โคก หนอง นา

โมเดลโคก-หนอง-นา : วิถีแก้วิกฤตด้วยศาสตร์พระราชา

โดย - อาจารย์ยักษ์ มหาลัยคอกหมู

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เคยตรัสไว้ว่า การขุดสระ ขุดแหล่งน้ำ ประชาชนทำเองไม่ได้ เนื่องจากไม่มีกำลังพอ รัฐก็ต้องเข้าไปช่วย หรือหากภาคเอกชนรายใดเข้าใจในทิศทางนี้ก็ควรที่จะเข้าไปช่วย ภาควิชาการ โรงเรียน วัดก็เข้าไปสนับสนุน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าวิถีแบบนี้แหละที่จะทำให้ตัวเองอยู่ได้ สังคมอยู่ได้ ประเทศชาติก็อยู่ได้...

ากเราเชื่อมั่นว่า โมเดลที่เหมาะสำหรับต้นน้ำ คือการปลูกป่า สร้างฝาย ทำป่าเปียก ปลูกแฝก โมเดลที่เหมาะกับพื้นที่ราบลุ่มต่ำลงมาก็คือ โมเดลวิถีบ้าน บ้าน “โคก หนอง นา” เพราะด้วยการอยู่กับที่ราบลุ่มที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก ด้วยวิถีชีวิตที่มีโคก มีนา มีหนองนั้น ทำให้บรรพบุรุษของเราอยู่รอดได้มาจนถึงวันนี้ เพราะเมื่อย่างเข้าฤดูน้ำหลากบนโคกก็จะเป็นที่ทำกิน มีต้นไม้ที่ปลูกไว้ เป็นที่หลบน้ำของสัตว์ คน และเป็นที่เก็บอาหารด้วยยุ้งฉางของคนในสมัยก่อน

โมเดล โคก หนอง นา จึงเป็นโมเดลที่เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน มาใช้เป็นต้นแบบตั้งต้นโครงการฟื้นฟูชุมชนในที่ราบลุ่มภาคกลาง ส่วนตอนบนที่เป็นเขาก็จะรณรงค์ทำฝาย เพื่อจะเก็บซับน้ำไว้บนเขาให้ได้มากที่สุด จากสองโมเดลนี้ลองคิดง่ายๆ หากมีปริมาณน้ำที่หลากมาในปีหนึ่งๆ ประมาณ 2.5 หมื่นล้าน ลบ.ม. ทว่า ได้ถูกซับไปแล้วส่วนหนึ่ง โดยการทำฝายชะลอน้ำให้ซึมซับลงสู่ดินบ้านละ 1 หมื่น ลบ.ม. หากทำทุกบ้าน ล้านครอบครัว น้ำก็จะถูกเก็บไว้บนเขาไปแล้ว 1 หมื่นล้าน ลบ.ม.

ขณะที่ส่วนหนึ่งได้ไหลจากป่าเขาลงมาในพื้นราบ เรารณรงค์ให้ชาวไร่ ชาวนา ขุดแหล่งน้ำเอาที่ดินทำเป็นโคกตามโมเดล “โคก-นา-หนอง” ทำเช่นนี้ล้านครอบครัว เก็บน้ำไว้บ้านละ 1 หมื่น ลบ.ม.ต่อครอบครัว ก็ได้แล้วอีกล้านลูกบาศก์เมตร น้ำฝนที่ตกลงมา 2.5 หมื่นล้าน ลบ.ม. ถูกเก็บไว้บนเขา 1 หมื่นล้าน ลบ.ม. ลงมาข้างล่างทุกบ้านช่วยกันเก็บไว้อีกหนึ่งหมื่นล้าน พอไหลลงมาจริงๆ เหลือ 5,000 ล้าน ลบ.ม.

ถ้าระดับนี้เมืองต่างๆ ตั้งแต่นครสวรรค์ลงมาถึงสมุทรปราการยังไงก็ไม่ท่วม แล้วถ้าพื้นที่ตอนล่างเปิดช่องทางช่วยกันให้น้ำหลากลงไปในท้องนา ลงไปในพื้นที่ทางน้ำหลาก ในร่องสวน ในนา ซึ่งได้เตรียมการรองรับไว้ดีแล้ว ด้วยวิธีการทำนาที่เข้าใจธรรมชาติ ปลูกข้าวด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ ค่อยๆ ปล่อยให้น้ำไหลลงไปข้าวก็จะไม่ตาย

การทำนาด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์นี้ เหมาะกับพื้นที่น้ำหลากเพราะรากของข้าวจะเกิดขึ้นจำนวนมาก และหยั่งรากลึก โดยที่ไม่จำเป็นต้องเลือกพันธุ์ข้าวแต่อย่างใด พันธุ์ข้าวธรรมดาๆ ที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองนี่แหละสามารถที่จะทะลึ่งเหนือน้ำได้หากปลูกด้วยวิถีอินทรีย์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องจะมานั่ง คิด พูด ฝันขึ้นเล่นๆ แต่เป็นสิ่งที่คนไทยสมัยก่อนมีชีวิตอยู่กับมันจริงๆ

น้ำท่วมหลากมาทุกปีก็ทำอย่างนี้แล้วข้าวก็ไม่เคยเสียหาย ทั้งๆ ที่ก็ไม่ต้องเป็นข้าวพันธุ์พิเศษอะไร ข้าวขาว ข้าวเหลือง ข้าวเหลืองปะทิว เหลืองบางใบ เจ๊กเชย ข้าวอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นพันธุ์ไทยแท้ๆ มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีตสามารถหนีน้ำได้ในระดับ 2-3 เมตร เป็นเรื่องปกติ หากว่าเราจะสื่อให้คนเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ได้ และช่วยกันคนละไม้ คนละมือ ทั้ง 5 ภาคส่วนได้ก็จะทำให้เกิดทางรอดของสังคมไทย ยิ่งสิ่งใดที่เกินกำลังภาคประชาชน ภาครัฐเข้าไปช่วยสนับสนุนได้ก็จะเยี่ยมยอด

ส่วนภาคประชาชนอย่างเราๆท่านๆนั้นก็มีหน้าที่หลักคือ ต้องลงมือทำด้วยตนเอง รวมกลุ่มกัน คนไทยหกสิบกว่าล้านคนถ้าช่วยกันทำสัก 2-3 ล้านคน ลุกขึ้นทำกันจริงๆ จังๆ ปัญหาน้ำท่วมก็แทบจะ ไม่ก่อปัญหา แต่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจแล้วก็เพียรช่วยกันทำ

อันที่จริง โมเดลที่ดีทำงานได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นของใหม่ คิดใหม่ ของนอก หากแต่เป็นโมเดลที่อยู่กับเรามานาน หากแต่เราหลงลืมไป อย่างวิถีชีวิต โคก นา หนอง เช่นนี้