เกร็ดเล่าขานในวัดคุ้งตะเภา

ต้นพระศรีมหาโพธิ์โบราณ

ต้นพระศรีมหาโพธิ์วัดคุ้งตะเภา หรือต้นโพธิ์ใหญ่ที่เคยยืนต้นอยู่หลังศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาหลังเก่าก่อนบูรณะต้นนี้ มีโคนต้นใหญ่และกว้างมาก บ่งบอกถึงความเก่าแก่ได้เป็นอย่างดี ต้นโพธิ์ต้นนี้จะเรียกว่าเป็นต้นโพธิ์คู่มากับวัดเลยก็ว่าได ้เพราะมีอายุนานมาก เพราะขนาดทวดยังบอกว่าตอนทวดยังเด็ก ๆ อยู่ ต้นโพธิ์ก็ใหญ่เท่านี้ ผ่านไป ๙๐ กว่าปี มันก็ยังเท่านี้ ไม่ใหญ่กว่าเดิมไปไหน

เรียกได้ว่าต้นโพธิ์ต้นนี้อยู่มานานมาก ความจริงต้นโพธิ์นั้นจะไม่โตสูงมากไปกว่านี้ ( ๑๐-๑๒ เมตร ) พอโตจนสุดแล้วจะขยายโคนออก แต่โคนต้นโพธิ์ต้นนี้ใหญ่เอามาก ๆ กว้างเกือบ ๗ เมตร ถ้าคนโอบตรงโคนต้นก็ต้องใช้คนประมาณ ๙ คนขึ้นไปอย่างต่ำ เรียกว่าตั้งแต่ผู้เขียนเกิดมาก็ยังไม่เคยเห็นต้นโพธิ์ที่ใหญ่ขนาดนี้ที่ ไหนมาก่อนเลยในจังหวัดนี้ มีแต่ที่นี่ที่เดียว อายุก็น่าจะมากกว่าร้อยปีขึ้นไปแน่ ๆ ขนาดศาลาการเปรียญที่รื้อมาสร้างใหม่เมื่อ ๘๐ กว่าปีก่อน ท่านยังกะตัวศาลาให้ตรงกับต้นโพธิ์นี้เลย

สมัยก่อนชาวบ้านคุ้งตะเภาเรายังไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรบูชาก็เห็นจะ มีต้นโพธิ์ต้นนี้แหละที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน

ถ้าจะว่าไปโพธิ์ต้นนี้ก็คล้าย ๆ เป็นเจดีย์อย่างหนึ่งในวัด เรียกว่าโพธิเจดีย์ ( ต้นไม้ก็เป็นเจดีย์ได้เหมือนกัน ) แต่ก่อนมีประเพณีนำไม้มาค้ำต้นโพธิ์ เอาด้ายมาพันรอบไม้หรือเอาผ้าผูกพันเป็นสีต่าง ๆ มา “วาง” ไว้รอบโคนต้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ( วางพอเป็นพิธีจริง ๆ เพราะต้นใหญ่มาก กิ่งก็ใหญ่ ถ้าจะให้เอาไม้ซี่เล็ก ๆ ไป “ค้ำ” ไว้ก็เห็นจะไม่ไหว ) บางคนก็นำมาแก้บนบ้าง พอนานไปมีการสร้างโบสถ์ มีพระพุทธรูป ก็คงจะเลิกไปไม่เห็นใครนำไม้มาวางไว้ตรงต้นโพธิ์อีก จะมีก็คงจะเป็นพวกสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาบ้างประปราย แต่น้อยเต็มที จะมีก็แต่พวกพระพุทธรูปไร้เศียร นำมาทิ้งไว้ตามซอกตามหลืบโพธิ์ ดู ๆ ไปก็ขลังดี น่ากลัวด้วย

ดวงไฟประหลาด

คนเฒ่าคนแก่มักจะเล่าให้ลูกหลานฟังว่า สมัยก่อน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ มักจะมีคนพบดวงไฟประหลาดลอยออกจากโพธิ์ต้นนี้ไปบนท้องฟ้าอยู่เนือง ๆ ซึ่งก็นับว่าน่าอัศจรรย์ โพธิ์ต้นนี้อาจจะมีอะไรดีอยู่ก็เป็นได้ อาจจะเป็นเทวดาอารักษ์ ไม่ก็พระบรมสารีริกธาตุเจ้าสถิตอยู่ แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีผู้ใดพบดวงไฟประหลาดอีกแล้ว

ผีต้นโพธิ์

คงจะมีแต่เรื่องแปลก ๆ ที่ยังมีคนเจออยู่ประจำ แต่ไม่ใช่ดวงไฟ เป็นอะไรก็ไม่รู้ลักษณะคล้ายคนแทน ( ผี! มั้ง ) เรื่องประเภทนี้ก็มีคนเห็นอยู่บ่อย ๆ เอาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็เมื่อตอนบวชเณรภาคฤดูร้อน ( เม.ย. ๔๙ ) ศีลจาริณีเด็กหญิงคนหนึ่ง นอนอยู่ที่ศาลาการเปรียญ แกบอกว่าเห็นผู้หญิงผมยาวใส่ชุดขาวอยู่ตรงต้นโพธิ์ แกก็กลัวจนร้องไห้ ต้องคอยปลอบอยู่หลายเพลา วันนั้นท่าทางแกคงจะซน ท่านเทวดาก็คงจะหมั่นไส้ เลยลอกซีนหนังผีเกาหลีมาหลอกเด็กน้อยจนแกกลัวไปเลย ( แต่ก็ดี เพราะหลังจากวันนั้นศีลจาริณีหลับเร็วขึ้นไม่วุ่นวายเหมือนวันก่อน ๆ สงสัยจะกลัวกันมาก แต่ก็ได้ไม่กี่วัน ก็กลับมาซนเหมือนเดิม )

เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๙ มีการรานกิ่งโพธิ์ออก ปรากฎว่าคนที่ขึ้นไปรานกิ่งเกิดเสียหลักจะตกลงมาจากกิ่งโพธิ์ แต่ปรากฎอัศจรรย์มีมือมารั้งคนนั้นไว้ทำให้ไม่ตกลงมา ซึ่งถ้าตกลงมาจริงก็คงจะต้องมีสาหัสกันแน่แท้ การณ์ก็ปรากฎว่าเป็นที่เล่าลือกันไปทั่วว่าต้นโพธิ์นี้มี "ของดี" อยู่ กอปรกับมีมีคนมาบอกว่ามีเจ้าแม่ต้นโพธิ์ไปเข้าฝันบอกเลขอยู่แล้วก็ปรากฎว่า ออกตามนั้น รวยกันเป็นหลักแสน ถึงขั้นมีลิเก ผ้าป่าฉลองกันให้เอิกเริก

ชาวบ้านเรียกขาน "ของดี" ในต้นโพธิ์นี้ว่า "เจ้าแม่โพธิ์เขียว" เพราะมีคนมาบอกว่าเจ้าแม่ไปเข้าฝัน บอกให้สร้างศาลให้และให้ทำป้ายติดหน้าศาลทาสีเขียวซะด้วย ชาวบ้านก็เลยลงมติแต่งตั้ง "ของดี" ในต้นโพธิ์นี้ว่า "เจ้าแม่โพธิ์เขียว" มาตั้งแต่นั้น เจ้าแม่โพธิ์เขียวก็เลยมีศาลอยู่เป็นหลักแหล่ง และกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้าน ตลอดมา

โค่นโพธิ์

มาต้นปี ๒๕๕๐ ทางวัดได้ทำการก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ กอปรกับท่านไวยาวัจกร พ.อ.สิงหนาท โพธิ์กล่ำ ต้องการพื้นที่เพิ่มเพื่อประกอบกิจกรรมต่าง ๆของทางวัดและชุมชน ก็เลยจัดการ "ถอน" ต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้เสีย เมื่อ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๑๕.๕๙ น. (ที่ีลง ๕๙ นาทีพอดีนี้เป็นเวลาจริงที่โพธิ์ล้ม เพราะมิได้กำหนดฤกษ์ยามแต่ประการใดไว้)

นับว่าดีที่ว่าไม่เกิดเหตุร้ายขึ้น เพราะการถอนโพธิ์ล้มเจดีย์นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ดีเอาเสียมาก วัดอื่นก็เคยมีคนถอนโพธิ์เหมือนกัน ถึงขั้นตกโพธิ์ลงมาตายคาที่ก็มีมาแล้ว ถึงขั้นพระคุณเจ้าขึ้นไปลงมือเองก็ถึงขนาดสาหัสถึงขั้นพิการมาก็มี ทั้ง ๆ ที่โพธิ์ก็ต้นไม่ใหญ่เท่าของวัดคุ้งตะเภาเลยซักที่ จึงนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีนักที่ีไม่มีใครเป็นอะไร แต่กลับมี "ของดี" มาอำนวยความปลอดภัยให้อีก ชาวบ้านจึงนับถือเจ้าแม่โพธิ์เขียวในเรื่องความเมตตาอีกโสตหนึ่งด้วย

เจ้าแม่สำเภาทอง

ยังมีสิ่งประหลาดในวัดคุ้งตะเภาอีกประเภทหนึ่งคือ “เจ้าแม่สำเภาทอง” ตามนามที่ชาวบ้านเรียกขานกัน อันว่านาม “เจ้าแม่” นี้ มิใช่นามที่ชาวบ้านตั้งขึ้นมาลอย ๆ แต่ตั้งขึ้นมาก็เพราะว่าเป็นที่น่าเชื่อว่าผีตนนี้เป็น ”ผู้หญิง” การกำเนิดมีของเจ้าแม่ตนนี้ในความเชื่อของชาวบ้านก็มาจากคำเล่าของผู้เฒ่า ผู้แก่ที่เชื่อกันว่าเคยมีเรือสินค้า (สำเภา) มาล่มอยู่ตรงหน้าวัดคุ้งตะเภา คือบริเวณพื้นที่ใต้ต้นโพธิ์หลังวัดที่เกิดจากแผ่นดินงอกขึ้นมาหน้าวัด (ในอดีต) ซึ่งเป็นท้องแม่น้ำน่านเดิมในปัจจุบันนี้

ตำนานเรือสำเภาล่ม

เรื่องเรือสำเภาล่มนี้เป็นตำนานเล่าขานมานานแล้ว จากการสืบค้นเอกสารพบหลักฐานที่ท่านอดีตผู้ใหญ่บุญช่วย เรืองคำ (เสียชีวิตไปแล้ว) ได้บันทึกไว้ ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ท่านได้ยินมาเมื่อนานมาแล้วว่า

" ...กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว... มีพี่น้องบิดามารดาเดียวกันสองคน ทำการค้าล่องเรือสำเภาค้าขายไปทางเมือง เหนือเป็นประจำทำให้มีทรัพย์สมบัติ มาก หลังจากบิดามารดาเสียชีวิต จึงได้อยู่กินฉันท์สามีภรรยากัน เนื่องจาก เกรงว่าทรัพย์สมบัติที่มีมากในตระกูลของตนนั้นจะตกไปอยู่กับผู้ อื่น

ต่อมาได้ทำการขนสินค้าขึ้นไปค้าขายผ่านมายังแถบนี้ได้เกิดพายุฝน รุนแรง นายเรือไม่สามารถควบคุมเรือได้ เรือจึงอัปปางลง นายเรือและลูกเรือหนีรอดมาได้ แต่สองพี่น้องซึ่งอยู่ที่ท้องเรือในขณะเกิดเหตุนั้นไม่สามารถหนี ออกมาได้ทัน จึงทำให้ทั้งคู่จมไปพร้อมกับเรือและทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่นำมาด้วย..."

จากตำนานนี้ทำให้เล่าลือกันว่ามีสมบัติถูกฝังไปพร้อมกับเรือจริง ๆ และยังมีตำนานว่าเคยมีคนขุดเจอซากเรือและหีบบรรจุเหรียญเงิน แล้วก็มีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา อันนี้ก็เป็นเรื่องเล่าที่เล่าสืบกันมาช้านาน แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีความเชื่อว่ามีเจ้าแม่แต่ประการใด

กำเนิดเจ้าแม่สำเภาทอง

มาในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เวลาเกิดฝนตกหนัก พระที่จำวัดอยู่บนศาลาการเปรียญหลังเก่าซึ่งอยู่บริเวณหลังวัดในปัจจุบัน (พระตี๋) มักได้ยินเสียงร้องไห้ดังมาจากทางหลังวัดบริเวณต้นโพธิ์เสมอ ๆ ในช่วงแรกพระท่านก็มิได้เอะใจอันใด แต่การณ์ปรากฏว่าระยะหลัง ๆ พอฝนตกมักจะได้ยินเสียงร้องไห้บ่อยและถี่ขึ้น พระท่านจึงแปลกใจ การณ์ปรากฏต่อมาว่า เจ้าแม่ได้มาเข้าฝันพระรูปนั้นบอกว่า เป็นแม่ย่านางเรือที่มาล่มอยู่หน้าวัด ไม่มีศาลอยู่ขอให้ทำศาลให้หน่อย พระท่านก็เลยร่วมใจกับชาวบ้านสร้างศาลให้แม่ย่านางตนนั้น บริเวณต้นโพธิ์หลังวัดในปัจจุบัน และตั้งชื่อให้ว่า “เจ้าแม่สำเภาทอง”

ต่อมามีการจัดงานบุญมีการนำลิเกเข้ามาแสดงในวัด เจ้าแม่ก็ไปเข้าฝันเจ้าภาพบอกว่าอยากจะดูลิเก ก็เป็นอันรู้กันว่าเจ้าแม่ตนนี้มีใจใฝ่ในทางศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ไทย นับแต่นั้นเป็นต้นมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เวลาใครจะจัดแสดงลิเกในวัดก็ต้องมีนางรำไปรำถวายท่านเสียก่อนเอาฤกษ์เอาชัย

น่าแปลกที่เจ้าแม่ท่านนี้มิใคร่จะฝักใฝ่ในการบอกใบ้ให้หวยให้โชคผู้ใด ในระยะหลัง ๆ จึงมิใคร่มีใครไปขอเลขเจ้าแม่ตนนี้เท่าใดนัก ไม่เหมือนเจ้าแม่โพธิ์เขียวที่ปัจจุบันกำลังขึ้นก่อนถูกโค่น รายนี้ไปบอกเลขในฝันกันถึงในบ้าน ซึ่งก็นับว่าเป็นบริการใบ้หวยเดลิเวรี่วอร์มเครื่องก่อนโดนโค่นให้โด่งดัง กัน ระยะหลัง ๆ จึงมีคนมาขอมาไหว้เจ้าแม่โพธิ์เขียวกันถึงในวัดไม่ขาดสาย แต่สุดท้ายก็ไม่รอด ก็เลยต้องย้ายนิวาศสถานไปอาศัยอยู่ในศาลแทน แต่กระนั้นก็ยังมีผู้ได้โชคลาภจากเจ้าแม่ตนนี้เสมอ ๆ

ป่าช้าวัดคุ้งตะเภา

ธรรมดาวัดในแถบคุ้งตะเภานั้นมักจะสร้างเมรุอยู่ในบริเวณวัด เรียกว่าบางแห่งเมรุอยู่หน้ากุฎิพระเลยก็มี อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่วัดคุ้งตะเภาแปลกกว่าเขาตรงที่ว่าแบ่งเขตเมรุและเขตตัววัดชัดเจน ทั้งในวัดก็แบ่งเป็นพุทธาวาส (โบสถ์,เจดีย์) ธรรมาวาส (ศาลาการเปรียญ) สังฆาวาส (กุฎิพระสงฆ์)เป็นสัดส่วน ไม่ก้าวก่ายกัน ตัววัดมีรั้วรอบขอบชิดแบ่งเขตออกจากเมรุชัดเจน และเมรุนั้นก็อยู่ไกลจากวัดเสียด้วย แต่ก็เป็นที่น่าแปลกที่วัดคุ้งตะเภากลับเป็นว่ามีผีดุที่สุด ที่แปลกกว่านั้นก็คือบริเวณฌาปนสถานในปัจจุบันหรือป่าช้าเก่านั้นกลับไม่ ค่อยมีใครเจอผีเลย จะมีเจออยู่บ้างก็ช่วงหลังจากล้างป่าช้าไปแล้ว แต่ก็น่าแปลกที่ล้างป่าช้าไปแล้วก็ยังมีกะโหลกกระดูกฝังหลงเหลืออยู่อีก เมื่อตอนขุดฐานสร้างเมรุใหม่ก็พบกะโหลกและกระดูกจำนวนหนึ่ง ตัวผู้เขียนคิดว่า คงฝังกันอย่างแออัดกันมาหลายรุ่น ๆ จึงล้างป่ากันไม่หมดปล่อยให้ทับถมกันมานานนับ ๆ ร้อย ๆ ปี เมื่อพูดถึงป่าช้าก็ให้นึกถึงว่าสมัยนั้นท่านจะปักหลักเขตชัดเจน ๔ ทิศ ให้รู้กันไปเลยว่าบริเวณนี้คือป่าช้าและห้ามฝังนอกเขตเป็นอันขาด และเวลาพระจะบังสุกุลท่านก็จะเอาศพใส่ไม้กระดานให้พระเหยียบ เวลาพระจะชักผ้าบังสุกุลก็เอาผ้าใส่มือศพและให้พระเหยียบไม้กระดานให้ศพ เด้งขึ้นมา แล้วพระท่านก็จึงชักบังสุกุลกันต่อหน้าศพเพรียว ๆ เลยทีเดียวเชียว เรียกว่าสมัยนั้นใครจะเป็นพระต้องใจแข็งเป็นอย่างมาก

อดีตนั้นป่าช้าวัดคุ้งตะเภาอยู่บริเวณหลังวัด (ซึ่งก็คือหน้าวัดในปัจจุบัน) เป็นสถานที่คนรุ่นอายุ ๔๐ ขึ้นไป เคยได้สัมผัสกับความน่าสะพรึงของป่าช้าวัดคุ้งตะเภาทั้งสิ้น เพราะอันว่าป่าช้าของวัดนี้ในอดีตนั้น ออกจะน่ากลัว มีต้นไผ่ต้นโพธิ์ต้นไม้ขึ้นให้ครึ้มทึบไปหมดทั้งบริเวณ ใครที่จะผ่านไปมาก็มักจะทำใจให้ไม่กลัวไม่ใคร่จะได้นัก ยังดีอยู่ที่ว่าป่าวัดคุ้งตะเภามีหลักเขตแน่นอนเป็นอาณาบริเวณ เคยได้ฟังมาว่าใกล้ ๆ กับป่าช้ายังมีบ้านคนอยู่ด้วย ก็คงเป็นเพราะความชัดเจนของป่าแห่งนี้นี่เอง ทำให้มิต้องกังวลว่าจะไปปลูกเรือน "ทับ" ผู้ใดเข้า ไม่เหมือนป่าช้าของบางวัดเช่นวัดหาดเสือเต้นที่นำป่าช้าเดิมมาสร้างเป็น โรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนหาดเสือเต้นสมัยนี้ มักมิใคร่เล่าเรื่องนี้ให้ลูกหลานฟังนัก เพราะเดี๋ยวจะกลัว แล้วจะพาลไม่ไปโรงเรียนเอาเสียปล่าว ๆ

ปัจจุบันทางวัดคุ้งตะเภาได้ทำการล้างป่าช้าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็อาจจะล้างไม่หมด เพราะเมื่อทางวัดจะก่อสร้างอะไรบริเวณนั้นเช่นศาลา เมรุใหม่ เวลาขุดลงไปก็มักจะได้ "ของดี" ติดขึ้นมาเสมอ ๆ แต่เท่าที่ดูแล้ว คนสมัยนี้ก็รู้สึกว่าจะไม่ใส่ใจอันใดนัก มาก่อสร้างร้านค้าบ้านเรือนห้องแถวติดกับป่าช้าเดิมกันอย่างสบายใจ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกเพราะที่ดินบริเวณใกล้ป่าช้าเป็นทำเลทอง ติดถนนสายเอเชียซึ่งพึ่งตัดใหม่เืมื่อ ๓๐ กว่าปีมาแล้ว ไอ้ครั้นจะมากังวลเรื่องเหล่านี้ก้คงมิต้องทำมาหากินกันละมั้ง

ผีวัดคุ้งตะเภา

ถ้าพูดเรื่องผีสมัยเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อน วัดคุ้งตะเภาก็คงจะมาเป็นอันดับหนึ่งในละแวกนี้ เรียกว่าเฮี้ยนเลยทีเดียว นับว่าเป็นที่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจของคนคุ้งตะเภาเลยก็ว่าได้ เพราะเจอกันประจำ

หากไปถามคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ อายุ ๔๐ ขึ้นไป ก็เป็นอันว่าต้องเคยได้ยินหรือได้เห็นผีวัดคุ้งตะเภาตัวเป็น ๆ กันมาเลยทีเดียว ผีวัดคุ้งตะเภาจากเท่าที่ได้ฟัง (และได้เห็น) มา ก็สามารถจัดอันดับแบ่งประเภทได้เลย ตั้งแต่ระดับพวกเสื้อวัดทรงวัด รุกขเทวดา ไปจนผีเปรต ผีกะ นับว่าไม่ใช่น้อยเลย กระทั่งผีพระ ผีเมรุ ผีมีแต่หัว ผีลุกไฟ ผีศาลาการเปรียญ ผีต้นโพธิ์ ผีชิงช้า (อันนี้เจอกันประจำ) ผีกุฎิ ยันผีห้องน้ำก็มี นับว่าสมัยนั้นเจอผีกันเป็นที่เอิกเกริกครื้นเครงกันเลยทีเดียวเชียว

ถ้าจะให้กล่าวเรื่องผี ๆ วัดคุ้งตะเภาลงไว้ในที่นี้ให้หมดก็เห็นว่าคงจะยาวหลายหน้ากระดาษหนังสือ แต่เอาเป็นว่ามีมากจนพระที่นี่อยู่กันจนชิน ที่ว่าผีวัดคุ้งตะเภามากนั้นก็เห็นคงจะเป็นเพราะวัดนี้สร้างมานานนับร้อย ๆ ปีฯ

ยางยักษ์วัดคุ้งตะเภา

อันว่าต้นยางใหญ่วัดคุ้งตะเภานี้ เป็นยางนา นำขึ้นมาจากแม่น้ำน่านบริเวณเหนือหมู่บ้านคุ้งตะเภา เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ยาว ๘ เมตร ๔๕ เซนติเมตร หรือยาว ๒๓ วา ๑๒ ศอก มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๑ เมตร ๘๕ เซนติเมตร นับว่ามีขนาดที่ใหญ่มาก ถ้านับอายุวงปีไม้ น่าจะมีอายุประมาณพันปีขึ้นไป ต้นยางต้นนี้ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ริมอุโบสถวัดคุ้งตะเภา วางทอดยาวขนานตามทิศตะวันออก-ตก โดยโคนต้นตั้งหันไปทางทิศตะวันออก ปลายหันไปทางทิศตะวันตก บริเวณโคนต้นมีร่องรอยการเผาเพื่อนำยางไปทำเชื้อเพลิงของคนโบราณปรากฏอยู่ ด้วย สิ่งที่พิเศษคือรากของยางต้นนี้เมื่อดูให้ถูกมุมจะคล้ายคลึงกับช้างสามเศียร อย่างน่าอัศจรรย์

ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติในอดีต

ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันสืบมาว่า ในอดีตเมื่อแถบบ้านคุ้งตะเภายังมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์นั้น ไม้ใหญ่ ๆ ในแถบนี้ที่มีมากก็คือ ไม้สักไม้ยาง ต่อเมื่อ ๕๐ กว่าปีมานี้ ต้นไม้ได้ถูกตัดไปมากจนทำให้ไม่เหลือต้นไม้ใหญ่ ๆ ไว้ให้ดูกันอีกแล้ว จะมีเท่าที่เห็นยังยืนต้นในปัจจุบันก็คือต้นยางใหญ่ ๓ ต้น บริเวณลานกลุ่มเกษตรกรทำนาคุ้งตะเภาและใกล้เคียงนั้น ซึ่งในอดีตแถบนั้นเคยมีต้นยางขนาดมหึมากว่า ๑๐ คนโอบอยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้โค่นลง เล่ากันว่าต้องใช้ช้างกว่า ๒๐ เชือกในการโค่นยางยักษ์ครั้งนั้น และไม้ยางนั้นสามารถนำมาสร้างโรงเรียนได้หลายหลัง นี่คือเรื่องเล่าความมีอยู่ของต้นไม้ใหญ่ในแถบหมู่บ้านคุ้งตะเภาในอดีต

ปฐมบท

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ วัดคุ้งตะเภาได้บูรณะต่อเติมศาลาการเปรียญหลังเก่า (ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒) คณะกรรมการมีความเห็นว่าควรใช้ไม้เพื่อทำพื้นกระดานศาลาหลังที่ได้บูรณะใหม่ จึงได้บอกบุญญาติโยมผู้ศรัทธาบริจาคต้นไม้ถวายเป็นทานได้หลายต้น แต่ยังขาดอยู่มาก ต่อมาวัดคุ้งตะเภาได้ทราบว่าวัดป่าขนุนบ้าง วัดหัวหาดบ้าง สามารถนำไม้ขอนใหญ่ ๆ ขึ้นจากน้ำได้หลายต้น ประกอบกับมีญาติโยมที่ทำมาหากินดำน้ำยิงป่าขึ้นล่องแถบบ้านคุ้งตะเภา เล่าลือกันว่าได้ดำยิงปลาไปเห็นว่า มีไม้ขอนขนาดใหญ่โตอยู่ต้นหนึ่งนอนตายอยู่ใต้ผืนน้ำน่าน บริเวณเหนือหมู่บ้านคุ้งตะเภา รวมกับไม้ขอนเล็ก ๆ อีกมาก เมื่อแรกเห็น คนดำยิงปลาก็ให้ตกใจด้วยไม่เคยพบไม้ขอนขนาดมหึมามาก่อน จึงเล่าลือกันไปทั่ว

นำไม้ขึ้นจากน้ำ

ต่อมาความทราบถึงวัดคุ้งตะเภา ๆ จึงประสงค์จะนำไม้ใหญ่นั้นขึ้นมาเพื่อบูรณะศาลาการเปรียญ วัดคุ้งตะเภาจึงนำชาวบ้านไปร่วมใจกันทำแพใหญ่เพื่อตั้งถ่วงขอนกลางลำน้ำน่าน เมื่อ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ และมีชาวบ้านได้ทำพิธีเพื่อขออนุญาตนำไม้ขึ้นด้วย โดยครั้งแรกนั้นมิได้ถ่วงขอนใหญ่แต่อย่างใด แต่ได้ถ่วงนำขอนเล็กที่ล้มขวางต้นใหญ่อยู่ขึ้นมาก่อนเพื่อเปิดทาง

จนเวลาผ่านมาเกือบกว่า ๒๐ วัน ชาวบ้านได้ช่วยกันนำไม้ขึ้นมาได้หลายท่อน เมื่อวัดพิจารณาแล้วว่าไม่มีไม้อื่นขวางท่อนใหญ่อีก และขอนใหญ่นั้นไม่ได้จมทรายมาก ทางวัดจึงประสงค์นำท่อนใหญ่ที่เล่าลือกันขึ้นมาให้ประจักษ์และจะได้นำไป เลื่อยบูรณศาลาการเปรียญต่อไป

ในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้เริ่มนำแพไปถ่วงขอนใหญ่ ซึ่งวัดได้ขอยืมแพเล็กมาจากวัดป่าขนุนมาช่วยถ่วงขอนขึ้นด้วย จนเมื่อวันที่ ๒๗ ปลายไม้ได้ขึ้นจากน้ำ (แต่ทางวัดจำเป็นต้องเลื่อยไม้ในน้ำออกเป็นหลายท่อน เพราะไม้ยางใหญ่ต้นนี้ใหญ่และยาวมาก) และในวันที่ ๓๐ ไม้จึงขึ้นจากน้ำได้ทั้งหมด ท่ามกลางความยินดีของชาวบ้านคุ้งตะเภา

ชาวบ้านคุ้งตะเภาเมื่อเห็นต้นไม้ยางมีขนาดใหญ่มากซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าต้นยาง ที่อยู่บริเวณกลุ่มเกษตรกรทำนาคุ้งตะเภา จึงได้ขอวัดคุ้งตะเภานำไมใหญ่ท่อนนี้ไปไว้ยังวัดคุ้งตะเภาเพื่อเป็นสิ่ง เตือนใจถึงธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของหมู่บ้านคุ้งตะเภาในอดีต

โดยได้นำไม้มาไว้ยังวัดคุ้งตะเภาเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐ และยังคงตั้งอยู่เป็นอนุสาวรีย์แห่งความสามัคคีของชาวบ้านคุ้งตะเภามาจนปัจจุบันนี้

ไม้ยางต้นนี้เมื่อครั้งยังอยู่ในน้ำนั้น ก็มีบรรดา "ผู้รู้" ทั้งหลาย กล่าวกันว่าไม่มีทางนำขึ้นมาได้ หรือขึ้นได้แต่ชาวบ้านจะแตกแยกกัน หรือต้องทำการอ้อนวอนรอฤกษ์ยามก่อนจึงลอยขึ้นเอง ต่าง ๆ นา ๆ นับว่าเป็นความเชื่อที่ไม่สามารถมาลบล้าง "แรง" แห่งอุตสาหะและสติปัญญาของชาวบ้านคุ้งตะเภาไปได้ สมดังคำที่ว่า ฤกษ์ที่ดีที่สุดก็คือเวลาที่ทำ ที่พึ่งที่ดีที่สุดก็คือตัวเราเอง ทุกประการ

การนำไม้ยางใหญ่ขึ้นจากน้ำได้ในครั้งนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดียิ่ง เพราะเป็นการแสดงออกถึงการร่วมมือร่วมใจของวัดและชาวบ้านคุ้งตะเภาหลายฝ่าย ทำให้สามารถนำไม้ขนาดมหึมาและมีความหนักหลายต้นนี้ขึ้นมาได้ เป็นเครื่องพิสูจน์วิริยะอุตสาหะและความสามัคคีของผู้เกี่ยวข้องและชาวบ้านคุ้งตะเภาได้เป็นอย่างดี ต้นยางนี้จึงเป็นอนุสรณียวัตถุแห่งความสามัคคีและอนุสาวรีย์แห่งความร่วมใจ ของชาวบ้านคุ้งตะเภาตลอดไปฯ