ผักหวานบ้าน

ผักหวานบ้าน

ผักหวานบ้าน ชื่อสามัญ Star gooseberry[4]

ผักหวานบ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ Sauropus androgynus (L.) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sauropus albicans Blume)[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)

ผักหวานบ้าน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักหวาน (ทั่วไป), มะยมป่า(ประจวบคีรีขันธ์), ผักหวานใต้ใบ (สตูล), ก้านตง จ๊าผักหวาน ใต้ใบใหญ่ ผักหลน (ภาคเหนือ), นานาเซียม (มลายู-สตูล), ตาเชเค๊าะ โถหลุ่ยกะนีเต๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[6]

ลักษณะของผักหวานบ้าน

    • ต้นผักหวานบ้าน จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 0.5-3เมตร ลำต้นแข็งแตกกิ่งก้านระนาบไปกับพื้นหรือเกือบปรกดิน ลำต้นอ่อน กลม หรือเป็นเหลี่ยม เปลือกต้นขรุขระเป็นสีน้ำตาล ส่วนกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเข้มผิวเรียบ กิ่งเรียวงอเล็กน้อยตามข้อ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในที่ลุ่มต่ำที่มีความชื้นพอเหมาะ ดินร่วนชุ่มชื้นและระบายน้ำได้ดี สามารถพบได้ตามป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ ป่าดิบชื้น ที่โล่งแจ้ง ตามเรือกสวน หรือตามที่รกร้างทั่วไป[1],[3],[5],[6]

    • ใบผักหวานบ้าน ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่แกมขอบขนาน รูปขอบขนาน หรือรูปคล้ายขนมเปียกปูน ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ลักษณะของแผ่นใบเรียบเกลี้ยงทั้งสองด้าน หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 5-7 เส้น โค้งเล็กน้อย เมื่อทำให้แห้งใบจะเป็นสีเขียวอมเหลือง ก้านใบมีขนาดสั้น ยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร มีหูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม ยาวประมาณ 1.7-3 มิลลิเมตร[1],[2],[3],[6]

    • ดอกผักหวานบ้าน ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกเป็นกระจุกตามซอกใบ เรียงไปตามก้านใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยวแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียว มีใบปรกอยู่ด้านบน ดอกมีขนาดเล็ก มี 2 ชนิด โดยตอนบนของกิ่งก้านจะเป็นดอกเพศเมีย ส่วนตอนล่างเป็นดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียจะมีประมาณ 1-3 ดอกและดอกเพศผู้จะมีจำนวนมาก และดอกเพศผู้จะมีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ กลีบดอก 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปจานกลมแบน สีน้ำตาลแดง มีขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 3 ก้าน ก้านเกสรเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 3 แฉก ส่วนดอกเพศเมียรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ ดอกเป็นสีเขียวอมเหลือง โดยมีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ซ้อน เรียงเหลื่อมกันเป็นชั้น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ และกลีบเลี้ยงจะเป็นสีแดงเข้มหรือสีเหลืองจุดประสีแดงเข้ม[3]โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน[12]

    • ผลผักหวานบ้าน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-1.3 เซนติเมตร ผลฉ่ำน้ำ ผิวผลเป็นพูเล็กน้อย ผลเป็นสีเขียวถึงสีขาว เมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีขาวอมเหลือง เมื่อแห้งแล้วจะแตกได้ ผลมีกลีบเลี้ยงสีแดงติดคงทนห้อยลงใต้ใบ ภายในผลแบ่งเป็นพู 6 พู ในแต่ละพูจะมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปครึ่งวงกลม เปลือกเมล็ดเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีความหนาและแข็ง เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร[1],[3],[6]

สรรพคุณของผักหวานบ้าน

    1. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากผักหวานเข้าตำรับยารักษาอาการที่เกิดจากธาตุไฟ ได้แก่ โรคขางทุกชนิด (อาการแสดงของธาตุไฟกระทำโทษ) เช่น ขางทำให้มีอาการเสียดด้านข้าง เสียดท้อง ไอ ร้อน ง่วงนอน ขางไฟ ขางแกมสาน ขางรำมะนาดเจ็บในคอ ขางปิเสียบ เป็นอาการจุกเสียดและร้อน ใจสั่น เป็นต้น หรือใช้รักษามะเร็งก้อนเนื้อหรือเนื้องอกที่ผิดปกติ ฝีสาร ซึ่งจะใช้เป็นยาชะล้างฝีที่มีอาการร้อน และยังใช้เข้าตำรับยารักษามะเร็งไฟ มะเร็งคุด สันนิบาตฝีเครือ (ราก)[12]

    2. น้ำยางจากต้นและใบนำมาใช้หยอดตา แก้ตาอักเสบ (น้ำยางจากต้นและใบ)[1]

    3. ต้นและใบนำมาตำผสมกับรากอบเชยใช้เป็นยาพอก รักษาแผลในจมูก (ต้นและใบ)[1]

    4. รากใช้ฝนทารักษาคางทูม (ราก)[2],[10]

    5. ตำรับยาหมอพื้นบ้านที่สันป่าตองจะใช้รากเข้าตำรับยาฝนแก้อาการเจ็บในปาก ปากเหม็น (ราก)[12]

    6. ช่วยแก้คอพอก (ราก)[8]

    7. ใช้เป็นยาทาป้ายแผลในปาก แก้ฝ้าขาวในเด็กทารก ด้วยการใช้น้ำคั้นจากใบผักหวานบ้านสด นำมาต้มใส่น้ำผึ้งแล้วนำมาทาลิ้นและเหงือกของทารกที่เป็นฝ้าขาว (ใบ)[12]

    8. ตำรับยารักษาโรคเลือดลมระบุให้ใช้รากผักหวานบ้าน รากชะอม รากชุมเห็ดเทศ รากมะกอกเผือก รากมะกอกฟานซ้อม รากมะลืมดำ รากมะลืมแดง รากหญ้าขัด กระดูกหมาดำ แก่นจันทนา แก่นจันทน์แดง งาช้าง นำมาฝนกับน้ำข้าวเจ้า ใช้กินรักษาโรคเลือดลม และถ้าเป็นมากจนตัวแดงให้นำมาทาด้วย (ราก)[2]

    9. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยารักษาโรคอีสา (ราก)[2]

    10. รากมีรสเย็น น้ำต้มกับรากใช้กินเป็นยาลดไข้ แก้ไข้ ถอนพิษไข้ แก้ตัวร้อน แก้ไข้กลับไข้ซ้ำ (ราก)[1],[2],[3] ส่วนใบใช้ปรุงเป็นยาเขียว แก้ไข้ (ใบ)[2]

    11. หมอยาพื้นบ้านทางภาคเหนือจะใช้รากผักหวานบ้าน รากมะแว้ง รากรากผักดีด แก่นในของฝักข้าวโพดอย่างละเท่ากัน นำมาฝนกับน้ำให้เด็กหรือผู้ใหญ่กินเป็นยาแก้ไข้ แก้ขัด ไข้อีสุกอีใส (ราก)[10]

    12. ช่วยแก้อาการไอ (ราก)[4]

    13. ผักหวานบ้านเป็นผักที่มีรสหวานเย็น จึงช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกายได้ (ใบ)[5]

    14. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มและอาบ ช่วยแก้ซาง พิษซาง (ราก)[2],[3] นอกจากนี้รากยังช่วยระงับพิษ แก้พิษร้อนกระสับกระส่าย แก้น้ำดีพิการ แก้เชื่อมมัว (ส่วนนี้ผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่าจะใช้สรรพคุณของรากผักหวานบ้านหรือไม่ เพราะจากหลาย ๆ ข้อมูลระบุว่าสรรพคุณส่วนนี้คือสรรพคุณของผักหวานป่า)[7]

    15. ช่วยแก้ผิดสำแดง กินของแสลงที่เป็นพิษ (ราก)[1],[4]

    16. รากใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะขัด แก้ขัดเบา ช่วยขับปัสสาวะ (ราก)[1],[4],[7] ส่วนใบแก้อาการปัสสาวะออกน้อย (ใบ)[12]

    17. หมอยาแผนโบราณจะใบสดใช้รักษากรณีหญิงคลอดบุตรและรกไม่เคลื่อน ด้วยการใช้ใบในขนาด 30-40 กรัมต่อวัน นำมาต้มสกัดด้วยน้ำ โดยการกินจะกำหนดโดยหมอที่รักษา (ใบ)[12]

    18. ใบใช้เป็นยาประสะน้ำนม ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น (ใบ)[4]

    19. ตำรับยาแก้ผิดเดือน ระบุให้ใช้รากผักหวานบ้าน รากต้อยตั่ง ต้นมะแว้งต้น รากชะอม และรากนางแย้ม นำมาฝนน้ำผสมกับข้าวเจ้า ใช้ดื่มกินแต่น้ำ (ราก)[2]

    20. ตำรับยาของหมอพื้นบ้านที่เชียงดาวจะใช้รากผักหวานบ้าน เข้ายาแก้กินผิดและแก้ลมผิดเดือนโดยใช้เป็นยาฝน ประกอบไปด้วยรากผักหวานบ้าน รากมะนาว รากผักดีด รากยอ รากจำปี และรากทองพันชั่ง (ราก)[12]

    21. ดอกใช้เป็นยาขับโลหิต (ดอก)[8]

    22. ต้นและใบใช้ตำผสมกับสารหนู ใช้เป็นยาทาแก้โรคผิวหนังติดเชื้อ (ต้นและใบ)[1]

    23. รากและใบนำมาตำให้ละเอียดใช้เป็นยาพอกรักษาฝี แก้แผลฝี (รากและใบ)[3]

    24. ใบใช้ปรุงเป็นยาเขียวกระทุ้งพิษ (ใบ)[4]

    25. ใบมีสรรพคุณในการแก้บวม แก้หัด ส่วนรากมีสรรพคุณลดอาการบวม (ใบ, ราก)[12]

    26. ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมูเซอจะใช้ใบ, ทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำอาบและเคี้ยวกินแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ใบ, ทั้งต้น)[2]

    27. ใช้เป็นยาบำรุงสุขภาพสำหรับสตรีหลังคลอด (ใบ, ทั้งต้น)[2]

    28. ผักหวานเป็นสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มการหลั่งน้ำนมของแม่ที่ไม่มีน้ำนมให้บุตร (ใบ)[12]

    29. ตำรับยารักษามะเร็งที่มีอาการเจ็บ ร้อน ไหม้ร่วมด้วย ระบุให้ใช้รากผักหวานบ้าน รากปอบ้าน ต้นคันทรง และหัวถั่วพู นำมาฝนกับน้ำซาวข้าวให้พอข้น ใช้ทารักษามะเร็ง (ราก)[2]

    30. รากผักหวานบ้านใช้ผสมกับรากสามสิบ รากถั่วพู รากรางเย็น รากมังคะอุ้ย ดอกหงอนไก่ไทย ไม้มะแฟน หอบกาบและงาช้าง นำมาฝนกับน้ำผสมกับข้าวสุกกินเป็นยารักษาโรคมะเร็งคุด (อาการปวดตัวลงข้อ เจ็บศีรษะ เจ็บเอวปวดข้อ) ส่วนอีกตำรับให้ใช้รากหรือต้นผักหวานบ้าน นำมาผสมกับแก่นคูน แก่นขี้เหล็ก แก่นขนุนเทศ งาช้าง ต้นแก้งขี้พระร่วง ต้นขมิ้นเครือ ต้นคนทา ต้นเหมือดคน รากชิงชี่ เมล็ดมะค่าโมง เมล็ดสะบ้าลิง และกาบล้าน นำมาฝนใส่ข้าวเจ้ากินเป็นยาแก้มะเร็งคุด (ต้น, ราก)[2]

    31. นอกจากนี้รากผักหวานยังใช้เข้าตำรับยามุตขึด (โรคสตรี) และอาการบวมพอง และยังใช้ในคนไม่อยากอาหาร ใช้เข้ายาแก้พิษ ฝีไข้ เจ็บออกหู ใช้เป็นยาหยอด และเข้ายาแก้ไข้ฝีเครือดำขาวเหลือง (ราก)[12]

หมายเหตุ : การนำผักหวานมาใช้เป็นยาสมุนไพร ถ้าเป็นใบให้ใช้ใบสด ส่วนรากให้เก็บเมื่อมีอายุ 2 ปีขึ้นไป แล้วนำมาทำให้แห้งก่อนนำไปใช้[12]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักหวานบ้าน

    • สารสกัดจากใบและลำต้นของผักหวานบ้านด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase เล็กน้อย แต่ไม่มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งในหนูทดลอง[2]

    • ใบผักหวานบ้านมีสาร Papaverine หากกินมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะและท้องผูกได้[2]

    • สารสกัดด้วยเอทานอลของผักหวานบ้านมีฤทธิ์ทางอัลลีโลพาธี (Allelopathy) สามารถยับยั้งการเจริญของคะน้าได้[9]

ประโยชน์ของผักหวานบ้าน

    1. ใบและยอดอ่อนเมื่อนำมาลวก ต้ม หรือนึ่ง กินเป็นผักจิ้มน้ำพริก ลาบ ปลานึ่ง หรือจะนำมาประกอบอาหาร หรือใช้เพื่อเพิ่มรสชาติให้อาหารมีรสหวานตามธรรมชาติ เช่น แกงเลียง แกงอ่อม แกงส้ม แกงจืด แกงกับหมู แกงกับปลา แกงเขียวหวาน แกงกะทิสด แกงใส่ไข่มดแดง แกงเห็ด ผัดน้ำมันหอย ยำผักหวาน ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าผักหวาน ฯลฯ หรือนำไปแปรรูปเป็นน้ำปั่นผักหวาน ชาผักหวาน หรือเครื่องดื่มต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ[3],[4],[5],[7]

    2. ผักหวานบ้านเป็นผักที่มีวิตามินเอมากเป็นพิเศษ คือ ใน 100 กรัมจะมีวิตามินเออยู่สูงถึง 16,590 หน่วยสากล (บางรายงานระบุว่ามีวิตามินสูงถึง 20,503 หน่วยสากล) (วิตามินเอมีประโยชน์กับสายตามาก) และยังเป็นผักในจำนวนไม่มากนักที่มีวิตามินเค (วิตามินเคมีประโยชน์ในเรื่องการช่วยให้เลือดแข็งตัวเมื่อมีบาดแผลแล้วเลือดออก ทำให้ตับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานร่วมกับวิตามินดีในการควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย ช่วยเสริมสร้างเซลล์กระดูกและเนื้อเยื่อในไต)[4],[10]

    3. คุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ (ยอดอ่อนหรือใบอ่อน) ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 39 แคลอรี, น้ำ 87.1%, โปรตีน 0.1 กรัม, ไขมัน 0.6 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 8.3 กรัม, ใยอาหาร 2.1 กรัม, เถ้า 1.8 กรัม, วิตามินเอ 8,500 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 0.12 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 1.65 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 3.6 มิลลิกรัม, วิตามินซี 32 มิลลิกรัม, แคลเซียม 24 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 68 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.3 มิลลิกรัม[5]

    4. ผักหวานบ้านเป็นผักที่ช่วยในการขับถ่ายได้ดี ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้จากมลพิษทางอากาศ ช่วยในการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อ[11]

    5. ต้นผักหวานบ้านมีทรงพุ่มไม่ใหญ่โต ทรงกิ่งและใบดูงดงามคล้ายต้นมะยม มีใบเขียวตลอดปี มีดอกและผลห้อยอยู่ใต้ใบดูแปลกตาและสวยงาม อีกทั้งสีผลยังเป็นสีขาวตัดกับกลีบรองผลซึ่งเป็นสีแดง จึงมีความงดงามและดูเป็นเอกลักษณ์ จึงเหมาะสำหรับนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับในบริเวณบ้านได้ดี และยังใช้ปลูกเป็นพืชผักสวนครัวก็ได้ เพราะเมื่อเด็ดยอดแล้วก็ยังสามารถแตกยอดได้ใหม่ ยอดอ่อนและใบอ่อนมีรสชาติดี มีคุณค่าทางอาหารสูง ใช้ประกอบอาหารหลากหลายเมนู อีกทั้งพรรณไม้ชนิดนี้ยังเพาะปลูกได้ง่ายและมีความแข็งแรงทนทานอีกด้วย[4]

ข้อควรระวังในการใช้ผักหวานบ้าน

    • ไม่ควรนำผักหวานบ้านมารับประทานแบบสด ๆ ในจำนวนมาก เนื่องจากผักชนิดนี้มีสาร Papaverine ที่เป็นพิษต่อปอด ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ และท้องผูกได้ และยังมีรายงานว่าผู้ที่เป็นโรคเนื้อเยื่อปอดถูกทำลายชนิด bronchiolitis obliterans (SABO) syndrome นั้น สาเหตุมาจากการรับประทานผักหวานเป็นจำนวนมากเพื่อต้องการลดน้ำหนัก[2],[10]

เอกสารอ้างอิง

    1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ผักหวานบ้าน (Phak Wan Ban)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 182.

    2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ผักหวานบ้าน”. หน้า 191.

    3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักหวานบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [28 เม.ย. 2014].

    4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 242 คอลัมน์: พืช-ผัก-ผลไม้. “ผักหวานบ้าน : ความหวานจากผักพื้นบ้านดั้งเดิม”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [28 เม.ย. 2014].

    5. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักหวานบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [28 เม.ย. 2014].

    6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “ผักหวานบ้าน”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์,). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [28 เม.ย. 2014].

    7. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่องผักหวาน”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [28 เม.ย. 2014].

    8. มุมสมุนไพร, ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดลำพูน. “ผักหวานบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.haec05.doae.go.th. [28 เม.ย. 2014].

    9. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 48. “ผลของสารสกัดจากพืชบางชนิดต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของคะน้า”. (ศานิต สวัสดิกาญจน์, สุวิทย์ เฑียรทอง, เนาวรัตน์ ประดับเพ็ชร์, สิริวรรณ สมิทธิอาภรณ์, และวริสรา ปลื้มฤดี). หน้า 412-421.

    10. เดอะแดนดอทคอม. “ผักหวานบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com. [28 เม.ย. 2014].

    11. สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา. “ผักหวานบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.chachoengsao.doae.go.th. [28 เม.ย. 2014].

    12. หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2555 คอมลัมน์ภูมิปัญญาเพื่อสุขภาพ หน้า 5. “ผักที่รู้จักดีแห่งอาเซี่ยน”. (รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด).

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, David Tng, Nelindah, dR ali, Phuong Tran, SierraSunrise, yoshiko9953)