คราม

คราม

คราม ชื่อสามัญ Indigo[1],[2]

คราม ชื่อวิทยาศาสตร์ Indigofera tinctoria L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2]

สมุนไพรคราม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ครามย้อม (กรุงเทพฯ), คาม (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), คราม ครามย้อย (ภาคเหนือ, ภาคกลาง), คราม (ทั่วไป) เป็นต้น[1],[3]

หมายเหตุ : ต้นครามที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับ ต้นคราม หรือ ต้นฮ่อม ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Baphicacanthus cusia (Nees) Bremek. ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE) เหตุที่มีชื่อเรียกในท้องถิ่นที่เหมือนกันจึงอาจทำให้เกิดความสับสนได้ เพราะต้นฮ่อม (ครามดอย ห้อม ห้อมหลวง ห้อมน้อย) ก็มีชื่อเรียกทั่วไปว่า “คราม” เช่นกัน

ลักษณะของต้นคราม

    • ต้นคราม จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขามาก บ้างว่าแตกกิ่งก้านน้อย มีความสูงของต้นประมาณ 4-6 ฟุต หรือสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลมสีเขียว มักพาดเกาะตามสิ่งที่อยู่ใกล้กับลำต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยเป็นพรรณไม้ที่ชอบแสงแดด ทนทานต่ออากาศร้อน ฝน และดินเค็มได้ดี พบขึ้นได้ตามป่าโปร่งทางภาคอีสานและทางภาคเหนือจะนิยมปลูกต้นครามไว้เพื่อใช้สำหรับทำสีย้อมผ้า และมักขึ้นเป็นวัชพืชทั่วไปตามสวน[1],[2],[3],[4],[5]

    • ใบคราม ใบมีลักษณะคล้ายกับใบก้างปลาแต่จะมีขนาดเล็กกว่า[1] โดยใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน หรือเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมน โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียวมีลักษณะบาง[2],[5]

    • ดอกคราม ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ดอกย่อยมีลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอกเป็นสีม่วงแกมสีน้ำตาลหรือเป็นสีชมพูและเป็นสีเขียวอ่อนแกม[1],[2]

    • ผลคราม ผลมีลักษณะเป็นฝักกลมขนาดเล็ก ยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร โดยออกเป็นกระจุก ฝักมีลักษณะคล้ายฝักถั่ว ภายในฝักมีเมล็ดสีครีมอมสีเหลืองขนาดเล็ก[2],[3],[5]

สรรพคุณของคราม

    1. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้กษัย (ทั้งต้น, ลำต้น)[1],[5]

    2. ต้นใช้เป็นยาเย็นเพื่อใช้ในการลดไข้ โดยใช้ต้นสด ๆ นำมาทุบใช้พอกกระหม่อมเด็กหรือผู้ใหญ่ก็จะช่วยลดไข้ได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าไม่มีต้นสดหมอยาพื้นบ้านก็แนะนำให้ใช้ผ้าที่ย้อมด้วยต้นคราม (ต้องเป็นการย้อมสีแบบธรรมชาติและไม่ใช่สารเคมี) นำมาชุบกับน้ำแล้ววางไว้ที่กระหม่อมก็จะช่วยลดไข้ได้ดีกว่าการใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดา (ต้น)[4]

    3. ลำต้นและใบใช้เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (ลำต้น, ใบ)[5]

    4. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ลำต้น, ใบ)[5]

    5. ทั้งต้นใช้เป็นยาฟอกและขับปัสสาวะให้บริสุทธิ์ แก้ปัสสาวะขุ่นข้น และใช้รักษานิ่วได้ดี (ทั้งต้น)[1],[3]

    6. ใบครามใช้เป็นยาดับพิษ (ใบ)[5]

    7. ช่วยแก้พิษฝีและแก่บวม (เปลือก)[5]

    8. เปลือกใช้แก้พิษงู (เปลือก)[5]

    9. หากเป็นแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกหรือถูกมีดบาด ก็สามารถนำเนื้อครามมาทาเพื่อเป็นยาสมานแผลได้ (เนื้อคราม)[5]

    10. ผ้าครามนำไปนึ่งให้อุ่นใช้เป็นยาประคบตามรอยช้ำ จะช่วยบรรเทาอาการฟกช้ำได้ (ผ้าคราม)[5]

    11. ผ้าม่อฮ่อมที่ได้จากการย้อมสีจากต้นครามหรือต้นห้อมสามารถนำมาชุบน้ำใช้ประคบเพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้[4]

    12. หมอยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ผ้าที่ย้อมด้วยห้อมมาใช้ในการทับหม้อเกลือ เมื่อตอนดูแลหญิงหลังการคลอดบุตร เพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น (ไม่แน่ใจว่าผ้าที่ย้อมด้วยครามจะใช้ได้เหมือนกันหรือไม่)[4]

    13. หมอยาพื้นบ้านทางภาคอีสานและทางภาคเหนือ จะใช้ผ้าที่ย้อมด้วยครามมาใช้ห่อทำลูกประคบ เพราะจะทำให้ได้ตัวยาที่ช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ กระชับมากยิ่งขึ้น[4]

ประโยชน์ของคราม

    • ใช้สำหรับทำสีย้อมผ้า โดยใช้ต้นสดนำมาหมักในน้ำ 1-2 น้ำ แล้วสีน้ำเงินจะตกอยู่ก้นภาชนะ เทใส่ถุงผ้าหนา ๆ ทับให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำผงสีไปทำให้แห้ง ก็จะได้ผงที่เป็นสีน้ำเงิน ใช้เป็นสีย้อมผ้า สีน้ำหมึก สีวาดรูป โดยสารที่มีสีน้ำเงิน คือสาร Indigo-blue นิยมนำมาในการย้อมผ้าม่อฮ่อม และถือกันว่าครามคือ “ราชาแห่งสีย้อม” (King of the dyes)[1],[2],[3],[5]

    • ผ้าที่ย้อมด้วยสีของต้นครามจะมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถช่วยป้องกันผิวของผู้ที่สวมใส่จากรังสีอัลตราไวโอเลตได้[5]

    • น้ำคั้นจากใบของต้นครามสามารถนำมาใช้บำรุงเส้นผม ช่วยป้องกันผมหงอก[5]

เอกสารอ้างอิง

    1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “คราม”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 168.

    2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “คราม Indigo”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 126.

    3. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “คราม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [15 ก.พ. 2014].

    4. วิชาการดอทคอม. “(ฮ่อม) ห้อมและคราม สีมีชีวิต”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.vcharkarn.com. [15 ก.พ. 2014].

    5. เดลินิวส์. “คราม ราชาแห่งสีย้อมพร้อมด้วยสรรพคุณทางยา”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทย เพื่อสุขภาพและความงาม (ผศ.พิเชษฐ เวชวิฐาน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th. [15 ก.พ. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by christina.rejkjaer, Himanshu Sarpotdar, Daniel Grobbel-Rank, P a c h y d e r m, judymonkey17, ElissaMeyers, naturgucker.de, Cary Greisch, Claus Conrad)