ข้อมูลพื้นฐาน

วัดคุ้งตะเภา ตั้งอยู่ใน เขตการปกครองของคณะสงฆ์มหานิกาย รหัสระเบียนคณะสงฆ์ที่ ๐๔๑๑๑๓ ตั้งอยู่เลขที่ ๒๘๕ หมู่ ๔ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในสมัยกรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๓ และ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ ๑๓ สิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อที่กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๙ เมตร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมา, เล่ม ๖๔, ตอน ๔๑, ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐, หน้า ๕๔๘ มีที่ตั้งวัดและที่ธรณีสงฆ์รวม ๖ แปลง (รวม ๓๓ ไร่ ๑ งาน ๓ ตารางวา) ดังนี้

แปลงที่ ๑ ที่ตั้งวัด (โฉนดที่ดิน เลขที่ ๕๐๑๖ เล่ม ๕๑ หน้า ๑๖) ใช้เป็นที่ตั้งอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ หอสวดมนต์ ฯลฯ เนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๓ งาน ๘๐ ตารางวา

แปลงที่ ๒ ธรณีสงฆ์ (โฉนดที่ดิน เลขที่ ๕๐๑๔ เล่ม ๕๑ หน้า ๑๔) ใช้ประโยชน์ในการตั้งอาคารส่วนฌาปนกิจสถาน มีเนื้อที่ ๒ ไร่ ๑ งาน ๕๘ ตารางวา

แปลงที่ ๓ ธรณีสงฆ์ (โฉนดที่ดิน เลขที่ ๗๖๒๓๓ เล่ม ๗๖๓ หน้า ๓๓) ใช้ประโยชน์ในการตั้งร้านค้าชุมชนและธนาคารหมู่บ้าน มีเนื้อที่ - ไร่ ๑ งาน ๒๔ ตารางวา

แปลงที่ ๔ ธรณีสงฆ์ (โฉนดที่ดิน เลขที่ ๖๔๘๑๗ เล่ม ๖๔๙ หน้า ๑๗) ใช้ประโยชน์ในการเป็นสถานที่จอดรถและจัดกิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน มีเนื้อที่ - ไร่ ๒ งาน ๑๕ ตารางวา

แปลงที่ ๕ ธรณีสงฆ์ (โฉนดที่ดิน เลขที่ ๓๕๓๕๖ เล่ม ๓๕๔ หน้า ๕๖) ใช้ประโยชน์ในการเป็นสถานที่จอดรถและจัดกิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน มีเนื้อที่ - ไร่ ๒ งาน ๔๔ ตารางวา

แปลงที่ ๖ ธรณีสงฆ์ (โฉนดที่ดิน เลขที่ ๓๕๓๕๙ เล่ม ๓๕๔ หน้า ๕๙) ใช้ประโยชน์ในการเป็นสถานที่จอดรถและจัดกิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน มีเนื้อที่ - ไร่ ๒ งาน ๔๒ ตารางวา

แปลงที่ ๗ ธรณีสงฆ์ (โฉนดตราจองที่ ๕๑๗๒ ระวาง ๙๒ น. ๑๔ ฏ ที่ดิน ๕๗ หน้า ๗๒ เล่ม ๕๒ ) ใช้ประโยชน์ในการเป็นที่ตั้งพุทธมณฑลอุทยานสังเวชนียสถานสี่ตำบล ศาลาปฏิบัติธรรม กุฎิสงฆ์ และสถานที่จัดกิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน มีเนื้อที่ตามโฉนดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๔๐ ตารางวา (ปัจจุบันมีที่งอกเพิ่มเติมรวมกว่า ๒๐ ไร่)

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดคุ้งตะเภาขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๓ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ ๑๓ สิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อที่กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๙ เมตร (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมา, เล่ม ๖๔, ตอน ๔๑, ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐, หน้า ๕๔๘)

ประวัติวัดคุ้งตะเภา

วัดคุ้งตะเภา เป็นวัดโบราณในเขตการปกครองของคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ (อาณาบริเวณเมืองฝางสวางคบุรีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย) สถาปนาขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๑๓๒ (พ.ศ. ๒๓๑๓) เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จขึ้นมาปราบปราม ชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี เมื่อเสร็จศึก พระองค์ได้ประทับ ณ ค่ายหาดสูง เมืองสวางคบุรี ตลอดฤดูน้ำหลาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เกลี้ยกล่อมรวบรวมราษฎรที่อพยพหลบหนีภัยสงครามตามป่าเขา ให้ชำระคณะสงฆ์หัวเมืองเหนือ และสถาปนาวัดคุ้งสำเภาริมแม่น้ำน่านโบราณ ใต้เมืองสวางคบุรี อันเป็นวัดที่เคยมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษามาตั้งแต่สมัยอยุธยา เปลี่ยนนามให้เป็น "วัดคุ้งตะเภา" พร้อมทั้งทรงให้สร้างศาลาบอกมูลฯ ขึ้นในคราวเดียวกันนั้น เพื่อให้เป็นที่พำนักสั่งสอนพระธรรมวินัยของเจ้าพระคุณพระพิมลธรรม เจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง องค์ปฐมเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา และพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิธรรมทั้งปวงที่ทรงอาราธนานิมนต์มาจากกรุงธนบุรี ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา จุลศักราช ๑๑๒๙-๑๑๓๐

ครั้งนั้นได้ทรงตั้งข้าราชการซึ่งมีบำเหน็จความชอบในการสงครามปราบชุมนุมเจ้าพระฝางคือ พระยาสีหราชเดโช (จ้อย) ให้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาพิชัย (จ้อย) ครองเมืองพิชัย (ต่อมาเป็นพระยาพิชัยดาบหัก) ทรงจัดระเบียบการเมืองการปกครองเมืองเหนือ ตลอดฤดูน้ำ ปีขาล พ.ศ.๒๓๑๓ แล้วจึงเสด็จกรีธาทัพ กลับกรุงธนบุรี และโปรดให้รับ พระยาเศวตกิริณี ช้างเผือกอันได้จากเมืองฝางนั้นลงมาด้วย เมื่อถึงกรุงธนบุรีแล้ว ให้มีงานสมโภชสามวัน โดยช้างเผือกจากศึกเมืองสวางคบุรีเป็นช้างเผือกเชือกแรกและเชือกเดียวในรัชกาลของพระองค์ โดยทรงใช้เวลารวบรวมอาณาเขตปราบชุุมนุมอิสระต่าง ๆ อยู่ ๓ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๑ – พ.ศ. ๒๓๑๓ จนกอบกู้เอกราช รวมเป็นพระราชอาณาจักรเดียวดังเดิม

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงครองราชย์เป็นเวลา ๑๕ ปี จึงทรงสวรรคตเมื่อ วันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ จศ. ๑๑๔๔ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ สิริพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ กอบกู้ประเทศชาติให้เป็นเอกราชอิสรภาพตราบเท่าทุกวันนี้

ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภา อนุสรณ์การรวมพระราชอาณาเขตให้เป็นหนึ่งเดียวในสมัยธนบุรี เป็น ๑ ใน ๙ วัดที่เก่าแก่ที่สุดในเขตเมืองอุตรดิตถ์ มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษารักษาสืบเนื่องมาไม่ขาดสาย เป็นเวลามากกว่าสองร้อยห้าสิบปีเศษ ซึ่งมีความเจริญมาโดยลำดับ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐานการดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝางของเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาชั้นหลังสุดในราชกิจจานุเบกษา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยหลวงพ่อเจ้าอธิการจัน เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ได้รับพระราชทานตาลปัตรพุดตาลทองแผ่ลวด เครื่องยศพระราชทาน ตั้งสมณศักดิ์ในราชทินนามที่ พระครูสวางคมุนี (จัน) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง เป็นรูปสุดท้ายของเมืองฝางสวางคบุรี ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวัน ๑ เดือน ๘ บุรพาสาธ แรม ๑๕ ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก ๑๒๕๐ พ.ศ. ๒๔๓๑

โดยหลังจากการมรณภาพของหลวงพ่อพระครูสวางมุนี (จัน) เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ทางราชการได้ปฏิรูปการปกครองให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล ยุบเลิกตำแหน่งบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองฝาง และเจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง พร้อมทั้งตั้งเมืองบางโพเป็นเมืองสำคัญในแถบนี้ ด้วยความเจริญทางการค้าทางน้ำของบางโพท่าอิฐในสมัย ร.๕

นับแต่นั้นเป็นต้นมา นามเมือง ฝางสวางคบุรี ก็เลือนหายกลายเป็นส่วนหนึ่งของตำบลคุ้งตะเภา และตำบลผาจุก มาจนปัจจุบัน โดยวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ เป็นวัดโบราณเก่าแก่สุดในเขตตำบลผาจุก (เขตเมืองสวางคบุรีฝั่งตะวันออก) และวัดคุ้งตะเภา เป็นวัดโบราณเก่าแก่สุดในเขตตำบลคุ้งตะเภา (เขตเมืองสวางคบุรีฝั่งตะวันตก)