รวมบทความ: มังคละเภรี

ประมวล

องค์ความรู้

"มังคละเภรี"

มังคละเภรี

หากจะกล่าวว่า “กลอง” เป็นเครื่องดนตรีอันดับต้นๆ ที่กำเนิดขึ้นบนโลกนี้ก็คงจะไม่ผิด หากมีการค้นพบแหล่งโบราณสถานใดที่ใดๆในโลก กลองก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกค้นพบ สันนิษฐานว่า นอกจากจะใช้ตีเป็นจังหวะประกอบการบรรเลงเครื่องดนตรีเพื่อการเซ่นสรวงบูชา พิธีกรรมทางศาสนา ความบันเทิงแล้ว กลองยังมีบทบาทในการเป็นเครื่องหมายแห่งการบ่งบอกสัญญาณต่างๆ อีกด้วย

มังคละเภรี เป็นชื่อของวงดนตรีพื้นบ้านที่เก่าแก่และทรงคุณค่าของกลุ่ม 3 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างของลุ่มน้ำยมและน่าน ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์ เครื่องดนตรีประกอบวงมังคละเภรี ได้แก่ กลองมังคละ (จ๊ดโกร๊ก,ต๊กโตร๊ก,อีล๊ก,บังคละฯลฯ) 1 ใบ กลองสองหน้า 2 ตัว (ตัวผู้ เรียกกลองหลอน ตัวเมีย เรียกกลองยืน) ฆ้องโหม่ง 3 ใบ ฉาบ 2 ตัว (ฉาบใหญ่หรือฉาบยืน และฉาบเล็กหรือฉาบล่อ)

หากเดินทางไปในเขตอำเภอเมืองและอำเภอพรหมพิราม ของจังหวัดพิษณุโลก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย หรืออำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ จะมีโอกาสได้ยินเสียงของวงดนตรีพื้นบ้านอีกประเภทหนึ่งซึ่งเปรียบเสมือนวัฒนธรรมร่วมของพี่น้องใน 3 จังหวัดลุ่มน้ำยมและน่านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยเสียงที่แปลกหูจากกลองตัวเล็กๆคล้ายกลองยาว ตีด้วยไม้หวายพันเชือกแทนมือ แต่มีเสียงดังกังวาลจนน่าประหลาดใจ ดังโกร๊กๆๆๆ ผสมผสานกับกลองสองหน้าคล้ายกลองแขกที่คอยตีขัดกัน ทั้งยังมีฆ้องโหม่งแขวนอยู่บนคานหามสวยๆ 3 ลูก เสียงปี่ที่ดังกึกก้องเสมือนการเชิญชวน บวกฉาบเล็ก ฉาบใหญ่อย่างละคู่ บรรเลงอย่างสนุกเร้าใจให้บรรดานางรำรุ่นใหญ่ที่อยู่หน้าขบวนร่ายรำกันอย่างสนุกสนาน

มังคละคืออะไร จากการพูดคุยกับบรรดาชาวบ้านที่เคยได้เห็น ได้ยินกันมาต่างก็เล่าว่า มังคละเป็นชื่อของวงดนตรีเก่าแก่ที่เล่นกันมากใน 3 จังหวัด ไม่รู้ว่ามาจากไหน เกิดมาก็พบเห็นและได้ยินแล้ว แต่ชื่อเรียกอาจมีต่างกันไปบ้าง ส่วนใหญ่จะเรียกกันตามเสียงของกลองมังคละว่า โกร๊กบ้าง จ๊ดโกร๊ดบ้าง แต่เครื่องดนตรีเป็นชนิดเดียวกัน เล่นกันมากในงานบุญ ทั้งแห่พระ กฐิน ผ้าป่า บวชนาค ขึ้นบ้านใหม่ งานเทศกาลต่างๆ หรืองานศพก็มีบางบ้านเอาไปเล่นแต่ตัดกลองตัวเล็กออกไป คือใช้ทั้งงานมงคลกระทั่งงานอวมงคลนั่นแหละแต่รูปแบบการบรรเลงก็แล้วแต่บ้านใครบ้านมันจะคิดชื่อ ลูกเล่นที่แปลก พิศดารตามจินตนาการของแต่ละวง

เครื่องดนตรีของแต่ละประเทศแต่ละวัฒนธรรมในโลกนี้ ได้มีระเบียบการจัดหมวดหมู่ของเครื่องดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละประเทศ ซึ่งมีเหตุผลและวัตถุประสงค์ในการจัด ที่แตกต่างกันออกไป เช่น เพื่อการจัดวงดนตรี เพื่อการพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ การจัดหมวดหมู่นั้นก็เพื่อให้เกิดความสะดวกในการศึกษาและทำความเข้าใจในเครื่องดนตรีของแต่ละประเทศ แต่ละวัฒนธรรม การจัดหมวดหมู่ของเครื่องดนตรีของอินเดียมีอยู่ด้วยกันหลายระบบ ระบบของท่านภรตมุนี จัดว่าเป็นระบบที่เก่าแก่มากที่สุดในโลก ความคิดในการจัดหมวดหมู่ตามระบบนี้ปรากฎพบเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนในตำรา “นาฏยศาสตร์” ซึ่งท่านภรตมุนีได้ร้อยรจนาขึ้นเมื่อช่วงระยะเวลาประมาณ 200 ปีก่อนคริสต์ศักราชถึง 200 ปีหลังคริสต์ศักราช หลักเกณฑ์ในการจัดหมวดหมู่ตามระบบดังกล่าวนี้ได้ปรากฎพบอีกครั้งหนึ่งในตำราเฉพาะทางดนตรีชื่อ “สังคีตรัตนากร” ซึ่งรจนาโดยท่านศรางคเทพ ในประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งเป็นเล่มเดียวกับที่สมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างถึง ระบบดังกล่าวแบ่งเครื่องดนตรีเป็น 5 หมวดหมู่ ได้แก่

ตะตะ (Tata) Plucked Stringed Instruments

วิตะตะ (Vitata) Bowed-Stringed Instruments

สุษิระ (Sushira) Blown Air

อวนัทธะ (Avanaddha) Membranous Percussive

ฆะนะ (Ghana) Non-MembranousPercussive

กิจกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์นั้น มักจะใช้ดนตรีเพื่อปลดปล่อยบางสิ่งบางอย่างไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมหรือการทำงาน การเต้นรำและเทคนิคการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหลายมักจะใช้ดนตรีเป็นสื่อในการแสดงเพื่อทำให้นักดนตรีตระหนักถึงตัวตน หากพิจารณาตามคำนิยามที่ว่าด้วยดนตรีพื้นบ้านหรือโฟล์กมิวสิคจากหนังสือเอนไซโคพีเดีย บริทานิก้า (Encyclopaedia Britanica )( พบว่าดนตรีพื้นบ้าน มีลักษณะสรุปได้ดังนี้

1) ดนตรีพื้นบ้าน คือ เสียงดนตรีที่ถ่ายทอดกันมาตามประเพณีมุขปาฐะ เรียนรู้ผ่านการฟังมากกว่าการอ่าน

2) ดนตรีพื้นบ้านเป็นสมบัติของชาวบ้าน เป็นเพลงที่สร้างสรรค์ใหม่ของกลุ่ม

3) หน้าที่ของดนตรีมิได้เกิดขึ้นเพื่อความบันเทิงเป็นสำคัญ แต่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรอื่น เช่นพิธีกรรม การทำงาน การเต้นรำ ฯลฯ ในสังคมชาวบ้านแบบดั้งเดิม ดนตรีเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในพิธีกรรม และประเพณีต่าง ๆ เสมอดนตรีพื้นบ้าน แต่งขึ้นเฉียบพลันทันทีจากปฏิภาณของผู้เล่นโดยไม่มีการเขียนโน้ตเพลง ซึ่งต่างไปจากดนตรีซึ่งเล่นเพลงทั่วไป

ดนตรีมังคละ หรือมังคละเภรี ถือเป็นดนตรีพื้นเมืองซึ่งมีรากฐานมาจากดนตรีพิธีกรรมที่มีความสำคัญยิ่งของชาวภาคเหนือตอนล่าง มีรูปและวิธีการเล่นที่เป็นแบบฉบับของตนเองมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยสุ้มเสียง และลีลาที่รุกเร้า จังหวะจะโคนที่ครึกครื้น สนุกสนาน มังคละจึงมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวภาคเหนือตอนล่างมานานโดยเฉพาะชาวจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลกและอุตรดิตถ์ บทบาทของวงมังคละใช้สำหรับการแห่หรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ อันเกี่ยวกับศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี และใช้ประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับงานมงคลและงานอวมงคล เช่น งานกฐิน งานผ้าป่า งานตรุษสงกรานต์ งานบวช งานศพ และงานในเทศกาลต่างๆ วงมังคละสามารถใช้บรรเลงได้ทุกโอกาสและสามารถใช้ประกอบการแสดงท่ารำด้วย สำหรับจังหวัดอุตรดิตถ์ นิยมเล่นงานแห่ต้นผึ้ง (วันเพ็ญเดือน 6) งานแห่ต้นเทียน งานแห่ธง ประเพณีสรงน้ำพระวันสงกรานต์ บวชพระ แห่นาค

คำว่า “มังคละ” ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง มงคลหรือเหตุที่นำมาซึ่งความเจริญ ซึ่งเป็นคำบาลีและสันสกฤต ชื่อของกลองมังคละหรือมังคละเภรี สันนิษฐานว่า ได้มาจากคำว่า “มงคลสูตร” ซึ่งผู้ทำกลองจารึกไว้บนใบตาลแล้วใส่ไว้ในกลอง

สุจิต์ วงเทศษ์ ได้กล่าวถึงลักษณะของมังคละเภรีว่า ในประเทศศรีลังกาซึ่งในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียตอนใต้ มีวงดนตรีที่มีรูปแบบของวงที่มีความคล้ายคลึงกับวงมังคละเภรีของประเทศไทย และมีชื่อเรียกว่า “วงมังคลเภรีและวงอวมังคลเภรี” เช่นกัน

ร่องรอยความเชื่อเกี่ยวกับประวัติ ความเป็นมาของดนตรีมังคละเภรี ที่สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา คือ ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงค์ แล้วเสด็จกลับลงมายังเมืองสังกัสสะนคร ขณะที่เสด็จลงมานั้น ได้มีคนธรรพ์มาขับร้องและบรรเลงดนตรีเพื่อเป็นพุทธบูชา ปี่กลองหรือดนตรีที่คนธรรพ์นำมาบรรเลงถวายนั้น มีลักษณะเหมือน เครื่องดนตรีของไทยที่เรียกว่า “มังคละ” ซึ่งแปลว่า ดนตรีที่มีความเป็นมงคล ซึ่งร่องรอยแห่งความเชื่อนี้มีความสัมพันธ์กับการบรรเลงมังคละเภรีของศรีลังกา ที่ใช้ในการตีประโคมบูชาพระเขี้ยวแก้วเพื่อเป็นพุทธบูชาเช่นเดียวกัน

รูปแบบของวงดนตรีในลักษณะของวงมังคละของชาวศรีลังกานั้นเป็นรูปแบบที่ปรากฏโดยทั่วไปในประเทศอินเดียตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งล้วนแต่มีจุดประสงค์หลัก คือ เพื่อแห่แหนและการเฉลิมฉลองด้วยกันทั้งสิ้น ในอดีตนั้นวงดนตรีลักษณะนี้ ปรากฏหลักฐานทางวรรณกรรม เช่น ในพระไตรปิฎก รามเกียรติ และมหาภารตะยุทธ์ และหลักฐานทางจิตรกรรมฝาผนังที่ถ้ำอชันตะ ในปัจจุบันพบวงดนตรีที่มีรูปแบบและลักษณะที่คล้ายคลึงกับวงมังคละของประเทศไทยและประเทศศรีลังกาในประเทศอินเดีย ประกอบด้วย กลอง ฆ้องเหม่ง และปี่ลิ้นคู่ ซึ่งวงดนตรีดังกล่าวนี้ชาวอินเดียนิยมใช้บรรเลงในขบวนแห่เฉลิมฉลองในเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและงานรื่นเริงทั่วไป ได้แก่ วงปัญจวาทยะของรัฐโอริสสา (The Panchavadva of Orissa) วงนายยันทิเมลัมของรัฐทมิฬนาดู (The Nayyandi Melam of Tamil Nadu)

การกำเนิดของศิลปะการแสดงมังคละเภรีในประเทศไทยนั้น จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สามารถสันนิษฐาน ว่ามีมูลเหตุ 3 ประการ คือ

1.การเสื่อมของศาสนาพราหมณ์

จากประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ชาวอินเดียเป็นชนชาติแรกที่เดินทางสู่คาบสมุทรทางภาคใต้ของไทยมากที่สุด ชาวอินเดียเหล่านี้ได้นำศาสนาไปเผยแผ่ด้วย ศาสนสถาน ศิลปวัตถุ ดนตรี ศิลปะการแสดง พิธีกรรมและคติความเชื่อทั้งของศาสนาพราหมณ์- ฮินดูและศาสนาพุทธก็ปรากฏหลักฐานให้เห็นอยู่กระทั่งในปัจจุบันนี้ แต่เดิมชาติพราหมณ์น่าจะมีจำนวนมากทั่วสยามและบรรดาพราหมณาจารย์น่าจะมีอำนาจในการปกครอง แต่แล้วอำนาจหรือความสำคัญทางการปกครองนั้นค่อย ๆ สลายไป โดยมีเจ้านายพื้นเมืองกับอุดมการณ์ในพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์มาทดแทน โดยมีหลักฐาน คือ ที่จังหวัดสุโขทัย มีเทวสถาน 3 แห่ง คือ วัดศรีสวาย 1 วัดพระพายหลวง (มีมาแต่ครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 12 สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2) และศาลตาผาแดง อันเป็นเทวสถานที่ปราชญ์ส่วนใหญ่ว่าเป็นของสมัยบายน (ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 12) ซึ่งสรุปได้ว่า ทั้งสามแห่ง สร้างขึ้นมาเนื่องในศาสนาพราหมณ์และน่าจะสร้างขึ้นมาก่อนสมัยสุโขทัย ซึ่งล้วนแต่มีมาจากสมัยพระยาลิไท (กลางศตวรรษที่ 14) และที่สำคัญก็คือผู้ที่ข้ามมหาสมุทรมาค้าขายและติดตั้งชุมชนชาวอินเดียในอุษาคเนย์น่าจะเป็นพ่อค้าและพราหมณ์ จากอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียที่ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาสู่ดินแดนสยาม ซึ่งการเข้ามาของอารยธรรมอินเดียนี้ ได้มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงหลายประการต่อสยามประเทศในขณะนั้น เช่น การเมือง การปกครอง ภาษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า อารยธรรมต่างๆของอินเดียได้เกิดการปะทะสังสรรค์ทางด้านวัฒนธรรมดนตรีด้วย และสันนิษฐานว่าวงมังคละเภรีนี้ไทยคงได้รับแบบแผนมาจากประเทศอินเดียนี่เอง

2. การเผยแผ่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากศรีลังกา

พระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันเมื่อประมาณ พ.ศ. 236 ซึ่งเป็นสมัยเดียวกันกับประเทศศรีลังกา ด้วยการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ จำนวน 9 สาย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ในขณะนั้นประเทศไทยรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง มีประเทศรวมกันอยู่ในดินแดนส่วนนี้ทั้ง 7 ประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย

เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงได้สดับถึงกิตติศัพท์ความงามของพระสงฆ์ลังกา จึงทรงอาราธนาพระมหาเถระสังฆราช ซึ่งเป็นพระเถระชาวลังกาที่มาเผยแผ่ในนครศรีธรรมราช ให้มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกรุงสุโขทัยด้วย พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จึงได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย ถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และครั้งที่ 2 ในสมัยของพระมหาธรรมราชาที่1(ลิไท) ซึ่งในครั้งนี้สันนิษฐานว่าพระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 93 (วัดอโสการาม) ว่า “ทรงได้พระบรมธาตุมาแต่ลังกา 2 องค์” และ “พญาลิไทจะทรงผนวช จึงอัญเชิญมหาสามีสังฆราชจากลังกามาเป็นพระอุปัชฌาย์”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับดนตรีมังคละเภรีว่าเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อไรและเข้ามาจากแหล่งใด แต่หลักฐานจากจารึกแสดงว่า ในรัชสมัยของพระยาลิไทนั้น ได้ทรงนำพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์จากลังกาเข้ามา ดังที่ปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 93 (วัดอโสการาม) ว่า “ทรงได้พระบรมธาตุมาแต่ลังกา 2 องค์” โดยเฉพาะองค์พระมหาสามีสังฆราชและพระผู้ใหญ่อีกหลายรูปก็มีการไปมาหาสู่กันระหว่างสุโขทัยกับลังกา

ดังนั้นการที่ดนตรีมังคละจะเข้ามาจากลังกาในสมัยพระยาลิไทนั้นมีความเป็นไปได้สูงสุด เพราะมีหลักฐานสนับสนุน คือ ดนตรีมังคละในลังกา ซึ่งจะพบเมื่อไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วตอนรุ่งอรุณ เวลาเพล หรือตอนอาทิตย์ตกดิน จะได้ยินเสียงกลองขนาดเล็กเสียงดังมาก รัวโกร๊กๆ โกร๊กๆ ขาดแต่ฆ้อง ของเขามีแต่ฉิ่งกับฉาบเป็น “ฆนํ” ดนตรีชนิดนี้ภาษาสิงหลเรียกว่า “มคุล เพเร” ตรงกับบาลีว่า “มังคละเภรี” และไทยคือ “กลองมังคละ” (ดนตรีชนิดนี้มีประวัติความเป็นมาช้านาน เดิมทีเดียวเป็นของทหาร คล้ายกลองสะบัดชัยของเรา เป็นการประโคมดังและรวดเร็วเพื่อให้กำลังใจกองทัพฝ่ายเราและข่มขู่ศัตรูให้สะพรึงกลัว ในขณะเดียวกันเอามาใช้ในวัง เพราะทหารเป็นฝ่ายถวายอารักขา เช้าเย็นจะมีการประโคมมังคละถวายบังคม ในขบวนเสด็จทหารจะนำหน้าโดยเป่าปี่ตีกลองและร่ายรำเป็นการสำแดงถึงพระเดชานุภาพ ที่ร่ายรำนั้นจะไม่ทำอ่อนหวานสวยงามแต่จะทำแบบดุร้าย ชูศอกชูเข่า ทำเป็นรำอาวุธต่างๆ ทำท่าผลักดันศัตรูตลอดจนตีลังกาก็มี ต่อมาภายหลังพระมหากษัตริย์ผู้ศรัทธาในพระศาสนา ทรงเห็นดนตรีมังคละและการรำมังคละเป็นของสูง จึงมีศรัทธาถวายวัด จึงกลายเป็นเครื่องประดับพระบารมีพระเขี้ยวแก้วและพระเจดียสถานที่สำคัญ ๆ จนถึงทุกวันนี้

นอกจากจะใช้ดนตรีมังคละในการประดับพระบารมีพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ชาวบ้านใน ศรีลังกายังใช้ดนตรีมังคละในพิธีมงคลทุกชนิด เช่น เมื่อจะเผดียงพระไปสวดพระปริตต์ที่บ้านคหบดี ก็จะมีการจ้างวงมังคละนำหน้าในการแห่พระจากวัดตามคันนาไปถึงบ้าน เมื่อให้ติสรณะและปัญจศีลแล้วก็ให้มีการประโคมมังคละเพื่อเป็นการขับไล่เสนียดจัญไร และเป็นการอัญเชิญเทวดามาร่วมบุญร่วมกุศลด้วย ดนตรีชนิดนี้จึงได้ชื่อว่าเป็น “มังคละ”

ไมเคิล ไรท์ ได้กล่าวถึงกลองมังคละในประเทศศรีลังกาว่า “วันรุ่งขึ้นหนีลงใต้สู่โรหณะชนบท ซึ่งเปรียบเสมือนแดนหลบภัยของกษัตริย์อนุราชปุระแดนที่อยู่ในการปกครองของสมเด็จมหาราช ผ่านแพทุลฺละ แวะชมวัดสยามวงศ์ ชาวบ้านแถวนั้นจัดงานทำบุญที่บ้าน พระจึงยกออกจากวัดเป็นขบวน มีวงมังคละนำหน้าเป็นเกียรติ”

การที่พระพุทธศาสนาเข้ามาแทนที่ศาสนาพราหมณ์ สามารถสะท้อนเหตุการณ์ในยุคนั้น ทั้งภายในและภายนอกว่า เหตุการณ์ภายใน คือ พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์น่าจะมีบทบาทในการเป็นอุดมการณ์ที่ทดแทนอุดมการณ์ของพราหมณ์ได้ โดยส่งเสริมให้ชาวพื้นเมืองผู้ที่ไม่ได้เข้าสังกัดวรรณะทั้ง 4 สามารถขึ้นมาปกครองกันเอง ในขณะเดียวกันการที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ได้เจริญรุ่งเรืองในบ้านเมืองนี้ขึ้นมา ก็น่าจะสะท้อนการเติบโตของชนชั้นปกครองพื้นเมืองที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยพราหมณ์เป็นผู้นำในการจัดสังคม เพราะในสังคมแบบเก่านั้น มีความต้องการพราหมณ์เพื่อมาชี้ขาดว่าใครเป็นผู้ใหญ่ ใครเป็นผู้น้อย และรักษาสวัสดิศรีของบ้านเมืองด้วยการประกอบพิธีกรรมในสมัยหลังชาวพื้นเมืองสามารถกำหนดกันเองว่าใครเป็นใหญ่เป็นโตโดยอาศัยการวัดพระบารมี เกิดจากการทำบุญให้ทาน เหตุการณ์ภายนอก คือ ในการเปลี่ยนแปลงทางศาสนานั้นสามารถสะท้อนเหตุการณ์ในอินเดีย-ลังกา ในคริสต์ศตวรรษที่ 13ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ เมื่ออินเดียเหนือได้ถูกกองทัพอิสลามบดขยี้ และอินเดียก็ใต้ถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ในเหตุการณ์ที่ระส่ำระสายเช่นนี้ ทำให้การติดต่อระหว่างอินเดียกับสยาม (และเขมร,ชวา) หายขาดไปช่วงหนึ่ง และการที่มีพราหมณ์ใหม่ ๆ เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาฮินดู-พราหมณ์น้อยลง ประชากรพราหมณ์เก่ามีการแต่งงานกับหญิงพื้นเมืองมากขึ้น จนตระกูลกลายเป็นพราหมณ์ไทย และอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อราชวงศ์ต่างๆในอินเดียใต้เกิดการวิวาทอยู่นั้น เกาะลังกาซึ่งได้พ้นอันตรายและกำลังฟื้นตัวขึ้น และได้มีการก่อตัวเป็นกำลังภายใต้การปกครองของกษัตริย์ที่แข็งแรง จึงมีการแบ่งการค้าระหว่างตะวันออกและตะวันตกจากอินเดีย และส่งอิทธิพลทางศาสนามาถึงอุษาคเนย์ เพราะพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์นั้น ได้เผยแผ่เข้ามาสู่ศรีลังกาในพุทธศตวรรษที่ 3 ในระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยาติสสะ (Davanumpiyatissa) ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ร่วมสมัยกับพระเจ้าอโศกมหาราช

เมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 มีหลักฐานปรากฏว่า คนไทยได้ก่อตั้งแว่นแคว้นของตนเองขึ้นในเวลาไล่เรี่ยกันอย่างกว้างขวางทั่วไป นับจากเหนือสุดต่อจากดินแดนจีนเรื่อยลงมาทางใต้ตามแกนภูมิศาสตร์ เป็นแนวยาวลงไปเกือบสุดปลายของแหลมมลายู คือ นับจากสิบสองปันนา ล้านนา สุโขทัย ละโว้ สุพรรณภูมิ นครศรีธรรมราช เป็นต้น มีผลอย่างกว้างขวางมั่นคงในพุทธศตวรรษ 18-19 และภายหลังการทำสังคายนาครั้งที่ 4 ในลังกา ราว พ.ศ.1696 ครั้งพระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราช ซึ่งได้แบบแผนในลัทธิพระธรรมวินัยสำคัญที่แพร่หลายเข้ามาในสยามประเทศ คือ มีพระสงฆ์ชาวมอญ พม่า ไทย เขมร ออกไปบวชแปลงในลังกาทวีปตั้งแต่ราว พ.ศ. 1700 เศษ ในขณะเดียวกันก็มีพระสงฆ์ ชาวลังกา เช่น พระราหุลเถระ พระพุทธคำเถียร และพระองค์อื่นๆอีกหลายรูปเป็นผู้เดินทางนำพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่ด้วย จึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกันบทบาททางวัฒนธรรมของชาวอินเดียที่ศาสนาฮินดูสนับสนุนชนชั้นซึ่งเน้นทางโลกที่เคยเข้ามาเจริญรุ่งเรืองอยู่ก่อนนานแล้วก็ได้เสื่อมไป พุทธศาสนาเถรวาท ลัทธิใหม่ของชาวลังกาซึ่งเน้นทางธรรมเข้ามาสวมบทบาทแทนอย่างกว้างขวางและรวดเร็วมาก พุทธศาสนานิกายมหายานและศาสนาพราหมณ์ที่เคยเจริญรุ่งเรืองอยู่ก่อนจึงเสื่อมโทรมมากและแทบจะสูญไป แม้แต่พุทธศาสนานิกายเถรวาทนิกายดั้งเดิมก็หมดบทบาทลงเช่นกัน

ด้วยกระแสความนิยมที่มาอย่างรุนแรงของพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ กล่าวคือ นักบวชพราหมณ์ (บาคู-เขมร) เหลือน้อย ที่มีอยู่ก็เป็นเฉพาะเป็นที่ปรึกษาประจำราชสำนักเท่านั้น โดยเน้นพิธีสวดมนต์ ท่องบทคาถาวิเศษ ประกอบพิธีกรรมต่างๆทางไสยเวทย์ในแวดวงจำกัด เน้นส่งเสริมอำนาจบารมีทางการเมืองให้เฉพาะกษัตริย์ผู้ปกครองตามลัทธิเทวราชมากกว่า โดยที่ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์และจิตวิทยาเข้าถึงสามัญชนได้อย่างสนิทแนบแน่นและมีอุดมการณ์ได้เลย ส่งผลให้ชาวลังกาผู้ที่เข้ามาใหม่ซึ่งเป็นผู้นำพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ ที่ได้รับการสังคายนาใหม่ มีความถูกต้องและบริสุทธิ์ดีกว่าแล้ว เข้ามาทำการเผยแพร่โดยไม่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะใช้วิธีการเข้าหาประชาชนชั้นสามัญธรรมดา ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ มีพระสงฆ์เป็นผู้ชี้หนทางสว่าง มีความสามารถในการนำพระธรรมคำสอนมาอธิบายได้อย่างง่ายๆให้เข้าใจตามตรรกะว่า บาปและบุญคืออะไร มนุษย์ไม่ว่ายากดีมีจนทุกผู้ทุกนามล้วนอยู่ที่ผลของการกระทำดีชั่ว ซึ่งผลกรรมที่ได้รับจะเป็นอย่างไร ทำไมต้องมีศีล สมาธิและปัญญา (ไตรสิกขา) ชีวิตจะเป็นสุข มีความหลุดพ้น มีหลักธรรมปฏิบัติอะไรบ้าง ไตรลักษณ์และมัชฌิมาปฏิปทาคืออะไร เป็นต้น พระสงฆ์ชาวลังกานั้น คือ “นักเทศน์” ที่สามารถพูดภาษาถิ่น เล่าชาดกพุทธประวัติได้อย่างพิศดารและแตกฉาน จึงสามารถโน้มน้าวจิตใจ และสร้างความเชื่อถือแก่ชาวบ้านได้อย่างรวดเร็ว จากเหตุผลที่ลัทธิความเชื่อแบบเก่าถูกลดบทบาทและความเลื่อมใส ศรัทธาในการเผยแพร่พระธรรมของพระสงฆ์ชาวลังกา จึงส่งผลให้พุทธศาสนาเถรวาทจากลังกาซึ่งมุ่งการพึ่งพาตนเอง เน้นการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ไม่มุ่งหวังแต่การอ้อนวอนเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาล เป็นที่เคารพศรัทธา แพร่หลายกับราษฎรทุกหมู่เหล่ามากขึ้น ตั้งแต่ระดับสูงสุด ได้แก่กลุ่มชนชั้นปกครอง กษัตริย์ ผู้ปกครอง จนถึงไพร่ฟ้าประชาชนทั่วไป และพัฒนามาจนกลายเป็นศาสนาประจำชาติในกาลสืบมา

3.จารึกและหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรต่างๆที่กล่าวถึง

บทเพลง ดนตรีและนาฏศิลป์ไทยในสยามประเทศนั้น ล้วนแต่ได้รับแบบแผนมาจากอินเดีย ตามแนวคิดเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสว่า Indianize States โดยผ่านมอญและขอม แนวคิดแบบ ราชาชาตินิยมหรือราชสำนักนิยม ทำให้ยกย่องเพลง ดนตรีและนาฏศิลป์ของราชสำนักว่าเป็นต้นแบบของความเป็นไทย แล้วยกย่องเฉพาะราชสำนักสุโขทัยและอยุธยาแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น แต่ไม่ยกย่องลุ่มน้ำอื่นๆ เช่น ลุ่มน้ำโขง, ชี, มูล ฯลฯ แนวคิดนี้ทำให้ยกย่องเฉพาะปี่พาทย์, มโหรี, เครื่องสาย เป็นดนตรีไทย แต่สะล้อ ซอ ซึง และ แคน-โปงลางเป็นพื้นเมือง หมายความว่าไม่ใช่ “ไทย”หลักฐานเป็นพันๆปีของเพลงดนตรีและนาฏศิลป์ไทยสยามสุวรรณภูมิมีทั่วไปและมีมากมายหลากหลายทั่วทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์

เพลงดนตรีและนาฏศิลป์ไทยสยามที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นผลของพัฒนาการยาวนานมาก อย่างน้อย 3,000 ปีมาแล้ว ฉะนั้นจึงไม่ใช่ของเดิมแท้ แต่เป็นสิ่งใหม่ที่มีรากเหง้าความเป็นมาหลายทิศทางและหลายอย่างเคล้าคละปะปนอยู่ด้วยกัน แต่อาจแยกได้อย่างน้อย 2 กลุ่ม ดังนี้

1) เพลงดนตรีและนาฏศิลป์ปัจจุบันมีทั้งสมบัติดั้งเดิมดึกดำบรรพ์อยู่ “ภายใน” กับแบบแผนต่างประเทศที่รับเข้ามาจาก “ภายนอก” ผสมผสานจนเป็นเนื้อเดียวกัน

2) ลักษณะผสมผสานระหว่างภายในกับภายนอกทำให้มีเพลงดนตรีและนาฏศิลป์อย่างน้อย 2 ระดับ คือ ระดับราษฎร์ (Little Tradition) อยู่กับชุมชนท้องถิ่นและระดับหลวง(Great Tradition) อยู่ในราชสำนักและชนชั้นสูงกับชนชั้นกลางหรือชนชั้นพิเศษ

ช่วงประมาณหลัง พ.ศ. 1000 หรือราว 1,500 ปีล่วงมาแล้วการค้าในโลกทางทะเลอันดามัน ได้นำพุทธศาสนา-พราหมณ์เข้ามาถึงดินแดนสุวรรณภูมิ พร้อมเพลงและดนตรีจากภายนอก คือ อินโด-เปอร์เซีย ซึ่งหมายถึง อินเดีย และอิหร่าน เครื่องมือสำคัญที่กลุ่มชนเหล่านี้ได้นำติดตัวมาด้วย คือ สรไน ซึ่งมีชื่อเรียกต่อมาภายหลังว่า ปี่ไฉน พร้อมด้วย เครื่องหนัง ได้แก่ กลองหลายชนิด เช่น กลองชนะ ฯลฯ ใช้บรรเลงรวมกันตามประเพณีอินโด- เปอร์เซียเรียกว่า “ปัญจตุริย” หรือ “เบญจดุริยางค์” ซึ่งประกอบไปด้วย ปี่ 1 เลา กับกลอง 4 ใบ โดยชาวพื้นเมืองเรียกในชื่อ กลอง 4 ปี่ 1 แต่บางท้องถิ่นมีเรียกชื่อไปต่างๆกัน เช่น ในจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดพิษณุโลก เรียกว่า “มังคละ” ตามแบบลังกา ในภาคใต้เรียกว่า “กาหลอ” โดยตัดคำจากมังคละเดียวกัน โดยที่ในระยะเวลาต่อ ๆ มาได้ปรากฏว่ามีเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์ อันได้แก่ ดนตรี ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องมือทางศาสนาทยอยแพร่ เข้ามา เช่น แตร, สังข์, บัณเฑาะว์, มรทิงค์ (ตะโพน) ฯลฯ หลักฐานเหล่านี้มีทั้งจารึกและภาพสลักที่ทำสืบเนื่องต่อมาถึงยุคหลังๆ เช่น นครวัด นครธม เป็นต้น

ประวัติความเป็นมาของการละเล่นมังคละเภรีนี้ ไม่ปรากฏว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่มีข้อสันนิษฐานว่า อาจมีการเล่นกันอย่างแพร่หลายในสมัยสุโขทัย เนื่องจากเครื่องดนตรีมังคละเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากเกาะศรีลังกา ซึ่งในสมัยสุโขทัยนั้นมีหลักฐานปรากฏถึงความความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับศรีลังกาโดยผ่านนครศรีธรรมาราช ซึ่งหลักฐานแห่งการเข้ามาของพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ คือ ตำนานเมืองนครศรีธรรมาราช ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยเมืองนครศรีธรรมาราช ที่กล่าวว่า

“ก็ปรากฏว่ามีพระสงฆ์เดินทางมาจากลังการ่วมมือด้วยและหัวหน้าสงฆ์รูปหนึ่งชื่อ

มหาพุทธคำเพียร(เภียร)” และข้อความว่า“...มหาพุทธคำเพียรก็ว่าอยู่ไสจะวิวาทกันนัก... จึงพร้อมด้วยบริวาร ...ให้แต่งสำเภา...” มายังนครศรีธรรมราช เสร็จแล้วคนสามกลุ่ม “...ก็ตริกันจะตั้งเมืองแห่ง หาดทรายทะเลรอบโพ้น แล้วจะตั้งมฤคเจดีย์และพระพุทธรูปไว้ให้วันทนาในตำบลแห่งโพ้นตาม พุทธคำเพียรสนทนาเถิง พระทันต (ธาตุ) พระพุทธเจ้านั้นแล...”

หลักฐานสำคัญอีกประการหนึ่งที่บ่งชี้ว่าพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์มีอิทธิพลทั้งด้านศาสนาและศิลปกรรมต่อดินแดนไทย ได้แก่ สถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุแบบศิลปะลังกา คือทรงระฆังคว่ำ (หรือโอคว่ำ) ที่สร้างขึ้น โดยอาศัยพระสงฆ์และช่างจากศรีลังกามาเป็นต้นแบบในก่อสร้างด้วย และการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นี้ ได้ส่งผลให้พุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ ศรีลังกาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 ได้แพร่ขยายและอยู่ในนครศรีธรรมราช และดินแดนคาบสมุทรไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 อาจกล่าวได้ว่า นครศรีธรรมราชคือศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่รับอิทธิพลจากอินเดียและลังกาแล้วส่งต่อมายังบ้านเมืองในภาคกลางและภาคเหนือ เพราะในตำนานพงศาวดารก็ได้ระบุให้เห็นชัดเจน ว่า นครศรีธรรมราชเกี่ยวข้องกับลังกาเป็นอย่างมาก การยอมรับการเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมของนครศรีธรรมราชจึงปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่หนึ่ง ที่กล่าวว่า บรรดาพระเถระผู้ใหญ่ที่เรียกว่า “ปู่ครู” ในเมืองสุโขทัยนั้นล้วนมาจากเมืองนครศรีธรรมราชทั้งสิ้น ดังข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวว่า

“ปู่ครูลุกแต่ศรีธรรมราช” และข้อความที่ว่า

“สังฆราชปราชญ์เรียนปิฏกไตร หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราช”

นอกจากนี้ข้อความที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 และ 2 ได้บ่งแสดงอย่างชัดเจนว่า สุโขทัยมีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองต่างๆที่ร่วมสมัยภายนอกมากมาย ทั้งทางเหนือ ทางตะวันออก และทางตะวันตก ในขณะเดียวกันทางใต้นั้นมีความสัมพันธ์กับแพรกศรีราชา สุพรรณภูมิ เพชรบุรี ราชบุรี เรื่อยลงไปจนถึงนครศรีธรรมราชและคาบสมุทรมลายู

หลักฐานสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ตำนานพระพุทธสิหิงค์ ของพระโพธิรังสีที่กล่าวว่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ.1820-1860)มีพระภิกษุจากลังกา เดินทางเข้าสู่สยามประเทศ พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงทราบถึงกิติศัพท์ที่เลื่องลือของพระพุทธสิหิงค์ ว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์และมีพุทธลักษณะที่งดงาม จึงทรงขอให้พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช แต่งทูตเชิญพระสาส์นไปขอประทานพระพุทธสิหิงค์จากเจ้ากรุงลังกา และเนื่องด้วยเมืองทั้งสองมีการติดต่อสัมพันธ์อยู่กับลังกาอย่างใกล้ชิด จึงเป็นไปตามพระราชประสงค์ เมื่ออัญเชิญมาประดิษฐานที่นครศรีธรรมราช ได้มีการ จัดงานพิธีสมโภชใหญ่โตเป็นเวลา 7 วัน พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้ให้ช่างท้องถิ่นจำลองไว้บูชา1 องค์ พ่อขุนรามคำแหงได้เสด็จไปรับพระพุทธสิหิงค์ที่นครศรีธรรมราชด้วยพระองค์เอง แล้วทำการอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ กรุงสุโขทัย ข้อความข้างต้นสามารถสันนิษฐานได้ว่า มีการปะทะสังสรรค์กันทางด้านศาสนา และศิลปวัฒนธรรมระหว่างกรุงสุโขทัยกับศรีลังกาอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่บ่งบอกถึงการกำเนิดของดนตรีมังคละในหลักศิลาจารึกหลายหลัก (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.2537: 269) เช่น จารึกหลักที่ 2 ศิลาจารึกวัดศรีชุม ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 80-81 จารึกถึงพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ได้ปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุสุโขทัย ซึ่งพระธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ว่า

“...พระเป็นเจ้าที่นั้นปาฏิหาริย์ได้สามสิบเอ็ดวัน

เหียมพระเป็นเจ้าปาฏิหาริย์ ดังอั้น เพื่อจักให้สำแดง

แก่คนทั้งหลายเพื่อให้ไปช่วยยอธรรมในลงกาทวีป...”

จารึกหลักที่ 3 ศิลาจารึกนครชุม ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 9 จารึกว่า พระมหาธรรมราชาลิไทย ได้ประดิษฐานพระศรีรัตนมหาธาตุ และได้ปลูกพระศรีมหาโพธิ์ซึ่ง

“...เอาลุกแต่ลังกาทวีปพู้น...”

บรรทัดที่ 46-50 จารึกไว้ว่า

“...เมื่อปีอันจักสิ้นศาสนาพระพุทธเจ้าที่สุดทั้งหลายทั้งอัน

…แต่พระธาตุทั้งหลายอันมีในแผ่นดินนี้ก็ดี ในเทพโลกก็ดี

ในนาคโลกก็ดี เหาะไปกลางหาว และไปประชุมกันในลังกาทวีป...”

จารึกหลักที่ 8 ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาลิไทที่ได้ทรงอัญเชิญรอยพระพุทธบาทไปประดิษฐานบนยอดเขาสุมนกูฏ โดยมีการจารึกไว้ว่า

“...ในลังกาทวีปพู้น มาประดิษฐาน ไว้เหนือจอมเขาอันนี้แล้ว...”

จากจารึกต่าง ๆ ที่กล่าวมา ทำให้เห็นร่องรอยและหลักฐานว่า ชาวเมืองสุโขทัยนั้นได้รับอิทธิพลทางด้านพุทธศาสนามาจากลังกา และนอกจากคำสั่งสอนแล้ว ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติ ที่ชาวศรีลังกาได้ประพฤติปฏิบัติต่อพระภิกษุและศาสนาที่สำคัญ ๆ ที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา เช่น พระมหาธาตุ รอยพระพุทธบาท ฯลฯ โดยการเคารพกราบไหว้ การประโคมแห่ด้วยดุริยางดนตรี ก็น่าจะมีการสืบทอดมาสู่ชาวเมืองสุโขทัยด้วยเช่นกัน

สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับดนตรีมังคละเภรีว่า วงดนตรีได้พบเห็นเป็นวงดนตรีประจำชาติศรีลังกาที่สำคัญที่สุด เรียกตามตำราที่ได้จากอินเดียว่า วงดนตรี “ปัญจดุริยะ” แต่บางทีก็เรียกว่า “ปัญจาวทยะ” หรือ “ปัญจดุริยางค์”ซึ่งเครื่องดนตรีที่เห็นทั้ง 5 ชนิดนั้น ประกอบด้วย

1.ปี่ คล้ายปี่ไฉน หรือปี่สรในของไทย

2.กลองใหญ่ขึง 2 หน้าตีหย่อน ๆ

3.กลอง 2 หน้า คล้าย ๆ กับกลองแขก

4.กลองเล็ก มีหน้าเดียว แต่มีสองลูกมัดคู่กัน ใช้ไม้ตีทำด้วยหวายขดตีให้เด้งได้ 2 อัน ถือ 2 มือ เหมือนไม้ตีขิม

5.ฉิ่ง แต่รูปร่าง และเสียงเหมือนฉาบเล็ก

ซึ่งทัศนะดังกล่าว มีความสอดคล้องกับอาจารย์ ธนิต อยู่โพธิ์ ที่ได้อธิบายถึง คำว่า “ดูรยะ” จากคำว่า “ดูรยพาท” ในศิลาจารึก หลักที่ 8 นั้น เป็นคำสันสกฤตแผลง คือ “ดูรยะ” แผลงจากคำ “ตุรยะ” หรือ “ตูริยะ” มีในภาษาสันสกฤต ถ้าบาลีรูปคำเป็น “ตุริยะ” มีกล่าวถึงในคัมภีร์บาลีหลายแห่งและในคัมภีร์อรรถกถา จำแนก “ตุริยะ” ไว้ให้เห็นได้ว่า เป็นเครื่องตีและเครื่องเป่า 5 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 “อาตยะ” คือ เครื่องตีที่ขึงหนังหน้าเดียว เช่น โทน รำมะนา กลองยาว

ประเภทที่ 2 “วัตตะ” คือ เครื่องตีที่ขึงหนังสองหน้า เช่น บัณเฑาะว์ กลองทัด

ประเภทที่ 3 “อาตตะวัตตะ” คือ เครื่องตีที่ขึงหนังทั้งตัว เช่น ตะโพน เปิงมางสองหน้า

ประเภทที่ 4 “ฆนะ” คือ เครื่องตีที่เป็นท่อนเป็นแผ่น เช่น ฆ้องโหม่ง ฉิ่ง ฉาบ กรับ

ประเภทที่ 5 “สุสิระ” คือ เครื่องเป่าที่เป็นรูโพรง เช่น สังข์ ปี่ ขลุ่ย

ตุริยะ 5 ประเภทนี้ ในอินเดียแต่โบราณกาลมา เขาเลือกคัดเลือกประเภทของเครื่องเข้าเล่นร่วมวงกัน เรียกว่า “ปัญจังคกะดุริยะ” เราแผลงคำชั้นแรกเป็น “ปัญจางคิกดุริย” หรือใช้กลับคำเป็น “บัญจดุริยางค์” แล้วแผงเป็นบาลีไทยว่า “เบญจดุริยางค์” ซึ่งหมายถึง วงดนตรที่ประกอบไปด้วยเครื่องตีและเครื่องเป่า 5 อย่าง จะเห็นได้ว่าเครื่องตีและเครื่องเป่าทั้ง 5 อย่างนี้ ไทยได้รับแบบแผนมาจากอินเดียและเป็นต้นกำเนิดของดนตรีที่ใช้กับพิธีกรรมมาแต่โบราณ และได้มีการพัฒนาการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นวงดนตรีต่าง ๆ

รูปแบบของวงดนตรีที่กล่าวมานั้น เท่าที่ได้สังเกตน่าจะเป็นวงดนตรีหลักของประเทศศรีลังกา ส่วนที่จะพลิกแพลงเพิ่มเติมมักอยู่ที่กลอง คือ เพิ่มกลองเข้าไปอีกหลาย ๆ ลูกก็ได้ แต่ตามประเพณีแล้วถือเอาเครื่องดนตรี 5 ชิ้นนี้เป็นหลัก งานทุกงานใช้วงดนตรีนี้ทั้งหมดและเรียกชื่อเดียวกันว่า “ปัญจดุริยะ” หรือ “ปัญจวาทยะ” แต่มีชื่อจำแนกออกไปอีกตามลักษณะงานและลักษณะเพลงที่บรรเลง คือ

1. ถ้าบรรเลงในงานมงคล เช่น ประโคมรับพระหรือประโคมบูชาพระเขี้ยวแก้ว เรียกว่า “มังคละเภรี”

2. ถ้าไปบรรเลงงานศพ จะเรียกว่า “อวมังคละเภรี” ลักษณะของการบรรเลง คือ ปี่ เป็นเครื่องบรรเลงนำทำนอง เคลื่อนไหวโหยหวนช่วงสั้น ๆ วนไปวนมาบ้างหยุดพักบ้าง ส่วนกลองตีขัดกันดังสนั่นหวั่นไหวไปหมด

สุจิตต์ วงษ์เทศ เสนอทัศนะต่อไปว่า ถ้าจะเปรียบเทียบกับของไทยแล้ว “มังคละเภรี” ของลังกาเป็นอย่างเดียวกับ “วงกาหลอ” ของภาคใต้และ “วงมังคละ” ของสุโขทัย-พิษณุโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าไทยรับมาจากลังกาหรือลังการับไปจากไทย แต่หมายความว่ามีต้นตออันเดียวกันคือ “ปัญจดุริยางค์” จากอินเดีย

การที่วงดนตรีของท้องถิ่นสุโขทัย-พิษณุโลก เรียกวง “มังคละ” นั้น ไม่อาจสรุปได้ว่าประเทศไทยนั้นรับแบบแผนดนตรีประเภทนี้มาจากศรีลังกา แต่เป็นไปได้มากที่จะรับชื่อเรียกตามประเพณีมาจากลังกา ในคราวที่ลังกาอาราธนาพระอุบาลีไปเผยแผ่สยามนิกายในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ประเด็นนี้ก็ไม่มีหลักฐานอื่นใดทั้งสิ้น

สุกรี เจริญสุข ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับดนตรีมังคละเภรีไว้ว่า “ดนตรีมังคละ เป็นดนตรีพื้นบ้านของชาวสยามในลุ่มน้ำยม-น่าน ในจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัยและอุตรดิตถ์เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดียตอนใต้ และประเทศลังกา ที่เรียกว่า เบญจดุริยางค์ (ในประเทศลังกาเรียกว่า “ปัญจวาทยะ” และภาษาอินเดียตรงกับคำว่า Paneaturiyanha ซึ่งแปลว่า เครื่องห้า)

ในปัจจุบัน ประเทศศรีลังกายังคงใช้ดนตรีประเภทนี้ประโคมแห่รับ-ส่งพระและยืนตีเป่าประโคม พระวิหารพระเขี้ยวแก้วที่เมืองแคนดี.”

หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก พระนิพนธ์ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2444 ความว่า

“เวลาบ่าย 4 โมง 40 นาที ไปวัดมหาธาตุ อยู่ฝั่งตะวันออกตรงข้ามกับที่ว่าการมณฑล นมัสการพระชินราชแล้วดูธรรมมาสน์เทศน์ ธรรมมาสน์สวด ดูเรือนแก้ว สิ่งทั้งปวง เหล่านี้ล้วนเป็นของดีอย่างเอก ไม่เคยพบเคยเห็น จะพรรณนาก็จะมากความนักคิดว่าจะพรรณนาเวลาอื่น เพราะจะดูอีก ดูวันนี้เป็นการรีบ ๆ ผ่าน ๆ แลจดหมายเวลาจะนอนคงจะหยาบไปมากไม่สมกับของดี ดูในวิหารแล้วมาดูรูปพระชินราชจำลอง ติเตียนปฤกษากับหลวงประสิทธิ์ปฏิมาอยู่จนจวนค่ำแล้ว ดูบานประตูมุก ดูพระระเบียงนอก ระเบียงใน ดูวิหารพระชินศรีจำลอง ดูมณฑปด้วยได้ไม้สลัก หัวนาคจำแลง ที่จะเป็นหัวบันไดธรรมมาสน์อันหนึ่ง ได้นาคปักเป็นหัวมังกรทำด้วยดินเคลือบอันหนึ่ง เวลาทุ่ม 1 กลับมาถึงเรือ พอกินข้าวแล้ว พระยาเทพามาบอกว่า มังคละมาแล้ว ลืมเล่าถึงมังคละไป คืนวันเมื่อพักอยู่ที่ไทรโรงโขน ได้ยินเสียงไกล ๆ เป็นกลองตีเป็นเพลง แต่จะสังเกตว่าเป็นอะไรไม่ได้ รุ่งขึ้นกำลังเดินเรือมาตามทาง ได้ยินอีกหนหนึ่ง ทีนี้ใกล้เขาแห่นาคกันอยู่ริมตลิ่ง แต่ไม่แลเห็นอะไรเพราะพงบังเสีย นึกเอาว่าเถิดเทิงเลวอยู่มาก ก็นึกเสียว่า เถิดเทิงบ้านนอกมันคงลักขูอยู่เอง ครั้นมาจอดที่วัดสะกัดน้ำมัน ได้ยินอีกไกล ๆ จึงได้ถามท่านสมภารว่าอะไร ท่านสมภารอธิบายว่า ปี่พาทย์ชนิดหนึ่งเรียกว่ามังคละ พระยาเทพาอยู่ที่นั่นด้วย ก็เลยอธิบายว่า เป็นกลองคล้ายสองหน้า มีฆ้องมีปี่ ปี่พาทย์ชนิดนี้เล่นไม่ว่าการมงคลแลการอัปมงคล หากันวันกับคืนหนึ่งเป็นเงิน 7 ตำลึง จึงได้ขอให้พระยาเทพาเขาเรียกมาตีให้ฟัง เมื่อเขาจัดมาแล้วเขาจึงมาบอก ได้ขึ้นไปดูมังคละ ทีแรกตีเพลงนมยานกทกแป้งฤาอะไรแป้ง จำไม่ได้ถนัดที่เขาบอก เครื่องมังคละนี้เป็นเครื่องเบญจดุริยางค์แท้ มีกลองเล็กรูปเหมือนเถิดเทิงแต่สั้น ขึงหนังหน้าเดียวมีไม้ตียาว ๆ (ที่หมาย 1) ตรงกับ “วาตต” ใบหนึ่งมีกลองขึงสองหน้า เหมือนกลองมลายู เป็นตัวผู้ใบหนึ่ง ตรงกับ “วิตตํ” เป็นตัวเมียใบหนึ่งตรงกับ “อาตตวิตตํ” มีไม้ตีตรง ๆ (ที่หมาย 2) กลองสามใบนี้ต้องหุ้มผ้าดอกเหลือไว้แต่หน้าเพราะเขาว่าฝีมือขึ้นแลฝีมือทำหุ่นดูไม่ได้ และมีปี่คันหนึ่ง ตัวเป็นทำนองปี่จีน ลิ้นเป็นปี่ชวา ตรงกับ “ สุสิรํ” มีฆ้องแขวนราว 3 ใบ เสียงต่าง ๆ กันตรงกับ “ฆนํ” เสียงเพลงนั้นเหมือนกลองมลายู เข้ากับกลองเล่าโต๊ว ไม่น่าฟังแปลว่าหนวกหูเพลงปี่ก็ไม่อ่อนหวานเป็นทำนองลูกเล่นมากกว่า เพราะลองให้ตีดู 2 เพลงหนวกหูเต็มทีเลยให้อัฐไล่มันไปบ้านแล้วกลับลงมานอน”

มังกร ทองสุขดี ได้กล่าวถึงลักษณะของดนตรีพื้นบ้านมังคละว่า “มังคละนั้นเป็นการละเล่นพื้นบ้าน มาตั้งแต่ยุคสุโขทัยเป็นราชธานี เป็นดนตรีที่สืบทอดมาทางพระพุทธศาสนาจากศรีลังกาเข้าสู่นครศรีธรรมราชและสุโขทัย โดยเฉพาะในรัชสมัยพระยาลิไท อาราธนาและต้อนรับ พระสังฆราชเข้ามาพำนักที่วัดป่ามะม่วงด้วยการปูผ้าแพร 5 สี ให้พระสังฆราชเดินตามขบวนกลองมังคละตั้งแต่ ประตูเมือง ด้านหัวนอนจนถึงวัดที่พำนัก ซึ่งแต่เดิมนั้นกลองมังคละจะเล่นประกอบพิธีอันเป็นมงคลของพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะว่ามังคละ หมายถึง “มงคล” (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 :850) ซึ่งพอจะรวมเป็นสาระสำคัญได้ว่า มังคละนั้นเป็นดนตรีที่มีมาตั้งแต่ยุคสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อนานกว่า 700 กว่าปีมาแล้ว

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ทั้งหลักศิลาจารึก ตำนาน จดหมายเหตุ ฯลฯ สามารถสันนิษฐานถึงกำเนิดของมังคละเภรีในประเทศไทยได้ว่าได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากลังกาในสมัยอาณาจักรสุโขทัย ช่วงการครองราชย์ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ประโคมแห่นำขบวนพระเพื่อเป็นพุทธบูชา และต่อมามีพัฒนาการไปสู่การบรรเลงประกอบในงานพิธีต่างๆ ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล

พิธีกรรม

นักดนตรีมังคละเภรี มีความเชื่อว่า ครู คือ เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารถ

ดลบันดาลให้ตนมีความสุขสวัสดี หากประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดี หรือเกิดความหายนะและเคราะห์กรรมต่างๆ ได้ หากประพฤติ ปฏิบัติตนในทางตรงข้าม ดังนั้นทุกปีจึงต้องมีการประกอบพิธีไหว้ครู

การไหว้ครู เป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งนักดนตรีมังคละให้ความเคารพนับถือ และยึดถือ กระทำกันเป็นประเพณี สืบต่อกันจากบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคนในการประกอบพิธีไหว้ครู จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีครูหรือผู้ประกอบพิธีเพื่อเป็นสื่อกลางให้พิธีนั้นๆ เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นผู้ประกอบพิธีจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. เป็นหัวหน้าคณะ หรือเป็นผู้ที่มีอาวุโสที่สมาชิกภายในวงให้การยอมรับ และความเคารพนับถือ

2. เป็นผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดหรือรับมอบวิชาจากครูมาแล้ว และเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในเรื่องการบรรเลงดนตรีมังคละเป็นอย่างดี ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม

พิธีกรรมในการไหว้ครู แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1) พิธีไหว้ครูหรือครอบครูก่อนการฝึกหัดหรือจับข้อมือ

2) พิธีไหว้ครูก่อนการบรรเลง

3) พิธีไหว้ครูประจำปี

1) พิธีไหว้ครูหรือครอบครูก่อนการฝึกหัดหรือจับข้อมือ

การเริ่มฝึกหัดหรือเริ่มเรียนดนตรีมังคละนั้น ผู้เรียนจำเป็นจะต้องทำการครอบครูหรือจับข้อมือเสียก่อน เพื่อเป็นการขออนุญาตและรับมอบวิชาจากครู ซึ่งครูผู้สอนจะเป็นผู้กระทำพิธีครอบและจับข้อมือให้ ถ้าฝึกหัดด้วยตนเองโดยไม่ผ่านขั้นตอนดังกล่าวแล้ว อาจส่งผลให้มีอันเป็นไปในทางไม่ดี หรือที่เรียกว่า “ผิดครู”

พิธีครอบครูหรือจับข้อมือนั้น จะกระทำในวันพฤหัสบดีใดก็ได้ ยกเว้นว่าเป็นวันพฤหัสบดีที่ตรงกับวันพระ ซึ่งถือกันว่าเป็นวันครูเหมาะสำหรับการประกอบพิธีไหว้ครู พิธีไหว้ครูนั้น ผู้เรียนจะต้องจัดหาเครื่องกำนลหรือเครื่องบูชาครูมาเอง ซึ่งเรียกว่า “ขันธ์ 5” อันประกอบด้วย

1. ธูป 5 ดอก

2. เทียน 1 เล่ม

3. หมาก พลู 5 คำ

4. ยาเส้น 5 มวน

5. ดอกไม้ 5 สี

6. เงินกำนล 6 บาท

7. เหล้า 1 ขวด

เมื่อผู้เรียนเตรียมเครื่องกำนลครูมาพร้อมแล้ว ผู้ทำพิธีจะเริ่มทำพิธีตามลำดับขั้นตอน โดยให้ผู้เรียนว่าตาม ดังนี้

1. บทบูชาพระรัตนตรัย

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธสะ

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ (กราบ)

สวาขาโต ภะคะวาตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ (กราบ)

2. บทไตรสรณคม

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

เมื่อผู้เรียนกล่าวตามจบแล้ว ผู้ประกอบพิธีจะทำทำพิธีทำน้ำมนตร์ซึ่งเรียกว่า “ธรณีสารจืด” เพื่อใช้ประพรมให้แก่ผู้เรียน และเพื่อป้องกันเสนียดจัญไร โดยมีคาถา ดังนี้

โอมจักขุทะลุบาดาล

นะกำกวม งวมพระธรณีสาร

ผลาญจัญไร เอหิภิญโญ

โสทายะ อิสิโรเม

พทเทวัญจะ นะรากัญเจ

ประสิทธิเม แห่งข้าพเจ้า

กันครูนครลงกา กันเสี้ยนกันผา

กันอินทร์กันพรหม กันยมพระกาฬ

กันยักษ์กันมาร กันเสี้ยนกันมาร

กันเสี้ยนศัตรู พุทธังกะโรมิ

ธัมมังกะโรมิ สังฆังกะโรมิ

ต่อจากนั้น ผู้ประกอบพิธีจะจุดเทียนหยดลงในขันน้ำมนตร์ แล้วว่าคาถา

“อิสิปะมิ นะชาลิติ”

เมื่อทำน้ำมนต์ธรณีสารแล้ว ครูผู้ประกอบพิธี จะนำพลู 3 จีบ อันหมายถึงพระรัตนตรัยจุ่มลงไปในขันน้ำมนตร์ แล้วจึงประพรมให้กับผู้เรียนเพื่อเป็นการป้องกันเสนียกจัญไรและสิ่งอัปมงคลที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน

ขั้นตอนต่อไป คือการครอบครูหรือจับข้อมือ การครอบครูนั้น จะกระทำโดยการให้ผู้เรียนฝึกหัดตีกลองก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถือว่ากลองเป็นเครื่องดนตรีที่นักดนตรียึดถือในการประกอบพิธีไหว้ครู

ในการครอบครูนั้น ผู้ประกอบพิธีจะจับข้อมือของผู้เรียนให้บรรเลงเพลงกลองยืน เพลงไม้สี่ ซึ่งถือกันว่าเป็นเพลงครู หรือเพลงแม่บทที่จะเป็นพื้นฐานในการเรียนเพลงอื่นๆ ต่อไป

ผู้ที่ผ่านการครอบครูหรือจับข้อมือแล้ว จะสามารถเล่าเรียนวิชาความรู้ทางด้านดนตรีมังคละได้ทุกประเภท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของครูผู้ฝึกสอน หรือความต้องการของผู้เรียนที่ต้องการจะฝึกหัดเครื่องดนตรีใด

2 ) พิธีไหว้ครูก่อนการบรรเลง

ก่อนที่จะมีการบรรเลงดนตรีมังคละเภรีทุกครั้ง นักดนตรีมังคละทุกคนจะต้องทำพิธีไหว้ครู เพื่อเป็นการรำลึกถึงครู อาจารย์ที่ได้สั่งสอน ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ ละเป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง

ขั้นตอนในการประกอบพิธีไหว้ครูก่อนการบรรเลง

ในการประกอบพิธีไหว้ครูก่อนการบรรเลงของวงมังคละเภรีส่วนใหญ่นั้น จะมีรูปแบบในการประกอบพิธีที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งผู้ที่มีอาวุโส หรือหัวหน้าวงจะเป็นผู้ทำพิธีโดยเจ้าภาพหรือเจ้าของงานจะเป็นผู้จัดหาเครื่องกำนลครู ซึ่งประกอบด้วย

1. ธูป 5 ดอก

2. เทียน 1 เล่ม

3. หมาก พลู 5 คำ

4. ยาเส้น 5 มวน

5. ดอกไม้ 5 สี

6. เงินกำนล 6 บาท

7. เหล้า 1 ขวด

เมื่อเตรียมเครื่องกำนลครบแล้ว ผู้ประกอบพิธีจะรินเหล้ากำนลครูใส่แก้วเพื่อเป็นการถวายครู จากนั้นทำน้ำมนตร์ เมื่อเตรียมการพร้อมแล้วทุกคนประนมมือ ผู้ประกอบพิธีสวดบทชุมนุมเทวดา

บทชุมนุมเทวดา

ผะริตวานะ เมตตัง สะเมตตา ภะทันตา

อะวิกขิตตะจิตตา ปะริตตัง ภะณันตุ

สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน ทีเป

รัฏเฐ จะ คามะ ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมะหิ เขตเต ภุมมา

จายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา ติฏฐันตา

สันติเก ยัง มุนิวะระจะนัง สาธุโว เม สุณันตุฯ

ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา

ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา

ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา

เมื่อสวดคาถาชุมนุมเทวดาเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบพิธีจะทำน้ำมนตร์ธรณีสาร แล้วนำไปประพรมให้กับนักดนตรีและเครื่องดนตรี เป็นอันเสร็จพิธี

3) พิธีไหว้ครูประจำปี

การกำหนดพิธีไหว้ครูประจำปีของแต่ละวงนั้น จะไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของวงนั้นๆ รวมไปถึงการกำหนดตามฤกษ์ของแต่ละวง โดยยกเว้น

การกระทำพิธีในวันพระ เช่น บางวงกำหนดวันพฤหัสบดี บางวงกำหนดวันเสาร์และอาทิตย์

(สันติ ศิริคชพันธุ์.2540:129) โดยหากประกอบพิธีในวันพฤหัสบดีนั้น มักจะกระทำในวันพฤหัสบดีแรกของเดือนหก ซึ่งถือกันว่าเป็นวันปีใหม่ของไทยและเป็นฤกษ์ดีที่สุด

การจัดสถานที่สำหรับใช้ประกอบพิธีไหว้ครูประจำปีนั้น ส่วนใหญ่จะใช้บ้านของหัวหน้าวง หรือสถานที่ที่ได้กำหนดเอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความกว้างขวาง เหตุเพราะสะดวกในการประกอบพิธี ในการจัดเตรียมพิธีไหว้ครูนั้นมักจะมีการจัดพิธีสงฆ์ควบคู่กันไปด้วย คือมีการนิมนต์พระมาสวดในช่วงเช้าก่อนเริ่มกระทำพิธี

สำหรับการจัดสถานที่ไหว้ครูมักจะจัดทำแท่นสูงลดหลั่นตามระดับ เพื่อตั้งศีรษะเทพเจ้าที่จะอัญเชิญมาตั้งในการประกอบพิธี และมีการปูผ้าขาวเพื่อรองศีรษะต่างๆ ด้วยในส่วนของอุปกรณ์ เครื่องใช้สำหรับประกอบพิธีนั้น ประกอบด้วย

1. พระพุทธรูป

2. ศีรษะครู

3. โต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป

4. แท่นบูชา

5. เครื่องดนตรีมังคละเภรี

6. บาตรน้ำมนตร์

7. แป้งกระแจะและน้ำอบ

8. เชิงเทียน

9. กระถางธูป

10. ผ้าขาวปูนั่งสำหรับผู้ประกอบพิธี

11. หมอนกราบ

12. พวงมาลัยคล้องศีรษะครูและเครื่องดนตรี

13. พวงเงินและพวงทอง

14. ขัน/พานใส่ข้าวตอกดอกไม้

15. ขันกำนลสำหรับครอบ ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน เงินกำนล

16. สายสิญจน์

17. ดอกไม้ ธูปเทียน สำหรับบูชาพระรัตนตรัยและบูชาครู

เครื่องสังเวยในการบูชาครู ประกอบด้วย

หัวหมู

เป็ด

ไก่

กุ้ง

ปู

น้ำจิ้ม

บายศรีปากชาม

กล้วยน้ำว้า

มะพร้าวอ่อน

ขนมต้มแดง

ขนมต้มขาว

ขนมคันหลาว

ขนมหูช้าง

บุหรี่ หมาก พลู

เหล้าโรง

น้ำสะอาด

ผลไม้ต่างๆ (ยกเว้น มังคุด ละมุด พุทรา และมะไฟ)

รายละเอียดในการจัดพิธีไหว้ครูประจำปี ประกอบด้วย

โต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป

ศีรษะครู

เครื่องบูชาครู

เครื่องดนตรีมังคละที่ใช้เข้าร่วมพิธี

เครื่องสังเวยสุก

เครื่องสังเวยดิบ

ที่นั่งสำหรับผู้ประกอบพิธี

ผู้เข้าร่วมพิธี

วงมังคละเภรีที่ใช้สำหรับบรรเลงประกอบพิธีขณะไหว้ครู

ขั้นตอนในการประกอบพิธีไหว้ครูประจำปี

เมื่อจัดตรียมสิ่งของสำหรับประกอบพิธีเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มเข้าสู่การประกอบพิธีการไหว้ครู โดยมีลำดับขั้นตอน ดังนี้

ลำดับที่ 1 ผู้ประกอบพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วจุดบูชาเทพเจ้าต่างๆ จากนั้นจุดเทียนขันน้ำมนตร์ จุดธูปให้กับผู้เข้าร่วมพิธี จากนั้นผู้ประกอบพิธีเริ่มสวดคาถาชุมนุมเทวดา

บทชุมนุมเทวดา

ผะริตวานะ เมตตัง สะเมตตา ภะทันตา

อะวิกขิตตะจิตตา ปะริตตัง ภะณันตุ

สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน ทีเป

รัฏเฐ จะ คามะ ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมะหิ เขตเต ภุมมา

จายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา ติฏฐันตา

สันติเก ยัง มุนิวะระจะนัง สาธุโว เม สุณันตุฯ

ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา

ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา

ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา

ลำดับที่ 2 ผู้ประกอบพิธีกล่าวโองการบูชาครูให้ผู้เข้าร่วมพิธีกล่าวตาม

บทอัญเชิญครู

พุทธัง วันทิตวา ข้าพเจ้าไว้แล้วซึ่งพระพุทธคุณัง

ธัมมัง วันทิตวา ข้าพเจ้าไว้แล้วซึ่งพระธรรมคุณัง

สังฆัง วันทิตวา ข้าพเจ้าไว้แล้วซึ่งพระสังฆคุณัง

อนึ่ง ข้าพเจ้าขออัญเชิญคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมเจ้า คุณพระสังฆเจ้า คุณพระบิดามารดา คุณอุปัชฌาย์ ครูบาอาจารย์ คุณพระฤาษีนารท คุณพระฤาษีนาไลย คุณพระฤาษีตาวัว คุณพระฤาษีตาไฟ คุณพระฤาษีประไลยโกฏ คุณพระฤาษีกัสสป คุณพระฤาษีไตรภพ คุณพระฤาษีทัสสมงคล อีกทั้งเพระเพ็ชรฉลูกัณฑ์ นักสิทธิวิทยา อีกทั้งนางพระธรณี พระคงคา พระเพลิง พระพราย พระอิศวร ผู้เป็นเจ้าฟ้า ขอเธอมาประสิทธิพระพรชัยให้แก่ข้าพเจ้า

อนึ่งข้าพเจ้าขออัญเชิญเทพยาดาทั่วพื้นปฐพีดล ฤาษีทั้ง 108 ตน จงบันดาลดลด้วยสรรพพิศแลวิทยา พระครูพา พระครูเฒ่า ครูพักแลอักษร จงสถาพร กรรมสิทธิ์ให้แก่ข้าพเจ้า ณ กาลบัดนี้

อิติปิโส ภควา ข้าพเจ้าขออัญเชิญคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงมาสถิตอยู่เหนือเกล้าผม ขอเชิญพระพรหม จงมาสถิตอยู่บ่าเบื้องซ้าย ขอเชิญพระนารายณ์ จงมาสถิตอยู่บ่าเบื้องขวา ขอเชิญพระคงคาจงมาเป็นน้ำลาย ขอเชิญพระพายจงมาเป็นลมปาก ขอเชิญพญานาคจงมาเป็นสร้อยสังวาล ขอเชิญ

พระกาฬจงมาเป็นดวงใจ ข้าพเจ้ากระทำสิ่งใด ภูตใด พรายใด ขอจงอย่ามาเบียดเบียนบีฑา อย่าได้ประมาทพลาดพลั้ง ขอเชิญคุณครูแต่หนหลัง ฤาษีทั้ง 108 ตน เดชะคุณครูบาธิบายอันล้ำเลิศ คุณครูที่อยู่ในถ้ำ จงมาช่วยอวยพระพรชัยให้แก่ข้าพเจ้า ณ กาลบัดนี้ พุทธังประสิทธิมหาประสิทธิ ธัมมังประสิทธิมหาประสิทธิ สังฆังประสิทธิมหาประสิทธิ

อุกาสะ วันทิตะวา อาจาริยัง นะมามิหังปิวินาศสันติ

ทุติยัมปิ อุกาสะ วันทิตะวา อาจาริยัง นะมามิหังปิวินาศสันติ

ตะติยัมปิ อุกาสะ วันทิตะวา อาจาริยัง นะมามิหังปิวินาศสันติ

อุกาสะ วันทิตะวา ข้าพเจ้าขออาราธนา คาภานิมภารี วันนี้ บัดเดี๋ยวนี้ ขอให้ได้ดวงแก้วมณี รุ่งเรืองสุกใส ในจักขุทวาร มโนทวาร ของข้าพเจ้านี้เถิด

ลำดับที่ 3 ผู้ประกอบพิธีทำน้ำมนตร์ธรณีสาร เพื่อป้องกันเสนียดจัญไรและสิ่งอัปมงคลทั้งปวงที่จะบังเกิดขึ้นในระหว่างการประกอบพิธีไหว้ครู ต่อจากนั้นใช้พลู 3 จีบ อันหมายถึงพระรัตนตรัย จุ่มลงในน้ำมนตร์เพื่อประพรมให้ทั่วประรำพิธี

ลำดับที่ 4 ผู้ประกอบพิธีกล่าวโองการไหว้ครูให้ผู้ร่วมพิธีกล่าวตาม

บทไหว้ครู

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

อุกาสะ วันทิตะวา ข้าพเจ้าขออัญเชิญ พระวิษณุกรรมและพระเพ็ชรฉลูกัณฑ์ ทั้งเทพบุตรทั้ง 4 อีกทั้งพระมหาฤาษีทั้ง 4 พระองค์ จงลงมาสโมสรประชุมในสถานที่ ณ ที่นี้ (กราบ)

วันนี้ก็เป็นวันดี ขอให้เจริญ ศรีสุขสวัสดิ์ ข้าพเจ้าตั้งใจประติพัฒน์นมัสการ พระชินศรี พระนักกุฎี คุณพระปกเกล้าเกศี ทุกค่ำเช้าเพลางาย ข้าพเจ้าจะขอไหว้พระอิศวร ข้าพเจ้าจะขอไหว้พระพราย ข้าพเจ้าจะขอไหว้เทวดาทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะขอไหว้คุณบิดามารดา คุณครูจงรักษา ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข (กราบ)

นะโม ข้าพเจ้าขอนมัสการ ข้าพเจ้าขอกราบกราน ไหว้เทพไททั้ง 3 พระองค์ พระวิษณุกรรมผู้ทรงฤทธิ์ ที่ท่านประสิทธิ์สรรพสรร เครื่องเล่นสารพันในใต้หล้า อีกทั้งเทวดาปัญจสิงขร ท่านท้าวการพระกร ท่านท้าวถือพิณ ดีดดังเสนาะสนั่น อีกทั้งท่านปรโคนธรรพ และครูเฒ่า ครูทั้งนั้นเล่าสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ ข้าพเจ้าขออัญชุลี ขอเชิญพระฤาษีทั้ง 7 ตน จงมาอวยชัยให้การมงคลให้แก่ข้าพเจ้า พร้อมด้วยทั้งของนี้ (กราบ)

ลำดับที่ 5 ผู้ประกอบพิธีเปิดขวดเหล้ารินใส่แก้ว วงมังคละเภรีบรรเลงเพลงไม้สี่ เพื่อเป็นการรำลึกถึงครูบาอาจารย์ จากนั้นผู้ประกอบพิธีอ่านโองการ ให้ผู้ร่วมพิธีกล่าวตาม

ศรีศรีประสิทธิฤทธิ เดโชชัยยะเดชะ พระเลิศไกรประสิทธิ ด้วยพรมงคล ข้าพเจ้าขอเชิญ

เทวา ทุกสถานเบื้องบนมาสถิตแห่งสกล กันเสนียดจัญไร สรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัย อุปัทวอันตรายอย่าได้มีมา วินาศสันติ อิมัสมิง อะหังวันทามิ อาจาริยัง ประทาสายัง วินาศสันติ สิทธิการปะระปะชาตัสมิง สิทธิภะวะตะสรรพ (กราบ)

สรรพโคนธรรพ ประเทอิมัสมิง ทิตสาภาเค สันติเทวา มะหิตทิกาเตติ ตุมหิอนุรักคันตุ

ปะริพุทธชันตุ (กราบ)

อุกาสะ ข้าพเจ้า ขอประสิทธิ เครื่องดีด สี ตี เป่า ขับร้องฟ้อนรำ สิทธิจัง สิทธิกัมมัง

สิทธิการิยะ ตะถาระคะโต สิทธิเตโชโยนิจจัง สิทธิลาภัง ภวันตุเม ปะติบูชา คันธรรพนาคา เวสสุกรรมปัญจสิงขร เทวาสรรพบูชาเย (กราบ)

ลำดับที่ 6 ผู้ประกอบพิธีใช้พลู 3 จีบ จุ่มลงในแก้วแล้วประพรมไปทั่วประรำพิธี พร้อมทั้งให้ผู้เข้าร่วมพิธีหั่นเนื้อสัตว์และปอกผลไม้เพื่อถวายครู

ลำดับที่ 7 ผู้ประกอบพิธีกล่าวนำบทบูชาครู ผู้เข้าร่วมพิธีกล่าวตาม

บทลาครู

สรรพโคนธรรพ สรรพโคนธา พระมหาเดชะ อิมัสมิง อัฐลาเค เทวาพลายันตุ

ทุติยัมปิ สรรพโคนธรรพ สรรพโคนธา พระมหาเดชะ อิมัสมิง อัฐลาเค เทวาพลายันตุ

ตะติยัมปิ สรรพโคนธรรพ สรรพโคนธา พระมหาเดชะ อิมัสมิง อัฐลาเค เทวาพลายันตุ

(กราบ 3 ครั้ง)

เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการไหว้ครูแล้ว ผู้ประกอบพิธีจะทำการเจิมหน้าผากให้กับผู้เข้าร่วมพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล ต่อจากนั้นนักดนตรีมังคละจะทำพิธีขอพรจากครูโดยใช้พวงเงิน พวงทองซึ่งทำด้วยไม้ไผ่หลาวคล้ายคันเบ็ด แล้วใช้เชือกมัดสร้อยทองคำหรือเงิน นำมาลากไปมาบนเครื่องดนตรีมังคละ เพื่อเป็นการขอพรให้ร่ำรวยมีเงิน มีทองจากการเป็นนักดนตรีมังคละ

ลำดับต่อไป ผู้ประกอบพิธีจะทำการ “จับข้อมือ” หรือ การครอบครูให้กับลูกศิษย์ที่ต้องการหัดเครื่องดนตรีมังคละ

เป็นที่น่าสังเกตว่าบทไหว้ครู จะกล่าวถึงเทพทางวิชาดนตรี ครูผู้สืบทอดวิชา และสั่งสอนต่อ ๆ กันมาไม่ว่าจะเป็นครูประเภทครูแนะนำ ครูสั่งครูสอน ครูที่ช่วยต่อกลอน ต่อสติ ต่อปัญญาให้แก่ศิษย์จะอัญเชิญมารับการสักการบูชาทั้งหมด เช่น ครูทอง ครูไทย ปู่กาล หลวงตาง่วน ลุงเส้ง เขียวเอี่ยม เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูที่แฝงอยู่ในดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีในปัจจุบัน

องค์ประกอบ

1. ดนตรี

กลองยืนและกลองหลอน (กลองสองหน้า) อย่างละ 1 ใบ

กลองยืนและกลองหลอน (กลองสองหน้าหรือกลองแขก)เป็นกลองขึงหนัง รูปร่างยาวเป็นท่อทรงกระบอกกลม (Cylindrical Drum) มีน้ำหนักประมาณ 4.5 กิโลกรัมกลองยืนและกลองหลอนมีรูปทรงและขนาดใกล้เคียงกัน ความยาวประมาณ 26-28 นิ้ว หน้าข้างหนึ่งใหญ่เรียกว่า “หน้ารุ่ย” มีเส้นผ่าศูนย์กลาง9-10 นิ้ว หน้าข้างหนึ่งเล็กเรียกว่า “หน้ากว่าน” มีเส้นผ่าศูนย์กลาง7-8 นิ้ว กว้างประมาณ 17 เซนติเมตร หุ่นกลองยาวประมาณ 57 เซนติเมตร ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรือไม้แก่น เช่น ไม้ขนุน ไม้ชิงชัง หรือไม้มะริด ขึ้นหนังทั้ง 2 หน้าด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ ใช้เส้นหวายผ่าซีกสายหนัง หรือเชือกไนล่อนขึงเป็นสายโยงให้ตึงเพื่อตีแล้วทำให้เกิดเสียง สำรับหนึ่งมี 2 ลูก ลูกเสียงสูงมีขนาดเล็ก เรียกว่าตัวผู้ ลูกเสียงต่ำมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย เรียกว่า ลูกตัวเมีย ตีด้วยมือทั้งสองหน้าให้เสียงสอดรับกันทั้งสองลูก บ้างก็ใช้ไม้ตีข้างหนึ่งแล้วอีกข้างหนึ่งใช้มือตี

ฆ้องหรือโหม่ง 3 ใบ

ฆ้อง เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับมโหระทึก ดังมีบันทึกอยู่ในเอกสารโบราณจำนวนมาก เช่นในโคลงเรือนขุนบรมตอนพญาแถนหลวงทำพิธี “ราชาภิเษก”ในขุนบรม

(หรือบูลม) เป็นกษัตริย์ มี “เครื่องกษัตรา”หลายชนิด ในจำนวนนั้นมีฆ้องอยู่ด้วย ดังโคลงตอนหนึ่งว่า “สะบัดไซฆ้อง ฮางวางเสียงคื่น-เสียงหน่วยฆ้อง ฮางวางเสียงคลื่น-เสียงหน่วยฆ้อง ปานฟ้าผ่าสุเมรุ” ต่อเมื่อขุนบรมแบ่งสมบัติให้ลูกชาย 7 คน ในพงศาวดารล้านช้าง ระบุว่าลูกคนโตคือขุนลอ ซึ่งจะเป็นกษัตริย์คนแรกของล้านช้าง (หลวงพระบาง) ก็ได้รับฆ้องจากขุนบรม ส่วนลูกชายคนรอง ๆ ลงไปไม่ได้รับฆ้องเลย

ในจารึกหินขอน (จังหวัดนครราชสีมา) ระบุว่ามีการถวายฆ้องสัมฤทธิ์ 3 ใบต่อทวยเทพ เพื่อเป็นเครื่องบูชา และจารึกในสมัยสุโขทัยกล่าวถึงการถวายฆ้องต่อพระพุทธเจ้า ฆ้องโลหะกับกลองไม้ต้องตีคู่กัน เช่นเดียวกับมโหระทึกตีคู่กับกลองไม้ดังมีร่องรอยอยู่ในเอกสารโบราณ เช่น ในมหากาพย์เรื่องท้าวฮุ่งฯ มีกระบุฆ้องกับกลองคู่กันเสมอ เช่น“มีฆ้องย่อมมีกลอง”และในหนังสือไตรภูมิพระร่วงก็จะระบุฆ้องกับกลองอยู่ใกล้เคียงเรียงกันไป เช่น “พื้นฆ้องกลองแตรสังข์” และ “เสียงพาทย์แลพิณ ฆ้องกลอง แตรสังข์...” เป็นต้น

โหม่งหรือฆ้องในวงมังคละมีทั้งหมด 3ใบโดยคัดเลือกให้มีขนาดและเสียงลดหลั่นกันออกไป และใช้แขวนกับคานหาม โดยแขวนฆ้องใบเล็กไว้หน้าสุดเรียกว่า“ฆ้องหน้า” “ฆ้องกระแตะ” หรือ “แหม่งหน้า” ใช้เป็นเครื่องดนตรีนำวงซึ่งจะตี 3 ครั้ง ก่อนจึงจะเริ่มรัวกลองมังคละส่วนฆ้องอีก 2 ใบ มีขนาดเท่ากัน เรียกว่า “ฆ้องโหม่ง” หรือ “ฆ้องหลัง” แขวนไว้บนคานหามคู่กันคนละข้าง ใช้ไมตีเพื่อให้จังหวะ คานหามที่ใช้แขวนฆ้องทั้ง 3 ใบ มีการประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์ต่างๆหรือรูปฤๅษี นอกจากนี้ยังมีการลงรักปิดทองเพื่อความสวยงาม

ปี่ชวา 1 เลา

เป็นเครื่องเป่าทำเป็น 2 ท่อน ถอดออกจากกันได้ คือท่อนบนยาวเรียกว่า เลาปี่ยาวราว 27 ซม. ท่อนล่างบานปลายเรียกว่า “ลำโพง” ยาวราว 14 ซม. เมื่อนำมาสวมเข้ากันจะมีรูปร่างเรียวบานปลายคล้ายดอกลำโพง ยาวประมาณ 38-39 ซม. ทำด้วยไม้จริง หรืองา ตรงปากลำโพงบานประมาณ 7-8 ซม.ตอนบนที่ใส่ลิ้นบานออกเล็กน้อยยาวประมาณ 1ซม. เจาะรูนิ้วเดียวกันไปตามความยาว 7 รู และมีรูนิ้วค้ำข้างหลัง 1 รู อยู่ระหว่างรูที่ 1 และรูที่ 2 ของ 7 รูด้านหน้าเหนือรูที่ 1กลึงไม้ขวั้นเป็นลูกแก้วไว้เปลาะหนึ่ง ลิ้นปี่ทำเป็นกำพวดปลายผูกลิ้นใบตาล ตอนที่สอดใส่เลาปี่ เคียนด้วนเส้นด้าย แต่เหนือเส้นด้ายที่เคียนนั้น เป็น “กระบังลม” แผ่นกลมๆบางๆด้วยโลหะหรือกะลา สำหรับรองริมฝีปากเพื่อเวลาเป่าจะได้ไม่เมื่อย ในวงดนตรีมังคละเภรีนั้น ปี่เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเดียวที่มีหน้าที่ดำเนินทำนอง

กลองมังคละ 1 ใบ

เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเอกของวงมังคละเภรี มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นแตกต่างกันออกไป เช่น กลองอีลก โกร๊ก ต๊กโตร๊ก จ๊ดโกร๊ก บังคละ ฯลฯ มีขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 1.8 กิโลกรัม รูปร่างคล้ายครก หน้ากลองหุ้มด้วยหนัง เช่นหนังววัว หนังแพะ หนังควาย มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ฟุต ส่วนมากทำมาจากไม้เนื้อแข็ง เช่นไม้ขนุน หน้าตัดด้านหนึ่งอีกด้านหนึ่งเจาะรูมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ใช้หวาย 1 คู่ ยาวประมาณ 17 นิ้ว ปลายหวายพันด้วยเชือกตีที่บริเวณหน้ากลอง การบรรเลงกลองมังคละใช้นักดนตรี 2 คน คนหนึ่งเป็นผู้ถือกลองโดยจับตรงคอกลอง อีกคนเป็นผู้ตี กลองมังคละเภรีมีส่วนประกอบสำคัญ ประกอบด้วย หน้ากลอง ไส้ละมาน เชือกละมาน เชือกเร่งเสียง นม เอวกลอง ลวดยึด หน้ากลอง ก้นกลอง และเท้ากลอง กลองมังคละ จัดอยู่ในกลองประเภทที่มีรูปร่างลักษณะเป็นท่อรูปถ้วยกลม มีก้านเป็นลำโพงเสียง (Goblet Drum) การผลิตเสียงเกิดจากการใช้ไม้หวายตีลงบนแผ่นหนัง

ฉาบเล็ก 1 คู่ ฉาบใหญ่ 1 คู่

ทำด้วยโลหะรูปร่างคล้ายฉิ่งแต่หล่อบางกว่า มีขนาดใหญ่กว้างและกว้างกว่าตอนกลางมีปุ้มกลม ทำเป็นกระพุ้งขนาดวางลงบนอุ้งมือ 5 นิ้ว ขอบนอกแบบราบออกไปและเจาะรูตรงกลางร้อยเส้นเชือกสำหรับถือ ตีกระทบให้เกิดเสียงที่ต้องการ “ฉาบ” ตีประกบ “แฉ่ง” ตีเปิดฉาบขนาดใหญ่เรียกว่าฉาบใหญ่

1. การแต่งกาย

การแต่งกายของการแสดงมังคละมีอยู่ 2 แบบ คือ แต่งกายแบบที่ปรากฏอยู่ในอดีต และแต่งกายแบบที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน การแต่งกายที่ปรากฎในอดีตเป็นการแต่งกายธรรมดาตามชีวิตประจำวันของชาวบ้านที่ผู้ชายสวมกางเกง ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง แต่การแต่งกายที่ปรากฏในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็นการแต่งกายของผู้แสดงชายและผู้แสดงหญิงดังนี้

การแต่งกายของผู้แสดงรำมังคละฝ่ายชาย

นุ่งกระโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม มีผ้าขาวม้าพาดบ่าและคาดเอว

การแต่งกายรำมังคละของผู้แสดงฝ่ายหญิง

นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลม มีผ้าพาดไหล่หรือห่มสไบทับ

สำหรับการแต่งกายของนักดนตรีมังคละนั้น จะแต่งกายเหมือนกับผู้แสดงรำมังคละฝ่ายชาย คือ นุ่งกระโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม มีผ้าขาวม้าพาดบ่าและคาดเอว

3.โอกาสและเวลาที่ใช้ในการแสดง

โอกาสที่ใช้ในการแสดงรำมังคละในอดีตนั้น มีปรากฏได้ตามงานบุญประเพณีและงานเทศกาลต่างๆ เช่น งานบวช งานกฐิน งานสงกรานต์ เป็นต้น ปัจจุบันโอกาสที่ใช้ในการแสดงรำมังคละออกจากงานเทศกาลต่างๆแล้ว ยังมีงานจากหน่วยราชการต่างๆที่ขอความร่วมมือมาเพื่อเป็นการเผยแพร่และอนุรักษ์ดนตรีมังคละของท้องถิ่นไมให้สูญหายอีกด้วย

เวลาที่ใช้ในการแสดงรำมังคละในอดีตไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการบรรเลงของวงมังคละที่ทางเจ้าภาพจ้างมาเล่นอาจใช้เวลาตั้งแต่ 30 นาที ขึ้นไปและอาจขึ้นอยู่กับระยะทางของขบวนแห่ด้วยแต่ปัจจุบันการแสดงรำมังคละมีวงดนตรีที่บรรเลงเพื่อการแสดงโดยเฉพาะโดยจะมีการกำหนดท่ารำและจังหวะการบรรเลงดนตรีอย่างลงตัว ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 7-10 นาที

4.ลำดับขั้นตอนการแสดง

การแสดงรำมังคละในอดีตจะมีการแสดงก็ต่อเมื่อวงมังคละเคลื่อนขบวนมาถึงบริเวณงานและหยุดเพื่อบรรเลงอยู่บริเวณงานไม่มีลำดับขั้นตอนการแสดงเพราะเป็นการรำท่าทางหยอกล้อกันเพื่อความสนุกสนาน เมื่อวงมังคละจบการบรรเลงผู้แสดงก็แยกย้ายกันกลับไปทำงานที่ได้ละทิ้งหน้าที่มา การแสดงรำมังคละปัจจุบันมีลำดับขั้นตอนการแสดงโดยเริ่มจากนักดนตรีการโห่สามลา แล้วเริ่มการบรรเลงดนตรี ต่อจากนั้นผู้แสดงฝ่ายชายและผู้แสดงฝ่ายหญิงออกมาแสดงคู่กันแบ่งแยกกันไปด้านละ 1-2 คู่ ตามจำนวนผู้แสดงในแต่ละครั้ง โดยจะปฎิบัติท่ารำไปเรื่อยๆ รำเป็นคู่รำหยอกล้อกันไปมาระหว่างชายหญิง สุดท้ายจบลงด้วยการตั้งแถวหน้ากระดาน 2 แถวผู้แสดงฝ่ายหญิงนั่งอยู่ด้านหน้า ผู้แสดงฝ่ายชายยืนอยู่ด้านหลัง พนมมือไหว้พร้อมกัน จากนั้นผู้แสดงฝ่ายชายจะปรบมือไล่ต้อนผู้แสดงฝ่ายหญิงเข้าเวทีเป็นการจบการแสดงรำมังคละในรูปแบบปัจจุบัน

5.ลีลาท่ารำ

ในอดีตวงมังคละใช้สำหรับการแห่และบรรเลงในพิธีกรรมต่างๆเท่านั้น ต่อมามีผู้คิดประดิษฐ์ท่ารำประกอบการบรรเลงดนตรีมังคละขึ้นเพื่อใช้แสดงในโอกาสต่างๆ ท่ารำที่ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นนั้นจินตนาการจากทั้งท่าทางในวิถีชีวิตของชาวบ้านและการเลียนแบบอากัปกิริยาของสัตว์ ในปี พ.ศ. 2527 อาจารย์สมบัติ แก้วสุจริต ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย ได้คิดประดิษฐ์ท่ารำประกอบดนตรีมังคละ โดยมีอาจารย์สำเนา จันทร์จรูญ ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์พื้นบ้านจังหวัดสุโขทัย และหัวหน้าคณะกลองยาวจันทร์ทรงกลด ตำบลวังลึก อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ได้ร่วมปรับปรุงท่ารำให้มีความเหมาะสมกับการแสดงมากขึ้น โดยประยุกต์อากัปกิริยาของคนและสัตว์มาประดิษฐ์เป็นท่ารำ เรียกว่า “รำมังคละ” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

สำหรับรำมังคละของจังหวัดสุโขทัยนั้น อาจารย์สำเนา จันทร์จรูญ อาจารย์ใหญ่วัด

โพธาราม อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ได้จดจำท่ารำของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวสุโขทัยที่เล่นกันมาแต่โบราณ แล้วนำมาร้อยเรียงท่ารำขึ้นใหม่ได้ 12 ท่า คือ

1. ท่าโยนกลอง (ตกปลัก) 2. ท่ามอญชมดาว

3. ท่ากาสาวไส้ 4. ท่าช้างประสานงา

5. ท่ากวางเหลียวหลัง 6. ท่าลิงอุ้มแตง

7. ท่านางอาย 8. ท่าแม่หม้ายทิ้งแป้ง

9. ท่าหงส์เหิร 10. ท่าผาลา

11. ท่าจีบยาว 12. ท่าสอดสร้อยมาลา

ในปี พ.ศ. 2511 อาจารย์อนงค์ นาคสวัสดิ์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหมวดวิชานาฏศิลป์ดนตรี วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ได้ริเริ่มประดิษฐ์ท่ารำประกอบท่วงทำนอง และลีลาของดนตรีมังคละ ในทำนองของการเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวชาวบ้าน โดยได้แรงบันดาลใจมาจากสภาพสังคมในชนบทสมัยก่อน ที่คนหนุ่มสาวจะมีโอกาสมาพบประกันได้ที่วัด ในงานบุญและเทศกาลตรุษสงกรานต์ซึ่งเป็นระยะเวลาที่หนุ่มสาวมีอิสระได้เล่นสนุกสนานหลังจากไปทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระแล้ว ตอนเย็นมีการละเล่นมอญซ่อนผ้า ลูกช่วง ตี่จับ ซ่อนหา เป็นต้น ในโอกาสเช่นนี้หนุ่มสาวที่เล่นสนุกสนานกัน ย่อมมีการถูกตาถูกใจ และเกี้ยวพาราสีกันเป็นธรรมดา จึงได้คิดการแสดงท่ารำประกอบดนตรีมังคละขึ้น และได้นำไปแสดงในงานแสดงสินค้านานาชาติ ที่สนามกีฬาหัวหมาก กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2511 (ทิพย์สุดา นัยทรัพย์และคนอื่นๆ.2539: 26-30)

ท่ารำเริ่มด้วยฝ่ายหญิงจำนวนหนึ่งถือดอกไม้คนละช่อซึ่งสมมุติว่าเก็บมาจากป่า จะนำไปไหว้พระ เดินรำตามกันมาเป็นแถว ฝ่ายชายจำนวนเท่ากันก็รำตามออกมาด้วยท่าขอดอกไม้ ทั้งหมดจะรำเข้าจังหวะกลองมังคละที่เร้าใจและสวยงาม ฝ่ายหญิงไม่ยอมให้ดอกไม้แก่ชาย เมื่อฝ่ายชายขอไม่ได้ก็แย่งดอกไม้ในมือของหญิงไปได้อย่างรวดเร็ว ฝ่ายหญิงวิ่งตามไปขอคืน ฝ่ายชายก็ไม่ให้และยังทำท่าหลอกล้อเย้าเหย่ออย่างสนุกสนาน

เมื่อฝ่ายหญิงแย่งดอกไม้คืนมาไม่ได้ ก็รำเข้าวงปรึกษากันอยู่ด้านหนึ่ง ฝ่ายชายก็รำเข้าวงแล้วลงนั่งรำหันหน้าเข้าหากันเพื่อปรึกษาหาวิธีเกี้ยวพาราสี และขอความรักจากหญิงให้ได้ ในวงของฝ่ายชายนั้น จะมีผู้หนึ่งที่คิดท่าเกี้ยวหญิงที่แยบยลได้ ก็ลุกทำท่าให้เพื่อนดูและสอนให้เพื่อนรำท่าอย่างตน แล้วเพื่อนส่วนหนึ่งก็รำตามกันออกไปแถวเรียงหน้าเข้าไปหาหญิงแต่ละคนเป็นคู่ ๆ ฝ่ายชายที่เหลืออยู่ในวงก็ตบมือหนุนพวกที่ออกไปเกี้ยวหญิงตามจังหวะเพลงมังคละท่ารำที่ อาจารย์อนงค์ นาคสวัสดิ์ คิดท่าขึ้นมี 4 ท่า ดังนี้

ท่ารำที่ 1 ท่าเจ้าชู้ยักษ์ ฝ่ายชายที่มีผู้นำทำท่าเกี้ยวหญิง วิธีแรกซึ่งแสดงถึงยุคโบราณที่มนุษย์ยังมีความเจริญทางสังคมน้อย ผู้ชายอยากได้ความรักจากผู้หญิงก็ใช้วิธีจู่โจมเอาดื้อ ๆ มีการปรบมือกระทืบเท้าแล้วโดดเข้าโอบกอดเลย แต่ฝ่ายหญิงหลบรอดใต้วงแขนพ้นไปได้อย่างหวุดหวิดทุกคนจึงเป็นอันว่าการเกี้ยวผู้หญิงด้วยท่าเจ้าชู้ยักษ์ไม่สำเร็จจึงต้องรำกลับไปเข้าวงด้วยท่าที่แสดงความหมดหวัง ท่านี้สอนให้รู้ว่า ผู้หญิงนั้นไม่ชอบชายที่มุทะลุดุดัน ตึงตัง ฝ่ายชายต้อง ปรึกษากันเพื่อหาท่าเกี้ยวใหม่

ท่ารำที่ 2 ท่าเจ้าชู้ไก่แจ้ ชายอีกคนหนึ่งลุกขึ้นรำกลางวง ชวนเพื่อนออกไปเกี้ยวใหม่ด้วยท่าเจ้าชู้ไก่แจ้ พอเข้าไปใกล้หญิงได้ระยะก็ทำท่าจับแก้ม เชยคาง กะลิ้มกระเหลี่ย ฝ่ายหญิงก็ปิดป้องได้อย่างสวยงาม แล้วผลที่สุด ฝ่ายชายก็ต้องเดินรำคอตกไปเข้าวงของตนอย่างผิดหวังอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายหญิงทำท่าเย้ยไล่หลัง ท่าเจ้าชู้ไก่แจ้สอนให้ทราบว่าการทำท่ากรุ้มกริ่ม หลุกหลิกเกินไปหญิงก็ไม่ชอบ

ท่าที่ 3 ท่าป้อ ท่านี้เป็นท่ารำที่อ่อนช้อยของชายซึ่งมีผู้นำคนใหม่ชวนพรรคพวกออกมาเกี้ยว อีกอย่างมั่นใจว่า ความอ่อนน้อมรำป้อไปป้อมาด้วยท่าวิงวอนอ้อนว่านั้นจะเอาชนะใจผู้หญิงได้ แต่ฝ่ายหญิงก็ยิ่งทำเป็นลอยหน้าเชิดไม่สนใจแม้ว่าฝ่ายชายรำเตี้ยลง ๆ จนถึงก้มศีรษะลงแทบเท้าหญิง แต่ก็ไม่มีหวัง วิธีนี้สอนให้รู้ว่า ผู้หญิงไม่ชอบชายที่อ่อน ให้ตนจนเกินไป ฝ่ายชายจึงต้องกลับไปเข้าวงปรึกษากันใหม่อีกตามเคย ผู้หญิงทำท่าดูถูก ตามหลัง

ท่าที่ 4 ท่าเมิน ท่านี้เป็นท่าสุดท้ายที่ฝ่ายชายคิดขึ้นใหม่ คือทำท่าไม่สนใจหญิง เมื่อพากันรำเข้ามาใกล้ ตัวฝ่ายหญิงแล้วก็ทำท่าหยิ่งไว้ตัว ไม่ง้อ ไม่สนใจ แต่แอบยิ้มให้ลับหลัง ฝ่ายหญิงเมื่อเห็นฝ่ายชายทำท่าไม่ง้อก็ชักเอะใจ พยายามมองสบตา ในที่สุดเมื่อฝ่ายชายออกเดินหนี ผู้หญิงก็เป็นฝ่ายเดินตาม ในที่สุดก็สมใจชายท่านี้สอนให้รู้ว่า ผู้หญิงชอบผู้ชายที่เป็นช้างเท้าหน้า และสามารถคุ้มครองตนให้ปลอดภัยได้

6.รูปแบบการบรรเลง

ในการบรรเลงกลองมังคละเภรีนั้น มีวิธีในการบรรเลงหลายวิธีทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของพิธีกรรมและความสะดวกในการบรรเลงของนักดนตรี เช่น

1) การบรรเลงโดยใช้เท้าหนีบกลอง มักใช้บรรเลงในพิธีกรรมที่ใช้สำหรับการนั่งบรรเลง เช่น การบรรเลงซึ่งอยู่ในอาคารสถานที่ การบรรเลงที่นั่งอยู่ในยานพาหนะ หรือบรรเลงเพื่อโชว์ความสามารถของผู้บรรเลง โดยไม่ถือว่าผิดครูหรือเป็นการลบหลู่แต่ประการใด (เอ เพ็ชรี่. สัมภาษณ์ 2 มิถุนายน 2553)

2) การบรรเลงโดยใช้กลองแขวนไว้ด้านหลังของนักดนตรีคนใดคนหนึ่งหรือใช้อุปกรณ์เสริมแขวนไว้ที่ด้านหน้าของผู้เล่นเพื่อเป็นการสะดวกและประหยัดนักดนตรี (วันชัย บุญญา. สัมภาษณ์ 16 พฤษภาคม 2553) หรือในกรณีที่มีนักดนตรีน้อย การบรรเลงวิธีนี้ส่วนมากนิยมใช้บรรเลงประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเดินแห่ด้วยเท้า เช่น แห่นาค แห่กฐิน-ผ้าป่า แห่งานสงกรานต์ ฯลฯ

3) การบรรเลงโดยใช้คนถือ การบรรเลงวิธีนี้มักมุ่งเน้นความสวยงาม ซึ่งในบางครั้งผู้ถือกลองมักจะร่ายรำไปมาหยอกล้อกับผู้ตีกลองมังคละในลักษณะ ท่าทางต่างๆทำให้เกิดความสวยงามและสนุกสนาน การบรรเลงวิธีนี้มักใช้บรรเลงในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเดินแห่ หรือใช้สำหรับประกอบการแสดง

7.การประสมวงดนตรีมังคละเภรี

เมื่อพิจารณาจากจดหมายเหตุเมื่อคราวที่สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เสด็จเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ. 2444 ว่าวงมังคละเภรีในอดีตมีเครื่องดนตรีประกอบที่ปรากฏ ดังนี้

1. กลองมังคละ

2. กลองยืน

3. กลองหลอน

4. ปี่

5. ฆ้อง

สำหรับรูปแบบการประสมวงมังคละเภรีในปัจจุบัน ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

1. ปี่

2. กลองมังคละ

3. กลองหลอน

4. กลองยืน

5. ฆ้อง

6. ฉาบเล็กหรือฉาบใหญ่

7. กรับ

8. ฉาบใหญ่หรือฉาบยืน

ชื่อเพลงที่ใช้บรรเลง

ชื่อเพลงที่ใช้บรรเลง

จากการสืบค้นข้อมูลในส่วนของชื่อที่ใช้เรียกเรียกในการบรรเลงดนตรีมังคละเภรีที่ใช้ในกลุ่ม 3 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างลุ่มน้ำยมและน่าน ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดอุตรดิตถ์นั้น สามารถอนุมานได้ว่ามีการปะทะสังสรรค์กันทางวัฒนธรรม โดยหากสังเกตจากชื่อของแต่ละเพลงแล้ว พบว่าล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิศาสตร์ วิถีชีวิตของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นที่มีดนตรีมังคละด้วยกันทั้งสิ้น ดังนี้

2.2.1.1 จังหวัดพิษณุโลกการเล่นดนตรีมังคละของจังหวัดพิษณุโลกนั้น แต่เดิมนั้นบรรเลงอย่างเดียว และใช้บรรเลงในเวลาแห่นาคเข้าวัด งานทอดผ้าป่า งานสงกรานต์ งานทอดกฐิน เป็นต้น เพลงที่บรรเลงชาวบ้านได้เป็นผู้คิดจังหวะและตั้งชื่อเองมีจำนวน 38 เพลง ดังนี้

1. เพลงไม้หนึ่ง

2. เพลงไม้สอง

3. เพลงไม้สาม

4. เพลงไม้สามกลับ

5. เพลงไม้สามถอยหลัง

6. เพลงไม้สี่

7. เพลงกระทิงเดินดง

8. เพลงกระทิงนอนปลัก

9. เพลงกระทิงกินโป่ง

10. เพลงเก้งตกปลัก

11. เพลงข้ามรับ-ข้ามส่ง

12. เพลงข้าวต้มบูด

13. เพลงคางคกเข็ดเขี้ยว

14. เพลงคลื่นกระทบฝั่ง

15. เพลงคุดทะราดเหยียดกรวด

16. เพลงตกปลัก (อีเก้งตกปลัก)

17. เพลงตกตลิ่ง

18. เพลงตุ๊กแกตีนปุก

19. เพลงถอยหลังลงคลอง (ถอยหลังเข้าคลอง)

20. เพลงนมยานกระทกแป้ง

21. เพลงนารีชื่นชม

22.เพลงบัวโรย

23. เพลงบัวลอย

24. เพลงใบไม้ร่วง (ใบไผ่ร่วง)

25. เพลงปลักใหญ่

26. เพลงพญาเดิน

27. เพลงแพะชนกัน

28. เพลงแม่หม้ายนมยาน

29. เพลงรักซ้อน

30. เพลงรักแท้

31. เพลงรักเร่ (สาวน้อยประแป้ง, เพลงรำ)

32. เพลงรักลา

33. เพลงลมพัดชายเขา

34. เพลงเวียนเทียน

35. เพลงเวียนโบสถ์

36. เพลงสาลิกาลืมดง

37. เพลงสาวน้อยประแป้ง

38. เพลงหิ่งห้อยชมสวน

สำหรับเพลงมังคละที่มีการบันทึกเป็นโน้ต ซึ่งอาจารย์ครองศักดิ์ ภุมรินทร์เป็นผู้จดบันทึกไว้มีจำนวน 21 เพลง ดังนี้

1. เพลงไม้หนึ่ง

2. เพลงไม้สอง

3. เพลงไม้สาม

4. เพลงไม้สี่ (เพลงครู)

5. เพลงบัวลอย

6. เพลงถอยหลังลงคลอง (ถอยหลังเข้าคลอง)

7. เพลงใบไม้ร่วง (ใบไผ่ร่วง)

8. เพลงตกปลัก (อีเก้งตกปลัก)

9. เพลงนมยานกระทกแป้ง

10. เพลงตุ๊กแกตีนปุก

11. เพลงคางคกเข็ดเขี้ยว

12. เพลงแพะชนกัน

13. เพลงคุดทะราดเหยียดกรวด

14. เพลงข้าวต้มบูด

15. เพลงกระทิงกินโป่ง

16. เพลงพญาเดิน

17. เพลงตีนตุ๊กจะ

18. เพลงกวางเดินดง

19. เพลงบัวโรย

20. เพลงรักแท้

21. เพลงรักเร่ (สาวน้อยประแป้ง, เพลงรำ)

2.2.1.2 จังหวัดสุโขทัย เพลงที่ใช้บรรเลงดนตรีมังคละของจังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ไม่มีเนื้อร้อง มีแต่การพาทย์ คือ การบอกว่าตอนนี้รำท่านี้ จะใช้เพลงทำนองนี้ โดยชื่อเพลงมังคละของอำเภอกงไกรลาศที่สามารถรวบรวมได้ มีดังนี้ (จิรวรรณ ศรีสกุล. 2549: 15)

1. เพลงเชิญครู

2. เพลงสองไม้

3. เพลงสามไม้

4. เพลงไอ้ค่างเข่นเขี้ยว

5. เพลงใบปี่

6. เพลงบายศรี

สำหรับชื่อเพลงที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย (2551:67-68) สามารถรวบรวมไว้ได้ มีดังนี้

1. เพลงไม้หนึ่ง

2. เพลงไม้สอง

3. เพลงกบเข่นเขี้ยว

4. เพลงแม่ม่ายกะทิกแป้ง

5. เพลงตกปลัก

6. เพลงกวางเดินดง

7. เพลงคุดทะราดเหยียบกรวด

8. เพลงไทรย้อย

9. เพลงย่ำค่ำ- จูงนางเข้าห้อง

10. เพลงกาจับหลัก

11. เพลงหมูกัดแกนโคนบอน

12. เพลงเข็นครกขึ้นเขา

13. เพลงถอยหลังลงคลอง

14. เพลงเวียนเทียน

15. เพลงสาวน้อยปะแป้ง

16. เพลงไผ่ร่วง

17. เพลงลมพัดชายเขา

18. เพลงนกกระเด้าดิน

19. เพลงหงส์เหิร

นอกจากนี้วงมังคละของตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัยที่สามารถรวบรวมไว้ได้มีจำนวน 20 เพลง (www.bansuan.net :ออนไลน์.10 มกราคม 2553) ประกอบด้วย

1. เพลงไม้หนึ่ง

2. เพลงไม้สอง

3. เพลงไม้สาม

4. เพลงไม้สี่

5. เพลงบัวลบ

6. เพลงไทรย้อย

7. เพลงตกปลักเล็ก

8. เพลงตกปลักใหญ่

9. เพลงถอยหลังลงคลอง

10. เพลงพญาโศก

11. เพลงลมพัดชายเขา

12. เพลงย่ำค่ำ

13. เพลงจูงนางเข้าห้อง

14. เพลงกบเข่นเขี้ยว

15. เพลงแม่หม้ายกระทบแป้ง

16. เพลงสาวน้อยปะแป้ง

17. เพลงอีกาจับหลัก

18. เพลงเวียนเทียน

19. เพลงพระฉันภัตตาหาร

20. เพลงนางหงส์ (ใช้สำหรับแห่ศพ)

2.2.1.3 จังหวัดอุตรดิตถ์ เพลงที่ใช้บรรเลงในวงมังคละเภรีของจังหวัดอุตรดิตถ์ใน

อตีตนั้น ไม่ได้มีการบันทึกไว้ทำให้ชื่อและจำนวนเพลงหายสาบสูญไป จากการสัมภาษณ์ ผู้ใหญ่ กระทรวง สินหลักร้อย (สัมภาษณ์ 22 พฤษภาคม 2553) หัวหน้าวงมังคละ หมู่ 3 บ้านกองโค อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ว่าเพลงที่ใช้เท่าที่จำได้ มีดังนี้

1. เพลงไม้หนึ่ง

2. เพลงไม้สอง

3. เพลงไม้สี่

4. เพลงกวางเดินดง

5. เพลงสุขจริงๆ

เป็นที่น่าสังเกตว่าชื่อของเพลงที่ใช้บรรเลงส่วนใหญ่จะสามารถบอกเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนในอดีตได้เป็นอย่างดี ทั้งทัศนคติ ความเชื่อ ฯลฯ เช่น

1) เพลงที่มีชื่อเรียกเป็นไม้ เช่น เพลงไม้หนึ่ง เพลงไม้สอง เพลงไม้สามรุดหน้า เพลงไม้สามถอยหลัง เพลงไม้หนึ่งไม้สาม เพลงไม้สามกลับและเพลงไม้สี่ เพลงต่างๆนี้เปรียบเสมือนเป็น เพลงฝึกหัดในขั้นพื้นฐาน โดยเรียงลำดับตามความยากง่าย

2) เพลงที่เกี่ยวกับความรัก เช่น เพลงรักซ้อน เพลงรักแท้ เพลงรักเร่ และเพลงรำ เพลงดังกล่าวเป็นเพลงที่มีกระสวนจังหวะค่อนข้างเรียบ ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อน

3) เพลงที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น เพลงคางคดเข็ดเขี้ยว เพลงแพะชนกัน เพลงกระทิงกินโป่ง เพลงกวางเดินดง เพลงตุ๊กแก เพลงปลักใหญ่ เพลงคลื่นกระทบฝั่ง และเพลงสาริกาลืมดง เพลงเหล่านี้ตั้งชื่อตามจินตนาการ จากการเลียนแบบธรรมชาติที่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวันและนำมาคิดประดิษฐ์

4) เพลงที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต เช่น เพลงข้าวต้มบูด เพลงแม่หม้ายนมยาน เพลงนมยานกระทกแป้ง เพลงเวียนเทียน เพลงเวียนโบสถ์ เพลงถอยหลังลงคลอง เพลงข้ามรับ-ข้ามส่ง เพลงครุดราดเหยียบกรวด เพลงสุขจริงๆ เพลงพญาเดิน และเพลงรำ โดยเพลงเหล่านี้เป็นการจินตนาการจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมในยุคนั้นๆ

รูปแบบของวงดนตรีในประเทศไทยที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับวงมังคละเภรี

รูปแบบของวงดนตรีในประเทศไทยที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับวงมังคละเภรี

ดนตรีพื้นบ้านเป็นเสียงดนตรีที่ถ่ายทอดกันมาด้วยวาจาซึ่งเรียนรู้ผ่านการฟังมากกว่าการอ่าน และเป็นสิ่งที่พูดต่อกันมาแบบปากต่อปากโดยไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรจึงเป็นลักษณะการสืบทอด ทางวัฒนธรรมของชาวบ้านตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นกิจกรรมการดนตรีเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด จากการทำงานและช่วยสร้างสรรค์ความรื่นเริงบันเทิงเป็น

หมู่คณะและชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นซึ่งจะทำให้เกิด ความรักสามัคคีกันในท้องถิ่นและปฏิบัติสืบทอดต่อมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ทางพื้นบ้านของท้องถิ่นนั้น ๆ สืบต่อไป

ดนตรีพื้นบ้านของไทยนั้น สามารถแบ่งออกตามภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยได้ดังนี้

ดนตรีพื้นบ้านภาคกลาง ประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภท ดีด สี ตี เป่า โดยเครื่องดีดได้แก่ จะเข้และจ้องหน่อง เครื่องสีได้แก่ ซอด้วงและซออู้ เครื่องตีได้แก่ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดทอง ระนาดทุ้มเล็ก ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบและกรับ เครื่องเป่าได้แก่ ขลุ่ยและปี่ ลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านภาคกลาง คือ วงปี่พาทย์ของภาคกลางจะมีการพัฒนาในลักษณะผสมผสานกับดนตรีหลวง โดยมี

การพัฒนาจากดนตรีปี่และกลองเป็นหลักมาเป็นระนาดและฆ้องวงพร้อมทั้งเพิ่มเครื่องดนตรี มากขึ้นจนเป็นวงดนตรีที่มีขนาดใหญ่ รวมทั้งยังมีการขับร้องที่คล้ายคลึงกับปี่พาทย์ของหลวง ซึ่งเป็นผลมาจากการถ่ายโยงทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมราษฎร์และหลวง

ดนตรีพื้นเมืองบ้านภาคเหนือ ในยุคแรกจะเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ได้แก่ ท่อนไม้กลวง

ที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ในเรื่องภูตผีปีศาจและเจ้าป่า เจ้าเขา จากนั้น ได้มีการพัฒนาโดยนำหนังสัตว์มาขึงที่ปากท่อนไม้กลวงไว้กลายเป็นเครื่องดนตรีที่เรียนกว่ากลอง ต่อมามีการพัฒนารูปแบบของกลองให้แตกต่างออกไป เช่น กลองที่ขึงปิดด้วยหนังสัตว์เพียงหน้าเดียว ได้แก่ กลองรำมะนา กลองยาว กลองแอว และกลองที่ขึงด้วยหนังสัตว์ทั้งสองหน้า ได้แก่ กลองมองเซิง กลองสองหน้า และตะโพนมอญ นอกจากนี้ยังมีเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ เช่น ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ ส่วนเครื่องดนตรีประเภทเป่า ได้แก่ ขลุ่ย ย่ะเอ้ ปี่แน ปี่มอญ ปีสรไน และเครื่องสี ได้แก่ สะล้อลูก 5 สะล้อลูก 4 และ สะล้อ 3 สาย และเครื่องดีด ได้แก่ พิณเปี๊ยะ และซึง 3 ขนาด คือ ซึงน้อย ซึงกลาง และซึงใหญ่ สำหรับลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือ คือ มีการนำเครื่องดนตรีประเภท ดีด สี ตี เป่า มาผสมวงกันให้มีความสมบูรณ์และไพเราะ โดยเฉพาะในด้านสำเนียงและทำนองที่พลิ้วไหวตามบรรยากาศ ความนุ่มนวลอ่อนละมุนของธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการผสมทางวัฒนธรรมของชนเผ่าต่าง ๆ และยังเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมในราชสำนักทำให้เกิดการถ่ายโยง และการบรรเลงดนตรีได้ทั้งในแบบราชสำนักของคุ้มและวัง และแบบพื้นบ้านมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

ดนตรีพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) มีวิวัฒนาการมายาวนานนับพันปี เริ่มจากในระยะต้น มีการใช้วัสดุท้องถิ่นมาทำเลียนสียงจากธรรมชาติ ป่าเขา เสียงลมพัดใบไม้ไหว เสียงน้ำตก เสียงฝนตก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเสียงสั้นไม่ก้อง ในระยะต่อมาได้ใช้วัสดุพื้นเมืองจากธรรมชาติมาเป่า เช่น ใบไม้ ผิวไม้ ต้นหญ้าปล้องไม้ไผ่ ทำให้เสียงมีความพลิ้วยาวขึ้น จนในระยะที่ 3 ได้นำหนังสัตว์และเครื่องหนังมาใช้เป็นวัสดุสร้างเครื่องดนตรีที่มีความไพเราะและรูปร่างสวยงามขึ้น เช่น กรับ เกราะ ระนาด ฆ้อง กลอง โปง โหวด ปี พิณ โปงลาง แคน เป็นต้น โดยนำมาผสมผสานเป็นวงดนตรีพื้นบ้านภาคอีสานที่มีลักษณะเฉพาะตามพื้นที่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอีสานเหนือ และอีสานกลางจะนิยมดนตรีหมอลำที่มีการเป่าแคนและดีดพิณประสานเสียงร่วมกับการขับร้อง ส่วนกลุ่มอีสานใต้จะนิยมดนตรีกันตรึมซึ่งเป็นดนตรีบรรเลงที่ไพเราะของชาวอีสานใต้ที่มีเชื้อสายเขมร นอกจากนี้ยังมีวงพิณพาทย์และวงมโหรีด้วยชาวบ้านแต่ละกลุ่มก็จะบรรเลงดนตรีเหล่านี้กันเพื่อ ความสนุกสนานครื้นเครง ใช้ประกอบการละเล่น การแสดง และพิธีกรรมต่าง ๆเช่น ลำผีฟ้า ที่ใช้แคนเป่าในการรักษาโรค และงามศพแบบอีสานที่ใช้วงตุ้มโมงบรรเลง นับเป็นลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านอีสานที่แตกต่างจากภาคอื่น ๆ

ดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ มีลักษณะเรียบง่าย มีการประดิษฐ์เครื่องดนตรีจากวัสดุใกล้ตัวซึ่งสันนิษฐานว่าดรตรีพื้นบ้านดั้งเดิมของภาคใต้น่า จะมาจากพวกเงาะซาไก ที่ใช้ไม่ไผ่ลำขนาด ต่าง ๆ กันตัดออกมาเป็นท่อนสั้นบ้างยาวบ้าง แลัวตัดปากกของกระบอกไม้ไผ่ให้ตรงหรือเฉียงพร้อมกับ

หุ้มด้วยใบไม้หรือกาบของต้นพืช ใช้ตีประกอบการขับร้องและเต้นรำ จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาเป็นเครื่องดนตรีแตร กรับ กลองชนิดต่าง ๆ เช่น รำมะนา ที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวมลายู กลองชาตรีหรือกลองตุ๊กที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงมโนรา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ตลอดจนเครื่องเป่าเช่น ปี่นอกและเครื่องสี เช่น ซอด้วง ซออู้ รวมทั้งความเจริญทางศิลปะการแสดงและดนตรีของเมืองนครศรีธรรมราช จนได้ชื่อว่าละคอน ในสมัยกรุงธนบุรีนั้นล้วนได้รับอิทธิพลมาจากภาคกลางนอกจากนี้ยังมีการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ ประกอบการละเล่นแสดงต่างๆ เช่น ดนตรีโนรา ดนตรีหนังตะลุง ที่มีเครื่องดนตรีหลักคือ กลอง โหม่ง ฉิ่ง และเครื่องดนตรีประกอบผสมอื่น ๆ ดนตรีลิเกป่าที่ใช้เครื่องดนตรีรำมะนา โหม่ง ฉิ่ง กรับ ปี่ และดนตรีรองเง็ง ที่ได้รับแบบอย่างมาจาก

การเต้นรำของชาวสเปนหรือโปรตุเกสมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีการบรรเลงดนตรีที่ประกอบด้วย ไวโอลิน รำมะนา ฆ้อง หรือบางคณะก็เพิ่มกีต้าร์เข้าไปด้วย ซึ่งดนตรีรองเง็งนี้เป็นที่นิยมในหมู่

ชาวไทยมุสลิมตามจังหวัดชายแดน ไทย- มาเลเซีย ดังนั้นลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านภาคใต้จะได้รับอิทธิพลมาจากดินแดนใกล้เคียงหลายเชื้อชาติ จนเกิดการผสมผสานเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

ที่แตกต่างจากภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเน้นจังหวะและลีลาที่เร่งเร้า หนักแน่น และคึกคัก

เป็นต้น

รูปแบบของวงมังคละเภรีหรือที่เรียกกันว่า วงปี่กลอง นั้นเป็นวงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีประกอบ ด้วย กลอง 4 ใบ และปี่ 1 เลา ซึ่งในประเทศไทย มีวงดนตรีที่มีลักษณะและรูปแบบของวงดนตรีที่คล้ายคลึงกับวงมังคละเภรีปรากฏ ได้แก่

2.4.1 วงบัวลอย

วงบัวลอย หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันว่าวงปี่ชวากลองแขก คำว่าบัวลอย เป็นชื่อของ

การบรรเลงดนตรีลักษณะหนึ่ง ซึ่งมีเครื่องดนตรีที่ประกอบด้วย ปี่ชวา กลองแขก และฆ้องเหม่ง (ลักษณะเหมือนฆ้องโหม่ง แต่ขนาดเล็กกว่า ใช้ไม้ตีที่แข็งกว่า และนิยมใช้มือหิ้วตีในขณะบรรเลง)

วงบัวลอยมักจะใช้บรรเลงในงานอวมงคล เช่น งานศพ แต่เดิมวงบัวลอยประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่เรียกกันว่า “กลองสี่ปี่หนึ่ง” ซึ่งประกอบด้วย กลองแขก 4 ลูก และปี่ชวา 1 เลา แต่ภายหลังได้

ลดจำนวนกลองเหลือ 2 ลูก สำหรับกลองที่เรียกว่ากลองแขก มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่มีสายโยง

ทำด้วยหวาย เรียกว่ากลองแขกซึ่งใช้ในการมงคลต่างๆ อีกชนิดหนึ่งได้แก่

ชนิดที่สายโยงทำด้วยหนังเรียกว่ากลองมาลายูใช้แต่เฉพาะในงานอวมงคลต่างๆ

(http://x. thaikids.com:ออนไลน์.10 มกราคม 2553) การผสมวงปี่พาทย์กลองแขก การผสมวงประเภทนี้มี 2 ชนิด คือ เครื่องที่ใช้กลองมลายู และเครื่องที่ใช้กลองแขก การผสมวงเครื่องกลองมลายู เดิมใช้ปี่ชวา 1 เลา กลองมลายู 4 ลูก และฆ้องเหม่ง 1 ใบ เครื่องกลองมลายูนี้แต่เดิมใช้ในกระบวน

พยุหยาตราและกระบวนแห่ต่างๆ ต่อมามีการนำไปใช้ในกระบวนแห่พระบรมศพและพระศพเจ้านาย เมื่อใช้ในกระบวนแห่พระศพดังกล่าวจึงมีการนำไปใช้เป็นเครื่องประโคมศพโดยทั่วไปด้วย ต่อมามีการลดจำนวนกลองมลายูลงเหลือเพียง 2 ลูก การผสมวงเครื่องกลองแขก ประกอบด้วยปี่ชวา 1 เลา ผสมกับกลองแขก 1 คู่ และฆ้องโหม่ง 1 ใบ แต่ปัจจุบันมักใช้ฉิ่งแทนฆ้องโหม่งเป็นส่วนมาก

เครื่องกลองแขกนี้เดิมจะใช้ประกอบการฟ้อนรำอย่างแขก เช่น รำกริช เป็นต้น ต่อมามีการนำมาใช้กับรำกระบี่กระบอง จนกระทั่งถึงการชกมวยอย่างที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้ นอกจากใช้ประกอบการฟ้อนรำแล้ว ภายหลังยังมีการใช้เครื่องกลองแขกประกอบในกระบวนแห่ด้วย เช่น กระบวนแห่โสกันต์

เป็นต้น

2.4.2 วงปี่พาทย์เครื่องห้า

วงปี่พาทย์เครื่องห้าสามารถแบ่งออกเป็นเครื่องอย่างเบาและอย่างหนัก เครื่องอย่างเบานั้นใช้สำหรับบรรเลงประกอบการเล่นโนห์ราชาตรีเท่านั้น เรียกว่าวงปี่พาทย์ชาตรี ในสมัย

กรุงศรีอยุธยาเรียก ปี่พาทย์เครื่องห้าชนิดเบา เพราะมีน้ำหนักเบาใช้บรรเลงประกอบการแสดงละครชาตรี ต่อมาจึงเรียกชื่อตามละคร เครื่องดนตรี ประกอบด้วยปี่นอก 1 เลา ทับ (โทนไม้) 2 ใบกลองชาตรี 1 ใบ ฆ้องคู่ 1 ชุด และฉิ่ง 1 คู่ สำหรับทับบางครั้งใช้เพียงใบเดียว แต่เดิมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างหนักสำหรับบรรเลงประกอบการแสดงโขน ละคร และหนังใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

วงปี่พาทย์เครื่องห้าดังกล่าวนี้ประกอบด้วย ปี่ 1 เลา ระนาดเอก 1 ราง ฆ้องวงใหญ่ 1 วง ตะโพน 1 ใบ และกลองทัด 1 ลูก

2.4.3 วงตุ๊บเก่ง

ตุ๊บเก่ง เป็นชื่อของวงดนตรีชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับวงดนตรีกาหลอ

ในภาคใต้ วงตุ๊บเก่งเป็นวงดนตรีพื้นบ้านของชาวเพชรบูรณ์ ใช้บรรเลงในงานศพของชาวบ้านสะเดียงในเขตอำเภอเมืองและอำเภอใกล้เคียง เป็นดนตรีพื้นบ้านที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ประเภท

เครื่องดนตรี เพลงที่บรรเลงจะเป็นเพลงบรรเลงเล่นในงานศพ งานเทศกาลสงกรานต์

งานอุ้มพระดำน้ำ แต่ละวงจะมีผู้เล่นห้าคน เครื่องดนตรีประกอบด้วย ฆ้องกระแต หนึ่งใบ ฆ้องโหม่งสองใบ กลองสองหน้า สองใบ ปี่แต้ สองเลา เพลงที่เล่น มีประมาณ 32 เพลง แต่ที่นิยมมีเพียง 8 - 9 เพลง คือ เพลงสาธุการ เพลงสามใบหยัก เพลงปลงศพ เพลงเดินหน เพลงแก้วน้อยดับไฟ

เพลงตะเข้ลากหาง เพลงนางช้อง และเพลงแกะชนกัน

2.4.4 วงตึ่งนง

วงตึ่งนง หรือตึ่งโนง เป็นชื่อของวงดนตรีของภาคเหนือ ตึ่งนง เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องเป่าและเครื่องตี เครื่องเป่าได้แก่ “แน” มี 2 เลา คือ แนหน้อยและแนหลวง เครื่องตีได้แก่ ฆ้องขนาดใหญ่ (เรียก-ก๊องอุ้ย) ฆ้องขนาดกลาง (เรียก-ก๊องโหย้ง) ฉาบใหญ่ (เรียก-สว่า) กลองขนาดเล็กหุ้มสองหน้าที่เรียกว่า “กลองตะหลดปด” และกลองแอว ชื่อของวงตึ่งนงนั้นสันนิษฐานว่าได้มาจากเสียงกลองแอวที่มีเสียง “ตึ่ง” รับกับเสียงฆ้องที่มีเสียง “นง” ใช้สำหรับประโคมในงานบุญต่างๆของวัด ขบวนแห่ครัวทาน แห่ต้อนรับหัววัด เมื่อมีงานฉลองศาสนสถานของวัดที่เรียกว่า “ปอยหลวง” แห่ประกอบการฟ้อนเล็บ และแห่เป็นมหรสพฉลองงานที่เรียกว่า “อุ่นงัน” เป็นต้น วงตึ่งโนง มีลักษณะเด่นอยู่ที่กลองแอว ซึ่งเป็นกลองขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างคอด เป็นกลองที่มีเสียงก้องกังวาน สามารถสะกดคนฟังได้ทุกครั้งที่มีบรรเลง

2.4.5 วงตุ้มโมง

ตุ้มโมง คือชื่อของวงดนตรีประโคมศพของคนไทยเชื้อสายเขมรในประเทศไทย หรือชื่อ ตุมมิง, ตมมอง ซึ่งเป็นดนตรีประโคมศพของชาวเขมรในภาคตะวันตก-ตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา มีองค์ประกอบของเสียงดนตรีอย่างน้อย 3 ชนิด คือ กลองขนาดใหญ่ (กลองเพลหรือกลองทัด เขมรเรียก “สกอร์ธม”), ฆ้องหุ่ยขนาดใหญ่ และปี่ (เขมรฝั่งไทยใช้ปี่ขนาดเล็กที่เรียก “ปี่เน” หรือ “ปี่ไฉน” บางทีก็เป็น “ปี่อ้อ”, เขมรใช้ปี่เล็ก เรียก “สราไลโต๊ช”) หัวใจสำคัญของวงตุ้มโมงคือเสียงฆ้อง ที่จะตีเสียงดังกังวานทั้งวันทั้งคืนเพื่อส่งวิญญานคนตาย ส่วนกลองจะตีแทรกเป็นระยะ และปี่เป่าทำนองเพลงโศกเป็นบางเวลา เพลงที่ถือว่าเป็นเสียงประจำ เช่น แซรกยม โต๊ะยม เป็นต้น ตุ้มโมงเป็นดนตรีพื้นบ้านที่ใช้บรรเลงประโคมในงานศพเท่านั้น และจะเล่นแต่ในเวลากลางคืน เครื่องดนตรีของวงตุ้มโมงประกอบด้วย

1. ฆ้องโหม่ง 1 ใบ (เป็นเครื่องดนตรีหลัก) โดยถือว่าเสียงของฆ้องโหม่งเป็นเสียงแห่งความเศร้าโศกและความอัปมงคล

2. กลองเพลขนาดใหญ่ 1 ใบ

3. ปี่ไฉน (หรือปี่ไนในสำเนียงเขมร) แต่บางทีก็ใช้ปี่อ้อแทน

4. ฆ้องราว (จำนวน 9 ใบ)

เหตุที่เรียกว่า ตุ้มโมง หรือ ตี๊มูง ก็เพราะเสียงที่ดังที่สุดและดังไปไกลในเวลากลางคืนที่เงียบสงัดนั้นจะได้ยินเสียงดัง ตุ้ม หรือ ทุ่ม อีกสักพักหนึ่งก็จะได้ยินเสียง โหม่ง หรือ โมง ของฆ้องโหม่ง

ดังตามมา สลับกันไปเช่นนี้ตลอดทั้งคืน

2.4.6 วงกาหลอ

ดนตรีกาหลอมิได้เกิดขึ้นจากสังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวใต้ แต่เป็น

วงดนตรีของชาวอินเดียที่เข้ามาพร้อมกับศาสนาพราหมณ์ตั้งแต่ก่อนพุธศตวรรษที่ 13 โดยชาวมลายูใช้ดนตรีกาหลอเป็นเครื่องดนตรีประโคมในงานศพ เพื่อให้วิญญาณผู้ตายเป็นเครื่องสักการะแก่

พระอิศวรหรือพระกาล เหตุผลที่มีความเชื่อเช่นนี้ เพราะวงดนตรีกาหลอมีความผูกพันกับระบบ

ความเชื่อและพิธีกรรม ซึ่งตรงกับวิถีทางของศาสนาพราหมณ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งพิธีกรรม

(ภัทรวรรณ จันทร์ธิราช.2539 : 7) ลักษณะของวงกาหลอประกอบด้วยปี่กาหลอ หรือปี่อ้อ ทน(กลอง)และ ฆ้อง ลักษณะของวงเช่นนี้ ปรากฏในสังคมไทยในแต่ละภูมิภาค ภาคเหนือ เช่น วงตึ่งนง วงมังคละภาคกลาง เช่น วงกลองแขก วงบัวลอย วงปี่ไฉน กลองชนะ วงเปิงพรวด ภาคอีสาน เช่น

วงตุ้มโมง ภาคใต้ เช่น วงกาหลอ วงปี่พาทย์ วงชาตรี วงสิละ

2.4.7 วงเปิงพรวด

วงเปิงพรวด เป็นวงดนตรีที่ใช้บรรเลงเฉพาะงานพระศพของเจ้านายชั้นหม่อมราชวงศ์ขึ้นไป หรือบุคคลชั้นสูงที่พระราชทานวงเปิงพรวด มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บรรเลงในงานรดน้ำศพหรือพระราชทานเพลิงศพ นอกจากนี้ยังใช้รูปแบบของวงประโคมเพื่อใช้ในขบวนแห่พระบรมศพและพระศพเจ้านาย และนำขบวนพยุหยาตรา เครื่องดนตรีประกอบด้วย ประกอบด้วยวงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ ใช้สำหรับประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมงคือ ยาม 1 เวลา 06.00 น.

ยาม 2 เวลา 09.00 น. ยาม 3 เวลา 12.00 น. ยาม 4 เวลา 15.00 น. ยาม 5 เวลา 18.00 น. ยาม 6 เวลา 21.00 น. ยาม 7 เวลา 24.00 น.

2.4.8 วงเทิ้งบ้อง,วงกลองยาว

วงเทิ้งบ้อง หรือวงกลองยาว เป็นวงดนตรีที่นิยมเล่นกันในทั่วทุกภาคของ

ประเทศไทย ใช้สำหรับแห่ในงานรื่นเริงทั่วไป เช่น งานแห่ขบวนกฐิน ผ้าป่า แห่นาค หรืองานเทศกาลต่างๆ เครื่องดนตรีประกอบด้วย ปี่ 1 เลา (อาจเป็นปี่ชวาหรือปี่ในท้องถิ่น) กลองยาวไม่จำกัดจำนวน ฆ้อง1 ใบ ฉิ่ง ฉาบ กรับ และโหม่ง

ที่มา http://mangkarapearee.blogspot.com/

https://www.facebook.com/pages/%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%A3%E0%B8%B5-peemai/105525806190474

สื่อ

รวมบทความมังคละ

"ดนตรีในตำนาน

แห่งสวางคบุรี"

มังคละหลากลีลา

อารยะศาสตร์และศิลป์

เล่าขานตำนานถิ่น

รุ่นสู่รุ่น "มังคละ"

สืบสาน "น่านวารินทร์"

คู่แผ่นดินแห่ง "เมืองฝาง"

เคียงคู่สู่เมืองงาม

"มหาธาตุพระศาสดา"

บัดนี้ใกล้สิ้นชื่อ

สิ้นนับถือผู้รักษา

ใกล้ผ่านกาลเวลา

"ดับอรุณ" สุโขทัย

"มังคละมรดกโลก"

จะสู่โศกนิมิตหมาย

"กู้เก่ากลับคืนกลาย"

คือ "หน้าที่พิทักษ์ธรรม"

"คุ้งตะเภาเภรี"

บรรเลงศรีคู่สยาม

ดํบงดํกลองตาม

คือสายธารเชิดชูไทย

ชีวิตนี้น้อยนัก

พึงพิทักษ์เชิดชูไว้

มังคละสิ้นเมื่อใด

สิ้นหายใจ "จิตวิญญาณ์"

วานท่านขอวานเถิด

สิ่งประเสริฐจงรักษา

มังคละคืออัชฌา

คือ "ปัญญาแห่งผองชน"ฯ

(เทวประภาส)

๑๒ พ.ค. ๕๘