การอนุรักษ์ภูมิปัญญาหมู่บ้านคุ้งตะเภา

การอนุรักษ์ภูมิปัญญาหมู่บ้านคุ้งตะเภา

“หมู่บ้านคุ้งตะเภา” เป็นหมู่บ้านที่มีประวัติความเป็นมายาวนานนับได้ ๒๕๐ กว่าปีผ่านมาแล้ว ล่วงเลยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย กรุงธนบุรี จวบจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อ "คุ้งสำเภา" ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้สัตว์ป่าอันอุดม กลายมาเป็นตำบลใหญ่ที่มีประชากรนับพัน ๆ คนในปัจจุบัน ศิลปะและวัฒนธรรมในปัจจุบันย่อมพัฒนามาจาก อดีต ตามการเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนไปกับกาลเวลา และ ปัจจุบัน ย่อมส่งผลต่อเนื่องถึง อนาคต อดีต ปัจจุบัน และอนาคตจึงแนบเนื่องเกี่ยวพันกันดั่งกระแสน้ำในลำธาร มิอาจตัดขาดกันได้ และวิถีวัฒนธรรมในแต่ละสังคมย่อมพัฒนาแตกต่างกันออกไปตามพื้นฐานความเป็นมาของสังคมนั้น ๆ

ด้วยอดีตอันยาวนาน จากสังคมชนบทที่เอื้อเฟื้อ อยู่กันสนิทประดุจญาติ มีการเกื้อกูลช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกัน เป็นที่แน่นอนว่าด้วยสภาพสังคมเช่นนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เอื้อให้เกิดวัฒนธรรมแบบปัจเจกสังคมที่มีลักษณะใกล้เคียงกับวัฒนธรรมแบบ "คนไทยเหนือ" (ตามคำเรียกของคนในสมัยอยุธยา) อันสืบต่อมาจากบรรพบุรุษ และพัฒนาการเป็นวัฒนธรรมแบบปัจเจกของสังคมเล็ก ๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่นองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมช่างชาวบ้าน หมอยาชาวบ้าน ลักษณะคำพูดและน้ำเสียงของ "ฅน" คุ้งตะเภาอันมีความ "เฉพาะตัว" ในตัวของ "องค์" แห่งปัจเจกวัฒนธรรมในสังคมนั้นเอง รวมทั้งการถ่ายและสืบต่อองค์ความรู้ทางด้านวัฒนธรรมจากภายนอกสังคมคุ้งตะเภา เช่น ดนตรีไทย ศิลปะประเพณีการละเล่นต่าง ๆ เพื่อเป็นการช่วยผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าจากการงานในช่วงของวันและเพื่อสร้างความความเพลิดเพลินในงานบุญต่าง ๆ ศิลปะการแสดงที่เกิดขึ้นตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่มีตั้งแต่ การรำช่วง การร้องเพลงเกี่ยวข้าว ขับขานเพลงฉ่อยโต้ ไปมาระหว่างหนุ่มสาว ตามวิสัย จนไปถึงกระทั่งงานบุญใหญ่อันเป็นที่รวมแห่งคนในหมู่บ้านที่จัดให้มีการแสดง ร้องรำละเล่นต่าง ๆ จนเกิดเป็นการละเล่นที่กลายมาเป็นประเพณีและวัฒนธรรมสำคัญของ หมู่บ้านคุ้งตะเภาในที่สุด

แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปิดรับวัฒนธรรมจากภายนอกอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กรอปกับทั้งกระแสแห่งทุนนิยมและวัตถุ ได้หลั่งไหลทะลักเข้าสู่สังคมไทย จนกระทั่งแม้หมู่บ้านคุ้งตะเภาของเราเอง ทำให้คนรุ่นหลัง ละเลยไม่ใส่ใจ และพากันละทิ้ง องค์ความรู้ในด้าน ภูมิปัญญา ประเพณี การละเล่น ศิลปะการแสดง แบบดั้งเดิมต่าง ๆ ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน จนบางอย่างหามีผู้สืบทอดมิได้ในปัจจุบัน เหลือทิ้งไว้แต่เพียงคำบอกเล่า ถึงอัตตลักษณ์อันรุ่งโรจน์ของ “คน” หมู่บ้านคุ้งตะเภาในอดีตไว้ให้เพียงระลึกถึง และรอวันสูญหายไปกับธารแห่งเวลาและกระแสโลกตะวันตกและวัตถุนิยมที่ “ขาด” ความพอดีในชีวิตไปตลอดกาล

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเหลืออยู่และเป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงความรุ่งโรจน์ทางภูมิปัญญาในอดีตของคนคุ้งตะเภานั่นก็คือศิลปะการรักษาโรคด้วยสมุนไพรที่ยังมีผู้สืบทอดอยู่ในปัจจุบัน รวมถึง โบราณวัตถุเอกสารใบลาน สมุดข่อยอันคร่ำคร่า นับร้อยผูก/เล่ม ที่เก็บรักษาไว้ที่วัดคุ้งตะเภา ซึ่งคนรุ่นก่อนได้บันทึกและจดจารไว้เพื่อเป็นการสืบทอดและรักษาให้ภูมิปัญญา ศิลปะในการรักษาโรคอันทรงค่ายิ่งนี้ให้คงอยู่

ภูมิปัญญา สิ่งเหล่านี้ บรรพชนได้สั่งสมองค์ความรู้ที่เรียนจากประสบการณ์ชีวิตของผู้คน โดยการสังเกต วิเคราะห์ สังเคราะห์ ลองผิดลองถูก และปฏิบัติการอย่างมีเหตุผล ทำให้เกิดภูมิปัญญา สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าภูมิปัญญาชาวบ้านจำนวนไม่น้อยได้สูญหายไปตามกาลเวลาและความผันแปรทางการเมืองของ ชาติและขาดการสืบทอด แต่ส่วนที่ยังเหลืออยู่นี้จำนวนไม่น้อยเลยที่ยังเก็บความรู้ชั้นสูงที่คน ปัจจุบันก็ยังหาคำตอบไม่ได้เอาไว้ ภูมิปัญญาเหล่านี้ก็ยังคงเป็นมรดกไทย เป็นภูมิปัญญาของชาติที่พร้อมจะสูญหาย ถ้าพวกเราไม่รีบอนุรักษ์สืบทอดกันไว้ให้อนุชนรุ่นหลังต่อไป ฯ

วัดคุ้งตะเภา เลขที่ ๒๘๕ หมู่ ๔ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๑ หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ๕๓๐๐๐

โทร. ๐-๕๕๔๔-๘๐๖๓, ๐-๕๕๔๑-๖๙๓๖, แฟกซ์. ๐-๕๕๔๒-๙๑๕๙

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Wat Kung Taphao Buddhist Monastery

285/4 Khung Taphao Subdistrict, Mueang Uttaradit, Uttaradit Province, Thailand.53000 Tel. +(66) 0-5544-8063 , Fax. +(66) 0-5542-9159

All rights reserved released under Creative Commons Attribution-Noncommercial 3.0 Unported.