รวมบทความ: มังคละเมืองฝางสวางคบุรี ลมหายใจสุดท้ายของบรรพชน

ประมวล

องค์ความรู้

"มังคละเภรี"

"ฤๅมรดกโลกทางวัฒนธรรม ที่สืบตระกูลมากว่า ๗๐๐ ปี แห่งเมืองฝางสวางคบุรี กำลังจะล่มสลายในอีกไม่นาน"

ปู่ประชุม วงพินิต อายุ ๗๒ ปี (เกิดปีมะแม พ.ศ. ๒๔๘๖) ปราชญ์ภูมิปัญญามังคละเภรีคนสุดท้าย แห่งบ้านพระฝาง บัดนี้ สายตาพร่ามัว หูไม่ได้ยินชัด สังขารทรุดโทรม หาผู้สนใจที่จะสืบสายวิชามังคละโบราณอันเก่าแก่นี้แทบมิได้ กลองมังคละใบสุดท้าย ถูกทิ้งตากลมฝนไว้กลางไร่ ปี่ กลองหลอน กลองยืน กระจัดพลัดพรายไปตามที่ต่าง ๆ จนแทบหาผู้สืบสายวิชาไม่ได้

วงมังคละเภรี คือวงมหาพุทธบูชา ที่พระมหากษัตริย์สุโขทัย ถวายเป็นพุทธบูชาสมโภชพระบรมทันตธาตุพระฝางมาแต่โบราณ

สื่อ

รวมบทความมังคละ

"ดนตรีในตำนาน

แห่งสวางคบุรี"

มังคละหลากลีลา

อารยะศาสตร์และศิลป์

เล่าขานตำนานถิ่น

รุ่นสู่รุ่น "มังคละ"

คนพระฝาง และคุ้งตะเภา ที่ยังใช้สำเนียงถิ่นสุโขทัยโบราณ คือเชื้อสายส่วนหนึ่ง ผู้สืบสายตระกูลตรงจากข้าพระโยมสงฆ์ ที่พระมหากษัตริย์กรุงสุโขทัย ถวายขาดไว้ประโคมสมโภชพระมหาธาตุเมืองฝาง และไม่ต้องไปราชการทัพ ดังปรากฏตัวอย่างในจารึกสมัยสุโขทัย จนทำให้ชุมชนรอบพระฝาง ๒ หมู่บ้าน และคุ้งตะเภาหมู่ ๓,๔ ยังคงหลงเหลือผู้ใช้สำเนียงสุโขทัยโบราณสืบมาจนปัจจุบัน

วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๘ อาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ นักวิชาการประวัติศาสตร์ จากกรุงเก่าสุโขทัย ได้พาคณะพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ไปพบปู่ประชุม วงพินิต มังคละเภรีเมืองฝาง ที่มีประวัติสืบมาแน่ชัดกว่า ๗๐๐ ปี เศษเสี้ยวแห่งวงมังคละสุดท้าย เหนือสุดปลายพระราชอาณาเขตสุโขทัย ที่กำลังจะสิ้นสลาย ประวัติศาสตร์และความยิ่งใหญ่แห่งลูกหลานพระยาพิชัย กำลังจะดับสูญ

สืบสาน "น่านวารินทร์"

คู่แผ่นดินแห่ง "เมืองฝาง"

เคียงคู่สู่เมืองงาม

"มหาธาตุพระศาสดา"

บัดนี้ใกล้สิ้นชื่อ

สิ้นนับถือผู้รักษา

ใกล้ผ่านกาลเวลา

"ดับอรุณ" สุโขทัย

"มังคละมรดกโลก"

จะสู่โศกนิมิตหมาย

"กู้เก่ากลับคืนกลาย"

คือ "หน้าที่พิทักษ์ธรรม"

(เทวประภาส)

๑๒ พ.ค. ๕๘

วานท่านขอวานเถิด

สิ่งประเสริฐจงรักษา

มังคละคืออัชฌา

คือ "ปัญญาแห่งผองชน"ฯ

ชีวิตนี้น้อยนัก

พึงพิทักษ์เชิดชูไว้

มังคละสิ้นเมื่อใด

สิ้นหายใจ "จิตวิญญาณ์"

"คุ้งตะเภาเภรี"

บรรเลงศรีคู่สยาม

ดํบงดํกลองตาม

คือสายธารเชิดชูไทย

"ความภาคภูมิใจในมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ แห่งอาณาจักรสุโขทัย ราชธานีแห่งแรกของสยามประเทศ"

เพื่อรำลึกภาพจริงแห่งอดีต ๗๐๐ ปี ที่ฉายชัด ภาพแห่งเสียงอันอึกทึก วงมังคละ เบญจดุริยางค์แท้ ดุจเสียงจากสวรรค์ในโลกมนุษย์ ประโคมสมโภชพระบรมธาตุพระฝาง พระมหาธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่เหนือสุดของอาณาจักรสุโขทัย

สิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ ปู่ประชุม วงพินิต ยืนหยัดอย่างโดดเดี่ยวมากว่า ๗๒ ปี

ด้วยสายตาที่ฝ้าฟาง ด้วยสังขารอันโทรมทรุด

ปู่เคยลุกขึ้นมาซ่อมแซมกลองมังคละเก่าแก่ใบสุดท้าย และนั่งเหงาอยู่ในบ้านเก่า ๆ รอคอยหาผู้สืบทอด เพื่อฝากหน้าที่ประโคมพระบรมธาตุอันยิ่งใหญ่นี้ไว้ก่อนจะสิ้นลม...

วันนี้ บ้านยังคงเงียบเหงาเหมือนเคย เสียงใกล้เงียบสนิทลง หัวใจที่อ่อนโรย ดุจผู้สิ้นแล้วซึ่งความหวัง มืออันบอบบาง ลูบคลำไปบนกลองมังคละใบสุดท้ายของเมืองฝาง กับเวลาที่เหลือน้อยลงทุกที...

ในฐานะของคนเมืองท่าเหนือ ได้เวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะไม่ปล่อยให้ "มหัคฆภัณฑ์มหาพุทธบูชาพระบรมทันตธาตุพระฝาง แห่งพระบรมกษัตริย์กรุงสุโขทัย" ต้องสิ้นสลายไปในชั่วอายุของเรานี้

ดนตรีพื้นบ้านมังคละ เป็นการละเล่นพื้นบ้าน มาตั้งแต่ยุคสุโขทัยเป็นราชธานี เป็นดนตรีที่สืบทอดมาทางพระพุทธศาสนาจากศรีลังกาเข้าสู่นครศรีธรรมราชและสุโขทัย โดยเฉพาะในรัชสมัยพระยาลิไท อาราธนาและต้อนรับ พระสังฆราชเข้ามาพำนักที่วัดป่ามะม่วงด้วยการปูผ้าแพร ๕ สี ให้พระสังฆราชเดินตามขบวนกลองมังคละตั้งแต่ ประตูเมือง ด้านหัวนอนจนถึงวัดที่พำนัก ซึ่งแต่เดิมนั้นกลองมังคละจะเล่นประกอบพิธีอันเป็นมงคลของพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะว่ามังคละ หมายถึง “มงคล” ซึ่งพอจะรวมเป็นสาระสำคัญได้ว่า มังคละนั้นเป็นดนตรีที่มีมาตั้งแต่ยุคสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อนานกว่า ๗๐๐ กว่าปีมาแล้ว

ปู่จั่น ย่าผล โตนาคน้อย บรรพชนคนพระฝาง

ผู้ถ่ายทอดวิชามังคละเภรีให้แก่พ่อประชุม วงพินิต

ปู่ครูมังคละเภรีบ้านพระฝางคนสุดท้าย

(ภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ ๖ ในงานวัดพระแท่นฯ)