เครื่องมือในการจับสัตว์ : พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาออนไลน์

เครื่องมือในการจับสัตว์ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

เครื่องมือในการจับสัตว์ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา เช่น ลอบ, สุ่ม, ข้อง, ไซ, เบ็ด, ฉมวกเหล็ก-ไม้, เครื่องดักสัตว์ เป็นต้น

ด้วงหนู

ด้วงหนู เป็นเครื่องมือใช้สำหรับดักหนูในฤดูหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ในช่วงนี้มีหนูแพร่พันธุ์มากที่สุด โดยจะกินเมล็ดข้าวเปลือกในท้องทุ่งนา ทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงคิดทำเครื่องมือดักหนู ซึ่งเรียกว่า ด้วง หรือด้วงหนู นอกจากด้วงจะช่วยกำจัดหนูในนาแล้ว ยังดักหนูไว้ทำเป็นอาหารที่เอร็ดอร่อยอีกอย่างหนึ่ง

ด้วงหนูทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ 1 ปล้อง ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร การเลือกขนาดลำไม้ไผ่มาทำกระบอก แล้วแต่การคาดคะเนว่าจะดักหนูตัวโตขนาดใด ถ้าคิดว่าดักหนูขนาดปานกลางก็ใช้กระบอกให้พอเหมาะ แต่ถ้าดักหนูขนาดใหญ่ ลำไม้ที่นำมาทำกระบอกจะต้องมีขนาดใหญ่ด้วย ใช้กระบอกไม้ไผ่ 1 ปล้อง ด้านหนึ่งให้เหลือข้อภายในไว้ทำเป็นก้นด้วง มีลักษณะก้นตันปลายปากกระบอกด้านหนึ่งกลวงสำหรับให้หนูเข้ามาทางปลายกลวง เหลาซี่ไม้ไผ่เป็นคันแร้วเรียวปลายยาวประมาณ 1 เมตร โคนคันแร้วเสียบกับรูกระบอกด้านก้นด้วง ผูกเส้นเชือกปลายคันแร้ว เส้นเชือกมีความยาวขนาดคันแร้วเจาะรูกระบอกไม้ไผ่ 2 รู ด้านปลายปากกระบอก เพื่อร้อยเส้นเชือกไว้เป็นห่วงรัดตัวหนู ระหว่างรูที่เจาะ 2 รูนั้น ร้อยเชือกสั้น ๆ ทำเป็นห่วงไว้ร้อยกับปิ่นขัดมัดปิ่นเกือบกึ่งกลางเส้นเชือกนำไปขัดกับไม้เสียบอาหาร ไม้ขัดหรือไม้ลิ้นพาดปากกระบอกซึ่งทำหน้าที่เสมือนไก

วิธีดักหนู จะเลือกดักหนูบริเวณคันนา ข้างรูหนู หรือทางเดินของหนูที่เรียกว่า ด่านหนู

ใช้ปลายปากกระบอกขวางทางไว้ อาจวางด้วงไว้ในแนวตั้ง หรือแนวนอนก็ได้ ใช้ไม้ขัดเสียบอาหารประเภทเนื้อมะพร้าวเผาปลาเค็ม หรือใส่เมล็ดข้าวเปลือก ข้าวสารไว้ก้นด้วง ดึงเส้นเชือกที่ผูกปิ่นขัดไว้ให้ตึง คันแร้วจะโก่งตามด้วยใช้ปลายปิ่นข้างหนึ่งไปขัดกับบ่าไม้ซึ่งใช้เสียบเหยื่อ

อีกข้างหนึ่งเสียบกับห่วงตรงกลาง เมื่อปิ่นกับไม้เสียบอาหารหรือไม้ขัด ซึ่งขวางกระบอกขัดกัน แล้วจะทำให้เส้นเชือกด้านล่างหย่อน ทำให้เป็นห่วง ปลายปากกระบอกด้านในแซะร่องไว้เป็นรางวางเชือก เมื่อหนูได้กลิ่นเหยื่อจะล่อเข้าไปในกระบอกไปดึงหรือไปถูกไม้เสียบอาหารที่ขัดกับปิ่นไว้จะหลุด คันแร้วจะกลั่นขึ้นโดยเร็ว ห่วงที่หนูกำลังคร่อมอยู่ก็จะรัดโดยเร็ว และรัดคอหรือตัวหนูทันที

จำ​​​​​​​นวน​​​​​​​ผู้​​​​​​​เข้า​​​​​​​เยี่ยมชม

กรบ

ก ร บ เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ใช้แทงปลาขนาดตัวใหญ่ มีลักษณะคล้ายฉมวก บางทีก็เรียกว่า กบ หรือ ตบ

กรบจะมีปลายเป็นเหล็กแหลมขนาดใหญ่กว่าฉมวก แต่มือถือเป็นด้ามไม้เนื้อแข็ง จะสั้นกว่าด้ามฉมวกที่ทำด้วยไม้ไผ่ เหล็กปลายแหลมที่เป็นส่วนแทงปลาอาจมี 3 แฉก และ 7 แฉกก็ได้ การประดิษฐ์ด้ามกรบใช้สำหรับจับเวลาแทงปลาใช้ไม้เนื้อแข็ง ส่วนปลายด้ามถือทำให้โค้งงอ เพื่อให้จับได้กระชับแน่น เมื่อแทงปลาติดแล้วหากปลาดิ้นก็ใช้แรงน้ำหนักจากตัวคนกดลงไปที่ตัวปลาได้โดย ไม่เจ็บมือ ปลายด้ามกรบบริเวณมือจับ บางทีก็มีการแกะสลักลวดลายเป็นรูปหัวสัตว์ต่าง ๆ เช่น ลิง นก งู เป็นต้น ถัดจากมือจับซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งจะใช้ไม้ไผ่รวกลำเล็ก ๆ ข้อสั้น ๆ แข็งแรงทนทาน จำนวนลำไม้ไผ่จะเท่ากับจำนวนแฉกของกรบ เช่น ถ้ากรบมี 3 แฉก ก็ต้องใช้ไม้ไผ่ยาวขนาด 50 – 60 เซนติเมตร 3 ท่อน ใช้หวายหรือลวดถักยึดให้แยกออกจากกันเป็นแฉก ๆ ปลายไม้รวกผูกยึดกับด้ามไม้เนื้อแข็ง เหล็กสวมทับกับไม้รวกนั้น ใช้วิธีการเผาเหล็กให้แดงใส่ครั่งไว้ในรูไม้ไผ่ กดเหล็กเข้าไปในรู เมื่อครั่งละลายและเย็นลงแล้วจะยึดเหล็กสวมได้แน่น จากนั้น ใช้วงแหวนเหล็กกว้าง 3 เซนติเมตร สวมทับรัดให้แน่นหนาอีกครั้งหนึ่ง ปลายกรบที่เป็นเหล็กสำหรับไว้แทงปลาจะแหลมคมมาก

วิธีใช้ ผู้ที่ออกไปหาแทงปลาจะจับที่มือถือ มักใช้กรบแทงปลาในบริเวณน้ำไหลลึกไม่เกินหัวเข่า วิธีการแทงปลาอาจปักกิ่งไม้วางห่าง ๆ บริเวณน้ำไหล หากปลาว่ายผ่านมาจะทำให้กิ่งไม้ที่ปักไว้ไหว ๆ เป็นสัญญาณให้รู้ว่าปลาว่ายผ่านมาแล้วจะได้แทงปลาได้ถูก หรืออาจใช้แทงปลาที่หลบอาศัยใต้ต้นวัชพืชในฤดูร้อน

กรบมักใช้การแทงปลาที่ตัวใหญ่ ๆ เช่น ปลาค้าว ปลาสวาย ปลากะโห้ ปลาเทโพ เป็นต้น หากจำพวกปลาดุก ปลาช่อน ค่อนข้างตัวเล็กกว่า มักจะใช้ฉมวกแทง

ตั้งแต่​​​​ :: ​​​​๒๕๕๐

ข้อง

ข้อง เป็นเครื่องมือจักสานชนิดหนึ่ง สานด้วยผิวไม้ไผ่ ปากแคบอย่างคอหม้อดิน มีฝาปิดเปิดได้ เรียกว่า ฝาข้อง ฝาข้อง มีชนิดที่ทำด้วยกะลามะพร้าว และใช้ไม้ไผ่สานเป็นรูปกรวย ปลายกรวยแหลมปล่อยเป็นซี่ไม้ไว้เรียกว่า งาแซง ข้องใช้สำหรับใส่ปลา ปู กุ้ง หอย กบ เขียด เป็นต้น ข้องมีหลายลักษณะเช่น

ข้องยืน มีลักษณะคล้ายรูปทรงของโอ่งน้ำ หรือรูปทรงกระบอก มีปลายปากข้องบานออก ขนาดสูงตั้งแต่ 10 – 15 เซนติเมตร การสานที่ก้นข้องมักจะสานเป็นก้นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตัวข้องกลมป้อม ป่องตรงกลางค่อย ๆ สอบเข้าตรงคอข้อง แล้วบานออกที่ปากปลายปากข้องคล้ายปากแตร ที่ก้นข้องและตัวข้องจะสานด้วยลายขัดตาหลิ่ว ตรงคอข้องถึงปากข้องสานด้วยลายขัดตาทแยง ปลายปากข้องจะทำฝาปิดเปิดโดยสานผิวไม้ไผ่เป็นฝาปิด เวลาจับปลาใส่ข้อง ไม่ต้องเปิดฝาข้องก็ได้ เพราะฝาข้องนี้สามารถใส่ปลาได้สะดวก ปลาจะกระโดดออกมาไม่ได้เพราะติดที่ฝาปิดนั้น ฝาข้องอาจทำด้วยกะลามะพร้าวก็มี ผูกเชือกไว้สำหรับสะพายติดตัวไปหาปลา

ห้องนอน หรือข้องเป็ด มีรูปทรงเป็นแนวนอน การสานข้องมีลักษณะเหมือนเป็ด ปลายปากข้องบานหงายขึ้นด้านบนสำหรับใส่ปลาไว้ในข้อง การสานก้นข้อง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ข้องนอน หรือข้องเป็ด มักไม่ค่อยสะพายติดตัวไปในขณะกำลังหาจับปลาแต่จะวางไว้ในเรือ ริมคลอง ริมตลิ่ง เป็นต้น

ข้องลอย เป็นข้องที่ใช้ลอยในน้ำได้ในระหว่างจับปลา ข้องลอยจะใช้ข้องยืนหรือข้องนอนมัดลูกบวบ ซึ่งทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ 2 ท่อน มัดขนานตัวข้องให้ลอยน้ำได้ แล้วผูกเชือกมัดติดเอว นอกจากนี้ยังมีข้องที่ใช้ใส่ กบ เขียด โดยเฉพาะ

ไซ

ไซ เป็นเครื่องมือดักสัตว์น้ำ ทำด้วยไม้ไผ่ผูกร้อยซี่ไม้ไผ่ด้วยหวายเถาวัลย์ ตอกเป็นลวด ใส่งาแซงเป็นช่องทางให้ปลา กุ้ง ปู เข้าไปภายใน ไซมีหลายลักษณะ วิธีการทำและการใช้ แตกต่างกันไป เช่น

ไซปากแตร ทำเป็นรูปกรวย ปากไซบานออกเป็นรูปแตร มักใช้กะลามะพร้าวเป็นฝาปิดเปิด เทปลาออกด้านนี้ ส่วนกลางไซคอดมีงาแซงสำหรับเป็นช่องทางเข้าของปลา ไซปากแตรจะใช้หวายผูกร้อยซี่ไม้ไผ่เป็นช่องถี่ ๆ แม้แต่กุ้ง และปลาตัวขนาดเล็กเล็ดลอดออกไม่ได้ ไซปากแตรมีความยาวตั้งแต่ 1 – 2 เมตร เวลาดักไม่ใส่เหยื่อล่อไว้ภายในแต่วางดักไว้ตามคันนาหรือใช้เฝือกกั้นเหมาะสำหรับดักตามช่องน้ำไหล

ไซท่อ สานด้วยผิวไม้ไผ่เป็นลายขีดทึบ รูปลักษณะคล้ายท่อดักปลา แต่ขนาดสั้นกว่ามาก มีความยาวประมาณเกือบ 1 เมตร ใส่งาไว้ด้วย ดักสัตว์น้ำทุกประเภทในบริเวณน้ำไหล

ไซลอย สานด้วยผิวไม้ไผ่เป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมต่าง ๆ มีรูปทรงกลมก้นด้านบนจะคอดเหมือนคอขวด มีฝาปิดเปิดเอาปลาออก เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ปากกว้าง มีความยาวประมาณ 1 เมตร ใช้ดักปลาในน้ำนิ่ง โดยวางไซลอยไว้ช่วงน้ำตื้น ๆ แหวกกอข้าวหรือกอหญ้าวางแช่น้ำไว้ ปลากที่กินตามน้ำตื้น ๆ หรือไปวางไข่จะเข้าทางช่องงา ปลาที่เข้าไซลอยมักเป็นปลากระดี่ ปลาสลิด และปลาหมอ เป็นต้น

ไซสองหน้า สานเหมือนกับไซลอยมีขนาดเท่า ๆ กัน ใช้ดักปลาในน้ำนิ่งและน้ำตื้นเช่นเดียวกัน แต่แตกต่างตรงที่มีงาอยู่ 2 ด้าน จึงเรียกว่า ไซสองหน้า

ไซโป้ง เป็นรูปทรงกระบอกด้านปากไซและก้นป่องออกเล็กน้อย สานเป็นลายขัดยาวประมาณ 1 เมตร ใช้ดักสัตว์น้ำทุกชนิด และดักในบริเวณน้ำไหล

ไซปลากระดี่ สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยม มีขนาดเล็กใส่งาที่ปาก ยาวประมาณ 40 – 50 เซนติเมตร ใช้ดักปลากระดี่ ปลาหมอ ฯลฯ ในบริเวณน้ำไหลริน ๆ

ไซกบ สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมเล็ก รูปทรงกระบอกขนาดเล็กกว่าไซปลากระดี่ ยาวประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร ดักน้ำไหลริน ๆ หรือน้ำนิ่งก็ได้ ใช้ดักกบ อาจใช้เหยื่อ เช่น ลูกปลา หรือลูกปูใส่ล่อไว้ กบจะเข้าไปกินเหยื่อล่อทางช่องงา และไม่สามารถออกมาได้

ลอบ

ลอบ เป็นเครื่องมือดักจับปลาที่สานด้วยไม้ไผ่ ใช้หวาย เถาวัลย์ หรือลวดรัดโครงไม้ ลอบมีช่องว่างให้ปลาว่ายเข้าไปติดอยู่ภายใน ลอบที่ใช้อยู่ในพื้นบ้านมีอยู่ 3 ประเภท คือ ลอบนอน ลอบยืน และลอบกุ้ง

ลอบนอน ใช้ดักปลาสำหรับน้ำไหล มักจะมีหูช้างอยู่ที่ปากลอบด้วย โดยใช้แผงเฝือกต่อจากหูช้างทั้งสองข้างกั้นขวางแม่น้ำ ลำคลอง วางลอบอยู่ในแนวนอน

ลอบนอนมีลักษณะเป็นทรงกระบอก ก้นลอบเป็นรูปรี ๆ สามารถปิดเปิดเอาปลาออกทางก้นลอบได้ ลอบนอนมีความยาวตั้งแต่ 1 – 2 เมตร เหลาซี่ไม้ไผ่กลม ๆ ประมาณ 20 ซี่ มัดด้วยหวาย เถาวัลย์ หรือลวด ไม้ไผ่แต่ละซี่ห่างกันเกือบถึง 3 เซนติเมตร หากจะดักปลาตัวเล็กก็เรียงซี่ไม้ไผ่ให้ชิดกัน ปากลอบดักปลาทำงา 2 ชั้น เมื่อปลาว่ายเข้าไปแล้วจะว่ายออกมาอำไม่ได้เพราะติดงากั้นไว้ ลอบนอนใช้กับน้ำไหลไม่ต้องใช้เหยื่อล่อ ลอบนอนอีกประเภทหนึ่งใช้กับน้ำนิ่งในฤดูที่ปลาวางไข่ตามริมหนองน้ำ เรียกว่า ลอบเลาะ เวลากู้ลอบนอนก็จะเปิดฝาลอบส่วนก้นออก เปิดฝาเทปลาใส่ข้องได้ทันที

ลอบยืน ใช้ดักปลาในน้ำลึก จะใช้แผงเฝือกกั้นแม่น้ำหรือไม่ก็ได้ การดักลอบยืนจะดักน้ำลึกกว่าลอบนอน หากใช้เฝือกกั้นก็ดักลอบยืนไว้ตามน้ำนิ่งไหล ๆ กอหญ้า สุมทุมพุ่มไม้ที่อยู่ในน้ำ ปลาที่เข้าไปมักเป็นปลาดุก ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลากด เป็นต้น ลอบยืนมีลักษณะเหมือนกับทรงขวดที่วางตั้งไว้ แต่ส่วนปลายลอบยืนนั้นมัดปลายซี่ไม้ไผ่เข้ามารวมกัน ตรงด้านข้างทำงายาวผ่าเกือบตลอด ลอบยืนมีหลายรูปแบบหลายขนาด อาจจะเล็กหรือใหญ่ต่างกัน ลอบยืนบางชนิดเมื่อวางตั้งแล้วจะสูงท่วมหัวคน

ลอบกุ้ง ใช้ลอบนอนหรือลอบยืนก็ได้ แต่การสานซี่ไม้ไผ่จะต้องมีระยะชิดกัน ไม่ให้กุ้งลอดออกไปได้ บางทีใช้ตาข่ายถี่ ๆ หรือผ้ามุ้งคลุมรอบตัวลอบ กุ้งจะว่ายหนีออกไปไหนก็ได้ เหยื่อที่ใช้ เช่น กากน้ำปลา รำละเอียดผสมดินเหนียวปั้นเป็นก้อน เป็นต้น

สุ่ม

สุ่ม เป็นเครื่องมือสำหรับครอบปลา สานด้วยซี่ไม้ไผ่เป็นตา ๆ หรือถักหวายเถาวัลย์และลวด

สุ่ม นับเป็นของใช้พื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วทุกภาค หากแต่มีการเรียกชื่อแตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น สุ่มโมง เป็นสุ่มมีขนาดกว้างใหญ่กว่าสุ่มชนิดอื่น โมงมาจากภาษาถิ่น คือ โม่ง มีความหมายว่า ใหญ่โต สุ่มโมงบางพื้นบ้านเรียก สุ่มซี่ หรือสุ่มก่อง ซึ่งเรียกตามลักษณะการทำของชาวบ้าน สุ่มโมงจะใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ ประมาณ 50 – 100 ซี่ หากสุ่มใหญ่ก็ใช้ซี่ไม้ไผ่มากขึ้น สุ่มชนิดนี้จะใช้หวาย เถาวัลย์ หรือลวดถัดร้อยซี่ไม้ไผ่ยึดกันโดยมีวงหวาย หรือวงไม้ไผ่ทำเป็นกรอบไม้ภายใน การถักเส้นหวายเถาวัลย์หรือลวด จะถักซี่ไม้รัดกับวงภายในให้แน่น บางทีชาวบ้านเรียกการถักร้อยสำหรับยึดให้แน่นนี้ว่า “ก่อง” จึงเรียกสุ่มก่อง และลักษณะที่ก่องเป็นซี่ ๆ นี้เอง จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุ่มซี่

สุ่มสาน เป็นสุ่มขนาดแคบกว่าสุ่มโมง เหลาซี่ไม้ไผ่จำนวนมาก สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมห่าง ๆ แต่ไม่ให้ปลาลอดออกได้ บางทีก็เรียกว่า สุ่มขัด สุ่มชนิดนี้ไม่ต้องใช้หวายเถาวัลย์ หรือลวดถักยึดใด ๆ

สุ่มกลอง มีรูปเล็กกว่าสุ่มสานเล็กน้อย การทำสุ่มจะใช้หวายเถาวัลย์หรือลวดถักสุ่ม ส่วนบน ส่วนล่างใช้ซี่ไม้ไผ่สานขัดเป็นสี่เหลี่ยม

สุ่มงวม หรืออีงวม มีลักษณะพิเศษแตกต่างกัน สุ่มภาคอื่น ๆ มีขนาดใหญ่กว่าสุ่มโมงมาก สุ่มบางอันสูงเกินกว่า 1 เมตรก็มี สุ่มงวมจะมีรูปร่างเป็นทรงกระบอก ปลายตีนสุ่มกว้างออกเล็กน้อย ด้านบนสุ่มทำเป็นวงกว้างเพื่อใช้มือ 2 ข้าง ล้วงจับปลาในสุ่มได้สะดวก การสานสุ่มงวมจะสานด้วยตอกผิวไม้ไผ่บาง ๆ สานลายขัดทึบโดยตลอด

การสุ่มปลามักสุ่มในห้วงน้ำไม่กว้างและลึกนัก สุ่มไปเรื่อย ๆ เหมือนคำที่ว่า สุ่มสี่สุ่มห้า แล้วเอามือล้วงควานภายในสุ่ม ถ้าครอบปลาได้จะควานจับใส่ข้องที่มัดสะพายติดตัวไป สมัยก่อนนั้นการสุ่มปลาใช้คนลาก “ไม้ค้อน” ซึ่งเป็นไม้ท่อนกลมจมน้ำ ใช้เชือกมัดท่อนไม้ 2 ข้าง ใช้คน 2 คน ลากในห้วงน้ำ คนถือสุ่มหลาย ๆ คน จะเดินตามไม้ค้อน ปลาเมื่อเห็นไม้ค้อนลากมาใกล้ตัวหรือถูกตัวจะกระโดดหนี บางทีมีฟองน้ำเป็นทิว ๆ ไปข้างหน้า การกระโดดและว่ายหนีนี้จึงเป็นข้อสังเกตให้สุ่มปลาได้ถูก ในนิราศสุพรรณบุรีของสุนทรภู่ยังได้กล่าวถึง เรื่องสุ่มปลาไว้ว่า

ศรีศะเสียงเสียงแซ่ล้วน พวกลาว

แก่หนุ่มสุ่มปลาฉาว แช่น้ำ

ผ้าบ่นุ่งพุงขาว ขวยจิต รอดเอย

เดกด่วนชวนเพื่อค้ำ ค่ามให้ใกล้ลาว

สุ่มนอกจากใช้ครอบปลาแล้ว ยังเป็นอุปกรณ์บีบนวดตาลสุกทำขนมตาล ใช้ครอบเด็กเกิดใหม่ไม่ให้ผีเข้า ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวพื้นบ้านบางถิ่น และยังใช้ครอบลูกไก่ได้อีกด้วย