุ้งตะเภา หรือคณะวิเวกวาสี เดิมบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารกุฏิสงฆ์หอฉันและหอนั่งวัดคุ้งตะเภาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เป็นกลุ่มอาคารทรงไทยภาคกลางแบบโบราณริมแม่น้ำน่านที่สันนิษฐานว่ามีอายุมากกว่า ๑๕๐ ปี แต่ในช่วงก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ อาคารไม้โบราณทั้งหมดในแถบคณะ ๔ได้ถูกรื้อลงหมดแล้ว เหลือหลักฐานคือต้นตาลโบราณที่มีความสูงกว่า ๔๐ เมตร มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี เป็นหลักฐานยืนยันที่ตั้งของกลุ่มอาคารศาสนสถานโบราณที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาของคนคุ้งตะเภาในอดีต เนื่องจากในปีก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางวัดได้ย้ายที่ตั้งกลุ่มกุฎิสงฆ์มาไว้ที่วัดบริเวณคณะ ๒, ๓ และ ๗ เพราะการหมดความสำคัญลงของการสัญจรทางน้ำ ทำให้บริเวณคณะ ๔ วัดคุ้งตะเภาเป็นพื้นที่ว่างเปล่า

ต่อมา พระอาจารย์อู๋ ปัญญาวชิโร ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรไทยของตำบลคุ้งตะเภา ได้อุปสมบทและจำพรรษาอยู่ที่วัดคุ้งตะเภา เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ท่านได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาโบราณ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ศาสตร์แขนงนี้ให้กับชนรุ่นหลัง ท่านจึงร่วมกับพระสมุห์สมชาย ได้ออกแสวงหาสมุนไพรไทย ที่หายากจากสถานที่ต่าง ๆ นำมาปลูกไว้ในบริเวณเขตสังฆาวาสด้านทิศเหนือ จนในปัจจุบันจากพื้นที่โล่งว่างเปล่ากลายมาเป็นสวนป่าสมุนไพรที่รวบรวมสมุนไพรไทยหายากนานาพันธุ์ ทั้งไม้ยืนต้นขนาดใหญ่และไม้อิงอาศัยนานาชนิด กอปรกับพระอาจารย์อู๋ ปัญฺญาวชิโร เป็นผู้เชี่ยวชาญในการปรุงยาสมุนไพรแบบโบราณ ทำให้มีผู้สนใจทางที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกจังหวัด มาศึกษาความรู้แขนงนี้จากท่านไม่เว้นแต่ละวัน

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์ (ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์) ได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยแขนงนี้ไว้ จึงได้จัดโครงการ "อรุณรุ่งที่คุ้งตะเภา" โดยให้งบประมาณสนับสนุนการอนุรักษ์ภูมิปัญญาในการทำสมุนไพรไทยพื้นบ้านแบบ โบราณ ดังปรากฏตู้อบยาสมุนไพรภูมิปัญญาชาวบ้านนับ ๑๐ ตู้ ที่ตั้งอยู่ข้างอุโบสถวัดคุ้งตะเภาจนปัจจุบันนี้

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้มีผู้ของบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อจัดตั้ง โครงการศูนย์สมุนไพรตำบลคุ้งตะเภา ในวัดคุ้งตะเภา อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับงบประมาณโครงการดังกล่าวไม่ได้ประสานให้คณะสงฆ์เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการใด ๆ วัดคุ้งตะเภาจึงไม่ทราบการได้รับงบประมาณ จึงทำให้ไม่ได้นำเงินงบประมาณลงสู่วัดคุ้งตะเภา โครงการดังกล่าวจึงไม่ได้เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และแม้โครงการในปี ๒๕๕๑ จะล้มเหลว แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่าการที่สวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภามีพัฒนาการมาจนถึงปัจจุบันนี้ได้ก็ด้วยอาศัยความตั้งใจ ทั้งกำลังกาย กำลังทุนทรัพย์ ของพระสงฆ์วัดคุ้งตะเภาโดยส่วนเดียวโดยแท้ โดยไม่ได้อาศัยการพึ่งพางบประมาณจากองค์กรต่าง ๆ

ตู้อบสมุนไพรภูมิปัญญาชาวบ้าน

เดิมนั้น จากความริเริ่มของพระอาจารย์อู๋ สวนป่าสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา ไม่มีการติดป้ายชื่อกำกับต้นไม้เหมือนสถานที่อื่น ทำให้วัดคุ้งตะเภาสามารถอนุรักษ์สมุนไพรบางชนิดที่หายากมากเอาไว้ได้ โดยไม่ต้องคอยเฝ้าดูแล และเมื่อมีผู้สนใจมาศึกษาสมุนไพรทั้งจากโรงเรียนและบุคคลต่าง ๆ ต้องให้พระอาจารย์อู๋มานำเดินชมด้วยตนเอง ทำให้ผู้สนใจได้รับความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านผู้ทรงภูมิปัญญาได้โดยตรง

ซุ้มทางเข้าสวนป่าสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ คณะสมาชิกเว็บไซต์เม็กโนเลียประเทศไทย ได้ริเริ่มให้มีโครงการติด

ป้ายชื่อต้นไม้ถวายวัดที่มีศักยภาพเป็นแหล่งศึกษาพืชพรรณไม้หายากทั่วประเทศ จึงทำให้วัดคุ้งตะเภาเป็นจุดหมายของคณะสมาชิก โดยคณะสมาชิกได้แจ้งความประสงค์ให้นำป้ายสมุนไพรถาวรมาติดถวายวัดคุ้งตะเภาเบื้องต้น จำนวน ๑๐๐ ป้ายชื่อ ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ด้วยเหตุนี้ พระสมุห์สมชาย พระอาจารย์อู๋ และคณะสงฆ์วัดคุ้งตะเภาจึงเห็นพ้องต้องกันให้มีการติดป้ายชื่อสมุนไพรบางส่วนในวัดได้ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพรรณไม้และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน โดยคณะสงฆ์ได้ทำทางเดินรอบเขตสวนป่าสมุนไพรและจัดทำซุ้มทางเข้าสวนสมุนไพร รวมถึงจัดทำป้ายทางเดิน รายชื่อสมุนไพรให้ไว้เป็นแหล่งศึกษาของชุมชนอีกด้วย

นับตั้งแต่พระอาจารย์อู๋ แสงสิน มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ พระสมุห์สมชาย แสงสิน เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา จึงได้สานต่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาสมุนไพรสืบต่อมา โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นมา วัดคุ้งตะเภา ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการสวนสมุนไพรในวัดอย่างเป็นทางการ ตามแบบรายงานขอเข้าร่วมโครงการสวนสมุนไพรในวัด ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖ วัดคุ้งตะเภาได้รายงานผลความคืบหน้าการดำเนินงานให้สำนักงานพระพุทธศาสนาทราบทุก ๆ ปี ดังหลักฐาน หนังสือวัดคุ้งตะเภา ที่ คสว. ๐๔๑๑๑๓/๕๗๐๗ ลงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๗ เรื่อง ส่งแบบรายงานผลโครงการสวนสมุนไพรในวัด หลักฐาน หนังสือวัดคุ้งตะเภา ที่ คสว. ๐๔๑๑๑๓/๕๘๐๑ ลงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ เรื่อง ส่งแบบรายงานผลโครงการสวนสมุนไพรในวัด หลักฐาน หนังสือวัดคุ้งตะเภา ที่ คสว. ๐๔๑๑๑๓/๕๙ ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙ เรื่อง ส่งแบบรายงานผลโครงการสวนสมุนไพรในวัด และ หลักฐาน หนังสือวัดคุ้งตะเภา ที่ คสว. ๐๔๑๑๑๓/๖๐๐๑ ลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๐ เรื่อง ส่งแบบรายงานผลโครงการสวนสมุนไพรในวัด โดยทุกปี ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์ และผู้เกี่ยวข้อง เข้ามาติดตามผลการดำเนินการ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะการดำเนินงานเป็นระยะตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ ในปัจจุบันวัดคุ้งตะเภา มีการเพาะ-ขยายพันธุ์ โดยได้มีการขยายพันธ์สมุนไพรอีกหลายสิบชนิด โดยมีการแจกจ่ายพันธุ์สมุนไพรแก่โรงเรียน สถานศึกษา รวมถึงหน่วยงานที่สนใจ และมีเครื่องบดยาประยุกต์ ลานตากยา และสถานที่ปรุงผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยมีเครื่องบดยาประยุกต์แบบมอเตอร์, เครื่องบดยาประยุกต์แบบตั้ง (ใหญ่) และตู้ตากยาสมุนไพรพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภา ได้จัดทำสวนสมุนไพร จำนวนสมุนไพร ๑๙๘ ชนิด บนพื้นที่ ๑๔ ไร่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๖ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมติดริมแม่น้ำน่าน จำนวน ๑๙ ไร่ รวมเป็นพื้นที่ดำเนินการในโครงการสวนสมุนไพรในวัด ๓๓ ไร่ ในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ เทศบาลตำบลคุ้งตะเภา นำโดยท่านนายกเอกสิทธิ์ พรหมน้อย นายกเทศมนตรีตำบลคุ้งตะเภา ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา ในการส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้อันน่าภาคภูมิใจของชุมชนตำบลคุ้งตะเภา จึงได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดสร้างป้ายสมุนไพรถาวร จำนวนกว่า ๑๙๐ ป้าย ทำจากวัสดุแสตนเลสมีความทนทานอย่างดี โดยมีวัตถุประสงค์ ๑.เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านสวนสมุนไพร ๒.เพื่อให้ประชาชนเห็นคุณค่าของพืชสมุนไพรในพื้นที่ ๓.เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนปลูกพืชสมุนไพรประจำบ้าน ๔.เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพของตนเองโดยใช้สมุนไพร และ ๕.เป็นแหล่งกระจายพันธุ์สมุนไพรให้ประชาชนในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพรรณไม้และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน บรรยากาศโดยรวมของสวนป่าสมุนไพรวัดคุ้งตะเภายังคงปล่อยให้เป็นบรรยากาศป่าธรรมชาติอันร่มรื่นเหมาะแก่การเจริญเติบโตของสมุนไพร บางส่วนซ่อนเร้นสมุนไพรไทยหายากอันมีคุณประโยชน์ยิ่งในบริเวณป่า เป็นพื้นที่ป่าปลูกที่เงียบสงบเหมาะแก่การเจริญจิตตภาวนาห่างไกลจากสิ่ง รบกวน สมกับคำว่า "สวนป่า" โดยแท้จริง.

โครงการพัฒนาสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

พ.ศ.๒๕๖๑

- โครงการติดป้ายชื่อสมุนไพร ๑๙๐ รายชื่อ

สนับสนุนโดยเทศบาลตำบลคุ้งตะเภา นำโดยท่านนายกเอกสิทธิ์ พรหมน้อย นายกเทศมนตรีตำบลคุ้งตะเภา

ผลที่คาดว่าจะได้รับ 1.เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านสวนสมุนไพร 2.เพื่อให้ประชาชนเห็นคุณค่าของพืชสมุนไพรในพื้นที่ 3.เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนปลูกพืชสมุนไพรประจำบ้าน 4.เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพของตนเองโดยใช้สมุนไพร 3.เป็นแหล่งกระจายพันธุ์สมุนไพรให้ประชาชนในพื้นที่

*จัดหาสมุนไพรหายากเข้าสวนทุกปี (โดยคณะสงฆ์วัดคุ้งตะเภา)

กิจกรรมสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

(ตั้งแต่ กันยายน ๒๕๕๓)

๑๘ กันยายน ๒๕๖๑

เทศบาลตำบลคุ้งตะเภามอบป้ายสมุนไพรถาวร

เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนตำบลคุ้งตะเภา

18-9-61 นายกมอบป้ายสมุนไพร

๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑

กศน.ป่าแดด จ.เชียงราย ศึกษาดูงาน

นำคณะนักศึกษาเยี่ยมชมสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

10-8-61 กศน.ป่าแดด จ.เชียงราย เยี่ยมสวนสมุนไพร

สิงหาคม ๒๕๖๑

สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านการจัดการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร

นำคณะเจ้าหน้าที่เยี่ยมชมสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

10-8-61 มหาวิทยาลัยนเรศวรเยี่ยมสวนสมุนไพร

๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑

กศน.ป่าแดด จ.เชียงราย ศึกษาดูงาน

นำคณะนักศึกษาเยี่ยมชมสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

20-05-61 อบต.โป่งงามศึกษาดูงานสมุนไพร

๒๖-๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕

สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยฯ

สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งหัวหน้างานศูนย์ตัวอย่างสมุนไพร และนักวิจัย เข้าเก็บข้อมูลพันธุกรรมสมุนไพรและเครื่องยาจากสมุนไพรตามประกาศบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๔ ณ สวนพฤษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา ในระหว่างวันที่ ๒๖-๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕

สวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

๒๖-๒๗ มี.ค. ๕๕ ชมภาพกิจกรรม

๒๙ เมษายน ๒๕๕๙

สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์

นำคณะเจ้าหน้าที่เยี่ยมชมสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

29-4-59 องค์การสวนพฤกษศาสตร์เยี่ยมสวนสมุนไพร

๑๕ และ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔

ชมรมแพทย์แผนไทยจังหวัดอุตรดิตถ์

และ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดอุตรดิตถ์

นำคณะนศ.แพทย์แผนไทยศึกษาสมุนไพรในวัดคุ้งตะเภา

๒๘ ส.ค. ๕๔ ชมภาพกิจกรรม

- ๑๕ ส.ค. ๕๔ ชมภาพกิจกรรม

วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

โดยการนำของ อ.พรรัตน์ ศิริคำ

ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศึกษาและเก็บตัวอย่างพันธุกรรมพืชหายากในสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

ชมภาพบางส่วนได้ที่ คลังภาพของวัด

วันอังคารที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔

คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

โดยการนำของ ดร. พิมพ์ใจ สีหะนาม และ ดร.พิชัย ใจกล้า คณะเกษตรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

ศึกษาพันธุกรรมพืชในสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

ชมภาพบางส่วนได้ที่ คลังภาพของวัด

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

คณะสมาชิกเว็บไซต์แมกโนเลีย

โดยการนำของ อ.พงษ์ศักดิ์ รัตนวงศ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมกับวัดคุ้งตะเภา และโรงเรียนบ้านคุ้งตะเภา

จัดกิจกรรม โครงการสามบวรร่วมใจติดป้ายชื่อสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา ติดป้ายชื่อสวนป่าสมุนไพรถาวร ๑๐๐ ป้าย

บริเวณเส้นทางสวนศึกษาสวนป่าสมุนไพรธรรมชาติวัดคุ้งตะเภา

ชมภาพบางส่วนได้ที่ คลังภาพของวัด และ กระทู้แสดงภาพกิจกรรม

วันพุทธที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

คณะสงฆ์วัดคุ้งตะเภา

โดยการนำของหลวงพ่อพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา

จัดทำทางเดินและปรับภูมิทัศน์สวนป่าสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

และจัดทำซุ้มสวนป่าสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา ทางเข้าศึกษาสวนป่าสมุนไพรธรรมชาติ

วันอังคารที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓

อาจารย์อังกาบ ศักดี

นักศึกษาปริญญาเอก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นในสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา เพื่อเสนอโครงร่างการวิจัย (Research project)

วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต ศป.ด (Doctor of Fine and Applied Arts)

"การพัฒนารูปแบบการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยใช้แบบจำลองโซ่คุณค่า"

(A Development of aKnowledge Center of Local Wisdom by Using Value Chain Model)

วัดคุ้งตะเภา เลขที่ ๒๘๕ หมู่ ๔ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๑ หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ๕๓๐๐๐

โทร. ๐-๕๕๔๔-๘๐๖๓, ๐-๕๕๔๑-๖๙๓๖, แฟกซ์. ๐-๕๕๔๒-๙๑๕๙

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Wat Kung Taphao Buddhist Monastery

285/4 Khung Taphao Subdistrict, Mueang Uttaradit, Uttaradit Province, Thailand.53000 Tel. +(66) 0-5544-8063 , Fax. +(66) 0-5542-9159

All rights reserved released under Creative Commons Attribution-Noncommercial 3.0 Unported.