ประกาศจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี

ความภาคภูมิใจของเรา

รางวัลองค์กรเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม

ดีเด่น ๑ ใน ๒ แห่งระดับประเทศ

ประจำปี ๒๕๕๘

ประมวล

องค์ความรู้

"มังคละเภรี"

ประกาศเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา

ที่ ๔/๒๕๕๘

เรื่อง จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี

ด้วยดนตรีพื้นบ้านมังคละ เป็นดนตรีท้องถิ่นที่มีมาแต่โบราณของกลุ่มชนที่ใช้สำเนียงสุโขทัยโบราณ ในเขตคุ้งตะเภา และพระฝาง ชุมชนปลายเหนือสุดของวัฒนธรรมที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่ใช้สำเนียงสุโขทัยเก่า ที่สืบมาจากบรรพบุรุษเมืองสวางคบุรี ๗๐๐ ปี แห่งอาณาจักรสุโขทัย จากข้อความในพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์คราวเสด็จเมืองสวางคบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ พระองค์ได้ชมการตีกลองมังคละ และได้ทรงกล่าวถึงดนตรีชนิดนี้ว่าเป็นเบญจดุริยางค์โดยแท้จริง และปัจจุบันดนตรีชนิดนี้ขาดผู้สืบทอดอนุรักษ์อย่างจริงจัง และมีความเสี่ยงต่อการสาบสูญไปในระยะเวลาอันใกล้

วัดคุ้งตะเภา จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรี เมืองสวางคบุรี ที่บรรพชนได้รังสรรค์เป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันมา แต่นับวันจะถูกกลืนให้สูญหายสลายไปจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม เพื่อเป็นการสืบทอดมรดกการละเล่นพื้นบ้านดนตรีมังคละให้ยั่งยืนต่อไปยังเยาวชนคนรุ่นหลัง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาจึงออกคำสั่ง จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี ดังนี้

ข้อ ๑ คำสั่งนี้เรียกว่า “ประกาศเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา เรื่อง จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี พ.ศ. ๒๕๕๘”

ข้อ ๒ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันลงนามคำสั่งเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในคำสั่งนี้

"ศูนย์" หมายถึง ศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านซึ่งได้ตั้งขึ้น ตามคำสั่งนี้

"ชมรม" หมายถึง ชมรมซึ่งได้รับอนุมัติให้อยู่ในความอุปถัมภ์ของวัดคุ้งตะเภา ตามนัยในคำสั่งนี้

"คณะกรรมการ" หมายถึง คณะกรรมการศูนย์ตามความในหมวด ๔ แห่งประกาศนี้

หมวด ๑

ศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี

ข้อ ๔ ให้จัดตั้ง ศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี

ที่ตั้งศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี ให้ใช้สถานที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา อาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญเป็นสถานที่ตั้ง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างชมรมต่าง ๆ ในความอุปถัมภ์วัดคุ้งตะเภา

ข้อ ๕ วัตถุประสงค์ของศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี มีดังต่อไปนี้

(๑) สร้างเครือข่ายขับเคลื่อนเพื่อรวมกลุ่มจัดตั้งชมรม ที่ประกอบด้วยเยาวชนและประชาชนที่สนใจในการสืบทอดดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรี ในพื้นที่ชุมชนที่ใช้ภาษาถิ่นสุโขทัยโบราณ ในเขตอำเภอลับแล และอำเภอเมืองอุตรดิตถ์

(๒) จัดหา และระดมทุน เพื่อจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการละเล่นมังคละเภรีศรีสวางคบุรี ในชมรมที่จัดตั้งขึ้นอยู่ในความอุปถัมภ์ของวัดคุ้งตะเภา

(๓) ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาค้นคว้า ประวัติความเป็นมา ผู้ทรงภูมิปัญญาในท้องถิ่น ทำเนียบเครือข่าย และการเผยแพร่อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีสวางคบุรี

(๔) จัดหาสถานที่สำหรับจัดเป็นที่ตั้งเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ถ่ายถอดดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี ในความอุปถัมภ์ของวัดคุ้งตะเภา

(๕) การสนับสนุน ประสานงาน ชมรมในความอุปถัมภ์ของวัดคุ้งตะเภา ให้ได้รับการออกแสดงมังคละเภรีในงานต่าง ๆ ทั้งระดับชุมชนและระดับจังหวัด โดยสนับสนุนให้มีการออกแบบการแสดงให้มีความถูกต้องตามอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนที่ใช้ภาษาถิ่นสุโขทัยโบราณในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ตอนบน และหรือให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ตามความต้องการของชุมชนหรือท้องถิ่น

(๖) รวบรวมเครือข่ายผู้สืบทอดภูมิปัญญามังคละเภรีประเภทต่าง ๆ เพื่อการจัดแสดงผลงานทำทำเนียบผู้สืบทอดภูมิปัญญามังคละเภรีศรีสวางคบุรี ภายในที่ตั้งศูนย์และเว็บไซต์ศูนย์

หมวด ๒

ตราสัญลักษณ์ศูนย์

ข้อ ๖ ให้มีตราสัญลักษณ์ศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี สำหรับใช้เป็นตราสัญลักษณ์เพื่อการประชาสัมพันธ์อัตลักษณ์ศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี

ตราตามความในวรรคต้น เป็นตรารูปร่างกลม กลางภาพเป็นรูปภาพลายเส้นกลองมังคละ ฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ด้านล่างมีอักษรไทยว่า “มังคละเภรีศรีสวางคบุรี” และใต้อักษรดังกล่าวมีข้อความว่า “มังคละ ๗๐๐ ปี เหนือสุดของสยามประเทศ ปู่ประชุม วงพิณิต” ล้อมรอบด้วยลายไทย ดังภาพต่อไปนี้

สื่อเผยแพร่ของศูนย์ฯ

รวมบทความมังคละ

"ดนตรีในตำนาน

แห่งสวางคบุรี"

มังคละหลากลีลา

อารยะศาสตร์และศิลป์

เล่าขานตำนานถิ่น

รุ่นสู่รุ่น "มังคละ"

สืบสาน "น่านวารินทร์"

คู่แผ่นดินแห่ง "เมืองฝาง"

เคียงคู่สู่เมืองงาม

"มหาธาตุพระศาสดา"

บัดนี้ใกล้สิ้นชื่อ

สิ้นนับถือผู้รักษา

ใกล้ผ่านกาลเวลา

"ดับอรุณ" สุโขทัย

"มังคละมรดกโลก"

จะสู่โศกนิมิตหมาย

"กู้เก่ากลับคืนกลาย"

คือ "หน้าที่พิทักษ์ธรรม"

"คุ้งตะเภาเภรี"

บรรเลงศรีคู่สยาม

ดํบงดํกลองตาม

คือสายธารเชิดชูไทย

ชีวิตนี้น้อยนัก

พึงพิทักษ์เชิดชูไว้

มังคละสิ้นเมื่อใด

สิ้นหายใจ "จิตวิญญาณ์"

วานท่านขอวานเถิด

สิ่งประเสริฐจงรักษา

มังคละคืออัชฌา

คือ "ปัญญาแห่งผองชน"ฯ

(เทวประภาส)

๑๒ พ.ค. ๕๘

ข้อ ๗ ตราสัญลักษณ์ตามข้อ ๖ มีความหมายดังนี้

สัญลักษณ์ศูนย์ เป็นภาพลายเส้นกลองมังคละ ฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระองค์ได้ทรงบันทึกไว้ว่าดนตรีชนิดนี้ “เป็นเบญจดุริยางค์แท้” เมื่อครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ มาเหนือสุดยังเมืองสวางคบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ และพระองค์ได้ทรงร่างภาพลายเส้นมังคละนี้ไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก” ด้วย ทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องจากครูมังคละ ด้วยการถวายพระนาม “พระบิดาแห่งมังคละเภรี” เพื่อเป็นนิมิตหมายของดนตรีมังคละ วัดคุ้งตะเภาจึงอัญเชิญภาพลายเส้นนี้ มาเป็นสัญลักษณ์ชมรมมังคละเภรีศรีสวางคบุรี เพื่อเตือนให้อนุชนรุ่นหลังได้ภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ อันเป็นส่วนหนึ่งของการธำรงอัตลักษณ์ท้องถิ่น ที่บรรพชนได้จดจำและส่งต่อ ผ่านดนตรีมังคละ อันเป็นแก่นรากเหง้าของวิถีชีวิต ที่จะสร้างตัวตนให้ชาวอุตรดิตถ์ มีศักดิ์ศรี มีเกียรติยศ มีความภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของการสร้างสรรค์ความดีงาม และเป็นเสมือนเกราะปกป้องผู้รักษาสืบทอด ให้หลีกออกจากความเลวร้ายทั้งปวง

ข้อ ๘ ตราสัญลักษณ์ตามความในหมวดนี้ ให้ชมรมที่ได้รับการประกาศรับไว้ในความอุปถัมภ์ของวัดคุ้งตะเภา มีสิทธิ์ใช้เป็นสัญลักษณ์ของชมรมนั้น ๆ ได้

หมวด ๓

การรับชมรมไว้ในความอุปถัมภ์

ข้อ ๙ ให้วัดคุ้งตะเภา รับชมรมดนตรีทั้งในและนอกสถานศึกษา ที่มีวัตถุประสงค์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี ไว้ในความอุปถัมภ์

การอุปถัมภ์ อยู่ในรูปของการสนับสนุน ส่งเสริม รวมถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบวงมังคละ ตามแบบเมืองสวางคบุรีดั้งเดิม จากวัดคุ้งตะเภา เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์และสืบทอดดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี ให้ดำรงอยู่สืบไป

ชมรมที่ได้รับอนุมัติให้อยู่ในความอุปถัมภ์ของวัดคุ้งตะเภาแล้ว มีสิทธิ์จัดทำป้าย ตราสัญลักษณ์ตามความในข้อ ๖ และประชาสัมพันธ์ชมรมของตน โดยใช้ชื่อ “ชมรมมังคละเภรีศรีสวางคบุรี” และต่อด้วยนามสถานศึกษา หรือชื่อของชมรม หรือนำชื่อ “มังคละเภรีศรีสวางคบุรี” ไปประกอบในชื่อของชมรมได้

ข้อ ๑๐ ให้คณะกรรมการศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี มีหน้าที่พิจารณารับชมรมต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี ที่ยื่นขออยู่ในความอุปถัมภ์ของวัดคุ้งตะเภา โดยคะแนนเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการ

การรับชมรมเข้าไว้ในอุปถัมภ์ของวัดคุ้งตะเภา ตามความในวรรคต้น ให้มีผล เมื่อได้รับอนุมัติจากเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาลงนามในประกาศให้รับชมรมนั้นไว้ในความอุปถัมภ์แล้วเท่านั้น

ข้อ ๑๑ ชมรมที่จะขอเข้าอยู่ในความอุปถัมภ์ของวัดคุ้งตะเภา ต้องมีระเบียบที่ระบุวัตถุประสงค์การอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานของชมรมอย่างชัดเจน

ข้อ ๑๒ การอุปถัมภ์วัสดุครุภัณฑ์ ให้ศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี จัดทำเอกสารสัญญาการให้โดยมีเงื่อนไข โดยต้องระบุรายละเอียดตามความในข้อ ๑๓ และจัดทำบันทึกทะเบียนการอุปถัมภ์โดยละเอียดเก็บไว้ยังที่ตั้งศูนย์เพื่อเป็นหลักฐานทุกครั้ง

สัญญาการให้ตามความในวรรคต้น เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา เป็นผู้ลงนามในสัญญาให้โดยมีเงื่อนไข และประธานชมรมที่ขอรับความอุปถัมภ์ ต้องเป็นผู้ลงนามรับให้ทุกครั้ง

ข้อ ๑๓ หากชมรมที่ได้รับความอุปถัมภ์ล้มเลิกลง หรือเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในทางพฤตินัย โดยไม่มีความประสงค์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรีต่อไป ให้วัดคุ้งตะเภาเพิกถอนการให้ และขอคืนความอุปถัมภ์ ในกรณีการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ เพื่อนำไปสนับสนุนชมรมอื่นที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี ต่อไป

ข้อ ๑๔ ให้คณะกรรมการศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี พิจารณาเสนอรายชื่อชมรมที่ไม่ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์การอุปถัมภ์ เพื่อเสนอเพิกถอนการให้ความอุปถัมภ์ของวัดคุ้งตะเภา ตามความในข้อ ๑๓ โดยการลงมติเอกฉันท์ของที่ประชุมคณะกรรมการ

การเพิกถอนความอุปถัมภ์ของวัดคุ้งตะเภา ตามความในวรรคต้น ให้มีผล เมื่อได้รับอนุมัติจากเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาลงนามในประกาศเพิกถอนความอุปถัมภ์แล้วเท่านั้น

หมวด ๔

คณะกรรมการ

ข้อ ๑๕ ให้มีคณะกรรมการศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี ประกอบด้วยเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาเป็นประธานที่ปรึกษา รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาเป็นประธาน และรองประธานฝ่ายคฤหัสถ์ และคณะกรรมการ จำนวนตามแต่เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาจะเห็นสมควร

ข้อ ๑๖ คณะกรรมการศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชน เพื่อการสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนเพื่อรวมกลุ่มจัดตั้งชมรม การประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ความรู้ และการพัฒนางานด้านวิชาการ การอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี รวมทั้งให้ความสนับสนุน กำลังกาย กำลังทรัพย์ และคำเสนอแนะ หรืออื่นใด เพื่อการพัฒนาอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี ตามความในข้อ ๕

(๒) เสนอชื่อผู้สมควรได้รับการยกย่องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทำคุณประโยชน์ ต่อการอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี

(๓) เปิดบัญชีธนาคาร ในนาม “ศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี” โดยระบุผู้มีสิทธิ์เบิก ๓ รูป/คน ประกอบด้วย เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ๑ รองประธานศูนย์ฝ่ายบรรพชิต ๑ และรองประธานศูนย์ฝ่ายคฤหัสถ์ ๑

(๔) จัดหา และระดมทุน เพื่อจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์มังคละเภรีศรีสวางคบุรี มอบให้แก่ชมรมที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของวัดคุ้งตะเภา

(๕) จัดทำบัญชีรายรับ-จ่าย ในนามศูนย์ โดยเงินที่ได้จากการตอบแทนจากงานต่าง ๆ ให้ใช้ในการพัฒนากิจกรรมของศูนย์ และส่งเสริมกิจกรรมของวัดคุ้งตะเภาที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของศูนย์

(๖) เสนอโครงการต่อเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา หรือหน่วยงานภายนอก ในนามวัดคุ้งตะเภา

(๗) ประสานงาน ขับเคลื่อนชมรมในความอุปถัมภ์ของวัดคุ้งตะเภา ให้ได้รับการออกแสดงมังคละเภรีในงานต่าง ๆ ทั้งระดับชุมชนและระดับจังหวัด

(๘) พิจารณาให้การยกย่องชมรมในความอุปถัมภ์ที่มีผลงานดีเด่น ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ถ่ายถอดดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี ในความอุปถัมภ์ของวัดคุ้งตะเภา

(๙) จัดทำบันทึกทะเบียนการให้การอุปถัมภ์

(๑๐) พิจารณาอนุมัติ และพิจารณาเพิกถอนการให้ความอุปถัมภ์ ตามความในหมวด ๓

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามความในวรรคต้น ข้อ ๑๖ (๓) (๔) (๖) (๘) และ (๑๐) คณะกรรมการจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสเป็นหนังสือ

ข้อ ๑๗ คุณสมบัติ การได้มา และสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของประธาน รองประธาน และคณะกรรมการ ให้อยู่ในดุลยพินิจของเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา

ข้อ ๑๘ การแต่งตั้งประธาน รองประธาน และคณะกรรมการ ให้เป็นไปโดยคำสั่งเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา

ข้อ ๑๙ การประชุมคณะกรรมการ ให้กระทำเมื่อมีคำสั่งประชุมจากเจ้าอาวาสเพื่อพิจารณาวาระใดวาระหนึ่ง

การออกเสียงลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการในกรณีทั่วไป ให้เป็นไปโดยเสียงข้างมาก

ข้อ ๒๐ ในระหว่างที่ใช้ระเบียบนี้ หากมีข้อขัดแย้ง หรือมีการดำเนินการใดที่ฝ่าฝืนระเบียบนี้

เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภามีอำนาจเต็ม ที่จะวินิจฉัยชี้ขาด

ประกาศ ณ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘

พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ

เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้คำสั่งฉบับนี้ คือ มีการปรารภจากพระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี ว่าอาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ นักวิชาการประวัติศาสตร์ ได้ค้นพบมังคละเภรีโบราณ สายปู่ครูประชุม วงพินิต ปราชญ์มังคละเภรีคนสุดท้ายของสวางคบุรี ซึ่งถือเป็นครูสายมังคละสุโขทัยดั้งเดิม ๗๐๐ ปี ที่อยู่เหนือสุดแห่งอาณาจักรสยาม และกำลังประสบปัญหาขาดผู้รับสืบทอดภูมิปัญญามังคละสู่ชนรุ่นหลังในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ อีกประการหนึ่ง ชุมชนบ้านคุ้งตะเภา เป็นชุมชนผู้ใช้ภาษาถิ่นสุโขทัยโบราณที่สืบมาจากสวางคบุรี วัดคุ้งตะเภาจึงควรจัดตั้งศูนย์ฯ ขึ้น โดยให้การดำเนินการเป็นไปในรูปแบบคณะกรรมการ เพื่ออนุเคราะห์แก่ชุมชนและให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ร่วมกัน เพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน และจักได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาอันสูงค่านี้ให้ดำรงอยู่สืบไป เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา โดยการสนับสนุนจากคณะศรัทธาและโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารวัดคุ้งตะเภา จึงประกาศใช้คำสั่งนี้