แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาวัดคุ้งตะเภา

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาวัดคุ้งตะเภา

(Wat Kungtaphao Development Plan : KDP)

ปรับปรุง ๒๕๕๔

วัดคุ้งตะเภา เป็นวัดโบราณในเขตการปกครองของคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ใกล้กับจุดตัดสี่แยกคุ้งตะเภา บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ ๑๑ (ถนนสายเอเชีย) วัดแห่งนี้เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา โดยเป็นวัดที่เป็นที่ประดิษฐานของสองพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพ ศรัทธายิ่งของชาวตำบลคุ้งตะเภา ซึ่งพระพุทธรูปทั้งสององค์นั้นจัดได้ว่าเป็น ๒ ใน ๙ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญแห่งเมืองอุตรดิตถ์ คือ หลวงพ่อสุวรรณเภตรา และ หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภาเป็นวัดที่มีสถิติพระภิกษุสามเณรจำพรรษามากที่สุดใน ตำบลคุ้งตะเภา เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของคณะสงฆ์ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา โดยเป็นสำนักศาสนศึกษาที่มีผู้สอบผ่านธรรมศึกษาได้มากติดอันดับต้น ๆ ของจังหวัดอุตรดิตถ์

ในด้านทุนวัฒนธรรม และภูมิปัญญา วัดคุ้งตะเภาตั้งอยู่ในหมู่บ้านโบราณดั้งเดิมที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน มาตั้งแต่สมัยอยุธยา มากกว่าทุกหมู่บ้านในตำบลคุ้งตะเภา วัดจึงมีพระพุทธรูปโบราณอายุนับ ๘๐๐ ปีที่เป็นหลักศูนย์กลางเป็นที่รวมจิตใจของชุมชนถึง ๒ องค์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วัดเป็นที่เก็บรักษาเอกสารโบราณและโบราณวัตถุของชุมชน จำนวนมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้มแข็งทางทุนทางภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงทำให้วัดเป็นสถานที่ปลูกต้นสมุนไพรมากกว่า ๕๐๐ ชนิด วัดจึงมีศักยภาพสูงในพัฒนาให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และศูนย์กลางทางวัฒนธรรม ของตำบลคุ้งตะเภาได้ในอนาคต

ในด้านการคมนาคม วัดมีที่ดินติดถนนสายหลักของจังหวัด คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ ๑๑ (ถนนสายเอเชีย) สามารถเดินทางเข้าถึงได้สะดวก จึงมีศักยภาพสูงในการพัฒนาให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างและแหล่งท่องเที่ยวทาง วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ในอนาคต

ในด้านทุนทรัพยากรสนับสนุนฝ่ายฆราวาส แม้วัดคุ้งตะเภาจะมีคณะศรัทธาสนับสนุนวัดจำนวน ๑ หมู่บ้าน คือหมู่บ้านคุ้งตะเภา หมู่ ๔ มีประชากรเพียง ๑,๕๐๐ คน แต่ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่มีที่ดินทำกินและประกอบอาชีพมั่นคง และเพราะความศรัทธาในกิจกรรมการพัฒนาสาธารณูปการและการศาสนศึกษาของวัดซึ่งทำอย่างโปร่งใส มีส่วนร่วม ต่อเนื่อง และจริงจังมากกว่า ๑๐ ปี ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาจึงมีศักยภาพสูงในการสนับสนุนวัด

ในด้านทุนทรัพยากรสนับสนุนฝ่าย บรรพชิต ในห้วงปี พ.ศ. ๒๕๔๙-๒๕๕๓ วัดคุ้งตะเภามีพระสงฆ์สามเณรจำพรรษาประมาณ ๑๕ รูป ทุกปี แบ่งเป็นพระมหัลกะภิกษุประมาณ ๕ รูป นอกนั้นเป็นพระนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยสงฆ์ รวมถึงมีพระมหาเปรียญถึง ๒ รูป มีพระที่เชี่ยวชาญงานนวกรรม (ก่อสร้าง) ถึง ๓ รูป มีพระสงฆ์ที่ได้รับยกย่องให้เป็นปราชญ์ชุมชนภูมิปัญญาท้องถิ่นจำนวน ๒ รูป จึงทำให้วัดมีศักยภาพสูงในนำพัฒนากิจการต่าง ๆ ในวัด ทั้ง สาธารณูปการ และสาธารณสงเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศาสนศึกษา งานด้านการส่งเสริมวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ในปัจจุบัน วัดคุ้งตะเภามีภัยคุกคามและอุปสรรคในการพัฒนาวัดในหลายด้าน เพื่อให้การพัฒนาวัดในระยะต่อจากนี้ สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของคณะสงฆ์ การเปลี่ยนแปลงในระดับตำบล แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ คณะสงฆ์ กรรมการวัด ทายก ทายิกา สัปบุรุษ ประชา สังคม และปราชญ์ชุมชน จึงได้ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาวัดคุ้งตะเภาให้สอดคล้องกับศักยภาพของวัดและหมู่บ้าน พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมของชุมชนคุ้งตะเภาและจังหวัดอุตรดิตถ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยได้จัดทำแผนพัฒนาวัด (พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๖๐) เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารยุทธศาสตร์ และบูรณาการการพัฒนางาน ๖ ด้านคือ งานปกครอง งานศาสนศึกษา งานเผยแผ่ งานศึกษาสงเคราะห์ งานสาธารณูปการ และงานสาธารณสงเคราะห์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ และระเบียบแบบแผนของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หลักเกณฑ์ยุทธศาสตร์การพัฒนาวัดแบบยั้งยืน ดังนี้

ปรับปรุง ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๔

นโยบาย (policy)

“วัดคุ้งตะเภาร่มรื่น

ศูนย์รวมศรัทธา นำการศาสนศึกษา พัฒนาเยาวชน

ชุมชนร่วมประสาน งดงามตาน่าอยู่ แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา

รักษาวัฒนธรรมไทยยั่งยืน”

วิสัยทัศน์ (vision)

จัดการพัฒนาวัดแบบบูรณาการตามหลักไตรสิกขา คือ สะอาด สงบ สว่าง

โดยการมีส่วนร่วมแบบ “รัฏฐะ-บวรสถาน (ภาครัฐ บ้าน วัด และโรงเรียน)”

พันธกิจ (mission)

๑. สร้างจิตสำนึกในความเป็นภิกษุสามเณรและศาสนบุคคลที่ดีมีคุณภาพ

๒. ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศาสนศึกษาทุกระดับ

๓. จัดระบบและรูปแบบการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มีประสิทธิภาพ

๔. จัดและส่งเสริมการศึกษาสงเคราะห์อย่างทั่วถึงมีคุณภาพ

๕. บูรณะ พัฒนา และสร้างศาสนวัตถุอย่างเหมาะสมตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา

๖. บำเพ็ญกิจกรรมส่วนรวม และประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนโดยใช้หลักพุทธวิธีนำวิถีชีวิต

หลักเกณฑ์ยุทธศาสตร์ (strategies)

๑. เน้นฝึกอบรมพระกัมมัฏฐานทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานตามหลักมหาสติปัฏฐาน

๒. สร้างโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

๓. ยกระดับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

๔. พัฒนาการศึกษาสงเคราะห์ตามแนวพุทธวิธีและวิถีพุทธ

๕. พัฒนาวัดให้เป็นศูนย์รวมจิตใจและแหล่งปัญญาธรรม คารวธรรม และสามัคคีธรรม

๖. เสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์แก่สังคม ชุมชน ปัจเจกชนและสถาบันทางสังคมทุกภาคส่วน

เป้าประสงค์ (goal)

๑. พระภิกษุสามเณร และศาสนบุคคลในวัด ได้รับการฝึกอบรมที่ดีมีคุณภาพอย่างทั่วถึง

๒. พระภิกษุสามเณรในวัดได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และมาตรฐานตามฐานานุรูป

๓. ศาสนบุคคลของวัด ได้รับการศึกษาหลักธรรม ตามสมควรแก่อัตภาพ

๔. สถานศึกษาของวัด จัดการศึกษาได้มาตรฐาน

๕. การเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

๖. การพัฒนาวัดสามารถตอบสนองความต้องการของสังคม ทั้งในด้านปริมาณ และคุณภาพ

๗. วัดสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมคุณธรรม คุณภาพตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

กลยุทธ์

๑. เน้นฝึกอบรมกรรมฐานทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

๑.๑ ฝึกอบรมพระกัมมัฏฐานทุกวันธรรมสวนะ และวันหยุดสุดสัปดาห์

๑.๒ ฝึกอบรมและปฏิบัติธรรม ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันสำคัญของชาติ

๑.๓ ปฏิบัติธุดงควัตร เดินจงกรม และเข้าค่ายอบรมคุณธรรม

๑.๔ สำหรับพระภิกษุสามเณร ควรปฏิบัติตนตามหลักกิจวัตร ๑๐ ประการ

๒. สร้างโอกาสทางการศาสนศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

๒.๑ สร้างและประกันโอกาสการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรม/แผนกบาลีทุกชั้นทุกประโยค

๒.๒ สร้างและประกันโอกาสการได้รับการอบรมวิชาธรรมศึกษาทุกชั้นทุกระดับ

๒.๓ พัฒนาครูและรูปแบบ การจัดการศาสนศึกษาที่หลากหลาย และสอดคล้องกับวุฒิภาวะของผู้เรียน

๒.๔ พัฒนาหลักสูตรและแบบเรียนพระปริยัติธรรมให้เหมาะสมแก่พระภิกษุสามเณรทุกวัย

๓. ยกระดับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

๓.๑ พัฒนาพระธรรมทูต พระนักเผยแผ่ พระจริยานิเทศก์ และพระธรรมกถึกให้มีความรู้ความชำนาญ

๓.๒ พัฒนาเทคนิคและวิธีการเผยแผ่ให้เหมาะสมยุคโลกาภิวัฒน์

๓.๓ พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเผยแผ่

๓.๔ พัฒนาระบบการประกันคุณภาพการเผยแผ่

๓.๕ คัดเลือกและสร้างพระนักเผยแผ่รุ่นใหม่

๔. พัฒนาการศึกษาสงเคราะห์ตามแนวพุทธวิธีและวิถีพุทธ

๔.๑ พัฒนาด้านบริหารจัดการตามหลักพุทธวิธีและธรรมาภิบาล

๔.๒ พัฒนาศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ตามหลักไตรสิกขา

๔.๓ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมระหว่าง พระ/ ครู/ ผู้ปกครองนักเรียนและชุมชน

๕. พัฒนาวัดให้เป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นแหล่งปัญญาธรรม คารวธรรม และสามัคคีธรรม

๕.๑ จัดวัดให้เป็นอุทยานการศึกษาของชุมชน

๕.๒ จัดวัดให้เป็นศูนย์สุขภาพ และศูนย์สมุนไพรของชุมชน

๕.๓ บริหารจัดการวัดให้เป็นสถานที่ประชุม สัมมนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชน

๕.๔ ส่งเสริมบทบาทของวัดให้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ

๕.๕ อำนวยความสะดวกในการบำเพ็ญกุศลตามสมควร

๕.๖ ร่วมมือกับส่วนราชการ เอกชน องค์กร ชุมชน และสถาบันทางสังคมในการจัดกิจกรรม

๖. เสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์แก่สังคม ชุมชน ปัจเจกชน และสถาบันทางสังคมทุกภาคส่วน

๖.๑ ส่งเสริมกิจกรรมปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและวิถีประชาธิปไตย

๖.๒ ส่งเสริมแนวพัฒนากิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน

๖.๓ ส่งเสริมวัฒนธรรม สันติสุข และสัมมาชีพในชุมชน

๖.๔ ส่งเสริมกิจกรรมสถาบันทางสังคมทุกภาคส่วน

๖.๕ ร่วมเสริมสร้างระเบียบวินัย เสียสละ สามัคคี และกตัญญูกตเวทิตาธรรม

๑. การปกครอง

นโยบาย

๑. ฝึกอบรม สอดส่องดูแล พระภิกษุสามเณรให้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคมและระเบียบแบบแผนของคณะสงฆ์อย่างเคร่งครัด

๒. กำหนดให้พระภิกษุสามเณรภายในวัด ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เป็นประจำตลอดปี

๓. ออกระเบียบปฏิบัติสำหรับพระภิกษุสามเณร เพื่อเป็นเครื่องมือของเจ้าอาวาสในการควบคุมและส่งเสริมการปฏิบัติสมณกิจของ พระภิกษุสามเณรภายในวัด

๔. กวดขัน ควบคุม สอดส่องและส่งเสริมศาสนบุคคลของวัด ให้ตระหนักในหน้าที่ และมีโอกาสพัฒนาตนเอง

๕. ใช้หลักปัคคหวิธี และ นิคคหวิธี ในการปกครองและลงโทษแก่บรรพชิต และคฤหัสถ์ ผู้ประพฤติละเมิดพระธรรมวินัย กฎหมาย และระเบียบแบบแผนอันดีงามของวัด

มาตรการ

๑. เร่งรัดให้มีการปรับปรุงโครงสร้างงานปกครอง ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาวัด จำนวนพระภิกษุสามเณร ศาสนบุคคล และ ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น โดยกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ และภารกิจของแต่ละงานของวัดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

๒. ปรับปรุงแก้ไขและจัดทำระเบียบ ประกาศ และคำสั่งต่าง ๆ ของวัดคุ้งตะเภา ให้สอดคล้อง ครบถ้วน และเป็นอุปการะการปกครองให้มีประสิทธิภาพ

๓. จัดทำแผนปฏิบัติงานประจำปี ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาวัด เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน สำหรับงานบริหารงานบุคคล งบประมาณ ตลอดจนรายรับ-รายจ่าย การรับบริจาคเงินบำรุงวัด ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค

๔. เร่งรัดพัฒนาพระภิกษุสามเณร และศาสนบุคคลของวัด ให้มีความรู้หลักธรรมคำสอน และประพฤติปฏิบัติตนตามหลักพระธรรมวินัย เพื่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชนทั่วไป

๕. ปรับปรุงแก้ไขและจัดทำระเบียบ ประกาศ และคำสั่งต่าง ๆ ของวัดคุ้งตะเภา เพื่อสอบสวนคุณสมบัติของกุลบุตรผู้ใคร่จะเข้ามาบรรพชาอุปสมบทในวัด ให้เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม เพื่อป้องกันความเสียหาย อันอาจเกิดขึ้นเพราะกรณีดังกล่าว

๒. การศาสนศึกษา

นโยบาย

๑. พัฒนาการผลิตครูผู้สอนทั้งแผนกธรรม-แผนกบาลี ให้ มีความรู้ความชำนาญทางวิชาการ มีปฏิปทาน่าเลื่อมใสศรัทธา มีบุคลิกภาพน่ายกย่องนับถือ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ใฝ่รู้ ใฝ่คิด และรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม

๒. พัฒนาระบบการบริหารจัดการศาสนศึกษาให้มีประสิทธิภาพ โดยเน้นกระบวนการฝึกอบรมครูสอนพระปริยัติธรรม ระบบการจัดการเรียนการสอน และวิธีการสอนให้มีประสิทธิภาพ

๓. พัฒนาการจัดการศาสนศึกษาแผนกธรรมทุกชั้นทุกประโยค ให้สามารถนำไปส่งเสริมเกื้อกูลในการจัดการศึกษาอื่น ๆ

๔. จัดตั้งกองทุนการศึกษาพระภิกษุสามเณรวัดคุ้งตะเภา เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในสำนักเรียนหรือสถาบันชั้นสูงต่อไป

มาตรการ

๑. เร่งผลิตและฝึกอบรมครูสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี ให้มีประสิทธิภาพ และมีจำนวนเพียงพอแก่ความต้องการของสำนักและเกื้อกูลต่อสำนักอื่น ๆ

๒. เร่งจัดระบบบริหารกระบวนการเรียนการสอน ให้มีมาตรฐานเหมาะสมตามชั้น หรือประโยคที่เรียน และให้ผู้เรียนสามารถคิดเป็น วิเคราะห์เป็นตามหลักโยนิโสมนสิการ

๓. เร่งจัดบรรยากาศ สภาพห้องเรียน และสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน และสร้างความรักความสามัคคีระหว่างครู นักเรียน ตลอดจนปลูกฝังกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อสถาบันพระศาสนา

๔. เร่งจัดตั้งกองทุนเพื่อการศาสนศึกษา กองทุนรักษาพยาบาล และกองทุนเพื่อศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไปทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม ซึ่งจะเป็นการพัฒนาและส่งเสริมศาสนทายาท ให้มีความรู้ที่จะรักษาตนและพระศาสนาไว้ได้

๓. การเผยแผ่

นโยบาย

๑. พัฒนาและผลิตพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำสำนัก ให้มีความรู้ความสามารถในการเทศนา ปาฐกกถา และบรรยายธรรม ให้เหมาะสมแก่วุฒิภาวะของผู้ฟัง

๒. พัฒนาทัศนคติพระภิกษุสามเณร ให้เห็นความสำคัญของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ว่าเป็นมูลเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคง และแผ่ขยายไปยังประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ

๓. พัฒนาระบบ เทคโนโลยีและสื่อในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้มีความทันสมัยเหมาะสม เพียงพอ และมีประสิทธิภาพ

มาตรการ

๑. เร่งรัดการฝึกอบรมพระภิกษุสามเณรในวัด ให้มีความเข้าใจหลักการเผยแผ่ โดยใช้การธุดงค์พระกรรมฐาน เพื่อฝึกพัฒนาจิตใจสร้างอุดมการณ์ รวมทั้งการฝึกพัฒนาการสื่อสารในที่สาธารณะ และการจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพในด้านการเผยแผ่พระศาสนา

๒. จัดทำเว็บไซต์ของวัด เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารออนไลน์ และใช้ระบบโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ค (Social Network) ในการเพิ่มช่องทางการสื่อสารและเผยแผ่พระพุทธศาสนามากขึ้น รวมถึงการจัดตั้งสถานีวิทยุคลื่นนาวาธรรมภายในวัดคุ้งตะเภา

๓. เร่งรัดปรับปรุงบริบทภายในวัดให้เป็นเสมือนห้องสมุดกลางแจ้ง เพื่อเป็นแหล่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างความเข้าใจหลักคำสอน และนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

๔. ปรับปรุงบทบาทของวัดให้ตอบสนองต่อความประสงค์ของชุมชนในฐานะเป็นองค์กรนำด้านความสะอาด สงบ สว่าง

๕. เร่งรัดปรับปรุงแก้ไข ขจัดพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของศาสนบุคคล และส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรเจริญด้วยศีล สมาธิ ปัญญา งอกงามด้วยสุปฏิบัติ อุชุปฏิบัติ ญายปฏิบัติ และสามีจิปฏิบัติ

๔. การศึกษาสงเคราะห์

นโยบาย

๑. พัฒนาการบริหารจัดการการศึกษาสงเคราะห์ตามแนวพุทธวิธี และวิถีพุทธ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของเยาวชน ให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

๒. พัฒนาบุคลกร เช่น พระภิกษุ สามเณร ครู ให้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของวัดในการอบรม สั่งสอนประชาชน และเป็นแหล่งเผยแผ่ความดี ตลอดจนปฏิบัติเป็นตัวอย่างในทางที่ชอบ

๓. พัฒนาศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดคุ้งตะเภา และกิจกรรมสงเคราะห์ประชาชน ให้ดำเนินการตามแนวพุทธวิธี

๔. พัฒนากระบวนการอบรม ให้มีปฏิสัมพันธ์กับหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนตามปกติในโรงเรียน และสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้จริง

มาตรการ

๑. เร่งรัดการจัดการศึกษาสงเคราะห์ตามแนวพุทธวิธีและหลักวิถีพุทธ สนองนโยบายของคณะสงฆ์ เพื่อคืนคนดีมีคุณภาพ และมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์สู่สังคมและครอบครัว

๒. เร่งรัดให้มีการปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนระบบการบริหารจัดการศึกษาสงเคราะห์ โดยยกระดับการศึกษาสงเคราะห์เป็นการศึกษาพัฒนาคุณภาพ และคุณธรรมของต้นกล้าและต้นทุนทางสังคมมนุษย์

๓. เร่งรัดให้มีการออกระเบียบการบริหารจัดการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ได้ถือเป็นแนวปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งมีการจัดแบ่งหน้าที่รับผิดชอบของคณะกรรมการอย่างชัดเจน

๕. งานสาธารณูปการ

นโยบาย

๑. พัฒนาถาวรวัตถุ เสนาสนะ และอาคารประกอบ ให้มีเอกลักษณ์ทางศิลปะสถาปัตยกรรมของชาติ ศิลปะ สถาปัตยกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นโครงสร้างแข็งแรงทนทาน และประหยัด

๒. พัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางชีวิตและชุมชนปัญญาธรรม โดยการพัฒนาระบบนิเวศน์ และภูมิทัศน์ของวัด ให้เหมาะสมสอดคล้องต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

๓. พัฒนาเสนาสนะที่พักอาศัยของพระภิกษุสามเณร ให้เป็นสัปปายะ และมีจำนวนเพียงพอแก่ผู้อยู่อาศัย พร้อมทั้งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้มีมาตรฐาน และเหมาะสมแก่สมณสารูป

๔. พัฒนาวัดให้เป็นอาราม มีความร่มรื่น สะอาด ปลอดอบายมุข เป็นธรรมสถาน คารวสถาน และปุญญสถานของชุมชน

๕. พัฒนาวัดให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ส่งเสริม อนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมของชุมชน และเป็นศูนย์การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และของชาติ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนตลอดจนสถาบันการศึกษาทั่วไป

มาตรการ

๑. เร่งรัดให้มีการทำแบบแปลน แผนผังวัด รูปลักษณะอาคาร กุฎีสังฆาวาส กำหนดเขตภายในวัดให้เป็นเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส เขตการศึกษา และเขตสาธารณสงเคราะห์

๒. เร่งรัดให้มีการวางแผนแม่บท เพื่อจัดทำระบบนิเวศน์ และจัดภูมิทัศน์ภายในบริเวณวัด โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ประหยัด และเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน

๓. เร่งรัดให้มีการบูรณะและก่อสร้างเสนาสนะต่าง ๆ อาทิ ศาลาบำเพ็ญกุศล ศาลาการเปรียญ กุฎีสงฆ์ กุฎีรับรอง หอประชุม และอาคารอเนกประสงค์ เท่าที่มีความจำเป็น และเอื้อประโยชน์แก่สาธารณชน

๔. เร่งรัดให้มีการจัดที่ธรณีสงฆ์ และศาสนสมบัติของวัด ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม กฎกระทรวง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งก็ได้

๕. จัดให้มีมาตรการในการดูแล รักษา ส่งเสริมความเป็นระเบียบเรียบร้อยอันดีงามภายในวัด และจัดบริการความสะดวกแก่พระภิกษุสามเณร ส่วนราชการ หน่วยงานเอกชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษา

๖. งานสาธารณสงเคราะห์

นโยบาย

๑. พัฒนากิจกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและชุมชนที่อยู่ใกล้วัด ให้ความร่วมมือในการอบรม แนะนำหลักธรรมในการดำเนินชีวิตแก่ชุมชน

๒. พัฒนาแนวคิดของชุมชนให้เข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

๓. พัฒนาองค์ความรู้การประกอบสัมมาชีพ สันติสุข วัฒนธรรมประเพณี และกตัญญูกตเวทิตาธรรมแก่ชุมชน และสถานศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจระบอบธรรมาธิปไตย หรือธรรมาภิบาล สามารถอยู่ร่วมกันด้วยดี มีสุข

มาตรการ

๑. เร่งรัดให้มีการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและชุมชน เช่น การอบรมคุณธรรม จริยธรรม และงานชุมชนสัมพันธ์ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัยและสมณภาวะ

๒. เร่งรัดและจัดประชุมสัมมนาประชาคมหมู่บ้าน ประชาคมชุมชน องค์กรมหาชนตำบล เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม

๓. เร่งรณรงค์ให้ประชาชนบำเพ็ญประโยชน์เนื่องในโอกาสวันสำคัญทางศาสนาและวัน สำคัญของชาติ ตลอดจนลด ละ เลิกการเสพเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเล่นการพนันในเขตศาสนสถาน

๔. ร่วมกับครอบครัว ชุมชน องค์กร สถานประกอบการ และสถาบันทางสังคมจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งภูมิปัญญา และสังคมคุณภาพในโอกาสต่อไปฯ

แบบจำลองสามมิติ แผนผังวัดคุ้งตะเภา ปี ๒๕๗๐

ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาวัดคุ้งตะเภา ฉบับ พ.ศ.๒๕๕๔

สรุปแผนงาน/โครงการ สาธารณูปการวัดคุ้งตะเภา

(๒๕๔๐-๒๕๖๐)

พ.ศ. ๒๕๔๐

- โครงการบูรณะอุโบสถ ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

พ.ศ. ๒๕๔๕

- โครงการก่อสร้างซุ้มประตูโขงทรงล้านนาประยุกต์ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์ ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

พ.ศ. ๒๕๔๗

- โครงการก่อสร้างเมรุมณฑปจัตุรมุข และศาลาทิศ ๕ หลัง ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

พ.ศ. ๒๕๔๘

- โครงการก่อสร้างกุฎีสงฆ์เดี่ยว ๗ หน่วย ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

- โครงการก่อสร้างกุฎีสงฆ์เดี่ยว (๒ ชั้น) ๒ หน่วย ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

พ.ศ. ๒๕๔๙

- โครงการบูรณะศาลาการเปรียญ (อาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ) ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๒

- โครงการก่อสร้างศาลาทิศ ๒ ชั้น ขนาดใหญ่ ๔ หลัง (อาคารประกอบศาลาประธาน) ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

- โครงการก่อสร้างอาคารครุภัณฑาคาร และห้องสุขา ๒ ชั้น (อาคารประกอบศาลาประธาน) ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

พ.ศ. ๒๕๕๓

- โครงการก่อสร้างซุ้มป้ายบอร์ดทรงไทยสำหรับแสดงกิจกรรมของวัด ๓ หลัง ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

- โครงการจัดส่วนนิทรรศน์สวนป่าสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

พ.ศ. ๒๕๕๔

- โครงการปรับภูมิทัศน์ จัดสร้างภูเขาน้ำตกและลำธารจำลอง ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

- โครงการก่อสร้างอาคารสามัคคีเภตราศาลาประชาคม (ศาลาเอนกประสงค์ยกพื้นเปิดโล่ง คสล. ๑ ชั้น) บริเวณหน้าซุ้มประตูวัดริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ ๑๑ งบประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท และให้ความอนุเคราะห์ออกแบบปรับภูมิทัศน์จัดทำซุ้มประตูโรงเรียนบ้านคุ้งตะเภา ด้านติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๑ ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

- โครงการก่อสร้างศาลาการเปรียญชั้น ๑ (อาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ) งบประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ต่อเนื่อง ปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๔-๒๕๕๕)

พ.ศ. ๒๕๕๕

- โครงการปรับภูมิทัศน์พื้นฐาน เขตพุทธาวาส จัดสัดส่วน แผนผัง รางคสล.ปลูกต้นไม้ประดับ ทาสีกำแพง และถมดินทั่วบริเวณวัด งบประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

- โครงการจัดส่วนนิทรรศน์ ห้องสมุด (สุวรรณเภตราบรรณาคาร) และส่วนพิพิธภัณฑ์วัดคุ้งตะเภา ภายในอาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ งบประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

- โครงการจัดสร้างบุษบกประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เครื่องมหัคฆภัณฑ์ ฉัตร ตู้กระจก และติดไฟส่องสว่างประดับบุษบก งบประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

- โครงการก่อสร้างอาคารกุฎิสงฆ์รับรองอาคันตุกะ (คสล.) จำนวน ๑ หลัง งบประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ บาท

- โครงการก่อสร้างศาลาการเปรียญชั้น ๒ (อาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ) งบประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท (ฝ้าชั้น ๒)

- โครงการจัดสร้างซุ้มพระสุวรรณบัญชรเครื่องมหัคฆภัณฑ์บูชาประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ งบประมาณ ๓๙,๐๐๐ บาท ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว*

พ.ศ. ๒๕๕๖

แผนต้นปี มกราคม-เมษายน (ก่อนเทศกาลสงกรานต์)

งบประมาณ 844,000 บาท

- โครงการปรับภูมิทัศน์พื้นฐานหน้าศาลาการเปรียญ (ถมดิน-สวนหย่อมทิศตะวันออก) งบประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการจัดทำป้ายหน่วย อปต.ดีเด่น งบประมาณ ๘,๐๐๐ บาท*

- โครงการปรับภูมิทัศน์ โคมไฟให้แสงสว่างภายในวัดศิลปะล้านนาบริเวณหน้าศาลา-อุโบสถ งบประมาณ ๒๓,๐๐๐ บาท*

- โครงการจัดสร้างบุษบกปราสาทเฟื้องศิลปะล้านนา สำหรับอัญเชิญพระบรมธาตุสรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ งบประมาณ ๑๓,๐๐๐ บาท*

- โครงการปรับภูมิทัศน์ โคมไฟให้แสงสว่างภายในวัดศิลปะล้านนาบริเวณส่วนสังฆาวาส งบประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท*

- โครงการปรับภูมิทัศน์ เสาหงส์ทางเข้าวัดศิลปะล้านนา จำนวน ๒ คู่ งบประมาณ ๖๕,๐๐๐ บาท*

- โครงการก่อสร้างศาลาการเปรียญชั้น ๑ (ทำพื้นหินอ่อนชั้นที่ ๑) งบประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการก่อสร้างศาลาการเปรียญชั้น ๑ (ทำเสาหินอ่อนชั้นที่ ๑) งบประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท*

แผนกลางปี พฤษภาคม-กันยายน (หลังเทศกาลสงกรานต์-ออกพรรษา)

งบประมาณ 750,000 บาท

- โครงการลานธรรม-ลานกีฬา ต่อต้านยาเสพติด (เทพื้น คสล.) บริเวณพื้นที่ธรณีสงฆ์ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ ๑๑ งบประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการก่อสร้างศาลาการเปรียญชั้น ๑ (สร้างห้องน้ำ-โรงครัวหอฉัน) งบประมาณ ๓๖๐,๐๐๐ บาท*

พ.ศ. ๒๕๕๗

แผนต้นปี ๒๕๕๗ (หลังปีใหม่)

- โครงการก่อสร้างศาลาการเปรียญชั้น ๑ (สร้างห้องน้ำ-โรงครัวหอฉัน) งบประมาณ ๒๖๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการเปิดพื้นที่ภูมิทัศน์วัฒนธรรม ด้านหน้าอุโบสถ ระยะที่ ๑/๒ (ทำถนน เทพื้น คสล. เสาหงส์คู่) งบประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการบูรณะอุโบสถ ระยะที่ ๑/๔ (ติดเครื่องปรับอากาศ) งบประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท*

แผนกลางปี ๒๕๕๗ (หลังสงกรานต์)

- โครงการก่อสร้างห้องรับรองอาคันตุกาคาร (หอสวดมนต์ใหม่) งบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการก่อสร้างห้องปฐมพยาบาลวัดคุ้งตะเภา งบประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการบูรณะจัดการภูมิทัศน์ภายในวัด ซ่อมทาสี ขนย้ายฯ ปรับที่ งบประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการบูรณะอุโบสถ ระยะที่ ๒/๔ (ทาสีภายนอกส่วนล่าง) งบประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการจัดซื้อขยายพื้นที่ธรณีสงฆ์วัดคุ้งตะเภาด้านทิศตะวันออก (แปลงที่ ๑) งบประมาณ ๑๒๐,๒๖๘ บาท*

แผนกลางปี ๒๕๕๗ (ก่อนกฐิน)

- โครงการจัดซื้อขยายพื้นที่ธรณีสงฆ์วัดคุ้งตะเภาด้านทิศตะวันออก (แปลงที่ ๒) งบประมาณ ๑๑๐,๘๒๔ บาท*

- โครงการจัดซื้อขยายพื้นที่ธรณีสงฆ์วัดคุ้งตะเภาด้านทิศตะวันออก (แปลงที่ ๓) งบประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท*

แผนปลายปี ๒๕๕๗ (หลังกฐิน)

- โครงการเปิดพื้นที่ภูมิทัศน์วัฒนธรรม แปลงที่ซื้อใหม่ ๓ แปลง (ปรับพื้นดิน เกรดที่ ปลูกต้นไม้) งบประมาณ - บาท*

พ.ศ. ๒๕๕๘

แผนต้นปี ๒๕๕๘ (หลังปีใหม่)

- โครงการก่อสร้างศาลาการเปรียญชั้น ๑ (กั้นผนัง กรุกรงแสตนเลส ตีฝ้าไม้ที่เหลือ และมุงชายน้ำเมทัลชีทรอบศาลา) งบประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ต่อเนื่อง 57-58-59)

*การก่อสร้างศาลาการเปรียญแล้วเสร็จ [๒๕๔๙-๒๕๕๙]

- โครงการสร้างลานนิโครธมณฑลธรรมสถาน และพระพุทธรูปประธานหน้าตักห้าเมตร งบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการเปิดพื้นที่ภูมิทัศน์วัฒนธรรม ด้านหน้าอุโบสถ ระยะที่ ๓/๒ (ประตูเหล็ก) งบประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการบูรณะอุโบสถ ระยะที่ ๓/๔ (ติดประตูหน้าต่างกระจก) งบประมาณ ๗๐,๐๐๐ บาท*

แผนปลายปี ๒๕๕๘

- โครงการจัดซื้อตู้กระจกจัดแสดงเพิ่มเติมในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา จำนวน ๔ ตู้ งบประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการต่อเติมกรุผนังลูกกรงแสตนเลสในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา งบประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช งบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท (ต่อเนื่อง 58-59)

พ.ศ. ๒๕๕๙

แผนต้นปี ๒๕๕๙ (หลังปีใหม่)

- โครงการจัดหาทุนประเดิมเพื่อก่อตั้ง "มูลนิธิ ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา" งบประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท* (ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนแล้ว ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ "มูลนิธิ ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา", เล่ม ๑๓๓ ตอน ๔๔ ง, ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙, หน้า ๔๙-๕๐)*

- โครงการจัดสร้างศรีสุวรรณเภตราเทวาลัย (ศาลเจ้าแม่สำเภาทอง) งบประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการจัดซื้อขยายพื้นที่ธรณีสงฆ์วัดคุ้งตะเภาด้านแม่น้ำน่าน (แปลงที่ ๔ พื้นที่ ๒๐ ไร่) งบประมาณ ๕,๖๕๐,๐๐๐ บาท (ต่อเนื่อง ๕ ปี ๒๕๕๙-๒๕๖๓) [รายละเอียด / ภาพ]

แผนปลายปี ๒๕๕๙ (หลังสงกรานต์)

- โครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ วัดคุ้งตะเภา (พิธีหล่อ) งบประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ต่อเนื่อง 58-59-60)

พ.ศ. ๒๕๖๐

โครงการต่อเนื่อง

- โครงการจัดซื้อขยายพื้นที่ธรณีสงฆ์วัดคุ้งตะเภาด้านแม่น้ำน่าน (แปลงที่ ๔ พื้นที่ ๒๐ ไร่) งบประมาณ ๕,๖๕๐,๐๐๐ บาท (ต่อเนื่อง ๕ ปี ๒๕๕๙-๒๕๖๓) [รายละเอียด / ภาพ] เป้างบประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท

- โครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ วัดคุ้งตะเภา (พิธีหล่อ) งบประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ต่อเนื่อง 58-59-60) เป้างบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท (ภายใน พ.ค. ก่อกำแพง งบ ๒๐๐,๐๐๐ บาท )

โครงการใหม่ ระยะต้นปี ๖๐ (รวม ๑๕๐,๐๐๐ บาท)

- โครงการจัดสร้างห้องน้ำใหม่สำหรับพื้นที่ลานธรรม-กุฎิสงฆ์ (คสล. สุขภัณฑ์มาตรฐาน พื้นกระเบื้อง มุงหลังคาซีแพค) จำนวน ๖ ห้อง งบประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ บาท*

โครงการใหม่ ระยะพิเศษต้นปี ๖๐ (รวม ๑๙๘,๗๓๐ บาท)

- โครงการปรับปรุงโคมไฟประดับศาลาประธานศาลาการเปรียญ (ปรับไฟทั้งศาลาเป็น LED โคมห้อยแบบโบราณ ๒๒ โคม (ใหญ่ ๑๒ กลาง ๑๐ เล็ก ๔ = ๒๗,๘๐๐) และโคมระย้า ๔ ชุด (ชุดใหญ่ ๑ ชุดกลาง ๓= ๒๕,๕๐๐) ) งบประมาณ ๕๖,๓๓๐ บาท*

- โครงการติดตั้งไฟระย้าหน้าวิหารหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ (ปรับไฟเป็น LED ติดตั้งโคมระย้า ๓ ชุด (ชุดกลาง ๓= ๒๙,๑๐๐) ) งบประมาณ ๘,๔๐๐ บาท*

- โครงการติดตั้งซุ้มไม้หน้าทางเข้าบุษบกพระบรมสารีริกธาตุ (ซุ้มไม้สักแกะสลักแบบโบราณ จำนวน ๒ ซุ้ม+เสาไม้แกะสลักโบราณ จำนวน ๔ แผ่น+ไม้จำหลักรูปเทวดา ๒ แผ่น) งบประมาณ ๔๙,๐๐๐ บาท*

- โครงการติดตั้งประตูไม้ศาลาการเปรียญ (ประตูไม้สักจำหลักขนาดใหญ่ รูปดอกบัวสี่่เหล่า ลงรักปิดทอง ติดตั้งประตูกลางศาลาชั้น ๒ จำนวน ๒ แผ่น) งบประมาณ ๔๕,๐๐๐ บาท*

- โครงการติดตั้งหลังคาเมทัลชีทกันฝนหน้าทางขึ้นศาลาการเปรียญทิศตะวันตก งบประมาณ ๑๔,๐๐๐ บาท*

โครงการใหม่ ระยะปลายปี ๖๐ (รวม ๑,๕๕๐,๐๐๐ บาท)

- โครงการจัดสร้างสวนป่าสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล: ตำบลแสดงปฐมเทศนา ประดิษฐานพระหินทรายประธาน กลางสวนป่าริมน้ำน่านวัดคุ้งตะเภา (จัดหาพระพุทธรูปแกะสลักจากหินทรายล้วนทั้งองค์ ปางแสดงปฐมเทศนา ความสูง ๓ เมตร หนัก ๗ ตัน พร้อมจัดหาหินอ่อนเพื่อเป็นฐานรองรับองค์พระ)) งบประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการจัดสร้างสวนป่าสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล: ตำบลปรินิพพาน (จัดหาพระพุทธรูปแกะสลักจากหินสบู่ล้วนทั้งองค์ ปางปรินิพพาน ความสูง ๑.๕ เมตร ยาว ๖ เมตร หนัก ๑๐ ตัน)) งบประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการจัดสร้างศาลาปฏิบัติธรรม (ศาลาปฏิบัติธรรม ๒ ชั้น ทรงโรง เสา ๓๕ ต้น ลักษณะปูนกึ่งไม้ ชั้นล่าง คสล. ชั้นบนปูแผ่นไม้ตะเคียนทองทั้งหลัง เสาไม้สัก หลังคามุงกระเบื้องซีแพ็คสีดินเผา) งบประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ บาท (ต่อเนื่อง ๒๕๖๐-๒๕๖๒)

พ.ศ. ๒๕๖๑

โครงการต่อเนื่อง

- โครงการจัดซื้อขยายพื้นที่ธรณีสงฆ์วัดคุ้งตะเภาด้านแม่น้ำน่าน (แปลงที่ ๔ พื้นที่ ๒๐ ไร่) งบประมาณ ๕,๖๕๐,๐๐๐ บาท (ต่อเนื่อง ๕ ปี ๒๕๕๙-๒๕๖๓) [รายละเอียด / ภาพ] เป้างบประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท

- โครงการจัดสร้างศาลาปฏิบัติธรรม (ศาลาปฏิบัติธรรม ๒ ชั้น ทรงโรง เสา ๓๕ ต้น ลักษณะปูนกึ่งไม้ ชั้นล่าง คสล. ชั้นบนปูแผ่นไม้ตะเคียนทองทั้งหลัง เสาไม้สัก หลังคามุงกระเบื้องซีแพ็คสีดินเผา) งบประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ต่อเนื่อง ๒๕๖๐-๒๕๖๒)

โครงการใหม่

- โครงการจัดสร้างส่วนจัดแสดงพิพิธภัณฑ์พัดยศสมณศักดิ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา (จัดสร้างตู้กระจกจัดแสดงเดินไฟ และรับบริจาคสิ่งจัดแสดงจากประชาชนทั่วไป) งบประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท

- โครงการจัดสร้างสวนป่าสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล: ตำบลประสูติ (จัดหาพระพุทธรูปแกะสลักจากหินทรายล้วนทั้งองค์ ปางเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ความสูง ๒.๕ เมตร หนัก ๔ ตัน)) งบประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ บาท*

- โครงการก่อสร้างอาคาร ศาลาพลับพลามหาเศวตกุญชรชัยมงคล (ศาลาพลับพลาชัย) เพื่อเป็นหอประชุมใหญ่สำนักปฏิบัติธรรมฯ ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระยาพิชัยดาบหักแกะจากไม้ตะเคียน (หลังคาเมทัลชีท) งบประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ บาท

- โครงการก่อสร้างโป๊ะท่าน้ำวัดคุ้งตะเภา (ตอกเสา คสล. 4 ) งบประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท

- โครงการก่อสร้างอาคาร วิหารประดิษฐานพระพุทธมหาเมตตาประชาบพิตร เพื่อประดิษฐานพระประธานสำนักปฏิบัติธรรม และประดิษฐานพระพุทธรูปจากไม้ตะเคียน งบประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท

- โครงการจัดสร้างอาคารโรงรับภัตร (โรงครัว) และห้องน้ำ ๖ ห้อง (ส่วนต่อขยายพื้นที่ริมน้ำน่าน ๒๐ ไร่) งบประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท

- โครงการปรับพื้นที่และก่อสร้างกุฎิเดี่ยวในเขตป่ากรรมฐาน (ส่วนต่อขยายพื้นที่ริมน้ำน่าน ๒๐ ไร่) งบประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท

- โครงการบูรณะอุโบสถ ระยะที่ ๔/๔ (ทาสี-ซ่อมงานปูนปั้น ส่วนบน) งบประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท

พ.ศ. ๒๕๖๒

โครงการต่อเนื่อง

- โครงการจัดซื้อขยายพื้นที่ธรณีสงฆ์วัดคุ้งตะเภาด้านแม่น้ำน่าน (แปลงที่ ๔ พื้นที่ ๒๐ ไร่) งบประมาณ ๕,๖๕๐,๐๐๐ บาท (ต่อเนื่อง ๕ ปี ๒๕๕๙-๒๕๖๓) [รายละเอียด / ภาพ] เป้างบประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท

โครงการใหม่

- โครงการจัดสร้างลานพระศรีมหาโพธิ์อินเดีย (ส่วนต่อขยายพื้นที่ริมน้ำน่าน ๒๐ ไร่) งบประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท

- โครงการจัดสร้างฐานพระพุทธมหาสุวรรณเภตรา (หลวงพ่อใหญ่สำเภาทอง) หน้าตัก ๑๐ เมตร กลางพื้นที่ส่วนต่อขยาย ริมน้ำน่าน ๒๐ ไร่ งบประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ต่อเนื่อง ๒๕๖๒-๒๕๖๓)

พ.ศ. ๒๕๖๓

โครงการต่อเนื่อง

- โครงการจัดสร้างองค์พระพุทธมหาสุวรรณเภตรา (หลวงพ่อใหญ่สำเภาทอง) หน้าตัก ๑๐ เมตร กลางพื้นที่ส่วนต่อขยาย ริมน้ำน่าน ๒๐ ไร่ งบประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท

พ.ศ. ๒๕๖๔

แผนต้นปี ๒๕๖๔ (หลังปีใหม่)

- โครงการปรับพื้นที่-ก่อสร้างวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ สถาปัตยกรรมผสมล้านนา-สุโขทัย งบประมาณ ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ต่อเนื่อง ๔ ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๗)

- โครงการปรับพื้นที่และก่อสร้างอาคารหอประชุมใหญ่สำนักปฏิบัติธรรมฯ (หลังคาเมทัลชีท) (ส่วนต่อขยายพื้นที่ริมน้ำน่าน ๒๐ ไร่)งบประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ตัวอย่างกิจกรรม

ตามแผนงานการเผยแผ่/การศึกษาสงเคราะห์ วัดคุ้งตะเภา

(๒๕๔๐-๒๕๕๔)

รายงานการศึกษาวิจัยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาวัด : กรณีศึกษาวัดคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์การศึกษาอิสระ เรื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาวัด : กรณีศึกษาวัดคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสาเหตุการเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาวัดคุ้งตะเภา และศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาวัด เพื่อนำผลการศึกษามาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากร ะบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ทำอยู่ ให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น และเป็นตัวอย่างของชุมชนอื่น ๆ ต่อไป จัดทำโดยนิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยพ.ศ. ๒๕๕๕- คลิกที่นี่เพื่อดาวโหลดฉบับเต็ม -

มีผู้เข้าชมหน้านี้แล้วทั้งหมด คน