พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ : พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

สรุปประเภทวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

วัตถุจัดแสดงทั้งหมด เริ่มดำเนินการจัดหา รวบรวม จากทั้งภายในวัดคุ้งตะเภา และจากการรับบริจาคของคนในชุมชนคุ้งตะเภา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ จัดแสดงครั้งแรกในอาคารปั้นหยาสองชั้นจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ต่อมาวัตถุจัดแสดงมีจำนวนมาก จึงได้หาทุนจัดสร้างอาคาร พิพิธภัณฑ์จากศรัทธาในชุมชน และย้ายมาจัดแสดงในอาคารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา (อาคารเฉลิมพระเกียรติอสีติวัสสายุมงคล) จนถึงปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา มีลักษณะเป็นอาคารโถงสองชั้น หลังคาทรงไทย ภายในอาคารจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไว้ตามมุมต่าง ๆ และที่ตู้จัดแสดง กว่า ๒๐ ตู้ จำแนกเป็นกลุ่มได้ ๑๓ กลุ่ม คือ

๑. กลุ่มเอกสารโบราณ ประกอบด้วย สมุดไทย ใบลาน วรรณคดีไทย และวรรณคดีคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ตำราแพทย์แผนไทย สมุนไพร บทพระอัยการลักษณะต่าง ๆ กฎหมายตราสามดวง สมุดฝรั่งสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ความเก่าแก่ของเอกสารโบราณมีความเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

๒. กลุ่มพระพุทธรูปและเครื่องใช้ทางศาสนา เช่น พระพุทธรูปโบราณสมัยเชียงแสน-สุโขทัย อายุกว่า ๘๐๐ ปี, ยอดพระเกศสัมฤทธิ์, ฉัตรเก่า, แผงพระไม้แกะสลัก, พระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยรัตนโกสินทร์, พระพุทธรูปแกะสลัก, หงส์ยอดเสาโบราณ, ตาลปัตร พัดยศ และธรรมาสน์ไม้ฝีมือช่างพื้นบ้าน เป็นต้น ๓. กลุ่มเครื่องมือในการทำนา เช่น ระหัดวิดน้ำ, คันไถและคราดที่ทำด้วยไม้และโลหะ, คานและแอกไม้ประกอบคันไถ, เครื่องสีฝัดข้าว, ขอฉาย, สากตำข้าว, ครกตำข้าวทำจากไม้ และเครื่องสีข้าวแบบแรงมือและคันโยก เป็นต้น ๔. กลุ่มยานพาหนะ เช่น เกวียนเทียมวัวและควาย, เรือสำเภาจำลอง, ใบพายเรือ และจักรยานโบราณ เป็นต้น ๕. กลุ่มเครื่องมือช่าง เช่น เลื่อยสั้น-ยาว, มีดพร้า-ปลอกมีด, สว่านมือ, กบมือไสไม้ และขวานโยน เป็นต้น

๖. กลุ่มเครื่องมือในการจับสัตว์ เช่น ลอบ, สุ่ม, ข้อง, ไซ, เบ็ด, ฉมวกเหล็ก-ไม้, เครื่องดักสัตว์ เป็นต้น

๗. กลุ่มเครื่องมือในงานเกษตรกรรม และเหล็ก เช่น เครื่องปั่นด้าย, เครื่องบีบเมล็ดข้าวโพด, อุปกรณ์ตากยาสูบ, สูบลม, หลอดสูบน้ำดับเพลิงโบราณ และเครื่องมือช่างตีเหล็กโบราณ เป็นต้น

๘. กลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น กระด้ง, โม่, สาแหรก, ถังไม้, หม้อ-ไหดินเผา, เตารีด, คนโท, ตะกร้าหวาย, ปิ่นโต, ชุดสำรับ กับข้าวทำจากแก้ว, ถาดกระเบื้อง-สังกะสี, ถ้วยชาม, ตะเกียงโบราณ, เครื่องบดยาทำจากไม้-หิน, กระเบื้องหลังคาดินเผา, หีบเหล็ก, คานหาบ, กระบุง และกระจาด เป็นต้น ๙. กลุ่มเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะทองเหลืองและเงิน เช่น ชุดเชี่ยนหมากโบราณ, กล้องยาสูบ, ขัน, ทัพพี, พาน, ผอบ และตลับ เป็นต้น ๑๐. กลุ่มเครื่องใช้ที่ทำจากเครื่องลายครามและเครื่องเบญจรงค์ เช่น โถ, ถ้วย, หม้อใส่ข้าว, ช้อน, ผอบ และพานเบญจรงค์โบราณ เป็นต้น ๑๑. กลุ่มอาวุธ เช่น มีด, ดาบ, มีดสั้น, ดาบเหล็กน้ำพี้ และดาบเหล็กลอง เป็นต้น ๑๒. กลุ่มพระเครื่อง เหรียญกษาปณ์ และเงินโบราณ เช่น เงินพดด้วงโบราณ, สตางค์รู, เหรียญเงินรัชกาลที่ ๕, ธนบัตร เหรียญกษาปณ์เก่า รวมทั้งพระเครื่องทั้งที่ทำจากดิน และที่ทำจากเหรียญโลหะ จำนวนมาก เป็นต้น

๑๓. กลุ่มโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ขวานหินขัดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเศษเครื่องใช้ทำจากดินเผา เป็นต้น

ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร โดยกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ร่วมกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย กรมศิลปากร และหลักสูตรสาขาการจัดการวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้จัดทำโครงการเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณ ประจำปี ๒๕๖๒ ครั้งที่ ๑ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยลงพื้นที่ปฏิบัติงานจิตอาสา ณ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ระหว่างวันที่ ๔-๗ มีนาคม ๒๕๖๒ ซึ่งได้มีการทำความสะอาดคัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทย จัดทำทะเบียน บัญชีเอกสารโบราณและการจัดเก็บรักษาตามหลักวิชาการ รวมทั้งการทำทะเบียนวัตถุ ณ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

คลิกเพื่อชมภาพเพิ่มเติม 2562 คัมภีร์ใบลานและสมุดไทย หลังชำระ-ถ่ายก่อนเข้าตู้

คลิกเพื่อชมภาพเพิ่มเติม 2562 วัตถุพิพิธภัณฑ์ วัดคุ้งตะเภา