เครื่องใช้ในครัวเรือน : พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาออนไลน์

เครื่องใช้ในครัวเรือนในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

เครื่องใช้ในครัวเรือนที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา เช่น กระด้ง, โม่, สาแหรก, ถังไม้, หม้อ-ไหดินเผา, เตารีด, คนโท, ตะกร้าหวาย, ปิ่นโต, ชุดสำรับกับข้าวทำจากแก้ว, ถาดกระเบื้อง-สังกะสี, ถ้วยชาม, ตะเกียงโบราณ, เครื่องบดยาทำจากไม้-หิน, กระเบื้องหลังคาดินเผา, หีบเหล็ก, คานหาบ, กระบุง และกระจาด เป็นต้น

เชี่ยนหมาก

เชี่ยนหมาก เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับวาง ตลับใส่หมาก ตลับยาเส้น กระปุกปูน ตลับสีเสียด และซองใส่พลู ชาวบ้านมักเรียกเชี่ยนหมากว่า กระทายหมาก ภาคเหนือตอนบนเรียกว่า ขันหมาก เชี่ยนหมากมีมาแต่โบราณ ในราชาศัพท์ระดับพระมหากษัตริย์เรียกพานพระศรี ระดับราชวงศ์เรียก พานหมากเสวย เชี่ยนหมากนอกจากจะใช้วางอุปกรณ์ในการกินหมากแล้ว ยังใช้ต้อนรับอาคันตุกะแขกบ้านแขกเมืองได้เป็นอย่างดี การกินหมากและทำเชี่ยนหมากเกิดขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ก็มีแพร่หลายในแถบประเทศเอเชีย เช่น จีน อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย เป็นต้น เชี่ยนหมากทำจากวัสดุหลายประเภท เช่น ไม้ ทองเหลือง เงิน พลาสติก และเครื่องเขิน ตัวเชี่ยนหมากมีลักษณะคล้าย ๆ พานหรือเป็นเหลี่ยม 6 เหลี่ยมก็มี ตามพื้นบ้านในชนบทส่วนใหญ่จะพบเชี่ยนหมากที่ทำด้วยไม้และทองเหลืองอยู่มาก เชี่ยนหมากทำด้วยไม้มักเป็นไม้สัก หรือไม้เนื้อแข็ง ตัดเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 25 เซนติเมตร ใช้กระดาษทราบขัดให้เรียบ ปัจจุบันการทำเชี่ยนหมากด้วยไม้ จะใช้เครื่องจักรกลึงได้อย่างรวดเร็ว มีการออกแบบรูปทรงต่างๆ และตกแต่งเป็นลวดลายให้สวยงามยิ่งขึ้น บางครั้งใช้ไม้แผ่น ๆ ประกบกันเป็นเชี่ยนหมากหลาย ๆ มุม อาจทำเป็น 2 ชั้น ชั้นบนจะวางอุปกรณ์กินหมาก ส่วนชั้นล่างงก็สำรองพวกหมาก พลู ยาเส้น สีเสียดไว้เผื่อขาด ในงานบวชพระ แต่งงาน หรืองานบุญงานกุศล ตามเทศกาลต่างๆ ยังพอเห็นคนสูงอายุ จีบหมากจีบพลูใส่เชี่ยนหมากถวายพระ หรือไว้ต้อนรับแขกที่มรร่วมงาน อยู่บ้าง การกินหมากในสมัยโบราณถือว่าเป็นสิ่งดีงาม เพราะคนฟันดำเป็นลักษณะของคนสวย นอกจากนี้ยังให้เกิดความเพลิดเพลินในเวลาเคี้ยวหมาก ช่วยฆ่าเวลาและทำให้ฟันแข็งแรงทนทานอีกด้วย การกินหมากมาเลิกอย่างจริงจังในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งสกปรกเลอะเทอะไม่ทันสมัย เชี่ยนหมากจึงไม่ค่อยพบเห็นกันมาตั้งแต่ในครั้งกระนั้นแล้ว และยิ่งคนสูงอายุล้มหายตายจากไปหมด การกินหมากก็คงค่อย ๆ สูญหายไป เชี่ยนหมากจึงไม่มีความ จำเป็นอีกต่อไป

เตารีดผ้า

จำ​​​​​​​นวน​​​​​​​ผู้​​​​​​​เข้า​​​​​​​เยี่ยมชม

ตั้งแต่​​​​ :: ​​​​๒๕๕๐

ถ้วยรีดผ้า หรือเตารีดผ้าสมัยก่อน ใช้เหล็กหลอมเป็นถ้วยก้นลึกใส่ถ่านไฟ มีด้ามจับสำหรับรีดผ้าให้เรียบ ในอดีตการสวมใส่เสื้อผ้าของชาวบ้านไม่ค่อยพิถีพิถันแต่งตัวมากนัก ผู้ชายอยู่กับบ้านส่วนใหญ่จะถอดเสื้อ นุ่งผ้าขาวม้า โสร่ง หรือกางเกงขาก๊วย ผู้หญิงจะใส่เสื้อคอกระเช้า นุ่งโจงกระเบนหรือผ้าถุง การใช้เสื้อผ้าสวมใส่อยู่ในบ้านหรืออกไป ทำไร่ไถนา เสื้อผ้าที่ใช้เนื้อจะหยาบราคาถูก ไม่ต้องรีดเสื้อผ้าเวลาสวมใส่ แต่ถ้าไปทำบุญที่วัดและงานมหรสพอื่น ๆ หญิงชาย ชาวบ้านค่อนข้างมีฐานะดี จะใช้ผ้าม่วงผ้าไหมสวมใส่ไปในงานสำคัญดังกล่าว ดังนั้นจึงหาวิธีทำให้เสื้อผ้าราบเรียบ มีกลีบ ระยะแรก ๆ อาจใช้ที่นอนทับกลีบ ต่อมาใช้ไม้แผ่นหนาวางทับกลีบ ในยุคที่ประเทศไทยเริ่มติดต่อกับชาวตะวันตก เริ่มมีการใช้แท่นพิมพ์ขนาดเล็ก ซึ่งคนไทยนำมาใช้พิมพ์สลากตราน้ำปลาและของใช้อื่น ๆ แท่นพิมพ์นี้นำมาใช้อัดกลีบเสื้อผ้าด้วย ชาวบ้านเรียกว่า “กระบี่” ซึ่งเพี้ยนเสียงมาจากคำก๊อปปี้นั่นเอง เมื่อมีการใช้เหล็กประดิษฐ์ของใช้ จึงมีการหลอมเหล็กด้วยเบ้าดิน ทำขนาดใหญ่กว่าถ้วยแกงก้นลึกเล็กน้อย มีรูสำหรับใช้ไม้สอดเป็นด้ามจับ เวลารีดผ้าจะใช้ถ่านที่เผาไฟวางลงในก้นถ้วย เพื่อให้เหล็กร้อนรีดทับได้เรียบ หากถ้วยรีดผ้าร้อนเกินไปหรือรีดติดเสื้อผ้าจะนาบกับใบตองกล้วยให้ลื่น ต่อจากช่วงการใช้ถ้วยรีดผ้าแล้วมีการหลอมเหล็กและโลหะอื่น ๆ เป็นเตารีดถ่าน ซึ่งยังมีใช้อยู่ในชนบท เตารีดที่นิยมใช้คือ เตารีดตราไก่ จะมีรูปไก่เป็นสลักเดือยปิดเปิดฝาเตารีดจนกระทั่งมีการพัฒนามาใช้เตารีด ไฟฟ้าเช่นทุกวันนี้ ถ้วยรีดผ้าแบบดั้งเดิมไม่มีใช้ในยุคนี้แล้ว เพราะชาวบ้านนำไปขายเป็นเศษเหล็ก หรือหลอมทำสิ่งของใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้แทน

ภาชนะจากเศษเครื่องบินตกสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒

ส่วนหนึ่งของร่อยรอยประวัติศาตร์สงครามโลกครั้งที่ ๒ บ้านคุ้งตะเภา คือเศษชิ้นส่วนของปีกเครื่องบิน B-24 สี่เครื่องยนต์ ของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ที่มาถล่มทหารญี่ปุ่่นที่เมืองอุตรดิตถ์ และถูกยิงตกที่ม่อนดินแดงในปี ๒๔๘๗

โดยปีกเครื่องบินนี้ เป็นส่วนหนึ่งของฝูงเครื่องบิน B-24 ที่บินขึ้นจากสนามบินกัลกัตต้า เมืองหลวงของบริติชราช (British Indian Empire) จำนวน ๘ ลำ เพื่อมาโจมตีเส้นทางลำเ

ลียงรถไฟของทหารญี่ปุ่นที่บางโพ-ท่าเสา-อุตรดิตถ์ และถูกปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน หรือ ปตอ.ภาคพื้นดิน ยิงโต้ตอบ จนเครื่องบินตกไป ๒ ลำ ลำหนึ่งประคองเครื่องไปตกที่สบปราบ (ลำปาง) เสียชีวิตหมดทั้งลำ อีกลำหนึ่งโดย ปตอ.ยิงตกทันทีที่ม่อนดินแดง เหนือท่าเสา ใกล้กับบ้านไร่คุ้งตะเภา รอยเครื่องบินเป็นทางยาวประมาณ ๒๐ วา กว้าง ๑๐ วา มีนักบินประจำมาด้วย ๑๒ นาย ตายคาซากเครื่องบินดำเป็นตอตะโก ๙ นาย นั

กบินโดดร่มชูชีพลงมาได้ ๓ นาย โดย ๑ นาย กระแทกกับตอไม้เสียชีวิต อีก ๒ นาย ร่มกางลงมารอดชีวิต เมื่อเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ของวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๗

ชาวบ้านคุ้งตะเภาในสมัยนั้นได้ไปดูเหตุการณ์ และนำเศษชิ้นส่วนของเครื่องบินรบ B-24 มาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ปัจจุบันหลงเหลือภาชนะที่ทำจากเศษชิ้นส่วนของปีกเครื่องบิน B-24 ของแม่พริ้ง ป้องปัดโรคา (แม่พริ้ง เสียชีวิตปี ๒๕๔๐ เมื่ออาุยุได้ ๙๗ ปี ขณะที่เครื่องบินตก ปี ๒๔๘๗ ท่านมีอายุ ๔๔ ปี) ซึ่งจากภูมิปัญญาของท่าน ได้นำปีกเครื่องบินรบ มาตีขึ้นรูปทำเป็นภาชนะ "กะละมัง" เพื่อใช้สอยในบ้าน กะละมังปีกเครื่องบินนี้ ปัจจุบันมีอายุกว่า ๗๐ ปี และยังคงทนทาน มีสภาพดีและใช้การได้มาจนปัจจุบัน

หลายคนอาจมองผ่านกะละมังเก่า หนาเทอะทะ ที่ภาพนอกอาจดูไร้ค่านี้ หากแต่เมื่อได้ทราบความเป็นมา จะทราบว่า ทุกอณูแห่งภาชนะ ทรงคุณค่ายิ่งทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์โลก เป็นความหมายของ "สันติ" ที่บรรพบุรุษชาวคุ้งตะเภา สามารถแปรเปลี่ยนอาวุธในการเฆ่นฆ่าประหัตประหารชีวิต ให้กลายมาเป็นสิ่งของเครื่องใช้เพื่อดำเนินชีวิต เป็น "กะละมังเครื่องบิน" เศษเสี้ยวแห่งประวัติศาสตร์อันลางเลือน ภายใต้อุดมการณ์แห่งสันติภาพอันยิ่งใหญ่ ที่จะยังคงอยู่ในจิตวิญญาณของคนรุ่นหลังสืบไป

(ภาพระเบิดขนาด ๕๐๐ ปอนด์ ขณะเตรียมโหลดเข้าใต้ท้องเครื่อง B-24

จากฐานทัพอากาศ ซาวบานี่ ในอินเดีย ในภาพระบุว่าเตรียมนำไปทิ้งที่พม่าและไทย พฤศจิกายน ๒๔๘๗)