กรมศิลปากร สำรวจขึ้นทะเบียนเอกสารโบราณในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

วันที่โพสต์: Mar 13, 2019 8:57:42 AM

วันที่ 4-5-6-7 มีนาคม พ.ศ.2562 ณ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร โดยกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ร่วมกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร และหลักสูตรสาขาการจัดการวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ดำเนินงาน โครงการเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณ ประจำปี 2562 ครั้งที่ 1 จังหวัดอุตรดิตถ์ ระหว่างวันที่ 4-7 มีนาคม 2562

เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาเอกสารโบราณเบื้องต้น เช่น การทำความสะอาดคัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทย วิธีการจัดทำทะเบียน บัญชีเอกสารโบราณและการจัดเก็บรักษาตามหลักวิชาการ รวมทั้งการทำทะเบียนวัตถุ ณ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา เพื่อร่วมอนุรักษ์สืบทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาของบรรพชนคนคุ้งตะเภาให้คงอยู่

สืบเนื่องจากสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เล็งเห็นว่าวัดคุ้งตะเภาดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 มีการรวบรวมเอกสารโบราณจำนวนมากของชุมชนไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ แต่ยังมิได้มีการอ่านและจัดหมวดหมู่ จึงมีความจำเป็นเพื่อลงทะเบียนสำรวจอนุรักษ์ตามหลักวิชาการ

สำนักหอสมุดแห่งชาติจึงได้มอบหมายให้กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก นำเจ้าหน้าที่ออกสำรวจและลงทะเบียนเอกสารโบราณ ณ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา เพื่อทำความสะอาด แยกประเภท จัดหมวดหมู่ และลงทะเบียน ระหว่างวันที่ 3-8 มีนาคม 2562 (ตามหลักฐานหนังสือสำนักหอสมุดแห่งชาติ ที่ วธ 0425/177 ลงวันที่ 25 มกราคม 2562 เรื่อง ขออนุญาตดำเนินการโครงการเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณ ลงนามโดยนางสาวกนกอร ศักดาเดช ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ) เพื่อเป็นการรักษามรดกภูมิปัญญาของบรรพชนให้มีอายุยืนนาน

นำคณะสำรวจโดย นายทีปวัจน์ วัชรศิริอมร ผู้อำนวยการกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก, นางสาววชรพร อังกูรชัชชัย นักภาษาโบราณชำนาญการ, นายสันติ วงศ์จรูญลักษณ์ นักภาษาโบราณปฏิบัติการ, นายจามีกร ชูทรัพย์ นักภาษาโบราณปฏิบัติการ, นางสาวหทัยรัตน์ บุญกอง นักภาษาโบราณปฏิบัติการ, นางสาวปรัศนีภรณ์ พลายกำเหนิด นักภาษาโบราณ, นายธน ซึมไพศาล ทั้งหมดเป็นผู้เชี่ยวชาญและข้าราชการจากกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กรุงเทพมหานคร

ในการนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร ได้นำเจ้าหน้าที่รวม 6 คน จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก ลงพื้นที่พร้อมกันในห้วงเวลาดังกล่าวตลอดทั้ง 4 วัน เพื่อให้ความรู้การทำความสะอาด จัดหมวดหมู่ และขึ้นทะเบียนวัตถุในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาอีกด้วย

นอกจากนี้ หลักสูตรการจัดการวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้จัด โครงการจิตอาสาในการอนุรักษ์ศิลปกรรมและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยนำคณาจารย์และนักศึกษา ได้แก่ ดร.พนมพร สารสิทธิยศ, นายกฤษฎา ตัสมา, นายสุทธิพงศ์ ศรีชุมพล, นายสำเนียง วรรณทอง, นางสาวดวงพร บี่หัตถกิจกุล, นายรัฐพล จันทรา, นางสาวชุติกาญจน์ เกตุสนท์, นางสาวกฤษติกา คงวิทย์, นายสิทธิพร แซ่หว่อง, นางสาวธนวันต์ ร่วมสุข, นางสาวพรรนิษา มีจันทร์, นางสาวพัชริดา โพธิ์เพชร, นายนิติ วงศ์มาลา, นายเฉลิมพล ทองพา, นางสาววลัยพร ขันทะรักษ์, นางสาวนาตยา จันทร์วิเชียร, นายปฏิภาณ ทันไชย, นางสาวจีระนันท์ โนพวน, นายเอกพล หลินเจริญ และนางสาวเมทินี ท่าน้ำ ลงพื้นที่เป็นจิตอาสาผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรปฏิบัติงานทำความสะอาดและจัดเก็บวัตถุและเอกสารโบราณในระหว่างวันที่ 4-7 มีนาคม พ.ศ. 2562 ณ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาอีกด้วย

สรุปผลการดำเนินงานลงทะเบียนเอกสารโบราณ ดังนี้

1. ทำความสะอาด ลงทะเบียน และจัดเก็บเอกสารโบราณตามหลักวิชาการ จำนวน 295 รายการ ได้แก่

1.1 คัมภีร์ใบลาน ที่จารด้วย อักษรขอม และ อักษรไทย จำนวน 101 รายการ (ส่วนใหญ่เป็นตำรายา จำนวน 69 รายการ) แบ่งเป็น

- ธรรมคดี 24 รายการ

- เวชศาสตร์ 69 รายการ

- ไสยศาสตร์ 3 รายการ

- โหราศาสตร์ 5 รายการ

1.2 หนังสือสมุดไทย ที่บันทึกด้วย อักษรขอม อักษรธรรมล้านนา และ อักษรไทย จำนวน 194 รายการ (ส่วนใหญ่เป็นตำรายา จำนวน 60 รายการ) แบ่งเป็น

- ธรรมคดี 12 รายการ

- เวชศาสตร์ 60 รายการ

- ไสยศาสตร์ 17 รายการ

- อักษรศาสตร์ 2 รายการ

- คณิตศาสตร์ 2 รายการ

- โหราศาสตร์ 33 รายการ

- จดหมายเหตุ 11 รายการ

- กฎหมาย 31 รายการ

- วรรณคดี 25 รายการ

- เบ็ดเตล็ด 1 รายการ

2. พบเอกสารโบราณชำรุดไม่เป็นเล่ม ทั้งที่เป็นคัมภีร์ใบลาน จารด้วยอักษรธรรมล้านนา และหนังสือสมุดไทยชำรุดขาดตอนไม่เป็นเล่ม อีกจำนวนมาก (ไม่สามารถประมวลถอดความได้-ทางวัดจึงจัดเก็บแยกไว้เพื่อการศึกษา โดยแยกเป็นตู้เก็บเอกสารชำรุด)

ในการนี้วัดคุ้งตะเภาได้ลงพื้นที่สืบค้นภูมิปัญญาผ้าทอมือพื้นบ้านในแถบใกล้เคียงบ้านคุ้งตะเภา เพื่อนำมา จัดทำเป็นผ้าห่อคัมภีร์ โดยได้สืบค้นพบภูมิปัญญาผ้าทอพื้นบ้านปากฝาง และบ้านวังสีสูบเหนือ (สกุลอักษรไชย) ต.งิ้วงาม อ.เมืองอุตรดิตถ์ จำนวน ๓ แหล่ง (อยู่ตรงข้ามกับบ้านคุ้งตะเภาเพียงคนละฝั่งแม่น้ำน่าน) พบเป็นผ้าทอลายแบบไทยยวนตามลักษณะชาติพันธ์ของคนงิ้วงาม ซึ่งคนบ้านคุ้งตะเภาบางส่วนก็มีเครือญาติและสืบสายบรรพชนมาจากชาวไทยยวน-พวนบ้านงิ้วงามเช่นเดียวกัน ในการนี้วัดคุ้งตะเภาจึงได้รับความอนุเคราะห์จากคณะศรัทธาบ้านวัดคุ้งตะเภาบริจาค ผ้าซิ่นตีนจกทอมือพื้นบ้านแบบโบราณ ของชุมชนพื้นถิ่นไทยยวนลับแล อ.ลับแล ไทพวน ต.งิ้วงาม อ.เมือง วังผาชัน อ.น้ำปาด จำนวนรวมกว่า 40 ผืน เพื่อให้เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรทำการเก็บรักษาเอกสารโบราณตามแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมอีกด้วย โดยหลังจากการแยกประเภทจัดหมวดหมู่เรียบร้อย วัดคุ้งตะเภาได้จัดหาตู้กระจกเพื่อจัดแสดงเอกสารโบราณอย่างเป็นหมวดหมู่เพิ่มเติมอีกถึง 4 หลัง

ทั้งนี้การจัดโครงการเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณของกรมศิลปากร และเครือข่ายจิตอาสา ซึ่งได้ลงพื้นที่ดำเนินการ ณ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ในห้วงเวลาดังกล่าว ได้ดำเนินการจนสำเร็จเสร็จสิ้น ด้วยความร่วมมือของุทุกฝ่าย ปรากฏผลลงทะเบียนเอกสารโบราณอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ สำเร็จเรียบร้อย เป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ชุมชนคุ้งตะเภา และตำบลคุ้งตะเภา ทำให้พิพิธภัณฑ์บรรลุตามจุดมุ่งหมายของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาในการพยายามรวมรวมเอกสารโบราณ เพื่ออนุรักษ์สืบทอดและส่งต่อองค์ความรู้ภูมิปัญญาของบรรพชนให้คงอยู่สืบไป

- จดหมายข่าววัดคุ้งตะเภา วันที่ 9 มี.ค. 62