๗ มงคลสถานศักดิ์สิทธิ์สำคัญในวัดคุ้งตะเภา

๗ มงคลสถานศักดิ์สิทธิ์สำคัญในวัดคุ้งตะเภาThe Great Seven Holy places of Wat Kung Taphao ๑. พระบรมสารีริกธาตุเจ้า (ส่วนวิปกิณธาตุของพระพุทธเจ้า)

อันประดิษฐาน ณ วัดคุ้งตะเภา

โดยพระบรมสารีริกธาตุของวัดคุ้งตะเภา มีความพิเศษคือเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมอบประทานมาจากสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระสังฆนายกจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ คือพระบรมสารีกธาตุส่วนวิปปกิณณธาตุจากสมเด็จพระสังฆนายกแห่งสหภาพพม่า และพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระองค์จากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก แห่งราชอาณาจักรไทย โดยพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดมีความเป็นมา มีเอกสารและหนังสือกำกับพระบรมสารีริกธาตุแสดงว่าเป็นของพระบรมสารีริกธาตุส่วนดั้งเดิมแท้ที่รักษาสืบทอดมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยพุทธกาล

โดยพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่ได้รับมาจากสมเด็จพระสังฆนายกแห่งสหภาพพม่านั้น วัดคุ้งตะเภาได้รับมอบถวายต่อมาจากพระธรรมธีรราชมหามุนี (เที่ยง อคฺคธมฺโม ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร, เจ้าคณะภาค ๑๑ (นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ สุรินทร์) ซึ่งมีจำนวน ๓ พระองค์ (ปัจจุบันเสด็จเพิ่มมาอีก ๑ พระองค์ รวมเป็น ๔ พระองค์) เป็นพระบรมสารีริกธาตุส่วนวิปปกิณณธาตุ ซึ่งเป็นของเดิมที่รัฐบาลพม่าโดยการนำของฯพณฯ อูนุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของสหภาพพม่า ค้นพบในพระมหาธาตุเจดีย์เมืองพุกามเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งเป็นของเดิมที่ได้มาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระอรหันต์สมณทูตมาเจริญพระศาสนายังเมืองสุธรรมวดี เมื่อกว่า ๒,๓๐๐ ปี ก่อน และถูกได้อัญเชิญมายังเมืองพุกามในปี พ.ศ. ๑๖๐๐ พระบรมสารีริกธาตุในส่วนที่ได้รับมาจากสาธารณรัฐอินเดีย สันนิษฐานว่า เป็นส่วนดั้งเดิมที่พระมหากัสสปะเถระและพระเจ้าอชาตศัตรูได้อัญเชิญมากระทำธาตุนิธานปาฏิหาริย์ไว้ ณ เมืองราชคฤห์ ตามนัยในอรรถกถามหาปรินิพพานสูตร และพระบรมสารีริกธาตุในส่วนที่ได้รับมอบประทานมาจากพระสังฆราชไทย มีจำนวน ๙ พระองค์ โดยเป็นพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระองค์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่รักษาสืบมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธศาสนามาตั้งมั่นในสยามประเทศ และเป็นพระบรมธาตุส่วนเดียวกับที่ได้ทรงแบ่งอัญเชิญไปประดิษฐานยังพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ บนยอดดอยอินทนนท์

ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุวัดคุ้งตะเภาซึ่งได้รับประทานจากสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระสังฆนายก ๒ ประเทศ และจากสาธารณรัฐอินเดีย ดังกล่าว สถิตย์ภายในผอบแก้วพร้อมด้วยอัญมณีและทองคำ รองรับด้วยรัตนปทุมดลภายในพระรัตนเจดีย์แก้วเหนือเบญจปฎลสุวรรณฉัตรปิดทองคำแท้ประดิษฐานบนพระแท่นบุษบกบรมคันธกุฎีภายในรัตนกุฎีพุทธวิหาร กลางอาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา เปิดให้ประชาชนสักการะบูชาได้ทุกวัน (ข้อมูลเพิ่มเติม)

๒. พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี (พระโบราณศักดิ์สิทธิ์อายุ ๘๐๐ ปี)

อันประดิษฐาน ณ วัดคุ้งตะเภา

พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี หรือ หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์ มีพุทธลักษณะปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์บริสุทธิ์ หน้าตักกว้าง ๒ ศอกเศษ มีพุทธลักษณะงดงามตามแบบอย่างสกุลช่างสุโขทัย-เชียงแสน อายุประมาณ ๘๐๐ ปี ซึ่งเป็นแบบที่พบได้น้อยมากและหายากที่สุด

พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี เดิมองค์พระถูกพอกปูนลงรักปิดทองอารักขาภัยไว้ ตัวองค์พระสำริดดังปรากฏในปัจจุบันนั้นสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยแรกก่อตั้ง กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สกุลช่างเชียงแสนยุคปลายผสมสกุลช่างสุโขทัยยุคต้น หรือในช่วงยุครอยต่อการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย เป็นรัชสมัยระหว่างพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับพญาลิไท มีอายุประมาณ ๗-๘๐๐ ปี มีประวัติความเป็นมาและอภินิหารที่น่าสนใจยิ่ง

หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี ประดิษฐานอยู่ที่ วัดคุ้งตะเภา หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมนั้นทางวัดไม่เปิดเผยสถานที่ประดิษฐาน และไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้าสักการะได้ถึงองค์พระ เนื่องด้วยปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัย โดยจะอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีออกให้ประชาชนทั่วไปนมัสการ ได้ถึงตัวองค์พระเพียงในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น

ปัจจุบัน วัดคุ้งตะเภา ได้สร้างห้องตู้กระจกนิรภัย พร้อมทั้งติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์แล้ว จึงทำให้สามารถเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการะได้ทุกวัน โดยปัจจุบันหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประดิษฐานอยู่ที่หอพระพุทธสุโข สัมฤทธิ์อุตรดิตถ์ บนอาคารศาลาการเปรียญเฉลิมพระเกียรติฯ วัดคุ้งตะเภา (ข้อมูลเพิ่มเติม)

๓. หลวงพ่อสุวรรณเภตรา (พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง)

อันประดิษฐาน ณ วัดคุ้งตะเภา

พระพุทธสุวรรณเภตรา หรือนามสามัญ หลวงพ่อสุวรรณเภตรา เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ๑ ใน ๙ องค์แห่งเมืองอุตรดิตถ์ องค์พระหล่อด้วยโลหะปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔๗ นิ้ว สูง ๖๒ นิ้ว (ตลอดถึงพระรัศมี) มีพุทธลักษณะสมัยสุโขทัย

หลวงพ่อสุวรรณเภตรา สถาปนาโดยพระครูธรรมกิจจาภิบาล พระครูเกจิใหญ่แห่งเมืองอุตรดิตถ์ในอดีต องค์พระได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานในอุโบสถวัดคุ้งตะเภา ในฐานะที่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของชาวคุ้งตะเภามาช้านาน

ปัจจุบันหลวงพ่อสุวรรณเภตราประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบันทางวัดคุ้งตะเภาเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะได้ทุกวัน (ข้อมูลเพิ่มเติม)

๔. ซุ้มประตูแห่งวัดคุ้งตะเภา (สัญลักษณ์สถาน)

เครื่องหมายสำคัญแห่งอาราม ณ วัดคุ้งตะเภา

ซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภา ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดริมทางแยกคุ้งตะเภา (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๑ หรือ ถนนสายเอเชีย) ลักษณะซุ้มเป็นซุ้มประตูทรงไทยประยุกต์ศิลปะล้านนาขนาดใหญ่ ออกแบบโดยสล่าเมืองเหนือ ประยุกต์จากรูปแบบเจดีย์ล้านนาผสมรูปแบบซุ้มประตูโขงแบบล้านนา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจำนวน ๓ องค์บนองค์เจดีย์บนยอดซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ซุ้มจรนัมทั้ง ๔ ด้าน ประดับเสาและตัวซุ้มด้วยลวดลายปูนปั้นสัตว์หิมพานต์และลายเครือเถาศิลปะล้าน นาสวยงาม โครงซุ้มประตูทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งซุ้ม ฐานเสาเข็มเทปูนแท่งเสริมเหล็กลึก ๕ เมตร ขนาดกว้าง ๕ เมตร สูง ๑๙ เมตร ซุ้มประตูนี้สร้างแล้วเสร็จบริบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ (ข้อมูลเพิ่มเติม)

๕. อุโบสถแห่งวัดคุ้งตะเภา (ประธานพุทธสถาน)

วิสุงคามสีมาสถาน ณ วัดคุ้งตะเภา

อุโบสถ วัดคุ้งตะเภา เริ่มสร้างในปี ๒๔๙๒ และสร้างเสร็จเมื่อปี ๒๔๙๘ (อาคารอุโบสถนี้เป็นอาคารปูนหลังแรกของหมู่บ้านคุ้งตะเภา) ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานมีนามว่า "พระพุทธสุวรรณเภตรา" ผู้ดำริให้จัดสร้างคือ พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม สุวณฺโณ) อธิบดีสงฆ์วัดดอยท่าเสา และเกจิอาจารย์รูปสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น อุโบสถหลังนี้เป็นอุโบสถทรงไทยประยุกต์ ขนาดกลาง ทรงโรง ลายหน้าบันด้านทิศตะวันตกปั้นรูปพระอินทร์ถือสังข์และจักรประดิษฐานในพระ แท่นมุขย่อมุมปูนปั้นลายไทยกนกล้อม ปิดทอง ประดับกระจกสีฟ้า หน้าบันด้านทิศตะวันออกปั้นรูปเหมือนด้านตะวันออกหลังรูปปั้นพระอินทร์ ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำโบราณ และพระพุทธรูปอื่น ๆ ประดับศิลาอ่อนจารึกฤกษ์อุโบสถ ลายไทยกนกล้อมรอบ หลังคาอุโบสถมุงกระเบื้องขอ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีเสาหานกลมทั้งสองด้าน ปูพื้นด้วยหินอ่อนทั้งด้านนอกและด้านในรวมทั้งบันได มีรูปพญานาคบันไดทางขึ้นอุโบสถ ศิลปะล้านนา ๔ ตน หน้าต่างแกะสลักลายไทยรูปเทพจำหลัก ล้อมลายกนก ลายเครือเถา ประตูด้านทิศตะวันตกจำหลักเป็นรูปนารายณ์และอิศวรเทพประทับครุฑ (นารายณ์ทรงครุฑ) ประตูด้านทิศตะวันออกจำหลักพระพุทธรูปปางประทานพร ลงรักชาด ปิดทอง (ข้อมูลเพิ่มเติม)

๖. ศาลาการเปรียญแห่งวัดคุ้งตะเภา (ธรรมสภาสถาน)

ศาสนสถานโบราณ ๑๕๐ ปี คู่วัดคุ้งตะเภา

ศาลาประธานวัดคุ้งตะเภาหลังนี้เป็นอาคารทรงโรงเครื่องสับแบบภาคกลางโบราณ มีอายุมากกว่าสองร้อยปี จากประวัติหลักฐานการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา กล่าวว่าในสมัยธนบุรี จุลศักราช ๑๑๓๒ ปีขาล โทศก วัดคุ้งตะเภามีศาลาการเปรียญเก่าแก่อยู่หลังหนึ่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ย้ายโครงสร้างศาลาดังกล่าว มา ณ ที่ตั้งปัจจุบันในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยคงรูปแบบเก่าแต่ครั้งธนบุรีไว้ด้วย จากรูปแบบภูมิสถาปัตย์ของอาคารหลังนี้ เป็นรูปแบบศาลาโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีโครงสร้างคล้ายกับศาลาการเปรียญวัดใหญ่ท่าเสาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยความเก่าแก่ของโครงสร้างและรูปแบบศาลาลักษณะนี้ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมศิลปากรกล่าวว่า เป็นรูปแบบโครงอาคารศาลาการเปรียญที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา

จากที่ตั้งของตัวศาลานั้น เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณ ทำให้ทราบลักษณะการอยู่อาศัยและสัญจรของคนโบราณในแถบนี้ได้ เพราะที่ตั้งของตัวศาลาวัดในสมัยก่อนนั้นมักตั้งอยู่ริมแม่น้ำ (ปัจจุบันแม่น้ำน่านได้ตื้นเขินห่างจากตลิ่งศาลาวัดไปมากกว่า ๑ กิโลเมตร) เป็นหลักฐานยืนยันถึงความเป็นวัดและหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์อัน ยาวนานกว่าวัดและหมู่บ้านอื่นในแถบนี้ เดิมนั้น ก่อนสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ตัวศาลาเดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน อันเป็นทางสัญจรคมนาคมในสมัยก่อน ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าศาลาในที่ตั้งเดิมนั้นสร้างในสมัยใด (คาดว่าอาจจะสร้างมาแต่ครั้งแรกตั้งวัดในสมัยอยุธยาตอนปลาย) จากหลักฐานบ่อน้ำข้างบันไดศาลาทำให้ทราบว่าศาลาหลัง นี้ย้ายที่ตั้งขึ้นมาจากริม แนวแม่น้ำน่านเดิมบริเวณต้นโพธิ์หลังวัดมาตั้งในพื้นที่ปัจจุบัน ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยตัวโครงศาลาประธานในปัจจุบันที่ย้ายมานี้น่าจะมีอายุเกือบร้อยปีแล้ว

ศาลาการเปรียญหลังนี้ก่อนบูรณะ เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยภาคกลาง สร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง เสาทุกต้นเป็นเสาสี่เหลี่ยม เป็นอาคารทรงโรงขนาดกลาง หลังคาประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ปูนปั้น หน้าบันเป็นพื้นไม้เรียบ เดิมเปิดโล่งทั้งสี่ด้าน มีชายยื่นออกมารับทางขึ้นศาลาทางทิศเหนือ อักษรข้างบันไดศาลาระบุว่าสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ศาลาหลังนี้ใช้เป็นอาคารสำหรับบำเพ็ญกุศลหลักของวัด มีการบูรณะและต่อเติมจากตัวโครงศาลาเดิมมาเป็นระยะ ต่อมาได้มีการต่อเติมปิดทึบเฉพาะด้านหอพระ ห้องเก็บของของโรงครัวด้านทิศตะวันออกและตะวันตกบางส่วน และมีการสร้างบันไดใหม่ทางด้านทิศตะวันตกหลังจากมีการสร้างถนนสายเอเชีย ในยุคหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐

โดยอาคารใหม่ได้เริ่มสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ผสมผสานสถาปัตยกรรมทั้งสมัยโบราณและใหม่ มีซุ้มหน้าบันปูนปั้น พื้นปูด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งอาคาร นับเป็นอาคารศาลาการเปรียญปูพื้นด้วยไม้เนื้อแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์ (ข้อมูลเพิ่มเติม)

๗. ศาลเจ้าแม่สำเภาทอง (ศรีสุวรรณเภตราเทวาลัย)

ปฐมตำนานแห่งความเชื่อชุมชน และที่มาของชื่อตำบลคุ้งตะเภา

ศาลเจ้าแม่สำเภาทอง ตั้งอยู่บริเวณโพธิฆระ ด้านหลังศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา ติดลำแม่น้ำน่านสายเก่า เป็นอาคารขนาดเล็ก ภายในตั้งรูปเคารพและสิ่งสักการบูชา โดยศาลเจ้าแม่สำเภาทองสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงตำนานที่มีความเกี่ยวข้องกับที่มาของชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภา

โดยชาวคุ้งตะเภามีความเชื่อและตำนานมาแต่โบราณ เล่าสืบกันมาถึงบริเวณที่เป็นจุดที่เรือสำเภาสินค้าโบราณมาล่มลง ณ บริเวณที่เป็นคุ้งน้ำน่านบริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภาในอดีต และด้วยบุพนิมิตของผู้ที่ศรัทธาในเจ้าแม่สำเภาทอง จึงได้นำคณะศรัทธาและและคณะสงฆ์ร่วมใจกันสร้างศาลเจ้าแม่สำเภาทอง เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในตำนานของชุมชน อันเป็นที่มาของชื่อตำบลคุ้งตะเภา และเป็นที่สักการะบูชาสำหรับผู้มีความเคารพเลื่อมใสในองค์เจ้าแม่สำเภาทอง (ข้อมูลเพิ่มเติม)

มาวัดคุ้งตะเภา มีแต่ได้กับได้ ๘ ประการ

ประการที่ ๑ ได้มาไหว้พระเต็มอิ่ม

ประการที่ ๒ ได้รอยยิ้มเต็มปาก

ประการที่ ๓ ได้บริจาคเต็มศรัทธา

ประการที่ ๔ ได้ปัญญาเต็มสมอง

ประการที่ ๕ ได้ตริตรองเต็มสติ

ประการที่ ๖ ได้ปีติเต็มฤทัย

ประการที่ ๗ ได้กำไรในชีวิต

ประการที่ ๘ ได้มาทำกิจของชาวพุทธที่ดี