งานประเพณีบุญกลางบ้านคุ้งตะเภา ประจำปี ๒๕๖๐

วันที่โพสต์: Feb 04, 2017 6:5:40 PM

ทำความรู้จัก

งานประเพณีบุญกลางบ้านคุ้งตะเภา

ประเพณีทำบุญกลางบ้านคุ้งตะเภา วันเสาร์-อาทิตย์ที่ ๔ - ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ (ตรงกับวันขึ้น ๘-๙ ค่ำ เดือน ๓)

ประเพณีทำบุญกลางบ้านคุ้งตะเภา เป็นประเพณีโบราณของชาวบ้านคุ้งตะเภา ชุมชนคนไทยดั้งเดิมที่มีประวัติความเป็นมาสืบย้อนไปได้กว่า ๗๐๐ ปี นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งยังคงสืบทอดประเพณีนี้มาจนถึงปัจจุบัน...

ประเพณีทำบุญกลางบ้านคุ้งตะเภาในปัจจุบันนั้น คล้ายคลึงกับหมู่บ้านในแถบภาคกลางทั่วไป แต่มีการปรับประยุกต์ขั้นตอนบางอย่างให้สะดวกขึ้น โดยประเพณีทำบุญกลางบ้านนี้ชาวบ้านคุ้งตะเภาจะแยกจัดพิธีเป็นสองครั้งคือ ในต้นเดือน 3 จัดพิธีทำบุญกลางบ้านที่บ้านคุ้งตะเภาฝั่งตะวันออก (บ้านเหนือ) และปลายเดือน จัดพิธีทำบุญกลางบ้านที่บ้านคุ้งตะเภาฝั่งตะวันตก (บ้านใต้) โดยมีบริเวณในการจัดแน่นอน โดยบ้านเหนือจัดที่ทางสามแพร่งเหนือหมู่บ้าน ส่วนบ้านใต้จัดที่ลานข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาคุ้งตะเภา โดยชาวบ้านจะเป็นผู้ร่วมกันกำหนดวันทำบุญ

ขั้นตอนในการประกอบพิธีทำบุญกลางบ้าน ส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งในพิธี ที่เป็นคติโบราณที่สืบทอดมายาวนานนับกว่า ๗๐๐ ปี นับแต่สมัยสุโขทัย คือพิธีเสียกระบาน เริ่มจากชาวบ้านเตรียมทำกระทงกระบาน เพื่อทำพิธีเสียกระบาน โดยชาวบ้านจะเอากาบกล้วยมาทำเป็นกระทงกระบาน โดยมีความเชื่อมาแต่โบราณว่า หากงานบุญกลางบ้านกำหนดทำในวันข้างขึ้น ให้ทำเป็น "กระบานสี่" (สี่เหลี่ยม) แต่หากเป็นวันข้างแรม ให้ทำเป็น "กระบานสาม" (สามเหลี่ยม) ปักธงกบิล 4 ทิศ โดยใส่ข้าวพล่า ปลายำ หมากพลู พริกแห้ง เกลือ หัว หอม ข้าวสาร ปักธูปลงในกระทงกระบาน ใส่สตางค์ และใช้ดินเหนียวปั้นเป็นรูปคนเท่าจำนวนคนในบ้านรวมไปถึงวัวควาย ไก่หรือสัตว์เลี้ยงอื่น ใส่เสื้อผ้าให้รูปคน ใส่ลงไปในกระทงกระบานด้วย เรียกว่า ตุ๊กตาเสียกระบาน (หมายถึง เสียตุ๊กตาไปกับกระทงกระบาน เพราะคติของชาวบ้านคุ้งตะเภาไม่ได้ทุบหัวตุ๊กตาแต่อย่างใด) โดยปั้นจากดินให้เป็นตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ เลียนแบบท่าทางของคน มีทั้งดินเหนียวดินเผา เพื่อให้มารับเคราะห์แทนตัว เป็นการสะเดาะเคราะห์

ปัจจุบันการก่อพระเจดีย์ทราย ยังคงปรากฎให้เห็นในงานบุญกลางบ้านคุ้งตะเภา และกลุ่มวัฒนธรรมร่วมในเขตอำเภอเมืองอุตรดิตถ์บางส่วน เป็นการบำเพ็ญกุศลแบบโบราณ ที่ควรค่าแก่การทำความเข้าใจในคตินิยมของบรรพชน และทรงคุณค่าในการช่วยกันรักษาสืบสานต่อไปยังชนรุ่นหลัง

ภายหลังเมื่อมีความเชื่อการมีพระพุทธรูปประจำบ้านเกิดขึ้น ความเชื่อดังกล่าวจึงคลี่คลายไป จากเจดีย์ทรายที่เป็นประธาน จึงต้องแทนที่ ถูกลดลงมาเป็นส่วนประกอบในการตั้งโต๊ะหมู่เครื่องบูชา การก่อเจดีย์ทรายนี้มักจะใช้แกนไม้เนื้ออ่อนที่สามารถเหลาให้มีรูปคล้ายยอดเจดีย์ พาน ภาชนะนำใบโพธิ์เรียงซ้อนกันเก้าใบใส่ใบไม้มงคลต่างๆ อีกทั้งเงินเหรียญของมีค่าก่อขึ้นด้วยทรายประพรม ด้วยเครื่องหอม มีผ้าห่มเจดีย์ทรายสีอย่างพระสงฆ์

วันจัดงานทำบุญกลางบ้านชาวบ้านจะถือกระทงกระบานนำไปวางไว้บริเวณปรำพิธีซึ่งตั้งอยู่ บริเวณพระพุทธรูป โดยจะมีการก่อเจดีย์ทรายปักธงบนยอดเจดีย์ (กลางบ้าน) และประดับด้วยใบมะพร้าว ธงกบิลฯลฯ พร้อมกับทำกำแพงล้อมทั้ง 4 ทิศ พร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์จากวัดคุ้งตะเภามาเจริญพระพุทธมนต์พระปริตรในเวลาเย็น ในระหว่างพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสวดจบบทหนึ่งก็จะมีการตีฆ้อง 3 ครั้ง ครั้นพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบในช่วงค่ำ พระสงฆ์จะสวดบท สุมงฺคลคาถา (สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ) และชาวบ้านก็จะจุดธูปเทียนในกระทงกระบานและเดินไปวางกระทงกระบานไว้บนบกที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านพร้อมกัน (เดิมบุญกลางบ้านเหนือเดินไปวางที่แม่น้ำน่านเหมือนบุญกลางบ้านใต้) โดยก่อนวางจะกล่าวคำขอขมาลาโทษ บอกเล่าเจ้าที่เจ้าทาง ผีสางเทวดา ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้มารับเครื่องเซ่น เพื่อเป็นการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศกให้หมดไป จากนั้นจึงมีการละเล่นต่าง ๆ ในเวลากลางคืน ในวันที่สองจะนิมนต์พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารเช้าถวายจตุปัจจัย จึงเป็นอันเสร็จพิธี คติความเชื่อของประเพณีนี้มาจากการผสานความเชื่อเรื่องผีของคนโบราณ โดยมีหลักฐานความเชื่อเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนา มาจากคติความเชื่อเรื่องผีในการขอบคุณผีที่ประทานความอุดมสมบูรณ์จนสามารถ เก็บเกี่ยวได้ และเป็นการสะเดาะห์เคราะห์คนในหมู่บ้านทั้งหมด และสอดคล้องกับวิถีชีวิตทางเกษตรกรรมของคนในชุมชน โดยประสานกับคติทางพุทธศาสนาเถรวาท ด้วยการจัดให้มีการทำบุญเพื่อเป็นอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและเสริมสวัส ดิมงคลความอุดมสมบูรณ์ของคนในหมู่บ้านหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งประเพณีนี้เป็นประเพณีที่แปลกกว่าประเพณีอื่น ๆ โดยจัดนอกวัด ชาวบ้านจะเลือกเอาสถานที่จัดบริเวณลานกว้างในหมู่บ้าน เพื่อเป็นการชุมนุมชาวหมู่บ้านมาร่วมจัดงานด้วยกัน เป็นการไต่ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน โดยมีการก่อพระเจดีย์ทรายไว้เป็นเครื่องหมาย ซึ่งคติการก่อเจดีย์ทรายไว้กลางหมู่บ้านนี้มาจากเรื่องราวในธรรมบทเพื่อเป็น การสร้างกุศลก่อเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชาร่วมกัน และมีการทำกระทงกระบานใส่ดินปั้นผู้อาศัยในครัวเรือนของตน ๆ ไปวางไว้ตามทางสามแพร่งเพื่อสะเดาะห์เคราะห์ ซึ่งเป็นอุบายของคนโบราณในการสำรวจประชากรและสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านคุ้ง ตะเภาได้อย่างดียิ่ง

พระทรายในงานบุญกลางบ้านคุ้งตะเภา

การก่อพระทราย เป็นการสร้างสัญลักษณ์ชั่วคราวแทนพระพุทธรูป สืบมาแต่คตินิยมโบราณ โดยที่ในสมัยก่อน ก่อนยุคที่จะมีการนิยมมีพระพุทธรูปไว้ประจำบ้าน พระพุทธรูปต่าง ๆ เป็นของหายากและมีค่ามาก และนับถือกันว่าพระพุทธรูปเป็นของควรสำหรับบูชาที่วัด ไม่นิยมนำมาบูชาประจำที่บ้านเรือน ดังนั้นเมื่อถึงเวลางานบุญ หรืองานมงคลของคนคุ้งตะเภา และกลุ่มคนร่วมวัฒนธรรมพื้นถิ่นสำเนียงภาษาถิ่นพระร่วงง (เหน่อซุโขทัย) ตามบ้านสมัยก่อน จึงนิยมใช้การสร้างพระทราย หรือเจดีย์ทรายขนาดเล็ก ตั้งแทนเป็นองค์พระปฏิมา เป็นมณฑลประธานในงานบุญกลางบ้าน