วันตรุษไทยวัดคุ้งตะเภา ประจำปี ๒๕๕๙

วันที่โพสต์: Apr 06, 2016 6:52:43 PM

- จดหมายข่าววัดคุ้งตะเภา วันที่ ๓๐ มี.ค. ๕๗

เช้าวันที่ ๖ เม.ย. ๕๙ วัดคุ้งตะเภา จัดกิจกรรมอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมไทยเนื่องในเทศกาลวันตรุษไทย ประจำปี ๒๕๕๙ โดยพิธี เริ่มในช่วงเช้า เวลา ๐๗.๑๕ น. มัคนายกอาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร จากนั้นคณะสงฆ์เริ่มกระทำสังวัธยายเจริญพระพุทธชัยมงคลคาถา ถวายภัตตาหารเช้า พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ขึ้นบนธรรมาสน์อาสนะมุกกลางศาลาการเปรียญ มัคนายกอาราธนาธรรมเสร็จแล้ว มีพระธรรมเทศนากตัญญุกตเวทิตธรรมคาถา ๑ ธรรมาสน์ มัคนายกลากภูษาโยง พระสงฆ์ทั้งนั้นสวดพิจารณาสังเวคธรรม จากนั้นคณะศรัทธาถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระภิกษุสงฆ์ ถวายเครื่องครัวสินทางเนื่องในเทศกาลตรุษไทย พระสงฆ์ทั้งนั้นอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี

ประเพณีตรุษไทยบ้านคุ้งตะเภา มีกำหนดคือ วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ถือว่าเป็นวันสิ้นปี และวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ทั้งนี้ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาแต่โบราณเชื่อว่าในวันนี้ประตูนรกและสวรรค์จะเปิดให้บรรพบุรุษออกมารับส่วนบุญได้ ชาว

หมู่บ้านคุ้งตะเภาจึงมาร่วมกิจกรรมทำบุญตักบาตร เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับในวันดังกล่าวจำนวนมาก

โดยเอกลักษณ์ของประเพณีวันตรุษไทยของชาวบ้านคุ้งตะเภาคือ จะมีการจัดทำหรือจัดหาไทยธรรมเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งภาษาบ้านคุ้งตะเภามีคำเรียกไทยธรรมพิเศษนี้เฉพาะว่า "เครื่องครัวสินทาน" โดยจะนำมาถวายวัด ครัวเรือนละ ๑ ชุด ประกอบไปด้วยผลไม้ เครื่องครัวเล็ก ๆ น้อย ๆ และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในครัวสินทานของชวบ้านคุ้งตะเภาคือข้าวเหนียวแดงและข้าวเหนียวดำ เพื่อเป็นชุดสังฆทานทำบุญเพื่ออุทิศให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ

ตรุษไทย เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตรตามหลักโหราศาสตร์ไทย วันตรุษจึงถือเป็นวันสิ้นปีของคนไทยมาแต่โบราณ โดยประเพณีนี้ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาสืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยคู่กับประเพณีสงกรานต์ ในพระราชวังได้มีพระราชพิธีเพื่อการนี้เป็นการเฉพาะ เรียกว่า พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (ปัจจุบันได้มีการยกเลิกพระราชพิธีนี้ไปแล้ว) หรือพระราชพิธีตัดปี ซึ่งตรงกับคำว่าตรุษ ที่แปลว่าการตัด โดยประเพณีตรุษไทยหมู่บ้านคุ้งตะเภา เป็นประเพณีประจำเดือน ๔ ในรอบปีปฏิทินประเพณีบุญ ๙ เดือน ของบ้านคุ้งตะเภา ดังมีคำกล่าวสืบมาแต่โบราณว่า "วันตรุษอย่าให้ขาด วัดสารทอย่าให้เว้น" ดังนั้น ประเพณีตรุษไทยจึงถือเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดประเพณีหนึ่งในรอบปีของชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภา