สำเนียงภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา (ภาษาสุโขทัย)

การสืบทอดภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา

ถือเป็นมรดกอันล้ำค่า ที่บรรพบุรุษของชาวบ้านคุ้งตะเภาได้สั่งสมไว้ให้ แสดงให้เห็นถึงรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมอันสูงส่งในอดีต ที่ชาวบ้านคุ้งตะเภายุคปัจจุบันควรภาคภูมิใจ ในความโดดเด่นและเป็นหนึ่งเดียว ในฐานะ “เอกลักษณ์ภาษาถิ่น” อัตลักษณ์แห่งความเป็น "คนคุ้งตะเภา"

ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา เป็นภาษาใช้สื่อสารระหว่างท้องถิ่นนานมาแล้ว ตั้งแต่ยุคดั้งเดิม ที่บรรพชนคนสุโขทัยโบราณ ได้เข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่บ้านคุ้งตะเภาเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว กลุ่มชนที่ใช้ภาษาพูดนั้น นับเป็นภาษาไทยถิ่นกลาง (นักภาษาศาสตร์ได้จำแนกภาษาไทยออกเป็น ๔ กลุ่ม คือ ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษาไทยถิ่นกลาง ภาษาไทยถิ่นอิสาน และภาษาไทยถิ่นใต้) แต่เป็นภาษาไทยถิ่นกลางที่มีเสียงและความหมายผิดเพี้ยนไปบ้างเล็กน้อย เรียกกันว่า “เหน่อ” ศัพท์ทางภาษาศาสตร์เรียกว่า “ภาษาชนบท” นั่นเอง

สำหรับวัฒนธรรมการใช้ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา มีอยู่บริเวณกว้างขวางทั่วไป ในหมู่ ๓ และ ๔ ตำบลคุ้งตะเภา ซึ่งมีการสืบทอดกันมาโดยตลอด ชาวบ้านคุ้งตะเภาถือเป็นผู้ที่โชคดี ที่บรรพชนได้มอบภาษาถิ่นให้ไว้เป็นมรดกอันล้ำค่า แสดงว่าในอดีตคนคุ้งตะเภาเป็นผู้มีรากเหง้า และมีวัฒนธรรมทางด้านภาษาสูงยิ่งมาแต่โบราณ คนคุ้งตะเภา จึงต้องช่วยกันอนุรักษ์ภาษาของตนไว้ให้เป็นเอกลักษณ์ที่น่าภาคภูมิใจ

สำเนียงพูดในภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา นับเป็นส่วนหนึ่งของสำเนียงในภาษาถิ่นสุโขทัย ซึ่งเป็นสำเนียงที่ไม่ตรงกับสำเนียงพูดของชาวภาคกลางมาแต่โบราณ (เคียง ชำนิ, ๒๕๔๓ :๙๒) เนื่องจาก ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา เป็นสำเนียงโบราณที่สืบมาตั้งแต่ผู้คนในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ปัจจุบันพบได้ในจังหวัดอุตรดิตถ์, จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอาณาจักรสุโขทัยโบราณ โดยปัจจุบันคนบ้านคุ้งตะเภาดั้งเดิม และคนบ้านทุ่งยั้ง, ท่าเสา, บ้านพระฝาง ยังคงใช้สำเนียงพูดแบบสุโขทัยอยู่ ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งในไม่กี่แห่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ยังใช้สำเนียงแบบสุโขทัยโบราณ

ภาษาเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ เป็นเอกลักษณ์ และเครื่องผูกพันระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ ภาษาจึงเป็นศูนย์กลางของทุก ๆ คนในชาติ ในถิ่นที่อาศัย โดยเฉพาะภาษาถิ่น ที่มีรูปลักษณ์หลากหลาย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น หรือสื่อสารเฉพาะท้องถิ่นนั้น ๆ "บ้านคุ้งตะเภา เป็นหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีภาษาถิ่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ที่ใช้สื่อสารระหว่างกันเป็นเวลานานนับเนื่องมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเจริญรุ่งเรือง"

สำเนียงบอกที่มา

ในเรื่องภูมิหลังของการมีสำเนียงเหน่อแบสุโขทัยของชาวบ้านคุ้งตะเภานั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ประจำกรมศิลปากร สันนิษฐานว่าสำเนียงการพูดของคนคุ้งตะเภานั้น เป็นสำเนียงดั้งเดิมของคนไทยที่ตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัย (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, ๒๕๔๓ :๑๐๔) โดยกล่าวว่าคนบ้านคุ้งตะเภานั้น


"มีสำเนียงพูดเหน่อ... แบบเดียวกับสำเนียงชาวบ้านฝาง บ้านท่าอิฐ บ้านทุ่งยั้ง ..บ้านท่าเสา.. และหมู่บ้านในเขตอำเภอพิชัย ที่อยู่ในเขตจังหวัดเดียวกัน และเหมือนกับสำเนียงพื้นบ้านของชาวสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร อันเป็นกลุ่มหัวเมืองเหนือในสมัยอยุธยา หรือบ้านเมืองที่เคยอยู่ในเขตแคว้นของสุโขทัยแต่เดิม"

ชาวคุ้งตะเภา คือผู้สืบตระกูลมาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยโบราณ

จากสำเนียงภาษาถิ่นของของชาวบ้านคุ้งตะเภานี่เอง ทำให้สันนิษฐานได้ว่าบริบทด้านชาติพันธุ์ พื้นเพของคนคุ้งตะเภานั้นเป็น "คนไทยเหนือ" ตามคำปากของคนในสมัยอยุธยา คือเป็นกลุ่มคนชาติพันธ์ไทยเดิม ที่อยู่แถบเมืองพิษณุโลก, พิจิตร และสุโขทัย ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ปลายดินแดนหัวเมืองทางเหนือของอาณาจักรอยุธยา อันเป็นรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมภาคกลางและวัฒนธรรมล้านนา โดยคนคุ้งตะเภาดั้งเดิมนั้นจะมีสำเนียงการพูดภาษาถิ่นสุโขทัย คล้ายคนสุโขทัยเดิม และเมืองฝางสวางคบุรี ในเรื่องนี้ สมชาย เดือนเพ็ญ นักวัฒนธรรมผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นสุโขทัย (สมชาย เดือนเพ็ญ, ๒๕๕๗) ได้กล่าวว่า

และใกล้กับที่ตั้งบ้านคุ้งตะเภา เพียงช่วงเหนือแม่น้ำน่าน และทางบกทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านคุ้งตะเภา ปรากฎโบราณสถานที่สำคัญยิ่งในสมัยอาณาจักรสุโขทัย คือพระมหาธาตุพระฝาง เมืองสวางคุบรี ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อปรากฎแล้วตั้งแต่ครั้งพระมหาธรรมราชาลิไทย ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๓ พ.ศ. ๑๙๐๐ เป็นหนึ่งในมหาธาตุเจดีย์สำคัญทางด้านตะวันออกของอาณาจักรสุโขทัย โดยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ในหนังสือของท่านว่า พระมหาธาตุเมืองฝางองค์นี้ได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นพุทธปูชนียสถานสำคัญของอาณาจักรคู่กับรอยพระพุทธบาทสระบุรี

การถวายข้าพระโยมสงฆ์ในสมัยสุโขทัยนี้ ปรากฎในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยจำนวนหลายหลัก ซึ่งได้มีการพูดถึงการพระราชทานพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาอุทิศคนให้เป็นข้าวัดหรือข้าพระ สำหรับคอยบำรุงดูแลรักษาศาสนสถานสำคัญ ซึ่งจะมีจำนวนคน ครัวเรือน และหน้าที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างหนึ่งในนั้นคือ การถวายคนไว้เพื่อบรรเลงดนตรีประจำพระอาราม สำหรับกระทำบูชาพระพุทธรูปพระปฏิมากรภายในวัด ดังปรากฏอยู่ในจารึกวัดช้างล้อม เมืองเก่าสุโขทัย พ.ศ. ๑๙๒๗ ว่า

"...พาทย์คู่หนึ่ง ให้ข้าสองเรือนตีบำเรอแก่พระเจ้า ฆ้องสองอัน กลองสามอัน แตร สังข์ เขาควาย แต่งให้ไว้แก่พระเจ้า (พระพุทธรูป)..."

"...สำเนียงสุโขทัยเก่า หลงเหลืออยู่ในพื้นที่... นอกเขตจังหวัดสุโขทัย เช่น... บริเวณตำบลรอบ ๆ วัดพระมหาธาตุพระฝาง เมืองสวางคบุรี (คือ ตำบลผาจุก, ตำบลคุ้งตะเภา-ผู้เรียบเรียง) คือข้าพระโยมสงฆ์ที่พระมหากษัตริย์สุโขทัย ถวายขาดไว้ในพุทธศาสนา คือไม่ต้องไปราชการทัพ ทำให้สำเนียงสุโขทัยหลงเหลืออยู่ในพื้นที่นอกจังหวัดสุโขทัยด้วย..."

ข้อสันนิษฐานที่ว่าคนคุ้งตะเภาอาจเป็นคนไทยดั้งเดิมที่สืบเชื้อสายโดยตรงมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยดังกล่าวข้างต้น สอดคล้องใกล้เคียงกับตำนานหมู่บ้าน และข้อสันนิษฐานจากนักวิชาการประวัติศาสตร์ ว่าบ้านคุ้งตะเภา อาจเคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของเมืองสวางคบุรี ในชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงหลังการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐ หลังการทรุดโทรมลงของเมืองสวางคบุรีในพื้นที่รอบปริมาณฑลวัดพระฝางโบราณ หลังศึกปราบเจ้าพระฝาง พ.ศ. ๒๓๑๓ โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยที่ บ้านคุ้งตะเภาอาจเป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองหรือขุนนางกรมการเมืองผู้ใหญ่ของเมืองสวางคบุรี ก็เป็นได้ เนื่องจากมีการพบเอกสารโบราณประเภทกฎหมายพระอัยการที่ใช้ในการปกครองบ้านเมืองสมัยสังคมจารีตจำนวนมากถูกเก็บรักษาอยู่ภายในวัดคุ้งตะเภา ตลอดจนเอกสารโบราณประเภทสมุดไทยดำ สมุดไทยขาวและใบลานเป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าบ้านคุ้งตะเภาเป็นชุมชนที่มีบทบาทและความสำคัญต่อจากเมืองสวางคบุรีที่บอบช้ำจากสงคราม (ธีระวัฒน์ แสนคำ, ๒๕๕๘)

(หนังสือของลาลูแบร์ หน้าที่ระบุถึงความสำคัญของพระมหาธาตุเมืองฝาง ในสมัยอยุธยา)

หนังสือของลาลูแบร์ เป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานที่ยืนยันว่า พระมหาธาตุพระฝาง เป็นพระบรมธาตุศักดิ์สิทธิ์สำคัญของอาณาจักร และมีผู้คนดูแลรักษาสักการะสืบต่อมาช้านาน

ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลและเทียบเคียงสำเนียงการพูดของ ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา และ ภาษาถิ่นบ้านพระฝาง พบว่ามีการใช้คำศัพท์ใกล้เคียงกันมากที่สุดกว่าสำเนียงสุโขทัยแบบอื่น จึงเป็นข้อสันนิษฐานหนึ่งว่า ชาวบ้านคุ้งตะเภา อาจสืบเชื้อสายมาจากครัวเรือน ที่พระมหากษัตริย์ในสมัยอาณาจักรสุโขทัยพระราชทานพระบรมราชูทิศไว้ในพระพุทธศาสนา ตามธรรมเนียมโบราณ เมื่อ ๗๐๐ ปี ก่อน เพื่อให้เป็นผู้ดูแลรักษาพระทันตธาตุ แห่งพระมหาธาตุพระฝาง เมืองสวางคบุรี ก็เป็นได้

การสืบทอดภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา

คือการสืบทอดลมหายใจแห่งบรรพชน

เมื่อพิจารณาจากสำเนียงพูดในภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภาที่ยังคงปรากฎอยู่ ประกอบกับตำนานท้องถิ่น และบริบททางประวัติศาสตร์ของพื้นที่แถบนี้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า บ้านคุ้งตะเภานั้น เป็นชุมชนโบราณที่มีความเป็นมายาวนานกว่า ๗๐๐ ปี สืบต่อมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจนถึงปัจจุบัน

สำเนียงพูดในภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา นอกจากเป็นภาษาสำเนียงที่ใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวันของชุมชนแล้ว ยังเป็นเอกลักษณ์สำคัญ ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ ความเป็นมา และรากเหง้าแห่งบรรพบุรุษ สืบทอดรุ่นสู่รุ่น จากอาณาจักรสุโขทัยโบราณ อาณาจักรที่เป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เป็นต้นเค้าบ่อเกิดของวัฒนธรรม และอารยธรรมไทย ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภาในปัจจุบัน มีการปะทะสังสรรค์ทางภาษา กับภาษากลาง และภาษาถิ่นอื่น ที่ได้เข้ามามีอิทธิพลในการพูดและใช้งานในชุมชนมากขึ้น ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภาดั้งเดิมอาจเลือนหายและไม่มีวันหวนคืน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ลูกหลานชาวบ้านคุ้งตะเภาทุกคน ควรเรียนรู้ที่มาที่ไป เพื่อมีความเข้าใจ ภาคภูมิใจ และควรหวงแหนรักษาไว้ให้ "ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา" คงอยู่สืบไปฯ

ลักษณะสำเนียงภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา

ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา มีสำเนียงเหมือนกับภาษาถิ่นสุโขทัยทั่วไป โดยจะพูดเสียงเอกเป็นจัตวา และพูดเสียงจัตวาเป็นเสียงเอก ดังจะเห็นได้จากแผนผังของเส้นเสียงที่แสดงดังนี้

(เคียง ชำนิ, ๒๕๔๓ :๙๓)

ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา (ถิ่นสุโขทัย) มีสำเนียงพูดเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เหมือนกับที่ล้านนาและล้านช้างมี โดยการออกเสียงสำเนียง จะค่อนข้างคล้ายภาษาไทยถิ่นเหนือ มีคำเมืองปนอยู่มาก มีหกวรรณยุกต์เหมือนกับภาษาไทยถิ่นเหนือ แต่การออกอักขระเสียงเหมือนกับสำเนียงอยุธยาแทบทุกอย่าง และเสียงจะห้วนกว่าสำเนียงอยุธยาและกรุงเทพ, “ร” และ “ล” จะเข้มงวดน้อยกว่าสำเนียงอยุธยา แต่ไม่ถูกละทิ้งบ่อย ๆ แบบสำเนียงกรุงเทพ, ออกเสียงพยัญชนะตัว “ฉ” กับ “ช”, “ถ” กับ “ท”, “ผ” กับ “พ” และ “ฝ” กับ “ฟ” แยกออกจากกัน

ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา (ถิ่นสุโขทัย) มีคำที่แตกต่างจากภาษากลาง ทั้ง วรรณยุกต์ สระ พยัญชนะ เช่น ร เป็น ล ช เป็น ซ วรรณยุกต์มี ๖ เสียง เช่น เลา เหลา เล่า เล้า เล๊า เหล่า

เช่นคำว่า

เลา เป็น ลักษณะนามของขลุย

เหลา ลักษณะนามของดินสอ

เล่า ลักษณะการเล่าต่อกันฟัง

เล้า คือ ที่อยู่สัตว์ เป็ด ไก่

เล๊า คือ คำถามเชิงแนะนำ

เหล่า คือ พวกเหล่านั้น ลูกเต้าเหล่าใคร

ซึ่งภาษากลางมีเพียงแค่ ๕ เสียง และที่สำคัญสำเนียงภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภาไม่มี ร กล้ำ

สำเนียงคุ้งตะเภา (สุโขทัย)

อีกทั้งสำเนียงภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา เสียงวรรณยุกต์จะสลับกันกันภาษากลาง เช่น

ตก - ต๊ก

หก - ห๊ก

ไก่ - ไก๊ - ไก๋

หมู - หมู่

หมู่ - หมู

ข่มขืน - ขมขื่น

ขมขื่น - ข่มขืน

เสื่อ - เสือ

เสือ - เสื่อ

เขา - เข่า

เข่า - เขา

ตัวอย่าง "ข่อเชิญหมูไปกินหมู่" = ขอเชิญหมู่(ตำรวจ)ไปกินหมู

ตัวอย่าง "เอาเสือมาปูนอน ให๊ระวังเสื่อ" = เอาเสื่อมาปูนอน ให้ระวังเสือ

หากมีวรรณยุกต์เอกให้เอาออก เช่น

หนึ่ง ออกเสียงเป็น หนึง

สี ออกเสียงเป็น สี่

เสื่อ ออกเสียงเป็น เสือ

หากเป็นอักษรสูงในภาษากลางที่มีวรรณยุกต์ (ไม้เอก) ให้ตัดออก เช่น

สอง ออกเสียงเป็น ส่อง

สาม ออกเสียงเป็น ส่าม

หมู่ ออกเสียงเป็น หมู

หวย ออกเสียงเป็น ห่วย

นอกจากนี้ ภาษาถิ่นคุ้งตะเภา ยังมีเอกลักษณ์ คำลงท้ายประโยค

(คำช่วยประโยค เช่น ไก๊ เก๊ย ในแถบจ.สุโขทัย)

เช่น

- ม๊อ ตัวอย่าง ไปเที่ยวกันม๊อ

- เอ๊ง ตัวอย่าง ไปด้วยเอ๊ง

- เล๊า ตัวอย่าง ไปไหนมาเล๊า

- ฮิ๊ ตัวอย่าง เอามานี่ฮิ๊ (มักใช้ในประโยคคำสั่ง)

พจนานุกรมภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา

พจนานุกรมภาษาถิ่นสุโขทัย

(เฉพาะศัพท์ที่มีการใช้จริงในชุมชนมาตั้งแต่อดีต)

"พจนานุกรมภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา ๒๙๐ ศัพท์แรก"

ข้อมูลจากการ "ล่อมวง (ล้อมวง)" เบื้องต้น ในวันที่ ๕ พ.ย. ๕๗ ณ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา โดยการสัมภาษณ์ "กลุ่ม ๓ สาว" แม่ประเสริฐ รวยอบกลิ่น แม่ละมาย แสงสิน แม่จีบ แสงม่วง ชาวบ้านคุ้งตะเภาโดยกำเนิด (จากการสืบพงศาวลีพบว่าสืบเชื้อสายมาจากคนคุ้งตะเภาดั้งเดิม) โดยมี อ.พิมพ์ใจ ถิ่นประชา ผู้รู้ภาษาไทยถิ่นเหนือและภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา ช่วยจำแนกศัพท์ที่พ้องกับภาษาถิ่นล้านนา เพื่อตัดให้เหลือภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภามากที่สุด โดย พระมหาเทวประภาส ผู้สัมภาษณ์ เป็นผุู้เปิดประเด็นการสัมภาษณ์และทำการบันทึกการสนทนา

รวบรวมคำศัพท์ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษา จำนวน ๒๙๐ คำศัพท์

จากการเปิดประเด็น ประวัติชุมชน และที่มาของภาษาถิ่น จนถึงการสอบทานภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภากับภาษาสุโขทัยถิ่นอื่น การสนทนาเปิดประเด็นไปอย่างกว้างขวาง เพื่อผู้สัมภาษณ์สามารถเก็บคำศัพท์ที่พบระหว่างการสนทนากลุ่มโดยไม่ตั้งใจ ผู้สัมภาษณ์ทำการบันทึกคำศัพท์ที่พบ และสอบถามซ้ำอีกครั้งกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญทุกคน เพื่อมีมติยืนยันคำศัพท์ที่พบนั้น ๆ ปรากฎผล ผู้ให้ข้อมูลสำคัญเล่าว่าสำเนียงการพูดคุ้งตะเภาดั้งเดิมคล้ายกับคนบ้านพระฝาง, ท่าเสา และพบคำศัพท์ภาษาถิ่นที่ใช้เฉพาะในท้องที่บ้านคุ้งตะเภาดั้งเดิม จำนวน ๒๙๐ ศัพท์ ดังนี้

เกร็ดน่ารู้

เส้นแบ่งภาษา เหน่อ ซุ๊โข่ทั๊ย-ล้านนา ใน อุตรดิตถ์

(โดย สมชาย เดือนเพ็ญ นักวัฒนธรรมผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นสุโขทัย)

"..."เส้นภาษา" ของสำเนียงสุโขทัย กับสำเนียงล้านนา แบ่งกันที่จังหวัดตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (Reserch Institute for Languages and Cultures of Asia) บอกว่าให้ใช้คำว่า

"อร๋อย" กับคำว่า "ลำ" เป็นตัวตรวจสอบ

ถ้าหมู่บ้านไหนในสามจังหวัดฯ พูด "ลำ" คือ (ชุมชน) ภาษาถิ่นล้านนา ถ้าบ้านไหนพูดอร่อยคือสุโขทัย คือ (ชุมชน) ที่เป็นอาณาจักรสุโขทัยดั้งเดิม..."

----------------------------------------

อ้างอิง

เคียง ชำนิ, "สำเนียงพูดคนสุโขทัย," ศิลปวัฒนธรรม, ๒๒,๑ (พฤศจิกายน ๒๕๔๓) : ๙๒-๙๔.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอุตรดิตถ์, (กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร, ๒๕๔๓).

เทวประภาส มากคล้าย, คุ้งตะเภา จากอดีตสู่ปัจจุบัน : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๓).

สมชาย เดือนเพ็ญ นักวัฒนธรรมผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นสุโขทัย ใน "เวทีประชาคมเพื่อชุมชนเข้มแข็ง ภาษาสุโขทัยรากฐานแผ่นดิน" http://youtu.be/t3DAjBKdc-s

*ขอบคุณข้อมูลจาก เพจ "ตำนานสังคโลก เมืองพระร่วง" https://th-th.facebook.com/thaisanghaloke

*ขอบคุณข้อมูลจาก บทความ "ภาษาสุโขทัย" https://www.gotoknow.org/posts/10265

De La Loubre, Description Du Royaume de Siam, Volume 1.

อ้างอิงบทความนี้ เว็บไซต์วัดคุ้งตะเภา, ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา, [ออน-ไลน์], เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/kitchakam/kungtapaomuseum/language เข้าถึงเมื่อ วัน-เดือน-ปี.