โครงการแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๐

วันที่โพสต์: Jun 28, 2017 4:52:23 PM

วันที่ ๒๗-๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ อาคารอบรมสงฆ์วัดคุ้งตะเภา (ศาลาการเปรียญ ชั้น ๒) วัดคุ้งตะเภา ต.คุ้งตะเภา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ จัดโครงการแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๐ โดยมีเครือข่ายสามวัย (๓ วัย ได้แก่ วัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่) เข้าร่วมกว่า ๕๐ คน (ตลอดทั้ง ๒ วัน)

- จดหมายข่าววัดคุ้งตะเภา วันที่ ๒๘ มิ.ย. ๖๐

ซึ่งเมื่อโครงการอบรมฯ ในวันที่ ๒๗-๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ สิ้นสุดลง ได้เกิดการสร้างเครือข่าย ๓ วัย เพื่อการดำเนินงานใน กิจกรรมที่ ๒ การลงพื้นที่สืบค้นและประมวลข้อมูลประวัติศาสตร์ ประเพณี วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น ชุมชนบ้านคุ้งตะเภา (หมู่ ๑-๒-๓-๔ ต.คุ้งตะเภา) เพื่อการจัดทำหนังสือตีพิมพ์แจกจ่ายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ จำนวน ๑,๕๐๐ เล่ม ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จ ภายในกรกฎาคม ๒๕๖๐ ในชื่อหนังสือ "สารพันบันทึกเล่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา: ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น" ประกอบด้วยเนื้อหาจำนวน ๗ บท (ความหนาประมาณ ๓๕๐ หน้า) คือ บท ๑ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ บท ๒ วิถีวัฒนธรรมคุ้งตะเภา บท ๓ ของเก่าเล่าเรื่อง บท ๔ ทำเนียบภูมิปัญญาคุ้งตะเภา บท ๕ ประวัติเก่าเล่าให้ฟัง บท ๖ ร่วมรากบ้านเรา และบท ๗ ภาษาเก่าบ้านเรา โดยได้รับการสนับสนุนจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขออนุโมทนาสาธุ ๆ

จากนั้นในวันสุดท้าย วัดคุ้งตะเภาได้จัด กิจกรรมสำนึกดีวิถีไทย โดยมี ดร.พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี และพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ รวมถึงคณะครู เป็นวิทยากรกระบวนการ โดยมีลักษณะกิจกรรม ปลูกฝังหลักธรรม ฆราวาสธรรม, สัมมัปปธานธรรม, เวสารัชชกรณธรรม และกตัญญูกตเวทิตาธรรม ด้วยวิธีการบรรยายประกอบกระบวนการ การแสดงบทบาทสมมติ ( Role playing) และสรุปกิจกรรม เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจลึกซึ้ง (insight) ในความรู้สึกของเยาวชน เกี่ยวกับพฤติกรรม เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม และวัฒนธรรม ให้มีความกล้าแสดงออกในการเรียนรู้ชีวิตภายใต้แนวคิดวิถีพุทธคือวิถีไทย บูรณาการเป็นภูมิคุ้มกันให้ดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาทขาดสติ ใฝ่รู้ รอบคอบ รู้คิด เพื่อสร้างความภาคภูมิ และรักกตัญญูต่อท้องถิ่นเกิดของตนเอง และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติได้ต่อไป

ฐาน ๔ ดนตรีวิถีชีวิต ผ่านวิทยากรภูมิปัญญาคุ้งตะเภา นายพินิจ แจ้งเปี่ยม ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลคุ้งตะเภา และคณะ โดยใช้กระบวนการการให้ความรู้ในรูปแบบกลุ่มสัมพันธ์ เพื่อผ่อนคลายอิริยาบถเปิดใจรับสิ่งดีๆ ผ่านการฝึกปฏิบัติจริง ถามตอบปัญหา/สนทนา/สังเกต และฝึกบันทึกข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ เพื่อมุ่งหวังปลูกฝังหลักธรรม สังคหวัตถุธรรม และสาธารณโภคิตา

ฐาน ๓ บายศรีวิถีไทย โดยวิทยากรภูมิปัญญาคุ้งตะเภา คือนางกิ่ง นิยมเดช อายุ ๘๐ ปี ซึ่งท่านเรียนรู้การพับบายศรีมาจากนางน้อย มารดา เมื่ออายุ ๑๕ ปี หรือเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๒ บายศรีบ้านคุ้งตะเภาใช้ในพิธีต่าง ๆ เช่น ทำขวัญบวชนาค และในพิธีเซ่นวักสังเวยต่าง ๆ อบรมโดยใช้กระบวนการ: การให้ความรู้ในรูปแบบการฝึกปฏิบัติจริง ถามตอบปัญหา/สนทนา/สังเกต และฝึกบันทึกข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ ผ่านการเรียนรู้สามวัย เพื่อมุ่งหวังปลูกฝังหลักธรรม สังคหวัตถุธรรม และสาธารณโภคิตา ทั้งนี้จากประวัติ จารึกวัดเขมา ด้านที่ ๑ พุทธศตวรรษ ๒๐๗๙ พบที่เมืองคีรีมาศ สุโขทัย มีการใช้คำว่า "บายศรี" จำนวน ๓ ครั้ง แสดงว่า ชาวภาษาถิ่นสุโขทัยโบราณเมื่อ ๕๐๐ ปี ก่อน รู้จักใช้ใบตองพับจีบมายาวนาน (อ้างอิง: ยอร์ช เซเดส์, “ศิลาจารึกวัดเขมา พุทธศักราช ๒๐๗๙,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๖), ๒๑๐-๒๑๘., สมชาย เดือนเพ็ญ) ซึ่งบ้านคุ้งตะเภาเป็นชุมชนที่ใช้ภาษาถิ่นแบบสุโขทัยที่รับสืบทอดวิชาและขนบการใช้บายศรีในงานพิธีมาแต่โบราณกาลเช่นกัน และ

ฐาน ๒ การตอกกระดาษโบราณ จากเท่าที่สืบได้ ทั้งตำบลคุ้งตะเภาเหลือผู้ที่สืบวิชาการตอกกระดาษแบบโบราณเพียง ๑ ครอบครัว โดยได้รับสืบมาจากบรรพชนคนคุ้งตะเภา ผ่านวิทยากรผู้ทรงภูมิปัญญา นางมัง ตุ่นสายบู่ (การตอกกระดาษแบบโบราณ) และพระสุพจน์ ตุ่นสายบู่ (การตอกกระดาษแบบโบราณ) รวมถึงการตัดกระดาษแบบโบราณโดยใช้วัสดุกรรไกร คือวิทยากรผู้ทรงภูมิปัญญา: นายวัน มากคล้าย (การตัดกระดาษว่าวในงานพิธี) เป็นการอบรมโดยมีลักษณะกิจกรรม: การฝึกปฏิบัติในรูปแบบกลุ่มสัมพันธ์, การฝึกปฏิบัติการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลภูมิปัญญา และการบันทึกข้อมูลวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อปลูกฝังหลักธรรมในกิจกรรม: พาหุสัจจะ, อิทธิบาทธรรม, นาถกรณธรรม, การอบรมวัฒนธรรม

ฐาน ๑ อาหารกินวิถีบ้าน โดยวิทยากรภูมิปัญญาคุ้งตะเภา: คณะแม่ครัวอาสาวัดคุ้งตะเภา ลักษณะกิจกรรมเป็นการแยกกลุ่มทำอาหารพื้นบ้านตำหรับบ้านคุ้งตะเภา เลี้ยงกันเอง ทำเอง กินเอง (และถวายพระ) ผ่านกระบวนการ: การให้ความรู้ในรูปแบบกลุ่มสัมพันธ์ เพื่อผ่อนคลายอิริยาบถเปิดใจรับสิ่งดีๆ ผ่านการฝึกปฏิบัติจริง ถามตอบปัญหา/สนทนา/สังเกต และฝึกบันทึกข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งหวังปลูกฝังหลักธรรมในกิจกรรม คืออิทธิบาทธรรม, สังคหวัตถุธรรม และสาธารณโภคิตา, การอบรมวัฒนธรรม

โดยลักษณะกิจกรรมเนื้อหา-นันทนาการ เป็นการให้ความรู้พื้นฐานด้านวัฒนธรรม ความเป็นมาท้องถิ่น การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่บทเรียนประจำฐาน และสรุปกิจกรรม มีเป้าหมายปลูกฝังหลักธรรม: อปริหานิยธรรม, สัมมัปปธานธรรม, เบญจพลธรรม และการอบรมเวียนฐานวัฒนธรรม ประกอบด้วย

โครงการดังกล่าวจัดโดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมกับ วัดคุ้งตะเภา สภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ โรงเรียนป่าขนุนเจริญวิทยา และ วงเสียงทองกลองยาวเยาวชนทุ่งยั้ง โดยเป็นการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างเครือข่ายสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา (๓ วัย ได้แก่ วัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่) จำนวน ๕๐ คน ซึ่ง กิจกรรมระหว่างวันที่ ๒๗ – ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ เป็นกิจกรรมที่ ๑ ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างเครือข่ายสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นคุ้งตะเภา มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เด็กเยาวชนในท้องถิ่น เกิดความตระหนัก และเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ค่านิยมที่ดีงามและความเป็นไทย และเห็นคุณค่าความสำคัญของอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น (๓ วัย ได้แก่ วัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่)

จากนั้นใน วันที่ ๒๘ มิ.ย. ๒๕๖๐ อันเป็นวันสุดท้ายของการอบรม ส.ต.ต.หญิง กนกกาญจน์ ลอยพงศ์ศรี ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา, รองเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา และเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ ๓ เมตตามาเป็นประธานในพิธีปิดโครงการ และมอบเกียรติบัตรให้แก่เยาวชนผู้ผ่านการอบรมโครงการอบรมแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา อีกด้วย

ซึ่งโครงการดังกล่าว มี พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี, ดร. รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา, เลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ (ฝ่ายการศึกษาคณะสงฆ์) เป็นหัวหน้าพระวิทยากรกำกับการอบรมตลอดทั้ง ๒ วัน โดยมีพระอาจารย์สุพจน์ ตุ่นสายบู่ พระธรรมวิทยากรวัดคุ้งตะเภา เป็นทีมพระวิทยากร ร่วมกับวิทยากรภูมิปัญญาคุ้งตะเภา ประกอบด้วย นายพินิจ แจ้งเปี่ยม ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลคุ้งตะเภา และคณะวิทยากรผู้ทรงภูมิปัญญา นางมัง ตุ่นสายบู่ (การตอกกระดาษแบบโบราณ) พระสุพจน์ ตุ่นสายบู่ (การตอกกระดาษแบบโบราณ) นายวัน มากคล้าย (การตัดกระดาษว่าวในงานพิธี) และนางกิ่ง นิยมเดช อายุ ๘๐ ปี (การพับใบตองในงานพิธีแบบโบราณ)

โดยใน วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ นางสาวปรารถนา มงคลธวัช วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๐ ระหว่างวันที่ ๒๗ – ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ ศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีนายศักดิ์ตระกูล เลี้ยงประเสริฐ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์, นางสุวภี อุไรวรณ์ นายกกิ่งกาชาดอำเภอเมืองอุตรดิตถ์, ผอ.สุนทร อ่อนวัง ผอ.ร.ร.ป่าขนุนเจริญวิทยา และนายพินิจ แจ้งเปี่ยม ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลคุ้งตะเภา ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด