พระพุทธศรีรัตนคันธาระมงคล อายุ ๑,๘๐๐ ปี

พระพุทธศรีรัตนคันธาระมงคล อายุ ๑,๘๐๐ ปี

พระพุทธรูปองค์แรก ๆ ของโลก อายุประมาณ ๑,๘๐๐ ปี

หลวงพ่อพระพุทธศรีรัตนคันธาระมงคล (อิทธิพลศิลปะเฮเลนิสติกของกรีก) สร้างจากดินลงสี มีร่อยรอยการประดับอัญมณีที่พระอุณาโลม อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ คาดว่าเป็นพระดินประดับสถูปหรือผนังวิหารถ้ำ แหล่งพุทธศิลป์สมัยคันธาระที่สำคัญแห่งใดแห่งหนึ่ง ในอัฟกานิสถาน-ปากีสถาน

-

​​ หลวงพ่อพระพุทธศรีรัตนคันธาระมงคล เป็น พระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในวัดคุ้งตะเภา มีอายุกว่า ๑,๘๐๐ ปี มีพุทธลักษณะปางสมาธิ สร้างด้วยดินอิทธิพลศิลปะเฮเลนิสติกของกรีก หน้าตักกว้าง ๗ นิ้ว มีพุทธลักษณะงดงามตามแบบอย่าง สกุลช่างคันธารราฐ (Gandhara) ซึ่งเป็นสกุลช่างพระพุทธรูปในยุคแรกของโลก ที่สร้างโดยศิลปะกรีก มีพระเกศาขมวดเป็นปมเหมือนผมมนุษย์ และมีพระพักตร์งดงามเสมือนมนุษย์ยิ่ง

​ หลวงพ่อพระพุทธศรีรัตนคันธาระมงคลแห่งวัดคุ้งตะเภานั้น พระครูธรรมธรเทวประภาส วชิรญาณเมธี, ดร. รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ได้รับมาจากสมาชิกชมรมโบราณคดีแห่งเมืองอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ขณะปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระธรรมทูตไทยในสหราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งท่านได้นำมาบูรณะองค์และถวายให้แก่วัดคุ้งตะเภา และได้รับเมตตาจากท่านพระครูศรีรัตนธรรมวิเทศ, ดร. เจ้าอาวาสวัดศรีรัตนาราม เมืองแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร ถวายพระนามว่า "พระพุทธศรีรัตนคันธาระมงคล"

ปัจจุบันองค์หลวงพ่อประดิษฐานอยู่ในซุ้มบุษบกภายในห้องตู้กระจกนิรภัย พร้อมทั้งติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการะได้ทุกวัน โดยปัจจุบันหลวงพ่อพระพุทธเมตตาคันธาระประดิษฐานอยู่ที่หอพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี วัดคุ้งตะเภา

พระพุทธลักษณะวินิจฉัย​​

พระพุทธรูปองค์นี้เป็นสกุลช่างคันธาระ ซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกรีกและโรมัน ดังนั้นองค์พระสกุลช่างคันธาระจึงมีลักษณะเหมือนประติมากรรมแบบกรีก-โรมัน แต่คติการสร้างยังเป็นคติความเชื่อของชาวอินเดียที่สัมพันธ์กับลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการของพระพุทธเจ้า องค์พระพุทธรูปคันธาระจึงมีพระพักตร์คล้ายเทพอพอลโลของกรีก มีพระเกศาหยิกสลวย (ยังไม่เป็นขมวดก้นหอยเหมือนพระพุทธรูปในยุคหลัง) และมีอิทธิพลโรมันในการทําริ้วจีวรเป็นริ้วผ้าธรรมชาติ ตามแบบประติมากรรมโรมันในสมัยของจักรพรรดิออกุสตุส

แรกสร้าง

เดิมนับตั้งแต่สมัยพุทธปรินิพพาน ชาวพุทธไม่มีคติการสร้างรูปแทนพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงนิยมสร้างเพียงธรรมจักร (แสดงถึงพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงได้แผ่ไป) รูปกวางหมอบ (แสดงถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน) หรือรูปต้นโพธิ์ (พระมหาโพธิ์ตรัสรู้) หรือรูปเทวดาไหว้พระแท่นเปล่า ๆ ไม่มีรูปบุคคล คติเช่นนี้สืบมาจนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๗๐ - พ.ศ. ๓๑๑)

หลังการหันมานับถือพระพุทธศาสนาของชาวกรีกแคว้นเบรคเตรีย (Bactria) จากการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของสมณทูตในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และหลักฐานการหันมานับถือศาสนาพุทธของพระยามิลินท์ หรือ Menander I (ครองราชย์ พ.ศ. ๓๘๘–๔๑๓) ซึ่งเป็นชุมชนที่สืบต่อมาจากยุคสมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งกรีก ทำให้ชุมชนชาวกรีกที่นับถือพระพุทธศาสนา ริเริ่มการสร้างรูปแทนพระพุทธเจ้าขึ้น และต่อมาในสมัยพระเจ้ากนิษกะมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๖๒๑) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเอเชียใต้ (แถบปากีสถาน-อัฟกานิสถาน) ได้หันมาอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ทำให้สกุลช่างคันธารราฐ ซึ่งเริ่มต้นในสมัยพระเจ้ามิลินท์ มีความเจริญอย่างขีดสุดในสมัยพระองค์ และส่งอิทธิพลต่อดินแดนข้างเคียง จนทำให้ชาวพุทธในดินแดนต่าง ๆ หันมาสร้างพระพุทธรูปขึ้นสืบต่อมาจนปัจจุบัน ซึ่งหลวงพ่อพระพุทธเมตตาคันธาระแห่งวัดคุ้งตะเภาถูกสร้างขึ้นในยุคสมัยดังกล่าวจากการวิเคราะห์เชิงพุทธศิลป์และการค้นคว้าของสมาชิกชมรมโบราณคดีแห่งเมืองอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

ความเป็นมา

​ ​ หลวงพ่อพระพุทธศรีรัตนคันธาระมงคลแห่งวัดคุ้งตะเภา ได้ถูกสร้างขึ้นโดยช่างเชื้อสายชาวกรีก เพื่อประดิษฐานในผนังวิหารถ้ำหรือวิหารสถูปแห่งใดแห่งหนึ่งในแคว้นคันธารราฐ หรืออัฟกานิสถาน-ปากีสถานในปัจจุบัน แต่กว่าพันปีต่อมา ชาวมุสลิมรุกรานขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวางไปทั่วดินแดนตะวันออกกลางและเอเซียกลาง ทำให้วัดที่ประดิษฐานถูกทำลายและทิ้งร้างลง และพระพุทธรูปถูกกลบฝังจมในผืนดินมาช้านานกว่าพันปี

ต่อมาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ บริติชราชในความดูแลของอังกฤษ ได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในอัฟกานิสถาน ทำให้นักภูมิศาสตร์ชาวยุโรปมีโอกาสเข้าไปสํารวจสภาพภูมิประเทศในอัฟกานิสถาน จึงมีการค้นพบโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางโบราณคดีจํานวนมากบริเวณหุบเขาและลุ่มแม่น้ำคาบูล (Kabul Valley) โดยได้พบเหรียญแบบกรีกและประติมากรรมเนื่องในพระพุทธศาสนาอันเป็นผลงานของสกุลคันธาระ ซึ่งเป็นสกุลช่างแรกที่สร้างพระพุทธรูปภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์ราชวงศ์กุษาณะของประเทศอินเดีย ต่อมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นายอัลเฟรด ฟูเช (Alfred Foucher) นักโบราณคดี ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอัฟกานิสถาน ให้ทําการขุดค้นทางโบราณคดีได้ในปี ค.ศ. ๑๙๒๒ จึงทําให้มีการค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุพระพุทธรูปศิลปะคันธาระอีกมากมาย ซึ่งเศียรหลวงพ่อพระพุทธศรีรัตนคันธาระมงคลแห่งวัดคุ้งตะเภา คงได้ถูกอัญเชิญออกจากที่ตั้ง เพื่อนำมายังประเทศอังกฤษในช่วงนั้น เพื่อการศึกษาทางโบราณคดีหรือเพื่อการสะสมของคหบดีอังกฤษที่มีความชื่นชอบในศิลปะเฮเลนิสติก

ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ พระครูธรรมธรเทวประภาส วชิรญาณเมธี, ดร. รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระธรรมทูตไทยในสหราชอาณาจักร และได้เป็นพระธรรมทูตชุดแรกในการบุกเบิกสร้างวัดใหม่ในเมืองเลสเตอร์ ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน ทำให้มีโอกาสเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเมืองต่าง ๆ และได้พบกับชาวอังกฤษ ผู้เก็บรักษาเศียรศิลปะคันธาระ ทั้งที่เป็นพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ และรูปบุคคล ที่บรรพบุรุษนำมาจากอัฟกานิสถานเมื่อครั้งอยู่ในอิทธิพลของบริติชราชกว่าร้อยปีที่แล้ว พระมหาเทวประภาส จึงได้ขออัญเชิญกลับมาถวายวัดคุ้งตะเภา เพื่อบูรณะและประดิษฐานเป็นพุทธานุสสติแก่พุทธศาสนิกชนในประเทศไทย และได้รับเมตตาจากท่านพระครูศรีรัตนธรรมวิเทศ, ดร. เจ้าอาวาสวัดศรีรัตนาราม เมืองแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร ถวายพระนามว่า "พระพุทธศรีรัตนคันธาระมงคล"

​ ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๒ วัดคุ้งตะเภาได้บูรณะและอัญเชิญหลวงพ่อพระพุทธศรีรัตนคันธาระมงคลแห่งวัดคุ้งตะเภา ประดิษฐานในบุษบกประดับสุวรรณเบญจฉัตร ภายในตู้กระจกนิรภัยพร้อมกับติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์บนอาคารศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา และเปิดโอกาสให้ประชาชนสักการะเป็นการถาวรจนถึงปัจจุบัน