ประวัติหมู่บ้านคุ้งตะเภา

ชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภา

“คุ้งตะเภา” ถ้านักนิรุกติศาสตร์มาศึกษาคำว่าคุ้งตะเภา ก็คงจะสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า คุ้งสำเภา ตามหลักภาษาศาสตรเชิงประวัติ (Historical Linguistics) หรือการเพี้ยนของภาษา ที่เมื่อเรียกคำเฉพาะใดบ่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป และเพื่ออาศัยความสะดวกในการเรียกขานจึงทำให้กลายมาเป็นคุ้งตะเภา ซึ่งทำให้เรียกได้ง่ายดี ไม่ต้องมา คู้งง สามม เภา เรียกง่ายไปเลย คุ้ง!ตะ!เภา! เหมือน เราเรียก อุดดิด ง่าย ๆ ไม่ต้อง อุตรดิตถ์ นั่นละมั้ง หรือเหมือน วังสีสูบ ที่แผลงมาจาก วังผีสูบ เนื่องด้วยแต่ก่อนบริเวณคุ้งน้ำน่านตรงนั้นมีคนจมน้ำตายประจำเพราะน้ำลึก และน้ำวน นานไปคนเรียกบ้านตรงนั้นว่าผีสูบก็คงน่ากลัว ก็เลยเพี้ยนซะเลย จึงกลายเป็นวังสีสูบแทนอย่างในปัจจุบัน หรืออย่างเมืองฝางสวางคบุรี ที่แต่เดิมเรียกกันว่า เมืองขวาง เพราะเป็นเมืองหน้าด่านในสมัยสุโขทัย ที่สมัยนั้นใครจะไปหลวงพระบาง,เวียงจันทร์ ต้องมาผ่านตรงนี้ก่อน พอนานเข้าก็คงเพี้ยนเลยกลายมาเป็น ฝาง หรือไม่ก็อาจจะถือว่าคำว่าขวางมันไม่เป็นมงคล บางคนว่าต้นฝางเยอะ แต่ผมก็ดูแถบนั้นก็ไม่ค่อยเห็นซักเท่าไร จะเห็นก็แต่ตามบ้าน แต่ก็น้อยต้นเต็มที ไอ้ที่จะนำต้นฝางมาตั้งเป็นชื่อเมืองก็คงจะไม่ใช่ คิดว่าน่าจะเป็นไปตามทฤษฎีแรกละมั้ง...

ความเป็นมาชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภา มีที่มาจากคำบอกเล่าที่กล่าวกันมาว่า เคยมีเรือสำเภาล่มบริเวณโค้งแม่น้ำน่านหน้าวัด (วัดคุ้งตะเภา) ชาวสวนที่อาศัยทำไร่นาอยู่แถบนั้นจึงเรียกบริเวณนั้นว่า โค้งสำเภาล่ม ต่อมามีคนมาอาศัยอยู่มากขึ้นและเพื่อความสะดวกปาก จึงกลายเป็น คุ้งสำเภา และเมื่อเรียกกันนานเข้าจึงแผลงมาเป็น คุ้งตะเภา และเรียกกันเช่นนี้ตลอดมา ซึ่งมีหลักฐานว่าคนทั่วไปเรียกหมู่บ้านนี้ว่า คุ้งตะเภา มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ดังปรากฎในเสภาตอนหนึ่งใน ขุนช้าง–ขุนแผน ตอนสมเด็จพระพันวษา พระราชทานนักโทษฉกาจให้แก่ขุนแผนเพื่อนำร่วมทัพไปรบกับเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมี "อ้ายกุ้ง(ชาว)คุ้งตะเภา" ปรากฎตัวในรายชื่อ ๓๕ นักโทษด้วย (ขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณคดีที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้แต่งขึ้นในสมัยของพระองค์ โดยมีเค้าโครงเรื่องเดิมจากสมัยอยุธยา)

พื้นเพคนคุ้งตะเภา

ภาพถ่ายเก่าชาวบ้านคุ้งตะเภาในอดีต ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔

มีคำอธิบายภาพว่า:"คณะ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู สมาชิก และกรรมการตำบล ร่วมกับราษฎร หมู่ที่ ๒,๓,๔ ที่เสียสละที่ดินให้เป็นสาธารณประโยชน์ ในการตัดถนนสายบุ่งวังงิ้ว-หาดเสือเต้น เพื่อพัฒนาการท้องถิ่น ตำบลคุ้งตะเภา"

โดยพื้นเพของคนคุ้งตะเภานั้นเป็น “คนไทยเหนือ” ตามคำปากของคนในสมัยอยุธยา[2] คือเป็นคนไทยที่อยู่แถบเมืองพิษณุโลก ชัยนาท สุโขทัย ฯ โดยคนคุ้งตะเภานั้นมีสำเนียงการพูดแบบคนสุโขทัย และคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าคนที่มาตั้งหมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็นทหาร จากเมืองสุโขทัยที่เดินเท้าไปรบทางลาว เมื่อเดินทัพผ่านมาทางนี้เห็นเป็นที่อุดมสมบูรณ์ดีไม่มีใครจับจอง เมื่อเสร็จศึกจึงชวนกันมาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยจนกลายมาเป็นหมู่บ้านใหญ่ ในปัจจุบัน (ถนนจากห้าแยกป่าขนุนลงไปทางวัดใหม่เจริญธรรมลงไปท่าทรายชลิตดานั้นในอดีต เป็นร่องลึกเมื่อน้ำหลากน้ำก็จะท่วมเสมอ ๆ เพราะว่าเป็นทางเดินทัพโบราณเวลาข้ามแม่น้ำน่านก็จะมาขึ้นที่นี่ผ่านไป เมืองฝาง เสมอ ๆ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนสมัยกรุงธนบุรีเมื่อคราวปราบก๊กเจ้าพระฝางที่เมืองฝางสวางคบุรี ฝางสวางคบุรี สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินและเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ร.๑) ก็เคยเดินทัพผ่านมาทางนี้ด้วย) เมื่อประมาณ ๕๐ กว่าปีก่อนหมู่บ้านคุ้งตะเภายังเป็นหมู่บ้านเล็กมีไม่กี่หลังคาเรือน จากการสอบถามผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ท่านประมาณว่ามีไม่เกิน ๔๐ หลังคาเรือน และนับถือกันว่าตระกูลดั้งเดิมที่มาลงหลักปักฐานสร้างบ้านเรือนในแถบนี้ ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มคือสกุล อ่อนคำ, มากคล้าย และ รวยอบกลิ่น ซึ่งแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ คนทั้ง 3 สกุล ก็ยังเป็นสกุลใหญ่ในหมู่บ้าน และทั้งหมดก็เป็นญาติพี่น้องสืบสายกันลงมาทั้งสิ้น ในอดีตเมื่อประมาณ ๕๐ กว่าปีที่แล้ว ชาวบ้านคุ้งตะเภาเคยได้ร่วมใจกันสร้างศาลาบรรพบุรุษขึ้นมาหลังหนึ่ง ที่บริเวณเหนือศาลาการเปรียญวัดคุ้ง-ตะเภา เป็นศาลาหลังเล็ก ๆ ไม่ยกพื้น ภายในติดตั้งแผ่นกระดานไม้ เขียนไล่สายเหง้าลำดับวงศ์สกุลของชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภา ตั้งแต่เริ่มต้นลงมาจนถึงลำดับสุด แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ศาลาหลังนั้นรวมทั้งแผ่นกระดานไม้ที่จารึกไว้ได้ สูญหายไปเสียนานแล้ว

สภาพหมู่บ้านในอดีต

สมัยก่อนบ้านคุ้งตะเภาเป็นหมู่บ้านเล็กมีไม่กี่หลังคาเรือน มีป่าไม้ใหญ่และสัตว์ชุกชุม โดยเฉพาะต้นไม้แถบนี้จะมีจำพวก ต้นสัก, ต้นยางต้นตะแบกใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมาก ท่านเล่าว่าในแถบกลุ่มลานเกษตรกรคุ้งตะเภาในปัจจุบันนั้น ในอดีตเคยมีไม้ยางขนาดมหึมาอยู่ต้นหนึ่ง แต่ต่อมาได้ถูกตัดไปใช้ประโยชน์ เล่ากันว่าต้องใช้ช้างกว่า ๒๐ เชือกลากไปทีเดียว ซึ่งไม้ยางต้นนั้นสามารถนำไปสร้างอาคารเรียนได้ถึง ๔ โรงเรียน เช่น อาคารเรียนโรงเรียนวัดป่ากล้วย โรงเรียนบ้านคุ้งตะเภา และโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น ซึ่งก็นับว่าใหญ่พอดูเหมือนกัน ในปัจจุบันยังพอหลงเหลือต้นยางใหญ่ ๆ อยู่บ้างก็เห็นจะมีอยู่ ๓ ต้น แถบทางใต้วัดคุ้งตะเภา และเคยมีกลุ่มไม้สักต้นใหญ่ ๆ อยู่แถบหน้าโรงเรียนคุ้งตะเภา ซึ่งผู้เขียนยังทันเห็นก่อนจะถูกตัดไป คาดประมาณอายุต้นใหญ่สุดคงจะไม่ต่ำกว่า ๓-๔ ร้อยปี เพราะดูแล้วใหญ่มาก ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันความเป็นหมู่บ้านป่าได้เป็นอย่างดี ระยะหลังแถบนี้มีคนอพยพมาอยู่กันมากขึ้น จนภายหลังแบ่งออกเป็นหลายหมู่บ้าน อย่างบ้านป่าขนุนนี้ก็เป็นคนคุ้งตะเภาเดิม มีเชื้อสายเครือญาติใกล้ชิดกันกว่าหมู่บ้านอื่น ก็เพราะว่าพึ่งแยกออกมาตั้งหมู่บ้านใหม่ในภายหลัง

จนต่อมาในช่วงระยะ ๔-๕๐ ปีที่ผ่านมา มีการตัดไม้ไปเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการโรงงานวังกะพี้ ถึงขนาดมีการทำรางรถเพื่อลากไม้ในแถบนี้ไปใช้ประโยชน์ จนทำให้พื้นที่บริเวณทิศตะวันออกของหมู่บ้านซึ่งอดีตเป็นป่ารกชัฏ มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่น กลายเป็นพื้นว่างปล่าว ประกอบกับมีชาวบ้านเข้าไปหักร้างถางพงแบ่งเขตทำไร่นาด้วย ซึ่งปรากฎลำเหมืองส่งน้ำชลประทานเป็นประจักษ์พยานของกิจการตัดไม้กันอย่าง เป็นล่ำเป็นสันของนายทุนในอดีต

ในอดีตแต่ดั้งเดิมนั้น หมู่บ้านคุ้งตะเภาตั้งอยู่บริเวณล่างวัดริมแม่น้ำน่าน คือบริเวณด้านทิศตะวันตกของวัดในปัจจุบัน บ้านเรือนส่วนใหญ่จะสร้างติดริมแม่น้ำที่เป็นส่วนที่งอกตะกอนน้ำพัดโบราณ ซึ่งมีน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก เพื่อความสะดวกในการอุปโภคบริโภคและการคมนาคม บ้านเรือนชาวบ้านที่สร้างกันริมน้ำนั้นเป็นบ้านเรือนใหญ่ ๆ มีเสาสูงขนาดสามารถตำครกกระเดื่องได้ เพื่อให้สามารถอยู่อาศัยได้แม้ในยามฤดูน้ำหลาก ส่วนพื้นที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบันนั้นมีเพียงบ้าน ๒-๓ หลังคาเรือน เพราะเป็นป่าใหญ่รกชัฏมีสัตว์ป่าอาศัยมากมาย โดยเฉพาะเก้งกวาง ไปจนกระทั่งเสือและช้าง ชาวบ้านคุ้งตะเภาบางคนในสมัยนั้นก็เลี้ยงช้างไว้ใช้งานด้วย การทำมาหากินก็ตามอัตภาพวิสัยไม่ถึงกับขนาดทำนาไร่กันเป็นล่ำเป็นสันอย่าง ในสมัยนี้ เพราะเป็นพื้นที่ป่าเสียมาก การหุงหาเนื้อปลาก็ไม่ลำบากเพราะเดินพ้นรั้วบ้านไปก็อาจเจอเสือตัวเป็น ๆ รออยู่ก็ได้ ในสมัยนั้นบ้านเรือนจะทำบันไดยก เมื่อถึงเวลาเย็นก็จะ “ขนครัว” นำสัตว์เลี้ยงขึ้นไปไว้บนเรือนด้วย เพื่อป้องกันอันตรายจาดสัตว์ป่าที่จะมาลักไปกิน จนเมื่อ ๕๐ กว่าปีนี้ ก็ยังมีเสือพลุกพล่านอยู่ หลวงปู่อู๋เล่าให้ฟังว่าตอนท่านยังเด็กเคยมีคนลงมาทำธุระส่วนตัวในตอนกลาง คืน เห็นเสือนอนหมอบอยู่คิดว่าเป็นสุนัขที่ตนเลี้ยงไว้เลยเข้าไปใกล้หวังจะลูบ หัว แต่กลับได้ยินเสียงเสือขู่คำราม วิ่งขึ้นเรือนแทบเอาชีวิตไม่รอดก็มี

ในอดีตนั้นเมื่อมีการจัดงานประเพณีหรือการละเล่นต่าง ๆ ก็มักจัดกันริมหาดทราย ซึ่งในอดีตนั้นมีหาดทรายใหญ่บริเวณเหนือกลุ่มเกษตรกรคุ้งตะเภาเป็นพื้นที่ หลักในการละเล่นกิจกรรมต่าง ๆ

อันตัววัดคุ้งตะเภานั้น ชาวบ้านในอดีตคงคิดสร้างโดยถือคติสร้างวัดบน ”เนิน” ซึ่งเป็นส่วนที่น้ำท่วมไม่ถึง แต่ที่จริงแล้ว ส่วนที่ตั้งวัดเป็นพื้นที่ราบ ส่วนที่ตั้งหมู่บ้านริมน้ำเป็นเพียงที่งอกตะกอนแม่น้ำพัด ที่ยื่นออกไปจากตัววัดเดิม ในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเก่านั้นจะมีน้ำท่วมถึงทุกปี แถบที่ตั้งหมู่บ้านเดิม(หลังวัด)เคยมีบุ่งน้ำ ซึ่งมีน้ำขังตลอดทั้งปีและมีปลาชุกชุมกว่าที่อื่น เมื่อถึงช่วงฤดูแล้งจะมีชาวบ้านและคนจากตำบลอื่นมาจับปลากันมาก บริเวณหลังบุ่งจะมีบ่อน้ำโบราณอยู่สำหรับใช้ดื่มกินและมี สะพานไม้ยาวทอดข้ามบุ่งจากวัดคุ้งตะเภาเพื่อลงไปใช้น้ำจากบ่อน้ำนั้น

ต่อมาในช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ฝนตกมาก มีน้ำท่วมครั้งใหญ่หลายรอบ ท่านว่ามีถึง ๓ หน และแต่ละหนน้ำท่วมหลากมาหนักมาก ถึงกับพัดโรงสีข้าวและบ้านเรือนไปก็มี ชาวบ้านจึงเริ่มย้ายบ้านจากบริเวณหลังวัดซึ่งเป็นที่งอกติดแม่น้ำน่านมา อยู่บริเวณที่ราบปรกติ ซึ่งในปัจจุบันสามารถสังเกตได้ว่า บ้านหลังเก่า ๆ ที่สร้างอยู่เรียบที่ลุ่มแม่น้ำเดิมนั้นจะย้ายขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ทั้งสิ้น

ต่อมาไฟฟ้าเริ่มเข้ามาถึงหมู่บ้านในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ รวมทั้งทางการได้ตัดผ่านหมู่บ้านหลายสาย โดยเฉพาะถนนสายเอเชียในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงทำให้ความเจริญย้ายจากแถบถนนเรียบแม่น้ำเดิมไปอยู่ในบริเวณพื้นที่ติด ถนนสายใหม่แทน และหมู่บ้านคุ้งตะเภาก็เริ่มเจริญขึ้นมาเป็นลำดับดังที่เห็นในปัจจุบัน

ถ้าสังเกตดี ๆ ไม่ต้องแปลกใจ ที่หมู่บ้านข้าง ๆ คุ้งตะเภามีชื่อเป็นหมู่บ้านป่าทั้งนั้น อย่างบ้านป่าขนุน ป่ากล้วย หรือไม่ก็เป็นดงเสืออย่างบ้านหาดเสือเต้นเพราะแต่ก่อนคุ้งตะเภามีคนอยู่มา ก่อน ดูได้จากวัดที่ตั้งมานานกว่าและต้นพระศรีมหาโพธิ์คู่วัดที่ปลูกมาหลายร้อยปี มีต้นใหญ่และเก่าแก่กว่าวัดในแถบนี้ทั้งสิ้น

มีเรื่องหนึ่งที่นับว่าน่าเสียดายก็คือในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๓ มีการย้ายการโรงเรียนประชาบาล จากเดิมที่ทำการสอนอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา แยกไปตั้งเป็นโรงเรียนเป็นหลักแหล่ง ในคราวนั้นมีผู้เสนอให้ใช้พื้นที่บริเวณพื้นที่ป่าหลังหมู่บ้าน ซึ่งมีพื้นที่นับร้อยไร่สร้างเป็นโรงเรียน แต่เนื่องจากสมัยนั้นบ้านคุ้งตะเภายังไม่เจริญและบริเวณนั้นยังไม่มีถนนสาย เอเชียตัดผ่าน จึงไม่ได้สร้างโรงเรียนบริเวณนั้น เพราะชาวบ้านคุ้งตะเภากลัวว่าถ้าสร้างบริเวณนั้นโรงเรียนจะอยู่ไกลบ้าน ซึ่งลูกหลานที่ไปเรียนอาจจะได้รับอันตรายจากการเดินทางได้ ก็เลยตกลงกันให้สร้างโรงเรียนอยู่หลังวัดคุ้งตะเภาติดกับป่าช้า ซึ่งมีพื้นที่เพียง ๒ ไร่ ถ้าหากสมัยนั้นตกลงกันสร้างโรงเรียนในพื้นที่สวนป่าร้อยไร่ ปัจจุบันโรงเรียนคุ้งตะเภาคงจะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่สุดในอำเภอเมือง อุตรดิตถ์ไปแล้ว

การสัญจรของชาวคุ้งตะเภาในสมัยก่อน

แต่เดิมนั้นทางสัญจรด้วยรถยังไม่สะดวก ใช้แต่เรือสัญจรไปมาสะดวกกว่า และเพราะสมัยก่อนไม่มีประปาอย่างปัจจุบันนี้ บ้านเรือนก็เลยต้องตั้งเรียงอยู่แถบริมน้ำ รวมทั้งแถบป่าหลังวัดไปเป็นป่าใหญ่มีสัตว์ชุกชุมมีแต่อันตราย จึงตั้งบ้านเรือนกันแถบริมน้ำ สะดวกดีทั้งการกินการอยู่การเดินทาง ในสมัยกว่าห้าสิบปีมาแล้วยังคงมีเรือมอญเรือสำเภาจีนเรือสินค้าต่าง ๆ ขึ้นมาทำการค้าขายเสมอ ๆ ในช่วงฤดูน้ำหลาก ท่านเล่าว่าเรือ

สำเภาจีนจะเป็นเรือใหญ่ ผ้าใบเรือขาวโพลนมาแต่ไกล มีขอบผ้าสีเขียว เรือเหล่านี้คราวขึ้นก็อาศัยกางผ้าใบเรือรับลมใต้พัดขึ้นมา เมื่อคราวล่องก็อาศัยหุบผ้าใบล่องตามน้ำกลับ โดยจะขึ้นมาทำค้าขายถึงแค่แก่งน้ำในเขตท่าปลา เพราะเรือจะติดแก่งไม่สามารถขึ้นไปต่อได้ และจะมีการรับสินค้าขึ้นระแทะควายไปค้าขายทางเมืองน่านต่อไปจนสุดที่เมือง หลวงพระบาง

อดีตนั้นมีทางสาธารณะสำคัญอยู่เส้นหนึ่ง คือทางหลังวัดในปัจจุบัน เป็นทางดินเป็นเส้นยาวไปจนถึงป่ากล้วยพระฝาง ผู้เฒ่าผู้แก่ท่านก็ใช้ทางดินนี้สัญจรไปมาหากัน แต่ปัจจุบันเลิกใช้กันไปแล้ว แต่บางจุดก็ยังใช้กันอยู่ บางจุดก็โดนน้ำซัดจมไปกับตลิ่งแล้วก็มี ในอดีตนั้น หน้าวัดคือหลังวัดหลังวัดคือหน้าวัด การที่ประตูหลังศาลาการเปรียญซึ่งสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ สร้างหันไปทางแม่น้ำแทนที่จะสร้างหันมาทางที่ตั้งหมู่บ้านปัจจุบัน และถูกบรรพบุรุษเรียกว่า “หน้าศาลา” จึงไม่เป็นเรื่องแปลก

ดงสัตว์ป่าในอดีต

พระอาจารย์อู๋เล่าว่าอดีตแถบคุ้งตะเภาเป็นป่าทึบเป็นดงกวาง เหนือขึ้นไปบนเขาแถบแม่เฉยเป็นดงเสือ คนเฒ่าคนแก่เล่ากันมาว่าแต่ก่อนจะออกจากบ้านเวลากลางคืน ต้องระวังเพราะบางครั้งอาจจะได้เจอกับเสือ ซึ่งก็น่าคิด อย่างชื่อหมู่บ้านหาดเสือเต้น ในประวัติเขาเล่ามาว่า ทุก ๆ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ จะมีคนเห็นเสือมาเต้นอยู่ริมหาดน้ำน่านเป็นประจำ ซึ่งก็น่าจะจริงในเรื่องเสือเพราะอยู่ใกล้กับเขาแม่เฉยเพียงข้ามน้ำเลยไป หน่อยเดียว

อันที่จริงการที่แต่ก่อนแถบนี้มีสัตว์ใหญ่เยอะ เพราะแต่ก่อนนั้นแถบนี้เป็นป่าทั้งสิ้น บริเวณกลางนาสุดลุกหูลุกตาในปัจจุบันอดีตเป็นป่ารังป่าแดงรกครึ้มทั้งนั้น แถบนี้แต่ก่อนต้นสักต้นยางเยอะเรียกว่าเป็นดงเลยก็ได้เรียกว่าอุดมสมบูรณ์ มาก ( ต่อมาทางการมาตัดถนนสายเอเชีย ต้องโค่นต้นสักต้นยางไปไม่รู้เท่าไร แต่ละต้นท่านเล่าว่า ๒-๓ คนโอบขึ้นไปทั้งนั้น ) ถ้าสังเกตก็อย่าแปลกใจเลยว่าทำไมป่าช้าจึงมาอยู่ติดถนนใหญ่ ทำไมบ้านไม้เก่าของปู่ย่าตายายจึงมาอยู่ติดริมแม่น้ำเดิมไกลถนนใหญ่ เนื่องด้วยตัวหมู่บ้านในสมัยก่อนจะสร้างติดถนนเลียบแม่น้ำน่าน ซึ่งก็คือถนนหลังวัดในปัจจุบันนั่นเองอันเป็นเส้นทางสายหลักที่จะใช้ติดต่อ ไปมาหาสู่กันในอดีต

ความเจริญของหมู่บ้านและวัดในอดีต

หลักฐานความเจริญในหมู่บ้านคุ้งตะเภาสมัยก่อน ปัจจุบันนี้ยังพอมีหลักฐานเป็นบ้านเก่า ๆ ของพ่อทวดปู่ทวดให้เห็นอยู่บ้าง

แต่ในวัดคุ้งตะเภาบริเวณวัดในสมัยก่อน (หลังวัดสมัยปัจจุบัน) สิ่งที่เหลืออยู่ก็คงเป็นศาลาการเปรียญหลังเดียว เนื่องจากอดีตสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ทำด้วยไม้ เวลาผ่านไปก็ผุพังเสื่อมสลายไปตามธรรมชาติพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนเส้นทางคมนาคมใหม่ คงจะมีแต่ศาลาการเปรียญหลังนี้หลังเดียวที่เป็นประจักษ์พยานบอกเล่าทาง วัตถุของปู่ย่าตายายที่พอจะเทียบเคียงถึงความเป็นไปในอดีตเมื่อเกือบร้อย กว่าปีได้

แต่ก่อนเมื่อหลังวัดยังเป็นหน้าวัด ท่านเล่าว่ามีสะพานไม้ท่าน้ำ กุฏิพระ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งหอสวดมนต์หลังเก่าด้วย ปัจจุบันก็เหลืออยู่สิ่งเดียวคือศาลาการเปรียญซึ่งย้ายหนีน้ำขึ้นมาข้างบน (ท่านบอกว่ามีไม้เก่าจากศาลาเดิมด้วย) และมีแต่เพียงหอสวดมนต์เก่าซึ่งปัจจุบันพังไปแล้ว ที่พอจะเทียบเคียงที่ตั้งได้ ซึ่งท่านบอกว่าเคยมีที่ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณทิศตะวันตกของศาลา บริเวณต้นตาลใหญ่ปัจจุบัน (ตาลต้นนี้เชื่อว่าน่าจะเป็นตาลที่ชาวบ้านนำมาประกอบพิธีในวัดแล้วทิ้งไว้ ใกล้หอสวดมนต์) ตาลนั้นอยู่บริเวณบันไดทางขึ้นหอสวดมนต์ ลักษณะหอตามที่ได้ฟังมาเป็นเรือนไม้สักทรงไทยกว้างใหญ่ ๑๘ เสา หน้าต่างเป็นแบบสลักเลื่อนโบราณ เป็นทั้งหอฉันหอนั่งหอสวดมนต์ มีช่อฟ้าใบระกา ประดิษฐานพระพุทธรูป และมีกุฎิสงฆ์ไม้สักเข้าลิ่มแบบโบราณ รื้อทิ้งเสียนานแล้ว (น่าจะประมาณ ๔๐ กว่าปีก่อน) เพราะไม้ผุพังจนไม่สามารถบูรณะได้ หลวงปู่อู๋เล่าว่าเมื่อท่านเคยเป็นเด็กวัดเมื่อกว่าห้าสิบปีก่อน กระดานกุฎิสงฆ์ก็ชำรุดเป็นช่องโหว่ประปรายไปทั่วแล้ว ซึ่งกุฎิสงฆ์นี้ยังพอมีผนังไม้เก็บไว้ใต้ถุนศาลาไว้ให้เห็นเป็นพยานอยู่จน ปัจจุบัน...