ตราสัญลักษณ์วัดคุ้งตะเภา

ตรามหาสุวรรณเภตรา

ประกาศใช้ พุทธศักราช ๒๕๕๔

--------------------

ตราสัญลักษณ์ด้านบนนี้ มีนามว่า “ตรามหาสุวรรณเภตรา

เป็นตราสีแดงชาด เป็นตราสัญลักษณ์ประธานของวัดคุ้งตะเภา สำหรับใช้เป็นตราสัญลักษณ์บนหัวหนังสือ

ประกาศ อนุโมทนาบัตร เกียรติบัตร ระเบียบ และคำสั่งเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา และในกรณีอื่น ๆ ที่มีความสำคัญพิเศษ

ลักษณะ

ตรามหาสุวรรณเภตรา เป็นรูปวงกลมสามวงซ้อนในตราเดียวกัน

วงกลมในสุด เป็นรูปเรือสำเภาสุวรรณเภตราเทินบุษบก ประดิษฐานกงล้อพระธรรมจักร ๘ กำ

บนแท่นบุษบกเป็นรูปเชิงประทีปพุทธบูชาทั้งด้านซ้ายและขวา มีเปลวรัศมี ๘ เปลวจากเชิงประทีปพุทธบูชาขึ้นไปตามลำดับ

ข้างบนซ้ายและขวาของหัวและท้ายเรือสุวรรณเภตรามีเปลวรัศมีรับกำกับทั้งสองข้าง

ด้านล่างเรือสุวรรณเภตรามีข้อความอักษรขอม ปริวรรตเป็นอักษรไทยได้ว่า “มหาสุวณฺณเภตรา”

ล่างอักษรดังกล่าวเป็นรูปเปลวรัศมีรับข้อความ วงกลมถัดมา ด้านบนสุดมีข้อความว่า “วัดคุ้งตะเภา”

ด้านล่างของวงกลมมีข้อความว่า

“ทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ ๑๑ บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ คณะสงฆ์ภาค ๕ (ม)”

วงกลมนอกสุด ล้อมรอบวงกลมในทั้งสองด้วยลายไทยรูปจักร ๔๒ กลีบ

ความหมาย

(๑) รูปวงกลมสามวงซ้อนในตราเดียวกัน สื่อความหมายถึง พระรัตนตรัย

(๒) รูปเรือสำเภาสุวรรณเภตราเทินบุษบก ประดิษฐานกงล้อพระธรรมจักร ๘ กำ มีข้อความอักษรขอมสื่อความหมายทางประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ของวัด ประการที่หนึ่ง เพื่อให้คล้องกับพระนามของ พระพุทธสุวรรณเภตรา พระพุทธปฏิมาประธานวัดคุ้งตะเภา และประการที่สอง เพื่อให้สื่อความหมายถึง ตำนานของวัดคุ้งตะเภา ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรือสำเภาทอง ที่แปลเป็นบาลีว่า “สุวณฺณเภตรา”

สัญลักษณ์ทั้งหมดนี้สื่อความหมายทางธรรมว่า

พระพุทธเจ้าผู้เป็นนายเรือสำเภาทอง ทรงนำพาเหล่าปวงสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากมหาสมุทรคือโอฆสงสารด้วยพระอริยัฏฐางคิกมรรค ๘ ประการ

คือ อริยมรรคมีองค์ ๘

(๓) ลายไทยรูปจักรนอกสุด สื่อความหมายในทางธรรม กลีบบัว ๔๒ กลีบ จำนวนกลีบแต่ละกลีบแสดงถึงองค์ธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา โดย ๕ กลีบแรก แสดงถึง เบญจศีล ๕ ประการ และ ๓๗ กลีบที่เหลือ แสดงถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ รวมเป็น ๔๒ ประการ

ตรานี้ประกาศใช้ ณ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ เอกสารอ้างอิง.pdf

ตราประทับฎีกาวัดคุ้งตะเภา

ประกาศใช้ พุทธศักราช ๒๕๕๒

--------------------

ตราสัญลักษณ์ด้านบนนี้ มีนามว่า “ตราประทับฎีกาวัดคุ้งตะเภา

เป็นตราสัญลักษณ์ที่มีศักดิ์รองจากตรามหาสุวรรณเภตรา

ปัจจุบัน ใช้เฉพาะกรณีการประทับกำกับฎีกาของวัด และประทับกำกับใบอนุโมทนาบัตรเท่านั้น

(เดิมตราประทับฎีกานี้ได้ผูกและถูกกำหนดให้เป็นตราสัญลักษณ์ประธานวัดคุ้งตะเภาตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑

แต่ถูกยกเลิกและให้ใช้เป็นตราประทับฎีกาวัดคุ้งตะเภาเมื่อมีการออกประกาศวัดคุ้งตะเภา

เรื่อง ให้ใช้ตราสัญลักษณ์วัดคุ้งตะเภา พ.ศ. ๒๕๕๔ ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔)

ลักษณะ

เป็นตราสีแดงชาด ขอบนอกวงกลม มีลายไทยล้อมรอบวงในด้วยลายไทยรูปกนก

สื่อถึง กลีบบัว ๔๒ กลีบ จำนวนกลีบแต่ละกลีบแสดงถึงองค์ธรรมสำคัญ ๆ ในพระพุทธศาสนา

โดย ๕ กลีบแรก แสดงถึง เบญจศีล ๕ ประการ และ ๓๗ กลีบที่เหลือ แสดงถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ รวมเป็น ๔๒ ประการ

ความหมาย

โดยขอบกลีบบัวดังกล่าวนั้น มีอุปมาธรรมสอนใจพุทธบริษัท ๔ ที่ปรารถนาข้ามซึ่งโอฆะสงสาร ก้าวล่วงซึ่งความทุกข์ เข้าสู่บรมสุข คือนิพพานอันเป็นสภาวะที่ปราศจากทุกข์ทั้งมวล โดยผู้ปรารถนาดังกล่าว ขั้นแรกพึงต้องประกอบบำเพ็ญตนอยู่ในศีล คือความปกติกายและวาจาของสามัญปุถุชน ๕ ประการ คือเบญจศีล ๕

โดยเมื่อตั้งตนอยู่ในความปกติกายและวาจา อันเป็นบาทฐานแห่งการปฏิบัติธรรมได้ครบถ้วนแล้ว

จึงจะพึงเจริญหลักธรรมเพื่อความรู้แจ้ง อันได้แก่โพธิปักขิยธรรมทั้งสิ้น ๓๗ ต่อไป

โดยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนั้น คือธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ คือ เกื้อกูลแก่การรู้แจ้ง เกื้อหนุนแก่อริยมรรค

อันเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุซึ่งจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา มี ๓๗ ประการ

คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘

ส่วนถัดมาจากกลีบบัว ๔๒ กลีบในตราสัญลักษณ์วัดคุ้งตะเภา คือแถบข้อความระบุนามและที่อยู่วัด โดยในส่วนบนของแถบระบุอักษรไทยว่า “วัดคุ้งตะเภา” โดยมีรูปใบโพธิ์พฤกษ์ ประดับอยู่สองข้างของข้อความ ซึ่งมีความหมายถึง “พระธรรม” และ “พระวินัย” อันเป็นหลักสำคัญของการธำรงพระพุทธศาสนา กล่าวคือ การที่ มนุษย์ทั้งหลาย ดำรงอยู่ในศีลธรรม และอีกนัยหนึ่ง หมายถึง พระสงฆ์ทั้งปวง พึงดำรงอยู่ในกรอบของ ”พระวินัย” มีความเอื้อเฟื้อในวินัยบัญญัติทั้งปวง และนอกจากวินัยแล้ว พึงปฏิบัติ “ธรรม” ให้สมควรแก่ธรรม เพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์

ส่วนในด้านล่างของแถบ ระบุที่ตั้งของวัดเป็นอักษรไทยว่า “ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์”

ส่วนถัดมาจากแถบข้อความ เป็น กงซี่ล้อพระธรรมจักร อันหมายถึงการธำรงรักษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นไป ดังปรากฏพระพุทธพจน์ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร (สํ.ม.๑๙/๔๑๙) ว่า

“ธมฺมจกฺกํ อปฺปฏิวตฺติยํ”

“อันใครๆ ไม่สามารถยังธรรมจักรที่เป็นไปแล้ว ให้กลับได้”

กล่าวคือ การรักษาพระพุทธศาสนา หรือการหมุนกงล้อพระธรรมจักร คือพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น เป็นหน้าที่สำคัญของพุทธบริษัททั้งมวลที่จะยังให้ธรรมจักรของพระพุทธองค์ไม่ให้หมุนกลับ คือรักษาไว้ไม่ให้สูญหายไปซึ่งพระพุทธศาสนา ซึ่งหน้าที่นี้เป็นหน้าที่สำคัญของวัดคุ้งตะเภา อันเป็นศูนย์รวมศรัทธาของพุทธบริษัท ๔

จำนวนกงซี่ล้อแห่งพระธรรมจักรในตราสัญลักษณ์นั้น มีทั้งหมด ๑๒ ซี่ อุปมาแยกองค์ธรรมเป็นสาม คือ ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แก่ โพชฌงค์ ๗, อริยสัจ ๔ และ

พระนิพพาน ๑ รวมเป็น ๑๒ องค์คุณแห่งเครื่องตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ส่วนถัดมาจากกงซี่พระธรรมจักร คือศูนย์กลางแห่งตราสัญลักษณ์ เป็นรูปเรือสุวรรณเภตรา (สำเภาทอง) ลอยลำเหนือแม่น้ำน่าน ท่ามกลางกลุ่มเมฆใหญ่ที่ลอยเหนือเรือ ในเรือกางใบสำเภา ๓ ใบ เป็นอุปมาสำคัญของตราสัญลักษณ์วัด โดยจำแนกอุปมาได้เป็น ๒ คือ จำแนกตามสามัญคติตำนานที่มาของชื่อบ้านคุ้งตะเภา ที่เล่าสืบมาว่าเคยมีเรือสำเภาแล่นมาอับปางลงที่โค้งน้ำหน้าวัดคุ้งตะเภา โดยตามตำนานกล่าวว่า วันที่เรืออับปางมีพายุใหญ่ ทำให้ไม่สามารถประคองเรือไว้ได้ จึงทำให้เรือล่ม และต่อมาชาวบ้านก็ถือเหตุการณ์นี้เป็นนามขนานเรียกตำบลแถบนี้ว่า คุ้งสำเภาล่ม และแผลงเป็น คุ้งตะเภา สืบมา และ จำแนกตามคติอุปมาธรรมสามัญ ได้ว่าพุทธศาสนิกชนผู้นับถือพระรัตนตรัยเป็นประดุจเครื่องนำทาง (กางใบเรือทั้งสาม) พึงรอดจากโอฆะสงสาร คือ ห้วงน้ำลึกแห่งกิเลส อันได้แก่ โลภะ ความอยากได้ใคร่ดีไม่มีที่สิ้นสุด โทสะ ความขุ่นข้องหมองใจไม่อยากได้ไม่อยากมี และ โมหะ ความหลงไม่รู้ความจริงตามความจริง โดยเมื่อพุทธศาสนิกชนนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่มั่นแล้ว พึงใช้ สติ มิให้ความประมาท คือลมพายุใหญ่เหนือเรือสุวรรณเภตรา พัดพาตนให้เหินห่างจากพระรัตนตรัยและจมลงสู่ก้นแห่งความมืดคือโอฆะสงสาร เป็นอุปมาสามัญ เทียบเคียงมนุษย์ทั้งหลายผู้ดำรงชีวิตอยู่ในโลก พึงใช้สติในการดำเนินชีวิต มีพระรัตนตรัยเป็นที่ยึดเหนี่ยว ไม่หลงมัวเมาไปกับสิ่งยั่วยุพัดพาต่าง ๆ ไปในทางเสื่อม จะพึงพบกับความสำเร็จในชีวิตได้แม้ทั้งในทางโลก หรือในทางธรรมดังนี้ฯ

อรรถาธิบายอุปมาสามัญ/อุปมาธรรมคติโดย พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี