สักการะพระบรมธาตุ ๓ ประเทศ ณ วัดคุ้งตะเภา

พระบรมสารีริกธาตุจาก ๓ ประเทศ

สาธารณรัฐอินเดีย-ราชอาณาจักรไทย-สหภาพพม่า

(ส่วนแห่งพระพุทธสรีระอันคงเหลือจากการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)

อานิสงส์การบูชาพระบรมสารีริกธาตุโย จ ปูเชยฺย สมฺพุทฺธํ ติฏฺนฺตํ โลกนายกํ ธาตุ สาสปมตฺตมฺปิ นิพฺพุตสฺสาปิ ปูชเย ฯ สเม จิตฺตปฺปสาทมฺหิ สมํ ปุญฺ มหคฺคตํ ตสฺมา ถูปํ กริตฺวาน ปูเชหิ ชินธาตุโย ฯ"ผู้ใดพึงบูชาพระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลก ยังดำรงพระชนม์อยู่ก็ดี พึงบูชาพระธาตุแม้ประมาณเท่าเมล็ดผักกาดของพระพุทธเจ้าแม้นิพพานแล้วก็ดี เมื่อจิตอันเลื่อมใสของผู้นั้นเสมอกัน บุญก็มีผลมากเสมอกัน"

(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ ปัจจุปัฏฐานสัญญกเถราปทานที่ ๙)

ประวัติพระบรมสารีริกธาตุวัดคุ้งตะเภา

พระบรมสารีริกธาตุ (กระดูกของพระพุทธเจ้า) ที่ประดิษฐานในวัดคุ้งตะเภา เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ได้จากการถวายพระเพลิงพระบรมศพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ มกุฏพันธนเจดีย์ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ชมพูทวีป เมื่อ ๑ ปี ก่อนพุทธศักราช

โดยเป็นพระบรมธาตุส่วนที่โทณพราหมณ์เป็นผู้จัดสรรให้แก่บรรดาเจ้าผู้ครองนครรัฐโบราณสมัยพุทธกาล ๘ พระนครทั่วชมพูทวีป ตามคำบัญชาของมัลลกษัตริย์ ซึ่งได้พระราชทานไปประดิษฐานยังพระนครทั้ง ๘ คือ เมืองราชคฤห์ เมืองเวสาลี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองอัลลกัปปะ เมืองรามคาม เมืองเวฏฐทีปะ เมืองปาวา และเมืองกุสินารา ดังที่ปรากฎใน ธาตุภาชนียกถา

และเป็นพระบรมสารีริกธาตุดั้งเดิมส่วนที่พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์เมารยะ ทรงบัญชาให้ขุดจากสถูปเจ้าผู้ครองนครโบราณทั้ง ๗ สมัยพุทธกาลดังกล่าว (ยกเว้นรามคามสถูปที่ไม่ถูกขุด) เพื่ออัญเชิญแจกจ่ายไปประดิษฐานในพระสถูปที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นใหม่ทั่วชมพูทวีป และพระองค์ยังได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุแก่พระอรหันต์สม

ณฑูตที่นำพระพุทธศาสนาไปประกาศในแคว้นต่าง ๆ ถึง ๙ สาย เพื่อจะได้ให้พระพุทธศาสนาถาวรแผ่ไพศาลไปทั่ว เพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในปี พ.ศ. ๒๓๖ โดยพระบรมสารีริกธาตุของวัดคุ้งตะเภา ในส่วนที่ได้รับมาจากพระสังฆนายกพม่า เป็นพระบรมสารีริกธาตุส่วนวิปปกิณณาธาตุ ซึ่ง เป็นของเดิมที่ได้มาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระอรหันต์สมณฑูตมาเจริญพระศาสนายังเมืองสุธรรมวดี เมื่อกว่า ๒๓๐๐ ปี ก่อน และได้ อัญเชิญมายังเมืองพุกามในปี พ.ศ. ๑๖๐๐ พระบรมสารีริกธาตุในส่วนที่ได้รับมาจากสาธารณรัฐอินเดีย สันนิษฐานว่า เป็นส่วนดั้งเดิมที่พระมหากัสสปะเถระและพระเจ้าอชาตศัตรูได้อัญเชิญมากระทำธาตุนิธานปาฏิหาริย์ไว้ ณ เมืองราชคฤห์ ตามนัยในอรรถกถามหาปรินิพพานสูตร และพระบรมสารีริกธาตุในส่วนที่ได้รับมาจากพระสังฆราชไทยเป็นพระบรมสารีริกธาตุหลวงส่วนพระองค์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่รักษาสืบมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธศาสนามาตั้งมั่นในสยามประเทศ และ เป็นพระบรมธาตุส่วนเดียวกับที่ได้แบ่งอัญเชิญไปประดิษฐานยังพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ บนยอดดอยอินทนนท์

ลักษณะพระบรมธาตุวัดคุ้งตะเภานี้ มีปรากฏในพระคัมภีร์ มีคำอธิบายว่า "สพฺพขุทฺทกา ธาตุ สาสปวีชมตฺตา, มหาธาตุ มชฺเฌ ภินฺนตณฺฑุลมตฺตา, อติมหตี มชฺเฌ ภินฺนมุคฺคามตฺตา" ตรงตามอรรถาธิบายในคัมภีร์พระไตรปิฎกและคัมภีร์ปฐมสมันตาปาสาทิกา ทางวัดคุ้งตะเภาเคยนำพระบรมธาตุออกสรงน้ำ ปรากฏว่าองค์พระบรมธาตุไม่จมน้ำ แต่กลับลอยน้ำ โดยน้ำเป็นแอ่งบุ๋มลงไปรองรับพระบรมสารีริกธาตุไว้ และปรากฏรัศมีของน้ำรอบๆ พระบรมสารีริกธาตุเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ตรงตามคำโบราณาจารย์ที่บอกสืบกันมาทุกประการฯ

ครั้งที่ ๑

การแห่สมโภชพระบรมสารีริกธาตุวัดคุ้งตะเภา

“เนื่องในมหาวาระสัมพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า”

ณ มณฑลพิธีงานพุทธชยันตีตำบลคุ้งตะเภา

วันที่ ๓๐-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕

ครั้งที่ ๒

การเวียนเทียนสมโภชพระบรมสารีริกธาตุวัดคุ้งตะเภา

“เนื่องในมหาวาระสัมพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า”

ณ มณฑลพิธีอาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา

วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕

ครั้งที่ ๓

การฉลองสมโภชพระบรมสารีริกธาตุวัดคุ้งตะเภา

ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์หมู่ใหญ่ ๔๙ วัด ๒๐๙ รูป

โดยเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานในพิธี

ณ มณฑลพิธีพระบุษบกบรมคันธกุฎีวัดคุ้งตะเภา

วันเสาร์ที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๕