เครื่องมือเกษตรกรรมและเหล็ก : พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาออนไลน์

เครื่องมือเกษตรกรรมและเหล็กในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

เครื่องมือในงานเกษตรกรรมและเหล็กที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา เช่น เครื่องปั่นด้าย, ช้างหีบ เครื่องบีบเมล็ดข้าวโพด, อุปกรณ์ตากยาสูบ, สูบลม, หลอดสูบน้ำดับเพลิงโบราณ และเครื่องมือช่างตีเหล็กโบราณ เป็นต้น

ช้างหีบ

ช้างหีบ เป็นเครื่องมือสำหรับหีบอ้อย เนื้อมะพร้าวที่ขูดแล้วเป็นน้ำกะทิ หีบถั่วงา ละหุ่ง ซึ่งใช้ครกตำแหลกเพียงเล็กน้อยนำมาห่อใช้ช้างหีบเป็นน้ำมัน ช้างหีบ บางทีเรียกว่า ช้างหีบอ้อย กรามช้าง ไม้คันหีบ ไม้หนีบ ไม้คันโยก เป็นต้น

การเรียกว่าช้างหีบเพราะมีคันโยกสำหรับโน้มกดหีบ มีลักษณะเหมือนกับงวงช้าง ส่วนฐานรองสำหรับวางท่อนอ้อย มะพร้าว ถั่ว งา ละหุ่ง คล้ายลักษณะของปากช้างด้านล่าง หรือคล้ายกรามช้าง

ช้างหีบ ทำจากไม้เนื้อแข็ง มีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วน คือ

1. ไม้วงช้าง เป็นไม้คันโยกสำหรับโน้มกดหีบอ้อย มะพร้าว ฯลฯ เพื่อเค้นน้ำออกมา ถากไม้ให้มีลักษณะเหมือนงวงช้าง มีโคนงวงใหญ่หลายงวงเรียวเล็ก ใช้เป็นที่จับโยกขึ้นโยกลงได้ ไม้งวงช้างด้านโคนงวงเจาะรูให้ทะลุ เพื่อใช้เหล็กสลักสอดรูยึดกับไม้ตั้ง ไม้งวงช้างมีความยาวประมาณ 1 – 2 เมตร

2. ไม้ตั้งหรือไม้ลูกตั้ง เป็นไม้แผ่นหนายาวประมาณ 30 เซนติเมตร ใช้สิ่วเจาะรูกว้างเหมือนสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อให้ไม้โคนงวงช้างซึ่งทำเป็นเดือย เจาะรูสอดเข้ามาได้ในลักษณะ หลวม ๆ จะได้โยกปลายงวงช้างขึ้นลงได้สะดวก และยังใช้สอดไม้เดือยปากช้าง หรือกรามช้างให้ยึดแน่น ฐานล่างไม้ตั้งจะเข้าเดือยกับแผ่นไม้ขวางหรือที่เรียกว่า ไม้ตีนช้าง

3. ไม้ขาวางหรือไม้ตีนช้าง ทำด้วยไม้แผ่นหนารูปลักษณะคล้ายปากช้างด้านล่าง บางแห่งเรียกว่า กรามช้าง ติดตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างไม้งวงช้าง และไม้ตีนช้าง โคนปากกลมใหญ่ ๆ ปลายปากเรียว ใช้สิ่วเจาะรูเป็นร่องโดยรอบของไม้ปากช้าง วางไม้ปากช้างให้ลาดเอียงกับส่วนปลายปากช้างเล็กน้อย ไม้ปากช้างใช้สำหรับวางสิ่งของที่จะหีบให้เป็นน้ำออกมา แล้วไหลไปตามร่องเพื่อใส่ภาชนะรองรับอีกครั้งหนึ่ง

4. ไม้ปากช้างหรือกรามช้าง ทำด้วยไม้แผ่นหนารูปลักษณะคล้ายปากช้างด้านล่าง บางแห่งเรียกว่า กรามช้าง ติดตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างไม้งวงช้าง และไม้ตีนช้าง โคนปากกลมใหญ่ ๆ ปลายปากเรียว ใช้สิ่วเจาะรูเป็นร่องโดยรอบของไม้ปากช้างวางไม้ปากช้างให้ลาดเอียงกับส่วนปลายปากช้างเล็กน้อย ไม้ปากช้างใช้สำหรับวางสิ่งของที่จะหีบให้เป็นน้ำออกมา แล้วไหลไปตามร่องเพื่อใส่ภาชนะรองรับอีกครั้งหนึ่ง

วิธีใช้ หากใช้หีบอ้อย จะใช้อ้อยเป็นท่อน ๆ ปอกเปลือกแล้ววางที่ปากช้าง โน้มกด ปลายงวงช้างลงมา ท่อนอ้อยเมื่อถูกหีบน้ำอ้อยจะไหลออกมา หากใช้หีบมะพร้าวขูดแล้วเพื่อบีบเอาน้ำกะทิ จะใช้รกมะพร้าวหรือผ้ากรอง ชาวบ้านเรียกผ้ามุ้งห่อมะพร้าวไปวางให้ไม้งวงช้างหีบเป็นน้ำกะทิ

หากใช้หีบถั่ว งา ละหุ่ง จากใส่ครกตำเมล็ดให้แหลกก่อนแล้วจึงนำไปห่อผ้ากรอง หีบเค้นออกมาเป็นน้ำมันเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ ต่อไป

เครื่องสีข้าวโพดมือหมุน

เครื่องสีข้าวโพดมือหมุนเป็นเครื่องมือใช้แกะข้าวโพดออกจากฝักอย่างง่าย เวลาใช้จะใช้ฝักข้าวโพดไสไปมาให้เมล็ดข้าวโพดถูกปลายตะปู จะครูดเมล็ดให้หลุดจากฝักและร่วงลงช่องสี่เหลี่ยมที่เป็นรู แล้วนำข้าวโพดไปผึ่งแดดให้แห้ง ปัจจุบันหาดูได้ยาก เนื่องจากมีเครื่องสีแบบจักรกลเข้ามาแทนที่

กรอไหม

ตั้งแต่​​​​ :: ​​​​๒๕๕๐

เครื่องปั่นด้ายหรือกรอไหม เป็นเครื่องมือที่อาศัยหลักเกณฑ์ในเรื่องของล้อและเพลา ในสมัยโบราณเครื่องมือปั่นด้ายเรียกว่า “แว” มีลักษณะกลมใหญ่กว่าหัวแม่มือเล็กน้อย มีรูตรงกลางสำหรับเสียบไม้ปั่นด้าย ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องปั่นด้าย หรือ ไน ลักษณะทั่วไปของไน จะเป็นวงกลม ติดตั้งอยู่ระหว่างขาสองอันที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง และมีเหล็กสอดเป็นคันสำหรับหมุนวงล้อ ส่วนขาติดตั้งอยู่บนส่วนหัวของฐานที่ทำด้วยไม้ท่อนยาวประมาณ 30 นิ้ว โดยที่ส่วนปลายของท่อนไม้จะมีเหล็กไนสอดอยู่กับขาตั้งโดยโผล่เหล็กไนออกมา ไว้สำหรับเป็นที่สวมของหลอดไม้ไผ่ที่ทำเป็นที่กรอด้าย และระหว่างวงล้อจะมีสายพานทำด้วยเชือกโยงมาเพื่อหมุนเหล็กไน ดังนั้นเมื่อมีการหมุนวงล้อเหล็กไนก็จะหมุนไปด้วย

เครื่อง ปั่นด้ายหรือกรอไหม เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับปั่นฝ้ายให้เป็นเกลียวแน่นจนเป็นเส้นด้าย หรือใช้กรอเส้นด้ายเข้าไส้หลอดสำหรับเป็นเส้นพุ่ง โดยใช้คู่กับระวิงหรือกงกว้าง โดยการนำด้ายที่ผ่านการล้อหรือดิ้วจนเป็นหลอดแล้ว มาจ่อที่ไนแล้วหมุนวงล้อ ในขณะที่วงล้อหมุนไนก็จะหมุนตาม เกิดเป็นแรงเหวี่ยงที่ดึงม้วนด้ายที่จ่อไว้ตีเป็นเกลียว ให้ใช้มือที่ถือหลอดม้วนด้ายดึงออกจากไนจะทำให้เกิดเป็นเส้นด้าย จากนั้นให้ผ่อนแรงมือเส้นด้ายก็จะม้วนอยู่กับไน ทำเช่นนี้จนใกล้หมดม้วนด้ายก็นำม้วนด้ายใหม่ต่อเนื่องกันไปเป็นเส้นฝ้าย เดียวกันจนเต็มไน